พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 451


    ตอนที่ ๔๕๑

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ฟังให้ถึงความเป็นอนัตตา คือไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างที่เคยเข้าใจ เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งจะรู้ได้ก็เมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏ ทุกคำในพระไตรปิฎก ถ้าขณะนี้ไม่ปรากฏ จะรู้ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก หรือไม่ ว่าเป็นสิ่งที่ควรรู้ แล้วจะไปรู้อะไร

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นในการศึกษาหมายความว่า ฟังแล้วให้เข้าใจสิ่งที่ฟัง และสิ่งที่ฟังก็ไม่ได้เป็นอย่างอื่น นอกจากสิ่งที่ปรากฏทาง ๖ ทวาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าผู้ฟังไม่รับสารที่ท่านอาจารย์สื่อ จะให้ปัญญาเจริญงอกงามก็เป็นไปได้ยาก

    ท่านอาจารย์ ต้องถามให้เข้าใจว่า ฟังเพื่ออะไรเท่านั้น ที่นั่งฟังไม่น้อยเลย เป็นชั่วโมงๆ ฟังเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อเข้าใจความจริงที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน

    ท่านอาจารย์ ก็ตรง ไม่ว่าใครจะกล่าว ที่มานั่งฟังก็คืออย่างนี้ ทำไมต้องกล่าวว่า คนนี้บอกว่าอย่างนี้ ว่าฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง ทุกคนก็ฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เพราะว่ากล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏให้เข้าใจได้ ไม่ใช่กล่าวเรื่องอื่น

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วที่ท่านอาจารย์บอกว่า เราติดในคำ หรือในชื่อ แต่วันนั้นที่มีปัญหาตรงนี้ เนื่องจากว่า เรากำลังกล่าวถึงลักษณะของจิตที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แล้วมีคำว่า “จิตคิด” และปนกันระหว่าง จิตที่คิด ลักษณะที่คิด กับลักษณะที่ตรึก เพราะพี่อรวรรณเข้าใจว่า

    ท่านอาจารย์ ตรึกนี่ภาษาอะไร

    ผู้ฟัง ภาษาไทย

    ท่านอาจารย์ ไหนลองตรึก ตรึกเป็นอย่างไร ถ้าเป็นภาษาไทย

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า ตรึกถึงอารมณ์ต่างๆ ที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ตรึกคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คือคิด

    ท่านอาจารย์ ตรึก หรือคิดก็ได้ จะใช้คำไหนที่เข้าใจได้ ก็ใช้คำนั้น

    ผู้ฟัง ตรงนี้พอกล่าวถึงจิตที่คิด พี่อรวรรณบอกว่า ไม่ใช่วิตก แต่เป็นจิตที่คิดทางมโนทวาร จริงๆ แล้วจิตรู้แจ้งในอารมณ์ที่วิตกกำลังตรึก ก็มีความเข้าใจกันระหว่างพี่อรวรรณกับหนูว่า ไม่ใช่วิตก ต้องเป็นจิตที่คิด ทางมโนทวารจิตเท่านั้นที่คิด และเคยฟังท่านอาจารย์ในซีดี บอกว่า ขณะนั้นจิตรู้แจ้งอารมณ์ที่วิตกกำลังตรึก

    ท่านอาจารย์ กำลังทำอะไรก็ตามแต่ ทวารไหนก็ตามแต่ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ในขณะนั้น หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าได้ยินคำนี้แล้วจะเปลี่ยนได้หรือไม่ เปลี่ยนจิตให้เป็นเจตสิกได้ไหม เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอะไร รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่เปลี่ยนเลย ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร นัยไหนก็ตามแต่ จะมีเจตสิกอะไร แต่ละเจตสิกทำอะไรก็ตามแต่ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ทุกทาง เกิดเมื่อไรก็รู้แจ้งอารมณ์ กำลังนอนหลับสนิท จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนได้ไหม แม้อารมณ์ไม่ได้ปรากฏ แต่จิตไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเลย เกิดมาก็คือรู้แจ้งอารมณ์

    ผู้ฟัง กลัวว่าเป็นการเข้าใจสับสน แล้วเข้าใจสภาพของจิตที่เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์กับตรึก

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น นี่รู้แจ้งอารมณ์ หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ กำลังได้ยิน รู้แจ้งอารมณ์ หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ กำลังคิดรู้แจ้งอารมณ์ หรือไม่

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ กำลังโกรธ รู้แจ้งอารมณ์ หรือไม่ หน้าที่ของจิตไม่เปลี่ยนแปลงเลย

    อ.กุลวิไล เพราะทั้งจิต และเจตสิกเป็นธรรมที่เกิดร่วมกัน แน่นอนว่า จิตไม่ได้เกิดขึ้นตามลำพัง เมื่อเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นขณะที่คิดก็ไม่ได้มีเฉพาะจิต แต่ต้องมีเจตสิกประกอบด้วย อย่างน้อยต้องมีวิตกเจตสิก มีสัญญาเจตสิก มีเวทนาเจตสิก เป็นต้น

    ผู้ฟัง ขอกราบเรียนถามเรื่องกิเลส คือ กิเลส โดยความเข้าใจก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิต แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนๆ เคยกราบเรียนถามท่านอาจารย์ถึงกุศลจิต ที่ว่า ให้เห็นโทษของกุศลจิต และได้คำตอบว่า กุศลจิตมีโทษ เพราะว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อไปฟังเทป ก็ได้ยินว่า กิเลสเป็นเหตุให้กุศลเกิด ก็เลยสงสัยอยากกราบเรียนถาม

    ท่านอาจารย์ อวิชชาคืออะไร

    ผู้ฟัง คือความไม่รู้

    ท่านอาจารย์ หมดไป หรือยัง

    ผู้ฟัง ไม่หมด

    ท่านอาจารย์ แล้วกุศลเกิดได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ในชีวิตประจำวันกุศลก็เกิด มีทั้งกุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ มาจากไหน ต้นไม้ทุกชนิดที่งอก เกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่ดิน

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นต้นใหญ่ ต้นเล็ก หวาน หรือเผ็ด หรือขม รสต่างๆ อาศัยดิน ตราบใดที่ยังมีอวิชชาจึงมีกุศล และอกุศล ต่อเมื่อใดดับอวิชชา เมื่อนั้นไม่มีทั้งอกุศล และกุศล ไม่มีปัจจัยที่ทำให้เกิดอีกเลย

    ผู้ฟัง แต่กิเลสคือสิ่งที่ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ทำให้จิตขณะนั้นเศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ ไม่ผ่องใส เพราะมีกิเลสเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง แต่สภาพของกุศลจิตเป็นสภาพของจิตที่ดี

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้เลย

    ผู้ฟัง คือมีความคิดว่า กุศลก็ส่วนหนึ่ง อกุศลก็ส่วนหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กุศลจิตเกิด มีอนุสัยกิเลสหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าไม่หมด ก็ต้องมี

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยให้เป็นกุศล หรือไม่ ยังไม่ใช่กิริยาจิต ยังไม่สามารถดับกิเลสที่มีอยู่ในกุศลจิตได้เลย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นอกุศลที่เกิดก็ต้องมีส่วนของกุศลที่สะสมอยู่ในจิตเหมือนกันใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา หรือไม่ หรือว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดทั้งกุศล และอกุศล

    ผู้ฟัง คือฝังความเข้าใจเดิมอยู่

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจเดิมมาก หรือน้อย ค่อยๆ ฟังเข้าใจเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น หรือเพียงได้ยินคำนี้ คำโน้นได้ยิน ก็เกิดสงสัยว่า ทำไมเป็นอย่างนี้ ทำไมเป็นอย่างนั้น โดยความละเอียด แต่ละขณะจิตแม้ขณะนี้เองมาจากไหน แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล ความคิดนึก สุข ทุกข์ ประการใดๆ ทั้งสิ้นสะสมสืบต่อ จนกระทั่งปรุงแต่งให้เกิดขณะนี้ขึ้นได้ และความละเอียดของแต่ละขณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างในแต่ละขณะ ในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี แต่ละชาติเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ในส่วนของกุศลเมื่อเกิดขึ้น ดับไปแล้ว ก็ยังมีส่วนที่สะสมสืบต่อ

    ท่านอาจารย์ ทั้งกุศล และอกุศลค่ะ

    ผู้ฟัง ก็คิดว่า ถ้ากุศลจะเกิด ก็เพราะว่าสิ่งที่ดีที่เคยสะสมมาทำให้กุศลเกิด แต่ไม่เข้าใจว่า ทำไมกิเลสซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี จะทำให้กุศลเกิดได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงปัจจัยหนึ่ง ละเอียดจนกระทั่งไม่มีอะไรพ้นจากการที่เคยเกิดขึ้นเป็นไปสะสมทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล บางคนอกุศลเกิด ทำให้เขาขวนขวายในการกุศล เพราะว่าเขาเคยทำอกุศลนั้นมา

    ผู้ฟัง เคยทำอกุศล หรือกุศล

    ท่านอาจารย์ เคยทำอกุศล ก็เลยเกิดรู้สึกว่า ควรทำกุศลมากๆ เพราะอกุศลที่ทำ เป็นอกุศลที่ร้ายแรงมาก อย่างบางคนฟังธรรม เห็นผิดได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้ แต่คิดว่า จากสิ่งที่เขาสะสมมา

    ท่านอาจารย์ แต่เขาก็มีการฟังธรรมด้วย และส่วนที่เขาฟัง จะทำให้เขาเข้าใจผิด เห็นผิดได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ได้อีก

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุดรู้อย่างนี้แล้วเป็นอย่างไร ทุกอย่างที่มีสะสมสืบต่อเป็นปัจจัยได้ อยากฟังธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง อยากฟัง

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจไหม

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ ฟังมาจากอยากฟัง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คือถ้าอกุศลเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกุศล ตรงนี้พอจะเข้าใจ แล้วก็เห็นสภาพจริงๆ ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเก่งไหม ฟังแล้วรู้อะไรตั้งมากมาย หลายคำ วิตก จิตไม่ใช่สภาพคิด ต้องเป็นวิตกที่คิด หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ ฟังแล้วเป็นอย่างไร ฟังแล้วเก่งไหม เราเก่ง หรือไม่ เรารู้

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว ถ้าอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล ตรงนี้มีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะว่าความอยาก หรือความต้องการที่จะทำ เหมือนกับเรารู้ว่า กุศลจิตเป็นสิ่งที่ดี ยิ่งมาศึกษาธรรม ยิ่งขวนขวายที่จะทำกุศล เพราะรู้ว่าดี มีประโยชน์

    ท่านอาจารย์ เราเป็นคนที่มีกุศลมาก เพราะเราขวนขวายในการฟัง เพราะฉะนั้นกุศลนั้นทำให้เกิดความสำคัญตน หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่ค่ะ แต่กุศลทำให้เกิดอกุศล ก็เข้าใจ แต่ไม่เข้าใจจริงๆ เลยตรงที่ กิเลสเป็นเหตุให้เกิดกุศล

    ท่านอาจารย์ อยากฟังธรรมไหม

    ผู้ฟัง อยาก

    ท่านอาจารย์ ฟัง หรือไม่

    ผู้ฟัง ฟัง

    ท่านอาจารย์ ฟังเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ฟังเพราะว่า ยังไม่รู้อีกมาก

    ท่านอาจารย์ อยากฟังไหม

    ผู้ฟัง ฟังเพราะอยาก

    ผู้ฟัง ที่ถามเรื่องจิตคิดกับวิตก เมื่อครู่คุณสุถามเรื่อง กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศล ท่านอาจารย์ก็อธิบายให้เข้าใจว่า ให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่คำถามที่ถามก็ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ตรงนี้ความเป็นอนัตตาทำให้คิดอย่างนั้น ก็เลยเรียนขอคำแนะนำ ทั้งๆ ที่ท่านอาจารย์บอกว่า ให้ฟังแล้วเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่คำถามสดๆ ๒ คำถามไม่ได้เป็นอย่างนั้น เหมือนกับว่าหลงทาง แล้วทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่ฟังว่าเป็นธรรม กำลังฟังเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ฟังสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรมใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่คุณอรวรรณ

    ผู้ฟัง คือไปๆ มาๆ ก็เป็นเรา เช่น ไปสนทนา แล้วก็สำคัญตนว่า รู้

    ท่านอาจารย์ เราอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่คิดว่า มีเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ ฟังเพื่อให้รู้ว่า ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เรื่องไม่ใช่เรานี่ เหมือนออกจากห้องแล้วลืม ขณะถามก็ลืม

    ท่านอาจารย์ ก็ใช่ ถึงต้องฟังแล้วฟังอีก ฟังกันไปอีก ๒ ชั่วโมง เท่านี้ไม่พอ เท่าไรก็ไม่พอ จนกว่าจะรู้ลักษณะที่เป็นธรรม แล้วก็พูดแล้ว พูดเล่าว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้นฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมี จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ลักษณะนั้นเป็นธรรมแต่ละลักษณะ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นคำที่ว่า “ไม่ประมาทแม้อกุศล แล้วเจริญกุศลแม้เพียงเล็กน้อย” จะอธิบายว่าอย่างไร เพราะเท่าที่ฟังมา ก็มีความคิดว่า ทั้งกุศล และอกุศลก็เป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เดิมคิดว่า กุศลเป็นสิ่งที่ดี และควรเจริญ อกุศลเป็นสิ่งที่ไม่ดีแล้วควรละ แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคลที่จะละได้ แต่เนื่องจากว่า กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทั้งกุศล และอกุศล ก็เลยยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ กำลังฟัง ประมาท หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีความรู้ และความเข้าใจ นี่คือประมาทตลอด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นค่อยๆ ฟังให้เข้าใจขึ้น จะสามารถเข้าใจอะไรได้ในขณะนี้ ไปคิดในสิ่งนี้ขณะนี้สามารถเข้าใจได้ หรือไม่ หรือจะเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นจากการเริ่มเข้าใจตั้งแต่ขั้นต้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ฟังเรื่องนี้ คิดถึงเรื่องโน้น ฟังเรื่องประมาท ก็ไปหาเหตุของประมาท ตอนนี้ประมาท หรือไม่ ประมาทน้อย ประมาทมากอย่างไรๆ

    แต่ขณะนี้กำลังฟังอยู่แล้วประมาท หรือไม่ ก็ไปเป็นเรื่องต้องคิดอีก แทนที่จะฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ประมาทคือไปคิดถึงสิ่งอื่น

    ผู้ฟัง ที่กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า กิเลสเป็นเหตุให้เกิดกุศล และท่านอาจารย์ยกตัวอย่างว่า ต้นไม้เกิดจากดิน อยากขอคำอธิบายในตรงนี้อีกสักนิดหนึ่ง เพราะเหมือนเกือบเข้าใจแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมกิเลสซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ดี แล้วเป็นเหตุให้อกุศลจิตเกิดได้ แต่ทำไมเป็นเหตุของกุศลที่เกิดด้วย

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็ถามอีกครั้งหนึ่งว่า อยากฟังธรรมไหม เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็รู้ว่า อยากเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ และเป็นเหตุให้ฟัง หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ใช่อีก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอกุศลเป็นเหตุให้เกิดกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง ตรงนี้ได้

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจขึ้นๆ โดยมีความอยากนั้นได้ไหม ยังไม่ได้หมดความอยากเลย อยากแล้วก็ฟัง ฟังแล้วก็เข้าใจ แล้วก็อยากแล้วก็ฟัง แล้วก็เข้าใจ แล้วก็อยาก แล้วก็ฟัง แล้วฟังแล้วก็เข้าใจ

    รู้สึกคุณวิชัยอยากจะสนทนาด้วยใช่ไหม

    อ.วิชัย ก็คืออาศัยกุศลนั่นเอง เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับ กุศลจิตเกิดก็คือขณะนั้นจิตเป็นกุศล แต่กุศลจิตนั้นก็ต้องดับด้วย เมื่อดับก็มีเหตุปัจจัยให้จิตอื่นเกิดสืบต่อ และแต่ละบุคคลก็สั่งสมมาแตกต่างกัน บางครั้งก็อาศัยกุศลที่ดับไปแล้วทำให้เกิดอกุศล อย่างเช่นขณะที่ฟังเข้าใจแล้ว กุศลขณะนั้นก็ดับแล้วด้วย แล้วภายหลังความพอใจในสิ่งที่เข้าใจแล้ว มีความยินดีพอใจในสิ่งที่เข้าใจแล้วสามารถเกิดภายหลังได้ด้วย เพราะเหตุว่าอาศัยกุศลที่ดับไปแล้ว ทำให้เกิดอกุศลในภายหลังก็ได้เช่นเดียวกัน

    มีความพอใจ ยินดี ติดข้องในความรู้ ความเข้าใจนั้นก็ได้ คือไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นอย่างนี้ แต่สภาพธรรมต่างอาศัยปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ธรรมขณะหนึ่งๆ เกิดขึ้น แม้อกุศลก็เช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง คืออาศัยกุศลก่อนให้เกิดอกุศลในภายหลังก็ได้ หรืออกุศลที่เกิดก่อนหน้านั้น อาศัยอกุศลที่เกิดก่อนหน้านั้น คือดับไปแล้ว ให้เกิดกุศลในภายหลังก็ได้ อย่างเช่น กระทำอกุศลไปแล้ว อาศัยอกุศลนั้นเอง ให้เกิดกุศลในภายหลัง เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นในการเจริญกุศลอื่นๆ โดยอาศัยอกุศลที่ดับไปแล้วนั่นเอง

    ดังนั้นปัจจัยนี้ก็เป็นปัจจัยที่กว้างขวางมาก อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลอีกก็ได้ กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลอีกก็ได้ หรือกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลก็ได้เช่นเดียวกัน ถ้าพิจารณา ธรรมเป็นสิ่งที่จริง พิจารณาในวันหนึ่งมีความพอใจในความรู้ความเข้าใจแม้ขณะที่ฟัง ก็ต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะขณะที่พอใจ ขณะนั้นไม่รู้ เป็นความติดข้องยินดีประกอบด้วยความไม่รู้ด้วย เพราะฉะนั้นขณะที่พอใจติดข้อง ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าติดข้องแล้ว นอกจากจะเกิดกุศลในภายหลังที่ประกอบด้วยปัญญา ที่สามารถเข้าใจในลักษณะที่ติดข้องได้ ตรงนี้ก็เป็นคนละขณะกันอีก

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมก็เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่ว่าเมื่อสั่งสมความเข้าใจมากขึ้น กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็สามารถเกิดพร้อมจะเข้าใจถูกต้องได้ด้วย แต่นั่นก็หมายความว่าเกิดจากการสั่งสมในขั้นการฟังมาก่อน หรือขั้นพิจารณาไตร่ตรองด้วย กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจึงเกิดขึ้น ตรงนี้ก็คือ กุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล ธรรมก็มีเหตุปัจจัยมากมาย ที่จะให้สภาพธรรมหนึ่งๆ เกิดขึ้น

    อ.นิภัทร ก็หนักไปทางความหมายของศัพท์ คือ กุศล แปลว่า สภาพที่ตัดสิ่งที่บัณฑิตพึงเกลียด สิ่งที่ตัดธรรมที่บัณฑิตเกลียด เรียกว่า “กุศล” ไม่รู้บัณฑิตเกลียดอะไรบ้าง ตรงนี้กุศลเป็นสิ่งที่เราควรทำ ไม่ว่าจะเล็กจะน้อย เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเจริญ แต่กุศลที่ควรเจริญอย่างยิ่งคือ " สติปัฏฐาน "

    เพราะว่ากุศลที่เจริญไป โดยไม่มีหลัก ทำไปก็ได้อย่างสูงก็แค่อรูปาวจรกุศล อย่างใน อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร คำว่า “สังขาร” ในที่นั้น ท่านหมายถึงอปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร อปุญญาภิสังขารก็หมายถึงอกุศลทั้งหมด ปุญญาภิสังขารก็หมายถึงมหากุศล และรูปาวจรกุศลด้วย ส่วนอเนญชาภิสังขาร หมายถึงอรูปาวจรกุศล กุศลเหล่านี้เป็นวัฏฏะ คือไม่สามารถทำให้พ้นจากวัฏฏะ การหมุนเวียนตายเกิดอยู่ได้ ไม่สามารถทำให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์ได้ กุศลที่เป็นปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขารก็ดี ตรงนี้กุศลที่เกิดจากการเจริญสติปัฏฐาน เป็นวิวัฏฏะกุศล เป็นกุศลที่นำออกจากสังสารวัฏฏ์

    เพราะฉะนั้นจึงควรเจริญ สิ่งที่เรามุ่งประสงค์ในการศึกษาธรรม ก็เพื่อตรงนี้ เวลากุศลเกิด ถ้าเรายินดีติดใจก็เหมือนอย่างคุณวิชัยว่า เป็นเหตุให้เกิดอกุศล ขณะนั้นจิตเป็นกุศลเป็นอย่างไร เราระลึกรู้ได้ไหม และกุศลดับไป อกุศลเกิด ระลึกรู้ได้บ้างไหมว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง เพราะว่าธรรมมีทั้งอกุศล มีทั้งกุศล ถ้ารู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน

    ทั้งกุศล ทั้งอกุศลก็ดี ก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง และธรรมแต่ละอย่างก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่สภาพธรรมที่เกิดตามเหตุปัจจัยเท่านั้น ถ้าเราศึกษาธรรมอย่างนี้ ก็จะได้ประโยชน์ที่ทำให้เข้าใจชีวิตประจำวัน

    อ.อรรณพ ประเด็นคำถามของพี่สุกัญญาก็คือ อกุศล หรือกิเลสซึ่งไม่ดี ทำไมเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดได้ ทั้งๆ ที่อกุศล หรือกิเลสนั้นก็ไม่ดีเลย ใช่หรือไม่ ซึ่งธรรมพิจารณาได้หลายขั้น ตั้งแต่ขั้นกว้างๆ เลย อย่างบางคนทำไมเขามาศึกษาธรรม เขามีเรื่องกลุ้มใจ ใช่ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    3 มี.ค. 2567