พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 441


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๔๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง สัญญาก็คือความจำ แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่จำ

    ท่านอาจารย์ แล้วกำลังตอบนี่เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นความคิดแล้วก็ตอบ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรา หรือเป็นสภาพธรรมที่คิด

    ผู้ฟัง ยังเป็นเราที่ตอบอยู่

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นผู้ตรง มิฉะนั้นไม่ขัดเกลา มิฉะนั้นไม่ได้สาระจากการฟังพระธรรม เพราะไม่เห็นความลึกซึ้งของธรรม

    ผู้ฟัง รูปกับกายของเรา เป็นอันเดียวกันใช่หรือไม่

    อ.ประเชิญ โดยมากเวลาพูดถึงสิ่งนี้ จะพูดรวม เป็นที่เข้าใจกัน คำว่า “รูปกาย” บางทีท่านก็ใช้รวมกันด้วย คือ ใช้คู่กัน แต่ความหมายของคำว่า “รูป” ก็กว้างกว่านั้น ซึ่งถ้าจำแนกรูปโดยนัยต่างๆ ที่ท่านกล่าวไว้ในรูปปรมัตถ์ ก็มีนัยที่กว้างขวาง แต่ถ้ากล่าวเจาะจงว่า “รูปกาย” คือ เป็นที่ประชุมของรูป คือ มหาภูตรูป และอุปาทายรูป ก็จะมุ่งมาที่รูปร่างกายนี้เป็นหลัก

    ผู้ฟัง ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เรากำหนดอารมณ์ว่า กายนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงอารมณ์ว่า เป็นรูปกายเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา เพียงเท่านั้น หรือ หรือกำหนดเพียงว่า ให้เป็นกายที่เป็นของไม่มีตัวตน

    อ.ประเชิญ ในการรู้ของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่ใช่รู้แบบทั่วๆ ไป คือ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่มีความรู้มีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม ก็จะศึกษาในรูปกายของตน และของผู้อื่น โดยนัยของเทศนาแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยนัยที่ว่า เป็นการรู้รูป เพราะว่าในสติปัฏฐาน ๔ มีกาย เวทนา จิต และธรรม แม้เรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในอรรถกถาท่านก็แก้ไว้แล้ว กายในที่นั้นหมายถึงมหาภูตรูป และอุปาทายรูป ซึ่งการรู้โดยปกติของเราทั่วไป แม้ว่าก่อนการศึกษา เรารู้ร้อน เย็นเราก็รู้ แข็งเราก็รู้ อ่อนเราก็รู้ ตึงไหวเราก็รู้ แต่ไม่รู้สภาพจริงๆ ของรูปที่เป็นสภาวะนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ารู้พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่รู้รูปกาย ต้องรู้ที่แตกต่างจากรู้ทั่วๆ ไป ที่ท่านเปรียบเหมือนสุนัขจิ้งจอก หรือสุนัขบ้าน เวลายืน เดิน นั่ง นอน หรือสัมผัสร้อนหนาว มันก็รู้เหมือนกัน แต่การรู้นั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อความละคลาย ไม่ได้เป็นไปเพื่อการหน่าย ไม่ได้เป็นไปเพื่อตรัสรู้แต่อย่างใด แต่การรู้ของผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานก็รู้ในลักษณะ ในความเป็นธรรมว่า แต่ละอย่างที่กำลังปรากฏนั้นเป็นธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น ไม่ได้ยึดถือในลักษณะร้อน หรือรูปอื่นๆ ปรากฏ ต่างกับความร้อนของคนทั่วๆ ไปที่รู้ในลักษณะที่ร้อน ส่วนรายละเอียดตรงนี้ ขอกราบเรียนท่านอาจารย์สนทนา

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบคุณรักษ์อยากรู้ชื่อ หรืออะไร

    ผู้ฟัง อยากรู้อาการครับ ที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ โดยมากฟังธรรม ทุกคนจะได้ยินคำว่า “สติปัฏฐาน” ถูกต้องหรือไม่ และธรรมคืออะไร และสติปัฏฐานคืออะไร มีผู้เริ่มที่ฟังหลายท่าน ก็อยากให้ทุกท่านได้เข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังในภาษาไทยให้เข้าใจ และก็จะตรงกับภาษาบาลี

    เพราะฉะนั้นคำถามแรกของคุณรักษ์ว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง กายเหมือนรูปกายใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า “รูป” แล้วได้ยินคำว่า “กาย” แล้วในภาษาไทยคิดว่าอย่างไร เอาภาษาไทยก่อน

    ผู้ฟัง ในภาษาไทย รูปก็หมายถึงรูป ๒๘

    ท่านอาจารย์ ตามภาษาไทยที่ยังไม่ได้เข้าใจธรรมอะไรเลย คนธรรมดาทั่วๆ ไป เมื่อได้ยินคำว่า “รูปกาย” จะเข้าใจว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าคนธรรมดา กายก็คือตัวเราเอง

    ท่านอาจารย์ นึกถึงกาย แล้วรู้ว่าเป็นรูป หรือ ถึงใช้คำว่า “รูปกาย”

    ผู้ฟัง ไปฟังมาจากสำนักอื่น เขาเรียกว่า “รูปกาย”

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ฟังธรรม จะเข้าใจคำที่ใช้ ไม่ใช่รับมาแล้วก็พูดตามโดยไม่เข้าใจเลย อย่างบางคนจะใช้คำว่า “วิปัสสนา” จะใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร แล้วก็พูดตาม แล้วอาจจะทำตามด้วย ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่ของใคร แต่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้นการฟังคือฟังให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังโดยถ่องแท้ ไม่ใช่ได้ยินคำ แล้วใช้ตาม โดยไม่เข้าใจว่า คำนั้นหมายถึงอะไร

    เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องค่อยๆ เข้าใจ และใช้ให้ถูกต้อง คำว่า “กาย” หมายถึงที่ประชุม ไม่ใช่ ๑ แต่หลายๆ อย่างที่รวมกัน

    เพราะฉะนั้นที่ตัวคุณรักษ์ มีรูปอย่างเดียว หรือมีรูปหลายอย่าง มีแต่ตา ไม่มีหู หรือว่าหูก็มี ตาก็มี จมูกก็มี กายก็มี

    ผู้ฟัง เป็นที่ประชุมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ได้มีอย่างเดียว จึงใช้คำว่า “กา-ยะ” ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า สภาพของรูป ไม่ใช่สภาพรู้ กระทบสัมผัสเมื่อไรแข็ง หรือเย็น หรือร้อน หรืออ่อน หรือตึง หรือไหว มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้

    เพราะฉะนั้นที่ร่างกายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ก็เป็นที่ประชุม ที่รวมของรูปต่างๆ ใช้คำว่า “รูปกาย” ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่รูปหนึ่ง แต่ที่ประชุมของรูป “นามกาย” ใช้ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง นามกายก็คือกายวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ “กาย” หมายถึงที่ประชุม เพราะฉะนั้น “นามกาย” หมายถึงอะไร เห็นหรือไม่ ถ้าเราคิดธรรมเอง เราจะคลาดเคลื่อน แล้วคิดว่าเราอ่านแล้วเราก็เข้าใจ เพราะว่าเราเคยรู้คำว่า “นาม” ในภาษาไทย รู้คำว่า “กาย” ในภาษาไทย แต่จะตรงกับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หรือไม่

    นี่แสดงให้เห็นว่าธรรมไม่ใช่เพียงใครคิดว่า อ่านแล้วเข้าใจได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ต้องเป็นการศึกษาจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ ถ้าเป็นความเข้าใจของแต่ละคำด้วยก็ยิ่งถูกต้อง เช่น กาย เป็นที่ประชุม รูปกาย ไม่ใช่เพียง ๑ รูป มีหลายๆ รูปรวมกัน กายทั้งหมด มีทั้งตา ทั้งหู ทั้งอย่างอื่นที่เป็นรูป แข็ง อ่อน เย็น ร้อน ตึง ไหว เป็นรูปกาย และถ้ากล่าวถึง “นามกาย” กล่าวได้หรือไม่ ใช้คำนี้ได้ หรือไม่

    เพราะฉะนั้นถ้ามีรูปกาย เข้าใจแล้วใช่หรือไม่ และ “นามกาย” ใช้คำนี้ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็แปลว่า ที่ประชุมแห่งนามธรรม

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นหรือไม่ ว่า เวลาจิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งจิต และเจตสิกเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นนามกาย ไม่ใช่กล่าวเฉพาะอย่างหนึ่ง แต่กล่าวถึงในขณะจิตหนึ่งที่เกิดขึ้น ก็เป็นนามกาย เพราะว่ามีนามธรรมเกิดร่วมกัน แล้วอย่างนี้คุณรักษ์จะพูดถึงสติปัฏฐาน หรือไม่

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานแรก กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ เท่านี้ก่อน ว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คืออะไร

    ผู้ฟัง คือ การพิจารณากายเป็นอารมณ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เรา เขา

    ท่านอาจารย์ ใครพิจารณา

    ผู้ฟัง ที่พิจารณา คือ สติ

    ท่านอาจารย์ แล้วสติอะไรที่จะพิจารณา

    ผู้ฟัง คือการระลึกรู้ในเรื่องกาย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ในเรื่อง ถ้าเป็นปัฏฐานต้องมีลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น ไม่ใช่เรื่อง ถ้าเรื่องคือสติขั้นฟัง สติขั้นคิด แต่ไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่เป็นสติปัฏฐาน นี่เป็นความต่างกัน จากสติที่เกิดจากการฟังเริ่มเข้าใจ ค่อยๆ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งจนสามารถจะรู้ลักษณะขณะใด ขณะนั้นต่างกับสติที่ฟังเข้าใจ แต่ยังไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น แม้ลักษณะของสติก็ต่างกัน ต้องเป็นความละเอียดที่จะต้องเข้าใจจริงๆ และตรงด้วย มิฉะนั้นสับสน คิดว่าเราเข้าใจสติปัฏฐาน เข้าใจกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะบอกให้ระลึกรู้ที่กาย แต่ใครระลึก และสติอะไร ที่ระลึก และขณะที่ระลึก สตินั้นมีลักษณะอย่างไร และสตินั้นรู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็งของกาย

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้รู้หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ เป็นสติปัฏฐาน หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่เป็นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ และเมื่อไรเป็น

    ผู้ฟัง ก็สติปัฏฐานยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานยังไม่เกิด แต่พูดเรื่องสติปัฏฐาน หรือว่ายังไม่มีความเข้าใจพอที่สติจะเกิดระลึกได้ เพราะสติเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจเพียงพอ

    ท่านอาจารย์ ส่วนมากจะมุ่งไปที่สติปัฏฐาน มุ่งที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ขอถามคุณรักษ์ซ้ำอีกครั้งว่าขณะนี้กำลังเห็น หรือกำลังคิด

    ผู้ฟัง ขณะนี้กำลังเห็น และคิดตามมาครับ

    ท่านอาจารย์ ตอบได้แต่สติปัฏฐานเกิดได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสามารถรู้จริงตามที่ตอบหรือไม่ ว่า เห็นไม่ใช่คิด เพราะฉะนั้นขณะนี้เห็นก็มี คิดก็มี ต่างขณะกัน ใครตอบได้ว่า ขณะไหนเป็นเห็น ขณะไหนเป็นคิด

    ผู้ฟัง มันซ้อนๆ กันอยู่

    ท่านอาจารย์ ใครตอบได้ เห็นก็เห็น กำลังเห็น คิดก็คิด กำลังคิดด้วย แต่ใครจะตอบได้ว่า ขณะไหนเห็น และขณะไหนคิด

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปถึงสติปัฏฐานดีหรือไม่ ให้มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังซึ่งขณะนี้เป็นความจริงอย่างนี้ แล้วจะรู้ความต่างกันของขณะที่สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานเกิดเมื่อสติปัฏฐานเกิดจึงสามารถรู้ได้ แต่ถ้าสติปัฏฐานยังไม่เกิด แล้วก็ยังไม่รู้อะไร แล้วจะไปพูดถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือสติปัฏฐานใดๆ ก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะไม่ได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถามอีกครั้งว่าขณะนี้เห็น หรือคิด ใครตอบได้ หรืออะไรตอบได้

    ผู้ฟัง (ไม่มีเสียง)

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ตอบอย่างนี้ใครๆ ก็ตอบได้ แต่ที่จะรู้จริงว่า ขณะนี้เห็น หรือขณะนี้คิด อะไรจะตอบได้ เพราะฉะนั้นใครที่จะตอบได้จริงๆ ว่า เห็นไม่ใช่คิด

    ผู้ฟัง ถ้าจะตอบได้จริงๆ ต้องเข้าใจจริงๆ เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แล้วถึงจะตอบได้

    ท่านอาจารย์ แสดงว่าขณะนี้ไม่สามารถตอบได้ ใช่หรือไม่ เพราะไม่ใช่ปัญญาที่ถึงระดับที่จะรู้จริงๆ ว่า เห็นเป็นเห็น แล้วคิดเป็นคิด เวลาตอบธรรมดา ฟังมาก็ตอบได้ เห็นไม่ใช่คิดแน่นอน ไม่เห็นก็ยังคิด หรือว่าเห็นแล้วคิดตามโดยไม่รู้ตัวเลย เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏ ปรากฏพร้อมนิมิต รวดเร็วขนาดที่ว่าเหมือนพร้อมกัน ทำให้จำได้ว่าเห็นอะไร

    เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการแยกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน ก็ยังคงรวมกันเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ให้ทราบว่า ผู้ที่รู้แน่นอนว่า เห็นไม่ใช่คิด ต้องมีจากการอบรมเจริญปัญญา เมื่อไร ขณะนี้ทุกคนตอบว่า เห็นมี และคิดมี แต่ถ้าไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะที่เห็นยิ่งขึ้น จะรู้ไหมว่า เห็นนั้นไม่ใช่คิด หรือว่าเวลาที่กำลังคิด ไม่มีเห็นเลย กำลังเริ่มเข้าใจสภาพที่คิด ซึ่งยาก เพราะเหตุว่าเห็นแล้วคิดนี่ต่อกัน แยกไม่ออกเลย

    อย่างขณะนี้โดยการศึกษาทราบว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปก็จริง มีภวังคจิตเกิดคั่น และทางใจรับรู้ต่อทันที เหมือนกันเลยกับสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู สนิท ไม่รู้เลยว่า ขณะนี้อะไรเกิดดับสืบต่อเป็นอย่างไร ถูกต้องหรือไม่

    เพราะฉะนั้นใครจะตอบได้ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏทางจักขุทวาร หรือทางมโนทวารซึ่งมีภวังคจิตคั่นแล้ว ใครจะตอบได้ ถ้าไม่มีปัญญาระดับที่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า ขณะนั้นสภาพธรรมนั้นอย่างเดียวที่ปรากฏ เพราะเริ่มเข้าใจขึ้น ไม่ใช่ว่าต้องไปทำอะไรเลย ทำไม่ได้ แต่สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ และเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่กว่าจะเข้าใจขึ้น เข้าใจขั้นฟังก็ยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าขณะที่ฟังนี้เองก็มีลักษณะที่ปรากฏ ขณะนั้นรู้ได้ว่า ไม่เหมือนกับขณะที่ฟังแล้วลักษณะนั้นไม่ได้ปรากฏจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้จะรู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด เริ่มที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง แต่แม้กระนั้นถ้าไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งถึงความสมบูรณ์ที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ ก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า ขณะนี้แข็งที่ปรากฏ ปรากฏทางกายทวาร หรือทางมโนทวาร เพราะสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    แต่จากการฟังก็สามารถเข้าใจได้ว่า แข็งปรากฏกับกายวิญญาณ และเมื่อแข็งดับไปแล้ว ก็มีจิตที่รู้แข็งนั้นต่อทางใจ โดยไม่ต้องอาศัยกายปสาท แต่สามารถรับต่อได้ แล้วก็มีการรู้ลักษณะของสิ่งที่กระทบกายสืบต่อ แสดงว่าสนิทแค่ไหน เพราะไม่ปรากฏการดับไปของสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกายทวาร เพราะว่าทางมโนทวารเกิดคั่น และรับรู้ต่ออยู่ตลอดเวลา

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมเข้าใจขึ้นๆ จนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดระลึกเมื่อใด ก็จะรู้โดยที่ไม่ต้องถามใครเลย เพราะว่าลักษณะของสภาพที่กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ต่างกับขณะที่เพียงฟังเข้าใจ แล้วก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป

    เพราะฉะนั้นที่จะตอบได้ก็คือ ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ปัญญาต้องรู้ถูกต้อง รู้ตรงตามความเป็นจริง ปัญญาผิดไม่ได้ เพราะเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

    คุณรักษ์ยังจะถามถึงสติปัฏฐานไหนอีกหรือไม่ ทุกอย่างสติสามารถระลึกได้เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงพอที่จะรู้ว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ เวทนาคืออะไร

    ผู้ฟัง ระลึกรู้ว่า สุข ทุกข์ หรือไม่สุข ไม่ทุกข์

    ท่านอาจารย์ เวทนาเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ หรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเป็นเวทนา ไม่เป็นอื่น

    ผู้ฟัง เพราะเป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ทำไมไม่เป็นเจตสิกอื่น ทำไมไม่เป็นสัญญาเจตสิก ทำไมเป็นเวทนาเจตสิก

    ผู้ฟัง เพราะเวทนาเป็นความรู้สึกทางจิต และกาย

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพที่รู้สึก ถ้าเข้าใจสภาพความรู้สึก ต้องใช้คำว่า “เวทนา” หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้รู้สึกอย่างไร

    ผู้ฟัง รู้สึกสบาย

    ท่านอาจารย์ สบายจริงๆ เป็นความรู้สึก รู้สึกแล้วต้องเรียกอะไร หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเรียกอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ แต่รู้สึกเป็นรู้สึก ภาษาไทยเป็นรู้สึก ภาษาบาลีเป็นอะไร นี่คือยังไม่ต้องไปพูดเรื่องสติปัฏฐานเลย ถ้าเข้าใจธรรมแล้วไม่ต้องห่วง สติปัฏฐานเกิดแน่นอน และก็เป็นสติปัฏฐานจริงๆ ด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เป็นชื่อที่จำ และจะเรียกว่าเป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือไม่ มี หรือไม่?ตามอยู่ตลอดเวลา

    ถ้าไม่รู้ว่า ขณะนี้รู้สึกอะไร จะเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเลย

    ผู้ฟัง ลักษณะโกรธปรากฏที่เกิดร่วมกับจิต เกิดพร้อมจิต แล้วดับพร้อมจิต แต่ไม่ใช่จิต ขอถามว่า ลักษณะของโทสมูลจิตกับโทสเจตสิกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เจตสิกเป็นจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะที่ปรากฏ ตอบไม่ได้เลยใช่หรือไม่ ว่า เป็นลักษณะของจิต หรือเจตสิก

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏเปลี่ยนลักษณะที่ปรากฏให้เป็นอย่างอื่นได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกชื่อ แต่พอนึกถึงชื่อ เอ๊ะ นี่จิต หรือเจตสิก คิดอย่างนั้นได้ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ขอเปลี่ยนคำถามใหม่ว่า ลักษณะของโทสมูลจิตเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตไม่ว่าจะมีเจตสิกใดๆ เกิดร่วมด้วย จะเป็นโมหเจตสิก หรือปัญญาเจตสิก หรือโลภเจตสิก โทสเจตสิก หรือเจตสิกใดๆ ก็ตามแต่ จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นใช้คำว่า จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ เช่น เสียง ทุกคนได้ยินเสียง แต่ความจริงธาตุที่ได้ยินเกิดขึ้น เสียงจึงปรากฏ ขณะที่เสียงใดปรากฏ จะเปลี่ยนจิตไม่ให้รู้แจ้งในเสียงที่ปรากฏขณะนั้นไปรู้อย่างอื่นได้หรือไม่ เสียงมีหลายเสียง ขณะหนึ่งก็เสียงหนึ่ง อีกขณะหนึ่งก็อีกเสียงหนึ่ง

    ทำไมจึงรู้ว่าทั้ง ๒ เสียงไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่จิตเป็นสภาพที่ได้ยินเสียง แต่เป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียงที่ปรากฏแต่ละเสียงซึ่งต่างกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้คำอธิบายใดๆ เลย เพราะไม่รู้ว่าจะอธิบายว่าอย่างไร ก็ไม่เหมือนกับขณะที่จิตกำลังรู้แจ้งในเสียงนั้นจริงๆ เหมือนอย่างรส รสเปรี้ยว มีหลายรส มะขาม มะนาว น้ำส้ม อธิบายอย่างไร จะเหมือนกับขณะที่กำลังลิ้มรสนั้น รสนั้นปรากฏ แจ้ง เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเจตสิกแต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิตต่างทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ในขณะที่เกิดร่วมกับจิตที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยสภาวะที่จิตเป็นสภาพที่ไม่ได้จำ ไม่ได้โกรธ ไม่ได้ชัง ไม่ได้รัก รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างเดียว นั่นเป็นลักษณะของจิต และลักษณะของเจตสิกแต่ละอย่างก็ตามสภาพของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท

    เพราะฉะนั้นเจตสิกจะเป็นจิตไม่ได้ และจิตก็จะเป็นเจตสิกไม่ได้ แม้ว่ามีเจตสิกเกิดร่วมกัน และต่างคนต่างก็ทำกิจ แต่ก็ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

    ผู้ฟัง แต่ลักษณะของโทสมูลจิตเป็นลักษณะที่ปรากฏของนามธรรมกับนามธรรม ก็มีความสงสัย อยากได้คำอธิบายเพิ่มเติม แต่ไม่คิดว่า ปัญญาจะรู้ลักษณะนั้นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ อยากได้ความเข้าใจว่า จิตต่างกับเจตสิก ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ค่ะ ต่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ และเจตสิกแต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิตก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ

    ผู้ฟัง จากการศึกษาก็รู้ว่า โทมนัสเวทนาจะต้องเกิดในขณะที่โทสมูลจิตเกิด แล้วอย่างนี้จะทราบได้อย่างไร?ว่า สภาพธรรมปรากฏคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ก็กำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นว่าเป็นธรรมลักษณะนั้น ไม่เป็นลักษณะอื่น ทำไมไม่รู้ความจริงว่า นั่นเป็นธรรมที่มีลักษณะนั้นที่เปลี่ยนไม่ได้เลย เกิดแล้วด้วย ไม่ใช่ของใครเลย เกิดแล้วปรากฏเป็นลักษณะอย่างนั้นเอง เปลี่ยนไม่ได้เลย แล้วไปคิดเรื่องอื่น แทนที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนั้นลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมเกิดแล้วปรากฏเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    6 ม.ค. 2567