พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 452


    ตอนที่ ๔๕๒

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    อ.อรรณพ ประเด็นคำถามของพี่สุกัญญาก็คือ อกุศล หรือกิเลสซึ่งไม่ดี ทำไมเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดได้ ทั้งๆ ที่อกุศล หรือกิเลสนั้นก็ไม่ดีเลย ซึ่งธรรมพิจารณาได้หลายขั้น ตั้งแต่ขั้นกว้างๆ อย่างบางคน ทำไมเขามาศึกษาธรรม เขามีเรื่องกลุ้มใจ ใช่หรือไม่

    อาจจะพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ทำให้เกิดความทุกข์ใจ ซึ่งความทุกข์ใจนั้น ทำให้มีกุศลจิต ที่ตรึกไปที่จะฟังธรรมเพื่อคลายทุกข์ แต่แน่นอนว่า การสะสมอกุศล ก็เป็นการสะสมอกุศล การสะสมกุศล ก็เป็นการสะสมกุศล ไม่ใช่อกุศลเกิดแล้วสะสมๆ ทำให้กุศลสะสมเพิ่ม เป็นคนละเรื่องกัน แต่เป็นการที่ อกุศล หรือกิเลสจะเป็นปัจจัยแก่กุศล โดยเป็นอารมณ์ได้ อย่างสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นสามารถรู้ลักษณะของโทสะได้ โทสะเป็นอารัมมณปัจจัยกับสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐานเกิดแล้วรู้แต่กุศล รู้แต่สิ่งดีๆ ของไม่ดี ไม่ต้องรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่ดี แต่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

    เพราะฉะนั้นอารมณ์ของสติปัฏฐาน คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อกุศลธรรมบ้าง กุศลธรรมบ้าง อัพยากตธรรมบ้าง เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

    เพราะฉะนั้นอกุศล ถ้ากำลังเกิดปรากฏแล้วดับไป แต่สืบต่อโดยความเป็นอารมณ์กับสติปัฏฐานได้ ตรงนี้อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล โดยเป็นอารัมมณปัจจัยได้

    ตรงนี้ก็คงพอเข้าใจไปส่วนหนึ่งแล้ว และเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็อุปมาเห็นชัดแล้ว แต่เราอาจไปติดว่า อกุศลไม่ดีแล้วจะเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดได้อย่างไร ถ้าตราบใดยังมีกิเลส พืชเชื้อของกิเลสที่ยังไม่ดับ คือ อนุสัย ก็เหมือนกับแผ่นดิน แผ่นดินเป็นที่เจริญเติบโตของวัชพืชซึ่งไม่ดี และพืชพันธุ์ธัญญาหารที่เป็นประโยชน์ ฉันใด ตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็มีทั้งอกุศล และทั้งกุศล อบรมเจริญกุศลเพื่อละอะไร

    ผู้ฟัง เพื่อละอกุศล

    อ.อรรณพ เพราะฉะนั้นถ้ายังมีกิเลสอกุศล ก็ควรจะอบรมเจริญกุศลขั้นการฟัง ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบ สติปัฏฐาน วิปัสสนา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อกิเลสดับหมดแล้ว ต้องเจริญกุศลเพื่อดับอะไรอีก หรือเปล่า ไม่มี เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ซึ่งท่านดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉทแล้ว จิตของท่านจึงไม่เป็นทั้งอกุศล และกุศล จึงเป็นมหากิริยาจิต

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังมีพืชเชื้อคืออนุสัย กิเลสต่างๆ ก็เป็นปัจจัยให้ เกิดอกุศลบ้าง กุศลบ้าง ยังเป็นไปในวัฏฏะ เพราะฉะนั้นจึงทรงแสดงปฏิจจสมุปปาท เงื่อนต้นของสังสารวัฏฏ์ ถ้าจะพูดไปแล้ว ก็คืออวิชชา คือ พืชเชื้อของกิเลส ความไม่รู้ ซึ่งเป็นตัวหลัก กิเลสทั้งหลาย รากฐานก็มาจากอวิชชาทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นอวิชชาซึ่งเป็นกิเลส เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารในที่นี้ได้แก่ อภิสังขาร กุศลเจตนาบ้าง อกุศลเจตนาบ้าง ที่ยังเป็นไปในภพ ในวัฏฏะ โดยนัยนี้ แต่ไม่ใช่โดยนัยให้สะสมอกุศลมากๆ กุศลก็จะเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ ถ้าสะสมอกุศล อกุศลก็จะเพิ่มขึ้น อนุสัยก็เพิ่ม แต่ถ้าสะสมกุศล กุศลก็เพิ่ม

    เพราะฉะนั้นอกุศล หรือกิเลสเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ โดยเป็นอารัมมณปัจจัยได้ โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยได้ แต่ไม่สามารถเป็นปัจจัยกันโดยการเกิดพร้อมกันไม่ได้ จะเป็นสหชาตปัจจัยกันไม่ได้ จะเป็นอัญญมัญญปัจจัยกันไม่ได้ สหชาตปัจจัย คือ เกิดพร้อมกัน หรืออัญญมัญญปัจจัย คือ เกิดพร้อมกัน อาศัยพิงพึ่งกันเกิด ซึ่งเป็นไปไม่ได้สำหรับกุศล และอกุศล ไม่เกิดปนกัน แล้วก็ไม่มาเข้ากัน ไกลกันยิ่งกว่าฟ้ากับดิน เพราะเป็นคนละชาติ เพราะฉะนั้นเป็นปัจจัยโดย เป็นอารมณ์ โดยเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ควรยินดีในอกุศล ศึกษาธรรมมาก็มีความรู้สึกว่า กุศลเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรเจริญ นี่อาจจะเป็นคำถามโง่ๆ แต่จำเป็นต้องถามเพื่อความกระจ่างสิ้นเลยในวันนี้ เพราะว่าอย่างไรๆ ก็ยังติดใจสงสัยในจุดนี้

    ท่านอาจารย์ อย่างไรๆ ก็ไม่มีวันหายสงสัยได้เลย เพราะเหตุว่าที่จะเข้าใจได้ คือต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังได้ยิน ได้ฟังด้วย ขณะนี้มีอกุศล ก็ยังไม่รู้ลักษณะที่เป็นอกุศล แล้วจะไปเข้าใจว่า สิ่งนั้นทำให้เกิดสิ่งนั้น หรือเวลาที่กุศลจิตเกิด ก็ยังไม่รู้ว่า แล้วต่อไปอะไรจะเกิด อาศัยสิ่งใดเกิด ยังไม่รู้ตัวธรรมจริงๆ แล้วจะให้หมดสงสัย ไปเข้าใจกระจ่างถึงว่า อกุศล เป็นปัจจัยให้ เกิดกุศลก็ได้ หรือกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลก็ได้ โดยตัวจริงไม่ได้รู้เลย แล้วจะไปเห็นชัดเจน หายสงสัย เข้าใจได้อย่างไรว่า กุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ด้วย นี่เป็นความละเอียด

    เพราะฉะนั้นจะกล่าวถึงธรรม ก็คือ เดี๋ยวนี้มีธรรม แต่ยังไม่รู้จักธรรม แล้วจะเข้าใจถ่องแท้ ประจักษ์เลย หายสงสัยเลยว่า เป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ขณะนี้ฟังธรรม เพียงแค่ฟังธรรม แล้วกำลังเป็นธรรม ที่ปรากฏให้รู้ให้เข้าใจในขณะที่ฟัง หรือไม่ นี่ก็เป็นสิ่งซึ่ง ถ้าค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะหมดความสงสัยในลักษณะที่เป็นธรรม แต่จะมีความสามารถที่จะรู้ถึงปัจจัยต่างๆ แสนโกฏิกัปป์มาแล้วที่เป็นปัจจัย ทำให้เกิด แม้คิดขณะนี้ หรืออัธยาศัยต่างๆ กัน ขณะนี้ได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องจริง มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้เข้าใจไปโดยตลอด อย่างที่กำลังได้ยิน ได้ฟังเรื่องของ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร และสังขารก็ เป็นทั้งกุศล และอกุศล แต่รู้แน่ว่า ยังมีอวิชชาอยู่ แล้วมีกุศลได้อย่างไร

    ถ้าคิดไปๆ ก็สงสัยอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจตามลำดับว่า ขณะนี้เป็นธรรม และทุกอย่างที่ได้ยิน ได้ฟังจะเข้าใจขึ้นตามความเป็นจริง โดยมีตัวจริง และกำลังเข้าใจตัวจริงๆ ซึ่งเป็นอย่างที่ได้ยินได้ฟัง แต่จะไม่เข้าใจแจ่มแจ้งถ้าไม่เข้าใจตัวจริงๆ ฟังแต่เรื่องราว และขณะนี้ ก็เป็นสภาพธรรมจริงๆ ทั้งนั้น ไม่มีสักอย่างเดียว ซึ่งไม่จริงในขณะที่กำลังปรากฏ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ต้องไปคิดว่ามาจากไหน หรือว่าเห็นขณะนี้เกิดแล้ว กำลังเห็นแล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ต้องไปคิดไหมว่า มาจากไหน โดยที่ยังไม่รู้ว่า เห็นมี และเป็นธรรมด้วย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจมั่นคงยิ่งขึ้นว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป จึงเป็นอนัตตา ไม่เป็นของใครเลย ตั้งแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่อดีตแสนโกฏิกัปป์จนถึงทั้งชาตินี้ และจนถึงชาติต่อๆ ไปด้วย ก็เป็นกระแสของธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่อแต่ละภพแต่ละชาติ ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะ ของสภาพธรรมในขณะนี้ จะเข้าใจไหมว่า ตั้งแต่เกิดมาต้องเป็นอย่างนี้ ถึงขณะนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ และขณะต่อไปก็ต้องเป็นอย่างนั้น และขณะต่อๆ ไปอีก ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ถ้าเข้าใจตัวธรรมก็จะรู้ได้เลยว่า ไม่มีใครสามารถบันดาลได้

    นี่เป็นเหตุที่ศึกษาเพื่อรู้ความจริง เพื่อละความไม่รู้ ซึ่งความไม่รู้ปกปิด ไม่ได้เห็นความจริงของสภาพธรรมอย่างที่ผู้ตรัสรู้ทรงแสดง เช่น ขณะนี้สภาพธรรมใดมี เพราะสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น แค่นี้ก็ไม่รู้ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็ดับด้วย ก็ไม่รู้อีก

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ก็คือผู้ที่รู้ว่า ไม่รู้ และผู้รู้ทรงแสดงไว้ ควรรู้ไหม ถ้าควรรู้ก็ฟัง แล้วก็มีความเข้าใจว่า ฟังเพื่อเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ฟังเพียงเรื่องราวแล้วก็สงสัย เพราะว่าไม่สามารถรู้อย่างนั้นได้

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็คือยังไม่เข้าใจ ก็คือยังไม่เข้าใจ เพราะไม่สามารถให้เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจมีจริงๆ เปลี่ยนไม่เข้าใจให้เป็นเข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่เข้าใจแล้ว เปลี่ยนให้ไม่เข้าใจได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือธรรมทั้งหมด ฟังจนกว่าจะรู้ว่าเป็นธรรมทั้งหมด นี่คือประโยชน์ของการฟัง

    ผู้ฟัง เมื่อได้รับคำอธิบายมาก็เข้าใจระดับหนึ่งว่า กิเลสเป็นเหตุที่จะให้เกิดได้ทั้งกุศล และอกุศล แต่ยังไม่เชื่อ

    ท่านอาจารย์ โดยไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นกิเลส หรือไม่ แล้วจะไปเชื่อได้อย่างไร ยังไม่รู้จักตัวกิเลสเลย ไว้รู้จักเสียก่อน แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น อย่างขณะนี้มีโลภะไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร

    ผู้ฟัง ก็อยากมากเลยที่จะรู้

    ท่านอาจารย์ รู้ตอนอยากใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พอเห็นดับไปแล้ว สิ่งที่ปรากฏยังไม่ดับ มีโลภะไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ๆ กำลังกล่าวว่า อยากรู้ ความจริงไม่รู้ลักษณะที่อยากว่าเป็นธรรม เพราะว่าในขณะที่อยากไม่ใช่เห็น

    เพราะฉะนั้นธรรมจริงๆ เกิดดับ เร็วจนกระทั่งไม่รู้ความจริงของธรรมเลย ใช้คำว่า “เลย” เพราะเหตุว่ากำลังฟังขณะนี้ อย่างที่เคยกล่าว เหมือนหลับแล้วฟัง ตื่นเมื่อไร ก็คือรู้จริงๆ ว่า ที่ได้ยินได้ฟังมีลักษณะของธรรม เช่น" แข็ง " ขณะนี้ก็มี แต่ฟังเรื่อง "แข็ง" จิตขณะนี้ก็มี ก็ฟังเรื่องจิต กิเลสขณะนี้มี ก็ฟังเรื่องกิเลส อวิชชาขณะนี้มี ก็ฟังเรื่องอวิชชา แต่ไม่รู้จักสักอย่าง ทุกอย่างดับหมดแล้วทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี เมื่อครู่นี้ดับหมด ไม่เหลือเลย นับไม่ถ้วน ถ้าจะนับก็คือนับไม่ถ้วนเลย

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า กว่าจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแล้วรู้ว่า มีลักษณะนั้นจริงๆ ที่ตรงกับที่ได้ยินได้ฟัง แข็ง นี่ก็คงยกตัวอย่างกันบ่อยๆ เพราะว่าปรากฏ รู้แข็ง หรือไม่ มีแข็ง ลืมรู้แข็ง มีเห็น ลืมรู้เห็น มีเสียง ก็ลืมรู้เสียง ดับไปแล้ว ลืม แล้วจะไปรู้ได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งนั้นดับแล้ว

    เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อเข้าใจจนไม่ลืม เป็นสัญญาความจำที่มั่นคงว่า จริงๆ แล้วโลกที่ปรากฏ เหมือนกับมีสิ่งที่เกิด ไม่ดับเลย เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา ความจริงก็เป็นการจำสิ่งที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็เกิดดับ แต่จำไว้ว่ายังมี และเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ จนกว่าจะรู้ลักษณะว่า ขณะที่แข็งปรากฏ ชั่วแข็งปรากฏ มีอะไรบ้าง ไม่มีอะไรเลย ลองคิดดูซิ เรื่องที่คิดมีหรือไม่ ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ ไม่มี คนที่กำลังมองเห็นในขณะนี้ มีในแข็งที่กำลังปรากฏ หรือไม่ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นแข็งเป็นสิ่งที่มีจริงก็ยังไม่รู้

    เพราะฉะนั้นความไม่รู้ทั้งหมดเลยในวันหนึ่งๆ จนกว่าจะเริ่มเข้าใจถูกต้องขึ้น แล้วก็ไปนั่งคิด นั่งสงสัยในเรื่องนั้นเรื่องนี้ โดยที่ไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้น ก็เป็นเพียงความจำเรื่องราว คิดเหมือนเรื่องอื่นทั้งหมดที่เคยคิด ซึ่งไม่สามารถทำให้รู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏได้

    ผู้ฟัง อย่างความอยากมี ถามว่ามีจริงไหม ก็มีจริง และรู้ว่า ตรงนี้เป็นความอยาก ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเราอยาก ไม่ใช่ธรรมที่มีลักษณะอยากเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แล้วจิตที่รู้ว่า เราอยาก มันคืออะไร คือจริงๆ แล้วค่อนข้างสับสนบ้าง ในกรณีที่สภาพธรรมใดปรากฏ ก็รู้ลักษณะของธรรมนั้น ว่าเป็นธรรม แต่จริงๆ จากเดิมที่ไม่รู้อะไรเลย แต่เมื่อมาศึกษาธรรม ก็รู้ขึ้นบ้างเล็กๆ น้อย แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดว่า ลักษณะที่รู้คือสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ไปเรียกชื่อ ไปแปลว่า ลักษณะรู้เป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อย่างเช่น ความอยาก

    ท่านอาจารย์ ก็รู้โดยชื่อว่า เป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง แต่ยังไม่ใช่ลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ หรือ แต่เมื่อปรากฏจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้อยาก หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังอยากไม่หยุด

    ท่านอาจารย์ ปรากฏ หรือไม่

    ผู้ฟัง ก็ปรากฏ แต่ก็มีเห็น มีได้ยิน

    ท่านอาจารย์ หลังเห็น มีอยากไหม

    ผู้ฟัง อันนี้ต้องมี แต่ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่สามารถจะรู้ได้ แต่มี แล้วก็จำว่ามี ถูกหรือไม่ เหมือนกับเวลาอยากก็จำว่าอยาก แต่ตัวอยากเกิดแล้วดับแล้ว เพราะว่าขณะที่เห็นไม่ใช่อยาก ขณะที่เสียงปรากฏ ไม่ใช่อยาก

    ขอโทษ ไม่ทราบคนฟังเบื่อ หรือยัง ถ้าเบื่อจะได้เปลี่ยนเรื่อง แต่อย่างไรก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วแต่ละชื่อ ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่ชื่อมี เพื่อให้เข้าใจว่า หมายความถึงสภาพธรรมในขณะนี้ แต่ละลักษณะ เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นชื่อหนึ่ง ภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “รูปารัมมณะ” หรือจะใช้ “วัณณธาตุ” หรืออะไรก็ได้ กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมี ซึ่งไม่ใช่เห็น นี่คือชีวิต ตลอดกี่ภพกี่ชาติ ก็คือธรรมนั่นเอง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยไม่รู้ นานแสนนานจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น

    ผู้ฟัง จากคำถามของคุณสุกัญญา ก็ยังไม่เข้าใจว่า กิเลส และอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้อย่างไร ท่านอาจารย์ก็อธิบายว่า

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ คุณอรวรรณ ถ้าอย่างนั้น กล่าวเรื่องปฏิจจสมุปปาทกับปัจจัย ๒๔ เลย ดีหรือไม่ ใครว่า ควรจะเป็นอย่างนั้นบ้าง ต่อไปนี้ ณ บัดนี้ที่จะเข้าใจได้ก็คือกล่าวถึงเรื่องปฏิจจสมุปปาท ปัจจัยซึ่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นโดยละเอียดว่า แต่ละอย่างนั้นเป็นปัจจัยโดยฐานะใด ทั้ง ๒๔ ปัจจัย เพื่อจะเข้าใจดีไหม

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ มีทั้งดี และไม่ดี ที่ว่าดีเพราะอะไร มี ๒ ท่านเท่าที่เห็น ดีเพราะอะไร ดี เพราะได้ฟังสิ่งที่มีแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย มีแต่ชื่อ อวิชชาเป็นชื่อ หรือไม่ ขณะนี้มี หรือไม่ก็ยังไม่รู้ แล้วก็จะกล่าวถึงอวิชชาโดยละเอียด โดยไม่รู้ตัวอวิชชา ซึ่งขณะนี้ ขณะใดที่ไม่ใช่กุศล กล่าวโดยย่อๆ ขณะนั้นก็คือมีความไม่รู้สิ่งที่มี และกำลังปรากฏ อวิชชาปิดบัง ความไม่รู้ปิดบังไม่ให้มีความเห็นถูกต้อง ในเมื่อสิ่งนั้นแม้กำลังปรากฏจริงๆ ก็ไม่รู้ อวิชชาเป็นสภาพที่ไม่สามารถรู้ หรือมีความเห็นที่ถูกต้องได้ แล้วยังมีโลภะฉาบทาไว้อีก หนาแน่นแค่ไหน แล้วจะฟังเรื่องปฏิจจสมุปปาท และปัจจัยโดยละเอียด โดยที่อวิชชาก็ยังมีอยู่ มากมาย ถ้ามีความเข้าใจแล้ว จะกล่าวถึงปฏิจจสมุปปาท และปัจจัยต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้ในอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ คัมภีร์ ที่กล่าวถึงปัจจัย ๒๔ เป็นคัมภีร์สุดท้าย เพราะอะไร เพราะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จึงสามารถกล่าวถึงความละเอียดยิ่งขึ้น ของสภาพธรรมแต่ละธรรมได้ แต่ถ้ายังไม่เข้าใจ แล้วก็เข้าใจว่า ผู้เริ่มฟังใหม่ แม้แต่คำว่า “ธรรม” ก็ยังไม่สามารถรู้ได้ เพราะว่าเคยเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นธรรมไม่ใช่เรื่องเทศนาที่เราได้ยินได้ฟังเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องราวที่เป็นชีวิต เป็นความดี เป็นความชั่ว แต่ยังกล่าวถึงสิ่งที่มีจริง โดยสภาพความจริงของสิ่งนั้น คือ เป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่ของใคร เกิดมีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มี แต่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป จะเป็นของใครได้ และไม่มีใครเป็นเจ้าของจริงๆ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นเจ้าของอะไร รูปไหน เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป โดยไม่รู้เลย แม้จิตเห็น จิตได้ยิน คิดนึกขณะนี้ ใครเป็นเจ้าของ มีปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นธรรมจริงๆ เป็นสิ่งที่มีเมื่อเกิดขึ้น และก็มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ที่ควรเข้าใจให้ถูกต้อง คือ แม้มี ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ของใคร และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย แต่หลงตั้งแต่เกิดจนตาย หลงยึดถือสภาพธรรมทุกอย่างทั้งหมดว่าเป็นเรา และเป็นของเรา ไม่ได้ตื่นขึ้นรู้ความจริงเลย ตายไปด้วยความไม่รู้ และความหลงก็ติดตามไป เพราะมีเหตุที่จะต้องให้เกิดแล้วเกิดอีก ซึ่งเกิดมาแล้วนานมาก แล้วก็จะต้องเกิดต่อไป เกิดแล้วเพราะความไม่รู้ ก็อยากจะได้แต่สิ่งที่น่าพอใจตลอด แสวงหา โดยไม่รู้ว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งนั้นๆ เลยสักอย่างเดียว นอนหลับสนิท สมบัติหายไปไหนหมด ตามไปในความคิดความฝัน หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ดับจริงๆ ไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วทำไมมีภาวะอย่างนั้นได้ อยู่ดีๆ วันนี้มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ มีเสียง มีเรื่องราวต่างๆ แล้วก็ไม่มีอะไรเลย หายไปหมดหลับสนิท ไม่เหลืออะไรเลย ทำไมมีภาวะอย่างนั้นได้ ภาวะอย่างนั้นมีจริงๆ ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน แต่ว่าความจำที่เกิดมาแล้วก็จำไว้ ทันทีที่ตื่นขึ้นก็เห็นอีก ได้ยินอีก เหมือนกับเล่นไปกับสภาพธรรมด้วยโลภะ ด้วยโทสะ เหมือนเด็กเล็กๆ ที่ไม่รู้อะไร สิ่งที่ปรากฏก็ไม่รู้ เดี๋ยวรัก เดี๋ยวชัง เดี๋ยวสนุก เพลิดเพลินไป ทั้งวันแล้วก็หลับ ความตายก็คือสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ไม่มีอีกแล้วสำหรับเรื่องนี้ โลกนี้ และความคิดอย่างนี้ แต่ก็มีโลกใหม่ เรื่องใหม่ สุขทุกข์ใหม่ ไม่มีวันจบสิ้น

    เพราะฉะนั้นผู้ฟังธรรมต้องรู้ว่า ฟังเพื่อเห็นถูก เห็นถูกแล้วจะหมดกิเลสวันนี้หรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    3 มี.ค. 2567