พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 447
ตอนที่ ๔๔๗
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
อ.ธิดารัตน์ และสิ่งที่จะเป็นที่พึ่งได้ ก็คือกุศลธรรมของคนนั้นเอง กุศลทุกอย่างเป็นที่พึ่งได้ และกุศลที่จะเป็นที่พึ่งอย่างดีที่สุด ที่ท่านแสดงว่า เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง ก็คือสติปัฏฐาน เป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงที่จะนำออกจากสังสารวัฏฏ์ได้
อ.ธีรพันธ์ วจีวิญญัติรูป หมายถึงรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน ที่เป็นปัจจัยให้รูปกระทบกันที่ฐานของเสียงให้ผู้ฟังเข้าใจความหมาย แต่สำหรับในกรณีของคนใบ้ ผมก็อาจเข้าใจว่า เขามีฐานของเสียงครบ แต่ว่าเมื่อเขาต้องการสื่อความหมายออกมา เขาไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาให้ได้ยิน เข้าใจทราบชัด จะจัดเป็นวจีวิญญัติรูปหรือไม่ เมื่อเขาประสงค์จะให้รู้ความหมาย กราบเรียนถามท่านอาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ ทำไมต้องจัดล่ะคะ จิตขณะนั้นมีหรือไม่ และประสงค์อย่างไร
อ.ธีรพันธ์ มีครับ
ท่านอาจารย์ จิตมีความประสงค์อะไร
อ.ธีรพันธ์ จะให้รู้ความหมายว่าต้องการอะไร
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิตนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานอื่น แล้วแต่ว่าใครจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ
อ.ธีรพันธ์ แม้ว่าเสียงนั้นไม่ทำให้เข้าใจ ก็ไม่เกี่ยวข้องกัน
ท่านอาจารย์ เสียงเกิดจากอะไร ต้องคิดถึงสมุฏฐาน
อ.ธีรพันธ์ เกิดจากจิต แต่ไม่เหมือนกับเสียงที่คนทั่วไปพูดกัน แต่ก็เป็นวจีวิญญัติรูปเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ เวลามีเสียงในร่างกาย อย่างท้องร้องอย่างนี้ เกิดจากจิต หรือไม่
อ.ธีรพันธ์ ไม่ได้เกิดจากจิตครับ
ท่านอาจารย์ มีความประสงค์จะให้เข้าใจอะไร หรือไม่
อ.ธีรพันธ์ ไม่ได้ประสงค์ให้เข้าใจอะไร
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มีความประสงค์ว่าหิวแล้ว ใช่หรือไม่
อ.ธีรพันธ์ ไม่เลยครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากจิต ต้องมีจิตเป็นสมุฏฐาน และมีความจงใจตั้งใจที่จะเกิดเสียงตามที่ต้องการ แต่จะเกิด หรือไม่เกิด ใครจะทำได้
อ.ธีรพันธ์ ก็ไม่ต้องสงสัยว่า จะเป็นคนใบ้ หรือไม่ใบ้
ท่านอาจารย์ ทำไมชอบจัดอะไรล่ะคะ เข้าใจธรรมค่ะ ไม่ต้องไปจัดอะไร
อ.กุลวิไล ซึ่งการศึกษาในส่วนของปรมัตถธรรม หรือพระอภิธรรม บางครั้งก็มีเรื่องของจำนวน และชื่อที่เป็นบาลีมาก มีสหายธรรมบอกว่า ชื่อบาลีมาก และอายุมากด้วย ทำให้จำชื่อไม่ได้เลย ท่านอาจารย์ช่วยให้ความเข้าใจว่า การศึกษาในส่วนของปรมัตถธรรม จริงๆ แล้วที่สำคัญควรรู้อะไร
ท่านอาจารย์ ก็คือรู้ธรรม คำนี้แน่นอนที่สุด คือ ขณะนี้เป็นธรรม และรู้ถูก เห็นถูกในสภาพที่กำลังมี จนกว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรมจริงๆ เพราะเหตุว่าเพียงแต่เรียกชื่อว่า เป็นธรรมนี่ไม่พอ เป็นธรรมแล้วอยู่ที่ไหน ขณะนี้กำลังเห็นเป็นธรรม กำลังได้ยินเป็นธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นธรรม
ฟังเพื่อสามารถเข้าใจได้จริงๆ ว่า ขณะนี้สิ่งที่มีจริงๆ ปรากฏ แล้วก็หมดไปด้วย และก็เป็นธรรมแต่ละลักษณะ ส่วนชื่อก็จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ ถ้าจะกล่าวถึงเห็น ขณะนี้กำลังเห็น เข้าใจเห็น ก็คือถ้าเป็นภาษาอื่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาพม่า ภาษาอินเดีย จะใช้คำอะไรก็เป็นเรื่องที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ
แต่คำที่ใช้ในอดีตที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็เป็นภาษาบาลี ซึ่งคนไทยก็ใช้คำนี้ในภาษาไทยมากมาย เช่น จักขุ เคยได้ยินหรือไม่ จักษุแพทย์ จะเป็นอย่างอื่นนอกจากตาได้ไหม ก็ไม่ได้ วิญญาณ เคยได้ยิน ใช่หรือไม่ แต่ก็ไม่เคยรู้ว่า วิญญาณคืออะไร แต่ถ้ามีความเข้าใจว่า วิญญาณคือจิต สภาพที่มีในขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก แต่จิตก็มีหลากหลาย ถ้าไม่ศึกษาก็คิดว่า มีจิตหนึ่งซึ่งเกิดแล้วไม่ดับเลย แล้วก็ทำหน้าที่ต่างๆ นั่นคือคิดเอง แต่ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้ตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่ใครจะคาดคะเน หรือคิดเดาเอาเองได้
เพราะฉะนั้นการศึกษา ไม่ใช่เมื่อเราอ่านแล้วเราคิดว่า เราเข้าใจ นั่นคือเราคิดตรึกไปตามความเข้าใจของเราว่า คงจะเป็นอย่างนั้น หรือคงจะเป็นอย่างนี้ อย่างคำว่า “วิญญาณ” ก็คิดว่าล่องลอยได้ มองไม่เห็นก็จริง มองไม่เห็นแล้วล่องลอยไปไหน ใช่หรือไม่ จะมีรูปร่าง หรือจะไม่มีรูปร่าง ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะคิดแล้วเข้าใจว่า ที่คิดนั้นถูกต้อง แต่เป็นสภาพธรรมที่ละเอียดยิ่ง และก็จะอัศจรรย์ในความเป็นธรรมซึ่งกำลังเป็นอย่างนี้ในขณะนี้
ถ้ากล่าวเรื่องจิต จิตเกิดดับ เป็นธาตุที่เกิดขึ้นอาศัยเหตุปัจจัย ทำให้จิตแต่ละประเภทต่างกัน โดยมีสภาพธรรมคือเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดร่วมกัน ดับพร้อมกัน สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏก็ปรากฏกับจิต และเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นถ้าฟังอย่างนี้เข้าใจ ก็คือเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าไม่เข้าใจว่าเป็นเดี๋ยวนี้ การศึกษาธรรมจะมีประโยชน์อะไร เราพูดถึงเรื่องจิตประเภทต่างๆ แล้วก็ไม่รู้ว่า ขณะนี้คือจิตประเภทไหนก็แล้วแต่ คิดนึกแน่ๆ เลย กำลังคิดนึก นั่นก็คือจิตไม่ใช่เรา และต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วต่อไปก็จะทราบว่า จิต ๑ ขณะนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย โดยเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นแต่ละเจตสิกอย่างไร
นี่ก็คือแสดงให้เห็นสิ่งที่มี แต่ไม่เคยรู้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม และเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพื่อละความไม่รู้ แต่ถ้าฟังแล้ว เมื่อไรจะรู้ความจริงการเกิดดับเป็นพระอริยบุคคล นั่นผิด เพราะไม่รู้จึงกล่าวอย่างนั้น กำลังไม่รู้แท้ๆ แล้วเมื่อไรจะเป็นพระอริยบุคคล เป็นได้อย่างไร โดยไม่รู้อะไร และการรู้ก็เพื่อละความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นที่จะรู้ ก็คือเพื่อละความไม่รู้ ไม่ใช่ไปเอา หรือไปคิดว่า แล้วเมื่อไรเราจะเป็นพระโสดาบัน เมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
ด้วยเหตุนี้การฟังธรรมจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด ให้รู้ว่า ฟังเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ จะใช้ภาษาอะไรไม่สำคัญเลย กำลังใช้ภาษาไทยทั้งหมด ใช่หรือไม่ เข้าใจได้ไหม เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ได้หรือไม่ ถ้าได้ ก็ไม่จำเป็นต้องคิดถึงภาษาอื่น แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ลืมภาษาเดิม คือ ภาษาบาลี เพราะเหตุว่าเมื่อฟังแล้วสามารถเริ่มเข้าใจคำที่ใช้ในภาษาบาลี แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาบาลีโดยละเอียด ก็ไม่สามารถเข้าใจถึงความหมายจริงๆ คำนั้นจริงๆ ว่ามาจากคำอะไร และหมายความถึงขณะไหน อย่างไร
ผู้ฟัง มีผู้มาใหม่เข้าใจว่า การฟังไม่มีผลเท่าไร ต้องปฏิบัติ ถึงจะได้ผลมาก จึงขอกราบเรียนท่านอาจารย์ช่วยอธิบายความหมายของการศึกษา และการฟังว่า มีความสำคัญอย่างไร แล้วการปฏิบัติธรรมหมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ คนนั้นก็ยังไม่รู้ แล้วจะปฏิบัติ หรือ ปริยัติคืออะไร ปฏิบัติคืออะไร ทั้งๆ ที่ไม่รู้อย่างนี้ ก็บอกว่า ปริยัติไม่มีประโยชน์เท่ากับปฏิบัติ หรือว่าต้องไปปฏิบัติ โดยไม่รู้ว่า ปฏิบัติคืออะไร และปริยัติคืออะไร อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นใครก็ตามจะกล่าวว่าอะไร หมายความว่า คนนั้นเข้าใจว่าอย่างไร ถ้ามีคนบอกว่า ปริยัติไม่สำคัญ ไม่สามารถให้เกิดผล คือไม่สามารถที่ทำให้บรรลุผลเป็นพระอริยบุคคล หรืออะไรก็ตามแต่ ต้องปฏิบัติ ปริยัติคืออะไร และปฏิบัติคืออะไร ถ้าไม่รู้จะกล่าวคำนี้ไม่ได้ ต้องรู้ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่รู้เลยจะปฏิบัติธรรมหรือไม่ ไม่รู้อะไรเลย เพราะไม่ศึกษา ไม่เรียนอะไรเลย แล้วก็จะปฏิบัติธรรมโดยไม่รู้อะไรเลย
ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้อะไรเลย ก็ปฏิบัติไม่ถูก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำถามเมื่อครู่นี้สำหรับผู้ที่กล่าวว่า ฟังแล้วก็ไม่ได้อะไรเท่าไร สู้ปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติคืออะไรถึงจะสู้ไม่ได้
ผู้ฟัง คือผู้ฟังใหม่ไม่เข้าใจ ก็คิดว่าต้องไปปฏิบัติ ถึงจะได้ผลมาก อานิสงส์มาก
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เข้าใจก็อย่ากล่าว เพราะยังไม่เข้าใจทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ แล้วจะไปกล่าวได้อย่างไร
ผู้ฟัง จากเรื่องภาษา ในการศึกษาขั้นเริ่มต้น หรือแม้แต่ศึกษาไป ยังไม่ใช่เริ่มต้นก็แล้วแต่ นอกจากภาษาบาลีแล้ว ยังมีปัญหาอีกว่า เนื่องจากภาษาไทยเป็นการนำภาษาบาลีมาใช้มากมาย แล้วเท่าที่ทราบความหมายส่วนใหญ่ไม่ตรงกับที่พระองค์ตรัส ส่องให้เห็นถึงธรรมอะไร ยกตัวอย่างคำว่า อารมณ์ คำว่า สติ คำว่า ศรัทธา มากมายไปหมด หรือแม้แต่คำว่า “ปัญญา” ในการศึกษาขั้นเริ่มต้น หรือถึงแม้ฟังไปแล้ว เหมือนกับว่าต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า คำที่ภาษาไทยใช้ในความหมายอย่างหนึ่ง และคำที่ภาษาบาลีมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง ขอเรียนให้ท่านอาจารย์ขยายความให้ท่านผู้ฟังใหม่ เพื่อไม่ให้สับสนกับคำเหล่านี้
ท่านอาจารย์ ก็หมายความว่า ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น ถูกต้องหรือไม่ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจสิ่งที่ฟัง ไปคิดเรื่องอื่น แล้วจะเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่กำลังฟังอะไรก็ตาม ฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง จึงจะเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ ไม่ใช่ฟังเรื่องนี้แล้วคิดเรื่องอื่น แล้วจะเข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้กำลังฟัง กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ต้องไปตระเตรียม ไม่ต้องไปทำอะไรเลย "เห็น"มีไหม "ได้ยิน" มีไหม จะฟังเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน ให้เข้าใจไหม หรือว่าจะไปคิดเรื่องอื่น เห็นหรือไม่
นี่คือไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า แม้ฟัง ฟังเพื่ออะไร สิ่งที่กำลังเห็น เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นของใคร
ผู้ฟัง ไม่เป็นของใคร
ท่านอาจารย์ แน่ใจว่า ไม่ใช่เราเห็น เคยเป็นเราเห็น แต่เวลาถามว่า เห็นขณะนี้เป็นของใคร ตอบว่าไม่เป็นของใคร ต้องตรง ตรงตลอด เห็นเป็นเห็น เห็นเกิดจึงเห็น เห็นคิดไม่ได้ เห็นได้ยินไม่ได้ เห็นทำอะไรไม่ได้เลย ความจริงของเห็น คือ ขณะนี้เห็นกำลังเห็น เกิดแล้วจึงเห็น ถ้าเห็นไม่เกิด จะมีเห็นหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ นี่คือการที่แม้แต่สิ่งที่มี กว่าเราจะเข้าใจถูกในคำที่อาจจะชินหูว่า ไม่ใช่ของใคร เห็นเป็นเห็น เกิดแล้วก็ดับไป เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่าไม่มีรูปร่างของเห็นเลย จะไปหารูปร่างเห็นที่ไหนก็ไม่ได้ แต่มีกิจการงานหน้าที่ คือ กำลังรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ จะไปนึกให้เป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้ จะไปพยายามจำหลังจากที่ไม่เห็นแล้วว่า เห็นเป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้ ไม่เหมือนกับขณะที่เห็นกำลังเห็น นี่คือธรรม
เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย มีอะไรบ้าง ทุกๆ วัน เกิดมาแล้วก็เห็น เป็นธรรมอย่างนี้ ไม่เปลี่ยน นานแสนนานมาแล้ว เห็นเกิดขึ้นเห็น ต่อไปข้างหน้าสิ่งที่กำลังเห็น ก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น นอกจากเกิดขึ้นก็เป็นเห็น แล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีคิดนึก เพราะฉะนั้นควรจะเข้าใจถูก และรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ หรือไม่ หรือคิดว่า ไม่จำเป็นจะต้องรู้ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือไม่มีโอกาสได้พบพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วฟังพระธรรม เพราะเห็นว่า ไม่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เหมือนอย่างคนในอดีต พวกเดียรถีย์ พวกที่นับถือคำสอนอื่น แม้พระผู้มีพระภาคจะประทับอยู่ณ.ที่ใดก็ตาม ไม่ไปเฝ้า ไม่เห็นประโยชน์ของการได้รู้ความจริง ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แล้วสิ่งนั้นก็มีจริงๆ ด้วย แล้วก็คิดว่า การฟังสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ไม่เป็นประโยชน์อะไร
เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่คิดอย่างนี้ ก็จะไม่ฟัง ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ในครั้งอดีต ก็มีผู้ไม่ฟังพระธรรมมากมาย ถึงแม้ยุคปัจจุบันนี้ก็มีผู้ที่ไม่ฟังพระธรรมมากมายเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะไม่เห็นประโยชน์ของการที่จะรู้สิ่งที่มีจริงๆ เคยไม่รู้ เคยยึดถือว่าเป็นเรา เคยยึดถือว่าของเรา แต่เกิดมาแล้วก็ตาย เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ยังไม่ตาย มีเห็น มีได้ยิน หลงยึดถือว่าเป็นเรา และเป็นของเรา แต่พอตายแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ความจริงถ้าเข้าใจมากกว่านั้น แม้ขณะนี้ก็กำลังเป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ว่า มีศรัทธาเห็นประโยชน์ที่จะได้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงๆ หรือไม่ เพราะเหตุว่าผู้ที่ไม่ได้สนใจจะไม่รู้เลย ตลอดชีวิตสุข และทุกข์ทั้งหมด มาจากสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ปรากฏให้ได้ยิน ให้ได้กลิ่น ให้ลิ้มรส ให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึก โดยไม่รู้ ก็มีความติดข้อง มีความต้องการ และเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ถึงได้มาก็ต้องพลัดพรากจากไป เพราะจริงๆ แล้ว ความจริงก็คือสภาพธรรมทั้งหมดไม่เที่ยง คำว่า “ไม่เที่ยง” คือ เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้นอีกกี่ปี อีกกี่ชาติจะไม่ฟัง ก็คือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็หลงสุข หลงทุกข์ ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยที่ไม่รู้ความจริง แม้ว่าจะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกหลายพระองค์ข้างหน้า ก็ไม่มีศรัทธาที่จะฟัง เป็นเรื่องที่ใครจะไปทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะว่าสะสมมาที่จะไม่เห็นประโยชน์ของการรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ได้ยินแต่คำว่า “ธรรม” แล้วก็พูดคำว่า “ธรรม” แต่ไม่รู้จักธรรม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรเป็นอย่างนั้น สำหรับผู้ที่ตรง เพราะเหตุว่าถ้าได้ยินคำไหน แล้วเกิดรู้ว่า ไม่ได้เข้าใจคำนั้น ควรจะเข้าใจขึ้นหรือไม่ ดีกว่าพูดโดยที่ไม่เข้าใจเหมือนเดิม
ผู้ฟัง ในการฟังท่านอาจารย์กล่าว ถ้าเข้าใจก็จะพบว่า ธรรมคือ เห็น ได้ยิน ขณะนี้นั่นเอง แล้วก็เป็นอะไรที่ไม่เข้าใจ ถ้าไม่ฟังที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงเหล่านี้ว่าคืออะไร แต่เมื่อฟัง แล้วสามารถเข้าใจได้อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อครู่นี้ก็จะเบาสบายมาก เพราะว่าไม่ต้องไปหาที่ไหน มีอยู่ขณะนี้นี่เอง แต่ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ ถ้าไม่ฟังพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ แล้วก็ฟังว่าท่านตรัสรู้อะไร ก็จะไม่รู้ แต่เมื่อฟังแล้วก็รู้ ก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจไป ถ้าสามารถรู้อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวเมื่อครู่ ก็จะเบาสบาย รู้สิ่งที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้นี่เอง ไม่ต้องไปหาให้เหนื่อยยาก มีปรากฏ เพียงแต่รู้ หรือไม่รู้เท่านั้นเอง ซึ่งไม่ว่าจะเริ่มต้น หรือจะฟังมานานแล้วก็ตาม ถ้าสามารถเข้าใจได้ก็จะเบาสบาย
ท่านอาจารย์ คุณอรวรรณกำลังทำความเข้าใจ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ค่ะ เพราะว่าความเข้าใจก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อมีเหตุปัจจัย
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คุณอรวรรณ จิต เจตสิกทั้งนั้นเลยค่ะ เมื่อไรจะเป็นจิต เจตสิกทั้งนั้นเลย
อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็มีธรรม และธรรมก็ไม่พ้นสิ่งที่มีจริง นั่นก็คือจิต เจตสิก และรูป ซึ่งช่วงของการศึกษาพื้นฐานอภิธรรมก็เพื่อให้เรามีความเห็นถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ และรู้ถึงความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นก็คือตัวธรรมแต่ละอย่างนั่นเอง ซึ่งมีในขณะนี้แล้วไม่ต้องแสวงหา แต่ถ้าเราฟัง แล้วไม่เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ก็ดูเหมือนกับว่า เป็นการศึกษาเพียงเรื่องราวอย่างเดียว แต่จริงๆ ตัวจริงของธรรมก็มีในขณะนี้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังแล้วจะปฏิบัติอะไร ถ้าเข้าใจแล้วจะปฏิบัติอะไร เพราะฉะนั้นทุกคำต้องมีเหตุผล
ผู้ฟัง เมื่อฟังแล้วเข้าใจ ธรรมก็ปฏิบัติของเขาเอง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปฏิบัติด้วยความเป็นเราจะปฏิบัติ เพราะฟังแล้วไม่ได้ผล ต้องปฏิบัตินี่ถูกหรือไม่ ในเมื่อปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติอะไร แล้วปฏิบัติคืออะไร ก็ไม่รู้ แต่กำลังรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งเกิดดับ จนกว่าจะรู้จริงๆ เพราะการฟังเข้าใจขึ้นๆ
ผู้ฟัง ในยุคสมัยนี้ ผู้คนก็มากมาย ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า การฟัง การศึกษาไม่สำคัญ คิดว่าจะต้องไปปฏิบัติ จะต้องไปทำความเพียร คือจะเข้าใจผิดกันมาก
ท่านอาจารย์ มีใครปฏิบัติได้ โดยไม่รู้อะไรหรือไม่ ไม่ว่าวิชาใดๆ ทั้งสิ้น ส่งไปปฏิบัติให้หมดทุกคน แต่ไม่รู้อะไรเลย
ผู้ฟัง ไม่ได้เลยค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วจะทำอย่างไร จะปฏิบัติอะไรโดยไม่เข้าใจ
ผู้ฟัง ก็ต้องเกิดจากการฟังเท่านั้น
อ.กุลวิไล ก็เหมือนจะให้เดินทาง ถ้าเราไม่มีแผนที่ ไม่ได้ศึกษาเส้นทางก่อน เราก็ไม่สามารถเดินทางได้ หลงป่าแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องมีการศึกษา มีความเข้าใจ เป็นปัจจัยให้มีความเห็นถูก ถ้าเห็นถูก การกระทำทางกาย ทางวาจาก็ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ เวลาใครพูดอะไรแล้วคุณบุษกรเดือดร้อนหรือไม่
ผู้ฟัง ได้ศึกษาธรรมแล้ว ไม่เดือดร้อนเท่าไรค่ะ
ท่านอาจารย์ ใครจะคิดอะไร ก็ห้ามความคิดเขาไม่ได้ เขาจะคิดว่า ไม่ต้องฟัง ปฏิบัติเลย ก็ห้ามไม่ได้ เขาก็คิดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้ามีความเห็นที่ถูกต้องจริงๆ ก็คือไม่หวั่นไหว ไม่ใช่ต้องไปตามคำพูดของคนอื่น เขาว่าต้องปฏิบัติ เราก็เลยต้องปฏิบัติ นั่นไม่ถูกต้อง
ผู้ฟัง คือผู้มาใหม่เขายังไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเท่าไร เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ ก็ต้องให้เข้าใจว่า ปริยัติคืออะไร แล้วที่ว่าปฏิบัตินั้นคืออะไร ถ้าไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วไปทำอะไร แล้วผลก็คืออะไร
ผู้ฟัง ผลก็ไม่ได้อะไร
ผู้ฟัง เมื่อครู่ฟังอาจารย์มา ผมสะดุดตรงคำๆ หนึ่ง อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายขยายความเพิ่มเติม คำว่า “หลงสุข หลงทุกข์” อยากให้ท่านอาจารย์อธิบาย “หลงสุข หลงทุกข์” กับ “ไม่หลงสุข ไม่หลงทุกข์” เป็นอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ คุณณรงค์เห็นอะไรแล้วชอบหรือไม่
ผู้ฟัง ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับ
ท่านอาจารย์ ไม่ชอบ หรือไม่
ผู้ฟัง ก็มีครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแล้วแต่ว่าจะชอบ หรือไม่ชอบ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเพียงปรากฏแล้วหมดไป ก็ยังเข้าใจว่า ยังมีอยู่
ผู้ฟัง เพราะยึดว่าสิ่งนั้นเป็นเรา หรือของเรา
ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้การเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็วของสิ่งนั้น มีญาติ มีพี่น้องหรือไม่
ผู้ฟัง มีครับ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เห็นรูปร่าง จะบอกได้ไหมว่า คนนี้เป็นพี่ คนนั้นเป็นน้อง
ผู้ฟัง บอกไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีสิ่งที่ปรากฏให้จำว่า นี่เป็นพี่ นั่นเป็นน้อง สิ่งที่ปรากฏให้จำ ยังมีอยู่ หรือไม่
ผู้ฟัง ณ ตอนนี้ไม่มีแล้ว
ท่านอาจารย์ แต่ยังหลงว่า ยังมีอยู่
ผู้ฟัง ก็คือหลงสุข หลงทุกข์
ท่านอาจารย์ ค่ะ เวลาคิดแล้วสุขไหม หรือว่าถ้าโกรธ ทุกข์ไหม ในสิ่งที่ไม่มีเลย ปรากฏให้ไม่รู้แล้วจำว่ายังมี แต่ความจริงสิ่งที่ปรากฏก็ไม่มี แต่ก็ยังไปจำว่ามี อย่างนี้หลง หรือไม่
ผู้ฟัง หลงครับ ถ้าไม่หลงสุข ไม่หลงทุกข์ก็คือรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตลอด
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะบังคับไม่ให้สุข ไม่ให้ทุกข์ก็ไม่ได้ จากไม่รู้ จะบังคับให้รู้ ให้เข้าใจ ให้รู้แจ้งสภาพธรรมก็ไม่ได้ แต่เวลาที่เริ่มเข้าใจขึ้นจะเปลี่ยนความเข้าใจที่เริ่มจะเข้าใจให้ไม่รู้เหมือนเดิมก็ไม่ได้
อ.กุลวิไล คำว่า “หลงสุข หลงทุกข์” ก็สอดคล้องกับพระสูตรเมื่อวานนี้ จากพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ทุกขธรรมสูตร ซึ่งคือธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งก็มีข้อความว่า
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมน้อมใจไปในรูปอันน่ารัก
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 421
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 422
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 423
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 424
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 425
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 426
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 427
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 428
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 429
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 430
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 431
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 432
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 433
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 434
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 435
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 436
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 437
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 438
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 439
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 440
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 441
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 442
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 443
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 444
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 445
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 446
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 447
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 448
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 449
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 450
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 451
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 452
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 453
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 454
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 455
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 456
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 457
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 458
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 459
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 460
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 461
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 462
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 463
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 464
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 465
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 466
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 467
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 468
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 469
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 470
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 471
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 472
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 473
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 474
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 475
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 476
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 477
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 478
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 479
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 480