พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 442
ตอนที่ ๔๔๒
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑
ท่านอาจารย์ ทำไมไม่รู้ความจริงว่า นั่นเป็นธรรมที่มีลักษณะนั้นที่เปลี่ยนไม่ได้เลย เกิดแล้วด้วย ไม่ใช่ของใครเลย เกิดแล้วปรากฏเป็นลักษณะอย่างนั้นเอง เปลี่ยนไม่ได้เลย ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น แทนที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนั้นลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรม เกิดแล้วปรากฏเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น
ผู้ฟัง แล้วถ้ารู้ลักษณะของจิต จะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ กำลังเห็นอะไร
ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
ท่านอาจารย์ กำลังได้ยินอะไร
ผู้ฟัง ได้ยินเสียง ถ้าลักษณะที่ปรากฏคือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ต้องมีจิตที่รู้ลักษณะนั้น หรือ
ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดจิตเลย บางขณะมีเจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดกับจิตประเภทนั้นๆ ทำให้จิตนั้นมีลักษณะที่มีเจตสิกนั้นๆ เกิดร่วมด้วย ต่างๆ กันไป แต่จิตเป็นจิต
ผู้ฟัง แต่จิตก็ไม่ใช่เจตสิก กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า จิตต่างกับเจตสิกอย่างไร
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จิตไม่โกรธ จิตไม่ติดข้อง จิตไม่ขยัน จิตไม่เกียจคร้าน จิตไม่เบื่อ เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น หน้าที่เดียว ไม่ว่าอะไรจะปรากฏ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง คือ รู้จริงๆ ในลักษณะซึ่งหลากหลายต่างกันไปอย่างไรก็ตาม แต่ที่ลักษณะนั้นปรากฏ ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้แจ้งในสภาพธรรมนั้น
ผู้ฟัง ถ้าจิตรู้แจ้งในอารมณ์ที่ปรากฏ เหตุใดจิตถึงแบ่งออกเป็นหลายๆ ประเภท
ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับหรือไม่ จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ จิต ๑ ขณะ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทั้งหมด ๕๒ ประเภท หรือไม่ ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ทั้งหมด หรือไม่ ไม่ใช่ ด้วยเหตุนี้จิตจึงหลากหลายตามเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยอย่างหนึ่ง ตามประเภทที่เป็นชาติเกิดขึ้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา โดยภูมิซึ่งก็ต่างกันไปอีก
ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นชาติไทย ชาติแขก ชาติจีน ชาติฝรั่ง เขาก็พูดภาษาของเขา ซึ่งเป็นสมมติบัญญัติ แต่เมื่อเป็นปรมัตถ์แล้วเหมือนกัน นี้คือธรรมทนต่อการพิสูจน์
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เวลาฟังต้องพิจารณาแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น มีคำว่า ปรมัตถธรรม กับบัญญัติ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ปรมัตถธรรมคือลักษณะของสภาพธรรมนั้น เป็นเฉพาะลักษณะจริงๆ ซึ่งไม่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามที่จำ หรือเข้าใจ แต่ทำไมมีบัญญัติ ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม จะไม่มีบัญญัติเลย ถูกต้องหรือไม่
แต่เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ถ้าเพียงแต่สภาพธรรมอย่างหนึ่งปรากฏ สั้นมาก เล็กน้อยมาก ชั่วขณะนั้นจะรู้ได้หรือไม่ว่าเป็นอะไร เพียงนิดเดียว รู้ไม่ได้เลย แต่สัญญาจำแม้แต่เพียงสิ่งที่ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อย แต่สิ่งที่ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยที่สั้นมากปรากฏเกิดดับซ้ำมากมาย จนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิต สัณฐาน ความรวดเร็วของสภาพธรรมก็คือขณะนี้เป็นอย่างนี้ แต่ไม่เห็นอย่างนี้ เพราะว่าการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก ไม่ทำให้ปรากฏการเกิดขึ้น และการดับไป และการสืบต่อ
เพราะฉะนั้นเมื่อมีสภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏ มีการเห็น แต่ถ้าเป็นการเห็นเพียงขณะเดียว นิดเดียว จะรู้หรือไม่ ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ไม่สามารถรู้ได้ แม้ว่าสัญญาเริ่มจำ และถ้าสิ่งนั้นเกิดดับสืบต่อมากจนกระทั่งปรากฏนิมิตตะ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ปรากฏเหมือนพร้อมกับนิมิต เช่น ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏพร้อมกับนิมิตเลย เพราะว่าไม่สามารถเห็นการเกิด และดับไปทีละลักษณะเล็กน้อย จนกระทั่งปรากฏเป็นนิมิตได้
ด้วยเหตุนี้ขณะใดก็ตามที่จำ และคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นไม่ต้องเรียกชื่อเลย แต่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น เห็นแก้วน้ำ เห็นแก้วน้ำเป็นของธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่จริงๆ มีเห็นแน่นอน แล้วมีสิ่งที่ปรากฏได้ให้เห็นแน่นอน แต่เกิดดับรวดเร็วจนกระทั่งมาพร้อมกับนิมิต เป็นรูปร่างที่จำได้ว่า นี่เป็นแก้วน้ำ
เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมจริงๆ ก็คือสภาพธรรมที่เกิดดับ แล้วก็ไม่รู้ความจริงจนปรากฏเป็นนิมิต ทำให้บัญญัติรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นขณะนี้เห็นคน บัญญัติจากรูปร่างสัณฐานที่ปรากฏแล้วจำได้ เห็นเก้าอี้ ขณะนั้นก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เหมือนกับสิ่งที่เราเรียกว่า “คน” หรือเก้าอี้ แต่ว่าการเกิดดับอย่างรวดเร็วพร้อมนิมิต ก็ทำให้จำลักษณะของนิมิตที่ต่างกันเป็นบัญญัติต่างๆ ไม่ต้องเรียกว่า โต๊ะ แต่เห็นเป็นโต๊ะ ใช่ไหม
ไม่ต้องเรียกว่าจาน สุนัขเห็นจาน คนเห็นจาน มีลักษณะของสีสันที่ปรากฏพร้อมนิมิต สุนัขไม่ต้องเรียกว่าจานเลย มีอาหารอยู่ในจานด้วย แต่คนก็เหมือนกันเลย คือ หลังจากที่เห็นดับไปแล้วก็มีบัญญัติ การทรงจำ การรู้นิมิตนั้นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นจิตของใคร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือใครก็ตามแต่ เพราะนี่เป็นปรมัตถธรรม ต้องเกิดดับสืบต่อเป็นอย่างนี้ และปรากฏให้จำได้เป็นบัญญัติต่างๆ
เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม บัญญัติไม่มี แต่แม้ปรมัตถธรรมมีจริง รู้ปรมัตถธรรมหรือไม่ หรือรู้เพียงบัญญัติของปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าปรมัตถธรรมตัวจริงๆ เกิดแล้ว ดับแล้ว หมดแล้ว ทุกอย่างไม่เหลือเลย สิ่งที่เหลือคือนิมิตที่ปรากฏให้จำได้ มีธง ๕ สี แล้วมีแดด เงาของธง ๕ สี ถ้าชิดกัน จะรู้หรือไม่ว่า อันไหน? เป็นอันไหน? และสีอะไร? ไม่สามารถจะรู้ได้เลย นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดดับขณะนี้ เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดจริงๆ ดับจริงๆ รวดเร็วมาก แต่สิ่งที่ปรากฏก็คือเพียงนิมิต หรือบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏให้รู้เท่านั้นเอง จนกว่าสามารถรู้ปรมัตถธรรม ลักษณะจริงๆ ที่ถามเมื่อครู่นี้ว่า "กำลังเห็น" หรือกำลัง"คิด" เพียงเท่านี้ เป็นชีวิตประจำวัน แต่ถ้าไม่ใส่ใจ ไม่สนใจว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมที่ละเอียด แล้วที่เป็นจริงๆ อย่างนั้น และปัญญาสามารถเห็นถูกอย่างนั้น ก็ไม่สามารถคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่บัญญัติตลอดเวลาว่า เป็นสิ่งนั้น หรือเป็นสิ่งนี้ เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ขอให้เข้าใจ และถ้าเข้าใจขั้นต้น จะเข้าใจเพียงเล็กน้อยคร่าวๆ แต่ถ้าฟังต่อไปก็จะเห็นความละเอียด และความลึกซึ้งของสิ่งซึ่งได้ยินได้ฟังในตอนต้นเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็จะเห็นได้ว่า ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และจะรู้จริงๆ ว่า เวลาที่โลภะเกิดขึ้น มีความติดข้อง บางครั้งมีทิฏฐิ ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย บางครั้งมีความสำคัญตนเกิดร่วมด้วย "เรา" สำคัญหรือไม่ เกิดขึ้นขณะใดให้ทราบว่า ไม่ได้เกิดกับโทสมูลจิต แต่เกิดกับโลภมูลจิต แต่ความรวดเร็ว เวลาที่มานะ ความสำคัญตนเกิดขึ้น ความรู้สึกจะไม่เป็นสุข ไม่สบาย เสมือนว่ามานะเกิดร่วมกับโทสะ แต่ความจริงไม่ใช่เลย มานะจะเกิดเพราะติดข้องในความเป็นเรา เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญในความเป็นเรา
ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรมก็คือไม่เพียงแต่ไปจำจำนวน หรือเผินๆ ว่า โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต แต่เพราะเป็นมูลที่ทำให้สภาพของอกุศลประเภทอื่นเกิดร่วมด้วยได้ อย่างโทสะ ความไม่ชอบใจ มีอะไรที่จะเกิดร่วมด้วย อิสสา ไม่ชอบคนนั้น เพราะฉะนั้นเวลาที่คนนั้นได้ดีมีสุข ไม่สบายใจเลย โทมนัสเวทนาเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นคนที่รักคนที่พอใจได้ดีมีสุข อิสสาเกิดได้หรือไม่
ผู้ฟัง อิสสาไม่เกิด
ท่านอาจารย์ อิสสาเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ขณะใดที่รู้สึกไม่ยินดีด้วยในความสุข ในลาภ ยศ ในสรรเสริญ ในสักการะของคนอื่น เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นลักษณะความไม่แช่มชื่นของจิตซึ่งมีโทสะ ปฏิฆเจตสิกเกิดร่วมด้วย ความรู้สึกอย่างนั้นจึงเป็นอย่างนั้น และขณะนั้นก็ไม่ใช่ลักษณะของโลภะ แต่ต้องเป็นลักษณะที่ไม่ชอบบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็มีอิสสาเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้
นี่ก็คือเข้าใจธรรม ตรงธรรม เป็นคุณบุษกร หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ แต่เมื่อเกิดสภาพธรรมใด รู้ได้เลยว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด เช่น มานะ ความสำคัญเกิดขึ้น รู้เลยว่า เพราะมีความติดข้องในความเป็นเรา แต่ที่น่าอัศจรรย์ อกุศลทั้งหลายสะสมมามากมาย จะไปละให้หมดทันทีไม่ได้ แม้แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่มีความเห็นผิดในการเกิดดับของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ใครเลยสักคนเดียว เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่แม้กระนั้นกำลังของปัญญาก็สามารถดับได้เพียงเฉพาะกิเลสที่ปัญญาระดับนั้นดับได้ เช่น พระโสดาบันไม่สามารถดับมานะได้ พระสกทาคามีก็ดับไม่ได้ พระอนาคามีก็ดับไม่ได้ ต้องถึงความเป็นอรหัตตมรรคเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะดับมานเจตสิกได้
เพราะฉะนั้นเราจะไม่สับสนที่คิดว่า เราจะดับกิเลสอย่างนั้นอย่างนี้ หรือพยายามที่จะไม่ให้กิเลสอย่างนั้นอย่างนี้เกิด ด้วยความเป็นเราที่จะบังคับ ถ้าโดยวิธีนั้นไม่ใช่ปัญญาเจริญ แต่เป็นโลภะเจริญ กั้นด้วยความพอใจ ต้องการให้ผลอย่างนั้นเกิด ก็เลยพยายามทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ดังนั้น ให้เข้าใจว่า โลภะเกิด จะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็ได้ หรือมีมานะเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ไม่พร้อมกัน และในขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นขณะนั้นดูเหมือนไม่เป็นโทษเป็นภัย แต่มีอหิริกะ ความไม่ละอาย อโนตตัปปะ และอุทธัจจะเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง มานะเกิด เกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้นเอง หรือ
ท่านอาจารย์ มานะคืออะไร
ผู้ฟัง มานะคือความเย่อหยิ่งถือตน
ท่านอาจารย์ เพราะมีตน
ผู้ฟัง ตัวมานะจะเกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้น ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่
ผู้ฟัง เกิดกับโลภะได้ด้วยหรือ
ท่านอาจารย์ เวลาโลภะเกิดเป็นมูล จะมีทิฏฐิ ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็ได้ หรือมีมานะ ความถือตัว ความสำคัญตนเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ไม่พร้อมกัน ขณะใดที่มีมานเจตสิกเกิดกับโลภะ ขณะนั้นไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับโลภะ ขณะนั้นไม่มีมานเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง ข้อความในพรหมชาลสูตร พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า สิ่งที่หาได้ยากมี ๗ ประการ เช่น การเป็นมนุษย์หาได้ยาก การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าหาได้ยาก และมีประการหนึ่ง คือ การถึงพร้อมด้วยขณะหาได้ยาก ผมพยายามค้นหาเพื่อทำความเข้าใจ ก็พบข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา ท่านอธิบายไว้ บทว่า ขโณ ตํ มา อุปจฺจคา ความว่า ขณะทั้งหมดนี้คือ ขณะเกิดในปฎิรูปเทส ๑ ขณะที่มีอายตนะภายใน ๖ ไม่บกพร่อง ๑ ขณะที่มีการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ชื่อว่า ย่อมก้าวล่วงบุคคลที่ไม่เจริญโยคะอย่างนี้นั้น ขณะอย่าได้ก้าวล่วงเธอเสียเลย
แล้วก็มีคำขยายว่า บทว่า ขณาตีตา ความว่า บุคคลเหล่าใดล่วงเลยขณะ ขณะนั้นล่วงเลยบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นย่อมยัดเยียดกันอยู่ในนรก โศกเศร้าอยู่ในนรกนั้น เสวยทุกข์ใหญ่
คำว่า “ถึงพร้อมด้วยขณะ” เป็นอย่างไรกันแน่ ท่านกล่าวไว้อีกข้อความหนึ่งว่า จักร ๔ คือ ปฏิรูปเทสวาโส สปฺปุริสูปนิสฺสโย อตฺตสมฺมาปณิธิ และ ปุพฺเพกตปุญฺญตา ทั้ง ๔ นี้ก็เป็นขณะ ซึ่งคำว่า ถึงพร้อมด้วยขณะ จะหมายถึงว่า ที่เราเกิดเป็นมนุษย์ ก็หาได้ยากอยู่แล้ว แต่มาพบพระพุทธเจ้าด้วย ได้มาฟังพระสัทธรรมด้วย ก็ถือว่าอยู่ในปฏิรูปประเทศแล้ว ได้พบสัตบุรุษแล้ว ถ้าหากว่าอยู่ในศีลสัจจะ ปฏิบัติตนดีแล้ว ตั้งตนไว้ชอบด้วย และการได้มาพบพระพุทธเจ้าก็ดี ได้ฟังพระสัทธรรมก็ดี ถือว่าเป็นผู้ทำบุญไว้ในกาลก่อนด้วย ผมก็ยังไม่รู้ว่า ความถึงพร้อมด้วยขณะนี้ จะหมายเอาทั้งหมด หรืออย่างไรว่า ใน ๗ หัวข้อที่ผมกราบเรียนข้างต้นว่า การเป็นมนุษย์หาได้ยากก็ดี การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าหาได้ยากก็ดี พระสัทธรรมหาได้ยากก็ดี การฟังพระสัทธรรมหาได้ยากก็ดี รวมทั้งการถึงพร้อมด้วยขณะหาได้ยาก จะต้องเป็นเรื่องที่มาประชุมพร้อมกันหมดทีเดียวหรือไม่ รวมถึงปฏิรูปประเทศด้วย การคบสัตบุรุษด้วย การตั้งตนไว้ชอบด้วย เป็นผู้มีบุญกระทำไว้ในกาลก่อนด้วย ผมปัญญาน้อย อ่านแล้วแทนที่จะเข้าใจ ก็งง สับสนวุ่นวายไปหมด ก็เลยเก็บความสงสัยมากราบเรียนถามท่านอาจารย์ เพื่อขอความรู้ความกระจ่างในหัวข้อธรรมเหล่านี้ด้วยครับ
ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นมนุษย์แล้วใช่หรือไม่ แล้วก็อยู่ในประเทศที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังธรรมด้วย เพราะฉะนั้นก็อย่าให้ขณะล่วงเลยไป
ผู้ฟัง มีข้อความต่อไปอีกว่า ถ้าคนไหนปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป คนนั้นจะยัดเยียดอยู่ในนรก เสวยทุกข์ใหญ่
อ.อรรณพ ข้อความที่ท่านนำมากล่าว เป็นข้อความที่ไพเราะ และเป็นข้อความที่เตือนมาก ที่ว่า อย่าล่วงเลยขณะไป และพระธรรมที่ทรงแสดง อย่างเรื่องของขณะก็เป็นจริงแม้โดยขั้นต้น หรือ โดยกว้างๆ จนกระทั่งละเอียดถึงขณะจิต ที่ท่านสงสัยเพราะมีหลายนัย ทั้งโดยจักร ๔ ก็มี และโดยยุค ๔ ก็มีคือการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ฟังพระธรรมก็รู้แจ้ง เพราะฉะนั้นท่านแสดงธรรมหลายนัย แต่ว่าเป็นจริงตั้งแต่ขั้นกว้างๆ ตั้งแต่เกิดมาเป็นมนุษย์ในยุคที่มีพระธรรม ก็ควรที่จะศึกษา ควรที่จะฟัง แต่ที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูล ก็คือว่า ขณะนี้ล่วงเลยขณะหรือไม่ แม้ว่าเราจะมานั่งฟังอยู่ที่นี่ แม้ผู้ไม่สนใจศึกษาธรรมเลย เขาก็อาจไปทำการทุจริตมากมาย ขณะนั้นก็ล่วงเลยขณะมาก อันนั้นไปอบาย ไปนรก ด้วยผลของอกุศลกรรมก็มี หรือไม่ได้เจริญปัญญาจนดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เป็นพระโสดาบัน ก็มีโอกาสที่จะต้องไปอบายแม้ว่าศึกษาธรรมก็ตาม แต่ขณะที่เรานั่งฟังขณะนี้ ขณะที่เราฟังแล้วเข้าใจ ขณะนั้นก็ไม่ล่วงเลยขณะ ก็คือเป็นขณะที่มีปัญญาขั้นฟัง คือ สุตมยปัญญา หรือมีการพิจารณาถึงธรรมที่ฟังแล้ว คือ จินตามยปัญญา หรืออบรมเจริญสติปัฏฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ ขณะนั้นไม่ล่วงเลยขณะ แต่ขณะที่เราฟังธรรม พระธรรมแสดงเพื่อให้เราเกิดความเข้าใจ แต่ถ้าเรามุ่งสนใจพยัญชนะ หรือเกิดความอยากรู้เรื่อง รู้คำ ขณะนั้นล่วงเลยขณะของสุตมยปัญญา เพราะขณะนั้นไม่ได้เป็นไปกับปัญญาขั้นฟัง แต่ขณะนั้นเป็นตัวตนที่อยากจะรู้เรื่องราว อยากเข้าใจจำนวน หรือจะไปโยงนัยนี้กับนัยโน้น
เพราะฉะนั้นถ้าเราฟังแล้ว ขณะนั้นเข้าใจไปทีละประเด็น หรือทีละข้อของธรรม ขณะนั้นก็ไม่ล่วงเลยขณะในขั้นการฟัง ละเอียดจนไปถึงขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีจริงๆ ถ้าเป็นผู้ที่มีการสะสมความเข้าใจพร้อมกับความจำที่ถูกต้องในสภาพธรรม ไม่ล่วงเลยขณะ ขณะนั้นสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงเป็นการไม่ล่วงเลยขณะไป
อ.ธีรพันธ์ ผู้ถามก็ไม่ควรให้ขณะล่วงไป เพราะว่าขณะนี้ก็ได้ยินได้ฟังธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อุบัติแล้ว ความเป็นมนุษย์ก็มีแล้ว ชีวิตอัตภาพได้ดำรงถึงขณะนี้ก็ประเสริฐแล้ว เพราะฉะนั้นขณะที่จะล่วงไป ก็คือฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจ หรือประมาทคิดว่าพระธรรมเป็นของง่าย คิดว่า ฟังไปก็ไม่พ้นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็แค่นั้น แต่ความจริงแล้วถ้าเข้าใจแค่นั้น ยังไม่ใช่เป็นการเข้าใจจริงๆ ขณะนั้นรู้ หรือไม่ว่า ล่วงขณะแล้ว คิดว่า ธรรมง่าย ขณะนั้นล่วงแล้ว แต่ถ้าไม่ประมาทในธรรม ธรรมเป็นของยาก เป็นของลึกซึ้ง ควรที่จะศึกษาให้เข้าใจ อันบุคคลทั้งหลายพึงรู้ พึงถึงได้ด้วยปัญญาตามกำลังความสามารถ เพราะว่าขณะหาได้ยาก แม้ในชาตินี้ก็ตาม พระพุทธศาสนายังไม่เสื่อม เข้าใจธรรมได้หรือไม่ แม้เกิดเป็นบุคคลในขณะนี้ก็ยังเข้าใจยาก เพราะฉะนั้นอย่าให้ขณะล่วงไปเลย ควรศึกษาให้เข้าใจ แล้วอย่าคิดว่า มาศึกษาธรรมเมื่ออายุมากแล้ว คิดอย่างนั้นก็ไม่ถูก เพราะว่าอายุไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าใจธรรม เพราะใครจะทราบว่า ใครสะสมเหตุปัจจัยมาในอดีต จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะที่มีอายุมากก็ได้ นี่เป็นเรื่องของการสะสม
เพราะฉะนั้นไม่ควรประมาท ตามพระพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า ไม่ควรประมาท ซึ่งจริง หนึ่งไม่เป็นสอง สามารถพิสูจน์ได้ สามารถเข้าใจได้ และขณะที่พร้อมประเสริฐสุด เป็นสมัยที่ประเสริฐสุดก็คือตรัสรู้อริยสัจธรรม และหลังจากนั้นไม่มีไปอบาย เพราะว่าปิดกั้นอบายทันที ตามกำลังของปัญญาที่ตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคล ถ้าประมาทก็ไม่ต้องห่วง จะต้องแออัดยัดเยียดอยู่ในนรกแน่นอน
เพราะฉะนั้น ขณะนี้อย่าให้ล่วงไป แต่ละขณะๆ แต่เช้ามาก็ล่วงไปแล้ว ใช่หรือไม่ จนถึงขณะนี้ก็ล่วงไปอีก แล้วก็จะล่วงไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ ถ้าล่วงไปๆ ก็ออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ตราบใดที่ไม่รู้ขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นี้เป็นการเริ่มต้นของขณะที่จะทำให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ คือ รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ไม่ใช่ในขณะอื่น
อ.วิชัย ขณะนี้ก็ได้อัตภาพความเป็นมนุษย์ มีความเห็นถูก และสามารถอบรมคือฟัง และสั่งสมความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงพระสูตรหนึ่ง คือ อขณสูตร ว่า ขณะที่ไม่ใช่สมัยในการประพฤติพรหมจรรย์
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 421
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 422
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 423
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 424
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 425
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 426
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 427
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 428
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 429
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 430
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 431
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 432
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 433
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 434
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 435
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 436
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 437
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 438
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 439
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 440
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 441
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 442
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 443
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 444
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 445
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 446
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 447
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 448
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 449
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 450
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 451
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 452
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 453
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 454
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 455
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 456
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 457
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 458
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 459
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 460
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 461
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 462
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 463
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 464
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 465
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 466
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 467
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 468
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 469
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 470
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 471
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 472
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 473
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 474
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 475
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 476
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 477
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 478
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 479
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 480