พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 409


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๐๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์พราะฉะนั้นหวังเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง กับรู้ว่าก็เหมือนอย่างอื่น คือ เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เป็นอย่างนี้ไปจนกว่าจะรู้ความจริงโดยตลอด โดยไม่หวัง

    ผู้ฟัง สภาพของความเป็นปกติเบาสบายเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้ แล้วละความติดข้อง ยากไหม

    ผู้ฟัง ยาก

    ท่านอาจารย์ เพราะยังไม่รู้เลยว่ากำลังติดข้อง หรือไม่ แล้วจะไปละได้อย่างไร พูดถึงสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงละไม่ได้ ถ้ารู้ว่าสิ่งนี้เพียงเกิดแล้วดับไป อย่างเร็วมาก แต่ละอย่างไม่เหลือเลย แล้วไม่กลับมาอีก อย่างที่เข้าใจว่า เป็นคนนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะมีธรรมเกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย และเมื่อธรรมที่เกิดดับสืบต่อตามปัจจัยที่จะให้เป็นคนนี้หมดสิ้น คนนี้ก็หายไปเลย ไม่กลับมาอีก แต่ธรรมไม่ได้หายไป ต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัยต่อไปอีก

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ จะไม่มีอะไรเลย ไม่ว่ากี่โลก ก็เป็นธรรมเท่านั้นที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก แล้วยั่งยืนแค่ไหน พอที่จะให้เป็นที่ตั้งของความต้องการ หรือความติดข้องอีกต่อไป ถ้าประจักษ์ความจริงอย่างนี้ สิ่งที่อยากได้ สิ่งที่หวัง สิ่งที่ชอบ เกิดปรากฏนิดเดียวแล้วหมดแล้ว ไม่เหลือเลย ยังจะพอใจอะไรอีก ในเมื่อสิ่งนั้นปรากฏแล้วหมดไปแล้ว

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันก็มีทั้งสิ่งดี และสิ่งไม่ดีที่ปรากฏ ถึงว่าจะเป็นสภาพธรรม แต่ว่าความรู้สึกว่าเป็นปกติ เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เอง ไปหาที่อื่นไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ก็คือเกิดแล้วเป็นอย่างนี้ ใครไปสร้างให้เป็นอย่างนี้ หรือไม่ เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติที่มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง ไม่ว่าสิ่งที่เกิดจะเป็นสิ่งที่ดี หรือสิ่งที่ไม่ดีก็ตาม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้ามีแต่ธรรมที่ดี ไม่ต้องละอะไรเลย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังจะให้เข้าใจว่า สภาพธรรมเป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ จะให้เข้าใจว่า ไม่มีคุณสุกัญญา ไม่มีใคร ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง สิ่งที่มีจริงๆ คือธรรมซึ่งเกิดปรากฏจึงรู้ว่า มีสิ่งนั้น แต่ก็ชั่วคราว แสนสั้น คือ มีแล้วก็หมดไป ทุกอย่างไม่ยั่งยืนเลย เกิดมาแล้วจะเป็นคนนี้ต่อไปอีกนานเท่าไร สำหรับยุคนี้สมัยนี้ก็ไม่นานเลย ยุคก่อน และยุคข้างหน้าจะนานสักเท่าไร ก็ยังจะต้องพ้นสภาพความเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ เพราะว่าแม้ขณะนี้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยไม่มีการประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง อยากจะขอความกรุณาอาจารย์ขยายคำว่า “ความจริง” เพื่อจะได้รู้ว่า ลักษณะของความจริงนั้นคืออย่างไร เพราะว่าเขาเกิดสั้นแสนสั้นมาก แล้วก็มีหลากหลายเหลือเกิน ธรรมที่จะเกิดนี่ความจริงอยู่ตรงไหน และอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้จริง หรือไม่

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ จริง เกิดแล้วปรากฏใช่ไหม

    ผู้ฟัง หมายถึงสภาพของอารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ก็คือสิ่งนั้นเกิดแล้ว ปรากฏแล้วดับไป

    ผู้ฟัง ก็เป็นลักษณะ หรือสภาวะของในขณะจิตนั้นที่จะต้องทราบ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของธรรมทั้งหมดเป็นอย่างนี้ ไม่มีเรา แต่เริ่มเข้าใจถูกต้องจากที่เคยเห็นแล้วเหมือนไม่ดับเลย แต่ก็ต้องรู้ ขณะที่เห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่เป็นเสียงปรากฏ แสดงความรวดเร็วไหม ขณะนี้ เหมือนกับว่าทั้งเห็นด้วย ทั้งได้ยินด้วย แต่ความจริง จิต หรือสภาพรู้ หรือธาตุรู้ มีปัจจัยเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง

    นี่คือธาตุ หรือสภาพธรรมที่ใช้คำว่า “จิต” เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เราจะอธิบายให้ใครฟังได้ไหมว่า ขณะนี้กำลังเห็นแล้วอะไรปรากฏ เพราะว่าเห็นแล้วมีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะต้องไปอธิบายใช้คำอะไรอีกมากมายให้เข้าใจ ในเมื่อไม่เหมือน จะอธิบายสักเท่าไรก็ไม่เหมือนกับที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ความยากมันอยู่ตรงที่ว่า ปัญญาของผู้นั้นต้องรู้เอง คนหนึ่งจะไปอธิบายอย่างเห็น ความจริงมันคืออะไรอันนี้ คือ ความยากมันอยู่ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ต้องค่อยๆ ฟัง เห็นมี หรือไม่ เห็นกำลังเห็นใช่ไหม แสดงว่าเห็นต้องเกิดแล้วเห็น แล้วก็เห็นทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากเกิดเมื่อไรก็เห็น เหมือนกับสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ทำอะไรไม่ได้ เพียงแค่ปรากฏให้เห็น นี่คือชีวิตจริงๆ

    เพราะฉะนั้นชีวิตจริงๆ ที่แสนสั้นก็คือว่า ชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏแล้วดับไป นี่คือสัจจะ นี่คือความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง ลักษณะหนึ่งไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย แต่ว่าถ้าเป็นอย่างนั้นไม่มีการเดือดร้อนใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ธาตุไม่ใช่มีแต่เฉพาะรูปธาตุ ยังมีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งต่างกับรูปธาตุ คือว่าธาตุชนิดนี้เกิดแล้วต้องรู้ มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้ธาตุนั้นรู้ เพราะว่าธาตุนี้เกิดขึ้นรู้ เกิดแล้วจะไม่รู้ไม่ได้ เช่นในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏกับธาตุที่กำลังเห็น เสียงปรากฏกับธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง ทั้งหมดก็เป็นธาตุแต่ละขณะ นี่คือสัจจธรรม ความจริงของสิ่งซึ่งที่มีจริงๆ ในชีวิต

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ยกตัวอย่างเมื่อเห็นเป็นไมโครโฟนแล้ว เมื่อเห็นอะไร เป็นแก้วแล้ว ก็คือทราบว่าพระพุทธเจ้า หรือใครก็แล้วแต่ ถึงแม้จะเห็นปรมัตถธรรม ไม่ข้ามปรมัตถธรรม แต่เมื่อจิตคิดนึกจำได้ ก็จะรู้ว่า นี่เป็นไมโครโฟน เป็นพระสารีบุตร ทีนี้ก็เลยไม่เข้าใจว่าแล้วอย่างพวกเราๆ คือทราบว่าจำผิดกับคิดผิดมีตลอดเวลา แต่ความเห็นผิดที่เกิดร่วมด้วยกับโลภมูลจิต มีขณะไหนในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ท่านเหล่านั้นฟังพระธรรมมาเท่าๆ เรา หรือนานกว่าเรา มากกว่าเรา

    ผู้ฟัง นานกว่ามาก

    ท่านอาจารย์ นานกว่ามาก เพราะฉะนั้นเริ่มที่จะฟัง การฟังธรรมไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเข้าใจได้โดยการคิดอย่างเดิมๆ แต่ต้องเป็นการที่จะเข้าใจถูก ค่อยๆ ไตร่ตรอง เข้าใจทุกคำที่ได้ยินในความเป็นธรรม คุณอรวรรณพูดถึงจิต พูดถึงสัญญา ความจำ พูดถึงความเห็นผิด ทั้ง ๓ อย่าง จิตคือสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แสดงว่าเดี๋ยวนี้ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏได้เพราะจิต ต้องเข้าใจตอนนี้ก่อน ถึงจะสามารถเห็นความต่างของ ๓ อย่างนี้ได้ แสดงว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏได้เพราะมีจิตเกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ อันนี้แน่นอน แล้วสัญญาคืออะไร สัญญาเป็นจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง สัญญาเป็นเจตสิกที่หน้าที่จำสิ่งที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ ถึงไม่เรียกว่าเจตสิก ขณะนี้จำ หรือไม่

    ผู้ฟัง จำทุกอารมณ์ที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องเอ่ยถึงชื่อเจตสิกเลย แต่ลักษณะที่จำนี้มี เพราะฉะนั้นลักษณะที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้เห็นบ้าง ให้ได้ยินบ้าง มีแน่นอน เป็นใหญ่ด้วย คือ ขณะนั้นสามารถที่จะรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นสีจาง สีเข้มอย่างไร จิตก็เป็นสภาพที่กำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพียงรู้หน้าที่ของจิต ส่วนสัญญา หรือว่าที่เราใช้คำภาษาบาลีว่า สัญญา หมายถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่จำ ใครจำอะไรไม่ได้บ้าง จะตอบว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง บ่อย ลืมบ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าขณะนั้นก็จำด้วย เพราะว่าจำเป็นสภาพที่เกิดกับจิตทุกขณะ บังคับบัญชาไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ ใครจะบอกว่าจิตนี้ไม่มีสภาพที่เป็นสภาพจำเกิดร่วมด้วย เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจธรรมโดยที่ว่า ไม่ลืม ธรรมเป็นธรรม ทุกอย่างที่ได้ยินชื่อใหม่ๆ ก็ต้องเป็นธรรมแต่ละอย่าง อย่างจำในภาษาไทย และก็กำลังจำอยู่ ลักษณะที่จำไม่ใช่จิต จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ

    นี่คือความละเอียดของสภาพธรรมซึ่งเกิดพร้อมกัน ในขณะเดียวกัน แต่ไม่ใช่ธรรมประเภทเดียวกัน นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของความไม่รู้อะไรทั้งนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย จนกว่าจะได้ฟังธรรมแล้วค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้นจำไม่ใช่จิต จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น แต่ในขณะนั้นเองก็มีสภาพธรรมที่จำ เกิดแล้วต้องจำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ นั่นคือลักษณะของธรรมที่ภาษาบาลีใช้คำว่า สัญญาเจตสิก สภาพที่เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกทั้งหมด เพราะฉะนั้นขณะใดที่จำ ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิก ๒ อย่างนี้ชัดเจนแล้วใช่ไหม ขณะนี้มีสัญญาเจตสิกไหม ขณะนี้มีกำลังจำ หรือไม่

    ผู้ฟัง กำลังจำ

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ตัวเลยว่าจำ แค่เห็นนี่ก็จำแล้ว รู้เลย ยิ่งกว่านั้นยังจำชื่อ จำเรื่อง จำทุกอย่าง เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมที่จำ จะเห็นได้ว่า ไม่ได้ขาดไปเลย แต่ว่าไม่รู้เท่านั้นเอง จนบางครั้งอาจจะคิดว่า จำไม่ได้ แต่ความจริงขณะนั้นก็จำแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งต่างกันระหว่างจิตกับสัญญาเจตสิก

    มีอีกคำหนึ่ง คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิดตามความเป็นจริง เวลาที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แต่ไม่ได้มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้งนี่คือความละเอียด ไม่ใช่เหมา ฟังธรรมแล้วก็ข้ามๆ ไป ตื้นๆ พอได้ยินอย่างนี้ก็เป็นอย่างนั้น หรืออะไรอย่างนี้ แต่ต้องมีความละเอียดที่จะรู้ความต่าง มิฉะนั้นคุณอรวรรณจะพูดว่า จิตวิปลาส สัญญาวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ไม่ได้ เพราะว่าลักษณะ ๓ อย่างนี้ต่างกัน วิปลาส คือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามเพราะไม่รู้ความจริง จึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่นขณะนี้เห็นอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าตามที่เราเห็นก็คือเห็นดอกไม้ แต่ถ้าศึกษาก็คือเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เราไม่เข้าถึงลักษณะอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นวิปลาสทั้งหมดดับได้ด้วยโลกุตตรจิต แต่ถ้ายังไม่ถึงโลกุตตรจิต วิปลาสยังดับไม่ได้ เพราะเหตุว่า เพราะไม่รู้จึงวิปลาส เพราะไม่รู้ความจริงจึงเป็นอกุศล ทุกครั้งที่เป็นอกุศลนั้นวิปลาสแล้ว ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมต้องละเอียด ขณะที่คุณอรวรรณเห็นดอกไม้ ชอบใช่ไหม จำได้ มีจิต แล้วก็มีสัญญาเจตสิก แล้วก็มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี ได้แต่จำ เห็นผิด จิตเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ นี่พูดตามที่ได้ฟัง แต่ว่าตามความเป็นจริง สติ และปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่สับสน แต่ว่ากว่าจะเข้าใจอย่างนั้นได้จริงๆ จะเห็นได้ว่าปัญญาต้องเกิดตามลำดับขั้น ในขั้นฟัง ถ้าไม่มีความรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วจะไปเข้าใจจิต เข้าใจเจตสิก เข้าใจสภาพที่จำได้ไหม ก็ยังคงเหมือนกับว่า ไม่รู้เลย เหมือนเดิม แต่พอรู้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วไม่ใช่เรา เริ่มสะสมความเห็นถูก ที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ยังไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดจริงๆ ดับจริงๆ แต่ก็ได้ฟัง เริ่มมีความเห็นถูกในขั้นการฟังว่า สิ่งที่มี เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ จึงเป็นธรรมแต่ละลักษณะ

    เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วจะบอกว่า ขณะไหนมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าขณะนั้นไม่มีสติสัมปชัญญะเกิด คิดเองว่ามี หรือไม่มี แต่จะรู้จริงๆ ได้ว่า มี หรือไม่มี ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิด แล้วปัญญาสามารถที่จะเห็นว่าเป็นลักษณะของความเห็นผิดอย่างไร

    ผู้ฟัง แต่ที่เคยได้ยินมา ถึงแม้เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังเห็นเป็นดอกไม้ เห็นเป็นคน เห็นเป็นไมโครโฟน การจำผิดกับการคิดผิดไปจากความเป็นจริง พระอรหันต์ก็ยังละได้ ก็ยังเห็นเป็นคน ยิ่งถามยิ่งงง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าข้ามไป หรือไม่ ที่จะค่อยๆ เข้าใจความต่างกันของจิต และของสัญญา และของทิฏฐิ และก็รู้ว่า ยังไม่ได้รู้ตัวจริงๆ ของธรรมใดๆ เลยทั้งสิ้น แม้ขณะนี้นามธรรมก็มี กำลังทำกิจของนามธรรมนั้นๆ ก็ไม่รู้ในความเป็นนามธรรมนั้น แต่กำลังฟังเพื่อให้เข้าใจว่า มีสภาพธรรมที่ต่างกัน คือ สภาพหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น กับสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดแล้วรู้

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏก็แสดงว่ามีธาตุที่กำลังรู้ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่พอได้ยินอย่างนี้ ก็ไปถึงวิปลาสต่างๆ ทั้งสัญญาวิปลาส หรือ ทิฏฐิวิปลาส

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ เกิดจากอย่างนี้ หลายวันมานี้ก็พูดกันว่า ละอะไร ละความเห็นผิด เข้าใจผิดในสภาพธรรม ก็ไปไตร่ตรองเองว่า แล้วเราเข้าใจ หรือไม่ว่า ความเห็นผิดความเข้าใจผิดในสภาพธรรม คือ รู้ว่าเห็นไม่ตรงจริง ว่าใน ๔ ลักษณะที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และก็งาม ไม่งาม แล้วเราเห็นผิด เป็นตรงกันข้าม แต่ก็พอมาถามตัวเองว่าแล้วความเห็นผิดจริงๆ ก็รู้ว่ามี ๓ อย่าง แล้วเราเข้าใจไหม ก็เหมือนไม่เข้าใจท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ พราะว่าขณะนี้ธาตุรู้เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ธาตุรู้ก็รู้สิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ จำได้ว่าได้ยินคำนี้ แล้วตัวลักษณะของธาตุที่กำลังรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าถึงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ข้ามตอนนี้ไปแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง แสดงว่าแม้แต่การเริ่มต้นที่จะละความเห็นผิด สภาพธรรมจากความเป็นจริงก่อน ก็ต้องเริ่มเข้าใจเรื่องธรรมที่เป็นสภาพรู้กับสภาพธรรมอีกอันที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นสภาพไม่รู้ก่อน

    ท่านอาจารย์ มีสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็ยังไม่ทันจะรู้สิ่งนั้นจริงๆ แต่ไปคิดมากในเรื่องของสิ่งนั้น แล้วจะรู้สิ่งที่มีจริงได้ไหม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมให้ทราบว่า ไม่ใช่เพียงให้เข้าใจเรื่องราว เพราะอะไร เพราะว่าตัวจริงของธรรมมีจริงๆ กำลังมีด้วย แล้วก็ไปรู้เพียงเรื่องราวของสภาพธรรมนั้น แล้วเมื่อไรจะรู้จักตัวธรรมจริงๆ

    เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด ๔๕ พรรษา ผู้ฟังที่ได้ฟังก็ต่างกันไป คนที่เคยฟังมานานหลายชาติ หลายกัป พอเอ่ยถึงสภาพธรรมใด ก็สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ โดยที่ไม่สงสัย กับคนที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย แล้วพอได้ยินก็ไม่รู้ แม้แต่คำว่า ธรรม หรือธาตุรู้ สภาพรู้ ซึ่งมีจริงๆ และกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่แข็งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ที่เราเรียกว่าโต๊ะ เก้าอี้ ใครจะไปกระทบสัมผัสก็ไม่รู้อะไร เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่สภาพรู้ หรือธาตุรู้ มี ใครจะบังคับไม่ให้เกิดไม่ได้เหมือนจะบังคับไม่ให้แข็งเกิด ไม่ให้ร้อนเกิด ไม่ให้เสียงเกิด บังคับไม่ได้ ฉันใด ธาตุรู้ก็มีจริงๆ เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยแล้วต้องรู้

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟังธรรม ไม่ใช่ว่าจะทรงแสดงเรื่องต่างๆ เพื่อไม่ให้รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ แต่ทรงแสดงธรรมที่มีจริงตลอดชีวิตของแต่ละคน เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า สภาพนั้นๆ ทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งมีจริงๆ เกิดเมื่อไร ปรากฏลักษณะนั้นเมื่อนั้น ถ้ายังไม่โกรธ จะไปรู้ลักษณะที่โกรธ มีอะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิดได้ไหม ในเมื่อสภาพธรรมที่ไม่ใช่โกรธแต่เกิดแล้ว ควรจะรู้สิ่งไหน

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่กำลังฟังธรรมแล้วจะได้ฟังต่อไป เพื่อให้ไม่หลงลืมที่จะรู้ลักษณะของธรรมที่ปรากฏ นี่คือจุดประสงค์ของการที่จะรู้จักตัวจริงของธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่อง และเข้าใจเรื่องราวของธรรม

    พูดถึงเห็น พูดบ่อยๆ พูดถึงได้ยิน ก็พูดบ่อยๆ แล้วก็บอกว่าได้ยินมีจริงๆ เห็นมีจริงๆ ได้ยินไม่ใช่เสียง เสียงเป็นเสียง ได้ยินเป็นธาตุที่กำลังได้ยินเสียง เพื่ออะไร เพื่อเดี๋ยวนี้มีเสียง แล้วก็ต้องมีธาตุที่ได้ยินเสียง เมื่อไรที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อนั้นตรงตามพุทธประสงค์ ที่จะให้ผู้ฟังสามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องราวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบ ขณะนี้ลืมอะไร หรือไม่ ถามกันบ่อย ลืมไหม

    ผู้ฟัง อาจารย์เตือนว่าไม่ให้ลืมว่า ขณะนี้ทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เตือนไม่ให้ลืม เหมือนบังคับอีกแล้ว จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย พระธรรมทั้งหมดเป็นโอวาทที่จะให้ระลึกได้ เป็นอนุสาสนีย์ พร่ำสอนแล้วสอนอีก พูดถึงแล้วพูดถึงอีก จนกว่าเมื่อไรเริ่มรู้ลักษณะที่กำลังเห็น เมื่อนั้นก็อาศัยการฟังแล้วเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องราว แต่มีจริงๆ ธรรมต้องเข้าใจจริงๆ ก่อนที่จะรู้ว่า ขณะไหนเป็นทิฏฐิ ความเห็นผิด ขณะไหนเป็นโลภะ หรือว่าขณะไหนเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ที่เคยได้ยินชื่อ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังบอกว่าลืมอะไร หรือไม่ ก็ลืมว่าขณะนี้เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่พอ มีลักษณะของธรรมปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง ยัง หมายความว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง คิดนึก แข็งอะไรอย่างนี้ มี แต่ว่ายังเป็นเรารู้ คือยังเป็นจิตคือจิตเป็นเรารู้ คือยังไม่เข้าถึงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ เพียงได้ยินว่าแข็งมีจริง เป็นธรรม จะเหมือนกับขณะที่กำลังรู้ลักษณะแข็ง แข็งจริงๆ อยู่ตรงที่ขณะแข็งกำลังปรากฏ แต่ความปรากฏของแข็ง แล้วแต่ปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาเลย แข็งก็ปรากฏเป็นปกติ หมดไปเร็วมากเลย แล้วก็ไม่คิดถึงแข็งนั้นด้วย ใช่ไหม ก็เป็นช้อนซ่อม เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าถ้ารู้จริงๆ ว่าขณะที่แข็งปรากฏ จิตเกิดขึ้นรู้แข็ง ไม่ได้รู้อย่างอื่นเลย จะเป็นไปได้ไหมที่จะรู้อย่างนั้น ในเมื่อแข็งมี แล้วสภาพที่กำลังรู้แข็งก็มี แต่ไม่ชินต่อการที่จะรู้ลักษณะที่แข็ง เพียงแต่ฟังเรื่องแข็ง แล้วก็หวังว่าเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด เพียงชื่อ แต่ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจว่า สติปัฏฐานก็คือสภาพธรรมที่ระลึกรู้ลักษณะที่เคยได้ยินได้ฟังนั่นเอง ซึ่งมีจริงในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถ้ามีปัญญาที่มีความเข้าใจถูกต้องมั่นคง สติเกิด สามารถที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ หรือเห็น ที่กำลังเห็น หรือรู้แข็ง ไม่ใช่เราตั้งใจจดจ้อง ความต่างกันก็คือว่า ถ้าเป็นความไม่รู้ และเป็นเรา พอได้ยินคำว่า “แข็ง” ก็ไปรู้ตรงแข็งเลย แต่ว่าขณะใดก็ตามที่กำลังฟัง แล้วก็มีการรู้ลักษณะที่แข็งเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ได้มีความจงใจ ต้องการ แต่ว่าการที่เริ่มที่จะรู้ว่า สภาพธรรมมีจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ชื่อ แต่มีลักษณะจริงๆ ที่สามารถที่จะปรากฏให้เข้าใจถูกได้ เมื่อมีการฟัง และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ว่าขณะนั้นไม่มีเรา ไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่แข็งมีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วดับไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567