พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 416


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๑๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์มื่อเป็นนามธาตุ หรือนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ คือ จิต มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นคือต้องเกิดพร้อมเจตสิก ดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่นเลย อย่างรวดเร็ว ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ ตายแล้วก็ยังต้องเกิด เพราะว่าตายคือจิตขณะสุดท้าย เกิดแล้วดับไป สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แต่ก็ยังไม่จบ จิตที่ดับไปนั่นแหละก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น โดยเลือกไม่ได้ด้วยว่า จิตต่อไปที่เกิดจะเป็นผลของกรรมอะไร เพราะว่าเมื่อกรรมซึ่งเป็นเหตุมี ผลซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นต้องมี เพียงแต่จะช้า หรือจะเร็ว จะมาก หรือจะน้อย ตามกำลังของกรรม

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเวลาที่ได้ยินคำว่าธรรม อย่าเพิ่งคิดว่าเข้าใจแล้ว ได้ยินแต่ชื่อทั้งนั้นเลย เพราะว่าบอกว่า ทุกขณะเป็นธรรม ก็แค่ชื่อ ยังไม่ใช่ทุกขณะจริงๆ ไม่มีเรา ก็เพียงแค่ชื่อ แต่ว่าไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม แล้วจะไม่ใช่เราได้อย่างไร ก็ใครล่ะที่เห็น ธาตุเห็นเกิดขึ้น ใครล่ะถ้าไม่ใช่เรา เพราะไม่รู้ความจริงว่า ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เพราะอาศัยปัจจัยเกิดแล้วดับ ด้วยความไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมด แล้วสภาพธรรมนั้นก็ไม่ใช่ใครไม่รู้แล้วก็จะไม่เกิด ใครจะรู้ หรือไม่รู้ สภาพธรรมนั้นๆ ก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น เช่นจิตเป็นธาตุ เป็นนามธาตุ ไม่ให้ไฟเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไมให้แข็งเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ให้เสียงเกิดขึ้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ให้จิตเกิดขึ้นได้ไหม ในเมื่อจิตก็เป็นธาตุเช่นเดียวกับธาตุอื่นๆ แต่ว่าต่างกันที่ว่า ธาตุอื่นไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย แข็งก็คือแข็ง เสียงก็คือเสียง รสก็คือรส แต่ธาตุรู้นี่ตรงกันข้ามกับรูปธาตุ เพราะว่ารูปธาตุ แม้มองไม่เห็น อย่างเสียง แต่ก็ปรากฏได้ให้รู้ว่า เสียงเป็นอย่างนี้ เสียงมีจริงๆ เสียงเกิดแล้ว แล้วเสียงก็ดับไปด้วย นั่นคือลักษณะของรูปซึ่งสามารถจะปรากฏ เมื่อมีธาตุรู้ที่กำลังได้ยิน เสียงจึงปรากฏ เมื่อมีธาตุรู้ที่กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้จึงปรากฏ เมื่อมีธาตุรู้ในขณะที่รสปรากฏ รสนั้นๆ จึงปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นอย่าคิดว่าเราเข้าใจธรรมแล้ว แค่ฟัง แต่ยังไม่ได้เข้าใจเลยจนกว่าสามารถที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมนั้นเมื่อไร จึงเริ่มที่จะรู้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมดโดยละเอียด โดยตลอด ตั้งแต่เกิดจนตายทุกภพชาติ จากการที่ทรงแสดงสภาพธรรมนั้นไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้นก็ไม่ประมาทว่าเราเข้าใจธรรม เราเข้าใจจิต เราเข้าใจเจตสิก เราเข้าใจความรู้สึก เราเข้าใจเรื่องเจ็บ เรื่องไม่เจ็บ ทางทวารไหน ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ว่าถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นี้ จะตรัสเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ก็ต้องเรื่องสภาพธรรมจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะมีจริงๆ แล้วก็ดูได้เลยในพระไตรปิฏก และอรรถกถา ก็เป็นการที่แสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้น เพราะฉะนั้นขณะนี้ให้รู้จักธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นนามธาตุ ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย ถ้าธาตุนี้ปรากฏ โลกนี้จะว่างจากสีสันวัณณะ และสิ่งที่เป็นรูปทั้งหมด มีแต่ธาตุที่กำลังรู้ และเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ด้วย แต่ว่าแม้ขณะนี้ธาตุนี้ก็กำลังเป็นอย่างนั้น กำลังทำกิจหน้าที่ของธาตุนั้นๆ แต่ไม่ได้ปรากฏ เพราะว่าจะไม่ปรากฏกับอวิชชา ที่ใช้คำว่า “ปรากฏ” นี้ ก็หมายความว่า กับความเห็นที่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้อง แม้ในขณะที่ฟัง ก็ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของธาตุใดๆ เลยทั้งสิ้น ที่จะใช้คำว่า “อริยสัจธรรม” ธรรมที่เป็นจริงสำหรับผู้รู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคล ดับความเห็นผิด ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็เพราะเหตุว่ามีความรู้ ไม่ต้องไปกังวลเรื่องจะประจักษ์ หรือว่าสติจะเกิด หรืออยากจะเข้าใจสติปัฏฐาน ถ้าไม่รู้จักธรรมขณะนี้ ไม่มีทางเลยที่ปัญญาจะเจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้นการเจริญขึ้นของปัญญา ก็ต้องตามลำดับ โดยความไม่ประมาท ฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วก็คือเรื่องสิ่งที่มีจริง จากความที่ไม่เคยรู้ จนกระทั่งค่อยๆ เป็นความค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่กำลังฟัง เรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นยังไม่กล่าวถึงเจตสิกก็ได้ เพียงแค่จิตกำลังมี เกิดขึ้นทำกิจการงาน ตลอดเวลา ไม่ขาดเลย แต่ก็ถ้าไม่รู้ความจริง ก็เป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุนี้จึงมีคำว่า “อัตตา” แล้วก็เป็นความเห็นว่าเที่ยง ก็เป็นอัตตานุทิฏฐิ ขณะใดก็ตามที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็ทราบได้เลยว่า ขณะนั้นยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเปล่า เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วสภาพธรรมละเอียดมาก ขณะจิตหนึ่งๆ ในขณะที่กำลังขุ่นใจ ไม่พอใจ ขณะนั้นจะไม่มีความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วย

    นี่ก็เป็นความละเอียดซึ่งไม่ใช่หมายความว่าให้เราเพียงแต่ฟังเรื่องละเอียด แต่ให้รู้ว่าชีวิตจริงๆ เราเป็นอย่างนี้ไม่พ้นไปได้เลย แต่ไม่เคยรู้ แต่พอฟังธรรมก็รู้ว่าคือชีวิตจริงๆ ทั้งหมดนี่แหละตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แต่เริ่มรู้ อย่างเห็นเหมือนกัน ก็มีจริงๆ โกรธก็มีจริงๆ คิดก็มีจริงๆ ทุกอย่างที่ได้ฟังมีจริงทั้งหมด แต่ไม่เคยรู้

    เพราะฉะนั้นเวลาฟังก็เริ่มรู้ว่าสิ่งที่มีจริงนั้นแหละ เป็นสิ่งที่เป็นธรรมที่ได้ทรงแสดงโดยละเอียด โดยเฉพาะเรื่องจิต เป็นใหญ่ เป็นประธาน ถ้าไม่มีจิต ไม่มีธาตุรู้ ไม่มีเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตปรุงแต่งจิต จิตจะหลากหลายเป็นประเภทต่างๆ ไม่ได้ วันหนึ่งๆ ทุกคนมีจิตอย่างเดียวกัน หรือไม่ มีแค่จิตเห็น หรือไม่ มีแค่จิตได้ยิน หรือไม่ มีแค่จิตคิดนึก หรือไม่ ไม่เลย มีจิตมากมายซึ่งไม่เคยรู้เลย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็เพื่อให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ เห็น สภาพรู้เป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะกำลังได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นในขณะนี้เสียง เสียงนี้ เพราะจิตได้ยินนี่ก็แสดงให้เห็นว่าจะรู้ว่า เป็นธรรมประเภทใดก็ต่อเมื่อมีลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏ

    เรื่องจิตคงไม่มีปัญหาแล้วใช่ไหม แล้วก็เจตสิกก็ไม่ใช่จะกล่าวเพียงแต่ชื่อแล้วก็สับสนปนแป แต่ว่าเจตสิกก็เป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่จิต คือข้อสำคัญที่จะต้องรู้แน่นอนคือเจตสิกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกอะไรก็ตาม เจตสิกไม่ใช่จิต เพราะไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ขณะใดก็ตามถ้าถามว่าเห็นไหม ตอบว่าเห็น นั่นเป็นจิตเห็น ถามว่าเห็นแล้วชอบ หรือไม่ชอบ ชอบ หรือไม่ชอบไม่ใช่จิต เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นสิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นนามธรรมเกิดขึ้นแต่ไม่ใช่จิต สิ่งนั้นๆ ทั้งหมดเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ ขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเกิดขึ้น เห็นอะไร

    ผู้ฟัง มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง กระทบแล้วหลังจากนั้นก็รู้แล้วว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ คนละขณะใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าโดยการศึกษาว่าใช่คนละขณะ แต่จริงๆ แล้วยังไม่รู้ถึงขนาดนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าต้องพิจารณาว่าจริง หรือเปล่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟังไม่ใช่ให้รู้แจ้งทันที แต่พิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตัวเองมั่นคงว่า จริง หรือไม่ ถูก หรือไม่ ให้เป็นความมั่นคงของตัวเอง

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ว่า อย่างไร แค่ไหน เพิ่งรู้จักจิต เพราะหนูพึ่งเริ่มฟัง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เคยได้ยินคำว่า “จิต” มีแต่เราใช่ไหม แล้วพอได้ยินคำว่าจิต ไม่ได้หมายความว่าเราเข้าใจ หรือรู้ลักษณะของจิต เพียงแต่รู้ว่า มีจิต ทุกคนตอบได้ว่ามีจิต แล้วทำไมเราต้องฟังเรื่องจิต เพราะว่าเราไม่สามารถจะรู้ลักษณะของจิตซึ่งมองไม่เห็น ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสใดๆ เลยทั้งสิ้น เพียงแต่รู้ว่ามี บางคนก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า มีจิต มีแล้วอยู่ที่ไหน ทั้งๆ ที่ทุกคนก็ตอบว่าที่ตัวมีจิต แต่อยู่ที่ไหน มีแล้วก็ไม่รู้ว่า อยู่ที่ไหนแล้วตอบว่ามีได้ไหม ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด แต่ว่าเป็นเรื่องที่อย่าไปคิดว่า เราจะศึกษาธรรม โดยฟังเรื่องราว แต่ต้องรู้ว่าทั้งหมดเป็นธรรมที่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟัง ก็มีความเข้าใจขึ้น อย่างเมื่อกี้พูดเรื่องกายทวาร มโนทวาร โดยไม่รู้ภาษาบาลี กาย ภาษาบาลีแน่ๆ ทวารก็ภาษาบาลี มโนก็ภาษาบาลี ทวารก็ภาษาบาลี ก็เลยไม่เข้าใจคำว่ากายทวารกับมโนทวาร เวลาที่ฟังคำอธิบาย ว่า ที่กาย คือมีสิ่งที่สามารถจะกระทบกับเย็น ร้อน อ่อน แข็งได้ มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แน่ๆ จริง หรือไม่ ไม่ต้องเรียกชื่อได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่กำลังพูดเรื่องแข็ง มีใครรู้ตรงแข็งบ้าง เวลาพูดเรื่องกาย มีใครรู้ตรงกายบ้าง ก็พูดเรื่องแข็ง พูดเรื่องกาย แล้วหวังว่า จะเข้าใจกาย เข้าใจแข็ง โดยเพียงแค่ฟัง ทั้งๆ ที่ลักษณะของกายก็มี ลักษณะของแข็งก็มี แต่ว่าอย่างไหนสามารถจะปรากฏให้รู้ได้ นี่เป็นสิ่งที่ทั้งหมดต้องไตร่ตรอง ฟังธรรมไม่ใช่เพียงฟัง แต่ปัญญาต้องเกิดจากการพิจารณา แล้วเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วย อย่างแข็งอย่างนี้ มี กายปสาท มี จึงรู้ว่า สิ่งที่กระทบนั้นแข็ง เพราะฉะนั้นอะไรปรากฏ

    นี่ต้องคิดแล้ว เห็นไหม ไม่ใช่ฟังธรรมเพียงฟังไปเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าเขาจะบอกว่าอะไร เพราะว่าโดยมากจะบอกว่าคนนี้พูดอย่างนี้ คนนั้นพูดอย่างนั้น แต่ผู้ฟัง ฟังแล้วเข้าใจอะไร อะไรถูก อะไรผิด อย่างเช่นแข็ง มีแน่ๆ กำลังปรากฏ พูดอย่างนี้ มีใครรู้ตรงแข็งบ้าง ถามอีกครั้งหนึ่ง เห็นไหม มีใครรู้ตรงแข็ง หรือเปล่าคะ ยังไม่รู้ทั้งๆ ที่พูดเรื่องแข็ง แล้วจะให้รู้ว่า แข็งเป็นธรรม มีจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏ ไม่เป็นอย่างอื่นเลย นอกจากเป็นแข็ง ไม่ต้องใช้คำว่าทวารไหนเลยด้วยซ้ำไป ทำไมจะต้องไปคิดถึงกายทวาร พอแข็งปรากฏแล้วก็มโนทวารรับรู้ต่อ แต่ก่อนนั้นต้องเป็นภวังค์ นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะไปรู้ ใช่ไหม เรื่องราวต่างๆ แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะที่เป็นธรรม ซึ่งเราฟังธรรมเพื่อที่จะเข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าเห็น กำลังเห็น แล้วก็ขณะที่คิดก็มี แต่คิดไม่ใช่เห็น แค่นี้เราพอจะเข้าใจได้ไหม โดยยังไม่ต้องพูดคำว่า “ทวาร” เลย เพราะว่าเห็น แน่นอนที่สุดถ้าไม่มีตา จักขุปสาทไม่เกิด ใครจะให้เห็น เป็นไปไม่ได้เลย แล้วเวลาที่เสียงปรากฏ เสียงก็ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่จำเป็นต้องไปใช้คำว่าทวารไหนเลย เพราะว่าขณะที่พยายามไปคิด ไปใช้คำ ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเลย แต่เราเรียนเรื่องธรรมเพื่อที่จะรู้ลักษณะที่เป็นธรรม เพื่อจะรู้ว่า ไม่ใช่เรา เมื่อเป็นธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง เราจะอยู่ตรงไหนคะ อย่างแข็งอย่างนี่ แข็งไหนเป็นเรา แข็งก็เป็นแข็ง ถ้ารู้แข็งบ่อยๆ รู้จนทั่ว รู้จนไม่ลืม รู้จนเวลารู้ ก็กระทบทีไรก็เป็นแข็ง ไม่ใช่เรา นั่นคือจุดประสงค์ของการที่ฟังธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจ แต่ถ้าเราไปรู้ว่า แข็งเป็นกายทวาร แล้วพอรู้แล้วก็ไปทางมโนทวาร เวลาคิดเราก็รู้ว่าคิดไม่ใช่เห็น แล้วคิดก็ไม่ต้องอาศัยตา ก็ไม่ต้องอาศัยหู ไม่ต้องอาศัยจมูก ไม่ต้องอาศัยลิ้น ไม่ต้องอาศัยกาย แต่คิดเพราะมีจิต ซึ่งก่อนคิดไม่ได้คิด ใช่ไหม กำลังหลับสนิท ไม่ได้คิด คือ ก่อนคิดไม่ได้คิด แต่ว่าเวลาคิดเกิดขึ้น ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้นคิดเกิดได้อย่างไร เพราะมีจิตขณะก่อนซึ่งยังไม่ได้คิดนั่นแหละเป็นทางที่จะทำให้จิตคิดเกิดขึ้น

    ก็เป็นของธรรมดาในชีวิตประจำวัน ถ้าเราไม่ไปติดคำว่า “ทวาร” เราก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของธรรม แล้วก็รู้ด้วย พอใครพูดถึงทวาร เราก็รู้ อย่างเห็น อย่างนี้แล้วบอกว่าจักขุทวาร เราจะไม่รู้ หรือ เพราะว่าเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท ไม่ใช่ไปเห็นเสียง ไม่ใช่ไปเห็นกลิ่น แต่กลิ่นปรากฏ ไม่ใช่ตาไปรู้กลิ่น หรือว่าจิตเกิดขึ้นเห็นไปรู้กลิ่นไม่ใช่ แต่ว่าจิตขณะนั้นกำลังลิ้มรส รสจึงปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเราก็สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ โดยที่ว่าไม่คิดชื่อ แล้วไม่ใช่ไปเอาชื่อมาสงสัย จากทวารนี้แล้วก็ไปทวารนั้นได้อย่างไร มีอะไรเกิดก่อนคั่นกี่ขณะ หรืออะไรอย่างนั้น เป็นวิสัยของเราที่จะรู้ หรือไม่ แม้แต่เพียงคำว่าจักขุทวารกับมโนทวาร ๒ คำนี้ไม่ยากแล้วใช่ไหม จักขุคือตา ตานี่แหละเป็นทางที่จะทำให้สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏได้ ถ้าไม่มีตาเป็นทวาร หรือเป็นทาง ธาตุเห็น หรือจิตเห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า จักขุทวารก็ไม่ยาก พอได้ยินคำว่า “มโนทวาร” เมื่อกี้นี้ก็รู้ว่าขณะที่คิดไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็คิดได้ เพราะฉะนั้นคิดนั่นก็คืออาศัยใจ ซึ่งก่อนนั้นไม่ได้คิด แต่ว่าสะสมความจำสืบต่อมา ไม่ว่าจะวันนี้จำอะไร แม้ฝันก็ยังคิดถึงได้ หรือว่าขณะนี้นั่งๆ อยู่อย่างนี้ มีเห็น แต่ก็ยังคิดอื่นได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีปัจจัยคือการจำ ความสนใจ วิตก ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ทำหน้าที่ตรึกนึกถึง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ว่าเราอยากจะนึกอะไรก็นึกได้ มีใครบ้างไหมคะที่อยากจะนึกอะไรก็นึกได้ เป็นไปไม่ได้เลย แม้คิดก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย จะคิดถึงสิ่งที่ไม่เคยเห็น คิดถึงยักษ์ หรือว่าคิดถึงอะไรก็ตามแต่ คิดได้ไหมคะ หรือว่าไปเห็นอะไรมา เขาบอกว่ายักษ์ เราก็ว่ายักษ์ด้วย เท่านั้นเอง เพราะจำได้

    นี่คือสิ่งซึ่งทั้งหมดนี่คะเป็นธรรม แต่อาศัยการเข้าใจ ไม่ใช่อาศัยชื่อ ถ้ามีความเข้าใจแล้ว ชื่อติดตามมาทีหลัง เราไม่สงสัยเลย เช่นคำว่า “คิด” ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เราไม่ได้มีแต่เห็น ไม่ได้มีแต่ได้ยิน ไม่ได้มีแต่ได้กลิ่น ไม่ใช่มีแต่ลิ้มรส ไม่ใช่มีแต่รู้สัมผัส ยังคิดด้วย เพราะฉะนั้นคิดนี่ก็ต้องอาศัยใจ ซึ่งถ้าไม่มีใจเกิดก่อน คิดก็เกิดไม่ได้เลย

    นี่ก็คือการที่จะเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นอย่าให้เราไปติดที่ว่าเราจะต้องรู้ชื่อเยอะๆ เพราะเหตุว่าจิตเห็น ตามที่ได้ฟัง สั้นแค่ไหน ๑ ขณะจิต ดับแล้ว แล้วเราสามารถที่จะรู้ขณะจิตซึ่งเกิดสืบต่อได้ไหม ถ้าจะกล่าวถึงทางจักขุทวาร ไม่ได้มีแต่เฉพาะจิตเห็น ยังมีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ อะไรๆ อีกก็ตามแต่ แต่ว่ารู้ได้ไหม หรืออย่างที่สามารถจะรู้ได้ ก็เพียงแต่ว่าเห็นแล้วชอบ หรือไม่ชอบ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นในพระสูตรก็แสดงตามเท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ว่าถ้าใช้คำว่าอภิ-ธรรม หมายความว่า แสดงความละเอียดยิ่งของธรรม เพื่อที่จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แม้ในขั้นการฟัง กว่าการฟังของเราจะทำให้มีการที่เข้าใจลึกลงไปจนกระทั่งถึงการสะสมที่เคยสะสมในความไม่รู้ และไม่เข้าใจ เปลี่ยนเป็นความเข้าใจขึ้นทีละน้อยในสภาพซึ่งไม่ใช่เรา

    นี่คือจุดประสงค์ คำสอนที่ต่างกันของพระบรมศาสดากับคำสอนอื่น ก็คือคำสอนอื่นจะไม่พูดเรื่องอนัตตา ไม่พูดเรื่องธรรม ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่จะสอนให้ทำอย่างนี้ หรือทำอย่างนั้น แล้วจิตใจก็จะสบาย หรือว่าจะได้ประโยชน์อย่างนั้นอย่างนี้ อย่างที่คุณชุนห์ถาม พอรู้แค่นี้ก็เป็นประโยชน์ใจสบายขึ้น นั่นคือไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพื่อเหตุนั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรมก็ตาม เพื่อให้รู้ความจริง มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ระหว่างไม่รู้กับรู้ แค่นี้ ไม่ต้องคิดมาก อะไรดีกว่าอะไร อะไรเป็นประโยชน์กว่าอะไร รู้ หรือไม่รู้ ถ้าไม่รู้ ก็ต้องทำตามความไม่รู้ ไม่รู้แม้จนกระทั่งว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ที่กล่าวถึงเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสภาพธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอะไรเกิดเลย จะแก่ จะเจ็บ จะตายได้ไหม

    ผู้ฟัง คือจริงๆ ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเกิดเป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถไปบังคับบัญชาได้ ไปทำให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ แต่มีปัจจัยก็เกิดขึ้น จึงเป็นธรรมที่เกิด

    ผู้ฟัง แล้วจะสามารถที่จะละกิเลสได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าเป็นธรรม เป็นเรา หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องมีความมั่นคง ที่ฟังธรรมทุกเสาร์อาทิตย์ หรือทุกวัน ก็เพื่อที่จะให้มีความเห็นที่ถูกต้องว่า ทุกอย่างที่ปรากฏมีจริง เป็นธรรมทั้งหมด ไม่เว้นเลย เพื่อที่จะให้มีความเข้าใจที่มั่นคงในสิ่งที่กำลังปรากฏ เริ่มค่อยๆ รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เป็นของใคร แล้วก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วย เกิดแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง เวลากล่าวอย่างนี้ก็เหมือนกล่าวว่า ทุกคนทั่วๆ ไป ถึงจะศึกษาธรรม หรือไม่ศึกษาธรรม ก็รู้ว่าเกิดมี แก่มี เจ็บมี ตายมี เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องตาย อย่างนี้ มันเหมือนกับอะไรที่มันธรรมดามากเลย แต่ว่าจริงๆ แล้วพอศึกษาธรรม ก็รู้ว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียดแล้วก็ลึกซึ้ง ก็เลยอยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า จริงๆ แล้วเมื่อกล่าวถึงเกิด แก่ เจ็บ ตาย ลึกซึ้งอย่างไรในสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรที่กำลังปรากฏ ต้องเกิด แค่นี้ลึกซึ้งไหม ถ้าไม่เกิดไม่ปรากฏ ลึกซึ้งไหม แล้วเกิดโดยที่ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้เลย ลึกซึ้งไหม เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่เห็นการเกิดขึ้น และดับไปเลย ลึกซึ้งไหม แล้วก็ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชา หรือเป็นเจ้าของ หรือเป็นของใครได้เลยสักอย่างเดียว ลึกซึ้งไหม

    ผู้ฟัง ถ้าพิจารณาตาม แล้วก็ศึกษาธรรมก็รู้ว่า ลึกซึ้ง แต่ว่าไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งอย่างคำที่กล่าวได้ เพราะฉะนั้นมันเหมือนกับว่า มองไม่เห็นหนทางว่าจะช่วยละกิเลสที่มันสั่งสมอยู่ในจิตได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงกับสิ่งที่ไม่มี สามารถจะเห็นความจริงของอะไร

    ผู้ฟัง ต้องเห็นสิ่งที่มี

    ท่านอาจารย์ เห็นความจริงของสิ่งที่มี เวลานี้สิ่งที่มีเกิดแล้วปรากฏ เช่นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นมีจริง

    ท่านอาจารย์ เห็นมีจริง ถ้ารู้ว่าเห็นเป็นเห็น ละกิเลส คือ ความไม่รู้ หรือไม่ เพราะรู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นมีจริงๆ เกิดแล้วโดยที่ไม่ได้มีใครไปทำให้เกิดขึ้นเลย แต่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ถ้ารู้อย่างนี้ละการที่เคยคิดเข้าใจว่า เราเห็น หรือเราทำให้เห็นเกิดขึ้น หรือเห็นเป็นเรา ค่อยๆ เข้าใจขึ้นตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ขณะใดก็ตามที่เริ่มเข้าใจแม้เพียงเล็กน้อย ก็หมายความว่า ยังสามารถที่จะไตร่ตรอง แล้วพิจารณาอบรมจนกระทั่งสามารถประจักษ์ความจริงนั้นได้ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏเลย จะไปรู้ความจริงของอะไรได้ แต่สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เริ่มฟัง เริ่มเข้าใจ เริ่มละความไม่รู้ แม้แต่ได้ยินว่า เป็นธรรม ก็จะต้องเข้าใจด้วย เพราะอะไรจึงเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567