พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 394
ตอนที่ ๓๙๔
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมต้องทราบ เราไม่ได้ศึกษาเพียงขั้นศีล หรือธรรมทั่วๆ ไป แต่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อให้ทุกคนมีแค่ศีลธรรม ใช่ไหม แต่เพื่อให้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้ ไม่ทรงพระมหากรุณาที่จะทรงแสดง ใครจะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะเป็นธรรมซึ่งมีลักษณะต่างๆ กัน
เพราะฉะนั้นพระพุทธประสงค์ที่ทรงแสดงธรรม เพื่อให้เข้าใจถูก เห็นถูก ไม่ใช่เพียงให้เรามานั่งคิด โดยเราเป็นนาย ก. แล้วก็มีนาย ข. หรือว่าเราเป็นนาย ข. แล้วก็เป็นนาย ก. ตลอดกี่แสนโกฏิกัปป์ก็เป็นอย่างนี้ คือเป็นธรรม ซึ่งเพราะไม่รู้ความจริงจึงหลงยึดถือว่าเป็นเรา ปัญหาไม่จบ ไม่ได้มีเรื่องอาหารที่เก็บไว้นานแล้วจะให้ เขาให้เรา เราไม่ให้เขา หรือเขาให้เรา เราก็ให้เขา นั่นก็เป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แต่ชาติหนึ่งสั้นมาก มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม จะฟังอะไร จะฟังข้อความว่าให้ทำอย่างนี้ ถ้าเป็นนาย ก. ถ้าเป็นนาย ข. ให้ทำอย่างนั้น หรือว่าขณะนี้เองเป็นธรรม มัจฉริยะเป็นของใคร มีนาย ก. จริงๆ หรือไม่ มีนาย ข. จริงๆ หรือไม่ หรือเป็นธรรมซึ่งเกิดเมื่อมีปัจจัย แล้วก็ดับไป ขณะที่เห็นไม่มีมัจฉริยะ ขณะที่ได้ยินก็ไม่มีมัจฉริยะ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกันแต่ละขณะ
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ เมื่อวานนี้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง นาย ก. ได้รับอะไรจากนาย ข. หรือไม่ หรือว่านาย ข. ให้อะไรนาย ก. หรือไม่ เมื่อวานนี้ ผ่านหมดไปแล้วก็จริง แต่สะสมสืบต่อที่จะมีความเป็นอย่างนั้นเพิ่มขึ้น จะมีความไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจเกิดขึ้นจากการไม่ได้รับสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากใคร โดยคิดว่าคนนั้นไม่มีเมตตาก็ตามแต่ หรือว่าเป็นความหวงแหน ก็เป็นเรื่องความนึกคิดของตนเองทั้งหมด แล้วก็สะสมความไม่รู้ แล้วก็สะสมแต่ละขณะจิต ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรืออะไรก็ตาม เมื่อวานนี้สะสมมาแค่นี้ ไม่ได้ออกไปจากจิตเลย เพราะว่าทุกอย่างสะสมอยู่ในจิต
เพราะฉะนั้นจะมีอะไรที่จะเอาออกไปได้ สิ่งที่มีอยู่ในจิตทั้งหมดที่สะสมมาทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล บางคราวจิตก็เป็นกุศล บางคราวจิตก็เป็นอกุศล เพราะว่าสะสมมาทั้ง ๒ อย่าง เป็น "อาสยานุสยะ" สะสมฝ่ายดี ฝ่ายไม่ดี เป็นอาสยะ แต่ถ้ากล่าวถึงที่จะต้องดับ หรือละให้หมดสิ้นก็คือ อนุสยะ ซึ่งแต่ละขณะเกิดโกรธดับแล้ว เพราะสะสมสืบต่อในจิตจากขณะนั้นสู่จิตขณะต่อไป แต่ยังไม่มีสิ่งที่ทำให้สภาพของโทสเจตสิกเกิด โทสเจตสิกก็ไม่เกิด แต่มีอยู่ พร้อมที่จะเกิด และก็แล้วแต่แต่ละบุคคลสะสมอัธยาศัยมากน้อยอย่างไร สะสมความไม่รู้มามากแค่ไหน สะสมความเห็นผิดซึ่งมีมากมาย แค่ไหน ไม่ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมจริงๆ ก็ควรจะรู้ว่า ไม่มาก เพราะว่าชีวิตก็สั้น ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า อีกนานเท่าไร อาจจะเป็นชั่วไม่กี่ขณะนี้ก็ได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้ฟัง และเข้าใจพระธรรมย่อมดีกว่า ที่จะเป็นแล้วเราจะทำอย่างไรกับคนนี้คนนั้น ถ้าเป็นนาย ก. ถ้าเป็นนาย ข. โดยที่ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม เพราะว่าจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ฟังอีก หรือไม่ จะได้ฟังสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้รู้ความจริงของสิ่งนั้น แม้ในขั้นพิจารณาไตร่ตรองว่า เป็นความจริงตามที่ได้ยินได้ฟัง หรือไม่ ก็ต้องสะสมไปจนกว่าปัญญาสามารถเป็นปาฏิหาริย์ อิทธิ ๑ ก็คือจากอกุศลที่เกิดแล้วดับไป การสะสมของกุศลก็เป็นปาฏิหาริย์ ที่สามารถจะเกิดขึ้นรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้
นี่ก็คือสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องเป็นผู้ตรง เพราะว่าในบารมี ๑๐ ซึ่งเป็นฝ่ายดี มีสัจจบารมีด้วย การฟังด้วยความตรงต่อการที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังให้ถูกต้อง ด้วยอธิษฐาน คือ ความมั่นคง ไม่ใช่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสักการะ เพื่อคำสรรเสริญ เพื่อหมู่คณะ หรืออะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วได้ยินได้ฟังเรื่องความจริงของสิ่งที่มีปรากฏ วันหนึ่งก็สามารถรู้ได้ว่า จริงๆ แล้วธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่ใคร แต่ถ้ายังคงมีตัวตน แล้วเราจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะทำอย่างไรอยู่ ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าใจธรรม คือ สิ่งที่มีจริงว่าไม่ใช่ตัวตน ก็ขอพูดถึงอย่างนี้ เพราะเหตุว่าเดี๋ยวก็มีมัจฉริยะ เดี๋ยวก็มีโลภะ เดี๋ยวก็มีโทสะ เดี๋ยวก็มีโมหะ มีทุกอย่างที่สะสมมา แต่ความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏให้เห็น มีบ้างไหม
นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแต่ละคนที่ฟังธรรมก็เป็นไปตามการสะสมว่า ฟังอย่างนี้แล้ว ก็ยังอยากจะเป็นเราทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าพอเข้าใจธรรมแล้วไม่ต้องห่วงเลย ธรรมเกิดทุกอย่าง มีทุกอย่าง ยังไม่ดับไปหมดเลย ทางฝ่ายอกุศลยังครบอยู่ แม้แต่ความไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าก็ไม่รู้ แต่อาศัยการฟัง และค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะทำให้สามารถรู้จริงๆ สามารถที่จะไม่หวั่นไหวต่อไม่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้น ก็คือเป็นธรรม แต่ถ้าไม่รู้จักธรรม ปัญหาไม่จบทุกชาติ เพราะปัญหามาจากอกุศล มาจากความไม่รู้ ปัญหาใดๆ ไม่ได้เกิดจากกุศลเลย
ผู้ฟัง ไม่ทราบว่า จะมีเหตุผลอะไรที่อาจารย์พูดอย่างนี้บ่อยๆ ทำให้เราได้เรียนรู้สภาพธรรม
ท่านอาจารย์ เหตุผลก็คือว่า ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ทุกคนเห็นผิด ทุกอย่างที่ปรากฏขณะนี้ไม่รู้ว่าเกิดขึ้น และไม่รู้ว่าดับไป แต่ผู้ที่ประจักษ์ความจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสาวกทั้งหลายไม่ได้เห็นผิดอย่างนี้เลย มีความเห็นผิดไม่ได้ เพราะว่าดับความเห็นผิดหมด ไม่มีเชื้อของความเห็นผิดที่จะเกิด กว่าจะรู้ความจริงจนสามารถดับความเห็นผิดใดๆ ได้ ต้องเป็นความเห็นถูก และเป็นความละเอียดด้วย อย่างที่คุณเด่นพงศ์ถาม พูดทำไมสิ่งที่ทุกคนรู้ ตา จิตที่เห็น ไม่ได้มีเสียงเป็นอารมณ์ ได้ยินไม่ได้ ทางหู ก็จะให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏไม่ได้ด้วย เป็นของธรรมดา ใช่ไหมคะ แต่ไม่รู้อย่างนี้ใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ไม่รู้จึงฟังให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ใช่ไหม ไม่ใช่ให้ไปบังคับให้ใครเชื่อ แต่ค่อยๆ พิจารณาว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ และไม่รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ใช่ไหม และยังคงไม่รู้ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ฟัง และไม่ได้อบรมเจริญปัญญาขึ้นจนสามารถรู้ในสภาพที่ต่างกัน อย่างเห็นในขณะนี้ เกือบจะไม่รู้เลยว่าเห็นอะไร ถูกไหม ข้ามไปแล้ว เห็นคน แต่ความจริงต้ องมีสิ่งที่เพียงปรากฏเพราะกระทบจักขุปสาทให้เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วดับ เท่านั้นเอง เร็วมาก นี่คือความไม่รู้ ยังไม่ต้องไปถึงทางหูเลย เพราะว่าห่างกันมาก ระหว่างจิตเห็น และจิตได้ยิน ก็ยังไม่รู้
เพราะฉะนั้นฟังธรรมทั้งหมดเพื่อรู้ถูก เพื่อเข้าใจถูกตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง เห็นพร้อมกัน ได้ยินพร้อมกัน ได้กลิ่นพร้อมกัน
ท่านอาจารย์ ใครเห็น ผมเห็น ใครได้ยิน ผมได้ยิน ไม่ใช่เป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็ยังมีความไม่รู้ในความจริงของธรรม ซึ่งไม่ใช่ใครเลย ถ้าจิตเห็นไม่เกิด จะมีคุณเด่นพงศ์เห็นไหม
ผู้ฟัง ถ้าจิตเห็นไม่เกิด ก็ไม่มีคนเห็น
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย จะมีคุณเด่นพงศ์ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะไม่รู้ จึงเป็นเรา อุปาทานขันธ์ ยึดถืออะไร ไม่ยึดถือสิ่งที่ไม่ปรากฏแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏแล้วไม่รู้ จึงยึดถือสิ่งนั้น
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นนัยสำคัญอันนี้ก็คือความเห็นผิด
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง โดยไม่รู้ว่าเป็นความเห็นผิดด้วย ใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ กำลังฟัง แค่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ก็ไม่สนใจ ไม่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ควรเป็นอย่างอื่น ควรไม่มีโลภะ ควรไม่มีมัจฉริยะ แต่กำลังฟังแล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏเตือนให้มีความเข้าใจถูกว่า รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ หรือไม่ เมื่อสิ่งนี้กำลังปรากฏแท้ๆ ไม่รู้ แล้วจะไปรู้อะไร มีอะไรที่จะรู้ได้ ในเมื่อไม่ปรากฏ แต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้วกำลังปรากฏจริงๆ เดี๋ยวนี้แล้วไม่รู้ แล้วจะไปควรอะไร ที่ไหน อย่างไร
ผู้ฟัง จริงๆ แล้วสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันสั้นอย่างไร
ท่านอาจารย์ คุณสุกัญญาเห็น และได้ยินใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ พร้อมกัน หรือแยกกัน
ผู้ฟัง แยกกัน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสั้นมากไหม ธรรมต้องคิดไตร่ตรอง และเป็นความจริง ถ้ากล่าวว่าเห็น และได้ยินแยกกัน แสดงว่าเห็นสั้นไหม สั้นแค่ไหน และได้ยินสั้นแค่ไหนด้วย
ผู้ฟัง ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะที่แท้จริง ก็จะไม่เข้าใจใจจุดนี้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ฟังแล้วก็รู้ว่า เห็นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่มีใครไปทำเห็น แต่เมื่อมีปัจจัยของเห็นที่จะเกิด เห็นจึงเกิด ถ้ามีความเข้าใจคำว่า “ธรรม” หรือ “ธาตุ” ก็รู้ความจริงว่า เป็นสิ่งซึ่งมีลักษณะสภาพที่เป็นภาวะของสิ่งนั้น ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะให้เห็นกลายเป็นได้ยิน จะให้ได้ยินกลายเป็นเห็นไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นแม้เห็นเองต้องมีปัจจัยที่เห็นจะเกิดขึ้น ถ้าไม่มีจักขุปสาท รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ไม่มีทางที่สิ่งที่แม้มีจริง แต่ก็ปรากฏไม่ได้ เพราะจิตเห็นไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีจักขุปสาท เพราะรูปไม่ได้กระทบกับจักขุปสาท นี่แสดงให้เห็นว่าเพียงชั่ว ๑ ขณะจิตที่เกิดขึ้น เร็วมากแล้วก็ดับไป แต่ละขณะที่จะเป็นไปได้ เกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีปัจจัย ไม่ใช่เกิดขึ้นมาได้เอง
ผู้ฟัง ทีนี้ลักษณะของกุศล และอกุศลที่เกิดในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ กำลังเห็นเป็นกุศล หรืออกุศล หลังจากที่เห็นแล้ว
ผู้ฟัง เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไร
ผู้ฟัง รู้ได้เพราะมีความติดข้องในลักษณะการเห็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ติดข้อง ตรงกันข้ามกับติดข้อง หรือไม่
ผู้ฟัง ตรงกันข้าม
ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่รู้กับขณะที่รู้ ตรงกันข้ามกัน หรือไม่ ฝ่ายไหนเป็นกุศล ฝ่ายไหนเป็นอกุศล
ผู้ฟัง ต้องขณะที่รู้เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ ก็ตอบได้แล้ว
ผู้ฟัง แต่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏคืออย่างไร
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏ อะไรปรากฏทางตา เห็นไหม ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ก็ลืมว่า ธาตุชนิดนี้แม้มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ๒ อย่างนี้ต่างกัน สิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ แต่มีธาตุที่กำลังเห็นสิ่งนี้
เพราะฉะนั้นเมื่อใช้คำว่า “ธาตุ” คือสิ่งที่มีจริง ก็มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งแม้เกิดขึ้นปรากฏ ทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กายก็ตาม แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ และแม้ธาตุซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ก็ไม่สามารถปรากฏได้ถ้าไม่มีธาตุที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวัน สภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าไม่ได้พิจารณาจริงๆ ก็จะไม่รู้ลักษณะนั้น แต่ส่วนใหญ่สภาพของจิตที่เป็นกุศล และอกุศล จะปรากฏกับความคิดนึกมากกว่า
ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร ปรากฏกับความคิดนึก
ผู้ฟัง หมายความว่า แม้เห็นแล้วก็คิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็ไม่รู้ว่าคิด
ท่านอาจารย์ ทำไมบอกได้ล่ะว่า เห็นแล้วก็คิดว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน แสดงว่าคิดไม่ใช่เห็น เห็นแล้วจึงคิด
ผู้ฟัง เห็นแล้วจึงคิด แต่ว่าส่วนใหญ่จะรู้เมื่อเป็นอกุศล หรือกุศล
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เป็นกุศล หรืออกุศล
ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไร
ผู้ฟัง ก็เห็นเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน
ท่านอาจารย์ เห็น กุศลเกิดเมื่อไร
ผู้ฟัง กุศลเกิดจากหลังจากเห็นแล้ว
ท่านอาจารย์ และอกุศลเกิดเมื่อไร
ผู้ฟัง อกุศลเกิดหลังเห็นแล้วเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรู้ได้อย่างไรว่า เห็นแล้วเป็นกุศล ขณะไหนเห็นแล้วเป็นอกุศล
ผู้ฟัง จากการคิดนึก
ท่านอาจารย์ คิดนึกเอาเอง หรืออย่างไร คิดนึกน่ะจริง หรือไม่ คิดถูกได้ไหม คิดผิดได้ไหม เพราะแค่คิด แต่ไม่ใช่รู้จริงๆ ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของธรรมที่เป็นกุศลจริงๆ หรืออกุศลจริงๆ แต่คิดว่าเป็นกุศล คิดว่าเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นจะคิดอะไรก็ได้ทั้งนั้น คิดเอาเอง
ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่า ในชีวิตประจำวันที่เรากล่าวกันว่า อกุศลธรรมมีจริง และเกิดขึ้นก็คือสิ่งที่เราคิดเอาเอง ไม่ใช่ลักษณะของการรู้ลักษณะจริงๆ ของอกุศลจิต หรือ
ท่านอาจารย์ โกรธบ้าง หรือไม่
ผู้ฟัง โกรธ
ท่านอาจารย์ แล้วเมตตาบ้าง หรือไม่
ผู้ฟัง มีบ้าง
ท่านอาจารย์ ต่างกัน หรือเหมือนกัน
ผู้ฟัง ต่างกัน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช้คำว่า กุศล ไม่ใช้คำว่า อกุศล แต่ลักษณะที่โกรธกับลักษณะที่เมตตา ขณะนั้นอะไรเดือดร้อน
ผู้ฟัง โกรธเดือดร้อน
ท่านอาจารย์ ดีไหม
ผู้ฟัง ไม่ดี
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลที่ดี จะไม่เดือดร้อนเลย ไม่ใช่ไม่มีสภาพธรรม มี ลักษณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่าเป็นธรรม กับไม่รู้ว่าเป็นธรรมนี่ต่างกันอย่างไร ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรม พอจะอธิบายได้ว่า เป็นลักษณะของความเป็นตัวตน แล้วก็อยู่ในชีวิตประจำวันแบบทุกวัน โกรธก็โกรธอยู่ทุกวัน เมตตาก็เมตตาอยู่ทุกวัน แต่ถ้าเป็นลักษณะของความโกรธ หรือเมตตาที่เป็นธรรม เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ สงสัยในเห็นเดี๋ยวนี้ไหม
ผู้ฟัง ก็เห็นมีจริง
ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่
ผู้ฟัง ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง
ท่านอาจารย์ เป็นธรรม โกรธมีจริงไหม
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ เวลาเกิดขึ้นสงสัยไหม
ผู้ฟัง มีจริงๆ ไม่สงสัย
ท่านอาจารย์ เป็นธรรม หรือไม่
ผู้ฟัง คือจริงๆ ก็ตอบท่านอาจารย์ได้ว่าเป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังเริ่มเข้าใจว่า ไม่ใช่ของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่ใช่มีพร้อมที่จะเกิดเมื่อไร ก็เกิดขึ้น แต่ต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นด้วย สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขณะนี้ที่ปรากฏมีปัจจัยหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นการจะรู้ความจริงว่าเป็นธรรม การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพียงแค่ฟังแค่นี้ไม่สามารถจะละได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้นด้วยการละ ไม่ใช่ด้วยความอยาก หรือด้วยความเป็นเราที่ต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิด
พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อละ ไม่มีอะไรเหลือ สนใจไหม และที่จะละได้ต้องรู้ ไม่มีทางที่ใครจะละโดยไม่รู้ สิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ควรติดข้อง ควรให้มีไปเรื่อยๆ ทุกกัป แสนโกฏิกัปป์ในอดีต แสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า หรือว่าไม่ใช่ใครเลย ถ้าไม่มีตัวตน แต่เป็นธรรมจริงๆ เหมือนไฟ เหมือนดิน เหมือนรถ มีลักษณะจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ารู้ความจริงว่า ทุกอย่างเป็นอย่างนั้น ยังคงต้องการไหม นี่คือเพื่อละ สนใจที่จะเข้าใจ หรือไม่
เพราะว่าจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของความรู้ พระธรรมทุกคำที่ทรงแสดงเพื่อให้เห็นถูก เพื่อเป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่ออะไร รู้ทำไม เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความติดข้อง มิฉะนั้นไม่ทรงเปล่งอุทานเมื่อตรัสรู้แล้วว่า ได้พบนายช่างผู้สร้างเรือน
โลภะ ลืมตาขึ้นมาก็ครอบครองอยู่แล้ว เป็นไปด้วยโลภะทุกอย่างก็ไม่รู้ ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นละได้ไหม ไม่ได้ ถ้ายังคงไม่รู้อยู่ก็ละไม่ได้ ก็ยังคงเป็นเราตั้งแต่เช้าจนถึง ณ บัดนี้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อเห็นถูก เข้าใจถูกตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อเรา เพราะไม่มีเรา ธรรมเป็นธรรม เพื่อเห็นถูก
ผู้ฟัง มีท่านผู้ฟังฝากถามมาว่า ทำไมจะต้องรู้ว่า จิตเห็นกับจิตได้ยินเกิดต่างกัน แยกจากกัน มีประโยชน์อะไร
อ.วิชัย ก็เป็นการแสดงให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจสภาพธรรม และที่กล่าวถึงจิตเห็นก็ตาม หรือจิตได้ยินก็ตาม ขณะนี้ก็กำลังปรากฏอยู่ที่สามารถจะเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าธรรมที่เป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ที่เป็นจิต คือ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ก็มีหลายประเภท ซึ่งจิตแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกัน ด้วยอำนาจของธรรมที่เกิดร่วมด้วย ด้วยอำนาจของอารมณ์ต่างๆ
ที่กล่าวถึงจิตเห็นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งขณะนี้ก็กำลังปรากฏอยู่ แล้วให้เข้าใจถูกตรงในลักษณะที่กำลังเห็นขณะนี้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และขณะที่ได้ยินก็เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้เสมือนว่าเกิดพร้อมกัน แต่จริงๆ แล้วจิตเกิดดับรวดเร็วมาก แม้ชั่วขณะที่เห็นกับขณะที่ได้ยิน ก็แตกต่างกัน ก็มีจิตหลายขณะที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่เพราะความไม่รู้ ก็ยังมีความสำคัญว่า เป็นเราเห็น หรือเราได้ยิน
เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟังเรื่องการเห็นก็ตาม หรือการได้ยินก็ตาม หรือสภาพธรรมอื่นๆ ก็ตามที่สามารถจะเข้าใจได้ว่า เป็นสภาพธรรมจริงๆ มีลักษณะที่สามารถเข้าใจได้ ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น
ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ เห็นกับได้ยินคนละขณะ และก็เป็นสภาพธรรม
แต่ละคนเกิดมาเหมือนกัน หรือไม่ อัธยาศัยต่างๆ กัน ที่อยู่ ณ ที่นี้ ก็แค่นี้ ที่ไม่อยู่ ณ ที่นี้เท่าไร ล้วนเป็นผู้ที่ไม่อยาก หรือคิดว่าไม่มีประโยชน์เลยที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะมีการฟังก็ไม่สนใจ คนอื่นเปิดวิทยุบ้าง อะไรบ้าง แต่คนที่ไม่ได้สะสมความสนใจ หรือศรัทธาที่จะรู้ว่า ประโยชน์จริงๆ ในชีวิตคืออะไร ลาภ เลือกได้ไหม ทุกคนปรารถนามากๆ มีลาภเยอะๆ เท่าไรก็ไม่พอทรัพย์สินเงินทอง แต่ได้อย่างที่ต้องการ หรือไม่ ทุกอย่างตามเหตุตามปัจจัย และข้อสำคัญที่สุดก็ตาม แม้ได้แล้วเป็นของเราจริงๆ หรือไม่ เพียงแค่เห็น อาจจะได้เพียงวันเดียวก็จากไปแล้ว ตายไปแล้ว ถูกขโมยไปแล้ว หรือสูญหายไปแล้วก็ได้ อะไรเป็นปัจจัยที่จะให้ชีวิตของแต่ละคนดำเนินไปต่างๆ กัน ไม่สนใจจะรู้ความจริง แต่อย่างหนึ่งที่รู้ ก็คือเกิดแล้วต้องตาย แต่จากการที่ไม่สนใจจะเกิดความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่มีจริง เขาก็บอกว่า ก็ไม่เห็นเป็นไร เกิดมาก็สุขบ้างทุกข์บ้าง แล้วก็ตายไป ก็ของธรรมดา ไม่เห็นมีใครไม่ตาย ตายก็ตาย บางคนก็คิดอย่างนั้น ก็อาจจะอยากขอมีความสุขก่อน แต่ว่าเคยได้ยินคำว่า “พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” ไหม มีคนที่ได้ยินคำนี้ แต่ก็เห็นผิด เข้าใจผิด คิดว่ามีบุคคลที่สูงกว่านี้ คือ เทพ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 361
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 362
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 363
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 364
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 365
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 366
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 367
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 368
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 369
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 370
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 371
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 372
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 373
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 374
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 375
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 376
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 377
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 378
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 379
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 380
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 381
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 382
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 383
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 384
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 385
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 386
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 387
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 388
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 389
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 390
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 391
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 392
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 393
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 394
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 395
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 396
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 397
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 398
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 399
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 400
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 401
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 402
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 403
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 404
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 405
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 406
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 407
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 408
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 409
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 410
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 411
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 412
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 413
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 414
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 415
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 416
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 417
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 418
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 419
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 420