พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 419


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๑๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ในปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นขณะแรกของชาตินี้ ซึ่งประมวลมาซึ่งทุกอย่างที่ได้สะสมมาที่จะต้องเป็นไปตามการสะสม ก็จะรู้เลยคะ วันนี้เห็นอะไร ได้ยินอะไร คิดนึกอะไร ทั้งหมดต้องเป็นไปตามการสะสม

    เพราะฉะนั้นกำลังสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อยที่จะเห็นตามความเป็นจริงเพื่อที่จะละความไม่รู้ ซึ่งสะสมมานานมาก เพราะฉะนั้นก็ต้องสะสมความเข้าใจถูก แม้เพียงเริ่มที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เห็นไหมว่ายังไม่ได้ชัดเจน เพียงแต่เริ่ม ถ้าบ่อยๆ ก็จะค่อยๆ คลาย แล้วการค่อยๆ คลายเพราะปัญญาค่อยๆ รู้ ใครจะไปประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมขณะนี้ โดยไม่รู้ และโดยไม่คลาย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย และคลาย ไม่ใช่ไปนึกคลาย กำลังปรากฏนี่แหละ กำลังฟังด้วย ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทีละเล็กทีละน้อยในความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เพียงเท่านี้เอง เพียงเมื่อมีจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ เกิดทั้งจักขุปสาท และรูปที่กำลังปรากฏ มีอายุที่สั้นมาก จิตเห็นเกิดเมื่อไร สิ่งนี้จึงปรากฏได้ เท่านั้นเอง นี่คือความจริงทุกๆ ขณะในชีวิต มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ขณะที่เราฟังแล้วเข้าใจ มันก็เป็นการสะสมอย่างหนึ่ง คือสะสมปัญญา แต่เมื่อปัญญาเขาพร้อมสมบูรณ์ที่สติจะเกิด แต่ขณะนั้นสติปัฏฐานก็เกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วยังต้องละด้วย เห็นไหม แต่ละก้าว แต่ละก้าวที่จะขัดเกลาอกุศล ขัดเกลากิเลส ต้องไม่ลืม การฟังธรรมเพื่ออะไร เพื่อขัดเกลากิเลสทุกอย่าง เพราะเห็นโทษของกิเลสทุกอย่าง ซึ่งถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง ไม่มีการที่จะขัดเกลากิเลสใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะว่ากิเลสทั้งหมดมาจากความไม่รู้ แต่ในขณะที่กำลังฟัง ถ้าไม่คิดว่าเป็นการขัดเกลา ซึ่งจะเห็นได้เลย ว่า จิตของแต่ละคนหลากหลายตามการสะสม แล้วใครจะรู้ดีกว่าตัวเอง

    เพราะฉะนั้นก็ตื้นๆ คือเห็น สิ่งที่เกิด แต่สิ่งที่ซ้อนอยู่สะสมมา ลึกมาก ไม่ได้ปรากฏ เพราะว่ายังไม่มีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นความที่ทั้งหมดที่สะสมมาในแต่ละวัน ก็ลองคิดดูก็แล้วกันว่า สะสมกุศลมาก หรือว่าสะสมอกุศลมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะต้องขัดเกลามากสักแค่ไหน แต่ก็ลืม ฟังธรรม แล้วก็ไม่ชอบคนนั้น แล้วก็โกรธคนนี้ แล้วฟังธรรมเพื่ออะไร ก็ขัดเกลาไงคะ สะสมเพื่อที่จะขัดเกลา แล้วในขณะนั้นก็ตั้งใจที่จะโกรธต่อไป เกลียดต่อไป แล้วฟังธรรมเพื่ออะไร

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ฟังเพราะเห็นจิตว่า จิตที่สะสม สะสมอะไรมามากแค่ไหน และต้องการให้หมดสิ่งที่น่ารังเกียจ สิ่งที่เป็นโทษนั้น หรือไม่ แล้วโทษนั้นจะเกิดกับใคร ไม่ได้เกิดกับคนอื่นเลยทั้งสิ้น ผู้ใดสะสมมาก็ต้องเกิดกับบุคคลที่ได้สะสมมานั้นแหละ ที่จะเป็นอย่างนั้นแล้วมีทางไหมที่จะทำให้จิตนั้นสะอาดหมดจดจากอกุศล ถ้าไม่มีหนทางก็สะสมต่อไป ไม่มีการที่จะได้ยินได้ฟัง ได้ไตร่ตรอง แต่ผู้ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรม พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดง เป็นผู้ที่ได้สะสมศรัทธา หิริ โอตตัปปะมาแล้วในอดีต แต่ไม่พอ แล้วก็สะสมอกุศลมามากมายด้วย

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่ตรง แม้แต่ในการศึกษาธรรมเพื่อขัดเกลา แล้วการที่จะขัดเกลาได้ก็ต่อเมื่อรู้ความจริง เพราะฉะนั้นก็คือว่ารู้ว่าไม่มีใครสามารถที่จะเอาอกุศลที่สะสมมาในจิตของตัวเองออกทิ้งหมดไปได้เลย นอกจากปัญญาที่ค่อยๆ เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นก็จะเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม แล้วก็รู้ว่าตลอดชีวิตมา ที่เข้าใจว่าได้ อยู่ที่ไหน ใครได้อะไรบ้าง ก็เพียงเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตื่นเต้น ดีใจ สุขทุกข์ กับสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วอยู่ที่ไหน ทั้งหมดนั้นนะ อยู่ที่ไหน ตลอดชีวิตอยู่ที่ไหน จบไปไม่เหลือเลย ก็สะสมสิ่งที่น่ารังเกียจมากมายมหาศาลต่อไปอีก จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม แล้วรู้จุดประสงค์ของการฟังว่า เพื่อละคลายอกุศล

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจตามความเป็นจริง ไม่ใช่ฟังเพราะอยากจะให้อย่างนั้นเกิดขึ้น อยากจะให้ไม่มีอย่างนั้น แต่เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้ว ตั้งแต่ปฏิสนธิประมวลมาที่จะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เพียงแค่ชาตินี้ ชาติก่อนเป็นมาแล้วทั้งนั้น ตั้งแต่สูงสุด ต่ำสุด เคยเป็นคนโรคเรื้อนไหมคะ ยิ่งกว่านั้น เคยตกนรก เคยเป็นเปรต เคยยากจนไหม เคยร่ำรวยมหาศาล หรือไม่ แล้วเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากจิต ๑ ขณะที่สะสมความไม่รู้ต่อไปอีกมากมายมหาศาล

    เพราะฉะนั้นยิ่งฟังแล้วก็เห็นประโยชน์ของการที่จะเข้าใจธรรม เห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงบำเพ็ญบารมี ไม่มีทางที่สัตว์โลกจะมีโอกาสรู้ความจริงในฐานะของสาวก คือ ผู้ฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง

    เพราะฉะนั้นประโยชน์สูงสุดซึ่งแต่ละคนจะได้จริงๆ ก็คือความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่สิ่งที่อาจจะต้องการ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป เหลือแต่ทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เพราะความติดข้อง เพราะไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ เพราะอยากให้เป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครอยากเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดได้ไหม ถ้ามีปัญญาเป็นอย่างไร แล้วถ้าไม่มีปัญญาเป็นอย่างไร นี่ก็คือความต่างกัน

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ มีคำถามจากท่านผู้ฟังฝากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เมื่อศึกษาธรรม รู้ และเข้าใจว่าธรรมบางอย่างไม่ดี เป็นอกุศล แต่ธรรมบางอย่างก็ดี เป็นกุศล ซึ่งจะให้ผลดีทางตา หู จมูก กาย และใจ บางครั้งเมื่อรู้ว่าความคิดความต้องการที่จะทำดีทำกุศลเพื่อหวังผลดีที่จะได้รับนั้นๆ เป็นความคิด ความหวัง ความต้องการที่ไม่ดี ไม่ควรคิดอีก แต่ความคิดนั้นๆ ก็ยังเกิดอีก หยุดคิดไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดี การศึกษาธรรมขั้นการฟัง ควรรู้ ควรเข้าใจอะไร เพื่อจะละคลายความคิดไม่ดีเหล่านั้นบ้าง

    ท่านอาจารย์ ต้องขอประทานโทษถ้าจะกล่าวว่า ยังไม่ได้เข้าใจธรรม เพราะว่าธรรมเป็นธรรม ถ้าเข้าใจธรรมว่าเป็นอนัตตา จะมีคำถาม หรือความคิดอย่างนี้ไหม

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนฟังธรรมจริง แต่ไม่ถึงความเป็นอนัตตา แสดงว่ายังไม่ได้รู้จักความเป็นธรรมจริงๆ เพราะธรรมจริงๆ เป็นอนัตตาแน่นอน เห็นมีปัจจัยก็เกิด เกิดแล้วก็ดับไปเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจธรรมว่าเป็นธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้เลย จะคิดอย่างไรใครยับยั้งได้ เพราะเกิดแล้ว คิดแล้ว หมดแล้ว ถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ จะหวั่นไหวไหม

    เพราะฉะนั้นยังไม่ได้เข้าใจธรรมจริงๆ เพียงแต่ฟังเรื่องธรรม แล้วเป็นเราฟัง เพราะฉะนั้นอะไรเกิดแก่เรา เราคิดอย่างนั้น เราคิดอย่างนี้ ทำไมเราคิดอย่างนี้ ทำไมเราคิดอย่างนั้น ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งมีปัจจัยที่จะคิดอย่างนั้น ไม่คิดอย่างอื่น คิดแล้วก็หมดไปแล้วด้วย

    อ.ธีรพันธ์ ก็เป็นเรื่องที่ยาก ก็มาฟังแล้วฟังอีก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีจิต หรือจิตที่ไม่ใช่วิถี หรือแม้กระทั่งเรื่องการแก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีทุกคน แต่ว่ารู้ความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้ที่ควรจะเข้าใจ ประเสริฐที่สุดก็คือรู้ความเป็นธรรม ความที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนอย่างไร

    ผู้ฟัง คือเวลาคิด อย่างเวลาพูดออกมาเป็นคำ ท่านอาจารย์บอกว่าต้องคิดถึงจะออกมาเป็นคำได้ แต่ว่าเราจะไม่รู้ตัวว่าคิด แต่ในลักษณะของความคิด แต่ไม่ได้พูดออกมาเป็นคำ นี่จะรู้ว่าเราคิดแต่ว่าพูดอยู่ในใจ

    ท่านอาจารย์ กำลังใช้คำว่าพูดอยู่ในใจ

    ผู้ฟัง แต่ว่าคิด

    ท่านอาจารย์ พูดอยู่ในใจ

    ผู้ฟัง คือไม่ได้พูดออกมาเป็นคำๆ

    ท่านอาจารย์ คือพูด ไม่รู้ว่าคิดด้วย แต่เวลาไม่พูด คิดเฉยๆ รู้ว่าคิด อย่างนี้ก็ชัดเจนที่จะเข้าใจ แต่ค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ต้องพูดก็คิดแล้ว คุณสุกัญญากำลังคิด ไม่ต้องพูด แต่คิดแล้วก็มีเสียงออกมาด้วย ที่เราใช้คำว่า “พูด” นี่พูดตามความคิด เพราะฉะนั้นมีคิด ๒ อย่าง คิดโดยไม่มีเสียงออกมาเลย

    ผู้ฟัง อันนี้ทราบว่าคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดก็เพิ่มเสียงออกมาด้วย

    ผู้ฟัง แต่ว่าเวลาเราพูด เราไม่รู้ว่าเราคิด

    ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ถ้าพูดโดยไม่มีคิด แต่เราไม่รู้ต่างหากว่า ขณะนั้นต้องมีคิดแน่นอน เพราะฉะนั้นคิดก็มี ๒ อย่าง คิดโดยไม่พูด กับคิดแล้วมีเสียงตามที่คิด ไม่ใช่เสียงตามอื่น แต่เสียงตามที่คิด โดยเราไม่รู้เพราะความรวดเร็ว ว่าแม้ขณะนั้นต้องมีคิดแน่นอน เสียงนั้นๆ จึงได้ออกมาตามความคิด ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ไม่ต้องไปบอกว่า จะให้เสียงออกมาตามความคิด จะให้ลิ้นตรงนี้ไปกระทบริมฝีปากตรงนั้น ให้เป็นคำนี้ออกมา ไม่ต้องพูด ไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น แต่ธรรมเป็นธรรม เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย เมื่อจิตคิดก็เป็นปัจจัยให้เสียงออกมาได้ เมื่อเป็นความต้องการที่จะให้มีเสียงด้วย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ เวลาที่มีกายเคลื่อนไหว หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เมื่อไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ทำไมถึงทำได้

    ท่านอาจารย์ เราเรียนเรื่องสภาพที่มีจริงๆ ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน เพราะคิดว่าเราเกิดมา แต่ความจริงก็คือสภาพธรรมนั่นแหละเกิด คือ จิต เจตสิก รูปเกิด แล้วก็มาเรียกชื่อต่างๆ กันไป แต่ถ้าไม่มีจิต เจตสิก เมื่อไร ชื่อนั้นก็หมดไป ไม่มีใครไปเรียกสิ่งที่ไม่มีจิต เจตสิก รูปว่า เป็นคนนั้นคนนี้ ใช่ไหม แต่เพราะจิต เจตสิก รูปเกิด แล้วก็เรียกจิต เจตสิก รูปนั้นตามความคิดตามความทรงจำว่าเป็นใคร ก็มีความเข้าใจว่าเป็นคนนั้น ชื่อนั้น เสียงอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วคือว่าอะไรมีจริง สิ่งที่มีจริงไม่ต้องเรียกเลย แต่เรียกเพื่ออะไร เพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่าหมายความถึงอะไร ในขณะนี้ มีเห็น กำลังเห็น เห็นมีจริงๆ ไม่ต้องไปเรียกว่าเห็น ไม่ต้องไปใช่ชื่อใหม่ว่า จักขุวิญญาณ เห็นก็เกิดขึ้นทำหน้าที่เห็น ไม่ใช่เราเลย

    นี่คือธรรม พื้นฐานก็คือว่า ถ้าเราไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่ศึกษาเพื่อรู้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริง แต่จะรู้จริงๆ ได้ ต้องอาศัยการฟัง การไตร่ตรอง และมีความเข้าใจว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้อง หรือไม่ กำลังเป็นอย่างนี้ หรือไม่ เพื่อที่จะได้รู้จริงๆ ประจักษ์แจ้งความจริง เพราะปัญญาเข้าใจเพิ่มขึ้น ละคลายความไม่รู้ และความสงสัยทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งเป็นจริงเหมือนที่ได้ฟังทุกอย่าง ไม่ต่างกันเลยสักคำเดียว

    ผู้ฟัง เวลาหยิบของสิ่งหนึ่งสิ่งใด มันต้องมีจิต เจตสิก รูป ก่อนใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีแต่รูป ไม่มีจิต เจตสิก จะทำได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็คือให้รู้ความจริงซึ่งยากที่จะรู้ แต่ความจริงก็เป็นความจริง ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูปจะไปไหนได้ จะทำอะไรได้ หรือไม่ และถ้ามีแต่จิต เจตสิก ไม่มีรูปเลย ก็จะทำอะไรได้ไหม ก็ไม่ได้ นี่ก็เห็นชัดๆ ในความเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง แต่ว่าจริงๆ แล้ว รูปปรมัตถ์ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็คือ ๗ รูป ที่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าท่านอาจารย์กล่าวก็เหมือนกับยังมีรูปอื่นอีกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แต่ไม่ได้ปรากฏในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง อย่างนั้นแสดงว่า ถ้าทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะต้องมีจิตคิดนึกที่จะทำสิ่งนั้น เหมือนกับที่เราพูดอย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาทำนี่ เห็นไหม

    สุกัญญา เวลาทำไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ เวลาทำอะไรเห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็นก็มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นเป็นจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ แล้วก็คิดนึกที่จะทำอะไร หรือไม่ จิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่คิด จิตเกิดขึ้นทีละ๑ ขณะ แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีก นี่คือความจริงซึ่งฟังแล้วฟังเล่าจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพื่อให้มีความมั่นคงที่จะรู้ว่า ปัญญาที่จะรู้จริงๆ ไม่ใช่รู้อื่น แต่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามปรากฏก็เป็นลักษณะหนึ่ง ลักษณะใด คือ เป็นสภาพที่รู้ หรือไม่ใช่สภาพที่รู้ ไม่มีเรา แต่มีธรรม ซึ่งไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วก็บังคับไม่ให้เกิดดับสืบต่อไปอีกแสนโกฏิกัปป์ก็ไม่ได้ ถ้ายังมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นไปต่อไป

    ผู้ฟัง สืบเนื่องคำถามคุณสุกัญญา ไม่เข้าใจว่า ที่ว่าจิตกับรูปเป็นไปตามสะสม หรือแต่ละขณะ คล้ายๆ เมื่อมีเหตุ อะไรที่ไม่คาดคิด เป็นอนัตตา ก็ทำให้ไม่สามารถเป็นอย่างนั้นได้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจได้ แต่บังคับบัญชาไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วก็สิ่งที่คิดออกมาเป็นคำก็เป็นอนัตตา คือบังคับบัญชาไม่ได้

    ท่านอาจารย์ บังคับให้คิดอย่างนี้ หรือไม่ หรืออยากจะให้คิดอย่างนี้ หรือไม่ หรือคิดอย่างนี้เกิดเมื่อไรก็คิดอย่างนี้เมื่อนั้น แล้วทำไมถึงจะคิดอย่างนี้ได้ ถ้าไม่มีการสะสม การเห็น การได้ยิน และเรื่องราวต่างๆ ที่จำไว้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเรื่องราวในชีวิต ก็คือ จริงๆ ก็เป็นไปตามการเกิดดับของจิต เจตสิก รูป นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจิตเห็นคิดไม่ได้ จิตได้ยินคิดไม่ได้ แต่หลังจากเห็นแล้วจิตคิดต่อในสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่รู้ความจริงว่าขณะนั้นเป็นธรรม ก็คิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ

    ผู้ฟัง แล้วก็เหมือนไปยึดมั่นปรุงแต่งว่า เรื่องราวที่เราคิดมีจริงๆ

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ว่าอะไรจริง แล้วความสนใจในเรื่องราวก็น้อยลง เพราะเพียงแค่คิดเท่านั้นเอง จะคิดอะไรก็คิดได้ทั้งนั้น แต่ก็เป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่คิด ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นในขั้นฟังเข้าใจเรื่องราวของธรรม แล้วยังไม่ประจักษ์ หรือยังไม่ได้เข้าถึงลักษณะสภาพธรรม ชีวิตก็จะอยู่ไปกับเรื่องราวที่ยาวแล้วคิดไปปรุงแต่งไปอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ คิดถึงชาติหน้า หรือไม่ ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ ยังคิดถึงชาติหน้าอีกด้วย และคิดถึงชาติหน้ากี่ชาติในสังสารวัฏฏ์ หลังจากชาตินั้นจะไปเป็นอะไร สำหรับ ๗ ชาติข้างหน้า จากนี้ไปไหน จากไหนไปไหน จะไปไหนอีก มากกว่านั้นก็ ๒๐ ชาติ ๑๐๐ ชาติ ๑,๐๐๐ ชาติ แต่ก็เหมือนเดี๋ยวนี้ ชาติไหนก็เหมือนเดี๋ยวนี้ เห็นแล้วก็ไม่รู้ เห็นแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น เห็นแล้วก็ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาที่จะละความไม่รู้จากสิ่งที่กำลังปรากฏนี้เอง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็มีทางเดียว คือว่าเกิดมากับความไม่รู้ความจริง ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาให้รู้ และเข้าใจความจริง เพื่อที่จะว่าไม่ต้องอยู่กับเรื่องราวแล้วคิดยาวเลย เพื่อประจักษ์ความจริงว่า ธรรมก็เพียงเกิดดับอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ คิดยาวก็ต้องคิดใช่ไหม ถ้าจะคิด แต่ก็รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นธรรม นี่เป็นสิ่งที่ยาก เคยคิดโดยไม่รู้เลยว่าเป็นธรรมที่คิด แต่คิดแล้วสามารถที่จะรู้ได้ว่า ทุกขณะเป็นนามธรรม และรูปธรรม ได้ยินคำว่า “วิตกเจตสิก” ใช่ไหม เกิดเมื่อไร วิตกเจตสิก

    ผู้ฟัง เกิดทุกขณะจิต ยกเว้นทวิปัญจวิญญาณ แล้วก็พวกฌานจิต ต่างๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นประจำใช่ไหม เว้น ๑๐ ดวง คือ กำลังเห็นไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าเป็นการอุบัติขึ้นของการที่กรรมจะทำให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กระทบจักขุปสาท หรือว่าเสียงเกิดขึ้นกระทบโสตปสาทเป็นปัจจัยให้กรรมให้ผล คือ ทำให้เกิดได้ยิน หรือว่าเห็นสิ่งนั้นๆ ไม่ต้องอาศัยวิตกเจตสิกเลย แค่เห็น

    เพราะฉะนั้นสภาพที่เห็นสั้นเล็กน้อยแค่ไหน เกิดขึ้นเห็น ๑ ขณะ เวลาคิด โลภะ โทสะเกิดมากกว่า ๑ ขณะ แต่จิตที่เห็นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถึง ๒ ขณะ เห็นเพียง ๑ ขณะแล้วดับไป ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เมื่อจิตเห็น จิตได้ยินเหล่านี้ดับไป เพียงแค่ดับไปเท่านั้น วิตกเจตสิกเกิดขึ้น จรด หรือตรึกในสิ่งที่จักขุวิญญาณเห็นแล้ว เป็นเท้าของโลก เราไม่รู้เลยว่า การสะสมนานแสนนาน วิตกซึ่งก็ต้องเกิดกับจิตขณะต่อๆ ไปด้วย เพราะว่าเว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จะก้าวไปทางไหน แม้ว่าจักขุวิญญาณดับแล้ว วิตกเจตสิกก็ยังจรดในอารมณ์นั้น ในขณะจิตที่เกิดต่อรับรู้สิ่งนั้นต่อเป็นสัมปฏิจฉันนจิต ดับไปแล้ว สันตีรณจิตเกิดสืบต่อจากสัมปฏิจฉันนะก็มีวิตกเจตสิกอีก ไม่ไปไหนเลย จรดในอารมณ์ที่ยังไม่ดับ

    เพราะฉะนั้นจะบอกว่า ใครคิด ได้ไหม ไม่ได้เลย แล้วขณะนั้นที่รูปยังไม่ดับ ยังไม่ได้คิด เพียงแต่ทำหน้าที่ของวิตก ไม่ไปอื่น จรดอยู่ที่อารมณ์ที่ปรากฏจนกว่าอารมณ์นั้นจะดับไป ดับไปแล้วก็ยังตรึกถึงสิ่งที่ดับไปแล้วอีก โดยวิตกเจตสิก

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา ก็ต้องมีวิตกในอารมณ์ของสมถะ ไม่ใช่ในอารมณ์อื่น เมื่อเป็นวิปัสสนาภาวนา หรือสติปัฏฐาน วิตกก็จรดในอารมณ์ของสติปัฏฐาน คือ สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่ได้ไปอื่นเลย ไม่ได้ก้าวไปทางอื่นที่อื่น อารมณ์อื่น แต่กำลังอยู่ หรืออยู่ตรงนั้น คือจรดที่อารมณ์ที่กำลังปรากฏเพื่อที่จะเข้าใจถูกในอารมณ์นั้น เพื่อที่จะเห็นถูกในอารมณ์นั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จะกล่าวถึงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ให้ทราบถึงขณะที่เกิดขึ้นกับจิตแต่ละขณะเล็กน้อยสั้นมาก จิตก็เกิดดับเร็วมาก แล้วเราก็เรียนเรื่องชื่อเรื่องราวของจิตต่างๆ แล้วก็ถามเรื่องของสิ่งที่ยังไม่ได้ปรากฏให้เข้าใจถูก เห็นถูก อย่างวิตกเวลานี้ ถ้าไม่ใช่จักขุวิญญาณ โสตวิญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณก็เกิด แล้วใครจะไปรู้วิตก นอกจากเวลาที่คิด ก็ก้าวไปสู่ความคิดเรื่องราวต่างๆ นั่นก็พอที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นก็เป็นวิตกเจตสิกที่ทำหน้าที่ตรึก ไม่ใช่จรดในอารมณ์ทางปัญจทวาร นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งกว่าเราจะรู้ความจริงของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียว เป็นจิต เจตสิก ซึ่งเกิดดับสืบต่อ ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก หรือสุข ทุกข์ หรือกุศล และอกุศลใดๆ ก็คือสภาพธรรมทั้งหมด

    นี่คือการศึกษา ไม่ใช่เพื่อที่จะให้เราไปเร่งรัดอยากจะเข้าใจอยากจะประจักษ์แจ้ง แล้วก็นั่งคิดว่าแล้วเมื่อไรจะรู้ แล้วเมื่อไรจะประจักษ์แจ้ง ไม่มีทางเลย ที่ความเป็นเราที่ต้องการจะรู้ขณะนั้นจะทำให้สามารถรู้ความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เพราะความเข้าใจไม่มีพอ ที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิด แล้วก็กำลังเริ่มรู้ลักษณะของธรรม ซึ่งขณะนี้ก็เป็นธรรม แล้วก็มีลักษณะของธรรมด้วยแต่ละอย่าง แต่ปัญญาไม่พอ เห็นไหม

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ตัวเราไปพยายามทางอื่น แต่ว่าจากการฟังแล้วเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเป็นปัจจัยทำให้สัมมาสติเกิดเมื่อไร ก็รู้ว่าขณะนั้น มีการรู้ลักษณะซึ่งเป็นธรรมตามที่ได้ฟังว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วค่อยๆ เข้าใจธรรมขึ้น จนกว่าจะเป็นธรรมทั้งหมด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567