พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 430


    ตอนที่ ๔๓๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ทำไมไปคิดเรื่องกุศล และอกุศล เมื่อสักครู่คุณสุกัญญาถามว่า สภาพคิดเป็นอย่างไร ใช่ไหม ขณะที่คิดไม่ใช่เห็น แล้วคิดเรื่องอะไรที่จะรู้ว่า เป็นกุศล หรืออกุศล เรื่องที่กำลังคิด คิดเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ส่วนใหญ่คิดเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ เรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าคิดถึงเรื่องที่ดี ก็ตั้งใจว่า นี่ก็คิดแล้ว

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิดนี้เป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง ก็บอกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็บอกไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้สภาพคิด ก่อนอื่นเราไปอยากรู้สิ่งที่เราไม่สามารถรู้ได้ เช่น ขณะนี้ได้ฟังว่า ไม่มีเรา แค่นี้ถูกต้องไหม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ไม่มีเรา เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ แต่มีอะไร

    ผู้ฟัง ก็มีสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ มีธรรม แล้วเรารู้จักธรรม หรือยัง เห็นไหม เรื่องตอบเป็นเรื่องไม่ยาก ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วเคยเข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อได้ฟังก็ทราบว่า สิ่งที่ปรากฏมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งไม่เหมือนกันเลย อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่แข็ง ไม่ใช่เสียง เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ ไม่มีใครสามารถบังคับไม่ให้เกิดปรากฏเป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เพียงรับฟัง แต่ว่าจะต้องมีการพิจารณารู้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ว่า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ขณะนี้ก็ต้องเป็นธรรมด้วย

    เพราะฉะนั้นการเข้าใจธรรม ไม่ใช่การรีบร้อนไปรู้ว่า คิดเป็นอย่างไร แล้วคิดว่าเป็นกุศล หรือคิดเป็นอกุศล แต่แม้ขณะนี้เพียงได้ยินคำว่า “ธรรม” เหมือนเข้าใจ แต่การเข้าใจต้องเข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น มีใครสามารถบอกได้ไหมว่า เข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังหมดแล้ว แม้แต่ลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม นี่คือความเป็นผู้ละเอียดยิ่ง ถ้าไม่ละเอียดยิ่ง จะไม่รู้ว่า ขณะนี้ไม่ใช่เรา เพราะอะไร แล้วมีอะไรเป็นเครื่องกั้นไม่ให้เห็นถูกตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องรีบร้อน อยากจะไปรู้อะไร โดยเพียงขั้นฟัง แต่ แต่ละคำต้องไตร่ตรอง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ได้ยินว่าเป็นธรรม และความจริงก็เป็นธรรม เพราะเหตุว่าปรากฏแล้วมีลักษณะอย่างนี้แล้ว ใครจะไปเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไปเปลี่ยนสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ให้ปรากฏเมื่อกระทบกับตา จักขุปสาท แล้วจิตเห็นเกิดขึ้น แล้วจะไปเปลี่ยนไม่ให้ปรากฏ มีสิ่งที่ปรากฏแล้วมีจิตเห็น ได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังธรรม ไม่ใช่รีบร้อน ให้รู้ว่า ความไม่รู้มากมาย เพียงฟังเข้าใจ ไม่พอที่จะรู้ว่า ธรรมเป็นธรรม แต่ต้องอาศัยการฟัง และค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏตอนนี้คิด หรือไม่

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ ทำไมรู้ว่าคิด เมื่อกี้ไม่รู้ว่า คิดเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง คือจริงๆ แล้ว ถ้าจะกล่าวว่า รู้ว่าคิดไหม ก็คือเมื่อก่อนจะไม่รู้เลย แต่เดี๋ยวนี้พอรู้บ้างว่า ขณะไหนคิด และขณะไหนเห็น แต่ยังไม่ใช่ลักษณะจริงๆ ว่าเป็นธรรม แต่ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์ เพราะว่าคิดไม่ใช่เห็น อย่างเห็นนี่ชัดเจนว่า เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างจิตเห็นนี่มี เราก็เรียกชื่อได้ว่า จักขุวิญญาณ ทีนี้สภาพคิดนึกก็หาชื่อใส่ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จะใส่ชื่อ หรือ ถ้าใส่ชื่อ ในห้องนี้ต้องใส่หมดเลย ชื่ออะไรบ้างที่หลังคา ตะปูเล็ก ตะปูน้อย ต้องไปหาชื่อใส่หมด หรือไม่ หรือว่ากำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร

    การฟังธรรม ไม่ลืมว่า ต้องละเอียด พิจารณาไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจของตนเอง ทีละเล็กทีละน้อย ใครจะดับกิเลสเป็นพระโสดาบันโดยที่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือใครจะคิดว่า เพียงรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ก็สามารถจะเข้าใจลักษณะที่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้น แต่เป็นลักษณะเฉพาะของธรรมแต่ละอย่างจริงๆ

    ผู้ฟัง เคยฟังธรรม และเคยกล่าวว่า สภาพวิตกเจตสิก คือ ตรึก นึกถึงเรื่องราว แต่วิตกเจตสิกก็ไม่ใช่จิต

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตไม่ได้ทำหน้าที่ของเจตสิกเลย จิตเกิดเมื่อไร อารมณ์ใดปรากฏ จิตเท่านั้นที่เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง รู้จริง รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็คงต้องกล่าวย้ำบ่อยๆ เพราะเหตุว่าแต่ละภาษาอาจจะทำให้เข้าใจไม่ชัดเจน ภาษาบาลีมีคำว่า “รู้” หลายความหมาย รู้โดยจำ รู้โดยคิดก็ได้ รู้ได้ทุกอย่างที่เป็นสภาพรู้ รู้ทั้งนั้น แต่ว่าในขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ถ้าถามว่า ขณะนี้เห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้เลย ได้ยินแต่ชื่อ ใช่ไหม จำชื่อได้ แต่เจตสิกนั้นๆ ปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้ง อารัมมณะ (หรือสิ่งที่กำลังปรากฏ) แปลจากภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็คือ เห็น ได้ยิน ถ้าทางตา รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นจริงๆ หรือรู้แจ้งอารมณ์คือเสียงที่ปรากฏ คือ ได้ยินเสียงนั้นจริงๆ ถ้าใช้คำว่า “ได้ยินจริงๆ ” ไม่สงสัยเลย แต่ถ้าบอกว่า รู้แจ้งเสียง คงจะสงสัยว่า รู้แบบไหน เป็นการรู้แจ้งเสียง แต่รู้แจ้งเสียง คือ ได้ยินธรรมดา ธรรมเป็นธรรมดา ไม่มีใครไปเปลี่ยนลักษณะของธรรมนั้นได้

    เพราะฉะนั้นทุกคำที่ใช้คำว่า “รู้แจ้ง” ซึ่งเป็นลักษณะของจิต หมายความว่าเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ ขณะที่คุณสุกัญญากำลังคิด มีเจตสิกเกิดกับจิตนั้นมาก แต่จิตกำลังรู้ทีละคำที่คิด ถ้าคิดเป็นคำ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งคำแต่ละคำ เพราะว่าปรากฏเมื่อจิตคิดถึง แต่ก็มีเจตสิกมากมายที่เกิดกับจิตในขณะที่คิด

    เพราะฉะนั้นการเข้าใจจริงๆ ก็คือว่า เมื่อมีสิ่งใดที่ปรากฏแล้วก็ได้ฟังเรื่องของสิ่งนั้น ก็เริ่มเข้าใจความเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตาของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีความเข้าใจถูกต้องขึ้นว่า แม้จะได้ยินได้ฟังเรื่องราวของสภาพธรรมมากมาย แต่ปัญญาจริงๆ ที่จะเข้าใจจริงๆ ในลักษณะที่เป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ต้องอาศัยกาลเวลา เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ จิตแต่ละคนไม่สามารถมีใครรู้ได้ว่า สะสมอะไรมาแค่ไหน แต่ที่มากที่สุดคืออวิชชา การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และเป็นเหตุปัจจัยให้อกุศลทั้งหลายเกิดพร้อมกับอวิชชา โลภะบ้าง โทสะบ้าง มานะบ้าง ริษยาบ้าง มากมาย อยู่ในจิตซึ่งมองไม่เห็นเลย และถ้าไม่เกิดเมื่อไร ก็ไม่ปรากฏว่ายังมี

    เพราะฉะนั้นกว่าจะดับการที่ไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยความรู้ ความละเอียดจริงๆ ของธรรม จนกระทั่งเป็นการคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ไปทำละ หลายคนอาจจะทำละ แต่เป็นการละด้วยความรู้ ทำละ ไม่ใช่รู้ ทำ เป็นตัวเราจะไปทำละอย่างนั้น ไปทำละอย่างนี้ที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น แต่ว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ในขั้นของการฟัง

    เพราะฉะนั้นการละจริงๆ เป็นหน้าที่ของปัญญาที่รู้ ในขณะที่รู้ บางทีก็กล่าวว่า ละโลภะ แต่จริงๆ รู้นั้นตรงกันข้ามกับอวิชชาซึ่งไม่รู้ เพราะฉะนั้นรู้ตรงกันข้ามกับอวิชชาซึ่งไม่รู้อยู่แล้ว จึงละโลภะได้ เพราะโลภะเกิดเพราะอวิชชา

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์กล่าวเหมือนกับว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ก็ให้รู้สิ่งนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ก็ให้รู้ เข้าใจ ไม่มีการให้ใครไปทำอะไรทั้งสิ้น พระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้ผู้ได้ยินได้ฟังไตร่ตรอง มีความเห็นที่ถูกต้องว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นจริง หรือไม่ แต่ไม่ใช่ให้ไปทำอะไรเลย เลิกคิดที่จะให้ทำอะไร เพราะฉะนั้นขณะนี้กำลังฟัง ให้ทำอะไร หรือไม่ ไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จริงไหม นี่คือหนทางเดียวจริงๆ เพราะว่าเป็นความรู้เท่านั้นที่สามารถจะละความไม่รู้ได้

    ผู้ฟัง แล้วสภาพคิดที่เกิด

    ท่านอาจารย์ มีจริง หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นเรา หรือไม่ หรือว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมที่สามารถจะรู้ได้ทางไหน

    ผู้ฟัง ทางใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นหมายความถึงว่า สภาพที่คิดเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม กำลังคิดก็ไม่รู้ว่าคิด เพราะฉะนั้นคิดไม่ใช่ปัญญา คิดมีจริงๆ แต่ต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ได้ว่า คิดเกิด หรือไม่ ขณะที่กำลังคิด คิดเกิด หรือไม่ ถ้าไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เคยจำมาเลย จะคิดได้ไหม อย่างคำว่า “ธรรม” คิดถึงคำนี้บ่อยๆ หรือไม่ หรือว่านานๆ คิด แต่ว่าเรื่องอื่นคิดมากกว่า เพราะว่าสะสมมาในแต่ละชาติที่จะคิดถึงเรื่องอื่นทั้งนั้นเลย จนกว่าชาติไหนมีโอกาสได้ยินได้ฟังคำว่า “ธรรม” แล้วก็เริ่มเข้าใจจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเป็นปัจจัยให้คิดถึงธรรมได้แทนเรื่องอื่น แต่วันนี้คิดเรื่องอะไรมาก คงไม่ต้องบอก ทุกคนเหมือนกันไหม แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก เพราะว่าเคยเป็นมาแล้วอย่างมากมายในสังสารวัฏฏ์ แม้แต่ความคิดก็บังคับบัญชาไม่ได้ว่าจะให้คิดเรื่องอะไร เกิดแล้ว คิดแล้ว แล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า คิดเป็นชั่วขณะที่จำแล้วก็นึกถึงสิ่งที่กำลังคิด หรือเรื่องที่กำลังคิด โดยที่ใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ว่าให้คิดเรื่องนั้น หรือให้คิดเรื่องนี้ แต่เมื่อคิดแล้ว ควรรู้ หรือเข้าใจถูกต้องไหมว่า ไม่ใช่เรา แต่ละคนเกิดมาเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็คิดถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ไม่มีใครไปยับยั้งได้เลย ต้องเป็นอย่างนี้ แต่สามารถเข้าใจได้ไหมว่า ชาตินี้คิดเรื่องนี้ ชาติก่อนคิดเรื่องนี้ หรือไม่ ชาติหน้าคิดเรื่องนี้ หรือไม่ ถ้าชาติหน้าคิดเรื่องนี้ ชาตินี้ก็ต้องคิดเรื่องชาติก่อน ใช่ไหม แต่ว่าชาติหน้าจะคิดถึงเรื่องนี้ไม่ได้ เหมือนกับชาตินี้จะไปคิดถึงเรื่องของชาติก่อนไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่ก่อนจะถึงชาตินี้ คิดถึงเรื่องชาติก่อนทั้งนั้นเลย ไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลย คิดเฉพาะเรื่องของชาตินั้น เกิดมาเห็น เกิดมาได้ยิน เกิดมามีเพื่อน เกิดมามีอะไรก็แล้วแต่ ก็คิดแต่สิ่งที่มีในชาตินั้น และชาติก่อนก็ไม่ได้ไปคิดถึงเลย และชาติหน้าก็จะไม่ได้คิดถึงเรื่องของชาตินี้ด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าสามารถคิดถึงเรื่องของชาติก่อนได้ ชาติหน้าจึงจะคิดเรื่องชาตินี้ได้

    อันนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือว่า มีสภาพธรรมที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย แล้วดับไป ไม่สิ้นสุด เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ จึงยึดถือว่าเป็นเรา ซึ่งความจริงก็เป็นโลกแต่ละโลก ซึ่งปรากฏทีละขณะ ถ้าไม่มีจิตเห็นเลย โลกนี้ที่มีต้นไม้ใบหญ้า มีอะไรต่างๆ ก็ไม่ปรากฏ ถ้าไม่มีเสียงปรากฏเลย เรื่องราวต่างๆ ก็ไม่มี แต่มีเมื่อเกิดขึ้น แล้วก็ทันทีที่เห็น จักขุวิญญาณดับไป จิตต่อไปมีวิตกเจตสิก เราไม่รู้เลย จรดแล้วในสิ่งที่จักขุวิญญาณอาศัยตาเห็นแล้วดับไป ไม่ทิ้งอารมณ์นั้นเลย ขณะนี้จึงปรากฏว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งต่างๆ เพราะว่าเว้นจิต ๑๐ ดวง สำหรับกามาวจรจิต คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตต่อๆ ไปทั้งหมดมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จนกระทั่งถึงกาละขององค์ของมรรคมีองค์ ๘ ที่ทำให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    นี่คือความละเอียดของธรรม ทำไมพูดบ่อยๆ ฟังแล้วจะได้ไม่ลืมว่า ไม่มีใครไปจัดสรร ไม่มีใครไปบังคับบัญชาว่า เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว ซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง ไม่มากกว่านั้นเลย จิตขณะต่อไปก็มีเจตสิกอื่นเกิดกับจิตขณะต่อไปที่จะรู้อารมณ์ที่จักขุวิญญาณเห็นสืบต่อไป

    เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่มีในขณะนี้ เว้นจิตต่างๆ เหล่านั้นแล้ว ก็ต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วถึงแม้ว่าไม่มีการเห็น การได้ยิน แต่สัญญาที่จำก็ทำให้ตรึกนึกถึงสิ่งที่กำลังนึกในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางที่จะคิดได้ว่า สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าเป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป จนกว่าจะได้ฟัง ฟังแล้วละกิเลส หรือไม่ กิเลสมากมาย ถ้าไม่รู้ จะไม่รู้เลยว่า มากระดับไหน เพียงแค่ฟัง ปัญญาเท่านี้ไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น แต่จากการสะสมการรู้ประโยชน์ว่า ตลอดชีวิตในสังสารวัฏฏ์สะสมอกุศลไว้มากมายเหลือเกิน แล้ววันนี้ก็สะสมอีก ต่อไปก็สะสมอีก กว่าจะถึงขณะสุดท้ายของโลกนี้ ชาตินี้ ก็ไม่รู้ว่า สะสมอกุศลแล้วมากมายเท่าไร แล้วใครจะทำให้อกุศลที่สะสมอยู่ในจิตหมดไปได้ ก็พอกพูนต่อไปในชาติต่อๆ ไป ซึ่งถ้ามีมาก ก็เป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรมทางกาย แม้เล็กน้อย ทางวาจา แม้เล็กน้อย สะสมด้วย เล็กน้อยแค่ไหนก็สะสม แล้วทางใจก็สะสมด้วย

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนไม่มีใครจะไปจัดการชีวิตของคนอื่นได้ แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนจิตของแต่ละคนที่สะสมอกุศลมามากๆ ไม่ให้กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดในที่ต่างๆ กัน ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้เลย เพียงแต่ว่าเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรม ซึ่งผู้ที่สะสมบุญมาแล้วมีโอกาสได้ยินได้ฟัง มีความเข้าใจธรรมว่า ไม่ใช่ใครเลย เป็นจิตซึ่งเกิดแต่ละขณะ และแต่ละขณะสะสมอกุศลมามากแค่ไหน ถ้าขณะนี้ไม่สะสมปัญญาที่เริ่มเห็นถูก ก็ไม่มีทางที่อกุศลที่สะสมมาเบาบางลงไปได้

    เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้จึงสามารถเห็นพระกรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สามารถทำให้กุศลเจริญขึ้นได้ และอกุศลค่อยๆ ลดลงไปได้ ด้วยความเข้าใจธรรม และไม่มีโลกใดเลย นอกจากโลกทางตาเห็นแล้วดับ ทางหูเกิดขึ้นได้ยินแล้วดับ จนถึงทางใจแม้คิดนึก ก็ดับไป เราจะอยู่ที่ไหน โลกที่มีคนเยอะๆ มีเหตุการณ์ต่างๆ จะอยู่ที่ไหน

    เพราะฉะนั้นที่พึ่ง คือ พระรัตนตรัย พระพุทธรัตนะ พระธัมมรัตนะ พระสังฆรัตนะที่ทำให้ผู้นั้นได้เข้าใจความเป็นไปของจิตตั้งแต่อดีตในสังสารวัฏฏ์จนถึงขณะนี้ และต่อไป ด้วยการเป็นผู้มีภาวนาทิฏฐานชีวิตัง คือมีชีวิตสุจริตที่มั่นคงในการอบรมปัญญา กว่าจะถึงวันนี้ได้ เราก็ต้องฟัง และไม่ใช่เราที่สามารถทำอะไรได้ แต่จากปัญญาที่ได้เข้าใจธรรม ก็จะเห็นจริงว่า โลกมีปรากฏเป็นเรื่องราวต่างๆ เพราะจิตเกิดขึ้นเท่านั้นเอง แล้วก็ดับไปแต่ละขณะ แล้วก็เป็นจิตประเภทต่างๆ

    ผู้ฟัง สภาพคิด จิตที่คิด ถ้าทางใจ โลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตก็เกิดทางใจเหมือนกัน จะต่างกับจิตที่คิดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็คงต้องแยกทวาร ทวารหมายความถึงทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ จิตเป็นธาตุรู้ มีปัจจัยเกิดขึ้น ถ้าขณะนั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตที่ทำกิจภวังค์ ดำรงภพชาติเกิด ขณะนั้นโลกไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้น แต่ขณะใดก็ตามที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ สิ่งที่จะต้องรู้ก็คือว่า สิ่งนั้นปรากฏทางไหน อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา พูดเหมือนธรรมดา คนไม่รู้ก็บอกว่าเห็น แต่ที่จิตเห็นจะเกิดขึ้นได้ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เพราะก่อนเห็นต้องเป็นภวังค์ ถูกต้องไหม

    ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตขณะต่อไปยังไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก แต่มีจิตซึ่งเกิดสืบต่อความเป็นบุคคลนี้ต่อจากปฏิสนธิจิต ยังไม่เป็นบุคคลอื่น โดยทำภวังคกิจ

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า จิตทำภวังคกิจต่อจากปฏิสนธิจิต และขณะใดก็ตามที่ไม่ได้ทำกิจอื่น ไม่ได้มีการเห็น การได้ยิน ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด จิตต้องเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้นก่อนเห็น จิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก่อนเห็นก็ต้องเป็นภวังค์

    ท่านอาจารย์ เป็นภวังค์ แล้วถ้าไม่มีสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาทซึ่งเกิดเพราะกรรม จะมีจิตเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะไม่ทราบถึงกรรมที่ได้กระทำแล้วเลย แม้ว่าจะดับไปนานแสนนาน ก็ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดเพราะกรรมได้ เช่น จักขุปสาทเกิดเพราะกรรม โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท และ กายปสาทซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัว ซึ่งสามารถรู้กระทบสิ่งที่ปรากฏทางกาย นี่คือกรรมทั้งหมดเลย จะรู้ หรือไม่รู้ ที่มีตา หู จมูก ลิ้น กายขณะนี้ ก็เพราะเป็นรูปซึ่งเกิดจากกรรมทุกขณะจิต ถ้าจะแบ่งย่อย จิตมีขณะ ๓ อณุขณะ จิต ๑ ขณะที่เกิดแสนสั้น ก็ยังเป็นขณะเกิด อุปาท ขณะดับ เป็นภังคะ แต่ก่อนจะดับ ก็เป็นฐีติขณะ กรรมทำให้รูปเกิดทุกอนุขณะ ใครจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม เกิดแล้วก็ดับไป มีอายุแค่ ๑๗ ขณะจิต เดี๋ยวนี้มีรูปอะไรเหลือบ้าง หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ รูปใดที่ไม่ปรากฏ ลองคิดถึง ๑๗ ขณะจิตก็แล้วกัน แต่หลงว่ามี จำว่ามี เพราะฉะนั้นความคิดว่ามี หนาแน่น เหนียวแน่น ลึกมาก ยากที่จะไถ่ถอน เพราะยังเข้าใจว่าเป็นอัตตสัญญา คือเป็นเราซึ่งมีทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ไม่เหลือ ขณะเห็นจะมีรูปอื่นไหม นอกจากจักขุปสาทกับรูปที่ปรากฏกระทบที่ยังไม่ดับ ทั้ง ๒ อย่างต้องยังไม่ดับ ๑๗ ขณะ ก่อนจิตเห็นจะเกิด จากภวังคจิต จะไปสู่วิถีทางหนึ่งทางใดที่จะรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    21 ต.ค. 2567