พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 420


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๒๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ จากการฟังแล้วเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเป็นปัจจัยทำให้สัมมาสติเกิดเมื่อไร ก็รู้ว่าขณะนั้นมีการรู้ลักษณะซึ่งเป็นธรรมตามที่ได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วค่อยๆ เข้าใจธรรมขึ้น จนกว่าจะเป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง จากการฟังท่านอาจารย์อธิบาย เหมือนว่าปัญญา หรือว่าฟังขั้นสัจญาณยังห่างไกล คือยังแบบผิวเผิน ยังไม่จรดเยื่อในกระดูก ก็คงต้องใช้เวลาค่อยๆ ฟังให้เข้าใจไป พอท่านอาจารย์อธิบายวิตก ก็จะชัดเจนมากว่า ลักษณะอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน คือหมายความว่าไม่ได้รู้เขาละเอียด ในลักษณะว่าเขาเป็นอย่างไร ก็คงค่อยๆ ศึกษาไป

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าเข้าใจถูกก็ละการที่จะยึดถือวิตกว่าเป็นเรา ใช่ไหม แม้ในขั้นเข้าใจ

    ผู้ฟัง กราบอนุโมทนา

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นธรรมก็ไม่สามารถที่จะอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะโดยสภาวธรรมแล้วเป็นอนัตตา แล้วธรรมนี้สามารถที่จะเข้าใจได้ แม้แต่เรื่องของความคิด หรือวิตกนั่นเอง ซึ่งความคิด ท่านอาจารย์ก็ให้ความเข้าใจว่ามี ๒ อย่าง คิดโดยไม่ต้องพูด ซึ่งก็คือชีวิตประจำวัน เรานั่งนิ่งๆ นี้ เราไม่ใช่ว่านั่งเฉย มีวิตกเจตสิกเป็นเท้าของโลก คิดไปเรื่อย หรือขณะเดียวกัน พูดตามที่คิด ดูเหมือนกับว่าขณะที่พูด ไม่ได้คิดเลย แต่ด้วยความรวดเร็วของวิถีจิตนั่นเอง แน่นอนเราต้องมีการคิดแล้วก็พูด ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าธรรมนี้บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เราก็สามารถจะเข้าใจความแน่นอน หรือว่าความเป็นไปของธรรมได้

    ผู้ฟัง ขอเพิ่มเติม อันนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเมื่อไรที่ไม่ตั้งใจฟังสิ่งที่กำลังฟังให้เข้าใจ ก็จะพลาดโอกาสที่จะเข้าใจสิ่งที่ท่านอาจารย์ก็จะพูด อธิบายให้เราเข้าใจสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นธรรมแต่ละอย่างที่ทำหน้าที่จริงๆ ไม่ได้มีตัวตนที่จะไปทำอะไรได้ แล้วบังคับบัญชาได้เลย

    ท่านอาจารย์ เวลาเผลอ ไม่ฟังสิ่งที่กำลังได้ยิน นั่นเป็นกิเลส หรือไม่

    อ.กุลวิไล เป็น

    ท่านอาจารย์ มากมายก่ายกอง กำลังฟังธรรมtก็ยังมีอกุศลจิตเกิดได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่กล่าวถึงเวลาที่ไม่ฟัง ให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าไม่ใช่ความเข้าใจธรรม ไม่สามารถที่จะละกิเลสใดๆ ได้เลย เป็นไปตามกิเลสซึ่งมีกำลังเพิ่มขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนขอคำแนะนำท่านอาจารย์ ว่าปฏิสนธิจิตที่เกิดขึ้น เกิดจากกรรมหนึ่งกรรมใดเกิดขึ้น แล้วก็ภวังคจิตรับรู้กรรมนั้นไปตลอด ตั้งแต่ที่เรายังมีชีวิตอยุ่จนกว่าจุติจิตจะเกิด ภวังคจิตก็เกิดจากกรรมนั้นกรรมเดียวไปตลอด ซึ่งกรรมเดียวนี้ ตามความเข้าใจก็คือเป็นสิ่งที่ได้ประมวลทั้งหมดแล้วจากที่ผ่านๆ มาทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะประมวลออกมาแล้วจะเป็นเรื่องใด ใช่ไหมคะ ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทุกคนที่นี่ ปฏิสนธิจิตต้องเป็นผลของกุศลกรรม ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วก็มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม แล้วก็มีความสนใจ มีศรัทธาที่จะเข้าใจธรรม เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จะเห็นได้ว่า แม้จะเกิดเป็นมนุษย์ โดยการที่เป็นผลของกุศลกรรม แตกต่างกันไหม คนที่ไม่สนใจเลยมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ฉันทะ ความพอใจเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วชีวิตเป็นไป เหมือนกันทุกประการ หรือไม่ ตั้งแต่เกิดจนตาย ความต่างนั้นมาจากไหน แม้ว่าปฏิสนธิจิตก็เป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา หมายความว่าสะสม ความรู้ความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็เป็นผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอสังขาริก เป็นจิตที่มีกำลัง หรือสสังขาริก เป็นจิตที่ไมมีกำลัง บางคนก็ขี้ขลาด ขี้กลัว ใช่ไหม บางคนก็กล้าหาญ หรือว่าทำอะไรด้วยตัวเองก็ได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งเรากล่าวถึงความแตกต่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละคนเป็น ๑ มาจากไหน แม้ว่าปฏิสนธิจิตจะเป็นผลของกุศลกรรม อาจจะเป็นกุศลธรรมที่ทำทาน ในขณะนั้นทำเหมือนกันทุกอย่าง ทำพร้อมกันก็ได้ ทำร่วมกันก็ได้ แต่ให้ผลก็ยังต่าง

    เพราะฉะนั้นแม้ปฏิสนธิจิตไม่ได้ทิ้งสิ่งที่สะสมมาในแสนโกฏิกัปป์ เพราะฉะนั้นกรรมที่จะทำให้เกิดเป็นมนุษย์ นอกจากผลของกรรมหนึ่งแล้ว ก็ยังประมวลมาซึ่งกรรม ที่สามารถจะเป็นปัจจัยให้ผลในชาตินั้นด้วย ซึ่งทำให้แต่ละชีวิตต่างกันไป ปฏิสนธิจิต เกิด ดับ กรรมก็ไม่ทำให้เพียงแต่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดนั่นแหละก็เป็นปัจจัยให้จิตประเภทเดียวกันกับปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ แต่ต่างกิจ คือไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิไม่ได้สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่สืบต่อจากปฏิสนธิ จึงดำรงความเป็นจิตประเภทนั้น เปลี่ยนไม่ได้เลย จนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย

    นี่ก็คือจิตนั้นทำหน้าที่ภวังค์ดำรงภพชาติของความเป็นบุคคลนั้น แล้วก็ยังมีกาละ ที่กรรมอื่นๆ จะให้ผลด้วย ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดขึ้นเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร แล้วยังมีการสะสมมาต่างๆ กัน ซึ่งแม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่ก็คิดนึกต่างกัน บางคนก็เป็นกุศล บางคนก็เป็นอกุศล แม้ว่าเห็นสิ่งเดียวกัน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของธรรม ที่บอกว่าธรรมไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ที่ตัวเอง ก็ต้องรู้ว่าเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา เหมือนกันหมด จิตเห็นเกิดที่ไหน จะเป็นของใครไม่ได้ จะทำหน้าที่อื่นไม่ได้ จิตเห็นของเทพ ของพรหม ของสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉานตัวเล็ก ตัวใหญ่ มีเจตสิกเกิดประกอบ ๗ ประเภท เท่ากัน

    ผู้ฟัง จากการศึกษาธรรม ปกติใครจะรู้ หรือไม่รู้ ธรรมก็เป็นปกติ คือเกิดดับเร็ว รูปนามเกิดดับเร็ว ด้วยเหตุปัจจัยตามปกติ และก็เป็นอนัตตา ต่างกันที่ว่า เมื่อศึกษาแล้วก็มีความรู้ ความเข้าใจถูกในสภาพธรรม เริ่มจากขั้นสัจญาณ ถ้าฟังเข้าใจสัญญามั่นคงพอให้สติปัฏฐานเกิด ก็รู้ที่เป็นปกติอย่างนี้เอง ใช่ไหม ไม่มีเร็วไม่มีช้ากว่าปกติ ก็คือเป็นปกติของเขาเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมจะเห็นได้ว่า ถ้าเข้าใจละเอียดจะรู้ความจริง ต้องละเอียด อย่างบอกว่าทุกอย่างเป็นธรรม มีใครบ้างในห้องนี้ไม่พูดอย่างนี้ พูดกันทุกคน แต่ว่าทุกอย่างอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้อะไรเป็นธรรม เห็นไหม ก็ทุกอย่าง ทุกอย่าง ก็เลยไม่มีอะไรสักอย่าง แต่ว่าจริงๆ แล้วก็คือว่า ขณะนี้เองที่กล่าวว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ละอย่างเป็นธรรม และแต่ละอย่างมีลักษณะจริงๆ แต่เวลาที่ลักษณะแม้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ปรากฏ เป็นธรรม หรือไม่

    นี่คือความละเอียด ถ้ายังไม่เป็นธรรม ก็จะรู้ได้ว่า จากการฟัง ความเข้าใจมีแน่ๆ แต่ว่าน้อยมาก เพราะว่าเพียงฟังคำ ฟังเรื่องของสิ่งที่มี แต่เพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็ว มีเห็นด้วย มีได้ยินด้วย มีคิดนึกด้วย ไม่ใช่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ เช่น ในขณะนี้ ถ้ากล่าวว่าเสียงเป็นธรรม ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ แค่กล่าวว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม ก็เดี๋ยวนี้ เข้าใจ ธรรมไม่ใช่อย่างอื่น ไม่ใช่อยู่ที่อื่น สิ่งนี้แหละเป็นธรรมที่สามารถที่จะประจักษ์ความจริงได้ คิดนึกก็มี ไม่ใช่กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่คิดนึกเป็นเรา หรือเกิดขึ้นมาได้อย่างไร คิดนึกมี แต่ว่าก็ไม่ได้รู้ชัดในสภาพที่เป็นธรรม เพราะว่าคิดทั้งวันก็ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม แม้จะฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เวลาคิดก็ไม่ได้รู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างของปัญญาว่ามีหลายระดับขั้น เพียงฟังแค่นี้ มีความเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมเป็นสิ่งที่ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มั่นคงแค่ไหน จิตเกิดขึ้น อนุขณะ คือ ขณะเกิดไม่ใช่ขณะที่ยังไม่ดับ แล้วขณะที่ดับก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด สั้นแค่ไหน เพราะว่าขณะนี้เหมือนทุกอย่างไม่ได้ดับไปเลยสักอย่างเดียวนี่คือการเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้นปัญญาแค่นี้ จะไปประจักษ์การเกิดดับได้ไหม ยังไม่ได้รู้อะไรจริงๆ สักอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นปัญญามีหลายระดับขั้น จะต้องไปสงสัยในปัญญาสามารถแทงตลอดความจริงของสภาพธรรม หรือ ในเมื่อธรรมเป็นอย่างนี้ และอย่างอื่น เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงนี้ได้เลย ปิดกั้น เพราะไม่รู้จึงติดข้อง เพราะไม่รู้จึงยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ เพียงแต่ฟังแล้วอยากรู้อยากเข้าใจ ลวงอยู่เสมอเลย ก็ไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นอยากรู้อะไร ในเมื่อได้ฟังแล้วว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่มีจริงๆ แต่ว่าต้องไม่ลืมคำว่าอนัตตา ฟังแค่นี้จะให้รู้มากๆ เข้าใจมากๆ ประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมได้ไหม ไม่ได้เลย ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นปัญญามีขั้นเดียว หรือหลายขั้น ขั้นนี้ขั้นฟัง จะเหมือนกับขณะที่กำลังรู้ลักษณะจริงๆ กำลังมีจริงๆ ปรากฏจริงๆ เข้าใจจริงๆ ในขณะนั้น เฉพาะลักษณะนั้น ไม่ใช่ลักษณะอื่น

    นี่คือเริ่มเห็นความละเอียดว่า ขั้นฟังไม่ใช่ขั้นที่กำลังเข้าใจลักษณะที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้นแม้แต่สติ หรือปัญญาก็ต้องตามระดับขั้น สติขั้นฟังมี แค่ปัญญาขั้นฟัง แต่ถ้ามีการที่สามารถมีการเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะมีสติอีกระดับหนึ่งที่กำลังรู้ จะใช้คำว่า “ระลึก” ก็ได้ ลักษณะที่กำลังปรากฏ และปัญญาก็เข้าใจขึ้นอีกในความเป็นสภาพธรรมนั้น ซึ่งต่างกับสภาพธรรมอื่น หลากหลายมาก จนกว่าจะมีความเข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ก็จะเข้าใจคำที่มีในพระไตรปิฏก ที่ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตา เช่นคำว่า “ขันธ์” ถ้าไม่ใช่นามธรรม รูปธรรมไม่มีอะไรเกิดเลย จะมีขันธ์ไหม แต่เกิดแล้วเป็นอะไร ก็ทรงแสดงความจริงของสิ่งนั้นแหละโดยประการที่ละเอียดขึ้น ให้รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏดับแล้ว ไม่กลับมาอีก เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเสียงใหม่จะเกิด ปรากฏเป็นเสียง ไม่ใช่เป็นกลิ่น ไม่ใช่เป็นคิดนึก แต่เสียงนั้นก็ไม่ใช่เสียงเก่า หลากหลายต่างไปอีก ขณะไม่สบาย ขณะที่กำลังมีสุขภาพแข็งแรง เสียงก็ต่างกันไปอีกก็ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจในขันธ์ ก็คือเข้าใจถูกในความเป็นจริงของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ ตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ไม่กลับมาอีก แล้วก็มีความหลากหลาย แม้ในสิ่งที่กระทบสัมผัส แข็ง หรือนิ่ม หรือเหลว หรืออ่อน หรืออะไรก็ตามแต่ ก็เป็นแต่ละลักษณะ ซึ่งเป็นอย่างนั้นเมื่อเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นแล้วก็ดับไป คือไม่มีใครที่จะสามารถบังคับบัญชาได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเห็นว่าปัญญา ต่างขั้น แล้วก็ต้องอบรม ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น จนกว่าจะถึงกาละที่สามารถรู้ความจริงแทงตลอดสภาพธรรมนั้น เมื่อสภาพนั้นปรากฏทางมโนทวาร ขณะนี้กี่ทวารก็ไม่รู้ ได้แต่พูดว่า หลังเห็นแล้ว จักขุทวารดับไปแล้ว จักขุทวารวิถีดับไปแล้ว มโนทวารวิถีก็เกิดต่อ หลังจากที่ภวังคจิตคั่นแล้ว พูดอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้ ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ได้ประจักษ์อย่างนี้ เพราะว่าลักษณะของมโนทวารก็ไม่ได้ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะ ยิ่งเข้าใจก็ยิ่งจะรู้ความจริง ว่าการฟังเป็นความรู้ขั้น หนึ่งซึ่งต้องมั่นคงว่า ว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย แล้วก็ฟัง แล้วก็จะรู้ได้ว่า สติเริ่มจะอยู่ที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้เพียงเล็กน้อยไม่นานเลย แต่ก็ต่างกับขณะที่หลงลืม คือ ไม่ได้เริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามที่ได้ฟัง

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า แม้สภาพธรรมจะเกิดดับ เร็วเท่าไร ตามความเป็นจริงของนามธรรม และรูปธรรม ปัญญาก็สามารถที่จะเข้าใจจริงๆ และแทงตลอดได้ แม้ขณะนี้ เหมือนรวมกัน ใช่ไหม เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวคิดนึก แต่ถ้าเริ่มที่จะรู้เฉพาะทีละลักษณะ นั่นก็แสดงแล้วว่าเป็นลักษณะที่ต่างกัน ไม่พร้อมกัน

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดไม่ได้มีสัญญาในขั้นฟังที่มั่นคง ปัญญาขั้นต่อไปก็ไม่ทราบว่า จะไปเข้าถึงสภาพธรรมที่ไม่ได้มีความเข้าใจขั้นฟังเลย ย่อมเป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อย่างขณะนี้ แข็งปรากฏกับทุกคน แต่ว่าความเข้าใจของใครที่จะรู้ว่าแข็งลักษณะนี้เป็นพียงธรรม เห็นไหม แข็งก็ปรากฏเป็นแข็งกับทุกคน เวลาที่กายวิญญาณเกิดขึ้นก็จะรู้ลักษณะที่แข็ง แต่ว่ามีปัญญาที่จะรู้ หรือไม่ว่า ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ได้ฟังเลย ตลอดทั้งวัน ตลอดทั้งชาติ ผ่านไปหมดเลย ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแข็งนั่นแหละเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเราด้วย แล้วก็เกิดด้วยดับด้วยในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เวลาที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วฟังเรื่องสิ่งนั้น แล้วสิ่งนั้นก็ปรากฏ เช่น ในขณะนี้ ฟังเรื่องแข็ง แล้วแข็งก็ปรากฏ แต่ว่าเหมือนไม่ได้มีความรู้เพิ่มเติมเลย ใช่ไหม แข็งก็เป็นแข็ง แต่ต่างกันสักเล็กน้อยมีไหม เพราะว่าแข็งก็เป็นแข็ง เวลาที่ไม่ได้ฟังเรื่องแข็งก็เป็นแข็ง เวลาฟังเรื่องแข็ง แข็งก็เป็นแข็ง กับเวลาที่แข็งปรากฏแล้วรู้ตรงแข็ง แล้วรู้ครั้งแรก จะไม่มีความเข้าใจชัดเจนว่าเป็นธรรม และเกิดดับด้วย แต่ถ้าบ่อยๆ ขึ้น บ่อยๆ ขึ้น บ่อยๆ ขึ้น แล้วก็ไม่ใช่แต่เฉพาะแข็งเท่านั้น ยังอย่างอื่นที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือคิดนึก หรืออะไรก็ตาม ถ้าบ่อยๆ ขึ้น จะชินกับลักษณะซึ่งเกิด โดยที่บังคับบัญชาไม่ได้ เปลี่ยนแปลงลักษณะไม่ได้ แล้วก็เป็นธรรมที่ไม่ใช่ของเราด้วย เพียงเกิดปรากฏ แล้วเปลี่ยนแล้ว เป็นได้ยินอีกแล้ว เปลี่ยนอีกแล้ว เป็นเสียงอีกแล้ว เปลี่ยนอีกแล้ว เป็นสุข หรือทุกข์อีกแล้ว นี่ก็คือความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งจะค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น เมื่อมีความเข้าใจว่าเป็นธรรม ก็จะมีการเริ่มรู้ลักษณะด้วยความเข้าใจ ต่างกับเวลาที่ไม่ได้เข้าใจ

    ผู้ฟัง นั่นหมายความว่า เมื่อฟังขั้นเข้าใจเรื่องราวของธรรมจนมั่นคง แล้วสติอาจจะเริ่ม การที่ฟังมา ฟังแล้วฟังอีก

    ท่านอาจารย์ มีปัจจัยที่จะเกิด มิฉะนั้นไม่มีปัจจัยเลยที่จะเกิด ได้แต่เรียกชื่อสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ แต่เมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วหวังเสียด้วย อยากเสียด้วย ก็ไม่มีทางเลย ก็เป็นตัวตน โดยที่ไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็ชินกับลักษณะที่ฟังอย่างนี้แหละ ก็เหมือนกับสามารถ เหมือนกับเราเคยสะสมการหลงลืมสติมา เมื่อมีเหตุปัจจัยให้สติเกิด ก็สามารถเปลี่ยนความเคยชินจากหลงลืมสติ ค่อยๆ มีสติขึ้นเรื่อยๆ ตามที่เหมือนกับปัญญาก็ค่อยๆ รู้ ตามขั้นต่างๆ มากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทำให้ไม่เกิดก็ไม่ได้ แล้วติดก็ไม่ได้ เห็นไหม เป็นความอบรมที่ต้องอาศัยขันติ ความอดทนอย่างยิ่ง ที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ยังไม่มีปัจจัยถึงกับที่จะทำให้รู้ลักษณะสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุโดยทันที แต่ลักษณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้เลย ยังคงเป็นอย่างนั้น แต่ความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ ละคลายขึ้น และชินเมื่อไร อย่าหวังเลยว่าเมื่อไร แต่ว่าถ้าบ่อยๆ ก็ชินขึ้น แต่ไม่ต้องไปคิดว่า แล้วชาตินี้จะชินไหม หรืออีกกี่ชาติจะชิน ไม่ต้องคิดเลย ขณะนั้นถ้าหวัง เครื่องกั้นมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นหนทางนี้ยาก เพราะว่าเป็นหนทางที่จะละโลภะ ละความติดข้องด้วยความรู้จริงๆ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คะ ที่สำคัญมาก คือ ไม่ควรลืมว่าเป็นอนัตตาจริงๆ ในการที่จะมีเหตุปัจจัยให้เกิด ไม่มีตัวตนที่สามารถไปจงใจทำให้สติเกิดได้จริงๆ เพราะว่าถ้าทำได้ ในเมื่อใครอยากให้สติเกิด หรืออยากเป็นพระโสดาบัน ก็ทำให้เกิดรู้รูปนาม วิปัสสนาญาณเกิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย อันนี้เราต้องมั่นคงว่า เกิดจากความเข้าใจในขั้นฟัง แล้วปัญญาขั้นต่อไปก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้รู้ตรงนี้

    ท่านอาจารย์ และเป็นเรื่องละ ธรรมทั้งหมดที่ถูกต้องคือ ละความติดข้อง ละความไม่รู้ ละอกุศล

    อ.อรรณพ ขออนุญาตกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การที่เราศึกษาธรรม แล้วสบายๆ ไม่ต้องไปทำอะไรอย่างนี้ แล้วก็ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง จะสอดคล้องกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทำนี่สบายไหม

    อ.อรรณพ ไม่สบาย

    ท่านอาจารย์ แต่รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปทำอะไร สบายกว่าไหม ไม่ต้องทำ แล้วถ้าทำ ทำด้วยความเห็นผิดด้วย ทำด้วยความต้องการ พากเพียรที่จะเห็นผิดอย่างยิ่ง ผลคืออะไร สบาย หรือไม่

    อ.อรรณพ หลงทางก็ไม่สบาย เพราะฉะนั้นขันติเป็นตบะอย่างยิ่งในการอบรมเจริญปัญญา

    ท่านอาจารย์ แล้วจริงๆ เวลากุศลจิตเกิด เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัส เวลาสบายเป็นกุศล นั่นคือลักษณะที่ไม่เดือดร้อน แล้วก็มีการละ แล้วก็มีความรู้ด้วยถ้าเป็นสติปัฏฐาน ถ้าสตินั้นเกิดเพราะความเข้าใจถูก ความเห็นถูก แล้วก็กำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็ต้องต่างกับยังไม่มีความเห็นเลย แล้วก็อยากจะรู้แล้วก็ไปทำแล้วหวังว่าจะรู้ อย่างนั้นไม่สบายแน่นอน

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ เทปของท่านอาจารย์ หนูฟังอยู่ในรถ หนูก็จะไม่ค่อยได้เปลี่ยนแผ่น เพราะว่าฟังไป ๑๐ เที่ยวก็เข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วเหมือนกับฟังใหม่อีกเที่ยว เพราะว่าพอฟัง ที่ท่านอาจารย์พูดไป ๑๐ ประโยค หนูจับได้แค่บางประโยค พอปีต่อมาก็จับเพิ่มขึ้นเป็น ๒ ประโยค อย่างนี้ท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด เวลาที่กุศลจิตต้องต่างจากขณะที่เป็นอกุศลแน่นอน เพราะว่าขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีความติดข้อง หรือว่าไม่มีความขุ่นเคืองใจ แล้วยิ่งเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นสบายแน่นอน ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ เพราะว่าขณะที่กุศลจิตเกิด จะมีโสภณเจตสิกเกิดทำหน้าที่พร้อมกันมากมายกับจิต ๑ ขณะที่เป็นกุศลจิต และถ้ามีปัญญา ความเห็นถูกเกิดแล้ว จะเห็นได้ว่า ขณะนั้นต่างจากขณะที่หลังจากนั้นแล้วเกิดโลภะอีกแล้ว เปรียบเทียบได้เลยถึงความต่างกัน เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหมดไม่ได้ทำให้สบายเลย แต่อาจจะเข้าใจว่าสบาย หรือสนุก

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ การฟังธรรมแล้วให้รู้ว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ มันเป็นอย่างไร ฟังธรรมแล้วให้รู้

    ผู้ฟัง ตรงนี้คือฟังธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจตามที่ได้ยินได้ฟัง อย่างคำว่าธรรม เป็นเพียงคำ ไม่มีธรรมแล้วก็พูดคำธรรม หรือว่าเพราะเป็นธรรม จึงใช้คำนี้ เพราะว่าเป็นธรรม คือ สิ่งที่มี แล้วไม่ใช่ของใคร ขณะนี้ก็มี เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ฟังให้เข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจถูกต้องแล้วเป็นประโยชน์ ของการฟัง ไม่ใช่ให้เราไปทำอย่างนั้น ให้เราไปทำอย่างนี้

    ผู้ฟัง เมื่อฟังแล้วเข้าใจว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คุณบุษกร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ แล้วคำว่า “รู้ทั่ว”

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้รู้อะไร

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้มีเห็น

    ท่านอาจารย์ อย่างเดียว มีอะไรอีก

    ผู้ฟัง มีเห็นแล้วก็มีจิตคิดอีก

    ท่านอาจารย์ แล้วมีอะไรอีก

    ผู้ฟัง มีกระทบแข็ง

    ท่านอาจารย์ แล้วมีอะไรอีก

    ผู้ฟัง มีมากมาย อาจารย์ แต่รู้ไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ ก็จะใช้คำว่ารู้ทั่ว ได้อย่างไร คิดทั่ว

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ อย่างคำว่ารู้ทั่ว เมื่อเห็นจะมีจิตคิด

    ท่านอาจารย์ คิดนี่ กำลังคิด ไม่ได้รู้จิตที่เห็นด้วย แล้วก็ไม่รู้จิตที่คิดด้วย

    ผู้ฟัง กำลังคิดก็ยังไม่รู้เลยว่าคิด

    ท่านอาจารย์ ก็คิดเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เอาแค่นี้ จนกว่าจะเป็นธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง รู้เป็นธรรมก่อน

    ท่านอาจารย์ รู้จริงๆ ด้วย ไม่ใช่แค่คิด หรือจำ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 168
    11 ม.ค. 2567