พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 432


    ตอนที่ ๔๓๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง ในขณะที่เราเห็นเหตุการณ์หนึ่ง แล้วจักขุทวารวิถีเดินอยู่ อารมณ์ คือ รูปารมณ์ยังไม่หมดไป เกิดฟ้าผ่าเปรี้ยงขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ อารมณ์มีอายุที่สั้นแสนสั้นแค่ไหน ๑๗ ขณะ ขณะนี้เหมือนเห็นกับได้ยินพร้อมกัน มีภวังค์คั่นจนไม่สามารถจะบอกได้เลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นจักขุทวารวิถี หรือเป็นมโนทวารวิถี ความรวดเร็ว รูปดับแล้วก็จริง ภวังค์คั่นแล้วก็จริง มโนทวารวิถีจิตเกิดรับรู้อารมณ์เดียวกันนั้นเลยต่อ มิฉะนั้นจะไม่รู้ว่าเห็นอะไร ใช่ไหม แต่ที่ปรากฏว่ารู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าการเกิดดับสืบต่อแต่ละทางมากมาย รวดเร็ว จะไม่รู้เลยว่า ที่ใช้คำว่า จักขุวิญญาณ จิตเห็นขณะนี้ ดับ หรือไม่ ดับไปเท่าไร แต่ก็มีจักขุวิญญาณที่เกิดสลับกับมโนทวารที่สืบต่อทางจักขุทวารวิถี ปรากฏให้เห็นเหมือนไม่ดับ นี่คือการที่ลวงเหมือนนายมายากล ที่ทำให้สัตว์โลกไม่สามารถรู้ความจริงได้ว่า ความจริงแล้วสภาพธรรมเป็นปริตตธรรม เกิดดับเร็วมาก สั้นมาก สุดที่จะประมาณได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเหมือนเห็น เป็นแต่เพียงเงา หรือนิมิต หรือบัญญัติของธรรมซึ่งเกิดดับ

    เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริงอันนี้ว่า อยู่ในโลกของนิมิต คือ ตัวจริงของธรรมเกิดดับนับไม่ถ้วนจริงๆ แต่เหมือนมีคิ้ว มีตา มีขาโต๊ะ มีเก้าอี้ มีต้นไม้ มีดอกไม้ ทั้งหมดจะอยู่ในโลกของความคิดของนิมิตแค่ไหน โดยไม่รู้ความจริงเลย แล้วระหว่างนั้นอวิชชาทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นเมื่อกี้นี้ธรรมที่เกิดแล้วดับแล้ว ประมาณไม่ได้พร้อมกับอวิชชา เพราะฉะนั้นกว่าจะเป็นวิชชา ก็ต้องเป็นผู้เข้าใจจริงๆ ว่า เฉพาะสิ่งที่มี ได้ฟัง และเริ่มเข้าใจ แล้วก็เริ่มรู้ลักษณะนั้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะคลาย และละความไม่รู้ด้วยปัญญาที่รู้ แต่ไม่ใช่ไปทำละ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเวลาที่ถามถึงเหตุการณ์ เป็นความไม่รู้ ดับไปนับไม่ถ้วน แล้วก็มานึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ

    ผู้ฟัง เนื่องจากในปัญจทวารวิถียังมีวาระที่อาจจะไม่เท่ากัน

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ต้องมีคำอธิบาย

    ผู้ฟัง เช่น เรามีโวฏฐัพพนวาระ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรจึงเป็นโวฏฐัพพนวาระ

    ผู้ฟัง เพราะอารมณ์ที่จิตรู้มีกำลังไม่มากพอที่จะเดินต่อไปให้ครบ

    ท่านอาจารย์ กำลังนั้นมาจากไหนที่ว่าไม่มากพอ

    ผู้ฟัง อย่างเรายกตัวอย่างว่าเป็นมหันตารมณ์

    ท่านอาจารย์ อันนั้นชื่อ แต่ที่กล่าวว่า วาระเป็นโวฏฐัพพนวาระบ้าง ชวนวาระบ้าง หรือตทาลัมพนวาระบ้าง เพราะเหตุว่ารูปดับที่ไหน จิตที่จะเกิดต่อเกิดไม่ได้ เช่น เวลาที่อารมณ์กระทบกับภวังค์ ปัญจทวาราวัชชนะไม่เกิด กระทบหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งอายุของอารมณ์เหลือเล็กน้อย เพราะว่าจะเกิน ๑๗ ขณะไม่ได้ เมื่อกระทบแล้ว จิตก็เป็นภวังค์ ต่อเมื่อใดที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ๑ ขณะ หลายขณะไม่ได้เลยค่ะ เพียงแค่ ๑ ขณะดับไป จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ๑ ขณะ ดับไป สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้น ๑ ขณะ ดับไป สันตีรณะเกิดขึ้น ๑ ขณะ ดับไป โวฏฐัพพนะเกิดขึ้น ๑ ขณะดับไป อารมณ์ดับแล้ว เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่ว่า อารมณ์ดับเมื่อไร ถ้าอารมณ์ดับไปแล้ว จิตใดๆ ก็จะอาศัยทวารนั้นเกิดไปรู้อารมณ์ที่ดับไม่ได้ เพราะว่าอารมณ์ดับแล้ว ก็ต้องเป็นภวังค์

    ผู้ฟัง ตรงที่อารมณ์จะดับตรงโวฏฐัพพนจิตนั้น อาจจะเกิดจากอารมณ์ใหม่ อารมณ์อื่นแทรกเข้ามา

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวกันเลย เป็นเรื่องของอารมณ์ที่กระทบ เมื่อดับแล้วก็ทำให้เพียงแค่โวฏฐัพพนจิตเกิดได้ หรือเพียงแค่ชวนจิตเกิดได้ หรือตทาลัมพนจิตสามารถเกิดได้ ก็เป็นไปตามวาระนั้นๆ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าสะสมปัญญามา ตรงนี้จิตก็จะเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการสะสมปัญญามา แล้วจะไปเอาปัญญาที่ไหนมาเป็นปัจจัยให้เกิด ไม่เคยฟังธรรมเลย แล้วจะไปเข้าใจจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ อะไรได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ คือสงสัยตรงที่เป็นกุศล หรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะการสะสม เพราะฉะนั้นโวฏฐัพพนะเกิดเพื่อเป็นบาทเฉพาะสำหรับชวนะที่จะเกิดต่อเป็นกุศล หรืออกุศล ตามการสะสม

    ผู้ฟัง เพิ่งมาครั้งแรก ขอเรียนถามว่า การเจริญวิปัสสนาญาณที่ ๑ ต้องนำวิถีจิตเมื่อสักครู่นี้มาพิจารณา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณที่ ๑ คืออะไร

    ผู้ฟัง นามรูปปริจเฉทญาณ

    ท่านอาจารย์ คือการที่จะเข้าใจธรรมได้ต้องเป็นผู้ละเอียด ที่จะต้องเข้าใจคำที่ใช้ ว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ (นามรูปปริจเฉทญาณ) เป็นปัญญา หรือไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ คำว่า “ญาณ” จะไม่ใช่ปัญญาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ก็ต้องเป็นปัญญาระดับที่ประจักษ์ลักษณะของธาตุที่เป็นนามธาตุ และรูปธาตุ ไม่มีเราเลย

    ผู้ฟัง ขณะนี้ได้ยินเสียง เสียงเป็นรูป ได้ยินเสียงเป็นนาม เราจะรู้แค่ปริยัติพอ หรือจะต้องทำอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ รูปกับนามต่างกันอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง รูปเป็นสภาพที่เสื่อมสลายได้ นามคือสิ่งที่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณ

    ผู้ฟัง อยากจะทราบถึงนามรู้รูปค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะถ้าไม่เข้าใจคำว่า “นาม” จะเข้าใจนามรูปปริจเฉทญาณได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการเข้าใจต้องตามลำดับ ก่อนอื่นขอถามว่า ธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง ธรรมแปลว่าธรรมชาติ ทุกๆ อย่างก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง จะได้ชัดเจน

    ผู้ฟัง ตอบไม่ได้ ขอความกรุณาอาจารย์อธิบายดีกว่า

    ท่านอาจารย์ เชิญคุณวิชัย

    อ.วิชัย การศึกษาก็ต้องมีการเริ่มต้น เพราะเหตุว่าเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เห็นเป็นนามธรรมไหม

    ผู้ฟัง เห็นเป็นนามธรรม

    อ.วิชัย เพราะอะไรจึงเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง เพราะเป็นสภาพรู้

    อ.วิชัย ถ้ารู้สึกแข็ง

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    อ.วิชัย แต่ลักษณะที่แข็ง

    ผู้ฟัง ลักษณะที่แข็งโดยมือกระทบเป็นรูปธรรม

    อ.วิชัย เป็นรูปซึ่งปรากฏได้ทางกาย สีสันวัณณะต่างๆ เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง รูปธรรม

    อ.วิชัย เป็นรูป เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นความรู้ความเข้าใจเริ่มค่อยๆ เจริญขึ้น ขณะนี้มีธรรมที่มีลักษณะจริงๆ แม้จะไม่บัญญัติชื่อก็ตาม แต่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นมีจริงๆ เพราะฉะนั้นการศึกษาก็คือสามารถเข้าใจได้ เริ่มมีความเข้าใจถูกว่า แม้ขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดขึ้น มีอยู่ แล้วเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ปัญญาที่กล่าวถึงที่เป็นวิปัสสนาญาณ แต่ถ้ากล่าวถึงปัญญาคือความเข้าใจถูกในขั้นเริ่มต้น เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    อ.วิชัย ลักษณะของปัญญาคืออย่างไร

    ผู้ฟัง ลักษณะของปัญญาคือการรู้แจ้งใช่ไหม

    อ.วิชัย เป็นความเข้าใจถูก รู้แจ้งก็คือระดับของปัญญาที่เจริญขึ้นถึงขั้นความสมบูรณ์ ถึงการประจักษ์แจ้ง ถ้าไม่มีการเริ่มเข้าใจถูก จะถึงการประจักษ์แจ้งได้ไหม ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณได้ไหม (ไม่ได้) ฉะนั้นหนทางเริ่มต้นอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์แจ้งคืออย่างไร

    ผู้ฟัง ต้องรู้นาม รู้รูปก่อน

    อ.วิชัย เริ่มเข้าใจถูกต้องในขณะนี้ ปัญญาเป็นอัตตา หรืออนัตตา

    ผู้ฟัง ปัญญาเป็นอนัตตา

    อ.วิชัย เป็นอนัตตา หมายความว่าไม่สามารถบังคับบัญชาให้มีได้ หรือเกิดได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยให้ปัญญาเกิดขึ้น หรือเจริญขึ้น และเหตุให้เกิดปัญญาคืออะไร

    ผู้ฟัง เท่าที่ทราบมา เกิดจากการฟัง สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา เกิดจากการคิด และภาวนามยปัญญา

    อ.วิชัย ขณะที่สนทนา เป็นเหตุให้เกิดปัญญาไหม

    ผู้ฟัง เป็น

    อ.วิชัย เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่ฟัง ไตร่ตรอง พิจารณา เข้าใจถูกว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ และหนทางก็คือขณะที่ฟังเรื่องของสภาพธรรม ขณะนั้นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาสามารถเกิดขึ้นเข้าใจถูกต้อง โดยรู้ว่า ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจถูกต้อง และปัญญานั้นก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ขณะใดก็ตามที่พยายามด้วยความไม่รู้ ขณะนั้นจะเป็นปัญญาได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นลักษณะของปัญญาต้องมีความเข้าใจถูก คือ เป็นลักษณะที่มีความเข้าใจถูกต้อง ขณะใดที่ไม่มีความเข้าใจเลย ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา แต่ขณะก็ตามที่ฟังแล้ว พิจารณาไตร่ตรองในลักษณะของสภาพธรรม เริ่มเข้าใจเพิ่มขึ้น ขณะที่เริ่มเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นปัญญา แต่เป็นการค่อยๆ สะสมปัญญาขึ้น

    ผู้ฟัง ขอกราบเรียนถามต่อ อย่างมนุษย์เกิดมาก็เรียกว่าธรรมชาติ ถูกต้องไหม

    อ.อรรณพ พูดถึงธรรมมี ๒ ความหมาย หมายถึงพระธรรม คำสอน นั่นเป็นเรื่องราวที่สอนให้เข้าใจธรรมในความหมายที่ ๒ ซึ่งเป็นความหมายจริงๆ ของธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีลักษณะ มีสภาพจริงๆ

    ผู้ฟัง มีสภาพจริงๆ แล้วยังไม่ใส่ชื่ออะไรลงไป

    อ.อรรณพ ไม่ต้องใส่ชื่อลงไป อย่างที่สมมติกันว่า เป็นคนไทย จีน ฝรั่ง หรือเป็นสุนัข เป็นแมว มีเห็นไหม เห็นไม่ต้องไปจำแนกเลยว่า เป็นคนเห็น สัตว์เห็น สภาพเห็นมี เป็นธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ความโกรธมีจริงไหม โทสะ

    ผู้ฟัง มีจริง

    อ.อรรณพ ที่เราสมมติกันว่า เป็นคนไทย เป็นฝรั่ง เป็นแมว เป็นสุนัข แต่สภาพลักษณะของโทสะนั้นมีจริงๆ ก็เป็นธรรม ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    อ.อรรณพ เสียงมีจริงไหม

    ผู้ฟัง เสียงมีจริง

    อ.อรรณพ เมื่อมีการกระทบกันของของแข็ง ก็จะมีเสียงดังขึ้น ใครจะรู้ หรือไม่รู้ แต่เสียงมีไหมครับ เสียงก็มี เสียงก็เป็นธรรม กลิ่น รส สภาพแข็ง ก็มีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นธรรมก็คือสิ่งที่มีจริง เมื่อมีสภาพธรรมที่มีจริงแล้ว แต่ความต่างกันของสิ่งที่มีจริงโดยไม่ใส่ชื่อ ก็ยังต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ เป็นรูปธรรมกับนามธรรม รูปธรรมก็คือธรรมที่เป็นรูป คือ ธรรมที่มีจริงๆ แต่ไม่ใช่สิ่งที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะว่าถ้าเราจำว่า รูป ก็คือสิ่งที่แตกสลาย อันนี้โดยศัพท์ รู – ปะ แปลว่า สภาพที่แตกสลายไป แต่ปัญญายังไม่รู้เกินเลยไปถึงสภาพที่แตกสลายของรูป เพราะว่ายังไม่รู้ว่า รูปเป็นรูป แต่รู้รูป โดยลักษณะที่จำว่าเป็นคำ หรือเป็นเรื่อง

    ตรงนี้เป็นความเข้าใจเบื้องต้นที่สำคัญมากว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ต้องไปใส่ชื่อ ก็มีลักษณะ มีสภาพ ใครจะเปลี่ยนลักษณะสภาพธรรมนั้นก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนลักษณะของโทสะกับเมตตานี่ต่างกันไหมครับ

    ผู้ฟัง ตรงข้ามกัน

    อ.อรรณพ จะเปลี่ยนก็ไม่ได้ คนที่มีโทสะ แล้วจะไปบอกว่าเป็นเมตตา ชื่อเอาไปใส่ได้ ถ้าคนที่มีโทสะเกิด เขาอาจจะชื่อ คุณเมตตาก็ได้ แต่เขาเป็นโทสะ เพราะฉะนั้นชื่อจะไปเปลี่ยนลักษณะของโทสะก็ไม่ได้ ถูกไหมครับ ถูก

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นธรรม เปลี่ยนแปลงลักษณะ เปลี่ยนแปลงสภาพไม่ได้ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป แล้วสภาพธรรมก็เกิดขึ้นอีกตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้นธรรมคือสิ่งที่มีจริง ธรรมมี ๒ ธรรมที่เป็นรูป ยกตัวอย่างได้ไหม ซึ่งท่านคงยกตัวอย่างได้ เพราะเคยได้ยินมาแล้ว แต่ความเข้าใจต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงจำคำ จำเรื่องมา ซึ่งพอจะคุ้นเคยบ้าง แต่ยังไม่คุ้นเคยกับลักษณะ สภาพของธรรมนั้นจริงๆ เพียงคุ้นกับคำ และเรื่องราว อย่างสภาพแข็งที่ปรากฏ มีจริงๆ ใช่ไหม มีจริง ร้อนมีจริง เป็นธรรม แล้วก็ทราบโดยเรื่องราวด้วยว่า เป็นรูปธรรม เพราะไม่รู้อะไร แต่เพราะมีสภาพจริงๆ จึงเป็นธรรม มิฉะนั้นเหมือนเราเข้าใจคำว่า “รูป” เข้าใจคำว่า “นาม” แต่ย้อนมาถามคำว่า “ธรรม” เรารู้สึกงง กลายเป็นธรรมชาติ ก็กว้างเกินไป แต่รูปที่มีจริงๆ นามธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การคิดนึกต่างๆ ความรู้สึกสุข ทุกข์ต่างๆ เป็นสภาพที่มีจริง เป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะเป็นความเข้าใจที่น้อมไปจะเข้าใจลักษณะของความเป็นจริง หรือสิ่งที่มีจริง คือน้อมไปในลักษณะของธรรมที่เป็นรูปบ้าง นามบ้าง โดยขั้นการฟังที่เป็นสุตมยปัญญา เริ่มต้น แล้วจะมีปัจจัยให้มีการคิดนึก คือมีจินตามยปัญญา จากสุตมยปัญญาที่ฟัง ที่เข้าใจปัญญานั้นก็สะสมขึ้นจนเมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม ปัญญาขั้นภาวนามยปัญญา คือ ขั้นที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้จะเกิดขึ้นได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไกลหน่อย ก่อนจะถึงวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ยิ่งสูง เพราะฉะนั้นจากบันไดขั้นต้นต้องมั่นคงก่อน มิฉะนั้นถ้าข้ามขั้น ความเข้าใจจะเป็นไปไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ หนูไม่เข้าใจสภาพของเจตสิกค่ะ ที่ว่าเอกัคคตาเจตสิกกับมนสิการเจตสิก มีลักษณะต่างกันอย่างไร ตั้งมั่นกับใส่ใจในอารมณ์

    ท่านอาจารย์ เจตสิก ๕๒ ประเภท ละเอียดมาก ใกล้เคียงมากด้วย ถ้าไม่ปรากฏให้รู้ เราก็เพียงแต่ฟังคำแปล แล้วพยายามที่จะเห็นความต่างกัน จิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดด้วย ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น อารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว จิตเกิดขึ้นเห็น ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจอะไรเลย แต่มีเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน แล้วทำกิจของตนๆ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดกับอกุศลจิต จะตั้งมั่นไม่มั่นคงเท่ากับเกิดกับกุศลจิตไหม

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ประเภทว่า ขณะนั้นเอกัคคตาเจตสิกเกิดก็ต้องทำกิจของเอกัคคตาเจตสิกนั้นเอง หน้าที่เดียวคือตั้งมั่นในอารมณ์

    ผู้ฟัง แต่ที่กล่าวว่า เกิดกับอกุศลจิตตั้งมั่นไม่เท่า กำลังไม่เท่า ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่า อกุศลเราเกิดมากกว่ากุศล แต่บอกว่า เอกัคคตาเจตสิกมีกำลังกับอกุศลไม่เท่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นแสดงว่า เราเข้าใจเอกัคคตาเจตสิก หรือไม่ หรือจำเฉยๆ ถูกต้องไหมคะ แม้ขณะที่กำลังเห็นก็มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน แต่เวลาที่กำลังมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดอารมณ์เดียวปรากฏซ้ำกันนานๆ ทำให้ขณะนั้นเหมือนไม่มีอย่างอื่นปรากฏ เป็นไปได้ไหม ขณะนั้นก็เป็นเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดดับกับจิตทุกๆ ขณะ แต่มีอารมณ์นั่นแหละอารมณ์เดียว ไม่เป็นอารมณ์อื่น จะเป็นอารมณ์อื่นไม่ได้ เพราะว่าจิตรู้อารมณ์ใด เอกัคคตาเจตสิกก็เกิดกับจิตนั้น รู้อารมณ์นั้น แต่เพราะจิตรู้อารมณ์นั้นบ่อยๆ มากๆ ก็ปรากฏว่า อารมณ์อื่นไม่ได้ปรากฏ ก็พอที่จะเข้าใจความหมายของการตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ทั้งๆ ที่แท้ที่จริงแล้วเจตสิกนี้ตั้งมั่นที่อารมณ์เดียวทุกขณะจิต

    พอเข้าใจได้ใช่ไหม มีอารมณ์อย่างนี้บ้างไหม กำลังตั้งมั่นในอารมณ์นั้นนานๆ จนกระทั่งอารมณ์อื่นไม่ปรากฏ ไม่ได้ยินคำที่คนอื่นพูด เพราะว่ากำลังมีอารมณ์หนึ่งที่ซ้ำๆ กัน แต่เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ

    ผู้ฟัง แล้วมนสิการ

    ท่านอาจารย์ มนสิการ ทันทีที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ มีสภาพธรรมซึ่งใส่ใจในอารมณ์นั้นแล้ว แต่ไม่ได้ปรากฏถึงความใส่ใจ หรือความสนใจ แต่เป็นลักษณะสภาพของเจตสิกซึ่งทำกิจนั้น กำลังฟังอย่างนี้ใส่ใจในเสียง ใส่ใจในความหมาย หรือไม่ ถ้าขณะที่ไม่ใส่ใจในเสียง ในความหมาย แต่ก็ใส่ใจในสิ่งอื่น ก็ยังคงเป็นลักษณะของมนสิการเจตสิกที่เกิดกับจิตซึ่งใส่ใจในอารมณ์อื่น แต่ถ้าขณะที่กำลังมีเสียง ได้ยิน แล้วก็มีความหมาย แล้วก็ใส่ใจที่จะเข้าใจความหมายของเสียงนั้น ต่างกันแล้วใช่ไหม แต่ก็เป็นมนสิการเจตสิกนั่นเอง เป็นสภาพที่ใส่ใจ แต่ใส่ใจกับเจตสิกอื่นๆ ด้วย เวลาที่ไม่ใส่ใจในเรื่องราวของธรรม ไปใส่ใจในอย่างอื่น ก็คือเกิดพร้อมกับเจตสิกอื่นๆ ที่กำลังใส่ใจในสิ่งที่จิตกำลังรู้

    ผู้ฟัง และมนสิการ บรรยายต่อว่า เป็นปัจจัยให้เจตสิกอื่นๆ มีการตรึก และปรุงแต่งไม่รู้จบ ไม่เข้าใจว่า มนสิการเจตสิกเป็นปัจจัยอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความจริงถ้าจะพูดถึงเจตสิกแต่ละเจตสิก ในเมื่อเจตสิกนั้นๆ ไม่ปรากฏ ก็ยากที่จะเข้าใจ และเห็นความต่างกัน เพราะแม้แต่จิตซึ่งเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน กำลังเห็น กำลังได้ยิน ก็ยังไม่ได้รู้ความจริงของจิตในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึงเจตสิก เช่น มนสิการเจตสิกกับฉันทเจตสิก ดูคล้ายๆ และใกล้กัน บางทีคำแปลจากภาษาบาลีสู่ภาษาอื่นๆ ก็จะใช้คำที่ใกล้เคียงกับความหมาย หรืออรรถของสภาพธรรมนั้นมากน้อยแค่ไหน เช่น ฉันทะ ยังไม่ขอกล่าวถึงมนสิการ เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจฉันทะ ก็จะเห็นความใกล้เคียงของฉันทะ และมนสิการซึ่งก็เกิดพร้อมกันในจิตที่ไม่ใช่อเหตุกจิต ต้องมีฉันทเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับมนสิการเกิดกับจิตทุกประเภท นี่ก็เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้นความต่างกัน คุณกนกวรรณชอบอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็หลายอย่าง

    ท่านอาจารย์ ชอบให้ทาน หรือชอบช่วยเหลือคนอื่น

    ผู้ฟัง ชอบช่วยเหลือคนอื่น

    ท่านอาจารย์ มีฉันทะในการช่วย แล้วก็พอใจที่จะกระทำการช่วยเหลือ เวลาที่มีฉันทะในการช่วยเหลือคนอื่น มนสิการสนใจ ใส่ใจในเรื่องที่จะช่วย หรือไม่

    ผู้ฟัง สนใจ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นหน้าที่ที่ต่างกันแล้ว พอใจเฉยๆ กับลักษณะที่มนสิการ หรือความใส่ใจปรากฏให้รู้ได้ ก็จะเห็นความละเอียดของการช่วยเหลือ การช่วยเหลือก็หลากหลายตามประเภทของมนสิการว่า มีความใส่ใจที่จะช่วยระดับไหน บางคนก็ให้เงิน แล้วแต่ว่าเขาจะไปใช้อะไรในการซื้อเสื้อผ้า อาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือไปใช้เป็นค่าเล่าเรียน อะไรก็แล้วแต่ นั่นคือฉันทะในการให้ แต่บางคนมนสิการปรากฏด้วย เด็กแค่นี้จะใช้เสื้อขนาดไหน ใช้แล้วจะใช้ได้ถึงปีไหม หรือขยายให้ขนาดใหญ่ขึ้นอีกนิดหนึ่ง ก็จะใช้ได้ถึง ๒ ปี

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมละเอียดจริงๆ มีฉันทะ แล้วก็มีมนสิการเกิดร่วมกันด้วย แต่มนสิการจะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถจะปรากฏได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    25 ต.ค. 2567