พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 426


    ตอนที่ ๔๒๖

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้น หรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าไม่มีความเข้าใจ ไม่สามารถจะคลายการที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏสืบต่ออย่างเร็วมาก คือ ทันทีที่เห็น ในความรู้สึกของทุกคน ก็คือว่าเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทันทีที่ได้ยิน ความรวดเร็วของการเกิดดับสืบต่อ ก็เหมือนกับได้ยินคำ ได้ยินเรื่องราวต่างๆ แต่ความจริงมีจิตที่เกิดดับสืบต่อคั่นโดยที่ไม่รู้เลยว่า ขณะนี้ที่กำลังกล่าวว่า เห็น แล้วก็รู้ว่าเป็นอะไร จิตจะเกิดดับสืบต่อกันมากทั้งทางตา แล้วก็มีภวังค์คั่น แล้วเป็นทางใจที่กำลังนึกถึงรูปร่างสัณฐาน

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมจึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่ตรง และจุดประสงค์คือเข้าใจเพื่อละความไม่รู้ เพราะถ้ายังคงไม่รู้เหมือนเดิม ไม่มีทางที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็ว แล้วก็ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วก็จะไปประจักษ์การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้แน่นอน แต่ขณะนี้เพียงได้ยินได้ฟังว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ละคนเข้าใจตัวเอง ใช่ไหม มีความเข้าใจคำนี้แค่ไหน เข้าใจความหมายนี่แน่นอน เพราะว่าเปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้เลย แต่ว่าเริ่มเห็นถูกต้องว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง หรือยัง ถ้ายัง ใครจะไปทำอะไรได้ นอกจากฟังแล้วก็ค่อยๆ สะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นก็ลองเปรียบเทียบ ตั้งแต่เกิดมาเฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เราก็สะสมความเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมานานมาก พอเริ่มได้ฟังว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ก็ยากที่จะทำให้คลายการที่เคยยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ลองคิดถึงเกิดมาใหม่ๆ มีใครรู้บ้างไหมว่า จิตเห็นของเด็กที่เกิดใหม่ เห็นเป็นอะไร จะรู้ไหมว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นอะไร เพราะฉะนั้นโตมาทุกวันๆ จนกระทั่งรู้มาจากไหน ถ้าไม่มาจากการค่อยๆ ชิน ค่อยๆ จำ จนกระทั่งสามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นใคร เด็กบางคนไม่รู้จักพ่อแม่เลย เรียกคำแรกคือเรียกชื่อพี่เลี้ยง ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นมารดา ใครเป็นบิดา ใครจะรู้ ไม่มีการรู้อะไรเลย นอกจากจำ แล้วก็จำสิ่งที่ปรากฏ จำได้เมื่อไร รู้ไหมว่า อะไรเป็นอะไร แม้แต่คำ กว่าจะพูดได้แต่ละคำ ต้องเกิดจากการจำ

    ได้ยินเสียง วันหนึ่งๆ สำหรับเด็กที่เกิดมากว่าจะโต ก็เยอะ ที่บ้าน คนนี้ก็พูด คนนั้นก็พูด เสียงโน้นก็มี เสียงนี้ก็มี แต่กว่าจะเข้าใจความหมาย และค่อยๆ ชิน และค่อยๆ รู้ว่า เสียงนั้นหมายความถึงอะไร ก็ยังต้องใช้เวลาในชาติหนึ่งที่จะจำ และเข้าใจว่า เป็นสิ่งใด แล้วจะให้จำใหม่ เข้าใจใหม่ว่า กว่าจะเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นจริงๆ ก็จะต้องเหมือนเด็กที่เพิ่งเริ่มเกิด โดยขณะนั้นก็ยังไม่รู้ และกว่าจะรู้ว่าเป็นอะไร ตามประสาเด็กก็คือว่า เพียงแต่จำรูปร่างสัณฐาน แต่ว่าถ้าได้ฟังธรรมแล้ว กว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจ และอบรม จะไม่มีการเพียงฟังแล้วก็รู้ โดยไม่มีการค่อยๆ อบรมเพื่อละความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อยเลย

    ด้วยเหตุนี้จะเข้าใจความหมายของคำว่า “อดทน” ไหม เป็นบารมี หรือไม่ ขันติบารมี ถ้าไม่มีความอดทนที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจากการฟังแล้วฟังอีก เริ่มเข้าใจทีละน้อยๆ จนค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะรู้ไหมว่า เริ่มแล้วเข้าใจแล้วจากการที่ครั้งแรกๆ เหมือนเด็กที่เพิ่งเกิดมาเห็นแล้วก็ยังไม่รู้ แต่กว่าจะจำได้

    เพราะฉะนั้นอาศัยการฟังแล้วฟังอีก แล้วเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ก็จะรู้ว่า วันหนึ่งก็เริ่มจะสามารถละการที่เคยยึดถืออย่างเหนียวแน่น มั่นคงว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยั่งยืน จนกระทั่งละความติดข้อง เมื่อไรที่ละความติดข้อง เมื่อนั้นก็สามารถประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้

    นี่พูดอย่างสั้นๆ มากเลย แต่ทุกคนก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างนั้น หรือไม่ ถึงระดับนั้น หรือยัง หรือขณะนี้เป็นขณะที่มีโอกาสได้ฟังธรรม ต้องรู้ด้วยว่า ฟังธรรมคือฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ต่างกับขณะอื่นๆ แล้วขณะต่อไปใครจะรู้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร จะได้ฟัง หรือไม่ได้ฟังต่อไป จะฟังเรื่องอะไร จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่เป็นขณะที่สามารถเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการสะสมความเห็นถูก ซึ่งยากที่จะเกิดได้ ถ้าไม่มีการไตร่ตรอง หรือการเห็นประโยชน์ และมีความอดทนจริงๆ อดทนอย่างอื่นยังอดทนได้ เคยอดทนหิวไหม เคยอดทนเหนื่อย เคยอดทนร้อน เคยอดทนอย่างอื่น ก็อดทนที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งมีประโยชน์มากกว่า ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นธรรมที่สามารถอดทนได้ เป็นวิริยะ เป็นขันติ

    อ.กุลวิไล ท่านอาจารย์กล่าวว่า ค่อยๆ คุ้นกับสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ใช่คน สัตว์ สิ่งของ อันนั้นเราคุ้นกันมานานแล้ว แต่คุ้นกับสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน ก็คือสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมนั่นเอง ก็ไม่พ้นจิต เจตสิก และรูป ท่านอาจารย์ได้ยกตัวอย่างถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา เราคุ้นเคยกับคน สัตว์ สิ่งของมากมาย แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นไม่ใช่คน สัตว์ สิ่งของ เพราะคือสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น เพราะฉะนั้นลักษณะของรูปไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

    ผู้ฟัง ในขณะเรามีกิริยาจิตอยู่ ๒ ดวง กิริยาจิตก็สามารถเป็นกุศล และอกุศลได้ ตามการสะสมที่เราฟังธรรม ถ้าไม่ฟังธรรมก็จะเป็นอกุศลตลอดเวลา แต่ฟังธรรมก็จะเป็นทั้งกุศลได้ ถ้ามีกำลังก็สามารถเป็นอริยบุคคลได้ สังเกตดูเหมือนกับจิตที่เกิดต่อจากกิริยาจิต ๒ ดวงนี้จะเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นจิตนิยาม หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นพื้นฐานพระอภิธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง คงไม่ใช่ อยากจะถามให้มีความเข้าใจขึ้นเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะนี้มีกุศลจิต และอกุศลจิตไหม เป็นพื้นฐานพระอภิธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง มี เป็นพื้นฐาน

    ท่านอาจารย์ สามารถเข้าใจได้ในขั้นการฟัง เพราะมีจริงๆ เราจะพูดถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อจะให้รู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่เรา เพราะว่าปกติธรรมดา ขณะที่คุณชุณห์กำลังถาม ก็เป็นตัวคุณชุณห์ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตจะเกิด หรืออกุศลจิตจะเกิด ก็เป็นเรา แต่ว่าวันหนึ่งๆ นอกจากจิตเห็น จิตได้ยิน ก็ยังมีกุศลจิต และอกุศลจิตด้วย

    เพราะฉะนั้นพื้นฐานก็คือสามารถเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่ไปนึกถึงเพียงคำ แต่ขณะใดที่เกิดอกุศล เกิดโกรธ เกิดขุ่นใจ ลักษณะนั้นมีแล้ว ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่ไปอยู่ในตำรา แล้วจะไปเรียกว่าเป็นพื้นฐาน แต่พื้นฐานจริงๆ คือ กำลังมี แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม และไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นจากการฟังก็เพื่อที่จะให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในสภาพธรรมที่ปรากฏ มิฉะนั้นคุณชุณห์จะคิดถึงเรื่องการเกิดดับสืบต่อของจิต แต่ไม่รู้ลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ผิดเลยในการที่จะรู้การเกิดดับสืบต่อของจิต เพราะว่าจิตเกิดดับสืบต่อเร็วอย่างนั้นจริงๆ ให้เห็นว่า ปัญญาของแต่ละคนน้อยขนาดไหนที่จะไปรู้จากการที่ภวังคจิตขณะสุดท้ายดับ ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ นี่เป็นชื่อ แต่ขณะนี้เป็นอย่างนั้น แต่ไม่สามารถรู้ได้

    ด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงรู้ว่า แม้จะได้ฟังธรรมโดยละเอียดเพียงใดก็ตาม เพื่อให้มีความเข้าใจถูก ความเห็นถูกว่า เป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่การจะไปประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปัญจทวาราวัชชนะ หรือเป็นจิตที่เกิดดับสืบต่อกัน ขณะนี้จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน ประมาณไม่ได้เลย แล้วเราจะไปนั่งเรียกถึงปัญจทวาราวัชชนะ ภวังคุปัจเฉทะ มโนทวารวัชชนะ หรือว่าขณะนี้มีจิตซึ่งเกิดทำหน้าที่ที่สามารถรู้ในสภาพที่เป็นจิต ไม่ใช่เรา

    นี่คือจุดประสงค์ที่จะต้องค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง มิฉะนั้นการศึกษาเรื่องราวของธรรมทั้งหมดเป็นโมฆะ เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจว่า ขณะนี้เองเป็นตัวธรรม ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเป็นห่วงเรื่องของการที่ขณะนั้นเกิดเป็นอะไร ขณะนี้เกิดเป็นอะไร ด้วยการคิดนึก แต่ถ้าฟังแล้วคุณชุณห์เข้าใจไหมว่า เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ จิตต้องเกิดดับอย่างนั้น จบไปแล้วเรื่องความเข้าใจวิถีของจิตว่า จิตจะต้องเกิดดับอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้เข้าใจอะไรได้

    ผู้ฟัง คือตามที่อาจารย์อธิบายมาผมก็เข้าใจตามอาจารย์ว่า ต้องเป็นอย่างนั้น แต่เพื่อที่จะให้เข้าใจดีขึ้น ก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่า จิตที่ต่อจากกิริยาจิต ๒ ดวงเป็นกุศล หรืออกุศล เป็นแต่เพื่อให้เข้าใจ แค่นั้นเองว่า ทำไมคนไม่เรียนธรรมก็จะมีแต่อกุศลจิตตลอด แล้วเรียนธรรมเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลได้

    ท่านอาจารย์ คุณชุณห์ต้องไม่ลืมคำพูดเมื่อกี้นี้ว่า คนที่ไม่เรียนธรรมมีแต่อกุศลตลอด

    ผู้ฟัง คือส่วนใหญ่จะเป็นอกุศลตลอด

    ท่านอาจารย์ มีกุศลก็ได้ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเราเรียนธรรม โอกาสที่จิตที่ต่อจากกิริยาจิต ๒ ดวงเป็นกุศลได้ และได้ประโยชน์ตรงนี้ เพราะมันเปลี่ยนได้

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ตรงนั้นคือเข้าใจว่าเป็นอนัตตา กับประโยชน์ตรงนี้ที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ประโยชน์ตรงนี้ดีกว่า

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าต้องอาศัยประโยชน์ตรงนั้น

    ผู้ฟัง ใช่ เพื่อความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจสภาพธรรมจากการฟัง จะมีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่เอามานึกถึง

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ เพียงแต่เพื่อเสริมความเข้าใจให้ดีขึ้นเท่านั้นเอง ก็เลยสงสัยอยู่แค่นี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็นแล้ว ใช่ไหม หลังเห็นเป็นอะไร เห็นดับไปแล้ว เดี๋ยวนี้ ทุกคนรู้ว่า เห็นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นขณะนี้เห็นแล้ว ต่อจากเห็นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็แค่รู้ครับ

    ท่านอาจารย์ คุณชุณห์ก็กล่าวว่า กุศล และอกุศล ทั้งๆ ที่จิตเป็นกุศล และอกุศล ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นการที่จะรู้ได้ทันทีไหม หรือว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะของจิต มีจิตอยู่ตลอดเวลา เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นเห็น เกิดขึ้นได้ยิน เกิดขึ้นคิดนึก ก็ยังไม่เข้าถึงลักษณะของธาตุซึ่งเพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ ก็คือว่า ขณะนี้มีสิ่งใดปรากฏ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยการได้ยินได้ฟังเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ และความเข้าใจในสิ่งนั้น ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ไม่ต้องไปเข้าใจจิต ในขณะที่จิตไม่ปรากฏ เพราะเป็นไปไม่ได้ ไปนึกถึงชื่อต่างๆ โดยที่ชื่อต่างๆ เหล่านั้นก็ไม่ได้ปรากฏ แต่จากการศึกษาความละเอียดของการเกิดดับสืบต่อของจิต และเจตสิก และปัจจัยต่างๆ ก็ทำให้เห็นความจริงว่า สภาพธรรมไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ มีปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพื่อระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็นว่า ขณะนี้เกิดแล้ว ต้องบอกไหม เพราะปัจจัยอะไร ไม่ต้อง หรือว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ไม่ต้องบอก

    ท่านอาจารย์ แน่ใจไหม

    ผู้ฟัง เพราะปัจจัยมีอยู่แล้ว เดี๋ยวจะตอบอาจารย์ใหม่ว่าเห็นแล้วเป็นอะไร เห็นแล้วก็จะเป็นกุศล หรืออกุศลตามมาทันที

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงตอบอย่างนี้

    ผู้ฟัง เพราะมีการสะสมมา

    ท่านอาจารย์ เพราะได้ยินได้ฟัง แต่ยังไม่รู้ลักษณะของกุศลจิต หรืออกุศลจิตซึ่งเกิดต่อ

    เพราะฉะนั้นมีความเข้าใจหลายระดับขั้น ขั้นฟังเข้าใจ เข้าใจได้แน่นอนว่า หลังจากเห็นแล้วต้องเป็นกุศล หรืออกุศล นี่ถูกต้อง แต่เดี๋ยวนี้ เห็นแล้วก็ไม่รู้ว่า จิตที่เกิดต่อเป็นกุศล หรืออกุศล

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า พื้นฐานของพระอภิธรรมต้องมั่นคง เพื่อเห็นถูกในสภาพธรรมซึ่งเกิดต่อ เลือกได้ไหม จะรู้กุศล หรืออกุศล หรือเห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึก

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะเลือกเลย ถ้าใครคิดจะเลือกขณะใด เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ เป็นความเห็นผิดว่าเป็นเราที่สามารถเลือกได้ เพราะฉะนั้นกว่าจะเห็นถูกจริงๆ คือเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้ว

    อ.กุลวิไล ตอนที่ท่านอาจารย์ได้ถามคุณชุณห์ว่า ฟังเพื่อให้เข้าใจพื้นฐานพระอภิธรรม หรือมีพื้นฐานพระอภิธรรมก่อนมาฟัง ท่านอาจารย์ช่วยขยายความด้วย

    ท่านอาจารย์ คุณชุณห์เพิ่งเคยได้ยินคำว่า อภิธรรม หรือเคยได้ยินมานานแล้ว

    ผู้ฟัง เคยได้ยินมานานแล้วครับ ที่ถามก็เกี่ยวกับพื้นฐานตรงนี้ หมายความว่า พื้นฐานพระอภิธรรมก็คือ จิต เจตสิก รูป ผมก็เข้าใจว่า ถ้าเราสามารถรู้ว่า รูปมีกี่รูป จิตมีเท่าไร เจตสิกมีอะไรบ้าง เวลามาฟังธรรมที่อาจารย์พูดถึงจิต เจตสิก รูป เราก็จะเข้าใจสิ่งเหล่านั้น ก็จะช่วยให้เราเข้าใจธรรมได้ดีขึ้น ผมเข้าใจว่าอย่างนี้เป็นพื้นฐาน แต่อาจารย์นิภัทรก็สอนว่า การฟังธรรมไปเรื่อยๆ ก็คือพื้นฐาน ฟังให้เข้าใจ ฟังแล้วตั้งใจฟัง สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็ต้องพิจารณาเอาเองว่า จะเข้าใจได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ขอให้ทุกคนร่วมกันพิจารณา ประโยชน์ของการฟังธรรม ไม่ใช่เฉพาะในวันนี้ กี่วันมาแล้วก็ตามที่ฟัง หรือต่อไปอีกกี่วันก็ตามที่ฟัง จนจากโลกนี้ไป ประโยชน์จริงๆ จากการฟังนั้นคืออะไร อีก ๑๐ ปีคุณชุณห์จะจำคำปฐมภยสูตรได้ไหม เมื่อวานนี้อาจจะพอนึกออก เพิ่งผ่านมา พอถึงวันนี้ก็จำได้บ้าง

    เพราะฉะนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ก็ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า เพื่อให้เข้าใจธรรมที่มีจริงๆ เพราะว่าตลอดเวลาเป็นธรรมทั้งหมด แต่ไม่เคยเข้าใจว่าเป็นธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคิดว่า เราจะต้องจำเรื่องนั้น เรื่องนี้ไว้มากมาย โดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ นั่นจะเสียประโยชน์มาก

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือว่า เมื่อมีธรรมเกิดขึ้น ปัญญาสามารถเห็นถูกว่าเป็นธรรมจากการฟัง แล้วก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจในความเป็นธรรม และความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ลืมแล้วว่าเป็นธรรม ทั้งๆ ที่กำลังฟังธรรม แล้วก็แม้ว่าธรรมขณะนี้เป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ก็ลืมด้วย แต่ฟังเรื่องราวของธรรมมากมาย จากพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่เพียงฟังแล้วจำ แต่ฟังเพราะรู้ว่า มีธรรมที่ปรากฏ แล้วก็ยังไม่ได้เห็นความเป็นธรรม แล้วก็ยังไม่เห็นความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้จะฟังอะไรทั้งหมด เพื่อน้อมสังขารขันธ์ปรุงแต่ง น้อมไปที่จะเห็นว่า ขณะนี้เป็นธรรมแต่ละลักษณะ แล้วก็มีความเข้าใจลักษณะของธรรมเพิ่มขึ้น นั่นคือจุดประสงค์ของการฟัง เพราะฉะนั้นก็คือว่าฟังอะไรก็ได้ แต่ว่าขณะนี้เป็นธรรม แล้วเข้าใจในความเป็นธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่เหมือนๆ กับว่า ฟังอย่างไรก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องพยายามที่จะให้เข้าใจ หาทาง หรือหาวิธี หรือมีรูปแบบขึ้นมา จริงๆ แล้วก็คือต้องฟังอาจารย์ไปเรื่อยๆ แล้วก็สนทนาเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่อาจารย์กล่าว

    ท่านอาจารย์ กำลังหาทางนั้นเป็นสภาพธรรม หรือไม่ (เป็น) แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นกุศลก็มีหลากหลาย ที่เป็นอกุศลก็หลากหลาย แต่ไม่รู้ จนกว่าจะฟังแล้วเข้าใจ

    ผู้ฟัง ใช่ วันก่อนได้กล่าวบอกผมว่า ถ้าฟังให้เข้าใจได้ เป็นพระอรหันต์ก็ยาก

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมยาก

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจสักที

    ท่านอาจารย์ เพราะอวิชชามาก

    อ.กุลวิไล อาจารย์วิชัยช่วยอธิบายถึงสาระประโยชน์ของการมีพื้นฐานพระอภิธรรม กับการศึกษา

    อ.วิชัย ก็ต้องทราบจุดประสงค์ของการฟัง เพราะเหตุว่าการฟังพระธรรมก็เพื่อเข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้นการฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ก็หมายความว่า ขณะนั้นสามารถเข้าใจได้ โดยที่ไม่ต้องกล่าวเลยว่า เป็นพื้นฐาน หรือไม่ใช่พื้นฐาน แต่ขณะใดก็ตามที่ฟังแล้วสามารถเข้าใจสิ่งที่มีจริงให้ถูกต้องมากขึ้น ให้เข้าใจมากขึ้น อันนั้นคือจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจพระธรรมจริงๆ ก็จะไม่มีทางคิดได้เลยว่า จะแสวงหาทางอื่น หรือมีวิธีต่างๆ แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นปัญญาที่เข้าใจถูก ปัญญานั้นสามารถปรุงแต่งให้มีความคิด หรือความเห็นที่ถูกต้องว่า ขณะไหนก็ตามที่มีความพยายามโดยไม่รู้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา แต่ขณะใดก็ตามที่ฟัง แล้วมีความเข้าใจที่ถูกต้อง หมายความว่าสามารถเข้าใจในสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจมากขึ้น อันนั้นเป็นปัญญาที่เกิดจากการฟังที่ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะเหตุว่าต้องเข้าใจถึงสภาพของปัญญาว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่สามารถเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่จู่ๆ แล้วจะเกิดขึ้น แล้วเกิดแล้วสามารถแทงตลอดได้ทันที แต่เป็นหนทางที่ค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้นบางบุคคลก็ฟังนาน มากน้อยก็แตกต่างกัน อันนี้ก็ให้เห็นว่า แม้ขณะนี้เองสามารถเข้าใจได้ไหม ก็คือขณะนี้สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นความเข้าใจที่เข้าใจขึ้นไหม หรือยังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็ต้องรู้ว่า ไม่มีหนทางอื่น แต่ต้องฟังด้วยการพิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดมากขึ้น

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการศึกษาธรรม โดยเฉพาะอภิธรรม ลึกซึ้งมาก ไม่ใช่เพื่อจะพูดได้ ท่องได้ บอกจำนวนได้ ชื่อของจิต เจตสิกมากมาย รูปเยอะแยะเลย แต่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งท่านอาจารย์ก็จะเน้นอยู่เสมอสำหรับจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเข้าถึงความเป็นอนัตตา และที่สำคัญที่สุดต้องเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสด้วย แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้วอกุศลเต็มไปหมด ก็เป็นหนทางที่ผิด

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงพระไตรปิฎก ก็มีพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ทั้งหมดเป็นธรรม แต่ความต่างกันก็คือ พระวินัยปิฎกเกี่ยวเนื่องกับความประพฤติทางกาย ทางวาจาของเพศบรรพชิตเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีเรื่องอื่นด้วย และก็จะขาดธรรมไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้ามีเพียงวินัย แต่ไม่มีความเข้าใจธรรม บุคคลนั้นก็ไม่สามารถดำรงอยู่ในเพศบรรพชิตได้ เพราะเหตุว่ายังมีกิเลสอยู่

    สำหรับพระสูตรก็เป็นเรื่องราวของสภาพธรรมในครั้งนั้น และในครั้งก่อนนั้น คือ ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็มีเรื่องชาตกะ หรือชาดก ซึ่งเป็นการเกิดขึ้นเป็นไปของบุคคลสืบเนื่องมาจากชาติก่อนๆ นั่นก็เป็นเรื่องธรรมด้วย ถ้าไม่มีธรรม ก็ไม่มีบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น แต่พอถึงพระอภิธรรม แสดงถึงความละเอียดของธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงอริยสัจ ๔ โดยไม่เข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ เป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ หรือสามารถเข้าใจได้ไหม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ก.ย. 2567