พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 431


    ตอนที่ ๔๓๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ ก่อนจิตเห็นจะเกิด จากภวังคจิตจะไปสู่วิถีทางหนึ่งทางใดที่จะรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดที่กำลังเป็นภวังค์อยู่ ก็มีอารมณ์ที่กระทบปสาท ขณะที่อารมณ์กระทบปสาท เพื่อที่จะแสดงว่า อายุของรูปมี ๑๗ ขณะจิต ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นขณะนั้นภวังคจลนะไหว คือ ใกล้ที่จะไม่มีอารมณ์ของภวังค์ เพื่อจะรู้อารมณ์ที่กำลังกระทบ

    เพราะฉะนั้นเมื่อภวังค์ที่เป็นอตีตภวังค์ที่รูปเกิดทั้ง ๒ รูปกระทบกันแล้ว อตีตภวังค์ดับไป ขณะต่อไปก็เป็นภวังคจลนะยังไม่เห็น เมื่อภวังคจลนะดับแล้ว ภวังคุปัจเฉทะ หมายถึงภวังค์ขณะสุดท้าย จะใช้คำว่า “ตัดกระแสภวังค์” เพราะว่าหลังจากนั้นจะเป็นภวังค์ไม่ได้เลย เกิด ก็ยังไม่เห็น

    นี่แสดงให้เห็นว่า การที่เราจะรู้ว่า รูปๆ หนึ่งอาศัยทวารใด จะต้องรู้ว่า รูปมีอายุ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นผ่านไปแล้ว ๓ ขณะ รูปดับ หรือยัง ยังไม่ดับ แล้วจากการเป็นภวังค์ ก็จะมีการที่รู้อารมณ์ทางตาทันทีไม่ได้เลย มีจิตที่เกิดซึ่งเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ ภาษาบาลี หมายความว่า จิตนี้เป็นบาทเฉพาะแก่จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ จิตนี้คือปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิตซึ่งเกิดเพราะอารมณ์กระทบกันทำให้รู้ ขณะนั้นเพียงรู้ว่า มีอารมณ์กระทบที่ทวาร ทวารหนึ่งทวารใด ถ้าเป็นทางตาเรียกได้ว่า จักขุทวาราวัชชนจิต

    ถ้าเป็นทางหูก็โสตทวาราวัชชนจิต แต่ชื่อไม่สำคัญเลย แต่ให้รู้ว่า ถ้าไม่มีจิตนี้เกิด วิถีจิตต่อๆ ไปเกิดไม่ได้เลย จึงชื่อว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ การที่จิตนี้เกิดแล้ว ก็จะเป็นบาทเฉพาะให้วิถีจิตอื่นๆ เกิดสืบต่อ รูปดับ หรือยัง ทวารไหน ถ้าเป็นจักขุปสาทกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ (ทวารตา) ถึงมโนทวาร หรือยัง (ยังไม่ถึง)

    นี่คือส่วนมากคนจะไม่เข้าใจจุดนี้ เพราะเข้าใจว่าพอเป็นกุศล อกุศลแล้วเป็นมโนทวาร แต่ความจริงไม่ใช่ กุศล อกุศลสามารถเกิดโดยอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใน ๑๗ ขณะจิตที่รูปๆ หนึ่งยังไม่ดับ ขณะนี้กี่ขณะแล้ว ตั้งแต่รูปเกิด อตีตภวังค์ ๑ ภวังคจลนะ ๒ ภวังคุปัจเฉทะ ๓ จักขุทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นกิริยา หรือปัญจทวาราวัชชนจิต ๔ ไม่เรียกชื่อนี้ได้ไหม ก็ได้ แต่ไม่เรียกใครจะรู้ว่าหมายความถึงจิตขณะไหน เพราะว่าไม่ใช่จิตเห็น แต่เป็นจิตที่เกิดก่อนจิตเห็น กี่ขณะแล้ว ทบทวนอีกที ๔ ขณะ จิตนี้ดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ อาศัยทวารอะไร

    ผู้ฟัง ตา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตต่อไปต้องเป็นอะไร

    ผู้ฟัง จักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณ คือจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบโดยอาศัยจักขุปสาท ตรงตัวเลย เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณอาศัยทวารอะไร อาศัยทวารตา ตาดับ หรือยัง

    ผู้ฟัง ตายังไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ รูปที่กระทบตาดับ หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณดับแล้ว อะไรเกิดต่อ

    ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนะ

    ท่านอาจารย์ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ อาศัยทวารอะไร

    ผู้ฟัง ตา

    ท่านอาจารย์ อาศัยตา รู้อารมณ์อะไร

    ผู้ฟัง รู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ รู้รูปที่จักขุวิญญาณเห็นนั้นแหละที่ยังไม่ดับ แต่สภาพของจิตต่างกันแล้ว แม้ว่ากรรมจะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นก็จริง จักขุวิญญาณก็เป็นวิบากจิต สัมปฏิจฉันนะซึ่งเกิดต่อรับรู้อารมณ์เดียวกัน จะต่างวิบากกันอย่างไร จะต่างผล จะต่างกรรมได้อย่างไร ก็เป็นผลของกรรมเดียวนั่นแหละ ที่ทำให้จักขุวิญญาณเห็นแล้วก็ดับไป แล้วสัมปฏิจฉันนะก็เกิดเพราะกรรมนั้นที่จะให้เห็น ที่จะให้รับรู้รูปนั้นต่อ โดยอาศัยจิตที่เกิดต่อดับไปแล้วเกิดขึ้น สัมปฏิจฉันนะที่รู้อารมณ์ทางตา อาศัยทวารอะไร สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อจากจักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิตอาศัยทวารอะไร

    ผู้ฟัง อาศัยทวารตา

    ท่านอาจารย์ อาศัยทวารตา ภาษาไทย ภาษาบาลี ก็เป็นจักขุทวาร ถูกต้องใช่ไหม ยังไม่ถึงมโนทวาร ตรงนี้ยังไม่สงสัย เพราะยังไม่ได้คิดอะไร เพียงแค่เห็นแล้วก็มีจิตซึ่งรับรู้อารมณ์นั้นต่อเร็วมากเลย คือแต่ละ ๑ ขณะจิตเท่านั้นเอง รู้ไหมว่า ขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้น มีทั้งปัญจทวาราวัชชนะ มีทั้งจักขุวิญญาณ มีทั้งสัมปฏิจฉันนจิต ดับไปแล้วเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดต่ออีก ที่จะรู้โดยพิจารณา ซึ่งเวลาใช้คำว่า “พิจารณา” ภาษาไทยยาวมาก แต่ให้เห็นความต่างของจิต ๓ ขณะ จักขุวิญญาณเห็น เท่านั้น สัมปฏิจฉันนะ รับเท่านั้น สันตีรณะที่เกิดต่อ รู้เพิ่มขึ้นอีก เท่านั้น แล้วก็ดับไป อาศัยทวารไหน

    ผู้ฟัง ทวารตา

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะรูปยังไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ เพราะจักขุปสาทก็ยังไม่ดับ และรูปที่กระทบจักขุปสาทก็ยังไม่ดับ หลังจากนั้นก็จะมีจิต เปลี่ยนแล้ว จากวิบาก ถ้ามีแค่นั้นก็ดีใช่ไหม ไม่รู้เรื่องอะไร เลย เห็นแล้วก็หมด เห็นแล้วก็หมด แต่จิตไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย หลังจากที่สันตีรณจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตอื่นเกิดต่อได้ไหม ได้ คือ

    ผู้ฟัง โวฏฐัพพนจิต

    ท่านอาจารย์ จิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจ ถ้าใช้คำว่า “โวฏฐัพพนะ” หมายความถึงกิจ เป็นกิริยาจิต เห็นไหมว่า ยังเป็นกุศล อกุศลไม่ได้เลย ดูเหมือนจะช้ากว่าจะเป็นกุศล อกุศล แต่ความจริงประมาณไม่ได้เลยถึงความรวดเร็ว นี่เป็นการแสดงเพียงรูปๆ หนึ่งซึ่งเกิดแล้วมีอายุ ๑๗ ขณะ ยังไม่ดับ แต่ ณ บัดนี้นับไม่ถ้วน จนปรากฏเป็นคน เป็นสัตว์ต่างๆ

    เพราะฉะนั้นหลังจากที่สันตีรณจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อต้องเป็นโวฏฐัพพนจิต เป็นกิริยาจิต ทุกคนมีเหมือนกัน หรือไม่ หรือว่าบางคนมี บางคนไม่มี

    ผู้ฟัง มีเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันเลย เพราะอะไร เป็นธรรม เป็นธรรมนิยาม เป็นจิตนิยาม ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย โดยปัจจัยแต่ละปัจจัย ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิดจนกระทั่งแต่ละขณะที่เกิดสืบต่อ ตามปัจจัยมากมาย

    เพราะฉะนั้นกว่าปัญญาจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ แม้ในขั้นการฟัง ที่จะมีความมั่นคงในสัจญาณ คือ ธรรมเป็นธรรม ไม่เป็นใครทั้งสิ้น ก็ต้องอาศัยการไตร่ตรอง

    โวฏฐัพพนจิตเป็นกิริยาจิต ไม่ใช่วิบาก เพราะสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้งอารมณ์ที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลกรรม และอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นจิตใดก็ตามที่สามารถรับรู้อารมณ์ซึ่งเป็นผลของทั้งกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมได้ทั้ง ๒ อย่าง จิตนั้นเป็นกิริยาจิต แต่ถ้าเป็นวิบากจิต กุศลกรรมทำให้กุศลวิบากเกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่น่าพอใจ จะรู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจไม่ได้ หรือเวลาที่อกุศลกรรมให้ผล ทำให้อกุศลวิบากเกิด ก็จะต้องรู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ จิตนี้จะไปรู้อารมณ์ที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมไม่ได้เลย รูปดับ หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ กี่ขณะแล้ว อตีตภวังค์ ๑ ภวังคจลนะ ๒ ภวังคุปัจเฉทะ ๓ อาวัชชนะ ๔ จักขุวิญญาณ ๕ สัมปฏิจฉันนะ ๖ สันตีรณะ ๗ โวฏฐัพพนะ ๘ แม้รูปยังไม่ดับ กุศล อกุศลก็เกิดได้ตามการสะสม ใครยับยั้งได้

    นี่คือการรู้ความต่างของปัญจทวาร และมโนทวาร ที่กล่าวว่า “ปัญจทวาร” เพราะอาศัยทวารที่เป็นรูป จะเป็นตาก็ต้องเป็นจักขุทวารวิถีตลอดหมดจนกว่ารูปจะดับ ถ้าเป็นทางหู เสียงที่ปรากฏนิดเดียว เหมือนได้ยินแล้วดับไป แต่กุศล และอกุศลก็เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย เพราะว่ารูป ๑๗ ขณะ และจิตเกิดแล้วก็รู้อารมณ์นั้น รูปยังไม่ดับ ด้วยเหตุนี้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดสืบต่อ โวฏฐัพพนจิตซึ่งเกิดก่อนกุศล และอกุศลมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ชวนปฏิปาทกะ” หมายความว่าจิตนี้เป็นบาทเฉพาะที่จะให้กุศลจิตเกิด หรืออกุศลจิตเกิด สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว วิถีจิตตั้งแต่ต้นเหมือนกันหมดเลย แต่เพราะดับกิเลสแล้ว หลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับแล้ว กิริยาจิตเท่านั้นที่จะเกิด ไม่เป็นกุศล และไม่เป็นอกุศลเลย

    นี่คือความต่างกัน และที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อให้สัตว์โลกได้ถึงการดับกิเลสเช่นพระองค์ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจความจริง และไม่ได้อบรมเจริญปัญญารู้ว่า ปัญญาแม้หลังจากที่เห็นแล้ว เมื่อดับกิเลสแล้ว เวลาที่โวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว ไม่มีทางที่กุศลจิต และอกุศลจิตเกิด แต่ต้องเป็นปัญญาที่ถึงระดับความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งดับอกุศลหมด เพราะฉะนั้นไม่สงสัยแล้วใช่ไหมเรื่องมโนทวาร กับปัญจทวาร แม้กุศลจิต และอกุศลจิตก็เกิดทางตาได้ เพราะรูปยังไม่ดับ ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ยังไม่ดับ ซึ่งดับเร็วมากขณะนี้ แต่เพราะเป็นโสตทวารวิถีจิต กุศลจิต และอกุศลจิตนั้นก็อาศัยโสตเป็นทวาร เพราะฉะนั้นกุศลจิต และอกุศลจิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร

    นี่กี่ขณะแล้ว ถึงโวฏฐัพพนะแล้ว เพราะฉะนั้นกุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิดต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ ถ้าเป็นกุศลก็ดี ใช่ไหม แต่ถ้าเป็นอกุศล จิตเห็น ๑ ขณะ อกุศล ๗ เท่า ยังไม่ได้ไปทำกรรมอะไรเลย แต่สะสมมาที่เมื่อเห็นแล้วก็เป็นแล้ว แล้วจะเอากิเลสออกได้อย่างไรที่จะถึงการไม่มีกิเลสเกิดหลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ต้องเป็นภาวนาทิฏฐานชีวิตัง

    ถ้าขณะนี้ไม่มีการอบรมเจริญปัญญาเดี๋ยวนี้ ชาติต่อไปรู้ไหม จะได้ยินได้ฟังอีก หรือไม่ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจะเจริญขึ้น สามารถเข้าใจขึ้น อบรมจนกระทั่งสามารถถึงการไม่มีโลภะ คือไม่มีอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น ได้ไหม

    ชวนะเกิดดับ ๗ ขณะ รวมแล้วเป็นกี่ขณะของรูป ๑๕ ขณะ ยังเหลืออีก ๒ ขณะ ทำอย่างไร ไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย แต่ถ้าเป็นกามบุคคล คือ คนที่เกิดในกามภูมิยังติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ กรรมก็ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นทำหน้าที่รู้ต่อจากชวนจิต ๒ ขณะเท่านั้นเอง หมดเรื่องของจักขุทวารวิถีจิต เพราะต่อจากนั้นก็เป็นภวังค์ ดำรงภพชาติต่อไป ซึ่งมโนทวาราวัชชนจิตจะเกิดสืบต่อทางมโนทวารทันที หลังจากที่ภวังค์หลายๆ ขณะดับไปแล้ว

    ด้วยเหตุนี้มโนทวารวิถีจิตจะรู้อารมณ์เดียวกับทางปัญจทวารวิถี ขณะนี้ที่เห็นหลังจากจักขุทวารวิถีซึ่งเป็นกุศล อกุศล ตทาลัมพนะดับไปแล้ว ภวังค์คั่นแล้ว จิตที่เกิดทางมโนทวารไม่ทิ้งอารมณ์นั้นเลย มีวิตกเจตสิกเกิดตรึกนึกถึงอารมณ์ที่ผ่านไปเมื่อกี้นี้ แล้วก็รู้อารมณ์นั้นต่อทางใจ

    สำหรับการรับรู้อารมณ์นั้นต่อ หลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิต ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะว่าเป็นการที่จิตตรึกนึกถึงอารมณ์ที่เพิ่งดับไป ขณะนั้นชวนวิถีจิต คือ กุศลจิต และอกุศลจิตเป็นประเภทเดียวกัน ถ้าทางจักขุทวารเป็นอกุศล มโนทวารวิถีจิตที่เกิดสืบต่อเปลี่ยนไม่ได้ ก็เป็นอกุศล แต่ว่าหลังจากนั้นเปลี่ยนได้ หลังจากหลายๆ วาระของการเกิดดับสืบต่อหมดไปแล้ว เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ซึ่งขณะเดียวเหมือนกัน กุศลจิต หรืออกุศลจิตก็เกิดต่อตามปัญจทวารวิถี เป็นวาระแรก และภวังค์ก็คั่นอีก เพราะสำหรับในภพภูมิที่ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ กุศลจิต และอกุศลจิตจะเกิดดับสืบต่ออย่างมาก ๗ ขณะ แต่น้อยกว่า ๗ ขณะก็มี ขณะที่ใกล้จะจุติ ไม่มีกำลังพอที่จะถึง ๗ ขณะ

    นี่คือธรรม และใครเป็นเจ้าของจิตสัก ๑ ขณะบ้าง ขณะนี้ก็เป็นไปตามปัจจัยต่างๆ ถ้าไม่รู้ ก็หลงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นโลกที่ยั่งยืน แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏกับปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ จะรู้เลยว่า ไม่มีโลก ไม่มีอะไร มีแต่ธาตุรู้ซึ่งกำลังมีสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น สิ่งที่เคยเป็นเรา เป็นอะไร หมดเลย นี่คือวิปัสสนาญาณแรก ซึ่งยังไม่ใช่ขันติญาณ ยังต้องไปอีกไกลมาก

    ผู้ฟัง วิตกเจตสิกที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต กับทางมโนทวารต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เจตสิกทั้งหมดมีเท่าไร

    ผู้ฟัง ๕๒ ดวง

    ท่านอาจารย์ ๕๒ ประเภท เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เกิดทางตาได้ไหม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ได้ไหม

    ผู้ฟัง เกิดได้ทุกทาง

    ท่านอาจารย์ ก็ยังเป็นวิตก เป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ ลักษณะของวิตกเจตสิกที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิตจะต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต้องไม่ต่าง

    ท่านอาจารย์ เป็นวิตก แต่เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี แต่ก็ยังเป็นวิตกเจตสิกนั่นเอง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า วิตกเจตสิกที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนจิตไม่ได้คิด

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ สัมปฏิจฉันนจิตมีอะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง มีรูปารมณ์ ถ้าทางตา

    ท่านอาจารย์ กำลังมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์ จะคิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าทางมโนทวารก็มีรูปารมณ์ที่ดับไปแล้วเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ที่ดับไปแล้ว นึกถึง ไม่ใช่มีรูปารมณ์กระทบจักขุปสาท เพราะฉะนั้นจึงเป็นจิตที่ต่างกัน ถ้าไม่มีอารมณ์กระทบเลย มโนทวารนึกถึงได้ไหม

    ผู้ฟัง นึกได้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีวิตกเจตสิก

    ผู้ฟัง แต่ว่าสภาพของวิตกเจตสิกไม่เปลี่ยน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีความหมายตามสภาพของวิตก ซึ่งเกิดกับจิตประเภทต่างๆ เช่น วิตกเจตสิกที่เกิดกับสัมมาทิฏฐิที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ คิดเรื่องราวอะไร หรือเปล่าคะ หรือกำลังมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เพราะสติเกิด สติเป็นสภาพที่ระลึก ขณะที่ฟังเรื่องราวต่างๆ สัญญาจำ นั่นเป็นหน้าที่ของสัญญา แต่เวลาคิด แล้วแต่ว่าวิตกเจตสิกจะเกิดคิดถึงอะไร แล้ววิตกขณะนั้นเกิดกับโสภณเจตสิก เจตสิกที่ดีงาม หรืออกุศลเจตสิก

    คิดเรื่องไม่ดีได้ไหม ได้ แต่ตัววิตกก็เป็นสภาพที่ตรึก แต่ที่ไม่ดีก็คืออกุศลเจตสิกที่เกิดร่วมกัน คิดด้วยโลภะ คิดด้วยโทสะ วิตกไม่ใช่โลภะ วิตกไม่ใช่โทสะ วิตกตรึก แล้วก็มีโลภะเกิดขณะที่ตรึกนั้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นการคิดด้วยโลภะ โลภเจตสิกเกิดกับจิต แล้วก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย สัญญาก็เป็นอกุศลด้วย ประเภทเดียวกัน ถ้าอกุศลจิตเกิด จะให้วิตกเป็นกุศลไม่ได้ จะให้สัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นกุศลไม่ได้ ทั้งหมดเป็นอกุศล ถ้าเกิดกับโสภณธรรม เจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับจิต และจิตก็เป็นโสภณ เป็นฝ่ายดีงาม

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว วิตกเจตสิกที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนจิต กับเกิดกับมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งรู้อารามณ์คือรูปารมณ์ที่ดับไปแล้ว ต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ ความต่างอยู่ที่ไหน สัมปฏิจฉันนจิตรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับแน่นอน รูปมีอายุ ๑๗ ขณะจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่นึกถึงรูปจะเป็นสัมปฏิจฉันนะได้ไหม ไม่ได้ แต่สัมปฏิจฉันะจะรู้เฉพาะอารมณ์ที่ยังไม่ดับ เพราะเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ซึ่งขณะนั้นอารมณ์ยังไม่ดับ

    เห็น ที่บอกว่าเป็นใหญ่ เป็นประธาน รู้แจ้งอารมณ์ กับขณะที่นึกถึง เหมือนกันไหม อย่างฝัน ไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีรูปจริงๆ มาปรากฏกระทบจักขุปสาท แต่ก็เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เพราะคิดถึง มีทั้งสัญญา มีทั้งวิตกเจตสิก ทำให้จำได้ถึงสิ่งที่เคยปรากฏ แล้วก็นึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ต่างกับขณะที่ไม่ได้คิด แต่มีการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ที่ยังไม่ดับ

    ที่เห็นในฝัน เหมือนขณะนี้ไหม (ไม่เหมือน)

    ผู้ฟัง ปัญจทวารวิถีจะต้องเดินไปจนสุด ๑๗ ขณะ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องเกิดดับสืบต่อกันจนกว่าอารมณ์จะดับ

    ผู้ฟัง สมมติว่าทางจักขุทวารวิถีกำลังเดินไป แต่ไปยังไม่ถึงสุดวิถี สมมติว่าไปถึงโวฏฐัพพนะ หรือถึงแค่ชวนะ แล้วเกิดผัสสะใหม่ เช่น ทางโสตทวาร มีเสียงกระทบคั่นเข้ามาตัดวิถีทางจักขุทวาร อย่างนี้เป็นไปได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วคำว่า “อารัมมณะ” อีกความหมายหนึ่ง ก็หมายถึงสภาพที่เหนี่ยวรั้งให้จิตเกิดขึ้น ถ้าไม่มีอารมณ์ อะไรจะมาทำให้จิตเกิดขึ้นมาได้ ใช่ไหม แต่นี่ก็เป็นเรื่องของภาษา แต่ความหมายก็คือว่า จิตเกิดแล้วจะขาดการรู้ หรืออารมณ์ที่ปรากฏที่จิตกำลังรู้ไม่ได้เลย จิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้นเมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับ จะกล่าวว่า สิ้นสุด หรือไม่สิ้นสุดวิถีจิตทางปัญจทวาร ก็ต้องแสดงว่า ถ้าอารมณ์ดับก่อน จิตจะมีโอกาสรู้อารมณ์ที่ดับไปแล้วทางปัญจทวาร ทางหนึ่งทางใดได้ไหม แต่เมื่ออารมณ์ยังไม่ดับไปนั่นเอง หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดดับไปแล้ว จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณต้องเกิดต่อ เพราะอารมณ์ยังไม่ดับ จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณที่ดับไปแล้ว แต่อารมณ์ยังอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดรู้อารมณ์นั้นต่อ จะไปรู้อารมณ์อื่นได้อย่างไร เพราะอารมณ์นั้นกำลังกระทบกับทวารนั้น เป็นปัจจัยให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น ต่อเมื่อใดที่อารมณ์นั้นดับแล้ว จะไปให้จิตนั้นเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวารนั้นไม่ได้อีกเลย เพราะว่าไม่มีอารมณ์มากระทบ อารมณ์ที่กระทบนั้นก็ดับแล้ว แล้วจักขุปสาท โสตปสาทใดๆ ที่เป็นทวารก็ดับไปแล้วด้วย ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นไปรู้อารมณ์นั้นได้ เพราะว่าถ้าอารมณ์ยังไม่ดับ อารมณ์ยังปรากฏ แล้วจักขุวิญญาณดับไปแล้ว อารมณ์ที่ปรากฏเพราะกระทบกับทวารนั้นยังมีอยู่ จะให้จิตไปรู้อารมณ์อื่นก็ไม่ได้ ที่จะรู้อารมณ์อื่นได้ก็ต่อเมื่ออารมณ์นั้นดับไปแล้ว แล้วภวังคจิตเกิดสืบต่อ เมื่ออารมณ์ดับไป จะไม่ให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อไม่ได้เลย ถ้าภวังคจิตไม่เกิด อะไรเกิด จุติจิตเกิด แต่ที่ยังไม่ตาย ก็เพราะเหตุว่าเวลาที่แม้อารมณ์ดับไปแล้ว ภวังคจิตก็ยังเกิดต่อเพราะกรรมทำให้สืบต่อความเป็นบุคคลนี้อยู่ ยังไม่ให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้

    ผู้ฟัง สมมติเหตุการณ์ว่า ในขณะที่เราเห็นเหตุการณ์หนึ่ง แล้วจักขุทวารวิถีเดินอยู่ อารมณ์ คือ รูปารมณ์ยังไม่หมดไป เกิดฟ้าผ่าเปรี้ยงขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ อารมณ์มีอายุที่สั้นแสนสั้นแค่ไหน ๑๗ ขณะ ขณะนี้เหมือนเห็นกับได้ยินพร้อมกัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    25 ต.ค. 2567