พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 455


    ตอนที่ ๔๕๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ หมายความว่าขณะนี้ เป็นธรรม หรือเป็นอะไรที่กำลังมีจริง ที่กำลังปรากฏ

    นี่คือผลของการเป็นผู้ ไม่ประมาทในพระธรรมที่ทรงแสดง เมื่อทรงตรัสรู้ ไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดง เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก การเกิดดับสืบต่อ ของสภาพธรรม ใครไปยับยั้งให้ช้าลงก็ไม่ได้ จะต้องเป็นอย่างนี้ ด้วยความรวดเร็ว เหมือนมายากล ที่ทำให้สิ่งที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย แต่ดูเหมือนเป็นอย่างนั้น

    เช่นขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตามีสัณฐาน เพราะมีสีสันที่ปรากฏต่างๆ กัน แต่ก็จำไว้ว่า เป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงจำสิ่งที่ปรากฏ จำผิด หรือจำถูก ไม่ได้จำด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สิ่งนี้ปรากฏได้ เป็นธาตุ หรือเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิด ปรากฏเมื่อมีจิตเห็น แล้วยังไม่ดับด้วย จึงปรากฏได้ แต่ก็ไม่นานเลย เพียงปรากฏ แล้วก็หมดไป ทุกอย่างในชีวิต เพียงปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน ให้ได้กลิ่น ให้คิดนึก ให้จำ แต่ขณะนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดดับอย่างเร็วแสนเร็ว

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือการเริ่ม เห็นความจริงว่า กว่าจะหมดความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่หวัง แต่ต้องด้วยการเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเป็นการละความไม่รู้ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่า ความไม่รู้นั้นจะหมด

    เพราะฉะนั้นจึงต้อง อดทน และเห็นประโยชน์ ของการฟัง และอาจหาญร่าเริง ไม่ใช่พอฟังแล้ว อกุศลจิตเกิดก็เดือดร้อน ทำอย่างไรกับอกุศลนั้น อกุศลจิตเกิดแล้ว อย่าลืม เพราะอะไร ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิด จะเกิดได้ไหม พระอรหันต์ทั้งหลาย มีอกุศลจิต หรือไม่ ก็ไม่มี เพราะเหตุว่าดับอกุศลทั้งหมดแล้ว

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิด ไม่มีใครไปทำให้เกิดได้เลย นอกจากเมื่อเหตุนั้นมี ถึงกาลที่จะเกิดทำกิจการงาน ก็เกิดขึ้นทำกิจการงาน เวลาที่อกุศล ประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด ขณะนั้น จะพิสูจน์ว่า มีความเข้าใจ มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีคำถามว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นอกุศล แสดงว่าไม่ได้เข้าใจธรรม หาวิธีต่างๆ ที่จะไม่เป็นอกุศล แสดงว่า ไม่เข้าใจธรรม

    แต่ถ้าขณะนั้นเกิด รู้ลักษณะที่เป็นธรรม เพราะฟัง จนกระทั่งสามารถเข้าใจ ลักษณะนั้นจริงๆ ไม่ใช่ไปนึก ให้เป็นลักษณะนั้น แต่ลักษณะนั้น เกิดแล้วปรากฏให้รู้ความจริงว่า ลักษณะนั้นเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ไม่ได้เลย ต้องเป็นอย่างนั้น ความจริงคือลักษณะนั้น เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นการฟัง ที่ถูกต้อง ด้วยความเข้าใจว่า เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม ก็จะรู้ในขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไม่ได้ฟังแล้วจะรู้ได้ แต่เพราะฟังด้วยการละความเป็นเรา ที่หวังจะไปรู้มากๆ เมื่อนั้น เมื่อนี้ แต่ว่าฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจสะสมไปที่จะรู้ว่า เวลาที่อกุศลธรรม ประเภทหนึ่ง ประเภทใดเกิดขึ้น เข้าใจลักษณะนั้นได้ ว่า ลักษณะนั้น ไม่เหมือนอย่างอื่น ก่อนโกรธ ลักษณะนั้นไม่มี แต่เมื่อโกรธเกิด มีลักษณะที่เป็นอย่างนั้น ให้เห็นความเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นสิ่งที่ละเอียด นี่ยกตัวอย่างเพียงลักษณะของความโกรธ แต่เห็นเดี๋ยวนี้ ก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม ไม่มีสักอย่างเดียว ที่ไม่ใช่ธรรม

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมแต่ละภพ แต่ละชาติ ก็คือการสะสมความเห็นถูก ด้วยการละ เพราะว่า เวลาที่มีการสะสมของความรู้ ความเข้าใจถูก เพียงฟังไม่มาก แต่ปัญญา ที่สะสมพร้อมการละ การไม่ติดข้อง สามารถละการยึดถือ สภาพธรรมนั้น แล้วสภาพธรรมนั้น จึงปรากฏ ตามความเป็นจริง เพราะว่า ขณะนี้ความจริงแท้คือ สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก แต่อย่างไรๆ อวิชชา และโลภะ ไม่สามารถเห็นถูกอย่างนั้นได้เลย จนกว่าเมื่อไร ที่ละคลายอวิชชา ด้วยการฟังแล้วฟังอีก ในเรื่องของสิ่ง ที่กำลังปรากฏ เพื่อเมื่อไรจะรู้ลักษณะที่ปรากฏ เพื่อรู้ ไม่ใช่เพื่อติด

    เพราะฉะนั้นถ้าโลภะเกิด จะติดข้อง ต้องการ ไปหมดเลย แม้ต้องการจะรู้ เห็นไหม แม้ต้องการจะรู้ความจริง ของสิ่งนั้น ก็ไม่ใช่ปัญญา เป็นแต่เพียงความต้องการ เป็นแต่เพียงความอยาก ด้วยเหตุนี้การศึกษาธรรม เป็นผู้ละเอียด และรู้จุดประสงค์ว่า ฟังเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรม เรื่องละไม่ใช่เรื่องของคนหนึ่งคนใด แต่เป็นเรื่องของสภาพธรรม คือ ปัญญาเจตสิก ขณะใดที่มีความเห็นถูก ขณะนั้นไม่เห็นผิด แม้ในขั้นการฟัง ก็รู้ว่า หนทางที่จะรู้ความจริง ของสภาพธรรม ไม่ใช่หนทางอื่นเลย ใครจะไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่ขณะนี้เป็นธรรม แล้วรู้ลักษณะที่เป็นธรรม หรือไม่

    ด้วยเหตุนี้การฟังแต่ละครั้งก็คือ เพื่อให้รู้ความจริงว่า เราหลงลืมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะฟังมาแล้ว ตั้งแต่ปีไหนก็ตามแต่ ครั้งไหนก็ตามแต่ ก็มีปัจจัยที่จะให้ลืมอยู่เรื่อยๆ ว่า เป็นธรรม จนกว่าได้มีโอกาสได้ฟังธรรม ได้สนทนาธรรมเมื่อไร เมื่อนั้น ก็เป็นการสะสมความเห็นถูกต้อง ว่าเป็นธรรม ส่วนจะเข้าใจธรรม มากน้อยแค่ไหนนั้น ถ้าปัญญา ยังคงอยู่ในระดับนี้ ไม่มีทาง ที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    ด้วยเหตุนี้จึงเห็นการเจริญขึ้นของธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายของการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ศรัทธา ถ้าไม่มีการเห็นถูก ความเข้าใจถูก รู้ประโยชน์ของการฟัง ก็ไม่มีศรัทธาเพิ่มขึ้น แต่ว่าที่ศรัทธาจะเพิ่มขึ้น ฟังครั้งเดียวไม่พอ ก็ฟังอีก มีโอกาสที่จะฟังเมื่อไรก็ฟัง นั่นคือลักษณะของศรัทธา ซึ่งกว่าจะเจริญ ก็จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้ตรง ที่จะรู้ว่า เป็นระดับขั้นของการฟังเข้าใจ หรือเริ่มรู้ลักษณะ ที่กำลังเป็นธรรม ขณะนี้

    ผู้ฟัง ที่ว่า ฟังเพื่อให้เห็นถูก เข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจริง หรือสิ่งที่กำลังฟัง ก็จะไม่มีคำถามว่า เมื่อไรจะรู้ ถ้าเมื่อไรจะรู้ ก็จะเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ กำลังฟังรู้ หรือไม่ ไปคิดถึงว่าเมื่อไร แต่ขณะที่ฟัง ขณะนั้นเข้าใจว่า เป็นธรรมเพิ่มขึ้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ จะต้องไปเมื่อไร ไหม เพราะแม้ขณะนั้นก็เข้าใจ ถ้าเมื่อไรจะรู้ แสดงว่าขณะนี้ ที่กำลังฟังนั้นเข้าใจ หรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้ามีคำถามนั้นก็แสดงว่า การฟังให้เข้าใจยังไม่ดีพอ จริงๆ เมื่อไรจะรู้ ก็เป็นอนัตตา เป็นความติดข้อง เหมือนกับอยากรู้มากกว่าที่รู้ ก็จะเมื่อไรจะรู้ ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นถึงว่า ฟังไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรจะรู้ กำลังเห็นแล้วไม่รู้ ก็ตอบได้เลยใช่ไหม

    ผู้ฟัง ขณะนี้ยังไม่รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อไรจะรู้ ก็กำลังเห็น แล้วก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง ก็เมื่อฟังเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นคำตอบไปในตัว ถามไปก็คือกำลังไม่รู้ กำลังไม่รู้ กำลังไม่รู้ จนกว่าจะค่อยๆ รู้

    ผู้ฟัง ในการศึกษา เมื่อวานบ่าย ที่นำปรมัตถธรรมสังเขปมาทบทวน หัวข้อที่สนทนาคือสังขารเป็นทุกข์ แค่ย่อหน้าเดียว ก็สามารถสนทนารายละเอียดได้ เยอะมาก เช่น อาจารย์อรรณพยกตัวอย่างว่า สังขารธรรมคืออะไร และอาจารย์ก็อธิบายว่า ทุกข์คืออะไร ซึ่งตรงนี้ก็มีรายละเอียดมากมาย

    คำถามตรงนี้คือ ผู้ที่ศึกษาถ้าจะเข้าใจละเอียด แค่หัวข้อสังขารเป็นทุกข์ ก็จะลงรายละเอียดว่า สังขารธรรม และคำว่า เป็นทุกข์ ก็จะเป็นชื่อ เป็นคำ ซึ่งการรู้ละเอียดแบบนี้จะนำมาสู่ ซึ่งจริงๆ ก็ทราบว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพยัญชนะต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม แต่ผู้ศึกษาดูเหมือน ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระพุทธองค์ว่า พยัญชนะส่องถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ณ ปัจจุบัน ตรงนี้เหมือนศึกษาแล้วไม่เป็นไปอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่า การฟังธรรมคือฟังให้เข้าใจ สิ่งที่กำลังมีขณะนี้ ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย ไม่ใช่พอฟังเสร็จแล้วต้องไปหา ธรรมอยู่ที่ไหน แต่การฟัง เป็นผู้ละเอียด ที่จะรู้ว่า เข้าใจลึกซึ้ง ในคำที่ได้ยินแค่ไหน เช่น ธรรมลึกซึ้ง หรือยัง สิ่งที่มีจริงๆ เกิดจึงปรากฏ พิสูจน์ได้เลย เพราะฉะนั้นอะไรที่กำลังปรากฏขณะนี้ เพราะเกิด ใช่ หรือไม่

    เพราะฉะนั้นเป็นธรรม หรือไม่ อะไรบ้างที่เป็นธรรม ก็สามารถรู้ได้ว่า เป็นธรรมทั้งนั้น จะสงสัยไหม เริ่มเข้าใจธรรม แล้วก็รู้ว่า ธรรมเกิด แล้วธรรมที่เกิด ต้องมีปัจจัยอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น อย่างแข็งมี เกิดเป็นแข็ง เกิดแล้วเป็นแข็ง แต่เมื่อไม่รู้ว่า แข็งอาศัยปัจจัยอะไรเกิด ก็ไม่รู้ว่า เพียงแข็งเกิดได้ เพราะมีปัจจัย แต่ถ้าสามารถรู้ได้ทั้งหมดของธรรมที่เกิดว่า ต้องมีปัจจัย คือ สภาพธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิด ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่อาศัย กัน และกันเกิด อะไรๆ ก็ไม่มี แต่ขณะนี้มีแล้ว

    เพราะฉะนั้นก็รู้ความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้ว่า สิ่งที่มีขณะนี้ ต้องมีการเกิดขึ้น โดยสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น ต้องมีธรรมที่อาศัยเป็นปัจจัยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น สิ่งนั้นจึงต่างกันหลากหลาย แต่เพราะไม่รู้ก็เลยมองเหมือนว่า มีใครทำให้เกิดขึ้น และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ก็เป็นการนั่งคิดสงสัย แทนที่จะสงสัย แทนที่จะคิดเอง ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจขึ้นว่า ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยอาศัยกัน และกัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีธรรมอะไรเลยทั้งสิ้น อะไรก็ไม่มี แต่เมื่อมีแล้วสิ่งนั้นเกิดแล้ว เพราะอาศัยธรรมที่เป็นปัจจัยสนับสนุน หรือเกื้อกูลค้ำจุนให้สภาพนั้นเกิดขึ้นร่วมกันด้วย

    เพราะฉะนั้นจะไม่มีสภาพธรรมใด ที่เกิดตามลำพัง แต่จะปรากฏลักษณะ ที่ปรากฏได้แต่ละอย่างเท่านั้นเอง แม้ว่าจะมีสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยในที่นั้น

    นี่คือความลึกซึ้งของธรรม แต่เมื่อฟังแล้ว ภาษาไทยเข้าใจอย่างนี้ ใช่ไหม ธรรมที่ปรากฏในขณะนี้เกิด เพราะมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นภาษาบาลีจะไม่อธิบายด้วยภาษาไทย ก็ใช้คำว่า สังขารปรุงแต่ง ก็ไม่ต้องเข้าครัว ไม่ต้องหยิบโน่น มาใส่นี่ ถึงจะใช้คำว่า “ปรุง” ถึงจะใช้คำว่า “แต่ง” ถึงจะใช้คำว่า “อาศัยกัน” ถึงจะใช้คำว่า อะไรก็ตามแต่ ให้เข้าใจว่า ต้องมีสิ่งอื่นด้วย ไม่ใช่มีแต่สิ่งนั้นสิ่งเดียวในโลกนี้ ไม่ว่าอะไรก็ตามจะเกิดขึ้นมา จะเป็นสิ่งเดียวที่เกิดตามลำพังไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ลึกซึ้งมั่นคง จะสงสัยคำว่า “สังขารธรรม” ไหม ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ แข็งเป็นสังขารธรรม หรือไม่ เกิดแล้ว ต้องมีสิ่งที่อาศัยทำให้เกิดขึ้น แต่ไม่รู้ แต่ความจริงมี เพราะฉะนั้นให้เข้าใจได้เลยว่า สิ่งใดก็ตามที่เกิดต้องมีปัจจัย

    ด้วยเหตุนี้จึงเข้าใจความหมายของคำว่า “สังขาร” หรือ “สังขารธรรม” เพราะฉะนั้นสังขารธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องไปเรียกชื่อใดๆ เลยก็ได้ เพราะไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย แต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ที่เป็นจริงก็คือ สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ขอเชิญคุณนิภัทรให้ความหมายของคำว่า “ปรมัตถธรรม” ด้วย

    อ.นิภัทร คำว่า “ปรมัตถธรรม” ก็มาจากคำว่า ปรม + อัตถ + ธรรม แปลว่า ปรมัตถธรรม แปลทับศัพท์ คือแปลทับศัพท์ภาษาบาลีเดิม เราก็แปลว่า ปรมัตถธรรม เป็นภาษาไทย ก็เลยไม่รู้ว่าอะไร ถ้าแปลตามตัว ปรม แปลว่า อย่างยิ่ง หรือยอด อัตถ ก็แปลว่า เนื้อความ ความหมาย ธรรมก็คือสิ่งที่มีจริง

    ปรมัตถธรรมก็คือสิ่งที่มีความหมายอย่างยิ่ง หรือเป็นยอด ในความหมายว่า พูดไปแล้วไม่มีเพี้ยน ไม่มีผิดที่ต้องแก้ใหม่ นอกจากคนพูดผิดเอง แต่ว่าของจริงมีอยู่อย่างนั้น ไม่มีแปรผันเป็นอย่างอื่น ไม่มีผลัดเพี้ยนไปอย่างอื่น มีอะไรบ้าง ก็รู้กันอยู่แล้ว มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน

    ท่านพระอนุรุทธาจารย์ ท่านเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ในสมัยเดียวกัน แต่ท่านพระอนุรุทธาจารย์ท่านเรียบเรียงคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ๙ ปริจเฉท ท่านย่ออภิธรรม ๗ คัมภีร์ คือธัมมสังคินี วิภังค์ ธาตุกถา กถาวัตถุ บุคคลบัญญัติ ยมก ปัฏฐาน รวมทั้ง ๗ คัมภีร์ ย่อแล้วเหลืออยู่ ๔ คำ คือ จิ เจ รุ นิ จิ คือ จิต เจ คือ เจตสิก รุ คือ รูป นิ คือ นิพพาน

    ท่านย่อลงเหลือแค่นี้ เราก็เรียนกันแค่นี้ คือ การเรียนธรรม ไม่ใช่เรียนเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวเฉยๆ ผมก็ว่าผมเรียน ผมรู้ เพื่อนๆ ก็ว่าเขารู้ ครูบาอาจารย์ที่สอนมาก็ว่ารู้ แต่เสร็จแล้วก็ไม่รู้ ที่ว่ารู้ คือรู้ความหมายตามตัวหนังสือ แต่ไม่รู้ความจริงที่เป็นวัตถุประสงค์ของการศึกษาธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้ผู้ฟังได้รู้ ความจริงเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คิดเอาเองไม่ได้ ละเอียด บัณฑิตคือผู้ที่ใฝ่รู้เท่านั้นถึงจะรู้ได้ ถ้าคิดว่า อย่างนี้ๆ รู้แล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีใครบ้างที่ไม่รู้ ไปถึงประตูวัดก็ได้ยินแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่นั่นรู้แต่ชื่อ ไม่สำเร็จประโยชน์

    ที่จะสำเร็จประโยชน์ ตาคืออะไร เพราะว่าธรรมอยู่ที่นี่ อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วอยู่เมื่อไร อยู่เมื่อมี อยู่เมื่อปรากฏ ปรากฏเมื่อไร ก็ทางตาเห็นเมื่อไร ก็ปรากฏเมื่อนั้น หูก็เหมือนกัน ได้ยินเมื่อไร ก็ปรากฏเมื่อนั้น จมูกได้กลิ่นเมื่อไร ก็ปรากฏเมื่อนั้น ลิ้นรู้รสเมื่อไร ก็ปรากฏเมื่อนั้น กายถูกต้องสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็งเมื่อไร ก็มีเมื่อนั้น จิตคิดนึกเมื่อไร ก็มีเมื่อนั้น

    บางทีเราก็รู้ว่ามี แต่ยังไม่น้อมใจที่จะเชื่อว่า เป็นธรรม ตรงนี้นี่ยาก ที่ยังไม่น้อม ก็เพราะเรายังไม่ซึ้งถึงความหมายว่า เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม เพราะเรายังไม่รู้ประโยชน์เลย เห็นก็เห็นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ปรากฏก็มีอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นธรรมอย่างไร เป็นของจริงที่ไม่มีที่ไหนๆ จะทดแทน หรือทำหน้าที่เห็นอย่างนี้ได้ ก็มีตาเท่านั้น จะใช้หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แทนไม่ได้ ตาเขามีหน้าที่เห็น เห็นแล้ว เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เห็นเป็นคน เป็นผู้หญิง ผู้ชาย เป็นสิ่งเป็นของ

    ตรงนั้นไม่ใช่เรื่องทางตา ถ้าเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่ง เป็นของเมื่อไร เลยวิสัยของตาไปแล้ว เลยความสามารถทางตาไปแล้ว เป็นความสามารถทางใจ เป็นเรื่องของทางใจ ตรงนี้เมื่อไม่เข้าใจ เราก็เลยเหมาเอาว่า เป็นอันเดียวกัน ที่แท้เขาก็ผสมผะเสกันทำให้เราหลงติด คิดว่าเป็นอันเดียวกัน เราก็เลยยึดติดว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ แล้วยากที่จะทำความเข้าใจ ยากที่จะล้างออกได้ ล้างออกยาก มันติดแน่นเหลือเกิน ความเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล มันหยั่งลงในนี้ มีมานะว่าเรา ว่าเขา ว่าของเรา ของเขา

    ยากที่จะถอน ยากที่จะกำจัด ยากที่จะละได้ ก็มีทางเดียวคือการฟัง ฟังเข้าใจมากขึ้นๆ เพราะว่าเราได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง สิ่งที่เคยฟังแล้ว ถ้าไม่เข้าใจชัด ฟังซ้ำอีก ก็เข้าใจชัดขึ้น เราทำความเห็นให้ถูกต้องได้โดยการฟังไปๆ ความเห็นที่คลาดเคลื่อนก็ถูกต้องได้ จิตของเราก็เกิดผ่องใสได้

    ทำไมถึงว่า เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม ก็เพราะจริงอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อไม่เปลี่ยนแปลง ความเป็นตัวเป็นตนก็ไม่มี เมื่อเห็นก็รู้ว่า ไม่มีตัวมีตน มีแต่ธรรม ตลอดทั้งตัวเลย ที่ว่ามีธรรม ก็เป็นเพียงเราคิด เรายึด เราติดไปเท่านั้นเอง แต่ก็ไม่ต้องเดือดร้อน ฟังไปเรื่อยๆ ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ได้มีมากมายทีเดียว ฟังหนสองหนจะให้บรรลุ เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ ฟังไป ฟังไปๆ ข้อสำคัญอย่าท้อถอย ต้องตั้งใจฟังไปตลอดเวลา ได้บ้าง เสียบ้าง ก็ช่างปะไร ก็สะสมไปเรื่อยๆ ก็มีมากได้เอง

    ท่านอาจารย์ ยังสงสัยคำว่า “ธรรม” ไหม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า แค่คำว่า “ธรรม” ถ้ามีความลึกซึ้ง หรือเข้าใจความลึกซึ้ง หรือว่ามั่นคงในคำว่า “ธรรม” อย่างที่ท่านอาจารย์อธิบายคำว่า “สังขารธรรม” ที่ว่าเกี่ยวข้องกับคำว่า สังขาร ถ้าเข้าใจความลึกซึ้งของคำว่า “ธรรม” และมั่นคงว่า หมายถึงสิ่งที่มีจริง และมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เกิดแล้วก็ดับ และเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด บังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้ ถ้าฟังตรงนี้ลึกซึ้ง และมั่นคง ในการศึกษาแต่ละคำที่ว่า พระพุทธองค์ส่องถึงพยัญชนะเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะเป็นปัญญาที่ปรุงแต่งให้เข้าใจตรงนั้น แต่เมื่อยังไม่ลึกซึ้ง หรือยังไม่มั่นคงพอ เหมือนฟังแล้วยังแยกพยัญชนะกับสิ่งที่มีจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    29 มี.ค. 2567