พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 443


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๔๓

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    อ.วิชัย จริงๆ ขณะนี้ก็ได้อัตภาพความเป็นมนุษย์ และมีความเห็นถูก สามารถที่จะอบรมคือฟัง และสะสมความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงใน “อขณสูตร” ว่า ขณะที่ไม่ใช่สมัย ไม่ใช่ขณะที่ประพฤติพรหมจรรย์ เช่น การได้อัตภาพคือเกิดในนรก ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัยในการประพฤติพรหมจรรย์ การเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน และบุคคลที่เกิดมาแล้วก็บ้า ใบ้ บอด หนวกแต่กำเนิด ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัยของการประพฤติพรหมจรรย์ และบุคคลบางบุคคลเกิดในที่ๆ ไม่มีพระธรรมคำสอนเลย ในชนบทที่ห่างไกลมาก ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัยของการประพฤติพรหมจรรย์

    หรือบุคคลมีโอกาสได้ฟัง แต่มีความเห็นผิด คือสะสมมาที่จะมีความเห็นผิด หรือไม่สนใจด้วยความเห็นผิดของบุคคลนั้น ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัยของการประพฤติพรหมจรรย์ หรือบางบุคคลก็เกิดในอสัญญสัตตาพรหม ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะ ไม่ใช่สมัยของการประพฤติพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็คือถึงพร้อม ได้มีโอกาสได้ยินได้ฟัง และสามารถอบรมความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นขณะที่สะสมขณะความเข้าใจมากขึ้น

    ผู้ฟัง สืบเนื่องจากคำถามว่า รูปที่มีใจครอง หมายถึงรูปที่มีจิตเกิดร่วมด้วย ซึ่งดูเหมือนเข้าใจ แต่เมื่อกล่าวถึงรายละเอียด ก็เหมือนไม่เข้าใจความหมายของรูปที่มีใจครอง รูปตรงนี้หมายถึงรูปอะไร

    ท่านอาจารย์ ใจอยู่ที่ไหน ก็คือรูปที่นั้น

    ผู้ฟัง ใจอยู่ที่ไหน ก็หมายถึงรูปนั้น

    ท่านอาจารย์ รูปทั้งหมดที่อยู่ที่นั่น เป็นรูปที่มีใจครอง เพราะว่ารูปทั้งหมดอยู่ตรงนั้นที่มีใจ

    ผู้ฟัง ยังไม่กระจ่างชัด

    ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณมีใจหรือไม่

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ มีรูปหรือไม่

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรูปตรงที่มีใจทั้งหมดเป็นรูปที่มีใจครอง จะแยกออกไปตรงไหน หรือไม่ เอารูปสักรูปออกไปจากตัวคุณอรวรรณได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ แต่เมื่อศึกษาไป ก็จะถามว่า รูป หมายถึงรูปที่มีชีวิต พอเรียนไปก็ทราบว่า รูปที่มีชีวิตคือรูปที่เกิดจากกรรม แต่ก็ไม่กระจ่างชัดว่า รูปที่มีใจครอง หมายความถึงรูปทั้งหมดที่มีใจครอง หรือหมายถึงสัตว์ บุคคล หรือเป็นเฉพาะรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น ตรงนี้ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถามถึงรูปที่มีใจครอง ไม่ได้กล่าวแยกรูปอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นความหมายคือ ใจอยู่ตรงไหน รูปทั้งหมดที่อยู่ตรงนั้นก็เป็นรูปที่มีใจครอง ไม่มีใครแยกรูปหนึ่งรูปใดออกไปเลยจากตรงนั้น เท่านี้จะเข้าใจหรือไม่ เดี๋ยวนี้ทุกคนมีใจแล้วก็มีรูป แล้วสงสัยอะไร หรืออยากจะรู้อะไร อยากจะประจักษ์อะไร อยากจะเข้าใจอะไร ในเมื่อรูปก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป เร็วมาก แค่นี้ก็ยังไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง เหมือนกับการศึกษา ถ้าได้ยิน หรืออ่านไปอะไร ก็ไม่ให้เผิน ไม่ให้ผ่าน ให้เข้าใจให้ถ่องแท้

    ท่านอาจารย์ เท่าที่จะเข้าใจได้

    ผู้ฟัง รูปนี้หมายถึงสัตว์ บุคคล

    ท่านอาจารย์ เข้าใจรูปใช่หรือไม่ คุณอรวรรณมีรูปไหม

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ มีใจหรือไม่

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ รูปที่มีใจครองก็คือ ใจอยู่ตรงนั้น มี แล้วรูปที่อยู่ตรงนั้นก็เป็นรูปที่มีใจครอง เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจค่ะ อสัญญสัตตาพรหมก็เรียกว่ามีชีวิต

    ท่านอาจารย์ อสัญญสัตตาพรหมมีใจไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ แต่มีรูปไหม

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ รูปนั้นเกิดจากอะไร

    ผู้ฟัง เกิดจากกรรม

    ท่านอาจารย์ แล้วมีใจเกิดขึ้น หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอสัญญสัตตาพรหมก็เป็นรูปของพรหมที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปนั้นเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง สงสัยว่า รูปมี ๒๘ มีสมุฏฐานให้เกิด ๔ คำว่า รูปที่มีใจครอง ก็หมายถึงรูปทั้งหมดเลย

    ท่านอาจารย์ เอาออกไปได้หรือไม่ สักรูปหนึ่ง

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ ไม่ค่อยแน่ใจว่า เข้าใจ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจเลย ว่า เรียนเพื่ออะไร ลืมอีกแล้วว่า “เรียนเพื่อรู้ธรรม” แค่ ๒ คำ จริง หรือไม่ เรียนเพื่อรู้ธรรม ไม่ว่าเมื่อไร ขณะไหน อย่างไร ก็ตาม เพื่อรู้ธรรม และขณะนี้เป็นธรรม มีจริงๆ จากการฟัง เดี๋ยวนี้สิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ เป็นธรรม หรือไม่ เป็น รู้หรือยัง

    เพราะฉะนั้นเรียนเพื่อเข้าใจ เพื่อรู้ธรรม ไม่ใช่เรียนแล้วไปสงสัยชื่อต่างๆ ธรรมที่กำลังปรากฏสงสัยไหม

    ผู้ฟัง ก็ทราบว่า เข้าใจขั้นฟัง แต่

    ท่านอาจารย์ รู้หรือไม่

    ผู้ฟัง แต่ยังไม่รู้ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเรียนเพื่อรู้ธรรม จะไปเรียนเพื่อสงสัยอะไร ในเมื่อธรรมกำลังปรากฏ เรียน ฟัง เพื่อรู้ธรรม

    ผู้ฟัง บางครั้งจะสับสนว่า จะเรียนอะไรก็แล้วแต่ต้องเข้าใจ ไม่ผ่าน เช่น "ธรรม" คือสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะของตน เกิดดับตามเหตุปัจจัย และเป็นอนัตตา ก็เข้าใจขั้นเรื่องราว ขั้นพยัญชนะ คือเข้าใจความหมาย แต่ก็ยังไม่เข้าถึงลักษณะที่เป็นอย่างนั้นของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มี"เห็น" แล้วก็ฟังทบทวน มีธาตุที่เกิดขึ้นเห็น ลักษณะนั้นคือกำลัง"เห็น" ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ให้ไปนึกเรื่องอื่น ถ้านึกเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ เมื่อไรจะรู้ลักษณะของเห็น ที่ได้ยินได้ฟังมานานแสนนานว่า เห็นเป็นธรรม เห็นมีจริง เห็นเกิดขึ้นกำลังเห็น แต่ก็ไม่มีการเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นขณะนี้ เพราะมัวคิดเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นการฟัง จะเห็นได้ว่า ฟังเมื่อใด ก็พูดถึงสิ่งที่มี เพราะว่ากว่าจะน้อมมาเป็นสังขารขันธ์ที่จะให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมเพื่อรู้ธรรม ไม่ใช่ฟังผิวเผิน แต่เพื่อรู้จริงๆ ในความเป็นธรรมของสิ่งที่เป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นก็คือว่า ไม่ว่าเมื่อใด ถ้ามีการพูดถึงเรื่องเห็น กำลังเห็น ขณะนั้นก็ไม่คิดถึงเรื่องอื่น ถูกต้องหรือไม่ แต่หลังจากนั้นก็คิดถึงเรื่องอื่นอีกแล้ว ก็ต้องพูดถึงเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน และเรื่องสิ่งที่มีจริงขณะนี้นี่เอง เพื่อว่า ฟังบ่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมนี้เกิดจริงๆ ดับจริงๆ แต่ด้วยความรวดเร็ว และไม่เคยสนใจที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพนี้เลย ก็ไปคิดถึงเรื่องอื่นตลอดทุกชาติไป ขณะไหน ที่เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น เห็น หรือสิ่งที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นคือประโยชน์ของการฟังธรรม ไม่ใช่ฟังแล้วไม่สนใจ แล้วไปสนใจเรื่องต่างๆ ด้วยความสงสัย แล้วเมื่อไรจะค่อยๆ เริ่มเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วอะไรจะทำให้ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่ได้พูดถึงเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ และเดี๋ยวนี้กำลังปรากฏด้วย

    ผู้ฟัง ในการศึกษา จริงๆ แล้วพระไตรปิฎก ๙๑ เล่มพร้อมอรรถกถา ก็จะไม่พูดเรื่องอื่นเลย นอกจากลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เพราะปัญญาน้อย และอวิชชามาก ในการศึกษาเพื่อให้เข้าใจเท่านี้ แต่ถ้ากล่าวเป็นพยัญชนะก็เพียงลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่จริงๆ ความลึกซึ้ง หรืออรรถของประโยคนี้ การจะเข้าถึง หรือกว่าจะประจักษ์ตรงนี้ ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเป็นปัญญาของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ตรัสรู้ตรงนี้ ถึงจะทราบได้

    เพราะฉะนั้นพวกเราที่สะสมอวิชชา และโลภะมามากการที่จะรู้ตาม ก็ต้องศึกษามาก ต้องฟังให้เข้าใจมากพอ บางครั้งเหมือนกับไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรควรรู้ อะไร ไม่ควรรู้ ก็จะเป็นความสับสนระหว่าง ศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้ง ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ กับให้ศึกษาเพียงแค่ให้เข้าใจเฉพาะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเท่านั้น บางครั้งเหมือนกับไม่สามารถทราบว่าอะไรไม่ต้องรู้ อะไร ต้องรู้

    ท่านอาจารย์ คงทราบประโยชน์ของการฟังธรรมแล้ว คือ เพื่อรู้ธรรม รู้จริงๆ ขณะนี้พูดถึงเรื่องเห็น แล้วยังมีข้อความอธิบายต่อไปว่า เห็นเกิดพร้อมกับเจตสิก ๗ ประเภท กำลังทำหน้าที่นั้นเลยในขณะที่เห็น แล้วหลังจากเห็นแล้วก็มีคิดนึก ก็มีสภาพที่คิดนึกด้วย และจิตก็มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยมากในขณะที่คิด แล้วแต่ว่าเป็นอกุศล หรือกุศลประเภทใดๆ ก็คือเดี๋ยวนี้ทั้งหมด แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นการฟังก็คือขณะนี้เริ่มรู้ว่า จิต และเจตสิกกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานแต่ละขณะ ตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง ไม่มีเรา ข้อสำคัญที่สุด ก็คือให้เข้าใจความจริงว่า ธรรมเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นเวลานี้บางคนก็อาจจะพูดถึงเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดูเหมือนเป็นคำที่ไม่เห็นจะยาก เวทนา กับสติปัฏฐาน แล้วก็มีวิปัสสนาที่ตามรู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แปลได้ เดี๋ยวนี้มีเวทนา คือ ความรู้สึกหรือไม่ เพื่อให้แปล หรือเพื่อให้รู้ว่า ขณะนี้มีความรู้สึก ซึ่งยังไม่รู้ว่าลักษณะนั้นมี และเป็นธรรมชนิดหนึ่งด้วยซึ่งควรรู้ยิ่ง ไม่ใช่ควรฟังแล้วก็แปล แต่ว่าควรรู้ยิ่งว่าขณะนี้ก็ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็คือรู้ว่า เป็นธรรมในขั้นการฟัง โดยที่ตัวจริงของธรรมก็อยู่ตรงนี้เอง คิดก็มี เจตสิกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับจิตที่คิดก็มี กุศลก็มี อกุศลก็มี แต่ไม่รู้สักอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมไม่ใช่ไม่ให้รู้สิ่งที่ปรากฏ แต่เดี๋ยวนี้ถ้าเริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรม ทุกอย่างที่เกิดมีปัจจัย เฉพาะอย่างๆ เช่น จิตเห็นขณะนี้เกิดแล้วดับแล้ว เกิดที่จักขุปสาทรูป เป็นที่อาศัยเกิด นี่ก็ทำให้เห็นว่า โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่า ขณะนี้จิตเห็นอยู่ที่ไหน เกิดเมื่อใด ก็จะรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็น ชั่วขณะเห็นนี่เอง จิต และเจตสิกเกิดแล้วที่นั่น หมดเรื่องของสภาพธรรมที่ทำกิจเห็น แต่เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นก็เกิดดับสืบต่อ คือให้รู้ว่า ธรรมทั้งหมดที่ได้ฟังคือเดี๋ยวนี้ แล้วก็จะเข้าใจว่า ไม่ได้พูดเปล่าๆ แต่พูดให้รู้ ให้เข้าใจถูก เห็นถูกว่า ธรรมเป็นอย่างนั้น เช่น เวทนา หรือรูปก็ตามแต่ ไม่ใช่พูดให้ฟังชื่อ จำชื่อ แต่ให้รู้ว่า เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ เท่าที่จะสามารถเข้าใจได้ในขั้นฟัง เพื่อประโยชน์คือ เมื่อฟังเข้าใจแล้ว จึงสามารถรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งขณะนี้เกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก

    สภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้ว ดับแล้ว โดยไม่มีใครรู้เลย แล้วยังคงไม่รู้ต่อไป ถ้าไม่ฟังจนกระทั่งสามารถเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่างที่กำลังปรากฏ นี่คือการที่จะรู้ว่า ประโยชน์ของการฟังธรรมจริงๆ คือ เพื่อเข้าใจลักษณะของธรรม โดยจำเป็นต้องมีคำ ที่จะแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งต่างกันไป แต่ไม่ใช่มุ่งไปที่เมื่อได้ยินคำนี้แล้วสงสัย แต่ว่าคำนี้แสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่กำลังเป็นจริงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นอาศัยคำเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นธรรม แม้ในขั้นการฟังจนกว่าจะมั่นคง

    อ.วิชัย คงเคยได้ยินคำว่า อุปาทินนกรูป ใช่หรือไม่ คือ รูปมีสมุฏฐานที่จะให้รูปเกิดขึ้น รูปปรมัตถ์จะมี ๒๘ รูปด้วยกัน และในส่วนของอุปาทินนกรูป หมายความว่า รูปนั้นเป็นผลของกรรม เพราะเหตุว่าในส่วนที่ว่า รูปที่มีใจครองกับรูปส่วนอื่นที่เป็นรูปภายนอก เช่น ภูเขา ต้นไม้ ก็เป็นรูปเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกับรูปที่เป็นสัตว์ บุคคล ุ และอีกส่วนหนึ่งที่ในอภิธรรมทรงแสดงเรื่องของอุปาทินนกรูป หมายถึงรูปซึ่งกรรมยึดถือโดยความเป็นผล ก็คือรูปซึ่งเกิดจากกรรม มีทั้งหมด ๑๘ รูป เป็นผลของกรรม เป็นอุปาทินนกรูป ซึ่งมีความแตกต่างจากรูปอื่นๆ เมื่อเราอ่านอภิธรรม มีคำว่า “อุปาทินนกรูป” หมายความว่า รูปนั้นเกิดจากกรรม เช่น จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ภาวรูป ชีวิตินทรียรูป มหาภูตรูปซึ่งเกิดจากกรรม รูปเหล่านี้ทั้งหมดเป็นอุปาทินนกรูป

    ผู้ฟัง ศึกษารูป ๒๘ ก็ทราบว่า รูปที่เกิดจากกรรมมี ๙

    อ.วิชัย ถ้าเกิดจากกรรม โดยไม่เกิดจากสมุฏฐานอื่นคือ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ และชีวิตินทรียรูป ๑ หทยวัตถุ อันนี้เป็นรูปซึ่งเกิดจากกรรมเท่านั้น แต่รูปอื่น อย่างเช่น อวินิพโภครูป ๘ เช่น มหาภูตรูป ธาตุดิน เกิดจากกรรมก็ได้ เกิดจากจิตก็ได้ เกิดจากอุตุก็ได้ เกิดจากอาหารก็ได้ เพราะฉะนั้นธาตุดินที่เกิดจากกรรมก็มีด้วย ธาตุน้ำที่เกิดจากกรรมก็มี ธาตุลมที่เกิดจากกรรมก็มี ธาตุไฟที่เกิดจากกรรมก็มี ดังนั้นรูปใดก็ตามที่เกิดจากกรรม รูปนั้นเป็นอุปาทินนกรูป

    เมื่อเราศึกษาอภิธรรม ได้ยินคำว่า “อุปาทินนกรูป” หมายความว่า รูปนั้นเป็นผลของกรรม มีทั้งหมด ๑๘ รูป

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว อยากจะให้ทุกคนเข้าใจธรรมละเอียด อย่าเพิ่งข้ามไปได้หรือไม่ ขอเชิญคุณคำปั่นให้ความหมายของคำว่า “อุปาทินนกรูป” คุณวิชัยอธิบายความหมายแล้ว แต่อันนี้โดยศัพท์ จะได้ทราบว่า ภาษาบาลีหมายความถึงอะไร

    อ.คำปั่น คำว่า “อุปาทินนกรูป” ก็สามารถแยกศัพท์ได้เป็น ๓ ศัพท์ คือ อุป + อาทินก + รูป อุป คือ เข้าไป อาทินก คือ ยึดถือ และรูปซึ่งเป็นรูปธรรม เมื่อรวมกันแล้ว เป็นอุปาทินนกรูป ซึ่งแปลโดยศัพท์ และข้อความที่ปรากฏในพระอภิธรรมจะสอดคล้องกัน คือ รูปที่กรรม คือ ตัณหา และทิฏฐิเข้าไปยึดติด โดยการกระทำให้เป็นอารมณ์ นี้คือโดยความหมายของอุปาทินนกรูป รูปที่กรรมเข้าไปยึดถือโดยความเป็นผล ซึ่งก็มีทั้งหมด ๑๘ รูป เป็นรูปที่เกิดจากกรรม มีปสาทรูป ๕ เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ จากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งนี้ ฟังแล้วต้องคิดหนัก เพราะว่าเป็นคนละภาษา เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจความหมาย หรืออรรถ หรือสภาวธรรม ก็จะทำให้เข้าใจได้ ขณะนี้มีรูปกำลังปรากฏ ยึดถือ หรือเปล่า เห็นหรือไม่ เป็นรูปที่มีตัณหา และทิฏฐิยึดถือด้วย หรือถ้าผู้ที่ไม่มีทิฏฐิแล้ว ก็ยังมีตัณหา คือ ยึดถือในรูปนั้นด้วยก็ได้

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีกิเลส กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมวัฏฏ์ เมื่อมีกรรมวัฏฏ์แล้วเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิต และกัมมชรูป เพราะเหตุว่าเป็น กรรมวัฏฏ์ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม รูปขณะนี้นอกจากจะเป็นที่ตั้งของการยึดถือแล้ว ซึ่งการยึดถือขณะนี้เองที่ยึดถือในรูป เมื่อเป็นกรรมจะทำให้พ้นจากการมีรูปอีกต่อไปได้หรือไม่ ไม่ได้ เพราะยินดีพอใจในรูป ใครก็ตามที่ยินดีพอใจในรูป ทำกรรมแล้วก็จะทำให้รูปเกิดขึ้น มีหรือไม่ ถ้ามีความยินดีพอใจในรูป และยังคงมีกิเลส มีกรรมที่จะไม่ให้รูปเกิดขึ้นมีไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากกรรมก็มี เพราะเหตุว่ากรรมเกิดจากการยึดถือในรูป

    ด้วยเหตุนี้ขณะนี้ก็มีทั้งรูปที่เกิดจากกรรม และรูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหาร ในสัตว์บุคคลที่กลืนกินอาหารเป็นคำๆ ถ้าเป็นสัตว์บุคคลที่ไม่กลืนกินอาหารเป็นคำๆ เช่น พรหม ก็ไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร แต่ก็ยังมีรูปที่เกิดจากกรรม มีรูปที่เกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากอุตุ

    นี่คือความละเอียดของธรรม เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวถึงรูปก็คือว่า ถ้าใช้คำว่า “อุปาทินนกรูป” โดยประมวลแล้วก็คือ รูปเป็นที่ยินดีของโลภะ ความติดข้อง และทิฏฐิ และรวมถึงรูปที่เกิดขึ้นเพราะกิเลส ซึ่งยินดีในรูปนั้นเอง เป็นสมุฏฐานที่เกิดเพราะกรรมที่ยังคงมีกิเลสอยู่ ทำให้รูปนั้นเกิดขึ้น เข้าใจได้ย่อๆ แล้วก็ขยายออกไป ก็คือต้องคิดถึงเรื่องกิเลส เรื่องกรรม และเรื่องของกรรมที่จะทำให้รูปนั้นเกิดด้วย และเมื่อเกิดแล้ว ก็ยังเป็นที่ยินดีอีกต่อไป เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดยังเป็นอย่างนี้ ก็ยังมีรูปที่เกิดเพราะกรรม ตราบใดที่ยังมีกรรมอยู่ ที่ตัวมีรูปที่เกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากกรรม มีรูปที่เกิดจากอุตุ มีรูปที่เกิดจากอาหาร และจิตที่เกิดหลังจากที่รูปนั้นเกิดแล้ว ก็อุปถัมภ์รูปทั้ง ๔ สมุฏฐาน

    ด้วยเหตุนี้จะแยกออกไปหรือไม่ รูปที่มีใจครอง รูปที่ไม่มีใจครอง หมายความถึงอะไร ในเมื่อแม้ขณะนี้ที่ตัวแต่ละคนก็มีรูปที่เกิดจากกรรม มีรูปที่เกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากอุตุ มีรูปที่เกิดจากอาหาร ทั้ง ๔ สมุฏฐาน เกิดดับสืบต่อ ไม่ปะปนกันเลยแต่ละรูป ถ้ารูปใดที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นเกิดแล้วดับ แต่กรรมก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดอีก เพราะฉะนั้นแต่ละรูปก็มีสมุฏฐานแยกกัน ไม่ปะปนกัน แต่แม้กระนั้นรูปทั้งหมดที่มีใจครองก็คือว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นเมื่อใด ก็อุปถัมภ์รูปทั้ง ๔ สมุฏฐาน ไม่ใช่เฉพาะสมุฏฐานเดียว แต่ว่ารูปแต่ละรูปนั้นก็เกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานต่างๆ กัน ถ้ามีความเข้าใจ ต้องเข้าใจตามลำดับว่า รูปที่มีใจครอง ก็คือใจอยู่ที่ไหน มี ใช่หรือไม่ รูปที่นั่นก็มีใจอุปถัมภ์ เป็นปัจจัยหนึ่ง โดยชื่อก็คือปัจฉาชาตปัจจัย หมายความว่า ธรรมที่เกิดภายหลังอุปถัมภ์ธรรมที่เกิดก่อน คือ รูป

    ผู้ฟัง หมายความว่า เมื่อมีกรรม อุปาทินนกรูป ก็คือรูปที่จริงๆ หมายความว่า สัตว์บุคคลก็มีกรรมทำให้เกิด แล้วก็วนเวียนเป็นสังสารวัฏฏ์อยู่อย่างนั้น หรือไม่

    ท่านอาจารย์ กรรมในอดีตมีทำให้รูปปัจจุบันเกิด

    ผู้ฟัง ซึ่งต่างจากรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรม เช่น ต้นไม้ ใบหญ้า มีอุตุทำให้เกิด แล้วก็ดับหมดไป แต่ตรงนี้เหมือนกับว่า ตราบที่มีกรรม ...

    ท่านอาจารย์ รูปที่เกิดจากกรรมก็ดับ ดับแล้วก็ไม่กลับมาอีก แต่กรรมก็ทำให้รูปใหม่เกิด

    ผู้ฟัง รูปใหม่เกิดตลอด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ม.ค. 2567