พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 411


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๑๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐


    ท่านอาจารย์ คนที่ยังมีกิเลสอยู่ ทุกข์กายก็เดือดร้อน หรือว่าถึงแม้ว่าไม่ใช่ทุกข์ก็เดือดร้อน เพราะความติดข้อง เพราะฉะนั้นก็มีทุกข์หลายอย่าง แล้วแต่ว่าใครสะสมอบรมมาที่จะทนได้ในทุกข์ไหน แต่ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้วดับไป นั่นคือทุกขลักษณะ ซึ่งเป็นอริยสัจจะ สำหรับผู้ที่รู้แจ้งความจริงนั้น ก็สามารถที่จะดับความติดข้อง ละสมุทยสัจจะ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จึงจะน้อมไปสู่การประจักษ์แจ้งธาตุซึ่งไม่มีการเกิดขึ้น คือ นิพพาน แล้วก็รู้ว่า มีหนทางเดียวคือการที่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    อ.กุลวิไล อย่างผู้ที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วจะเข้าใจได้อย่างไรว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นอริยสัจจะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องรู้ธรรมอะไรเลยก็เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ใช่ หรือ เพราะฉะนั้นเพียงรู้ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย จะทำให้คนนั้นเป็นพระอริยบุคคลได้ไหม

    อ.กุลวิไล ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่สภาพธรรมเกิด หรือใครว่าไม่เกิด เกิดแล้วก็ดับ ใครรู้ว่าเกิดแล้วดับ ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดสามารถไปทำความรู้ให้เกิดขึ้นว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เกิดแล้วดับ แต่ต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เห็นถูกในขั้นการฟัง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริง คือสิ่งที่มี กำลังฟังแท้ๆ ก็หลงลืม ที่จะรู้ว่า สิ่งที่กำลังมีขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นจะทรงอนุเคราะห์อย่างไร ทรงอนุเคราะห์ด้วยการอนุศาสนีย์ พร่ำสอน ไม่ได้พูดถึงสิ่งอื่นเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏจริงๆ พูดถึงตาแล้วก็เห็น แล้วก็สิ่งที่ปรากฏทางตา ทั้งหมดมีจริงๆ เกิดแล้วก็ดับไป พูดถึงหู เสียง และได้ยินมีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป พูดแล้วพูดอีกทุกวัน เพราะว่ามีสิ่งเหล่านี้ทุกวัน ประจำวันด้วย แต่กว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งในขณะนี้สามารถที่จะรู้ลักษณะไม่ลืมว่า ขณะนี้มีลักษณะที่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ ให้รู้ลักษณะนั้นซึ่งปกติจะไม่รู้เลย เพียงแต่คิดถึงลักษณะนั้น อย่างบางคนพอสนุกเพลิดเพลิน เขาก็บอกว่า โลภะ เริ่มเรียกชื่อ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะนั้นเลย แต่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ความชัดเจนไม่มีที่จะรู้เฉพาะแต่ละลักษณะ อย่างคำว่า “ปฏิปัตติ” “ปฏิ” แปลว่าเฉพาะ “ปัตติ” แปลว่าถึง สภาพธรรมเกิดแล้วดับแล้ว ยังไม่มีการถึงความเป็นธรรมของสิ่งที่เกิดแล้วดับแล้วเลย สภาพธรรมขณะนี้ก็เกิดแล้วดับแล้ว ก็ไม่รู้อีก จนกว่าฟัง มีความเข้าใจก็จะรู้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังไม่ใช่เป็นเฉพาะเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง แต่มีตัวสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้น จึงได้ทรงแสดงความจริงของธรรมนั้นโดยประการทั้งปวง จนกว่าขณะที่สภาพธรรมใดปรากฏ ความเข้าใจลักษณะนั้นเริ่มมี

    เพราะฉะนั้นเวลาใช้คำว่าปัญญา เราคิดถึงภาษาบาลี แล้วก็ระดับไหนถึงจะเป็นปัญญา แต่ถ้าในขณะที่กำลังฟังไม่ได้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่ละลักษณะด้วย อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอย่างหนึ่ง สภาพที่กำลังเห็นก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ความพอใจไม่พอใจในสิ่งที่เห็นก็มีจริงๆ ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่รู้ตัวธรรมจริงๆ การฟังธรรมทั้งหมดเกือบจะกล่าวได้ว่า เป็นโมฆะ เพราะเหตุว่าพูดถึงชื่อ พูดถึงจำนวน แต่ว่าไม่รู้ลักษณะ อย่างที่บางคนก็สามารถที่จะเขียนตำราพระพุทธศาสนาได้ เป็นชาวต่างประเทศแล้วก็พูดเรื่องจิต เจตสิก เมื่อสนทนากันแล้วปริยัติ หรือว่าความรู้เรื่องธรรมตอบได้ แต่ก่อนที่จะจากกันก็ถามเขาว่า ธรรมอยู่ที่ไหน ตอบไม่ได้

    เพราะฉะนั้นแสดงว่า ไม่ว่าจะใช้ภาษาอะไร มีความเข้าใจในภาษานั้นคำนั้น แล้วไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ เวลาที่เกิดใหม่ ภาษาอื่นแล้วใช่ไหม ภาษาเก่าลืมหมด แล้วจะเข้าใจสภาพธรรมได้ไหม ในเมื่อจำแต่เพียงเรื่องราว เชื่อว่าหลายคนที่นี้อาจจะเคยเกิดที่เมืองสาวัตถี เป็นชาวมคธ หรือว่าชาวโกสัมพีก็แล้วแต่ อดีตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารที่จะรู้ได้ ตอนนั้นไม่ได้พูดภาษาไทย แต่ว่าจะเป็นภาษาอะไรก็ตามแต่ ที่ทำให้เข้าใจความจริง หรือว่าลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะเปลี่ยนภาษานั้นเป็นภาษาอื่น แต่ก็เปลี่ยนลักษณะความจริงของสภาพธรรมไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้ามีการสะสมความรู้ถูกว่าศึกษาธรรม เพราะมีธรรม แต่ยังไม่รู้เรื่องของธรรม จนกว่าจะมีความเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา อย่างพูดถึงเรื่องแข็ง แข็งมีจริงๆ ไม่มีใครสร้าง ลักษณะแข็งเกิดขึ้นเป็นแข็ง เข้าใจอย่างนี้จริงๆ หรือว่าไม่เคยรู้ตรงลักษณะที่แข็ง ในขณะที่กำลังฟังเรื่องแข็ง เหมือนกับขณะนี้พูดเรื่องเห็น เห็นมีแน่นอน เห็นไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแสงสว่าง เป็นรูปร่างต่างๆ นั่นไม่ใช่เห็น แต่ว่าสิ่งใดก็ตามเป็นธาตุที่กระทบจักขุปสาทได้ เกิดขึ้น จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป นั่นคือความจริงของสภาพธรรม ถ้ามีความเข้าใจขณะที่กำลังเห็น แม้ไม่มาก ไม่ต้องมาก มากไม่ได้ เพราะว่าหลงลืมมานาน และความเข้าใจลักษณะสภาพธรรมก็ยาก เพราะเหตุว่าแม้สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง แต่ไม่เคยที่จะเริ่มเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    นี่ก็ต่างกันแล้วใช่ไหม ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ เป็นเพียงธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ เท่านี้เองในสังสารวัฏฏ์ เอาสิ่งที่ปรากฏทางตาไปทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพียงให้เห็นได้ว่า สิ่งนี้มี ลักษณะนี้มี แล้วก็ไม่ใช่ความคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานซึ่งเกิดต่อจากที่เห็น

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ยิ่งรู้ว่าไม่รู้มากเท่าไร ก็จะไม่ประมาทพระธรรมที่ทรงแสดงว่า ต้องมีความเข้าใจ และเป็นเรื่องของการอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่ใช่ในเรื่องราว แต่ในสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ท่านพระสารีบุตรท่านประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมขณะนี้ไหม ถ้ามิเช่นนั้นเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้เพราะอะไร ยังไม่รู้เลยว่า เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาดับแล้ว ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้อย่างนี้ จะดับความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตาได้อย่างไร เพราะขณะนี้โดยวิถีจิต การเกิดดับสืบต่อที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ทางหนึ่งทางใด ความละเอียดก็คือ ก่อนนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาต้องยังไม่เกิด ยังไม่ปรากฏ เช่นเวลาที่หลับสนิท ไม่มีอะไรปรากฏทางไหนเลย ใช่ไหม ไม่ได้ฝัน ไม่ได้คิด แล้วเกิดเห็น เห็นไหม ต่างกับขณะที่หลับสนิท น่าอัศจรรย์ หรือว่าธรรมดา อยากฟังเหมือนกันว่า น่าอัศจรรย์ หรือธรรมดา น่าอัศจรรย์ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ปรากฏได้อย่างไร ใครไปทำให้เกิดเห็นขึ้นมาได้ แต่ถ้าไม่คิดก็คือธรรมดา ตื่นขึ้นก็ต้องเห็น ตื่นขึ้นก็ต้องได้ยิน ตื่นขึ้นก็ต้องคิดนึก ดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่แม้แต่จิตที่คิดจะคิดอะไร ธรรมดาไหม ไม่ธรรมดาแล้วแต่ว่ามีปัจจัยสำหรับจิตนั้นจะเกิดคิดอะไร ก็ต้องคิดตามปัจจัย เปลี่ยนไม่ได้เลย

    นี่คือธรรม เพราะฉะนั้นฟังธรรมจนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็ไม่มีเรา มีแต่ธรรม นั่นคือรู้จักพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นก็จะคิดว่า พระองค์ทรงสอนเรื่องศีลธรรม เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เกิดแก่เจ็บตาย ก็คิดว่าเท่านั้นเอง แต่ความจริงไม่ใช่เท่านั้นเลย แม้เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ดับแล้วอย่างรวดเร็วสืบต่อเป็นนิมิต รูปร่างสัณฐานต่างๆ มีความติดข้อง มีโลภะ โทสะ มากมายเพียงแค่ทวารเดียว คือทางตา แล้วแต่ละขณะในชีวิตประจำวัน ความไม่รู้จะมากสักแค่ไหน

    ผู้ฟัง คงจะเข้าใจกัน ส่วนในข้อที่ ๒ นั้น ที่บอกว่า ภพใหม่ไม่มีอีกนั้น ตามความรู้สึกว่า เป็นภาวะของจิต หรือว่าการไปปฏิสนธิ คือไปถือกำเนิดในภพต่างๆ ที่รู้ๆ กันอยู่ ตรงนี้ขออนุญาตรับฟังตรงนี้อีกสักนิด

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณวิชัย

    อ.วิชัย สำหรับผู้ที่มิใช่พระอรหันต์ คือหลังจากที่สิ้นจากความเป็นบุคคลนี้แล้วก็ต้องมีกรรมในอดีตที่ทำไว้แล้ว จะเป็นกุศลกรรมก็ตาม อกุศลกรรมก็ตาม นำปฏิสนธิในภูมิต่อไป เพราะฉะนั้นบุคคลที่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉททั้งหมด ไม่มีอกุศลใดๆ เกิดเลย ขณะนั้นก็แสดงถึงว่า บุคคลนั้นหลังจาก เรียกว่า จุติจิตจากชาตินั้นแล้ว ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยอะไรที่จะให้ปฏิสนธิในภูมิใหม่ต่อไป

    เพราะเหตุว่าเราศึกษาว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของจิต เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปแล้ว ก็จะมีปัจจัยให้จิตขณะใหม่เกิดสืบต่อทันที เพราะฉะนั้นการเกิดดับสืบต่อกันของจิตนี้ก็เป็นไปตามเหตุ และปัจจัย เมื่อถึงขณะสุดท้ายของความเป็นบุคคลนี้ คือจุติจิตเกิด ขณะนั้นจุติจิตก็ยังเป็นปัจจัยที่จะให้จิตขณะต่อไป คือ ปฏิสนธิซึ่งเป็นผลของกรรมในอดีต เกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาตินี้ แล้วก็จิตขณะใหม่คือปฏิสนธิเกิดในภูมิต่อไป อันนี้คือสำหรับบุคคลที่ไมใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วหลังจากจุติจิตแล้ว ท่านก็สิ้นเหตุสิ้นปัจจัยที่จะให้จิตคือจุติจิตของพระอรหันต์จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะใหม่เกิดขึ้น อันนี้ก็หมดเหตุปัจจัยที่จะให้จิตขณะใหม่เกิดขึ้น ก็ไม่มีการเกิดขึ้นในภพต่อไป

    ท่านอาจารย์ ก็ขอทราบก่อนว่า “ภพ” คืออะไร เพราะว่าถ้าไม่รู้ว่า ภพคืออะไร ก็คิดถึงว่าชาติหน้าจะมีไหม เดี๋ยวนี้เป็นภพ หรือไม่ เป็น ภวะ เป็นภพ เป็นความเป็น หรือไม่ ขณะที่กำลังเห็นเป็นภพไหม เป็นภพไหน เป็นภพที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เวลาจิตเกิดขึ้นขณะใดแล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นกามภพ เพราะเหตุว่าคำว่า “กาม” หมายความถึงสภาพที่น่าใคร่ซึ่งสิ่งที่ปรากฏทางตา น่าใคร่ไหม น่าเห็นไหม เสียงที่ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บางคนบอกว่า มีสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจด้วย แต่ก็ใคร่ที่จะเห็น หรือไม่

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีความมีความเป็น ขณะนั้นก็เป็นภพ เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่า จากโลกนี้ไปแล้วจะมีภพหน้าไหม ใช่ไหม คำถาม ขณะเดี๋ยวนี้เห็นเป็นภพ หรือไม่ หรือว่าไม่มีภพ เห็นเท่านั้น ไม่มีภพ หรือว่าตัวเห็นเป็นภพ เป็นภาวะ เป็นความเป็น ซึ่งเกิดแล้วด้วย ในเมื่อเห็นเป็นภพ ดับแล้ว มีภพต่อไปเกิดขึ้นต่อ หรือไม่ หรือไม่มี ว่างไปอีกไม่มีอะไร หรือว่ามี สิ่งนั้นแหละซึ่งเป็นสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ซึ่งในวันหนึ่งๆ ในภูมิที่มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ คือ สิ่งที่เย็นร้อน อ่อนแข็งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย มีใครจะรู้อื่นไหม หรือจะติดข้องในสิ่งอื่นไหม

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าแม้คำว่า “ภพ” ก็ไม่ใช่อื่นไกล แต่ละขณะที่เกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งขณะนี้พิสูจน์ได้เลย คิดนึกดับแล้ว ไม่ได้หายไปหมด ก็ยังมีอย่างอื่นเกิด แต่ไม่รู้ เห็นดับแล้ว ก็มีได้ยิน ถ้าระหว่างนั้น ระหว่างเห็นกับได้ยินก็ยังมีคิดนึก ซึ่งไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงขณะนั้นกำลังคิดถึงรูปร่างสัณฐาน แน่นอน ของสิ่งที่ปรากฏอย่างรวดเร็ว เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาเราใช้คำว่าคิด เราจะคิดถึงเรื่องราวต่างๆ แต่ว่าความจริง เห็น สามารถจะเพียงรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง จะรู้ว่าเป็นอะไรไม่ได้เลย นั่นเป็นขณะจิตต่อไป

    เพราะฉะนั้น คำว่า “ภพ” ก็คือความเป็นไป หรือความเกิดขึ้นของภาวะ ซึ่งเป็นธาตุรู้ แล้วแต่ว่าจะเป็นกามภพ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ หรือบนสวรรค์ หรือนรก หรือสัตว์เดรัจฉาน ก็ไม่พ้นจากภพที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี่ก็เป็นความละเอียด ซึ่งถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็จะไม่สงสัย เพราะว่าขณะเมื่อกี้นี้ภพนั้นดับ แล้วก็มีขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้นจากโลกนี้สู่อีกโลกหนึ่ง ไม่มีระหว่างคั่นเลย เหมือนขณะนี้ทุกอย่าง รวดเร็วสืบต่อ ยังพ้นจากการเกิด หรือพ้นจากภพไม่ได้ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ก็อยากจะถามอีกสักข้อหนึ่ง คนเรานั้นกล่าวว่าเกลียดทุกข์ ต้องการมีความสุข การที่ก้าวไปสู่ความสุข หลายๆ คนก็ยังไม่รู้ว่า จะเดินทางไหนแน่ เพื่อที่จะก้าวไปสู่ความสุขที่ตัวเองปรารถนา ไปเจอในสมาธิสูตรกล่าวเอาไว้สั้นๆ ดีเหมือนกันว่า ธรรมอันนำความสุขมาให้ยิ่งกว่าสมาธิไม่มี นี่แสดงว่าสมาธิเป็นตัวทำให้มีความสุข ก็อยากจะขอถามว่าคำว่า “สมาธิ” ตรงนี้ เป็นสมาธิระดับไหน

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นสมาธิคืออะไรก่อน

    ผู้ฟัง สมาธิคือจิตตั้งมั่น

    ท่านอาจารย์ สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เป็นธรรมที่มีจริง เป็นจิต หรือเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ มีมิจฉาสมาธิไหม หรือว่ามีแต่สัมมาสมาธิ

    ผู้ฟัง ก็คงจะมีทั้งคู่

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ถ้าศึกษาโดยละเอียด สมาธิ ได้แก่ สภาพของเจตสิกซึ่งตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า เอกัคคตาเจตสิก เพราะฉะนั้นก็เกิดกับจิตทุกขณะ การศึกษาธรรมต้องละเอียด จึงจะสามารถรู้ได้ว่า คำที่แสดงนั้นหมายความถึงสมาธิขั้นไหน ระดับไหน เป็นสัมมา หรือว่าเป็นมิจฉา ไม่ใช่ว่าคละเคล้ากันไปหมด แล้วก็จะนำความสุขมาให้ ขอเชิญคุณนิภัทร

    อ.นิภัทร สมาธิธรรมดาทำให้เราข้องติดอยู่ในความสุข คือสุขเวทนา ธรรมดา แต่ว่าเป็นสุขมากๆ ก็คือโลภโสมนัสนั่นเอง ประกอบด้วยโลภะ แต่สมาธิที่เป็นสุขอย่างยิ่งที่ว่านั้น เป็นสมาธิในมรรค เป็นสัมมาสมาธิที่เกิดพร้อมกับมรรคองค์อื่นๆ เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ไม่ใช่สมาธิธรรมดา ถ้าสมาธิที่ทำให้เกิดเวทนาธรรมดา สุขเวทนา อะไรอย่างนี้ ยังไม่จัดเป็นอย่างยิ่ง ถ้าท่านว่าเป็นอย่างยิ่ง ความมุ่งหมายของท่านในที่นั้น ต้องหมายถึงสมาธิในมรรคที่ต้องจะทำให้แจ้งในพระนิพพาน

    ผู้ฟัง ถ้าเราวิเคราะห์ตามคำแปล หรือตามศึกษา เราก็ว่านั่งเฉยๆ ต้องมีข้อพิจารณาลมหายใจ ไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน แปลว่ามีสมาธิ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าคนที่ไปทำสมาธิ บางทีนั่งเฉยๆ แล้วก็คิดสารพัด คนอื่นจะไม่สามารถรู้เลยว่า เขาทำสมาธิ หรือไม่ แต่เขานั่งเฉยๆ แล้วก็ไม่พูดไม่จา เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรงตั้งแต่ต้น แม้แต่คำว่าสมาธิ หรือทำสมาธิ ก็ต้องรู้ว่าคืออะไร มีประโยชน์ หรือไม่ หรือว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล หรือว่าเป็นความไม่รู้อะไร ไม่ใช่ตื่นเต้นกับคำว่าทำสมาธิ โดยที่ไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร แล้วทำอย่างไร นั่งเฉยๆ หลับตาเป็นทำสมาธิ หรือไม่ เมื่อกี้นี้บอกว่าทำอย่างไร

    ผู้ฟัง คือโดยหลักที่เราสอนๆ กันมา คือจับว่าตามนี้ ความตั้งใจมั่น แปลว่าสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง ทีละ ๑ อารมณ์

    ผู้ฟัง ที่เห็นก็คือว่า สำนักต่างๆ ก็เอาคนไปนั่งอย่างที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ แล้วก็คนที่ไม่ได้ทำก็มองว่า นั่งเฉยๆ หรือไม่ จิตใจสงบจริงไหม มันไม่มีมาตรฐานไปตรวจสอบ แม้แต่พวกเรานั่งอยู่ตรงนี้ เราบอกว่าผมสงบ ตั้งใจฟังคำสอนท่านอาจารย์ แต่คนอื่นที่ไม่ได้มานั่งกับเรา เขาก็จะมองว่าได้ประโยชน์อะไร นี่คือเป็นนานาจิตตัง ก็เลยสงสัยว่า เขาตั้งใจอย่างนี้ เข้าหลักสมาธิ หรือไม่ เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะรู้ว่าผิดถูกได้อย่างไร ใครจะเป็นผู้ที่สามารถที่จะแสดงให้รู้ว่า อะไรผิด อะไรถูก

    ผู้ฟัง ถ้าจะดูตรงนี้ก็ดูที่การกระทำ พระพุทธเจ้าว่า ดูที่การกระทำ ไม่มีมาตรฐานตรวจสอบ

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเข้าทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมดโดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่สามารถที่จะรู้ได้ จะไปตัดสินด้วยตัวเอง หรือว่าจากคำบอกเล่าของคนอื่น ก็ไม่ใช่ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาให้เข้าใจ แม้แต่คำว่า “สมาธิ” หรือ “ทำสมาธิ”

    สมาธิเกิดกับจิตทุกประเภท ทุกขณะ แม้เพียงจิตเห็น ขณะนี้แค่เห็นเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เป็นการประจวบกันของรูปที่เกิดแล้วยังไม่ดับกับจักขุปสาทซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ ซึ่งทั้ง ๒ อย่างมีอายุที่สั้นมากคือเพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แสนเร็วแล้วก็ดับไปแล้ว ขณะนั้นก็ยังมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดแล้ว ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นจิตที่จะเกิดแต่ละขณะที่จะขาดเอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพที่ตั้งมั่น ก็จะต้องมีการรู้ว่า เมื่อเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพของสมาธิ เกิดกับจิตได้ทุกประเภท เพราะฉะนั้นก็เกิดได้ทั้งกับอกุศลจิต และกุศลจิต และถ้าโดยความละเอียด แม้จิตที่เป็นวิบากที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัยให้จิตนั้นเกิดขึ้น ก็ยังมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ว่าเป็นจิตประเภทใด ภพไหนภูมิไหนเกิดเมื่อไรก็มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นที่จะเป็นสัมมาสมาธิ หรือที่จะเป็นกุศลสมาธิ ก็ต้องขณะนั้นไมใช่ด้วยความไม่รู้อะไร แล้วก็ไปนั่ง อย่างนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย

    อ.กุลวิไล กราบเรียนท่านอาจารย์ถึงความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่จะเกื้อกูลต่อความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะนี้มี

    ท่านอาจารย์ ธรรมอะไรกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ขณะนี้เห็น

    ท่านอาจารย์ มีเห็น เป็นคุณบุษกร หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าโดยการฟังแล้วไม่มี แต่จริงๆ แล้วยังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรถูก อะไรผิด

    ผู้ฟัง เห็นโดยไม่มี ถูก

    ท่านอาจารย์ เห็นว่าเป็นธรรม ถูกต้อง เพราะความจริงเป็นธรรม ไม่ใช่คุณบุษกร เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อให้มีความเข้าใจว่า มีความเห็นผิดขณะไหนบ้าง ไม่ใช่รู้จักชื่อความเห็นผิด ๖๒ ประเภท ทรงแสดงไว้ แต่ว่าไม่รู้เลยว่า ขณะนี้มีความเห็นผิด หรือไม่มีความเห็นผิด ธรรมเป็นเรื่องจริง แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจถูกในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ เมื่อฟังสิ่งนั้นเข้าใจก็จะเริ่มเห็นว่าเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่ว่าเราศึกษาพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นพระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก โดยชื่อ แต่ไม่รู้เลยว่า ขณะนี้เป็นธรรมตามที่ได้ฟัง เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ต้องอาศัยกาลเวลาที่นานกว่าจะเข้าใจว่า เห็นขณะนี้เองที่เอ่ยชื่อเมื่อกี้นี้ แล้วก็เอ่ยชื่อว่าเป็นธรรม ความจริงก็เป็นธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงกล่าวว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ใคร และไม่ใช่ของใคร

    เพราะฉะนั้นเวลาศึกษาธรรมมักจะลืม กลายเป็นเรื่องเราเมื่อวานนี้ เจอคนนั้น เขาทำสิ่งที่ไม่ดีเลย แล้วเราจะทำอย่างไรกับเขา กลายเป็นอย่างนั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567