พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 433


    ตอนที่ ๔๓๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ แต่ว่าเวลาที่เกิดกับจิตทุกๆ ขณะแล้วดับไปพร้อมทุกขณะ ใครจะรู้ได้ นอกจากพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า มีสภาพธรรมนั้น และเมื่อสภาพธรรมนั้นมีลักษณะที่มากพอที่จะปรากฏให้รู้ได้ ก็พอที่จะเข้าใจความต่างกันของสภาพธรรม ซึ่งแม้เล็กน้อยไม่ปรากฏให้รู้ได้ แต่ก็ยังมีในที่นั้น เช่น เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภทแม้ขณะที่กำลังเห็น หรือกำลังได้ยิน กำลังง่วง มีเอกัคคตาเจตสิกไหม มีจิตเมื่อไร ต้องมี แต่ว่าปรากฏสภาพธรรมอะไร หรือไม่ เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่เจตสิกเดียวที่เกิด อย่างน้อยที่สุด ๗ อย่างน้อยที่สุด ๗ แล้วจะปรากฏให้เห็นได้ไหม แม้เพียงอย่างน้อย แล้วถ้าเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นอีก เป็น ๑๐ เป็น ๑๑ หรือเป็น ๑๙ หรือเป็น ๒๐ แล้วอะไรจะปรากฏ แล้วสำหรับโสภณธรรมที่เป็นโสภณเจตสิก ๑๙ ประเภท ต้องเกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกประเภท หรือโสภณกิริยา ก็ต้องมี ขาดไปสัก ๑ ก็ไม่ได้ แต่อะไรจะปรากฏ

    นี่แสดงให้เห็นว่า ปัญญาพอที่จะรู้ลักษณะจริงๆ หรือไม่ หรือว่าตั้ง ๑๙ แล้วอะไรจะปรากฏ ถ้าสิ่งนั้นสติไม่ระลึก ไม่มีทางจะรู้ได้เลย แม้เกิดแล้วก็ดับแล้วอย่างรวดเร็วมาก ด้วยเหตุนี้สติจึงต่างกับเจตสิกอื่น เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ระลึก แล้วแต่ว่าจะเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต หรือขณะที่กำลังเข้าใจธรรม แล้วสามารถระลึกลักษณะที่เป็นจริงๆ ที่กำลังได้ยินได้ฟัง นี่ก็เพิ่มระดับต่างๆ กันของสภาพธรรมแต่ละประเภท

    ด้วยเหตุนี้ถ้าจะถามถึงลักษณะของเจตสิก ก็เพียงแต่ว่าเมื่อมีมากพอที่จะสังเกตรู้ได้ ก็พอจะรู้ได้ แต่ว่าถ้าเพียงเป็นธรรมที่เกิดกับจิตแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ก็ยากจะรู้ความต่างกันได้

    ผู้ฟัง โวฎฐัพพนจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ แต่ทำไมตทาลัมพนจิตรับรู้อารมณ์ ๒ ขณะ ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าถามคำถามนี้ ทำไมชวนะเกิด ๗ ขณะ

    ผู้ฟัง ชวนะสะสมอารมณ์

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเกิด ๕ ขณะ แล้วทำไมบางครั้งเกิดมากกว่า ๗ ขณะ นับไม่ถ้วน ก็เป็นเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด แต่ไม่ใช่คำถามว่า ทำไม เพราะไม่รู้ความจริงว่า ธรรมเป็นอย่างนี้ แล้วทำไมต้องรับรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ แล้วทำไมสันตีรณะต้องเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ

    ผู้ฟัง คือไม่ให้สงสัย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไม่ให้สงสัย สงสัยแล้วจะรู้อะไร ถ้าโดยตำราบางแห่งจะกล่าวถึง ตทาลัมพนะ ๑ ขณะ ก็สงสัยอีก ทำไมเดี๋ยว ๑ ขณะ ทำไมเดี๋ยว ๒ ขณะ แต่รู้ลักษณะของตทาลัมพนะเดี๋ยวนี้ หรือไม่ ที่จะหายสงสัยได้เพียงอ่าน เพียงฟัง หรือเพราะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ๒ ขณะนี่ จะรับรู้นานกว่า ๑ ขณะ

    ท่านอาจารย์ ชวนวาระหมายความว่า อารมณ์ดับเมื่อชวนะดับ เพราะฉะนั้นจะมีจิตที่ไปรู้อารมณ์นั้นต่ออีกไม่ได้ แต่ถ้าชวนะดับไปหมดแล้ว ๗ ขณะ อารมณ์ยังไม่ดับก็เป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ทำไม

    ผู้ฟัง มโนทวารไม่เกิดต่อจากชวนวาระ หรือ

    ท่านอาจารย์ อารมณ์ยังอยู่ หรือไม่ ถ้าอารมณ์นั้นยังอยู่ จะเป็นมโนทวารได้อย่างไร ถ้าใช้คำว่า ทวารหนึ่งทวารใด หมายความว่า จิตทั้งหมดตลอดวาระนั้นต้องอาศัยทวารนั้น ไม่ได้อาศัยทวารอื่น รูปยังไม่ดับ จะเป็นการรู้อารมณ์ทางมโนทวารไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่การรับรู้ทางมโนทวารเกิดขึ้นได้ ๒ ขณะ ๒ วาระ คือ ชวนวาระ กับ ตทาลัมพนวาระ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ต้องแยกทวารให้ถูกต้อง มโนทวารไม่ใช่ปัญจทวาร ต้องแยกให้ถูกต้อง ส่วนตทาลัมพนะจะเกิดทวารไหน กุศลจะเกิดทวารไหน ย่อมได้ ตามปัจจัย

    ผู้ฟัง เรื่องวาระต่างๆ ผมยังไม่เข้าใจ อย่างเกิดสี อย่างโมฆวาระ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เข้าใจเห็นไหม ขณะนี้วาระไหน

    ผู้ฟัง ขณะเห็นครบ ๗ วาระแล้ว

    ท่านอาจารย์ แน่ใจ หรือ

    ผู้ฟัง มโนทวารเกิดรับรู้อารมณ์นั้น เห็นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ของการฟังธรรม คือ ให้รู้ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ให้ไปรู้ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ตทาลัมพนะ ๑ วาระ หรือ ๒ วาระ สัมปฏิจฉันนะ ๑ หรือ ๒ วาระ ชวนะ อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ฟัง เพราะว่าตลอดชีวิตเป็นเรา และอะไรล่ะที่จะทำให้ค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ไม่เหลือเลย เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นจึงมีปัญญาที่ต่างขั้น ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยละเอียด แล้วใครจะรู้อย่างพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ฟังแล้วสามารถเห็นความเป็นอนัตตา ค่อยๆ เข้าใจความเป็นอนัตตา ตลอดชีวิตนี้ไม่ต้องหวังอะไรเลย เพราะว่าหวังคือโลภะ ไม่มีทางรู้ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมได้ แล้วไม่ใช่ขั้นเพียงให้ฟังแล้วก็ลืม พอถึงชาติต่อไป ก็ต้องมานั่งว่า ธรรมคืออะไรอีก ปัญจทวารวัชชนะ

    ตทาลัมพนะ ๒ ขณะ ก็ไปคิดเรื่องอื่น แต่สามารถที่จะเริ่มค่อยๆ สะสมความเห็นถูกว่า เป็นอนัตตา เป็นธรรมจริงๆ จนกระทั่งเป็นสัจญาณ มิฉะนั้นแล้วเคยคิดอย่างนี้ชาตินี้ ชาติหน้าก็คิดเรื่องตทาลัมพนะอีกแน่ๆ ไม่ทราบชาติก่อนเคยคิดมา หรือไม่ แต่ทรงแสดงไว้ว่า สิ่งใดๆ ที่ทำในชาตินี้ ก็เพราะเคยกระทำมาแล้ว

    ผู้ฟัง ก็เป็นอนัตตา ที่เรารับรู้ก็รับรู้ไว้อย่างนั้น หรือว่า

    ท่านอาจารย์ เรา หรือ หรือว่าไม่มีเรา

    ผู้ฟัง ก็ยังตัดเราออกไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ฟังเพื่อรู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ธรรมเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ฟังแล้วเรารู้

    ผู้ฟัง พอเราเข้าใจแล้ว เราจะอาจจะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราเข้าใจ ที่เข้าใจก็เป็นธรรม จนกว่าจริงๆ คือประจักษ์แจ้ง ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจครับ แต่ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้ง เรายังต้องรู้อย่างนี้อยู่ รู้ตทาลัมพนะ รู้ชวนะพวกนี้

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้นเป็นปัญญา เพื่อจะรู้ว่า ไม่ใช่เราที่เข้าใจ

    อ.กุลวิไล ในปรมัตถธรรมสังเขป ท่านอาจารย์จะให้ความหมายของคำว่า “อภิธรรม” คำว่า “อภิ” แปลว่า ยิ่งใหญ่ อภิธรรม เป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด ขอกราบเรียนท่านอาจารย์ ขอความเข้าใจเพิ่มเติมสำหรับคำว่า “อภิธรรม”

    ท่านอาจารย์ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ขณะนี้เป็นธรรม แต่รู้ว่าเป็นธรรม หรือไม่ หรือว่ารู้เพียงชื่อ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม จะฟังเมื่อไร ก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ฟังเรื่องอื่น แล้วก็เข้าใจเรื่องอื่น ซึ่งขณะนี้ไม่มี และไม่ปรากฏ แต่เมื่อสิ่งนี้มี และไม่เคยรู้ความจริงของสิ่งนั้น อาศัยการฟัง เริ่มเข้าใจความจริงของสภาพธรรมขึ้น ก็จะรู้ และเข้าใจความหมายของคำว่า “อภิธรรม” เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถบันดาล หรือทำให้เกิดขึ้นได้เลย แต่ว่าเกิดแล้ว มีใครทำ หรือไม่ และข้อสำคัญส่วนใหญ่ บางทีสภาพธรรมที่เกิด ไม่ชอบสิ่งนั้นเลย มีใครชอบทุกๆ สภาพธรรมที่เกิดบ้างไหม แต่ความจริงก็คือว่า ลักษณะที่เกิดไม่ว่าจะเป็นลักษณะอย่างไรก็ตาม ไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้ไหม เห็นไหม การฟังธรรมก็เพื่อให้เข้าใจว่า ที่เคยเป็นเรา เป็นเขา หรือว่าเป็นของเรา หรือเป็นคนนั้นคนนี้ ก็จะได้มีความเห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ตรงตามความเป็นจริงของลักษณะของธรรม ซึ่งไม่คุ้นเคยเลย เช่นขณะนี้เห็นคุณอรวรรณ เป็นเพื่อนคุณอรวรรณ แต่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และสิ่งที่เคยเป็นเพื่อน เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีความเข้าใจถูกต้องไหมอย่างนี้ ไม่ว่าใครที่กำลังปรากฏ และมีความจำชื่อ จำชื่อนี่ น้อย หรือมาก ชื่อเดียว แต่ความเป็นไปของคนนั้นมากไหม โลภะก็มี โทสะก็มี พฤติกรรมต่างๆ การกระทำต่างๆ ซึ่งอาจจะคิดว่า เป็นคนนั้นทำ พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แต่แท้ที่จริงยังไม่คุ้นกับลักษณะของสภาพธรรม ชื่อว่า ไม่รู้จักธรรม รู้จักคนชื่อนั้น ชื่อนี้ แต่เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ มีจริงๆ แล้วยังไม่รู้จักสภาพธรรมนี้เลย เห็นเมื่อไร ก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา

    เพราะฉะนั้นกว่าจะฟังพื้นฐานของธรรมที่มีจริงๆ ให้เริ่มเข้าใจถูกต้อง แล้วก็ดูก็แล้วกัน แล้วเมื่อไรปัญญาจะเจริญถึงกับสามารถเข้าใจได้เวลาที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ก็รู้จักสิ่งนั้นทันทีว่า เป็นแต่เพียงธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏ พอจะเป็นไปได้ไหม ความจริงเป็นอย่างนี้ หรือไม่ มีผู้บอกว่า พอจะเป็นไปได้วันหนึ่ง แล้วคนนั้นก็จะรู้ด้วยตัวเอง ปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน จะไปรู้ของคนอื่นได้ไหมว่า ขณะที่กำลังฟังอย่างนี้ มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นไหม พูดเรื่องสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็พูดเรื่องชื่อนั้น ชื่อนี้ แต่ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เข้าใจว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่า แม้ได้ยินว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย เป็นแต่เพียงธาตุที่เกิดกระทบจักขุปสาท รูปารมณ์ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาตั้งใจจะกระทบจักขุปสาท หรือไม่ มีเจตนาที่จะกระทบ หรือไม่ (ไม่มีเลย) แต่ธาตุชนิดนี้มี แล้วก็มีธาตุที่สามารถกระทบกับสิ่งนี้ได้ ไม่มีรูปร่างเลยขณะนี้ ถ้าพูดเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตากับสภาพที่สามารถเห็นสิ่งนี้ได้ ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ได้กำลังกล่าวถึงคน หรือรูปใดๆ ทั้งสิ้น แขน ขา มือ สมอง หัวใจ ไม่ได้กล่าวถึงเลย กำลังกล่าวถึงความจริงของธรรม ซึ่งกำลังมีจริงๆ ขณะนี้ คือ เห็น

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปรวมเอาไว้เหมือนเดิม เรากำลังนั่งแล้วเห็น ไม่ใช่เลย กำลังกล่าวถึงธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังเห็น และมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น

    นี่คือการฟังธรรมให้เข้าใจเป็นพื้นฐานที่จะรู้ว่า เมื่อปัญญาอบรมเจริญแล้ว เมื่อความจริงของธรรมเป็นอย่างนี้ ก็สามารถประจักษ์ความจริงของธรรมนี้ได้ แต่ถ้าขาดการฟังบ่อยๆ การระลึกได้บ่อยๆ ก็ลืมเสมอ แต่ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่นั่นแหละ

    ด้วยเหตุนี้ในพระไตรปิฎกไม่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสกับใคร ก็จะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม หรือการอ่าน หรือการสนทนาธรรม ก็เป็นการเตือนให้เข้าใจถูก ให้ระลึกได้ว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้ และในขณะที่ฟังจะมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น บุคคลนั้นก็สามารถจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า มีความเข้าใจมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม คุ้นเคยกับธรรมแต่ละลักษณะ หรือยัง หรือกำลังฟังเพื่อให้เข้าใจ เพื่อให้รู้จักสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ค่อยๆ อบรมไป

    อ.กุลวิไล มีผู้ฝากคำถามมาว่า สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ หรือคิดชอบ เป็นอย่างไร ต้องคิดถึงแต่เรื่องการละตัวตน หรือคิดถึงแต่เรื่องไตรลักษณ์ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบชื่อนี้น่าสนใจแค่ไหน “สัมมาสังกัปปะ” มีชื่อเยอะในพระไตรปิฎก น่าสนใจทั้งนั้นเลย ชื่อแปลกๆ และคืออะไร คืออะไร คืออะไร ขณะนี้แม้สภาพธรรมที่เป็นสภาพธรรมนั้นกำลังเกิดดับก็ไม่รู้ แต่ก็ไปชอบใช้คำซึ่งยังไม่เข้าใจ คือคำว่า “สัมมาสังกัปปะ” ที่ได้ฟังธรรมมาแล้วทั้งหมด รู้แค่ไหน หรือไม่รู้เลย หรือรู้บ้าง รู้จักธรรม ไม่ใช่รู้ชื่อธรรม

    ที่ได้ฟังมาทั้งหมด เป็นชื่อของธรรมทั้งนั้น ทุกชื่อ จักขุวิญญาณ ภาษาไทยก็คือเห็นธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เข้าใจตัวธรรม ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อที่ไม่คุ้นหู แต่ความหมายเดียวกัน อย่างจิตเห็น ชัดเจนมาก เห็น ไม่ใช่คิดเลย กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นในขณะนั้นใช้คำภาษาบาลีว่าอย่างหนึ่ง แต่ภาษาไทยก็คือสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ตรง ฟังธรรมมาก มีชื่อมาก เข้าใจแค่ไหน หรือรู้จักธรรมจริงๆ หรือไม่ แม้แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตากับเห็นซึ่งกำลังเห็น บางคนก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ได้ให้รู้จักสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ บางคนก็กล่าวว่า จะรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งไปทำไม แต่ถ้าไม่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง จะรู้ธรรมอะไร

    นี่ก็แสดงให้เห็นความละเอียดของธรรมว่า อย่าเพิ่งไปถึงคำซึ่งขณะนี้มี หรือไม่ ก็ยังไม่รู้เลย แล้วจะมีได้อย่างไร แล้วทำไมจึงชื่อว่า “สัมมาสังกัปปะ” จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องที่ศึกษาได้ อ่านได้ แต่ที่จะรู้ลักษณะนั้นจริงๆ มิใช่เพียงแต่จำชื่อ หรือเข้าใจได้ ไม่ทราบว่า ผู้ถามได้ยินคำนี้จากไหน “สัมมาสังกัปปะ”

    อ.กุลวิไล จากการศึกษา เพราะยังใช้คำว่า “ความดำริชอบ” ด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วดำริคืออะไร เพราะเหตุว่าฟังเรื่องของสภาพธรรมมากเพื่อให้รู้จักตัวธรรมเดี๋ยวนี้ ที่กำลังมี มิฉะนั้นการฟังเรื่องราวของธรรมมากๆ จะมีประโยชน์อะไร ฟังทุกวันก็เป็นเรื่องราวของสภาพธรรม ทั้งๆ ที่ตัวจริงของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ก็กำลังมี กำลังปรากฏ ฟังเพื่อเข้าใจถูกตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นความจริงในขณะนี้ หรือไม่

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะได้ยินชื่ออะไรอีกมากมาย ก็คืออยากให้เข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มี อย่างเวลาใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” หรือใช้คำว่า “สัมมาสติ” เหมือนที่ว่า สัมมาสังกัปปะ ลักษณะของสภาพธรรม ๒ อย่างต้องต่างกัน สัมมาสติ ชื่อหนึ่ง สัมมาสังกัปปะ อีกชื่อหนึ่ง แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างกันด้วย แต่ว่าขณะนี้ที่กำลังเข้าใจธรรม เข้าใจขณะนั้น มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือไม่

    ในการเข้าใจสัมมาสังกัปปะได้ ไม่ใช่เพียงเข้าใจชื่อ หรือคำ แต่ต้องเข้าใจว่า ในขณะนี้ที่ได้ยินคำว่า “จิต” ขณะนี้เข้าใจสภาพของจิต จิตหนึ่งจิตใด หรือไม่ เอาจิตเดียวก็ได้ ถ้ายังไม่มีการที่จะสามารถเข้าใจได้ ก็เป็นอันว่า จะรู้จักสัมมาสังกัปปะเพียงชื่อเท่านั้นเอง เพราะเหตุว่าแม้สภาพธรรมกำลังมี แล้วการฟังเข้าใจด้วยว่า ขณะนี้ที่เห็นเป็นธรรม แต่เป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วกำลังเห็น ตัวจริงๆ เลย คือ ขณะนี้มีธาตุนี้เกิดขึ้นกำลังเห็น เป็นนามธาตุ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้วแต่ว่าจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยระดับไหน มากน้อยแค่ไหน เช่น ในขณะที่ฟังเข้าใจ เข้าใจไม่ใช่สติ แต่ขณะที่เข้าใจมีสติเกิดร่วมด้วย แล้วก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    แต่ก็ไม่ใช่สัมมาสังกัปปะที่เกิดพร้อมสัมมาสติ ที่เกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ และมรรคมีองค์อื่นๆ เพราะเหตุว่าเพียงฟังเรื่องราว แต่ยังไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแม้แต่สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ก็ฟังเพื่อให้เข้าใจความหลากหลาย และความต่างกันว่า สภาพธรรมที่ใช้ชื่อต่างๆ มากมาย ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นในขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็น ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของเห็น จะใช้เพียงชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ หรือสัมมาสติ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่กำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแม้วิตกเจตสิกที่เกิดทำให้ตรึก หรือนึก หรือจรดในอารมณ์ หลังจากที่จิตเห็น จิตได้ยินดับไปแล้ว ก็มีหลายระดับขั้น เพราะว่าปกติธรรมดา หลังจากที่เห็นแล้ว ต้องคิด เป็นไปตามความเป็นจริง คือ ปัจจัยที่เมื่อจิตเห็นดับไปแล้ว จิตอื่นเกิดต่อ ก็จะมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วยโดยไม่รู้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะใช้ชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ หรือไม่

    นี่ก็เป็นเพียงที่ว่า เมื่อได้ยินคำไหน อย่าเพิ่งรีบที่จะเข้าใจ หรืออย่าเพิ่งรีบใช้คำนั้น โดยที่ยังไม่รู้ความละเอียดว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมนั้นได้แก่ เจตสิก หรือจิตประเภทไหน นี่ก็คือชื่อ ถ้ายังไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็คือได้ยินแต่เพียงคำแปล

    อ.กุลวิไล ผู้ถามก็ยังคิดว่า ความคิดชอบที่เป็นสัมมาสังกัปปะ จริงๆ แล้วอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ ต้องคิดเรื่องของการละตัวตน หรือคิดถึงแต่เรื่องไตรลักษณ์ ดูเหมือนจะเป็นแต่เรื่องราวทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ อยากละ หรือถามว่า จะคิดอย่างไรถึงจะละ แล้วเข้าใจอะไร หรือไม่ เข้าใจคือปัญญา ไม่มีปัญญาแล้วจะไปทำอะไร ก็ต้องเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา หรือเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “ธรรม” และคำว่า “อนัตตา” ประมาท หรือไม่ ที่คิดว่า เข้าใจแล้ว หรือว่ารู้แล้ว เพราะเหตุว่าแค่ได้ยิน แต่ว่าขณะที่กำลังเห็น ยังไม่คุ้นเคยกับสภาพเห็น และสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็เพียงแต่คิดว่า เข้าใจธรรม แต่ตามความเป็นจริงความเข้าใจธรรมมีหลายระดับ ระดับเข้าใจเรื่องราว กำลังฟัง เข้าใจแน่นอน ทุกคนมีจิต และมีเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดในขณะนี้ เช่น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แค่นี้ก็เข้าใจ แต่ขณะนี้รู้จักจิตจริงๆ หรือไม่ หรือรู้จักแม้รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ที่กำลังปรากฏจริงๆ หรือไม่

    วันนี้สภาพธรรม ตัวจริงๆ เกิดดับนับไม่ถ้วน แม้แต่สักครู่นี้กับขณะนี้ แต่ก็เพียงได้ยินชื่อเท่านั้นเอง ไม่ได้รู้ตัวจริงๆ ของสภาพธรรมเลย จนกว่าการฟังเป็นความเข้าใจที่มั่นคงว่า ฟังเพื่ออะไร ฟังเพื่อเข้าใจลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ แค่นี้ลืมไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นผู้ที่สะสมเพียงคำมากมาย แต่ก็จำไว้ทั้งคำแปล ทั้งคำ แต่ก็ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    เมื่อครู่นี้ก็พูดย้ำแล้วย้ำอีกถึงเห็น แล้วก็มีเห็น มีใครรู้เห็นบ้าง แต่ได้ยินคำนี้ เห็น เดี๋ยวก็พูดเรื่องเห็นอีก มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็เพียงเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แม้ในขณะนี้มีใครรู้ “เห็น” สภาพเห็นซึ่งเป็นอนัตตา ทั้งๆ ที่เข้าใจ อนัตตาคือไม่ใช่เรา ฟังว่าเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ไม่มีใครไม่เข้าใจเลย แต่เห็น กำลังเห็น ในขณะที่ฟังนี้แหละ มีใครรู้ "เห็น" หรือรู้ความจริงของเห็น หรือรู้จักเห็นบ้าง

    เพราะฉะนั้นการฟังทำให้ตรงต่อความจริง แล้วจะได้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เพราะว่าอาจจะเข้าใจว่า รู้ธรรมมาก แต่ตามความเป็นจริงจะเห็นได้เลยว่า ความห่างไกลของปัญญาที่สามารถเห็นถูกในความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะที่ธรรมนั้นปรากฏ ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องราวของสภาพธรรม จะเห็นได้ว่า แล้วทำไมไม่รู้สักที


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    28 พ.ย. 2567