พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 459


    ตอนที่ ๔๕๙

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ มีคนสงสัยว่า ทั้งรูปธรรม และนามธรรม มีขึ้นมาได้อย่างไร ไปคิดสงสัย ว่ามีขึ้นมาได้อย่างไร แต่สิ่งนี้มีแล้ว เป็นอย่างนี้แล้ว ไม่เป็นอย่างอื่น อย่างแข็งมี แล้วจะไปถามว่า แข็งมีขึ้นมาได้อย่างไร ก็มีแล้ว แต่ผู้ที่กำลังรู้แข็ง ต่อไปถ้ามีปัญญา ก็สามารถรู้ว่า แข็งนี่เองเกิดขึ้นเพราะอะไร นี่เป็นสิ่งที่ เราไม่เคยสนใจ ที่จะเข้าใจแต่ละลักษณะ ว่าเป็นธรรม แต่เมื่อศึกษาธรรม ต้องละเอียด ถ้าไม่ละเอียด ไม่เข้าใจธรรม ก็เป็นตัวเรานั่นเอง แล้วก็มาเรียนเรื่อง ตาของเรา แต่จริงๆ แล้วศึกษาธรรม ก็คือเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่ของใคร ซึ่งจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    ด้วยเหตุนี้ธรรมที่มีเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะมีกรรมเป็นสมุฏฐาน หรือว่ามีจิตเป็นสมุฏฐาน มีอุตุเป็นสมุฏฐาน หรือมีอาหารเป็นสมุฏฐาน ธรรมที่เป็นรูปธรรม คือ ธรรมนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจักขุปสาท หรือรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ซึ่งละเอียดยิบ และต่างกันไปเป็นแต่ละประเภท ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ถ้าใครกล่าวว่า ตาเห็น ก็หมายความว่า ไม่รู้ว่า ตาไม่ใช่เห็น แต่ถ้าไม่มีตา จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเห็นขณะนี้ เป็นสภาพธรรม ที่อาศัยตาเกิดขึ้น เห็นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นจักขุปสาท มีอยู่ ไม่ทราบว่ามีอยู่ที่ไหน ที่เราคุยกันก็มีอยู่ที่กลางตา ตรงนี้ถ้าเผื่อไม่มีอาการเห็นเกิดขึ้น คือ มีจักขุเป็นสมุฏฐาน เป็นทางให้จิตเห็นเกิด

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงกรรมเป็นสมุฏฐาน

    ผู้ฟัง กรรมเป็นสมุฏฐาน ให้จักขุปสาทเกิด ถ้าเผื่อยังไม่เห็น ก็ยังไม่มีจักขุปสาท หรือไงครับ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ขณะนี้เราไม่รู้เลยว่า สภาพธรรมเกิดแล้วดับ ทุกขณะเร็วมาก แต่เรา กำลังเริ่มเข้าใจความเป็นธรรม ซึ่งมีอายุที่สั้นมาก คือ เกิดแล้วดับไป เราเข้าใจว่า เรามีตาตลอดเวลา แต่ว่าตามความเป็นจริงรูปนี้ เกิดเพราะกรรม ลองคิด กรรมที่ได้กระทำแล้ว สามารถทำให้รูปนี้เกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นแล้วดับ ใครก็ยับยั้งไม่ให้ดับไม่ได้ ขณะนี้เหมือนกับตา ไม่ได้ดับไปเลย แต่ผู้ที่ประจักษ์ความจริง ก็จะรู้ ความสั้นของสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้ ลองคิดถึงสภาพ ขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งเกิดดับทั้งหมดด้วย ไม่มีอะไรเหลือเลย แต่ จากการตรัสรู้ ก็ทรงแสดงความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ละรูป ตามความเป็นจริงว่า แม้รูปที่กำลังเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏ รูปนี้ก็ดับ จิตที่เห็นก็ดับ และสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ดับ แสนเร็วสุดที่จะประมาณได้

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ก็คือการฟังพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้ความจริง และทรงแสดงคำว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” คือให้เห็นจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ที่ไม่รู้ และ หลงยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความไม่รู้ นานแสนนาน ก็จะได้เข้าใจตามความเป็นจริง ว่าขณะนี้ไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจาก สิ่งที่เกิดปรากฏนิดหน่อย แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้ สิ่งใดที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ โดยไม่รู้ลักษณะนั้น สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้นขณะนี้ ไม่มีใครรู้จักขุปสาทรูป ถูกต้องหรือไม่ มี เกิดแล้วดับแล้วอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้น จิตเห็นขณะนี้เกิดแล้วดับแล้ว และสิ่งที่ปรากฏก็เกิดแล้ว ดับแล้ว

    ผู้ฟัง ดูคล้ายกับว่า จักขุปสาทจะทำงานก็เมื่อมีเหตุมีปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้จิตเห็นมา

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า รูปที่เกิดเพราะกรรม เกิดทุกอนุขณะของจิต ใครจะรู้ หรือไม่รู้ ไม่สำคัญเลย เพราะฉะนั้นจิต ๑ ขณะสามารถเป็น ๓ ขณะย่อย คือ ขณะเกิดไม่ใช่ขณะดับ และขณะที่ดับ ไม่ใช่ขณะที่เกิด แต่ระหว่างที่เกิดแล้วยังไม่ดับ ขณะนั้น ก็เป็นอนุขณะด้วย

    ด้วยเหตุนี้จิต ๑ ขณะ แบ่งย่อยเป็นอนุขณะ ๓ คือ อุปาทขณะ ขณะที่เกิด ฐิติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับ และภังคขณะ คือขณะที่ดับ ลองคิดดู จิตเกิดดับเร็วมาก แต่ ก็ยังมีความต่างเป็นขณะเกิด ไม่ใช่ขณะดับ ขณะที่ตั้งอยู่ ยังไม่ดับ ก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด และขณะที่ดับ แต่กรรมทำให้รูปที่เกิดจากกรรมนั้น เกิดทุกอนุขณะจิต ใครจะรู้ หรือไม่รู้ รูปเกิดแล้วดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว ไม่ใช่หมายความว่า ต้องมีใครไปรู้

    เพราะฉะนั้นแม้ขณะเดี๋ยวนี้เอง ซึ่งยังไม่ดับ รูปนี้ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความรวดเร็วของสภาพธรรม ที่เป็นอนัตตา ถ้าสามารถจะเข้าถึง ความจริงนี้ ก็จะรู้ได้ว่า หลงยึดถือธรรมทั้งหมดว่า เป็นเรา และของเรา ซึ่งความจริงก็เป็นธรรม ซึ่งใครยับยั้งได้ เกิดแล้วที่จะไม่ตาย จะมีไหม ไม่มี และจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ ไปตายตอนที่เราใช้คำว่า “สมมติมรณะ” แม้ขณะนี้เอง ทุกขณะ ก็เป็นขณิกมรณะ

    ผู้ฟัง ขณิกมรณะ ขณะนี้จักขุปสาท ที่เกิดขึ้นก็มี ๓ อนุขณะเล็กๆ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า กรรมทำให้จักขุปสาทเกิด ในขณะที่เป็นอุปาทขณะของจิต และมีอายุต่อไป ๑๗ ขณะ แล้วกรรม ก็ทำให้จักขุปสาทเกิด ในฐิติขณะของจิต ๑ ขณะ ดวงเดียว แล้วก็มีอายุต่อไปอีก ๑๗ ขณะจึงดับ และกรรมก็ทำให้จักขุปสาทรูป เกิดในภังคขณะของจิต แล้วก็มีอายุต่อไป ๑๗ ขณะ รูปซึ่งเป็นสภาวรูป จะมีอายุเท่ากับจิต เกิดดับ ๑๗ ขณะ

    ผู้ฟัง ใช่ ในขณะนี้ก็มีทั้ง จักขุปสาท โสตปสาท และมีตั้งหลายปสาททั้ง ๕ เกิดพร้อมๆ กันอยู่ ซึ่งบุคคลผู้นั้นจะเห็น จะได้ยิน หรือจะได้กลิ่น จะลิ้มรส ก็ต่อเมื่อจิตที่เกิดขึ้นตามทวารต่างๆ เหล่านี้เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับแล้วอยู่ตลอด แต่ ก็ไม่ได้รู้เลยว่า ขณะที่กำลังเห็น จักขุปสาทต้องยังไม่ดับ รูปที่กระทบต้องยังไม่ดับ จิตจึงเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏได้ แล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้อาจารย์อรรณพได้กล่าวถึงการหลับ ขณะนั้นก็มีกรรมที่เป็นเหตุปัจจัยให้สมุฏฐาน ของปสาทที่เรากล่าวเมื่อสักครู่นี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอยู่ตลอดเวลา ตรงนั้นก็เห็นว่า เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน คือ กรรม สำหรับผู้ที่ตายไปแล้ว ก็มีเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วการตายหมายถึง จิตขณะสุดท้ายเกิดขึ้น เมื่อดับไปก็ทำให้เคลื่อนพ้น สภาพความเป็นบุคคลนั้น จะกลับมาเป็นบุคคลนั้น ไม่ได้เลย และกัมมชรูป คือ รูปซึ่งกรรมเป็นปัจจัยให้เกิด จะไม่เป็นปัจจัยให้เกิดก่อนจุติจิต ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นเมื่อรูปมีอายุ๑๗ ขณะ ถอยไป ๑๗ ขณะ กรรมไม่ทำให้จักขุปสาท โสตปสาท หรือรูปที่เกิดจากกรรมใดๆ เกิด เพราะฉะนั้นกัมมชรูปทั้งหมดดับพร้อมจุติจิต

    ด้วยเหตุนี้ที่ใช้คำว่า “ตาย” ทั้งกัมมชรูป และจิตขณะสุดท้าย ดับแล้ว จึงไม่เป็นบุคคลนั้นได้เลย เพราะฉะนั้นจิตตชรูปก็มีอายุเพียง ๑๗ ขณะ

    ผู้ฟัง ฟังดูอย่างจุติจิตก็เป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ทำให้

    ท่านอาจารย์ เกิดรูป ยกเว้นจุติจิตของพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าพอจุติจิตเกิด กัมมชรูปดับพร้อมจุติจิต แต่รูปซึ่งเกิดเพราะจุติจิตมีอายุต่อไป ๑๗ ขณะ เร็วมาก ไม่ต้องไปคิดเลย

    เพราะฉะนั้นร่างที่เหลือ ก็คือรูป ๘ รูป ไม่มีจิต ทำอะไรไม่ได้เลย ก่อนนั้น ทั้งพูดได้ ทั้งเดินได้ ทั้งคิด ทั้งทำ สารพัดอย่าง แต่เมื่อรูปนั้นไม่มีจิต รูปเป็นรูป เห็นว่าเป็นรูป รูปจริงๆ ทำอะไรไม่ได้เลย แต่ขณะที่ยังมีจิตอยู่ เคยเข้าใจรูปไหมว่า รูป ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่ หรือไม่มีชีวิตอยู่ รูปก็คืออย่างนั้น คือเป็นรูปที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะว่า รูปไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง พูดถึงคนที่ยังเป็นๆ อยู่อย่างเรา ตา หู จมูก ลิ้น กายก็เป็นทางให้ จิตแต่ละประเภทเกิด เราพูดถึง ๕ ทาง แต่ก็มีทางใจ ที่เกิดโดยจิตเท่านั้น ก็ไม่มีปสาททางหทยวัตถุ ใช่ไหม หมายความว่าจิตที่เกิดทางใจ คิดนึกอะไรต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส

    ท่านอาจารย์ ฟังธรรม ต้องเป็นผู้ตรงต่อธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ขณะที่กำลังเห็น มีรูปอะไร นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏบ้าง เห็นหรือไม่ นี่คือความจริง จะใช้ความจริงว่า เป็นปรมัตถ์สูงสุด คือเมื่อประจักษ์ความจริง ก็คือขณะนั้นต้องไม่มีอะไร แต่ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กับจิตที่กำลังเห็น เป็นธรรม ซึ่งปัญญาสามารถเห็น ว่าเป็นธรรม ขณะนั้นไม่มีการคิดนึกว่า ยังมีแขน มีขา มีอ่อน มีแข็ง มีเสียง หรือมีอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะขณะใดก็ตามที่จิต ๑ ขณะเกิดขึ้น จะรู้เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏที่จิตกำลังรู้

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ ที่กำลังเห็น เป็นจิตที่เกิดขึ้น มีสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปอื่นลองคิดดู มีอายุ ๑๗ ขณะจิต เกิดแล้วดับแล้ว ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่า สิ่งที่กำลังปรากฏที่จิตรู้ ก็คือขณะนั้นมีธาตุรู้ ที่เห็น การที่จะละการยึดถือว่าเป็นเราได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อประจักษ์ความจริงว่า ไม่มีอะไรเหลือเลยในขณะหนึ่งๆ นอกจากสภาพธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้เฉพาะ สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ เป็นอย่างนั้น หรือไม่ มีกายปสาทปรากฏที่ไหน มีโสตปสาทปรากฏที่ไหน มีอ่อน มีแข็งปรากฏที่ไหน ขณะที่กำลังเห็น ไม่มีเลย แต่จำว่า ยังมีอยู่ เห็นไหม เราจำสิ่งที่ไม่เหลือ ซึ่งดับแล้ว เข้าใจว่ายังมีอยู่ เพราะว่ารูปทุกรูปที่ตัวตั้งแต่ศีรษะจรดเท้ามีอายุแค่ ๑๗ ขณะจิต เกิดแล้วดับแล้ว ทยอยกันไปอย่างรวดเร็วมาก

    เพราะฉะนั้นรูป ที่เข้าใจว่ามี อยู่ที่ไหน เกิดแล้วดับแล้ว ทั้งหมดเลย ก็ยังเข้าใจว่า เรายังมีตา เรายังมีหู เรายังมีแขน เรายังมีขา เรายังมีตัว จำในสิ่งที่ไม่มี ที่เกิดจริงๆ ดับไปแล้วจริงๆ ว่ายังเหลืออยู่ จนกว่าจะประจักษ์ความจริงว่า แท้ที่จริงไม่มีอะไรเลย นอกจากธรรมซึ่ง สั้นแสนสั้น เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง คือฟังอย่างนี้ก็พอเข้าใจได้ว่า รูปแยกออกจากนามได้อย่างชัดเจน แต่ความเข้าใจที่เจริญขึ้น จนกระทั่งรู้ว่า รูปก็อย่างหนึ่ง นามก็อย่างหนึ่ง เหมือนอย่างที่เขากล่าวว่า ผ่าจาวตาลแล้วก็ขาดออกจากกันชัดเจน ความเข้าใจตรงนั้น จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมอย่างหนึ่งเกิดแล้วไม่รู้ จะเปลี่ยนลักษณะที่เกิดแล้ว ไม่รู้ ให้เป็นรู้ได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมที่ไม่รู้อยู่นั่นเอง เกิดเมื่อไรก็ไม่รู้ เป็นสภาพไม่รู้ จะเปลี่ยนให้เป็นสภาพรู้ ไม่ได้เลย มีจริงๆ ใช่ไหม ส่วนธาตุ หรือธรรมอีกอย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย เป็นนามธรรมล้วนๆ ที่เกิดแล้วต้องรู้ หารูปร่างใดๆ ไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นสำหรับจิตในขณะนี้ ไม่เคยขาด แต่ลืมว่า เห็นก็ต้องเป็นจิต เพราะว่ารูปไม่สามารถรู้อะไรได้เลย กำลังได้ยิน ก็ลืมอีกว่า ต้องเป็นจิตที่เกิดขึ้นได้ยิน เพราะว่ารูป ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม จึงต้องฟังละเอียด ให้เข้าใจว่า กำลังกล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง ในความเป็นจริง แม้แต่ธรรมก็เป็นธรรม เกิดเมื่อไร เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปทันที ไม่ใช่ของใคร ฟังให้เข้าใจในความเป็นธรรม

    เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นรูปธรรม จะปนกับนามธรรม ไม่ได้เลย และนามธรรม ก็คือนามธรรม ฟังอย่างนี้ก็เริ่มเข้าใจได้ อย่างแข็งกำลังปรากฏ แข็งจะเป็นอื่นได้อย่างไร นอกจากแข็ง แต่สภาพที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง มีในขณะที่แข็งปรากฏ เพราะว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยขาดจิต เพราะฉะนั้นจิตอยู่ที่ไหน ขณะที่แข็งปรากฏ จิตก็คือขณะที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง กำลังคิด จิตอยู่ที่ไหน ไม่เคยขาดจิตเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะที่คิดก็คือจิตนั่นเอง กำลังคิด ขณะได้กลิ่น กลิ่นปรากฏ ทุกคนก็บอกว่า ได้กลิ่น เพราะฉะนั้นจิตขณะนั้น อยู่ที่ไหน จิตไม่ใช่สภาพไม่รู้ จิตเป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นแล้วต้องรู้ เพราะฉะนั้นในขณะนั้น ก็คือ จิตที่กำลังรู้กลิ่น ไม่ขาดนามธรรม และรูปธรรมเลย แต่ว่าไม่รู้เท่านั้นเองว่า เป็นธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยอาศัยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สำหรับ ๕ ทาง ไม่สงสัยเลยใช่หรือไม่ แต่คำถามของคุณวีระกล่าวถึงเรื่องทางใจ ซึ่ง ขณะนั้นถ้าพูดถึงใจ หมายความว่าไม่ได้พูดถึงรูป และใจที่เกิดคือจิต เป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นไม่รู้อะไรได้ไหม ธาตุรู้เกิดขึ้น แล้วจะไม่รู้อะไรได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ธาตุรู้เกิดขึ้นก็ต้องรู้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเมื่อใช้คำว่า “ธาตุรู้” ก็มีสิ่งที่ถูกรู้ ในขณะที่ธาตุรู้เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คือสิ่งที่กำลังถูกรู้ เช่น ขณะนี้เห็น มีสิ่งที่ปรากฏแน่ๆ เพราะถูกเห็น จิตนั่นเองกำลังเห็น เพราะฉะนั้นเห็นขณะนี้ เป็นเห็นแน่นอน ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก กำลังรู้ หมายความถึงเห็นสิ่งที่ กำลังปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงนามธรรม หรือจิต ไม่ใช่รูป ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องรูปเลย นี่คือการเข้าใจธรรม คือ ถ้าพูดถึงเรื่องรูปก็เป็นเรื่องรูป ถ้าพูดถึงเรื่องนามธรรม ธาตุรู้ ก็เป็นเรื่องนามธรรม

    เพราะฉะนั้นธาตุรู้ก็มี ๒ อย่าง คือ สภาพธรรม ที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้ง สิ่งที่ปรากฏที่กำลังรู้ ไม่ทำหน้าที่อื่นใดทั้งสิ้น เป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นอินทรีย์ ถ้าในขณะนั้น รู้ในสภาพของธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย ลองคิดถึง จะมีอาณาเขตใดๆ มากั้นไหม เป็นธาตุที่เกิดขึ้น รู้สิ่งที่กำลังรู้อยู่ ไม่มีขอบเขตใดๆ เลย จึงเป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ เป็นประธาน เกิดเมื่อไร ไม่มีขอบเขตที่ใครจะไปกั้นไว้ เป็นธาตุที่สามารถเกิดขึ้น แล้วรู้ เปลี่ยนไม่ได้เลย แต่ว่า เวลาที่ธรรมเกิดขึ้น จะต้องมีธรรมอื่นเป็นปัจจัยอาศัยกัน และกัน เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ก็ตาม ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    นี่เรากล่าวถึงนามธรรม เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกับรูปธรรมเลย นามธรรมสามารถเกิดโดยไม่อาศัยรูปก็ได้ หรือนามธรรมที่เกิดได้โดยต้องอาศัยรูปก็มี เพราะฉะนั้นก็แยกนามธรรม ในภูมิที่ใช้คำว่า ขันธ์ ๕ มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมจะเกิดที่รูป เพราะมีรูป นามซึ่งเกิดก็เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แม้แต่รูปที่เกิดพร้อมนามธรรมนั้น ในขณะที่นามธรรมนั้นเกิด ก็เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้นในภูมิที่มีรูป จะปราศจากรูปไม่ได้เลยสักขณะเดียว แม้แต่ขณะที่เกิด กรรมก็ทำให้จิต เจตสิกเกิดพร้อมรูป ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ขณะนั้นรูปก็เป็นรูป นามธรรมก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่อย่างเดียวกันเลย แต่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ตั้งแต่เกิดจนตายในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิต และเจตสิกจะต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด แต่ว่าในขณะคิด เมื่อเป็นมนุษย์ มีรูป จิตคิดเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง จิตคิดเกิดที่ หทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ รูปใดเป็นที่เกิดของจิต กรรมทำให้รูปนั้นเกิด รูปนั้นใช้คำว่า “หทยรูป” ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต รูปใดก็ตามที่ไม่ใช่จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท รูปนั้นๆ เป็นที่เกิดของจิตเป็นหทยรูป หรือหทยวัตถุ

    เพราะฉะนั้นที่เกิดของจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ มี ๖ รูป กำลังเห็นขณะนี้ เกิดที่จักขุปสาท ไม่ได้เกิดที่หทย กำลังได้ยิน จิตได้ยินเกิดที่โสตปสาทรูป ไม่ได้เกิดที่หทย กำลังได้กลิ่น จิตได้กลิ่นก็เกิดที่จมูก ฆานปสาทรูป กำลังลิ้มรส รสปรากฏเมื่อไร เมื่อเช้านี้รสอะไรบ้าง จิตก็กำลังลิ้มรส เกิดที่ชิวหาปสาทรูป จึงสามารถลิ้มรส ที่กระทบกับชิวหาปสาทรูปได้ เพราะว่าเกิดตรงนั้น รสปรากฏตรงนั้น รสกระทบตรงนั้น จิตเกิดขึ้นรู้ตรงนั้น แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นก็เป็น จิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อทำกิจการงาน มีปฏิสนธิเกิดขึ้น แล้วก็ต้องเป็นไปตามปัจจัย คือ กรรมที่จะต้องเห็น ต้องได้ยิน แล้วก็สะสมที่จะคิดนึกเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง

    เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ เวลาที่ศึกษาธรรม ก็คือศึกษาเรื่องนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งเกิดดับ ไม่ได้เป็นของใคร และไม่ยั่งยืนด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเกิดในสวรรค์ มีรูปด้วย จิตคิดนึกเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง หทยวัตถุเช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ หทยรูป ที่เป็นที่เกิดของจิต มีที่เดียวที่จิตเกิดโดย ไม่อาศัยรูป คือ อรูปพรหมภูมิ เป็นภูมิที่ไม่มีรูปใดๆ เลย แต่จิตไม่ใช่รูป เพราะฉะนั้นจิตก็มีปัจจัยที่จะเกิด โดยไม่ต้องอาศัยรูป แม้ขณะนี้จิตเกิดที่หทยวัตถุ ก็ไม่มีใครรู้ว่า มีหทยวัตถุซึ่งเป็นที่เกิดของจิต

    ผู้ฟัง ซึ่งฟังแรกๆ ก็เข้าใจว่า จิตไปเกิดที่ตา จิตไปเกิดที่หู จิตไปเกิดที่ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องละเอียด แม้แต่ใช้คำว่า “ไป” ก็ผิด ใช่หรือไม่ จิตเกิด เห็นที่จักขุปสาทรูป ไม่ได้ไปไหนมาไหน แต่มีปัจจัยจึงเกิด แล้วก็เห็น แล้วก็ดับ

    เพราะฉะนั้นคำทุกคำจะชัดเจน ตรง ที่จะทำให้ถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมว่า ไม่ได้ไป ตายแล้วไปไหน หรือไม่

    ผู้ฟัง ตายแล้วไปไหน ก็คงไม่ไปไหน

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับ จิตที่ดับก็เป็นปัจจัยให้เกิด แล้วแต่ว่าจะเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง จะเกิดที่ไหนก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ แม้แต่ขณะนี้จิต เกิดที่หทยวัตถุ ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยินเลย แต่พอมีปัจจัย จิตนี้เกิดที่จักขุปสาท ไม่ได้ไปจากหทยวัตถุ ไปสู่จักขุปสาท ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นธาตุซึ่งไม่มี แล้วมี แล้วหามีไม่ คือ เกิดเมื่อมีปัจจัย แล้วก็หมดไป เกิดเมื่อมีปัจจัย แล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้ปัจจัยโดยละเอียดของทั้งนามธรรม และรูปธรรม ก็จะรู้ได้ว่า ไม่สิ้นสุดเพราะอะไร

    ผู้ฟัง อย่างคุณบุษบงจุติไป ก็มีเหตุปัจจัยให้ปฏิสนธิที่อื่น

    ท่านอาจารย์ จิตของคุณบุษบงรำไพ มีปัจจัยสะสมมาทั้งหมดเลยในชาตินี้ แล้วแต่ว่ากรรมใดจะทำให้ปฏิสนธิจิต เกิดที่ไหน ไม่ต้องไปด้วย กรรมนั้นเองเป็นปัจจัยให้เกิดที่นั่น

    ผู้ฟัง การที่ท่านอาจารย์กรุณาแนะนำให้ระลึกทันที คือ ระลึกที่อาการที่ปรากฏ สภาพที่ปรากฏ ลักษณะที่ปรากฏนั้นทันที ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ พอฟังแล้ว ก็เลยเข้าใจว่า การพยายาม การเฝ้า หรือการจ้องดูอะไรต่างๆ ไม่ใช่ทางเลย เพราะว่าส่วนที่ปรากฏก็ปรากฏ ส่วนที่รู้ก็รู้ แต่ถ้าเกิดขึ้น แต่ไม่ปรากฏ โอกาสที่จะรู้ก็ไม่มี ตรงนี้ต้องอาศัยการฟังอย่างเดียวใช่ไหม หรืออย่างอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย

    ท่านอาจารย์ กำลังเห็น มีอย่างอื่นไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ยังมีคุณวีระทั้งตัว หรือไม่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    13 พ.ค. 2567