พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 465
ตอนที่ ๔๖๕
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
อ.กุลวิไล เราอยู่ในโลกของเรื่องราวจนชิน เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม ก็จะไม่ทราบว่า สภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิก และรูปขณะนี้เอง แต่ส่วนใหญ่แล้ว เราจะอยู่กับเรื่องราว ทั้งๆ ที่ท่านอาจารย์ให้เข้าใจว่า ถ้าโดยสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป เกิดแล้วก็ดับไป และทุกอย่างมี เพราะปรากฏ แต่เรื่องราวของหัวใจเต้น ก็เป็นเพียงเราคิดเท่านั้นเอง แต่โดยธรรมก็ไม่พ้นจิต เจตสิก และรูป
ท่านอาจารย์ และสภาพธรรมก็กำลังปรากฏ แล้วเราจะไปคิดถึงเรื่องหัวใจเต้น หรือ เริ่มเข้าใจลักษณะ ของสภาพธรรมที่มี และปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องขึ้น เพราะเรื่องหัวใจเต้นคงไม่ยาก พูดถึงหัวใจ ก็รู้กันทุกคน หัวใจเต้นก็รู้กันทุกคน แต่สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นความจริงอย่างไร ที่เป็นธรรม ก็ควรจะสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่รู้ยาก
ผู้ฟัง สืบเนื่องจากคำถามของคุณหมอศรีพธู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหัวใจเต้น หรือมีฟันไหม ความจำว่ามีฟัน ความจำว่ามีหัวใจ มีปอด มีตับ ก็เป็นเรื่องราวของรูปพรรณสัณฐาน ของนิมิต เราจำจนเชื่อไปเลยว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่เมื่อศึกษาแล้วก็ทราบว่า ธรรมจริงๆ แล้วก็คือรูปนาม เกิดดับเร็วมาก แล้วก็หมดไป แล้วก็ปรากฏ ถ้ายังฟังไม่มากพอ ก็ยังมีหัวใจ มีฟัน
ท่านอาจารย์ จะสนใจหัวใจกับฟัน หรือว่าจะสนใจ เข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อมีโอกาสที่จะรู้ มีโอกาส เข้าใจ สิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าเรื่องฟัน เรื่องหัวใจเต้น ไม่เต้น ก็เป็นเรื่องธรรมดา รู้กันอยู่แล้ว แต่ที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้จริงๆ แล้วที่ใช้คำว่า “ธรรม” ทรงแสดงความจริงของธรรม
เพราะฉะนั้นมีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ เพื่อไม่มีเรา ไม่มีหัวใจเต้น แต่เป็นจิต เจตสิก รูป ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป อะไรๆ ก็ไม่มี ที่จะไปจำว่าหัวใจเต้น ก็ไม่มี เพราะขณะนั้น เป็นสภาพจำเรื่องต่างๆ ตลอดชีวิตเรื่องเยอะ คิดเมื่อไรก็คือจำเรื่องนั้น เวลาไม่คิด ก็ไม่มี กำลังเห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ใครไม่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏบ้าง แต่ไม่รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นเพียงธรรม ที่สามารถปรากฏให้เห็น ชั่วขณะที่สั้นมาก
ผู้ฟัง ภวังคจิตเกิดโดยไม่ต้องอาศัยทวาร มีหน้าที่ดำรงภพชาติ อยากจะทราบว่า ภวังคจิตดำรงภพชาติอย่างไร
คุณสุรีย์ ช่วยขยายความคำว่า ปฐมภวังค์ กับจิตตชรูปว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ภวังค์เป็นจิต จิตตชรูปเป็นรูปที่เกิดโดยจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่ใช่เกิดจากสิ่งอื่นเป็นสมุฏฐานเลย กรรมก็ไม่ได้ทำให้จิตตชรูปเกิด อุตุ หรืออาหาร ก็ไม่ทำให้จิตตชรูปเกิด แต่จิต เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด เมื่อไร ขณะแรกที่เกิด เป็นปฏิสนธิจิต เป็นจิตที่ทำกิจ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน โดยกรรมเป็นปัจจัยทำให้ วิบากจิต เกิดพร้อมกับเจตสิก และกัมมชรูปเท่านั้น จะไม่มีรูปใดๆ ที่เกิดจากสมุฏฐานอื่นเลย ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เป็นขณะแรก เพราะกรรมนั่นเอง ทำให้ปฏิสนธิจิต และเจตสิก และกัมมชรูปเกิด เห็นกำลังของกรรมไหม กรรมที่สำเร็จไปแล้วนานแสนนาน เมื่อไรอย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกาลที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ทำให้จิตประเภทนั้น เกิดพร้อมทั้งประมวลมา ซึ่งกรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัย ให้จิต เกิดขึ้นในชาตินั้นได้ เพราะเหตุว่ากรรมมีมากมาย แต่ตลอดชีวิตของชาติหนึ่ง จะประมวลมาซึ่งกรรม ที่สามารถเกิดขึ้นในชาตินั้น ไม่ใช่ชาติอื่น อย่างเช่น เวลาเกิดขึ้นก็จะมีกัมมชรูปเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นจะไม่ปรากฏเลยว่า กัมมชรูปซึ่งเป็นภาวทสก รูป ๑๐ รูป ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ชีวิตินทรียรูป และภาวรูป ยังไม่ปรากฏลักษณะว่าเป็นหญิง หรือชายเลย แต่ต่อไปการเจริญเติบโตขึ้น ก็จะปรากฏเป็นหญิง ชาย เป็นภาวะของกัมมชรูป หรือหทยวัตถุ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็จะต้องมีรูปเป็นที่เกิดด้วย
เพราะฉะนั้นกรรมก็ทำให้ปฏิสนธิจิต และเจตสิก เกิดพร้อมกัมมชรูป คือ รูปที่เป็นที่เกิด คือ หทยทสก ก็มี ๑๐ รูป รูปที่เกิดจากกรรมทุกรูป ต้องมีชีวิตินทรียรูปเกิดร่วมด้วย และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กายทสก กายปสาทรูปเกิดร่วมกับ ชีวิตินทรียรูป เกิดพร้อมกับธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา ก็รวมเป็น ๑๐ รูป มี ๓ กลุ่มในครรภ์ที่เกิดขึ้น ก็ยังไม่เป็นรูปร่างใดๆ เลย จะเป็นงู จะเป็นนก หรือจะเป็นคน หรือมีรูปร่างต่างๆ กัน ก็ไม่สามารถปรากฏได้ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด แต่กรรมนั้นเอง ทำให้มีการเจริญเติบโต มีกัมมชรูปเพิ่มขึ้น จนปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนกก็มีหลายชนิด เป็นงูก็หลายชนิด อะไรก็แล้วแต่ นี่แสดงให้เห็นว่า ขณะที่กรรมเป็นปัจจัย ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ จากจุติจิต มีกำลังทำให้ จิต เจตสิก ซึ่งเป็นวิบาก เกิดพร้อมกัมมชรูป โดยไม่มีจิตตชรูป แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ
คุณหมอทราบใช่ไหม ว่า ภวังคจิตหมายความถึงขณะใดก็ตาม ที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แล้วยังไม่ตาย จะมีจิตเกิดสืบต่อ จิตขณะนั้นไม่ทำกิจเห็น ไม่ทำกิจคิดนึกอะไรเลย แต่ทำกิจดำรงภพชาติ หมายความว่า ยังเป็นบุคคลนั้นอยู่ จนกว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไร ก็สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น เพราะขณะนี้ก็มีภวังคจิต ระหว่างที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ก็ต้องมีจิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ทำให้ยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ โดยจิตนั้นเกิดสืบต่อดำรงภพชาติ ใช้คำว่า “ภวังคจิต”
ผู้ฟัง จะถามเกี่ยวกับจิตตชรูป
ท่านอาจารย์ จิตทุกประเภทเว้นปฏิสนธิจิต และเว้นทวิปัญจวิญญาณจิต และเว้นอรูปวิบากจิต และเว้นจุติจิตของพระอรหันต์ ๑๖ ประเภท ไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย ภวังคจิตเกิดพร้อมกับจิตตชรูป ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้เลย
ผู้ฟัง คืออะไร มีรูปอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ รูปจะพ้นจากมหาภูตรูป ๔ ได้ไหม ไม่ได้ และเมื่อมีมหาภูตรูป ๔ ก็มี
อุปาทายรูป รูปซึ่งเกิดพร้อมกัน อาศัยมหาภูตรูป ๔ เกิดอีก ๔ รูป คือ วัณณะ หรือสี กลิ่น รส โอชา ๘ รูป
คุณหมอนอนหลับสนิท คุณหมอคิดจะพูดอะไร หรือไม่ เพราะฉะนั้นจะมีรูปอื่นที่สามารถทำให้เกิดเสียงได้ไหม ก็ไม่ได้ คุณหมอจะไปทำอะไรให้ใครรู้ว่า คุณหมออยากให้เข้าใจความหมายอย่างนั้นๆ หรือไม่ในขณะที่หลับสนิท เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากจิตอื่นก็ไม่มี
ผู้ฟัง เป็นภวังคจิตแล้วยังหายใจ เราก็มีหัวใจเต้น ตรงนี้ก็เลยคิดว่า การหายใจกับใจเต้น เกิดจากภวังคจิต เป็นจิตตชรูปที่เกิดจากภวังคจิต
ท่านอาจารย์ ตรงนี้เราคิดใช่ไหม แต่ต่อไปถ้าคุณหมอศึกษาละเอียดจะทราบว่า จิตที่เกิดโดยไม่เป็นปัจจัยให้ลมหายใจเกิดก็มี
นี่เป็นเรื่องความละเอียดของธรรม ยิ่งศึกษาก็จะค่อยๆ เข้าใจละเอียดขึ้น แต่ถ้ายังไม่มีพื้นฐานที่มั่นคงก็จะสงสัยไปตลอด แล้วไปคิดถึงเรื่องราว แต่ลองคิดดูว่า ในขณะที่กำลังหลับสนิท มีจิตไหม มี แล้วรูปหายไปหมด หรือไม่
ผู้ฟัง ก็ไม่หาย
ท่านอาจารย์ แล้วรูปนั้นเกิดดับ หรือไม่
ผู้ฟัง เกิดดับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่นอนหลับสนิท มีรูปอะไรบ้าง รูปที่เกิดจากกรรมมีไหม ยังอยู่ครบ รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหารก็ยังมี แล้วไปคิดถึงเฉพาะหัวใจเต้น
ปฐมภวังค์ คือ ภวังค์ขณะแรก เราใช้คำนี้ เพราะเหตุว่าภวังค์มากมาย ไม่รู้จะใช้จำนวนเท่าไร ก็กล่าวเฉพาะปฐมภวังค์ เพื่อแสดงให้เห็นความต่างว่า ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่มีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย แต่ต่อจากนั้นไป ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น เว้นจิตที่กล่าวแล้ว ต้องมีจิตตชรูปเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้นเวลาที่ภวังค์ขณะแรกเกิดแล้วดับไป ภวังค์ขณะต่อไป เราจะเรียกว่า ขณะที่ ๒ ก็ได้ ถ้าเราจะนับคร่าวๆ เกิดขึ้น มีจิตตชรูปเกิด หรือยัง มี จิตตชรูปเกิดพร้อมจิตขณะไหน ในอุปาทขณะ
นี่คือสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะว่าจิตตชรูปจะเกิดเฉพาะในอุปาทขณะของจิตเท่านั้น แต่กัมมชรูปเกิดทั้งในอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ นี่เป็นความต่างกันของการเกิดขึ้นของรูปที่เกิดจากกรรม และรูปที่เกิดจากจิต
อ.กุลวิไล จะอ่านที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงจุดประสงค์ของการศึกษาเรื่องจิต ในปรมัตถธรรมสังเขป
จุดประสงค์ของการศึกษาเรื่องจิตนั้น ไม่ใช่ต้องการเป็น ผู้รู้ เรื่องราวของจิตมากๆ แต่เพื่อเป็น สังขารขันธ์ ปรุงแต่งให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ที่กำลังรู้ในขณะนี้ เพื่อปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นแล้วนั้นจะได้คลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นตัวตน
กราบเรียนท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า รู้แค่นี้พอ หรือยัง
ผู้ฟัง ยัง
ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ไม่รู้เลย
ท่านอาจารย์ แล้วจะรู้อะไร
ผู้ฟัง ที่สำคัญที่สุดก็ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่ฟังเรื่องทวาร เรื่องวัตถุ พอ หรือยัง
ผู้ฟัง ตรงนี้ก็ฟังเพื่อให้เข้าใจ แต่ที่สำคัญคือสิ่งที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมที่มีต่างกัน รูปธรรมเป็นรูป นามธรรมเป็นนาม จะเข้าใจยิ่งขึ้นเมื่อกล่าวถึงเรื่องรูป ก็เข้าใจถึงสภาพที่ไม่รู้อะไร และเมื่อกล่าวถึงนามธรรม ก็เข้าใจลักษณะของสภาพรู้ ซึ่งเป็นจิต และเจตสิก
เพราะฉะนั้นอยู่ที่ความเข้าใจ ไม่ใช่ไปติดที่คำ อย่างพูดว่า “ตา” ภาษาไทย ทุกคนรู้จัก ถ้าพูดคำว่า “จักขุ” เข้าใจด้วย ต่างภาษา แต่หมายความอย่างเดียวกัน ตาเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม
ผู้ฟัง ตาเป็นรูปธรรม
ท่านอาจารย์ จักขุเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม
ผู้ฟัง เป็นรูปธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจักขุเป็นรูปชนิดหนึ่ง หรือหลายชนิด
ผู้ฟัง ชนิดหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ชนิดเดียวที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็นในขณะนี้ได้ นี่คือการเข้าใจสภาพธรรม แต่ไม่ใช่ว่าต้องไปติดที่ชื่อ จะเรียกว่าทวาร จะเรียกว่าวัตถุ หรืออะไรก็ตาม ไม่ใช่เป็นคำภาษาบาลี แต่ที่ใช้ภาษาบาลี เพราะเหตุว่า พระผู้มีพระภาคตรัสกับผู้ที่ใช้ภาษาบาลี เวลาที่ใช้เป็นภาษาไทย พูดกับคนไทย ก็ต้องเข้าใจด้วย
จักขุมี ถ้าไม่มีจักขุ จะเห็นไหม
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอาศัยจักขุที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุไม่เห็นอะไร ใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏ เห็นไหม
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ รูปไม่สามารถรู้อะไรได้เลย นี่คือสิ่งที่ต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่สับสน เพราะฉะนั้นขณะนี้ ที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะมีจิตเห็นเกิดขึ้น ซึ่งเป็นนามธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้ว่า จิตเห็นอาศัยจักขุ จะใช้คำว่า “ทวาร” หรือจะใช้คำว่า “ทาง” หรือจะใช้อะไรก็ได้ แต่หมายความถึงสภาพของรูปนี้ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะกระทบกับรูปนั้นได้
เพราะฉะนั้นใช้คำว่า “จักขุ” เข้าใจเลยว่า หมายถึงรูปอะไร ใช่ไหม หรือยังไม่เข้าใจ
ผู้ฟัง เข้าใจ
ท่านอาจารย์ รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าใช้คำว่า “จักขุทวาร” ได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าไม่มีจักขุเป็นทาง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ปรากฏไม่ได้ ใช้คำว่า “จักขุนทรีย์” ได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เป็นทวารให้จิตเกิดได้
ท่านอาจารย์ พูดถึงรูปๆ เดียวซึ่งเป็นรูปธรรม แต่สามารถใช้คำหลายคำ ที่แสดงถึงสภาพธรรมนั้น โดยเป็นรูปที่สามารถกระทบกับ สิ่งที่ปรากฏทางตา ใช้คำว่า “ปสาท” เป็นจักขุปสาทรูป เวลาใช้คำว่า “เป็นทางที่เกิด” ก็ใช้คำว่า “จักขุทวาร” หมายความถึงรูปไหน
ผู้ฟัง รูปทางตา
ท่านอาจารย์ รูปที่เราใช้คำว่า ตา แต่เราไม่เคยเข้าใจคำนี้เลย เราคิดว่าตาทั้งหมด ตาดำ ตาขาว เป็นตา แต่นั่นไม่ถูกต้อง หมายความถึงรูปๆ หนึ่งที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ ให้ทราบว่าเป็นรูป แต่เมื่อสามารถกระทบกับสิ่งใด รูปนั้นจึงเป็นรูปพิเศษ ที่ต่างจากรูปอื่น ด้วยเหตุนี้รูปนั้นเป็นปสาท เพราะสามารถกระทบกับ รูปอื่นด้วย จักขุปสาท หรือจะใช้คำว่า ตัวจักขุที่เป็นรูปนั่นเอง เป็นจักขุปสาท เพราะเหตุว่าสามารถกระทบได้
ใช้คำว่า “ทวาร” เมื่อจิตเกิดเห็น จิตอื่นๆ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เช่น เห็นสิ่งใดแล้วพอใจสิ่งนั้น ได้ ใช่ไหม ได้ เห็นดับแล้ว แล้วก็ชอบในสิ่งที่ปรากฏ จิตเห็นเกิดที่จักขุปสาทรูป ซึ่งขณะนั้นเมื่อเป็นที่เกิด ก็ใช้คำว่า “จักขุวัตถุ” เพราะเหตุว่าเป็นที่เกิด พอใช้คำว่า จิตจะต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด ก็แล้วแต่ว่ารูปใดเป็นที่เกิดของจิต ก็เรียกรูปนั้นว่าเป็น “วัตถุ” คือ เป็นที่เกิดของจิต
เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงรูปๆ หนึ่ง โดยความเป็นปสาท ก็กล่าวว่า จักขุปสาทรูป โดยความเป็นทวาร ก็กล่าวว่า จักขุทวาร โดยความเป็นอินทรีย์ ก็คือว่าในบรรดารูปทั้งหมด กี่รูปก็ตาม รูปที่เป็นใหญ่ที่สามารถทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏได้ น่าอัศจรรย์ไหม มีสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยจิตเห็นเกิดขึ้น แต่ต้องอาศัยรูปๆ หนึ่ง ซึ่งรูปนั้นเป็นใหญ่กว่ารูปอื่น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีรูปนี้ จะไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ปรากฏได้เลย ด้วยเหตุนี้ก็มีอีกคำหนึ่ง สำหรับจักขุปสาทรูป หรือจักขุนั่นเอง ว่า “จักขุนทรีย์” เป็นรูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการทำให้จิตสามารถเกิดขึ้น และเห็นสิ่งที่กระทบกับปสาทรูปนั้นได้
เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ถ้าเข้าใจมั่นคงว่า รูปธรรมเป็นรูปธรรม และรูปธรรมก็หลากหลาย และเวลาที่กล่าวถึงรูปๆ หนึ่ง ก็สามารถกล่าวโดยนัยที่ทำให้เข้าใจรูปนั้น ตรงตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น ก็จะไม่สับสน จะไม่คิดว่า จักขุปสาทรูปกำลังเห็น ไม่ได้เลย รูปต้องเป็นรูป
ผู้ฟัง ขอกราบเรียนถามถึงสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน คือจริงๆ แล้วเป็นสภาพที่บังคับบัญชาไม่ได้ เช่น สภาพธรรมปรากฏอย่างนี้ ก็คิดว่า จะต้องคิดว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม กับคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ลักษณะของอกุศลจิตเกิด หรือกุศลจิตเกิด ซึ่งขณะที่ทั้ง ๒ ชนิดเกิด ก็ห้ามความคิดไม่ได้ว่า จะต้องคิดว่าลักษณะที่เกิดเป็นกุศล หรืออกุศลแต่เรายังไม่รู้เลย ว่าสิ่งที่เกิดนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่งขอกราบเรียนถามประเด็นนี้
ท่านอาจารย์ ขณะที่ฟังธรรมเข้าใจ แล้วความคิดเดิมๆ ก็คิดเรื่องอื่นมาก แต่เวลาได้ยินธรรม ก็มักจะคิดเรื่องธรรม แต่ก็คิดด้วยความสงสัย ถูกต้องไหม เพราะว่าได้ยินจริง ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ขณะเห็นเป็นคนหนึ่งคนใด นั่นก็แสดงให้เห็นว่า การฟังธรรม พอฟังแล้วเราจะรู้อย่างที่เราได้ยิน แต่สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ทีละเล็กทีละน้อย อย่างเมื่อวานนี้ ก็มีกล่าวพระูตร มลสูตร ความเศร้าหมองของกายกับใจ ของกายรู้สึกทุกคนรู้ พอตื่นขึ้นมา ก็ทำให้สะอาดขึ้น เพราะรู้ว่า ระหว่างที่นอนหลับ ก็มีมลทินที่จะต้องชำระขัดล้างออกไป แต่ใจ ตั้งแต่เช้ามาจนถึงบัดนี้ ทรงแสดงให้เห็นว่า มากด้วยมลทินระดับไหน ด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะตั้งแต่ตื่น
เพราะฉะนั้นการชำระล้างมลทินของใจเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย และไม่ใช่ด้วยความจงใจ เป็นตัวตน เป็นเราที่จะทำ แต่อาศัยความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้เราไปนั่งคิด หรือนั่งพยายามหาทาง แต่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ใจของเราตั้งแต่เช้ามามีมลทินขนาดไหน
เพราะฉะนั้นขณะที่ฟัง ก็ฟังเพื่อเข้าใจ และความเข้าใจ กว่าจะสามารถค่อยๆ ชำระมลทินได้ ก็ต้องตามระดับขั้น ของความเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้นเวลาฟัง เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง สภาพธรรมมีจริงๆ เป็นธรรม กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฟังจนกว่าจะเริ่มเข้าใจว่า เป็นลักษณะของธรรมแต่ละลักษณะ นี่คือเข้าใจ
เพราะฉะนั้นขณะที่เห็น มีสิ่งที่มีจริงๆ กว่าจะรู้ว่า สิ่งที่กำลังเห็น ถูกเห็น เป็นธรรม ก็ยาก เพราะฉะนั้นมลทินเข้าไปเท่าไรแล้ว ที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม
เพราะฉะนั้นกว่าจะเริ่มค่อยๆ เข้าใจ ชำระมลทิน คือ อวิชชา ความไม่รู้ แล้วก็ค่อยๆ คลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ทุกคนกำลังคิด เรื่องที่คิด มีจริงไหม เรื่องไม่จริง แต่ไม่รู้ว่า ไม่จริง แต่พอมีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าใช้คำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา บางคนอาจจะฟังยาก เพราะว่าไม่คุ้น ที่กาย มีอ่อน หรือแข็งกำลังปรากฏ จริงไหม ตรงนั้น เพราะฉะนั้นจริงๆ ก็คือลักษณะที่มีจริง นอกจากนั้นไม่มีเหลือ คิดตั้งแต่เช้า ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม หลายเรื่อง หมดแล้วทั้งหมด
เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านี้เอง ที่เป็นสิ่งที่ มีจริงแน่นอน เพราะเหตุใด เพราะว่า สิ่งอื่น ไม่มีอะไรเหลือเลยทั้งสิ้น สัญญาที่จำ ขณะที่มีอ่อน หรือแข็งปรากฏ สัญญานั้นก็จำ อ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้จำอย่างอื่นเลย ในขณะที่อ่อน หรือแข็งกำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นที่เหลือจริงๆ ที่เป็นสัจจะ ที่เป็นปรมัตถ์ คือสิ่งที่มีลักษณะ กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะคิดมากมาย เป็นสุข เป็นทุกข์ มากมายอย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ ไม่รู้ลักษณะ ของสภาพธรรม สิ่งนั้นก็คือสิ่งที่คิด แล้วก็หมดไปๆ ไม่เหลือ แล้วก็ไม่สามารถ รู้ความจริงด้วยว่า คิดแล้วก็หมดไป แต่ลักษณะของสิ่งที่มีจริง เตือนให้รู้ว่า นอกจากนี้แล้วไม่มีอะไรจริง
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 421
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 422
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 423
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 424
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 425
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 426
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 427
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 428
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 429
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 430
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 431
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 432
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 433
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 434
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 435
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 436
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 437
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 438
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 439
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 440
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 441
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 442
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 443
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 444
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 445
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 446
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 447
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 448
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 449
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 450
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 451
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 452
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 453
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 454
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 455
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 456
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 457
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 458
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 459
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 460
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 461
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 462
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 463
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 464
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 465
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 466
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 467
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 468
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 469
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 470
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 471
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 472
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 473
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 474
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 475
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 476
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 477
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 478
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 479
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 480