พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 425


    ตอนที่ ๔๒๕

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เห็นอวิชชาได้ใช่ไหม แม้ปรากฏก็ไม่รู้ และกว่าความไม่รู้จะค่อยๆ หายไป จางไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากการได้ยินได้ฟังแล้วไม่ประมาท และไตร่ตรองว่า กำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา รู้แค่ไหน ไม่ต้องท้อถอยเลย ก็ฟังมาแค่นี้จะให้รู้แค่ไหน ใช่ไหม ก็เกินความจริงเพราะโลภะ โลภะไม่เคยทิ้งไปง่ายๆ เลย ครอง ใช้คำว่า “ครอบ” ก็ได้ ไม่ให้ออกไปนอกวง หรือเขตของโลภะเลย เพียงแต่จะฟังธรรมให้ไป หรือไม่ ถ้าอยู่บ้านให้ฟัง หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า เราอยู่ใต้อำนาจของโลภะ ใช้คำว่า “เป็นทาส” ของโลภะมานานเท่าไร แล้วก็จะหมดความเป็นทาสโดยรวดเร็ว ใครจะยอม เคยใช้เคยสอยในสังสารวัฏฏ์มานานแสนนาน ให้เป็นอย่างนั้น ให้คิดอย่างนี้ ให้ทำอย่างโน้น แล้วก็จะไม่ให้มีโลภะ ถึงความไม่มีโลภะ นิจฉาโต คือบุคคลผู้ไม่มีโลภะ ไม่มีความติดข้อง ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ประเสริฐแล้ว พระพุทธเจ้าจะสอนไหม

    เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ทรงแสดง สิ่งนั้นเป็นความจริงที่ประเสริฐ และก็สามารถอบรมได้ด้วยปัญญา แต่ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ นิจฉาโต ถ้ารู้ความหมายภาษาบาลี

    อ.คำปั่น นิจฉาโต แปลตามศัพท์แปลว่า ผู้ปราศจากความปรารถนา ผู้ปราศจากโลภะ โดยศัพท์ แยกศัพท์ออกเป็น ๒ คำ คือ นิ บทหน้า แปลว่าไม่มี อิจฉาโต จริงๆ มาจากคำว่า อิจฉา อิจฉาในภาษาบาลี หมายถึงความปรารถนา ความต้องการ หรือโลภะ พูดถึงอิจฉาในภาษาธรรม ก็หมายถึงความปรารถนา ความต้องการ จึงรวมกันเป็น “นิจฉาโต” ลง โต ปัจจัยด้วย แปลว่า ผู้ รวมกันแปลว่า ผู้ปราศจากความต้องการ ผู้ปราศจากความปรารถนา หรือจะแปลง่ายๆ ว่า ผู้หมดโลภะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ภาษาบาลี ภาษาไทยเราก็ใช้อย่างเผินๆ ง่ายๆ อิจฉาคนนั้น อิจฉาคนนี้ แต่ในความหมายนั้นหมายความถึง “อิสสา” ไม่ใช่ “อิจฉา” ในภาษาบาลี มี ๒ คำ “อิจฉา” กับ “อิสสา” แต่ภาษาไทยเรา อิจฉาเหมือนกับริษยา หรืออิสสา แต่ความจริงไม่ใช่ อิจฉาในภาษาบาลี หมายถึงโลภะ ความติดข้อง ความต้องการ ความปรารถนา แค่คิดถึงคำว่า “ความปรารถนา” ถ้ามีปัญญาจริงๆ น่ากลัวไหม ดูซิ ความปรารถนาน่ากลัวไหม ทำให้ต้องทำอะไรตั้งหลายๆ อย่างในทางสุจริตก็มี และก็ยังถึงในทางทุจริตด้วย และความปรารถนาก็เป็นความติดข้องซึ่งใครก็ไม่สามารถไปตัดขาดได้ ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรารถนานั้นควรแก่การปรารถนาจริงๆ หรือไม่ อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา แค่เห็น เสียงที่ปรากฏทางหู ก็แค่ได้ยินก็ดับแล้ว คือ ทุกอย่างมีอายุที่สั้นแสนสั้น เพียงปรากฏให้ติด ให้ปรารถนา ให้ต้องการ ให้แสวงหา เพราะไม่รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้นเพียงแค่ได้ยินคำว่า “ปรารถนา” ก็น่ากลัวจริงๆ ถ้าไม่มีความปรารถนา ไม่ต้องกลัวอะไรเลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

    อ.กุลวิไล สำหรับช่วงของพื้นฐานอภิธรรมในช่วงนี้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่จะเกื้อกูลให้เราเข้าใจธรรมที่จะเห็นภัยด้วยปัญญา ขอเรียนถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ พื้นฐานอภิธรรมคงจะไม่จบแน่นอน ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พื้นฐานอภิธรรมอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้เอง สนทนาธรรมก็คือคิด และมีความเห็นต่างๆ ที่สำคัญที่สุดก็คือจิต ถ้าไม่มีจิต จะมีอะไรไหม ไม่มีเลยทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพระไตรปิฎก หรือไม่ว่าจะเป็นอะไรๆ ทั้งหมดก็ตาม แม้แต่คิดก็ไม่มี รูปที่เกิดจากอุตุ มีลักษณะต่างๆ กัน จิตไม่เกิดขึ้น จะรู้ไหมว่า มี ก็ไม่มีใครรู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นพื้นฐานจริงๆ ก็คือจิต และขณะนี้ทุกคนก็มีจิต แต่ถ้าพูดเรื่องอื่น ไกลตัว จะทำให้รู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ได้ไหม

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้เองที่กำลังมีจิต ก็ต้องมีความเข้าใจในลักษณะของจิตซึ่งเป็นธรรม ปกติธรรมดาจิตเกิดขึ้นเป็นธาตุรู้ ก็เป็นเราไปหมดเลย จิตทุกประเภทก่อนที่จะได้ฟังธรรม เป็นจิตของเรา ขณะนั้นจิตของเราเป็นอกุศล หรือจิตของเราเป็นกุศล เป็นของเราไปหมด โดยไม่รู้ความจริงซึ่งเป็นพื้นฐานจริงๆ ว่าเป็นธรรม จิตซึ่งเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นเป็นธรรมแล้วไม่มีใครสามารถไปยับยั้งไม่ให้จิตเกิดแล้วดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ สืบต่อไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมคือให้รู้ธรรม แม้แต่สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นใคร หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ทั้งหมด พื้นฐานอยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นจิตเป็นสิ่งที่น่าเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นธรรมซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ยับยั้งไม่ให้เกิดไม่ได้ เกิดแล้วไม่ให้หมดไปก็ไม่ได้ จิตเมื่อครู่นี้หมดไปแล้ว ใครรู้บ้าง เป็นของเรา ใช่ไหม ถ้าไม่ได้ฟังธรรม เป็นของเราแน่นอน แต่เพียงฟังว่า จิตเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แค่นี้หมดการยึดถือจิตว่าเป็นเรา หรือยัง ไม่หมดเลย เพราะฉะนั้นการฟังแล้วฟังอีก เพื่อจะให้รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานแน่นอน คือ มีจิต

    เพราะฉะนั้นเวลานี้จิตเกิดแล้ว จึงปรากฏ ถ้าสิ่งใดก็ตามยังไม่เกิด ปรากฏไม่ได้เลย เพราะยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏ ให้ทราบว่า ขณะนั้นเพราะมีจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น แต่เราก็ลืม แล้วก็ไปคิดเรื่องอื่นตลอดเวลา ลืมจิตซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของจิตพอที่จะละคลายว่า ไม่ใช่ของใครเลย เป็นธาตุซึ่งกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนแปลงจากขณะหนึ่งเป็นอีกขณะหนึ่ง คือ ดับไปแล้วไม่เกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่เคยเป็นเรา หรือจิตของเราให้ถูกต้องว่า เป็นแต่เพียงธรรม เดี๋ยวนี้เกิดขึ้นแล้ว เห็นเป็นจิต เดี๋ยวนี้เกิดแล้วได้ยินเป็นจิต เดี๋ยวนี้เกิดแล้วคิดนึกก็เป็นจิต เป็นจิตมากมายประเภทต่างๆ แต่ถ้าไม่รู้เลย เพียงแต่ได้ยินชื่อ แล้วจำชื่อ ก็ไม่สามารถรู้ว่า แท้ที่จริงขณะนี้เป็นจิตที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดนึกบ้าง แม้แต่กำลังฟังขณะนี้ก็เป็นจิต ฟังแล้วเข้าใจ สภาพธรรมนั้นก็เป็นจิตที่มีสภาพของเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมเกิดร่วมด้วย เพราะว่าจิตก็เหมือนธรรมอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถเกิดโดยไม่อาศัยธรรมอื่นๆ

    สภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม มี ไม่ใช่ไม่มี เกิดเพราะอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นเป็นไปทุกขณะ จิตเกิดขึ้นขณะใด ต้องมีธรรมที่จิตอาศัยเกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกัน คือ สภาพธรรมที่ไม่ใช่จิต ไม่ใช่สภาพที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เกิดพร้อมจิต และก็รู้สิ่งเดียวกับที่จิตกำลังรู้ในขณะนี้ เป็นเจตสิก

    แค่นี้คือพื้นฐานที่เราจะต้องมีความเข้าใจยิ่งขึ้นในลักษณะที่เป็นธรรม การฟังธรรมก็เพื่อให้เข้าใจถึงความต่างของจิต เจตสิก รูป และสิ่งที่มีตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมลักษณะต่างๆ กัน เพื่อคลายความเข้าใจผิด และยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพียงขั้นฟังแล้วเริ่มเข้าใจ ปัญญาระดับนี้ยังไม่สามารถละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ พิสูจน์ได้เลย ฟังว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่เราได้ไหม เพราะว่าไม่รู้ความจริง

    เพราะฉะนั้นการที่จะค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรม ไม่ว่าจะติดข้องในสภาพธรรมใดก็ตาม ก็ด้วยการค่อยๆ รู้ความจริงของสิ่งนั้น จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดเมื่อไรก็ปรากฏแล้วก็หมดไปขณะนี้ทุกอย่างที่ปรากฏกำลังหมดไป

    เพราะฉะนั้นฟังจนกว่ามีความเข้าใจที่มั่นคงว่า ปัญญาคือการเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะทำให้เข้าใจพระไตรปิฎก แม้ข้อความที่ได้กล่าวถึง คือ “ภัย” ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น ภัยใดๆ จะมีไหม ไม่มีเลย แต่เมื่อมีจิตเกิดขึ้นก็มีภัยหลากหลาย เช่น ฝนตก น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะเป็นภัย แม้ความเจ็บไข้ก็เป็นภัย ความโกรธเป็นภัยไหม มีใครชอบ ไม่ชอบเลย ความโกรธก็เป็นภัย

    เพราะฉะนั้นถ้าลึกลงไปก็คือว่า สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดพ้นภัยไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเกิดแล้ว ถ้าเป็นธาตุรู้ก็เกิดขึ้นรู้แล้วหมดไป ไม่กลับมาอีกเลย เป็นภัยไหม เกิดแล้วดับ

    อ.กุลวิไล ภัยนี่มาพร้อมกับการเกิดเลยท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้ายังมีการเกิดก็ยังต้องพบภัย ทั้งภายนอก และภายใน

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรม การฟังธรรมก็พอจะเข้าใจ แต่เมื่อไม่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ภัยก็ยังเผาผลาญอยู่ตลอดเวลา ทีนี้จะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เมื่อเข้าไม่ถึงลักษณะตรงนั้น พิจารณาอย่างไรว่า ...

    ท่านอาจารย์ คุณบุษกรเริ่มจะมีความเป็นตัวตนที่จะทำ คือ จะพิจารณาอย่างไร เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วรู้ว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ แล้วจะไปทำอะไร นอกจากเข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่มีว่า สิ่งที่มีเกิดแล้วเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น แต่ก็ไม่เที่ยงเลย เกิดแล้วเป็นอย่างนี้ แล้วก็เป็นอย่างอื่น คือต้องดับไป จากเกิดแล้วเป็นเห็นอย่างนี้ แล้วก็หมดไป เป็นได้ยิน นี่คือเข้าใจให้ถูกต้อง แต่จะไปทำอะไรได้ไหม

    ผู้ฟัง ทำอะไรไม่ได้ แต่ว่าเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ เดือดร้อนเกิดแล้ว ทำอะไรได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับ หรือไม่

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจได้ไหมว่า เป็นธาตุที่ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไปทำอะไร

    ผู้ฟัง ทำอะไรไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เดือดร้อนเป็นธรรม เป็นภัย หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเกิดมาแล้ว ไม่เดือดร้อน เป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเกิดเป็นภัย หรือไม่ เพราะเมื่อเกิดมาแล้ว ต้องประสบกับทุกอย่าง เลือกไม่ได้

    ผู้ฟัง เมื่อวานนี้พูดถึงเรื่องมโนทุจริต ทีนี้อาจารย์บอกว่า คิดไม่ดีก็เป็นมโนทุจริต แล้วก็มาพิจารณา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ฟังแค่นี้ถูกต้อง หรือไม่

    ผู้ฟัง ฟังแค่นี้ยังไม่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ทุจริต ดี หรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนทุจริตให้ดีได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนชื่อได้ไหม

    ผู้ฟัง เปลี่ยนชื่อได้

    ท่านอาจารย์ แต่เปลี่ยนสภาพลักษณะนั้นไม่ได้

    ผู้ฟัง แม้คิดไม่ดีเพียงเล็กน้อย ก็เป็นมโนทุจริตแล้ว

    ท่านอาจารย์ จะให้ไม่เป็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ตรงแล้ว ที่ไม่ดีก็ต้องไม่ดี จะน้อยจะมากอย่างไร เกิดแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น

    ผู้ฟัง เมื่อฟังธรรม ดูเหมือนโดนภัยคุกคามอยู่ทุกๆ ขณะจิต

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือน จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง เริ่มเข้าใจขึ้นว่า ความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ความเข้าใจนี่ยังไม่มั่นคงเลย เพราะขณะนี้ไม่เห็นเป็นภัยเลย เพราะว่าเกิด ถึงแม้จะดับไป ก็ไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วไม่เห็นเป็นภัย แต่เมื่อฟังธรรมแล้วรู้ว่าเป็นภัย ทั้งๆ ที่ยังไม่ประจักษ์ แต่ว่ากลัว

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นกลัว ใช่ไหม เรากลัว ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม เพราะฉะนั้นกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า แม้กลัว เกิดแล้วก็เป็นธรรม ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป นี่คือความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดแล้วจะมีลักษณะที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไป เข้าใจให้ถูกต้องก่อน

    ผู้ฟัง การที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ทำ ความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ทำอีกแล้ว

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจ ไม่ใช่ เราทำ เลย เจตสิกทั้งหลายเกิดขึ้นกับจิต ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็คือเจตสิกทั้งหลายที่เป็นฝ่ายดีเกิดขึ้น ไม่ต้องมีใครไปทำความเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น คำที่เคยเป็นเรา จะค่อยๆ ลดลง แล้วก็ถูกต้องขึ้น

    “ทำใจ” พูดกันมากเลย ได้ยินไหม ทำใจอะไร ลองทำซิ ทำใจอะไร

    ผู้ฟัง คือความคุ้นเคย คุ้นเคยสิ่งที่ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นฟังให้เข้าใจ และก็ละการที่เคยคุ้นเคยกับกับความไม่ถูกต้อง หรือความเห็นผิด คือ มีความเข้าใจถูกต้องขึ้นว่า ขณะนี้เป็นธรรมแล้วก็พื้นฐานจริงๆ ของธรรมก็คือจิต เพราะฉะนั้นจิตนี่สำคัญ จะสุขจะทุกข์เพราะรูป หรือว่าเพราะจิต

    ผู้ฟัง เพราะจิต

    ท่านอาจารย์ ทั้งๆ ที่รูปอาจจะไม่น่าพอใจเลย จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลก็ได้ ทั้งๆ ที่รูปน่าพอใจมาก น่าติดข้องมาก แต่กุศลจิตเกิดขึ้น ไม่ติดข้องในรูปนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นที่สำคัญที่สุดก็คือจิต และจิตก็ไม่เคยอยู่ไกลไปไหนเลย

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจิตมากขึ้น ก็จะรู้ได้ว่า ทั้งหมดโลกที่ปรากฏเพราะจิต ไม่ว่าจะเป็นโลกไหนในความคิดนึก เรื่องราวใดๆ ก็ตามทั้งหมด เพราะจิต จิตเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏ แต่เวลาที่กล่าวถึงจิต รวมถึงเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันด้วย แต่ว่าเมื่อจิตเป็นใหญ่เป็นประธานก็ใช้คำว่า “จิตคิด” แต่ความจริงแล้วจิตเป็นธาตุที่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ คำว่า “รู้แจ้ง” ที่นี่ไม่ได้หมายความว่า เป็นความเห็นถูก เพียงแต่ว่าอะไรปรากฏ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งนั้น เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ รู้เจตสิกอะไรไหมขณะที่กำลังเห็น ทั้งๆ ที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย รู้เจตสิกอะไร หรือไม่ ไม่รู้เลย แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยจิตกำลังรู้แจ้ง คือ เห็น “รู้แจ้ง” ที่นี่คือเห็น เห็นอย่างนี้แหละคือสภาพของธาตุที่เกิดขึ้นแล้วก็ทำหน้าที่ เปลี่ยนหน้าที่ไม่ได้เลย เห็น ทำหน้าที่อื่นไม่ได้เลย เกิดแล้วกำลังเห็น ขณะนี้เป็นลักษณะของจิตประเภทหนึ่ง ค่อยๆ คุ้นกับสิ่งที่มีจริงๆ ประจำวัน จนกระทั่งเข้าใจว่า เป็นธรรมจากขั้นการฟัง ถ้าไม่มีการเข้าใจขั้นการฟังเลย จะละการที่เราเคยเห็นว่า เป็นเราเห็น ได้ไหม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า พื้นฐานอยู่ตรงนี้ คือ จิตเกิดขึ้น และเจตสิกที่เกิดกับจิต ก็มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละประเภท เช่น เวลาที่กำลังคิด ก็จะต้องมี วิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เนื่องจากจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เราก็ใช้คำว่า จิต แต่ก็รวมทั้งเจตสิกด้วย เพราะว่าสภาพของวิตกเจตสิก ลองคิดดู ได้ยินชื่อมานาน รู้จักตัวจริง หรือไม่ รู้จักไหม ไม่รู้จักเลย เพราะอะไร ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดต่อเกิดพร้อมกับวิตกเจตสิก ยังไม่ทันรู้เลยว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ยังไม่ถึงโลภะ โทสะ หรือกุศลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าจิตเห็นเกิดขึ้นโดยอาศัยปัจจัยที่จะต้องประจวบกัน คือ จักขุปสาทกับสิ่งที่กำลังปรากฏที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทได้ ทั้ง ๒ มีอายุที่สั้นมาก คือ ๑๗ ขณะจิต ลองคิดถึงการที่ ๒ อย่างซึ่งเกิดแล้วก็ดับอย่างเร็วมาก แต่ประจวบกัน และกรรมถึงกาละที่จะทำให้เห็นสิ่งนั้น จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้นเห็น แค่เห็น ตลอดวันให้ทราบว่า จิตที่เห็น ไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากเกิดขึ้นแค่เห็น เพียงเห็นอย่างเดียว นอกจากนั้นเป็นหน้าที่ของจิตอื่นทั้งหมด เริ่มเห็นแล้วใช่ไหม เริ่มเข้าใจแล้วว่า ขณะนี้จิตประเภทที่เห็นไม่เป็นอื่นเลย นอกจากเกิดเมื่อไรก็ทำกิจเห็นเมื่อนั้น และทันทีที่เห็น รวดเร็วที่ใครก็ไม่สามารถจะประมาณได้ ดับแล้ว แล้วก็ต้องมีจิตอื่นเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะว่าจิตทุกขณะ นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น

    นี่คือสิ่งที่มีเป็นพื้นฐานให้รู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ต้องไปหาที่ไหนเลย ขณะนี้เดี๋ยวนี้กำลังเป็นอย่างนี้ ที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่อย่างไร อย่างไร ทำอย่างไร อย่างที่คุณบุษกรพูด แต่ทำอย่างไรกับเข้าใจต่างกันมาก ใช่ไหม จะไปทำแล้วจะไปเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ได้ไหม แต่ถ้ามีการฟัง แล้วมีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ฟังจนกระทั่งเข้าใจถึงความเป็นจริงของสิ่งนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะทำให้สามารถคลายความไม่รู้ และคลายความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่เพียงอ่าน แล้วก็คิด ก็ไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง ด้วยเหตุนี้แม้ว่า วิตกเจตสิกเกิดพร้อมจิตที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ เราก็กล่าวว่า จิตคิด แต่ความจริงหมายความถึงเจตสิกที่เกิดร่วมกัน แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน

    เพราะฉะนั้นจะมีอีกคำหนึ่ง คือ คำว่า “จิตตุปบาท” เป็นคำรวมกันของ จิต กับ อุปาท อุปาท แปลว่าเกิดขึ้น จิตตุปบาท รวมเจตสิกด้วย เพราะว่าทุกครั้งที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นคำธรรมดาๆ ในภาษาไทย ก็เหมือนกับพิเศษ เพราะว่าเป็นอีกภาษาหนึ่งที่ไม่เคยได้ยิน และอาจจะเข้าใจไม่ถูกต้องด้วย และอาจจะสงสัยว่า คำนี้หมายความถึงอะไร แต่ความจริงก็คือการเกิดขึ้นของจิต และเจตสิก แต่ถ้ากล่าวอย่างนี้บ่อยๆ ก็ยาว ใช่ไหม จิต และเจตสิกเกิดขึ้นเห็น จิต และเจตสิกเกิดขึ้นได้ยิน จิต และเจตสิกเกิดขึ้นคิดนึก ก็ไม่จำเป็น เพราะรู้อยู่แล้วว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วขณะนี้ก็ไม่มีอะไร นอกจากสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ซึ่งจิตกำลังเกิดขึ้น และกำลังรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ คือ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเสียงที่ปรากฏทางหู แล้วก็มีการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นจิตทั้งนั้น นี่คือการเริ่มเข้าใจพื้นฐานซึ่งเป็นธรรม คือ ไม่ใช่เรา แต่เป็นจิต และเป็นเจตสิก เมื่อไรจะรู้อย่างนี้ ถามอีก หรือไม่ว่า เมื่อไร หรืออย่างไร

    ผู้ฟัง ต้องฟังไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้น หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจ ไม่สามารถจะคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏสืบต่ออย่างเร็วมาก คือ ทันทีที่เห็นในความรู้สึกของทุกคน ก็คือว่าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทันทีที่ได้ยิน ความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อ ก็เหมือนกับได้ยินคำ ได้ยินเรื่องราวต่างๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ก.ย. 2567