พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 439
ตอนที่ ๔๓๙
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ผู้ฟัง อย่างนี้แสดงว่า เป็นความเห็นผิดใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ เห็นอะไรผิด
ผู้ฟัง เห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน
ท่านอาจารย์ ถ้ายึดถือว่า มีสัตว์ บุคคลจริงๆ เป็นความเห็นที่เข้าใจว่ามีคน เที่ยง ไม่ใช่ธรรม ขณะนั้นเห็นผิดแน่นอน
ผู้ฟัง แต่สภาพธรรมบังคับบัญชาให้เกิด หรือไม่เกิดไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัย เช่น ทันทีที่ได้ยิน อกุศลก็เกิดขึ้น อันนี้ก็คือต้องเข้าใจว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่จะต้องเกิด
ท่านอาจารย์ เริ่มเข้าใจว่า เป็นอนัตตา หรือยัง ที่กล่าวเมื่อครู่นี้
ผู้ฟัง ต้องยอมรับว่า เป็นอนัตตา แต่ว่าในขณะที่เกิดจริงๆ ไม่ได้รู้ถึงความเป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะรู้ นี่คือประโยชน์ของการฟังธรรม ค่อยๆ สะสมความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้ขณะนั้น โดยที่ไม่ใช่ตัวคุณสุกัญญา แต่เพราะสติสัมปชัญญะเกิด จะรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ ซึ่งต่างกับสติขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นฟังธรรม
เพราะฉะนั้นต้องมีความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิเกิด จึงจะมีสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเป็นวิตกเจตสิก ไม่ได้จรด หรือตรึกเรื่องอื่น สิ่งอื่นเลย แต่เพราะเหตุว่าสะสมการฟัง มีความค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งเวลาที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ เช่น เห็นขณะนี้ คงต้องฟังเรื่องเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่สามารถที่จะคลายการเข้าใจที่เคยยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง โดยรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วคิด ๒ อย่างนี้แสดงให้เห็นว่า เข้าใจเมื่อใด ก็เริ่มคลายการรู้สภาพธรรมที่ต่างกันว่า เพราะคิดจึงมีคน มีสัตว์ มีเขา มีเรา
ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันโดยธรรมชาติของจิต ไม่ชอบอกุศลเลย
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ เห็น หรือไม่ เพราะไม่เข้าใจจึงเกิดชอบ ไม่ชอบ
ผู้ฟัง แล้วก็ยังมีความยินดีพอใจให้อกุศลจิตเกิดบ่อยๆ
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง ก็ตอบท่านอาจารย์อีกว่า ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเข้าใจถูก ก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างอื่นได้อย่างไร เมื่อไม่เข้าใจ ก็ต้องเป็นอย่างนี้
ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงอนัตตาก็พอจะเข้าใจว่า เป็นอนัตตา แต่จริงๆ ก็ยังไม่เข้าถึง
ท่านอาจารย์ เวลานี้ เดี๋ยวนี้ อะไรเป็น"อนัตตา"
ผู้ฟัง ความไม่รู้ก็เป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ อะไรอีก
ผู้ฟัง ทุกอย่างก็เป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง
ผู้ฟัง ความไม่รู้ก็เป็นอนัตตา สิ่งที่ไม่ชอบก็เป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ อะไรอีก
ผู้ฟัง อกุศลก็เป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ อะไรอีก
ผู้ฟัง สิ่งที่ชอบก็เป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ อะไรอีก
ผู้ฟัง ทุกๆ อย่างก็เป็นอนัตตา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่มีคุณบุษกร แต่มีธรรม จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม เพื่อประโยชน์นี้อย่างเดียว ปัญญาสูงสุดคือสามารถรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง จนประจักษ์ความจริงของธรรม จากการค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง อย่างเห็นก็รู้ว่าเห็น ซึ่งบุคคลทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็เห็นเหมือนกัน เมื่อศึกษาแล้ว ฟังแล้ว ก็มีเห็นเหมือนกัน กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า การเห็น ระหว่างผู้ไม่ศึกษาเลยกับผู้ศึกษาต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ เห็นเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ หรือไม่ ไม่ว่าจะศึกษาแล้ว หรือไม่ศึกษา เห็นเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้ หรือ
ผู้ฟัง เปลี่ยนไม่ได้
ท่านอาจารย์ เห็นต้องเป็นเห็น เพราะฉะนั้นต่างกันตรงไหน จากที่ไม่เคยฟังไม่เคยศึกษา และภายหลังก็ได้ฟัง ได้เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง จากที่ไม่เคยฟัง เห็นแล้วก็ชอบ แล้วก็หลงว่าสวย แต่เมื่อมาฟังแล้ว เห็น ก็ยังพิจารณาไตร่ตรองว่า บางครั้งก็พิจารณาได้ว่า เป็นสี แต่ก็ยังไม่ได้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ลักษณะของการเห็น
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะถึง เป็นทางที่ไกล และยาวมาก ก้าวเดียวแล้วจะไปถึงได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ก้าวไปเรื่อยๆ จะถึงได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ได้ค่ะ อย่างนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาก็น้อมระลึกถึงสิ่งที่ปรากฏตรงนั้นบ่อยๆ เนืองๆ
ท่านอาจารย์ คงเข้าใจว่า มานั่งอยู่ตรงนี้ทั้งเสาร์ทั้งอาทิตย์ แล้วก็พูดถึงสิ่งที่มีจริง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี ก็เพื่อให้สามารถเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏนี่เอง พูดถึง"เห็น" แล้วก็ฟัง เริ่มฟัง ค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าขณะนี้สามารถรู้ว่า "เห็น"เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เห็นจริงๆ แล้วก็กำลังค่อยๆ เข้าใจ"เห็น"ว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง
การพูดเรื่องนี้บ่อยๆ ทุกครั้ง เพื่อให้สามารถรู้จัก"เห็น"ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม หรือ"ได้ยิน"ก็เช่นเดียวกัน มี"ได้ยิน"อยู่ตลอดเวลา พูดเรื่องนี้ก็เพื่อให้ถึงวันหนึ่งที่สามารถเข้าใจถูก เห็นถูกว่า เป็นธรรม
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวมาก็เข้าใจ คือหมายความว่า "เห็น"เป็นธรรม ไม่ต้องไปใจร้อนว่า จะให้ประจักษ์สภาพธรรม
ท่านอาจารย์ ใจร้อนอย่างไรก็ไม่ได้ ยืนอยู่ตรงนี้จะไปถึงโน้น ฝั่งโน้นไปอย่างไร
ผู้ฟัง ค่ะ ฟังแล้วก็พอเข้าใจ กราบของพระคุณท่านอาจารย์ค่ะ
อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น"เห็น"มีจริง ขณะนี้ก็มี"เห็น" และเห็นเป็นจิต ซึ่งท่านแสดงไว้ว่า จิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิต ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตานั่นเอง เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมเพื่อเข้าหาตัวจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นขณะ"เห็น"เป็นเราเห็น หรือว่าเป็นแต่เพียง"เห็น"ที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจเรื่องอนัตตา อย่างเช่นเรายกมือ หรือกำมือ อันนี้บังคับบัญชาได้
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ลองทำได้ไหม จะยกมือโดยไม่มีจิต ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่มีจิต
ท่านอาจารย์ แล้วยกมือได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้ จิตสั่งให้มือยกได้
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ ขณะเห็นสั่งอะไร
ผู้ฟัง ขณะเห็นไม่ได้สั่ง
ท่านอาจารย์ ได้ยิน
ผู้ฟัง ไม่ได้สั่ง
ท่านอาจารย์ ได้กลิ่น
ผู้ฟัง ถ้ากลิ่นลอยมาก็ได้กลิ่น
ท่านอาจารย์ สั่ง หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้สั่ง
ท่านอาจารย์ ลิ้มรส
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้สั่ง
ท่านอาจารย์ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย อ่อน หรือแข็ง
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้สั่ง
ท่านอาจารย์ คิดนึก
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้สั่ง
ท่านอาจารย์ แล้วขณะไหนสั่ง เพราะจิตเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ โดยฐานะที่เป็นธาตุที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น
ผู้ฟัง ครับผม
ท่านอาจารย์ ฟังคำว่า “อนัตตา” ก็ไม่ได้เข้าใจว่า"อนัตตา" เพราะคิดว่าสั่งได้ ทำได้
ผู้ฟัง เป็นความเข้าใจผิด เห็นผิด
ท่านอาจารย์ ก็ลองหาดูว่า จิตแต่ละขณะ ขณะไหนสั่ง มี หรือไม่ ตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะไหนจิตสั่งอะไร หรือจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง เกิดเมื่อไรก็รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ จิตไม่ได้ทำหน้าที่จำ ไม่ได้ทำหน้าที่ของเจตสิกใดๆ เลยทั้งสิ้น จิตเกิดเมื่อใด เป็นธาตุที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เดี๋ยวนี้คุณอุดรลองสั่งอะไรได้บ้าง ถ้าบอกว่าสั่งได้ ก็ลองสั่งดูว่า สั่งอะไร
ผู้ฟัง สั่งให้มือกำ
ท่านอาจารย์ สั่งให้มือกำ สั่งให้เดิน สั่งให้นั่ง สั่งให้พูด สั่งทั้งวัน เพราะฉะนั้นไม่สามารถเข้าถึงความจริงของธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป ไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากเกิดขึ้นรู้ ทางตา คือ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ รู้แจ้ง ไม่ต้องใช้คำอธิบายใดๆ เลย เพราะมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ขณะที่กำลังเห็น จะสั่งอะไรไม่ได้เลย ไม่สามารถสั่งอะไรได้
ผู้ฟัง บางทีก็คิดไป เป็นการสะสมความไม่รู้มามาก ทำให้คิดว่า สั่งได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะฟังอะไรก็ตามแต่ ธรรมเป็นธรรม เป็นสิ่งที่เป็นจริง พิจารณาแล้วก็สามารถรู้ความจริงของสิ่งนั้นถูกต้อง ถ้าสามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง ก็จะรู้ว่า อะไร จริง อะไร ไม่จริง
อ.วิชัย ขอสนทนากับคุณอุดร ที่กล่าวถึงอนัตตาหมายถึงอะไรที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่กำมือ ไม่ใช่การเดิน แต่ต้องพูดถึงสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด รูปทั้งหมดมีส่วนใดที่เป็นอัตตา โดยที่ไม่ได้กล่าวถึงบุคคลเลย ไม่ได้กล่าวถึงบัญญัติอื่นๆ เลย เรากล่าวถึงลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป มีอะไรที่บุคคลใดสามารถบังคับให้จิตเกิดได้ หรือไม่ หรือเจตสิกเกิดได้ หรือไม่ หรือรูปทั้งหมดเกิดได้ หรือไม่ เพราะถ้ากล่าวถึงความเป็นอนัตตา ต้องกล่าวถึงสภาพธรรม เราจะกล่าวถึงอิริยาบถต่างๆ ว่า บังคับให้เห็นโน่นเห็นนี่ แต่ถ้าพูดถึงสภาพธรรมจริงๆ จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นอัตตามี หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มีครับ
อ.วิชัย จะให้กำมือใช่ หรือไม่ ถ้าพูดถึงสภาพธรรม อะไร ที่เป็นสภาพธรรม และสภาพธรรมที่กล่าวจะเป็นอัตตาได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
อ.วิชัย ตอนนี้ก็พิสูจน์ได้ใช่ หรือไม่ เพราะว่าธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา แม้ปัญญาเองก็เป็นอนัตตาด้วย จะให้เข้าใจอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้สั่งสมมาก็ไม่ใช่ฐานะ คือ ไม่ใช่เหตุที่สมควรแก่ผล เหมือนครั้งพุทธกาลที่พระสาวกต่างๆ ที่ฟังพระธรรม และสามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมได้ หมายความว่าท่านเหล่านั้นสั่งสมมาแล้ว ถ้าได้ฟังเรื่องในอดีตชาติของท่านก็จะเห็นได้ว่า ท่านได้สั่งสมมาแล้ว ได้ฟังธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ด้วย เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็พิสูจน์ได้ เพราะว่าปัญญาก็มีหลายระดับขั้น แม้ขั้นการฟัง เราคงยังไม่กล่าวถึงเรื่องการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ในขั้นการฟัง บางท่านก็ฟังนาน บางท่านก็เพิ่งมาฟัง ให้พิสูจน์เลยว่า เข้าใจแค่ไหน แม้จะกล่าวซ้ำๆ บ่อยๆ เรื่องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ความเข้าใจมีมากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าถ้าเราเทียบ วันๆ หนึ่งอกุศลที่เกิดขึ้นทุกประเภทเลยเกิดพร้อมกับความไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นความพอใจ ความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ หรือความไม่พอใจขุ่นเคืองต่างๆ ในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นพร้อมกับความไม่รู้ทั้งหมด ก็พิจารณาดู ขณะที่พอใจ ขณะนั้นมีสภาพธรรมด้วย แต่ไม่สามารถรู้ได้ เพราะเกิดพร้อมกับอวิชชา คือ ความไม่รู้
ดังนั้นในแต่ละวันก็สั่งสมความไม่รู้มาก แม้ในอดีตชาติต่างๆ ก็มากเช่นเดียวกัน โอกาสจะได้ฟังในบางชาติก็ต้องมีพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และยังดำรงอยู่ที่สามารถจะได้ฟัง และเพิ่มความเข้าใจขึ้นบ้าง เพราะฉะนั้นก็ดูเหตุที่จะให้ปัญญาเกิด ก็เทียบดูกับความไม่รู้ว่า กว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น ก็ต้องอาศัยเวลาเนิ่นนานมาก
ผู้ฟัง คือถ้าเปรียบปัญญาเหมือนพืช แล้วเขาจะเจริญขึ้นไป จะมีเหตุให้ปัญญาเจริญ คือ การฟัง และเปรียบเทียบดูเอาเอง ใช่ หรือไม่
อ.วิชัย ก็ต้องอาศัยฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคผู้ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง และทรงแสดงพระธรรม มีผู้พิจารณาแล้วไตร่ตรอง ถ้ามีข้อสงสัยก็ต้องสอบถาม
ผู้ฟัง ถ้าจะกล่าวถึงการขัดเกลา ทุกคนสะสมมาไม่ว่าจะเป็นสิ่งดี และไม่ดี แล้วจะขัดเกลาได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่า จะขัดเกลาอะไร
ผู้ฟัง ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องทราบว่า สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นเพราะอะไร อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน แต่เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จึงเกิดความติดข้อง ความต้องการ และความเห็นผิด ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้เกิดอกุศลติดตามมามากมาย
เพราะฉะนั้นถ้าจะขัดเกลา ไม่ใช่เราสามารถไปขัดเกลาอกุศลได้ แต่ต้องเป็นความเห็นถูกซึ่งตรงกันข้ามกับความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ยึดมั่นในสภาพธรรมที่ปรากฏ หนทางเดียวคือรู้ความจริงของสภาพธรรม ถ้ายังคงมีความไม่รู้อยู่ จะขัดเกลาได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้ ก็ต้องมีกิเลส มีความติดข้อง เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการก็เกิดโทสะ เมื่อไม่ได้ก็เกิดทุจริตประทุษร้าย
ผู้ฟัง เมื่อมีทั้งอกุศลจิต และกุศลจิตเกิดขึ้น ก็รู้ว่าไม่มีใครบังคับบัญชาให้เกิดได้ เกิดเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาแล้วให้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นก็ยังไม่ใช่สภาพธรรมโดยตรง ยังเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่
ท่านอาจารย์ ที่เกิดเป็นสภาพธรรม หรือไม่
ผู้ฟัง เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ ตอบว่าเป็นนะคะ
ผู้ฟัง แต่ไม่รู้ว่าเป็น
ท่านอาจารย์ ต้องตรง คือใครก็เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมไม่ได้เลย แต่ไม่รู้ความจริงว่า ไม่ใช่ใคร "ไม่ใช่เรา" แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น
เพราะฉะนั้นให้รู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง ขอยกตัวอย่างว่า ถ้าวันหนึ่งเกิดโกรธขึ้นมา ก็รู้ว่า โกรธเป็นสภาพธรรม แล้วถ้าจริงๆ แล้วมีความรู้ว่าเป็นธรรมคืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ฟังว่า สิ่งที่มีจริงเป็นธรรมกำลังปรากฏ แต่เวลาเกิดโกรธแล้ว ก็ไปนึกถึงเรื่องราวต่างๆ เพิกเฉยที่จะเข้าใจลักษณะที่โกรธ ซึ่งกล่าวว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นลักษณะชนิดหนึ่งซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ ทุกขณะก็เป็นลักษณะของธรรมประเภทต่างๆ กว่าจะรู้ ให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ฟังแล้วรู้เลยทั้งหมด แต่ฟังแล้วเพิกเฉย ก็รู้ตัวด้วยว่า เพิกเฉย แต่ไม่รู้ว่าที่เพิกเฉยนั้นก็คือความไม่รู้ และการลืมไปแล้วว่า ขณะนั้นได้ฟัง และก็รู้ว่า ขณะนั้นเองก็ต้องเป็นธรรม แต่ไม่รู้ลักษณะนั้นในขณะนั้น เพราะเหตุว่าเพิกเฉยที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง แล้วที่กล่าวว่า เมื่อมีความรู้ แล้วก็รู้จักลักษณะของสภาพธรรมจะละคลายได้
ท่านอาจารย์ เร็วมากเลย เมื่อมีความรู้ และรู้จักลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ละคลายได้ ไปจนถึงการละคลาย เพียงสั้นๆ ว่า เมื่อมีความรู้ แต่ไม่ใช่เพียง “เมื่อ” ซึ่ง เมื่อไรก็ไม่ทราบ แต่ให้ทราบความลึกซึ้งของธรรมในขณะนี้ว่า ที่ฟังแล้วต้องเข้าใจ แล้วต้องรู้ว่า เป็นสภาพธรรมในขณะนี้
เข้าใจ “เห็น” หรือไม่ กำลัง"เห็น"
ผู้ฟัง “เห็น” ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ นี่ตอบตามที่ได้ยิน ได้ฟังว่า “เห็น” เป็นสภาพธรรม แต่เข้าใจสภาพที่เห็นที่กำลังเห็นว่า เป็นธรรม หรือไม่ เป็นธรรมคือไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเห็น เข้าใจอย่างนี้ หรือไม่ ในขณะที่กำลังเห็น
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นฟัง เริ่มเข้าใจ กว่าจะเข้าใจจริงๆ นาน หรือไม่ เพราะเหตุว่าได้ฟังแล้ว ขณะนี้ถ้าถูกถามว่าเห็นอะไร จะตอบว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ต้องตอบว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
ท่านอาจารย์ ต้องตอบ หรือเข้าใจ หรือปกติเห็นอะไร
ผู้ฟัง ปกติเห็นเป็นท่านอาจารย์ เห็นเป็นเพื่อน
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเรื่องตรง ถ้าไม่คิด มีแต่เพียงเห็นอย่างเดียว จะมีอะไร หรือไม่ จะมีใครในสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือไม่ ถ้าไม่คิด มีแต่เพียงสีต่างๆ ที่ปรากฏ และสิ่งนี้ปรากฏได้เพราะสามารถกระทบกับจักขุปสาท เป็นรูปที่กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วมีธาตุเห็นเกิดขึ้นเห็น นี่คือความจริง
เพราะฉะนั้นความจริงเป็นความจริง กว่าจะเข้าใจธรรม ไม่ใช่เรา แต่เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดร่วมกัน และดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นแม้แต่“เห็น”ในขณะนี้ซึ่งได้ยินได้ฟังว่า เป็นธรรม แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม เพียงปรากฏได้ แต่ทุกครั้งที่เห็นก็เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่คือการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก จึงมีคำกล่าวว่า ธรรมปรากฏพร้อมนิมิต การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วทำให้ปรากฏเป็นสัณฐาน พอเห็นแล้วก็สามารถที่จะเห็นสัณฐานของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นต้องมีความละเอียดที่จะเข้าใจธรรมที่ต่างประเภท เพราะเหตุว่าเห็นไม่ใช่คิด ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อน จริง หรือไม่ คือทุกคำที่ได้ยินไม่ใช่เชื่อ แต่พิจารณาเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะจริงๆ แล้ว เห็นก็แค่เห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แล้วก็ดับแล้วเร็วมาก แต่ทุกครั้งปรากฏเหมือนเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะคิด โดยไม่รู้ตัวเลย คิดถึงรูปร่างสัณฐานก็จำได้อย่างรวดเร็วว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม ก็จะรู้ว่า การฟังธรรมเข้าใจแค่ไหน เข้าใจเรื่องราว แต่สภาพธรรมก็ไม่ได้ปรากฏอย่างที่ได้ฟัง เพราะต้องเป็นปัญญาที่สามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้นขณะนี้ฟังแล้วเข้าใจ หรือไม่ ว่า “เห็น”ไม่ใช่"คิด" เพราะเหตุว่าแม้ไม่เห็นก็คิดได้ คิดถึงรูปร่างสัณฐานของอะไร ได้ที่เคยเห็น เพราะฉะนั้นขณะนี้ถามว่า กำลัง"เห็น" หรือกำลัง"คิด"
ผู้ฟัง เห็นแล้วก็คิด
ท่านอาจารย์ แต่ตอบโดยที่ไม่รู้ลักษณะของ"เห็น" ซึ่งต่างกับ"คิด" เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะอบรมที่จะละคลาย ที่จะขัดเกลา ไม่ใช่ขณะอื่นเลย ถ้ายังคงไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม อย่างไรๆ ก็ยังต้องมีกิเลส คือ ความไม่รู้ และอกุศลทั้งหลายมากมาย
เพราะฉะนั้นกว่าจะละคลายอกุศลได้ ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจ เริ่มจากขั้นการฟัง ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏโดยการฟังถึงความลึกซึ้ง ความละเอียด คัมภีร์ของสิ่งที่ปรากฏ ก็จะเป็นผู้ที่ประมาท เข้าใจว่าฟังธรรม รู้จักธรรม แต่ความจริงถ้าฟังธรรมก็คือว่า ขณะนี้เป็นธรรม เริ่มจากขณะนี้เป็นธรรม ถูกต้อง หรือไม่ ฟังธรรม แล้วก็มีธรรมปรากฏ แล้วก็ฟังธรรม คือลักษณะของธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ให้เข้าใจความต่างกันของลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จะมีเราได้อย่างไร เพราะไม่ว่าอะไรก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะทั้งนั้น
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 421
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 422
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 423
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 424
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 425
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 426
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 427
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 428
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 429
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 430
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 431
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 432
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 433
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 434
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 435
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 436
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 437
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 438
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 439
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 440
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 441
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 442
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 443
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 444
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 445
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 446
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 447
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 448
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 449
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 450
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 451
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 452
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 453
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 454
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 455
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 456
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 457
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 458
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 459
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 460
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 461
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 462
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 463
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 464
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 465
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 466
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 467
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 468
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 469
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 470
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 471
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 472
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 473
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 474
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 475
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 476
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 477
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 478
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 479
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 480