พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 434
ตอนที่ ๔๓๔
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงจะเห็นได้เลยว่า ความห่างไกลของปัญญาที่สามารถจะเห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในขณะที่ธรรมนั้นปรากฏ ไม่ใช่เพียงฟังเรื่องราวของสภาพธรรม จะเห็นได้ว่า แล้วทำไมถึงไม่รู้สักที ทั้งๆ ที่กำลังได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้ก็กำลังเห็น แล้วทำไมจึงไม่รู้ว่า เห็นเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา เกิดแล้วดับด้วย ความไม่รู้มากมายระดับที่แม้ฟังเท่าไร แล้วก็กำลังเห็นด้วย ก็ยังไม่ถึงการรู้ว่า เห็นเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเห็น แค่นี้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เห็นเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเห็น เปลี่ยนได้ไหม (ไม่ได้) ได้ยินกำลังได้ยิน เป็นธรรมที่เกิดขึ้นได้ยินในขณะนี้
นี่คือการเริ่มที่จะเมื่อฟังอะไร ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจ แต่ว่าจะเข้าใจได้ระดับไหน เพราะว่าเห็นนี่จะต้องเห็นไปอีกนานตลอดในสังสารวัฏฏ์ แต่ความเข้าใจลักษณะของเห็นจะค่อยๆ เกิด จากอวิชชาซึ่งมากมาย แม้ขณะที่ผ่านไปแล้ว เห็นก็ผ่านไปโดยไม่รู้ว่า เห็นเป็นธรรม แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของเห็นจริงๆ แต่จากการฟังทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะรู้ได้ว่า กำลังเห็น ไม่ได้คิดเรื่องอื่น แต่รู้ว่า เห็นกำลังเห็น เห็นไหมแค่ขณะนี้เริ่มรู้ว่าเห็นกำลังเห็น น้อย หรือมาก (น้อย) ยังไม่มั่นคง เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริงคือ เห็นที่เกิดขึ้นเห็นดับ
เพราะฉะนั้นความห่างไกลของปัญญา ให้เข้าใจความหมายนี้ ปัญญาระดับที่ฟังเข้าใจ กับปัญญาที่เริ่มจะน้อมไป ค่อยๆ น้อมไปสู่การเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อฟังอีก เข้าใจอีก เพราะฉะนั้นจะขาดการฟังไม่ได้เลย เพราะว่าเหมือนกับการเตือน ทำไมเราคิดถึงเรื่องอื่นได้มากมาย เพราะว่าเราสะสมการจำเรื่องต่างๆ เหล่านั้นไว้มาก แต่ว่าขณะนี้ได้ยินได้ฟังนับครั้งไม่ถ้วนจริงๆ ว่า เห็นกำลังเห็น เป็นธรรมที่เกิดขึ้น และกำลังเห็น แค่นี้ จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ธรรมเป็นปกติ คนส่วนใหญ่คิดว่า ธรรมต้องไปทำให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้น แต่ว่าตามความเป็นจริงตลอดชีวิต ทุกชีวิตในสังสารวัฏฏ์ เป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีขณะไหนที่ไม่ใช่ธรรมเลย เพราะฉะนั้นการรู้จักธรรม ไม่ใช่ต้องไปทำอะไรให้เกิดเลย เพียงแต่ว่าสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ฟัง แล้วก็รู้ว่า ปัญญาสามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นคำจริงทุกคำ แม้แต่เห็น เกิดขึ้นแล้ว เห็นแล้วด้วย
สภาพธรรมมีหลากหลายที่น่าพอใจก็มี ที่ไม่น่าพอใจก็มี อย่างเวลาที่โกรธเกิดขึ้น ลองคิดกลับกัน เกิดแล้วไม่ให้เป็นโกรธได้ไหม แค่นี้ก็เห็นแล้วใช่ไหม ความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นคำว่า “อนัตตา” ไม่ใช่ต้องไปพยายามนึกแปลเป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่สภาพธรรมทุกขณะแสดงความเป็นอนัตตา ไม่ได้อยากให้สภาพธรรมนั้นเกิดเลย แต่ก็เกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย และเมื่อเกิดแล้วอย่าได้ไปคิดเปลี่ยนแปลง เพียงแต่คิดว่า เกิดแล้วให้เป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่อย่างนี้ที่เกิดแล้วได้ไหม ทุกคนก็ตอบตรงกันว่า ไม่ได้
เพราะฉะนั้นก็เข้าถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมจากชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย เป็นธรรมทั้งหมด แต่ว่าถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเมื่อไร ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกต้องในความหมายของคำว่าอนัตตา เพราะเหตุว่าเพียงจำ แต่เวลาเห็น ไม่ได้รู้สึกเลย หรือไม่ได้เข้าใจว่าอนัตตา จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น
เพราะฉะนั้นสะสมอวิชชามาแค่ไหน รู้ตัวเองเลยใช่ไหม ใครสะสมอวิชชามาน้อยมาก มีไหม มากมายในสังสารวัฏฏ์ จนแม้กำลังฟัง ก็ฟังด้วยดี และเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เหมือนของที่หนัก ต่อ เคลื่อนไม่ได้ มั่นคงด้วยอกุศลทั้งหลาย กว่าจะเคลื่อนไป ค่อยๆ ขยับให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์ จะนานสักแค่ไหน คงไม่ต้องคำนึงถึงกาลเวลา เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปตามความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน ไม่ใช่หมายความว่า มีใครไปบอกว่า ฟังแค่นี้ แล้วก็เจริญสติปัฏฐานได้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ลืมอีกแล้ว ธรรมเป็นอนัตตา ฟังอย่างไร ฟังไปลืมไปๆ เรื่อยๆ ก็ต้องเตือนกันอีกให้ได้ยินบ่อยๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติเกิดเดี๋ยวนี้ได้แน่นอน ไม่มีใครไปยับยั้งเมื่อมีเหตุปัจจัย แล้วใครจะรู้ว่า ปัจจัยพร้อมที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิดเข้าใจลักษณะของธรรมตรงตามที่ได้ยินได้ฟังทีละอย่าง ทีละลักษณะ เพราะว่าสภาพธรรมหลากหลายมาก มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย อย่าไปย้อนคิด หวนคิดถึงสภาพธรรมใดที่จะเข้าใจการเกิดดับของสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว เพราะว่าดับแล้วไม่ได้กลับมาอีก ก็เป็นสภาพธรรมใหม่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
ด้วยเหตุนี้ฟังแล้วก็เป็นผู้ตรง ไม่ใช่เป็นผู้ที่รีบร้อน ถ้ามีข้อความในพระไตรปิฎกว่าเป็นผู้ไม่ประมาท เร่งรีบ ก็ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เร่งรีบไปไหน โดยที่ไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไรเลย เร่งรีบทำอะไรในเมื่อไม่รู้ เพราะฉะนั้นเร่งรีบ คือ จะรู้ได้โดยวิธีไหน ถ้าโดยการฟัง ไม่ประมาทที่จะฟัง เท่าที่จะสามารถฟังได้
นี่คือความเป็นจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหนทางที่สามารถที่จะรู้จักตัวธรรมจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งวันหนึ่งก็สามารถรู้ได้ หรือในขณะนี้เอง สติคือธรรมดามากเลย ไม่ได้ต่างกับขณะนี้เลย เพียงแต่ว่าปกติธรรมดาเห็นแล้ว ไม่รู้ มีแข็งปรากฏแล้ว ไม่รู้ มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วไม่รู้ แต่สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานคือของธรรมดาอย่างนี้ ปกติอย่างนี้ แต่รู้ ค่อยๆ รู้ ไม่ได้เปลี่ยนลักษณะของสิ่งนั้นเลย อย่างแข็งเกิดแล้ว ธาตุที่รู้แข็ง มีแน่ ไม่ใช่เรา เป็นกายวิญญาณซึ่งต้องอาศัยกายปสาท จึงสามารถจะรู้แข็งที่กระทบกายปสาท และยังไม่ดับ
เห็นไหมทุกคำเป็นคำจริง กายปสาทต้องยังไม่ดับ เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏต้องยังไม่ดับ แต่เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับอย่างเร็วมาก บางคนก็บอกว่า ไม่รู้ธรรม เพราะว่าธรรมเกิดดับเร็วมาก ใครเป็นคนบอกว่าธรรมเกิดดับเร็วมาก ผู้รู้ แล้วผู้ไม่รู้จะไปบอกว่า ธรรมเกิดดับเร็วมาก ในขณะนี้ พูดตาม ใช่ไหม แต่ยังไม่รู้การเกิดดับของธรรมเลย เพราะปัญญาเท่านั้นจึงสามารถรู้ได้ ถ้าเข้าใจว่า ปัญญาคือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะได้ฟัง เข้าใจถูก เห็นถูกว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วรู้ด้วยว่า สภาพธรรมแม้แต่อ่อน หรือแข็งที่ปรากฏ โดยที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ก็ดับแล้ว แต่ว่าใครจะยับยั้งไม่ให้จิตเกิดสืบต่อไปอีกเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ แล้วแต่จิตที่เกิดดับสืบต่อปรุงแต่งโดยสภาพธรรมอะไร ฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศลที่ค่อยๆ สะสมไป มีความเข้าใจถูกเมื่อไร แข็งปรากฏ กำลังรู้แข็งที่ปรากฏแล้วได้ไหม เห็นไหม ของธรรมดา แต่ว่าหลงลืม
เพราะฉะนั้นขณะที่ฟัง แล้วเข้าใจว่า แข็งขณะที่ปรากฏ ปรากฏด้วยดีกับสติสัมปชัญญะ แต่เวลาที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ใครจะรู้ลักษณะของแข็ง ซึ่งหมดแล้ว ขณะที่ไม่ได้ระลึก หมดแล้วเลย แข็งนิดเดียว แล้วก็หมดแล้ว แต่ขณะที่แข็ง เหมือนเดิม เท่ากัน เล็กน้อยปรากฏ แต่สติเกิดกำลังรู้ลักษณะที่แข็งต่อจากแข็งที่ปกติธรรมดาก็ปรากฏแล้วก็หมดไป
นี่คือเริ่มเห็นความต่างของสติสัมปชัญญะกับขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด แล้วเวลาที่แข็งปรากฏจริงๆ มีใครนั่งอยู่ตรงไหน หรือไม่ มีโลก มีน้ำท่วม มีไฟไหม้ที่ไหน หรือไม่ โลกอื่นมีไหม ไม่มีแม้คิดนึก เพราะขณะนั้นแข็งเท่านั้นที่ปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้แข็ง
นี่คือไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลยทั้งสิ้น แต่เป็นธรรมที่ปรากฏกับปัญญา เพราะฉะนั้นเมื่ออบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น แข็งจะปรากฏอย่างนี้ไหม ว่าไม่ปะปน และไม่มีโลกอื่นเลย ไม่มีเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าไม่มี เพิกอิริยาบถตั้งแต่สติเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละลักษณะ แต่เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ชัด ยังไม่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว ก็เหมือนเดิม แต่ก็มีความต่างที่ทำให้รู้ว่า ขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่สติเกิด
นี่คือการเข้าใจธรรมตามลำดับว่า เพียงขั้นฟังแล้วก็จำได้ ไม่ใช่การที่จะสามารถรู้ได้ว่า ตามความเป็นจริงรู้ธรรมที่ได้ฟังจริงๆ แค่ไหน ระดับไหน ถ้าสติสัมปชัญญะยังไม่เกิดเลย เทียบได้ไหมกับผู้ที่สติสัมปชัญญะเริ่มเกิด จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ตรงว่า ปัญญาไม่มีใครสามารถบังคับ แต่อบรมได้ ค่อยๆ เจริญขึ้น ขณะนี้มีธรรม แล้วเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เพิ่มขึ้นบ้างไหม มั่นคงขึ้นได้ไหม ขณะนั้นตัวจริงคือไม่ประมาท แต่ไม่ใช่หมายความว่า พอได้ยินคำว่า “ไม่ประมาท” ก็จะไม่ประมาท แล้วก็ถามว่า ทำอย่างไร วิธีไหนถึงจะไม่ประมาท นั่นคือไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นความละเอียดของธรรม พยัญชนะตื้น แต่อรรถลึก เพราะบอกว่า ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนลักษณะนั้นๆ ได้เลย เข้าใจใช่ไหมพยัญชนะนี้ แต่อรรถของธรรมที่เป็นปรมัตถ์ในขณะนี้ยังไม่ได้เข้าถึง เพราะฉะนั้นอรรถจึงลึก แต่พยัญชนะตื้น
ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ตื้นไหม แต่อรรถของจิต เจตสิก รูป ลึก เพราะฉะนั้นไม่ประมาท หมายความว่าไม่ใช่ให้เรารีบไปทำอะไรว่า เขาไม่ประมาท เราจะได้ไม่ประมาทด้วย โดยที่ไม่เข้าใจว่า ธรรมคือสิ่งที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ประมาทจริงๆ คือจากความไม่รู้ เป็นผู้ที่เคารพในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงความจริงให้คนอื่นเห็นความละเอียดยิ่งของธรรมนั้นๆ แล้วก็เป็นผู้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เข้าใจแค่ไหน ไม่คิดว่าเราเข้าใจมาก แต่เข้าใจแค่ไหน คือ สภาพธรรมปรากฏ เป็นการยืนยันความรู้ว่า เข้าใจแค่ไหน ไม่ประมาทก็คือว่า เมื่อไม่รู้ก็ฟัง แล้วไตร่ตรอง แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็รู้ว่า ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม วันหนึ่งปัญญาก็สามารถแทงตลอดความจริงของสภาพธรรมได้ เพราะต้องเป็นปัญญาเท่านั้น แล้วปัญญาเท่านั้นที่จะละอกุศลทั้งหลายได้ ไม่ใช่จะละได้ด้วยความต้องการมากๆ อยากจะถึงเร็วๆ โดยที่ไม่รู้อะไรเลย แม้ขณะที่กำลังฟัง ทราบไหมว่า เป็นเรื่องละ กำลังค่อยๆ ละความต้องการ เพราะรู้จริงๆ ว่า ต้องการอะไร ได้ หรือ ได้ หรือไม่อย่างที่ต้องการ หรือเข้าใจ หรือไม่ แล้วเข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงตามที่ได้ฟังแค่ไหน
อ.กุลวิไล มีคำถามที่สอดคล้องกับเรื่องที่เรากำลังสนทนากัน เรื่องการรู้ชื่อธรรม หรือรู้จักธรรม
เรียนท่านอาจารย์สุจินต์ ขณะที่กำลังฟังชื่อ หัวข้อ และเรื่องราวของธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานพระอภิธรรม มีรายละเอียดมากมายของธรรมแต่ละขณะ รู้สึกหนักใจมาก และธรรมปรากฏดับไปเร็วมากในชีวิตประจำวัน เช่น กำลังเห็น และได้ยินเหมือนพร้อมกันตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ความจริงมีอารมณ์ของธรรมต่างกันมาก ไม่ซ้ำซ้อนกันเลย ทีละอย่างเท่านั้นในชีวิตประจำวันในขณะนี้
คำถามก็คือ ผู้ฟังธรรมควรเข้าใจว่า
๑. รู้ และเข้าใจตามลำดับขั้นของธรรมซึ่งเป็นรูปธรรม และนามธรรมขณะนี้เอง หรือ
๒. รู้ชื่อ หัวข้อ เรื่องราว รายละเอียดของธรรมจนสามารถจำชื่อ และเรื่องราวของธรรมได้
กราบเรียนท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ หนักใจแน่ๆ ไม่รู้จะทำอย่างไร จะศึกษาแบบไหน จะจำชื่อ หรือไม่ จริงๆ แล้วก็คือว่า ใช้ภาษาไทยธรรมดา ไม่ต้องกังวลถึงภาษาบาลีที่จะต้องหนักใจว่า ออกเสียงถูก หรือไม่ สั้น หรือยาว นี่ก็เป็นเรื่องของความหนักใจ เพราะความไม่รู้ แต่ว่าธรรมใช้ภาษาที่แต่ละคนสามารถเข้าใจได้ในภาษาของตน
นี่คือพุทธประสงค์ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ไม่ใช่ให้ไปกังวลใจ หนักใจกับภาษา หรือคำ แต่ว่าใช้คำไหนก็ได้ที่สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่กังวลเรื่องภาษา อย่างบางคนก็บอกว่า ธาตุ ไม่รู้จักธาตุ บอกว่าจิตเป็นธาตุ เจตสิกเป็นธาตุ แล้วธาตุเป็นอย่างไร เห็นไหม คำว่า “ธาตุ” ปิดบัง หรือไม่ แต่ถ้าบอกว่า ขณะนี้แข็งมี มีจริงๆ เปลี่ยนแข็งให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ตรงกับความหมายของคำว่า “ธาตุ” หรือไม่ โดยไม่ใช้คำว่า “ธาตุ”
สิ่งที่มีจริงๆ และมีลักษณะของตนเอง ไม่ต้องคิดถึงวิเสสลักษณะกับสามัญลักษณะ เริ่มหนักแล้วใช่ไหม วิเสสลักษณะจะไปหาที่ไหน ก็มีธรรมแล้ว วิเสส ลักษณะเป็นอย่างไร ถ้าแปลออกมาก็คือเฉพาะแต่ละอย่าง ต่างๆ กันไป จะเหมือนกันได้ไหม กลิ่นกับเสียง ก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ก็เป็นลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างซึ่งต่างๆ กันไป แม้แต่อย่างเดียวก็ยังต่างๆ กัน กลิ่น เฉพาะกลิ่นที่สามารถกระทบจมูก ปรากฏ ต่างๆ กัน หรือไม่ ในครัว ประเดี๋ยวก็มีกลิ่นต่างๆ ทั้งๆ ที่ก็เป็นทางเดียว คือ กลิ่น
เพราะฉะนั้นบอกว่าไม่รู้จักธาตุ เพราะอะไร ไปกังวลเรื่องชื่อ แต่ถ้ารู้ว่า ธรรม หรือธาตุ หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ต้องไปลำบากใจเรื่องรู้จักชื่อธาตุ หรือไม่ หรือต้องไปรู้จักคำว่า “ธาตุ” หรือไม่ ในเมื่อสามารถรู้ลักษณะของธรรมที่มี และลักษณะนั้นก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะใช้ภาษาอะไรก็ตามแต่ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสภาษามคธี ซึ่งใช้กันอยู่ในยุคนั้นสมัยนั้น เป็นธรรมดา เป็นปกติ เพราะฉะนั้นก็คือสิ่งที่มี เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ พอได้ยินคำว่า “ธาตุ” ไม่ต้องไปจำ ไม่ต้องไปหนักใจ ไม่ต้องไปค้นคว้าที่ไหนเลย แข็งก็เป็นธาตุ มีจริงๆ ก็สบายมาก คือว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ต่างภาษาเท่านั้นเอง ถ้าเป็นภาษาที่เข้าใจได้ จะใช้คำอะไรก็คือ สามารถรู้ว่า หมายความถึงสิ่งนั้น ถ้าเปลี่ยนจากคำว่า “ธาตุ” เป็นคำว่า “ธรรม” ได้ไหม แปลคนละอย่าง หรือมาจากธาตุเดียวกัน หรืออย่างไรก็ต่างกัน บวกลบใส่โน่นใส่นี่มาเป็นอย่างนี้ ก็คือเปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ เพราะลักษณะนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงๆ
ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วแข็งกำลังปรากฏ ไปนึกถึงชื่อวิเสสลักษณะ หรือไม่ นึกถึงทำไม ก็แข็งนั่นแหละมีลักษณะของแข็ง เปลี่ยนไม่ได้ เสียง ต้องไปนึกถึงวิเสสลักษณะ หรือไม่ ในเมื่อเสียงไม่ใช่แข็ง ก็เป็นลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วสภาพธรรมที่เกิด ดับไหม สภาพธรรมใดบ้างที่เกิดแล้วไม่ดับ ไม่มี แต่พอใช้คำว่า “สามัญญลักษณะ” ก็งงอีก สามัญญะ ทั่วไป ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างซึ่งเกิดต้องดับ เพราะฉะนั้นสามัญญลักษณะก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง ถ้าใช้ภาษาไทยเข้าใจ ไม่มีปัญหาเลย แต่พอไม่รู้ภาษาบาลี ได้ยินก็เลยไม่รู้จักธรรมในภาษาไทย แต่ความจริงก็เปลี่ยนธรรมไม่ได้เลย เดี๋ยวนี้ไม่มีใครไม่รู้จักคำนี้ใช่ไหม พูดบ่อยๆ วิเสสลักษณะ กับสามัญญลักษณะ แต่ต้องเข้าถึงความหมาย สิ่งใดก็ตามที่เกิด สิ่งนั้นต้องดับ
เพราะฉะนั้นลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิด จะไม่ปราศจากสามัญญะ คือ ทั่วไปหมดเลยทุกประการกับสภาพธรรมทั้งหลาย คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่เหลือเลยด้วย เพียงแค่ปรากฏ เป็นทุกข์ไหม เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วมาก เท่านี้เอง เป็นทุกข์ หรือเปล่า ทุกข์ ที่นี่ ไม่ได้หมายความว่า ความรู้สึก เป็นสิ่งที่ควรยินดีติดข้อง หรือไม่ ถ้ารู้จึงละได้ แต่ไม่รู้ก็ละไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ไม่ใช่มีใครสามารถละความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมนั้นๆ
เพราะฉะนั้นทางที่ถูกต้อง คือ ฟังธรรมแล้วเข้าใจในภาษาที่เป็นธรรมดา แล้วไม่ต้องกังวลถึงคำที่ใช้ เพราะถึงไม่ใช้คำนั้น แต่ก็เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แล้วก็ตรงกันด้วย ถ้าจะพูดภาษาบาลีก็เป็นอีกคำหนึ่ง ถ้าพูดภาษาไทยธรรมดา ก็คืออย่างที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
มีใครไม่รู้จักชื่อ “โลภะ” บ้างไหม แต่รู้จักตัวโลภะ หรือไม่ เพราะว่าโลภะจริงๆ ละเอียดมาก ถ้าไม่ใช่ปัญญา ไม่สามารถเห็นแล้วละได้ เพราะความละเอียดของโลภะ โลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี ที่ไม่ได้เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี ก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่เวลาที่สภาพธรรมในชีวิตประจำวันเกิดขึ้น ไม่ได้เข้าใจตามที่ได้ศึกษา เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงเวลาที่สามารถจะระลึกได้ว่า ลักษณะนั้นๆ เป็นธรรม แม้ว่าฟังแล้วว่าเป็นธรรม แต่ก็ยังไม่ระลึกในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ เพราะว่าความเข้าใจยังไม่พอ แต่เมื่อไรที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นก็จะรู้ได้ ถ้าไม่มีการฟังเข้าใจ สติสัมปชัญญะก็จะไม่เกิดแล้วก็รู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ
อ.กุลวิไล พูดถึงประโยชน์จริงๆ ของการศึกษาธรรมก็คือรู้ถึงความจริงของธรรมที่มีในขณะนี้ ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ เราก็พูดกันบ่อยๆ ถึงคำว่า “ธรรม” แล้วก็จะพูดต่อไปเรื่อยๆ เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ธรรมเป็นสิ่งที่แม้มีจริง แล้วก็กำลังเผชิญหน้า คือ กำลังปรากฏ แต่ก็ไม่รู้จักธรรม เช่นในขณะนี้ เห็นเป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม เสียง ใครไม่รู้จัก ใครไม่ได้ยิน ขณะใดที่เสียงปรากฏ เสียงก็เป็นธรรม
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 421
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 422
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 423
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 424
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 425
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 426
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 427
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 428
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 429
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 430
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 431
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 432
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 433
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 434
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 435
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 436
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 437
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 438
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 439
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 440
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 441
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 442
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 443
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 444
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 445
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 446
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 447
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 448
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 449
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 450
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 451
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 452
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 453
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 454
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 455
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 456
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 457
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 458
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 459
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 460
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 461
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 462
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 463
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 464
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 465
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 466
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 467
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 468
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 469
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 470
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 471
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 472
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 473
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 474
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 475
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 476
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 477
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 478
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 479
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 480