พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 418
ตอนที่ ๔๑๘
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
ท่านอาจารย์ กว่าจะชิน เพราะชินกับการเป็นเรา ชินกับการเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาแสนนาน จนกระทั่งแม้ทรงแสดงว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ความเป็นจริงก็คือสามารถปรากฏให้เห็นเท่านั้นเอง ดับแล้ว หมดแล้ว แต่คิดนึกเรื่องราวมากมาย สุขทุกข์ในเรื่องราวที่คิดนึกมาก วันนี้อาจจะคิดเรื่องเมื่อวานนี้ต่อ แต่ว่าไม่ใช่แข็ง ซึ่งมีลักษณะจริงๆ ขณะที่กำลังมีแข็งปรากฏ เรื่องราวไม่มีเลย แสดงว่าเรื่องราวเป็นเพียงเมื่อคิด ถ้าไม่คิดจะไม่มีเรื่องที่ยาวมาก เป็นเรื่องบุคคลนั้นบุคคลนี้ แม้เดี๋ยวนี้ก็ตาม ถ้ากำลังรู้ตรงแข็งจริงๆ จะรู้ว่า ต่างกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่จริง แล้วใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วก็รู้ด้วยว่า เมื่อไรจะรู้ความจริง เมื่อความจริงเป็นความจริงก็รู้ได้ แต่ว่าต้องอบรมจนกว่าจะชิน เพราะว่าทุกคนก็มีแข็งกระทบปรากฏอยู่ทั้งวัน ก็เป็นผู้ที่ตรง กำลังรู้แข็งซึ่งเป็นธรรม ลักษณะนั้นเป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อย แต่ไม่ใช่ไปบังคับ หรือไปฝืน ไปพยายามที่จะให้ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ โดยไม่ได้รู้เลยว่าที่จริง ขณะที่กำลังรู้ความจริงนั้นแหละเป็นความเห็นถูก ขณะนี้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เริ่มเห็นถูกว่าเป็นธรรม เริ่มแค่นี้เอง จะเริ่มมากกว่านี้ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะชิน ทางตา ทางกาย ทางใจ ทางหู ทางจมูก ทุกอย่างที่ปรากฏแล้วแต่ว่ามีปัจจัยที่จะรู้ลักษณะนั้นเมื่อไร หรือว่ายังคงไม่รู้ต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็เกิดรู้ แม้เล็กน้อย ก็จะรู้ว่าเพราะรู้นั่นแหละ จึงชินกับลักษณะที่เป็นธรรม จนกว่าจะรู้ทั่ว ไม่มีหนทางอื่นเลย
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ เมื่อได้สังเกตแล้วทีละลักษณะ สั้นเหมือนกับ ...
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดอะไรเลย เรื่องสั้นเรื่องยาว แต่ว่ามีลักษณะอื่นไหม ขณะนี้ กำลังเห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ทุกคนฟังเรื่องเห็น ไม่ใช่คิดเรื่องอื่น ทุกคนฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่คิดเรื่องอื่น มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องคิดว่าสั้น เพราะอะไร ไม่ใช่มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เสียงก็มี นี่จึงจะกล่าวได้ว่าสั้นแค่ไหน เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่เสียง แต่ถูกปิดบังไว้ด้วยการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก จนกระทั่งมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาธรรมดาปกติก็เป็นธรรม ที่ว่าสั้น เพราะอย่างอื่นปรากฏสืบต่อแล้ว แล้วเสียงก็สั้นอีก แล้วก็สิ่งที่ปรากฏทางตาจะสั้นแค่ไหน เพราะว่าคิดแล้ว
เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ใช้คำว่า ปริตธรรม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ปรากฏเพียงเล็กน้อยสั้นๆ แล้วก็สืบต่อ จนกระทั่งความไม่รู้ก็ทำให้ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เทียง เพราะว่าไม่เห็นการเกิดดับ ซึ่งเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น ถ้ายังไม่เป็นลักษณะสภาพธรรมแต่ละลักษณะ จะให้ประจักษ์การเกิดดับไม่ได้เลย เพราะว่าสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิด แล้วสภาพธรรมที่เกิดนั้นแหละดับ ไม่ใช่อย่างอื่นดับ
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ อย่างพอเห็นปุ๊บ สภาพคิดก็ตามมา
ท่านอาจารย์ ก็รู้ไง ว่าคิดไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย แต่ไม่ชินกับคิด ใช่ไหม ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าคิด แต่คิดไม่ใช่เห็น เพราะเห็นต้องเป็นเพียงมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเท่านั้นจริงๆ นี่คือความรวดเร็วของสภาพธรรมที่ต้องแยกโดยละเอียด จึงได้ทรงแสดงลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน ให้รู้ว่าในขณะนี้ ไม่รู้อะไรบ้าง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไรบ้าง อย่างก่อนจิตเห็น ต้องมีจิตที่ไม่เห็น ใช่ไหม
ผู้ฟัง ค่ะ
ท่านอาจารย์ รู้ไหม
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ไม่รู้ หลังจากจิตเห็นดับไปแล้วมีจิตอะไรบ้าง รู้ไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่รู้อีก
ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเราที่ไม่รู้ แล้วก็จะไปรู้โดยชื่อ เช่น ขณะจิตแรกที่ทำกิจเกิดขึ้น สืบต่อจากจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน เพราะว่าจิตแต่ละประเภทต้องมีกิจการงาน เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิต คือ จิตสุดท้ายของชาติก่อน ทำปฏิสนธิกิจสืบต่อโดยไม่มีระหว่างขั้นเลย ดับแล้วจะไม่มีอะไรเกิดต่อได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ แล้วแต่ละคนทำไมต่างกัน ก็เกิดปฏิสนธิจิต เป็นมนุษย์ แล้วทำไมต่างกัน ตามการสะสมซึ่งประมวลมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไปตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเห็น ไม่ใช่เราเลือกได้ ได้ยินก็ไม่ใช่เราเลือกได้ ถึงกาละที่จะเห็น ต้องเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้วเมื่อเห็นแล้วยังคิดต่อ ทุกคนนี่ แม้คิดก็ต่างกันไป ตามการสะสม
เพราะฉะนั้นจะเป็นบุคคลที่ต่างๆ กัน โดยกรรมที่ทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ กัน ยังต่างกันตามการสะสมของกุศล และอกุศลด้วย เพราะฉะนั้นบุคคลจึงต่างกันมาก ทุกคนฟังธรรม แต่จะให้มีความเข้าใจธรรมตามที่ทรงแสดงมากน้อยต้องเป็นไปตามปัจจัยที่ได้สะสมมา จะให้เหมือนกันไม่ได้
เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ประโยชน์ของพระธรรมที่ทรงแสดงสำหรับแต่ละบุคคล ตามการสะสมว่า บุคคลนั้นๆ ที่ได้ยินได้ฟัง จะได้รับประโยชน์จากการฟังมากน้อยแค่ไหน เท่ากันไหมในห้องนี้
ผู้ฟัง ไม่เท่า
ท่านอาจารย์ นอกห้องนี้ ที่ไหนก็ตาม แต่ละคนก็ ตามความเป็นจริง เปลี่ยนไม่ได้เลย สะสมเข้าใจขึ้น จะให้ปรับเป็นความไม่เข้าใจก็ไม่ได้
อ.วิชัย กราบเรียนถามท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงให้ภิกษุ หรือว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญาให้พิจารณาถึงว่ามีความแก่ เจ็บ ตาย มีการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ เป็นธรรมดา คือตามความเข้าใจคิดว่า โดยสภาพของขณะที่ฟังที่เป็นกุศลจิตในการที่จะพิจารณาถึงสิ่งที่แก่ เจ็บ ตาย หรือว่าการพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ แต่ถ้าบุคคลนั้นมีความเข้าใจถึงสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเมื่อมีธรรม จึงมีความแก่ เจ็บ ตาย หรือแม้การพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ เพราะฉะนั้นกุศลในการที่ฟัง ขณะนั้น ความมุ่งหมายของพระผู้มีพระภาค ซึ่งการที่ฟังเรื่องของแก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีการฟังพระธรรมส่วนอื่น ให้เข้าถึงสภาพธรรม ด้วยไหม
ท่านอาจารย์ ยังไม่มาถึงสำหรับบางท่าน ใช่ไหม เกิดจริง แต่ยังไม่แก่ และก็ยังไม่เจ็บ และก็ยังไม่ตาย เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่มีใครพ้นไปได้ เกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงเกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งยังไม่มาถึง แต่ขณะนี้ มีสิ่งที่เกิดกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นก็ชี้ให้เห็นว่า อย่างไรๆ ก็ตามความตายก็เป็นสิ่งที่ใครไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะมาถึงเมื่อไร
เพราะฉะนั้นประโยชน์สูงสุดก่อนตาย การที่กล่าวถึงเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็เพื่อเตือนให้ระลึกได้ ว่าอย่างไรก็ต้องตาย และจะตายเมื่อไรก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดก่อนตายก็คือ ได้เข้าใจความจริงตั้งแต่เกิดจนตายคืออะไร มีจริงๆ หรือไม่ แล้วก็เหลืออะไรบ้าง หรือไม่ อย่างเกิดมานี้ ขณะแรกดับไม่กลับมาอีกเลย แต่ละขณะก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีอะไรเหลือเลย แม้แต่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ผู้ที่ไม่รู้ความจริงก็คิดว่า เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ความจริงถ้าสามารถจะที่รู้ได้ว่า เห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งความจริงเป็นอย่างนี้ ก็จะทำให้ได้ประโยชน์จากการที่ได้เกิดแล้วก็ต้องตาย จะเร็ว หรือจะช้าก็คือว่าอย่างน้อยที่สุดชาตินี้ก็มีประโยชน์ที่ได้รู้ความจริง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปยับยั้งการเกิดขึ้นของธาตุซึ่งเป็นนามธาตุ จิต เจตสิก เกิดแล้วดับแล้ว ก็ต้องเป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดขึ้นไม่รู้จบจนกว่า จะถึงขณะสุดท้ายของพระอรหันต์จึง จะไม่มีการเกิดดับต่อไปอีกได้เลย
เพราะฉะนั้นประโยชน์จากการฟัง ธรรมดาๆ รู้กับไม่รู้อย่างไหนจะดีกว่ากัน เกิดมาแล้วทุกคนก็ต้องบอกว่ารู้ดีกว่าไม่รู้ ไม่ว่าจะรู้อะไร จะรู้วิธีทำอาหาร จะรู้วิธีปลูกผัก หรือว่าจะรู้วิธีอะไรก็ตามแต่ ก็ดีกว่าไม่รู้ แต่รู้อะไร มีประโยชน์สูงสุดยิ่งกว่านั้น คือรู้ความจริงว่า ขณะนี้เป็นธรรม หรือว่าเป็นเรา มิฉะนั้นจะไม่มีคำ ๒ คำ คือ ความเห็นถูกกับความเห็นผิด ถ้าเป็นความเห็นถูก ก็คือสามารถที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีแต่ละลักษณะถูกต้อง เพื่อที่จะคลายความยึดถือ เพราะว่าตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มี ต้องมีการยึดมั่นพอใจในสิ่งนั้นมากน้อยต่างกัน แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นไปในการยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นสภาพที่น่ายินดี หรือว่าเป็นความติดข้อง โดยการเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ได้ดับไปเลย และการเห็นว่าขณะนี้เป็นเราจริงๆ ที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้นก็จะเป็นทุกข์มาก เพราะเหตุว่าไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เพราะว่าไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นจะไม่มีประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม จะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีใครเห็นว่า ประโยชน์คือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่มีการตรัสรู้ และการทรงแสดง ไม่มีใครสามารถที่คิดได้เลย ไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ แล้วลองคิดถึงความจริง สิ่งนี้มีจริงๆ ไม่ใช่ไม่จริง แต่เกิดแล้วดับ แล้วก็จะติดข้องในสิ่งที่เกิดแล้วดับ แล้วไม่กลับมาอีก เพราะไม่รู้ แต่ถ้ารู้จริงๆ ก็คลายการติดข้อง ยึดถือด้วยความเป็นตัวตน
ผู้ฟัง ดิฉันก็เข้าไปอ่านในพระสูตร มีตอนหนึ่งที่ท่านบอกว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะพ้นความตายไปได้ ให้ระลึกอยู่เสมออย่างนี้ ก็จะละความเมาของชีวิต ช่วยขยายความคำว่าความเมาของงชีวิตด้วย
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เมา หรือไม่ ถ้าไปหาขณะอื่นอาจจะไม่ชัดเจน ถ้าไม่รู้ว่าขณะนี้เมา แล้วจะไปละความเมาได้อย่างไร แล้วเมาด้วยอะไร
ผู้ฟัง เฉพาะความเมาของชีวิต อาจารย์ช่วยขยายความ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เราแข็งแรง ทำอะไรก็ได้ สนุกอย่างไรก็ได้ รับประทานอะไรก็ได้ ต้องการอะไรก็ไปแสวงหา เมาไหม
ผู้ฟัง เมา ตอนนี้มันไม่แข็งแรง เมาด้วย
ท่านอาจารย์ มีความเป็นเรา หรือไม่
ผู้ฟัง เป็นเราแล้ว
ท่านอาจารย์ เมา หรือไม่ เมาในความเป็นเรา
ผู้ฟัง โง่ ไม่มีปัญญานั่นเอง คือ ปัญญานี้ก็เกิดยาก อาจารย์ จะให้ไม่เป็นเราแล้วก็ไม่เมาในชีวิต
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครบอกว่าจะไม่ให้ หรือจะให้ สภาพธรรมมี กำลังปรากฏ เข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ด้วยการฟัง และเห็นประโยชน์ หรือว่าไม่ต้องการรู้ความจริง ไม่ต้องรู้ก็ได้ หรือว่าไม่รู้ก็ไม่รู้ต่อไปอีกทุกชาติๆ เพราะว่าพอไม่รู้แล้วก็ติดข้อง ก็ติดข้องต่อไปอีกทุกชาติๆ พอติดข้อง ไม่ได้สิ่งที่พอใจ ก็ไม่พอใจขุ่นเคืองไปอีกทุกชาติๆ ก็มีความทุกข์ไปทุกชาติ แต่ว่าจริงๆ ลองคิดถึงว่า ขณะนี้เรากำลังไม่เดือดร้อน เพราะไม่ได้อยู่ในนรก เพียงไม่ต้องคิดถึงนรก พายุใหญ่ น้ำท่วม อันตรายกำลังมารอบข้าง ท่านอุปมาเหมือนกับภูเขาใหญ่ ๔ ทิศ ใกล้เข้ามาทุกที นั่นเป็นคำอุปมา แต่ว่าตามความจริง ใครจะรู้ว่าขณะไหนจะประสบภัยพิบัติเมื่อไร ในลักษณะใด แค่คิดก็น่าตกใจแล้ว แค่พายุหมุนแล้วเรากำลังอยู่ตรงนั้นคิดดูก็แล้วกัน แล้วใครหลีกเลี่ยงได้ ใครอยู่ตรงนั้น ใครไม่อยู่ตรงนั้น ใครจะประสบ หรือไม่ประสบ เพราะบางคน แม้เห็นพายุหมุนกำลังจะมาถึง หยุดทันทีตรงนั้นได้ พายุหยุด เปลี่ยนไปทิศอื่นใครบังคับบัญชาได้
เพราะฉะนั้นทั้งหมดให้เห็นภัยว่า จริงๆ แล้วชีวิตที่เกิดมา มีรูปมีนาม ถ้าเป็นแต่เพียงรูป ไม่มีความรู้สึกใดๆ ไม่มีมีจิต ไม่มีเจตสิก ภูเขาก็ไม่เดือดร้อน น้ำทะเลก็ไม่เดือดร้อน ต้นไม้ก็ไม่เดือดร้อน แต่ว่าความจริงไม่ได้มีแต่เฉพาะธาตุที่ไม่รู้อะไร ซึ่งเป็นรูปธาตุ ซึ่งเกิดเพราะอุตุ แต่ยังมีนามธาตุ ที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะอะไร เกิดแล้ว มีแล้ว จะไปหยุดยั้งไม่ให้เกิดอีกได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ความจริงว่า อะไรทำให้เกิดขึ้น แล้วภัยมารอบด้านทุกวัน แล้วแต่ว่าจะเกิดกับใคร วันไหน เมื่อไร ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้นไม่เมา ก็คือว่า สามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน และภัยต่างๆ ของชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของแต่ละคน แลกกันก็ไม่ได้ ไม่ต้องไปถึงนรก แค่เป็นมนุษย์ก็แย่แล้ว
เพราะฉะนั้นไม่ประมาทก็คือสามารถที่จะเข้าใจเห็นถูกไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งอะไรจะเกิดขึ้น นอกจากจะบังคับบัญชาไม่ได้แล้ว ยังเป็นสิ่งที่เป็นเพียงธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือการที่จะพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะรู้ความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ต้องมีปัจจัย แต่ถ้ามีปัญญาเห็นถูกต้อง แม้ความเจ็บปวด ก็เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งเกิดแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย แต่ดับด้วย และก็ไม่ใช่เรา แต่กว่าจะละคลายความติดข้อง ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะต้องมีการฟังพระธรรมด้วยการที่เห็นประโยชน์สูงสุด เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว แต่ว่าในชาติต่อๆ ไปด้วย บางคนอาจจะคิดถึงข้อความบางตอนของบางท่าน หรือแม้ข้อความในพระไตรปิฎก แต่ก็ต้องพิจารณาให้ถึงความจริงคือสัจธรรมด้วย เช่นประโยชน์ตน และประโยชน์ของบุคคลอื่น มีไหม ทั้ง ๒ อย่าง ตอนนี้เป็นประโยชน์ใคร
ผู้ฟัง ประโยชน์ตน
ท่านอาจารย์ เมื่อไร
ผู้ฟัง กำลังมี
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กำลังเข้าใจธรรม เข้าใจความจริง นั่นเป็นประโยชน์ตน เอาไปให้คนอื่นได้ไหม ไม่ได้ แต่สามารถที่จะกล่าวถึงความจริงให้คนอื่นได้รับประโยชน์ด้วย แต่ถ้าไม่มีประโยชน์ตน จะช่วยคนอื่นได้ไหม ไม่มีทางเลย ที่เราคิดว่าเรากำลังช่วยใครต่อใครก็ตามแต่ ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน เมื่อมีกรรมเกิดแล้ว แล้วแต่ว่า ขณะนั้นมีปัญญา หรือไม่มีปัญญา ยังเป็นเขา ก็ต้องเดือดร้อน แต่ถ้าสามารถที่จะมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกว่าเป็นธรรม ก็จะคลายความทุกข์ความเดือดร้อนไปได้
ผู้ฟัง ขณะซึ่งสติปัฏฐานไม่ได้เกิด ไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมในขณะซึ่งสั้นแสนสั้น รู้แต่ความเป็นปรมัตถ์ ในขณะนั้นไม่ใช่เรา แน่นอนที่สุดคือไม่ใช่เรา แต่สั้นแสนสั้น เมื่อเขาดับไปแล้ว มันก็กลับมาเป็นเราใหม่อีก นี่คือธรรมชาติ นี่คือเรื่องจริง ทีนี้อาจารย์พูดเมื่อต้นชั่วโมงบอกว่า ก่อนจะตายควรจะรู้อะไร ดิฉันก็มานึกถึงว่าเรียนกับอาจารย์มามากแล้ว ก็ควรจะเจริญสติ แต่เมื่อสติเกิด มันเกิดสั้นแสนสั้น
ท่านอาจารย์ เดือดร้อนแล้วไช่ไหม
ผู้ฟัง แต่ว่ามันก็เป็นเรา จะไม่เป็นเราจริงๆ ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด และมีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ นั่นไม่ใช่เรา แต่สั้นมาก เมื่อดับไปแล้วก็เป็นเราใหม่อีก มันคือเรื่องจริง แล้วเกิดกับตัวจริงๆ ด้วย เพราะฉะนั้นก่อนเราตายเราควรจะรู้อะไร ช่วยขยายความด้วย
ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนจะมุ่งไปที่สติปัฏฐาน แต่ว่าความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้มีแค่ไหน ต้องการสติปัฏฐาน พยายามที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่อะไรที่ละความไม่รู้ สติ หรือปัญญา หรือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าขณะนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐานเลย แต่ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น เข้าใจขึ้น นั่นแหละจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นการที่ฟังเรื่องนี้บ่อยๆ ก็เป็นเพียงการเตือนแล้วเตือนอีก ว่าขณะนี้เป็นธรรม มีจริง กำลังปรากฏ ซึ่งเมื่อฟังแล้วเริ่มเข้าใจขึ้น ก็จะคลายความไม่รู้ ไม่ใช่ ต้องการอย่างอื่น คือ อยากจะให้สติปัฏฐานเกิด เพราะฉะนั้นอยากจะให้สติปัฏฐานเกิด หรือว่ายังไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าเมื่อมีการฟังก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เวลาเข้าใจจะคลายความต้องการ แต่ถ้าไม่มีการรู้ความจริงของสภาพธรรมก็มุ่งหมายอย่างอื่น เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ขณะนี้ที่เข้าใจ ไม่ใช่เรา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโลภะ มีอโทสะ มีสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดีเกิดพร้อมกันแล้วดับใน ๑ ขณะที่แสนเร็ว ไม่มีใครสามารถจะไปทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นขณะนี้ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ในฐานะที่จะเป็นถึงพระอัครสาวกนี้ ๑ อสงไขยแสนกัป แต่ว่าท่านไม่ได้มุ่งหมายที่จะต้องรู้วันนี้ หรือให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ แต่ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ธรรมกำลังปรากฏ แต่การฟังทั้งหมดไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไรก็ตาม เพื่อคลายความยึดถือสภาพธรรม ด้วยความไม่รู้ในขั้นการฟัง แล้วเวลาที่มีปัจจัยที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่ต้องเรียกอะไรก็ได้ จะน้อย หรือจะมาก ก็คือเพื่อละความต้องการ
เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดคือปัญญา แล้วก็จะรู้ได้ว่าขณะที่สภาพธรรมเกิดก็เพราะอนัตตา ถ้าสติสัมปชัญญะจะรู้ลักษณะของแข็ง เป็นธรรมแน่ๆ เลย ใช่ไหม ไม่เปลี่ยนลักษณะ กำลังเป็นแข็ง แต่ก็มีธรรมอื่นอยู่ด้วย แต่ชั่วขณะที่กำลังรู้ลักษณะจริงๆ เห็นถูกต้องว่า เป็นธรรม ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่า ยังไม่รู้ลักษณะอื่นๆ ที่มีจริงๆ ทั้งนามธรรม และรูปธรรมอีกมาก แต่นี่ก็เป็นชั่วขณะที่ต่างกัน
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันของ ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด โดยรู้ด้วยว่าเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดคือการมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพื่อที่จะละความต้องการ หรือว่าจะไปเตรียมตัวตอนไหนก็ไม่มีใครรู้ได้ แต่ว่าขณะนี้ที่มีความเห็นถูกกำลังเตรียม สำหรับที่จะมีความเห็นถูกไม่ว่าขณะนั้นสภาพธรรมนั้นจะเป็นอะไร
ผู้ฟัง ทีนี้ท่านก็แสดงไว้อีกว่า ในขณะซึ่งเรายังไม่ได้ตาย ก่อนตายให้สะสมเสบียงไว้ คำว่าเสบียง อาจารย์ช่วยขยายความ
ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ต้องการเสบียงแบบไหน
ผู้ฟัง ปัญญา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็สะสมปัญญา ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ฟังจนกว่าจะเห็นถูกทีละน้อยว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แค่นี้ก็ยังยากที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วจะเห็นความไม่รู้ว่ามากจนกระทั่งไปติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏ คิดดู เป็นอย่างไรติดข้องในสิ่งที่เพียงปรากฏ เห็นความไม่รู้ของตัวเองไหม ว่ามากแค่ไหน แล้วก็ไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสิ่งที่ปรากฏ ก็ยิ่งรู้ความลึกซึ้งว่า ที่ติดข้องเพราะไม่รู้ความจริง ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นอย่างนี้ ปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะรู้ได้ แล้วปัญญาก็จะคลายความติดข้อง
เพราะฉะนั้นขณะนี้เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นของธรรมดา แต่ว่าเริ่มเข้าใจเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ วันหนึ่งวันใดก็จะเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะคลายความไม่รู้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย ต้องเกิดเป็นอย่างนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ในปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นขณะแรกของชาตินี้ ซึ่งประมวลมาซึ่งทุกอย่างที่ได้สะสมมา ที่จะต้องเป็นไปตามการสะสม ก็จะรู้เลย วันนี้เห็นอะไร ได้ยินอะไร คิดนึกอะไร ทั้งหมดต้องเป็นไปตามการสะสม
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 361
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 362
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 363
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 364
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 365
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 366
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 367
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 368
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 369
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 370
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 371
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 372
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 373
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 374
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 375
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 376
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 377
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 378
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 379
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 380
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 381
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 382
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 383
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 384
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 385
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 386
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 387
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 388
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 389
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 390
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 391
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 392
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 393
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 394
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 395
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 396
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 397
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 398
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 399
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 400
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 401
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 402
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 403
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 404
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 405
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 406
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 407
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 408
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 409
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 410
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 411
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 412
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 413
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 414
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 415
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 416
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 417
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 418
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 419
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 420