พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 480


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๘๐

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ผู้ฟัง วัตถุประสงค์ของการเข้าใจว่าทุกข์ อยู่ตรงไหน เพราะจริงๆ แล้วถ้าปัญญารู้ และเข้าใจว่า ทุกสิ่งเป็นธรรม เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป แล้วก็ไม่เที่ยง และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย คือในความรู้สึกว่าไม่ใช่ทุกข์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ คุณสุกัญญาเกิดมาแล้วไม่เคยมีทุกข์ หรือมีบุคคลซึ่งเป็นที่รัก มีของซึ่งเป็นที่รักพลัดพรากจากไป หรือประจวบพบคนที่ไม่รัก ไม่ชอบใจ เคยมีไหมคะในชีวิต

    ผู้ฟัง มีหมดเลยที่ท่านอาจารย์กล่าว

    ท่านอาจารย์ เป็นทุกข์ หรือเป็นสุข

    ผู้ฟัง เป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ เริ่มรู้จักทุกข์ประเภทหนึ่ง คือ ขณะใดก็ตามที่พลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ หรือขณะใดก็ตามที่ประจวบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นทุกข์

    เกิดมาแล้วอยากตายไหมคะ

    ผู้ฟัง เวลาทุกข์ อยากตาย แต่พอถึงจุดๆ นั้น พอดีเป็นพยาบาล ก็เห็นว่า ทุกคนไม่อยากตายจริง พอถึงจุดๆ หนึ่งที่ต้องเสียชีวิต ก็ดิ้นรนที่จะอยู่กันทุกคน

    ท่านอาจารย์ ที่ถามเพราะเหตุว่าวันนี้ยังไม่คิดที่จะตาย ตั้งแต่ตื่นมา ก็มีเห็น ก็คิดจะทำนี่ ทำโน่น คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ได้คิดที่จะตาย แต่ก็ต้องตาย ชอบไหมคะที่จะต้องตาย

    ผู้ฟัง ไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ เป็นทุกข์แล้วใช่ไหมคะ แต่ต้องตาย แต่ถ้ารู้ความจริงว่า แม้ตายก็เป็นธรรม เกิดก็เป็นธรรม เห็นก็เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมซึ่งมีปัจจัยก็เพียงเกิดแล้วดับ แล้วหมดไป แล้วไม่กลับมาอีกเลย ไปหาคุณสุกัญญาตอนที่ยังเล็กๆ ได้ไหมคะ ความรู้สึกสนุกสนานตอนเป็นเด็ก หายไปไหน เมื่อวานนี้เอง หายไปหมดแล้ว เมื่อกี้นี้เองก็หมด ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ จะเป็นทุกข์ไหม เพราะเหตุว่าไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นอย่างนี้ ไม่หวังว่าจะเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ แต่ถ้ารู้ตามความเป็นจริงจริงๆ ใครบังคับบัญชาโลกนี้ได้บ้าง ทั้งโลกเลย ใครบังคับบัญชาประเทศไทยได้บ้าง ใครบังคับบัญชาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงวงศาคณาญาติได้บ้าง บังคับตัวเองได้ไหม ก็ยังไม่ได้ เพราะเป็นธรรม ก็เริ่มจะเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ธรรมหลากหลายมาก มีทั้งธรรมที่เป็นฝ่ายดี มีทั้งธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่สามารถมีความเห็นถูกว่า เป็นธรรม แล้วไม่ใช่เรา จะเดือดร้อนไหมคะ เพราะไม่มีเรา ความรู้สึกไม่ชอบเกิดแล้วก็หมดด้วย ไม่ยั่งยืน มีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเที่ยง ที่เกิดแล้วไม่ดับบ้างไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ถ้าพลัดพรากจากคนที่เป็นที่รัก จะเดือดร้อนไหม เป็นธรรมดา หรือเปล่า พลัดพรากมาแล้วนานเท่าไร ชาติก่อนๆ ก็พลัดพรากจากชาติก่อนหมดเลย ไม่เหลือเลย ชาตินี้ก็พลัดพรากอยู่ทุกขณะ จนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย ซึ่งไม่เหลืออีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็พลัดพรากโดยตลอด เดือดร้อนไหมคะ ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า เป็นธรรมซึ่งต้องเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น

    เพราะฉะนั้นเป็นสัจจะ เป็นความจริง และความจริงนั้นก็คือทุกข์แน่นอน เพราะเหตุว่าเพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืนเลย

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ขยายความที่ว่า ฟังธรรมแล้วประพฤติปฏิบัติตาม จริงๆ แล้วก็ไม่มีตัวตนที่จะไปทำ แต่เป็นสังขารขันธ์ที่เข้าใจธรรม แล้วประพฤติปฏิบัติตามที่ฟังเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ พูดชื่อได้ แต่ว่าเข้าใจจริงๆ ในขณะที่ได้ฟัง หรือเปล่า ขณะที่กำลังฟังว่า ไม่มีเรา ที่เข้าใจว่าเป็นเรา ก็เป็นธรรม ถ้าไม่มีธรรมเกิดเลย จะมีเรา จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่ที่ไหน ก็มีไม่ได้ แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ จึงเข้าใจว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม เข้าใจอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะสงสัยอะไรไหม หลังจากฟังแล้ว อะไรจะเกิดก็มีปัจจัยที่จะเกิด จะทำตาม หรือไม่ทำตาม จะคิดอย่างไรก็ตาม ก็เป็นธรรมซึ่งเกิดแล้ว เกิดแล้วจึงได้ปรากฏว่า เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นที่ว่าฟังธรรมแล้วจะประพฤติปฏิบัติตาม ลองพิจารณาว่า ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ถ้าเข้าใจจริงๆ ถ่องแท้ ไม่ว่าขณะต่อไปจะเป็นอะไรก็เป็นธรรม จะคิดอย่างนี้ หรือจะคิดอย่างอื่นก็เป็นธรรม เพราะเข้าใจธรรม แต่เวลาที่ฟังเข้าใจธรรม ขณะที่ฟัง แล้วจะประพฤติปฏิบัติตาม ขณะที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เป็นธรรม หรือเป็นเรา

    ผู้ฟัง เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแสดงว่า เข้าใจธรรม หรือเปล่าว่า ฟังแล้วแน่ใจว่า เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นแล้วแต่อะไรจะเกิด ก็เป็นธรรมทั้งหมดเลย จะคิดว่า จะประพฤติปฏิบัติตาม ขณะนั้นเป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็น แต่ไม่รู้จึงถาม ใช่ไหมคะ แต่ถ้ารู้จริงๆ ก็คือไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยทั้งสิ้น เมื่อระลึกได้ เมื่อเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างที่ปรากฏเพราะเกิดแล้ว แล้วก็เป็นธรรมด้วย ซึ่งไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ ฟังแล้วไม่ได้คิดว่า จะประพฤติปฏิบัติตามได้ไหม ไม่ได้คิดอย่างนี้ได้ไหม ได้ เพราะฉะนั้นคิดก็เป็นธรรม แล้วแต่จะคิดอะไร คิดอย่างนี้ได้ไหม คิดแล้วไม่ทำได้ไหม ทั้งหมดเป็นธรรม นี่คือเข้าใจจริงๆ อย่างถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นการได้ฟังธรรมเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจยิ่งขึ้นในความเป็นธรรม อย่างเรื่องธาตุที่กล่าวถึง ฟังแล้วผ่าน ตอนนี้ทุกคนจำได้ ทั้งหมดเป็นธาตุ จำแนกง่ายๆ ไม่ยาก คือ รวมเป็น ๓ ธาตุ คือ ธาตุเลว ไม่ใช่ใคร ธาตุปานกลาง ก็เป็นธาตุ ธาตุประณีตก็เป็นธาตุ ขณะนี้มีรูปปรากฏทางตา เป็นธาตุอะไร

    เห็นไหมคะ ไม่ใช่เพียงฟังแล้วเข้าใจแล้วว่า ถ้าไม่ใช่อกุศลธรรมก็ไม่ใช่ธาตุเลว และถ้าไม่ใช่โลกุตตรธรรม ก็ไม่ใช่ธาตุประณีต

    เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ เป็นธาตุอะไรคะ

    ผู้ฟัง เป็นธาตุปานกลาง

    ท่านอาจารย์ แน่ใจนะคะ อะไรเป็นธาตุปานกลาง

    ผู้ฟัง ทั้งเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธาตุปานกลาง จิตเห็นไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้นก็เป็นธาตุปานกลาง เห็นแล้วชอบเป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง ธาตุเลว

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมคะว่า มีทั้งปานกลาง และมีทั้งเลว ยังไม่ถึงประณีต เพราะฉะนั้นจากธาตุปานกลางซึ่งมี และมีธาตุเลวเกิดขึ้นยินดีพอใจ อย่างรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นธาตุอะไรคะ

    ผู้ฟัง ธาตุปานกลาง

    ท่านอาจารย์ พอใจในรูป เป็นธาตุอะไร

    ผู้ฟัง ธาตุเลว

    ท่านอาจารย์ พอใจในเสียง

    ผู้ฟัง ธาตุเลว

    ท่านอาจารย์ พอใจในกลิ่น

    ผู้ฟัง ธาตุเลว

    ท่านอาจารย์ พอใจในรส

    ผู้ฟัง ธาตุเลว

    ท่านอาจารย์ พอใจในสิ่งที่กระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง ธาตุเลว

    ท่านอาจารย์ เยอะไหมคะ ปานกลางก็คือปานกลาง เป็นรูป แต่แค่รูป เพียงรูป ธาตุเลวก็ยังติดข้องมากมาย มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน นรก ไม่ว่าเกิดที่ไหนในภพภูมิที่มีธาตุปานกลาง คือ รูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจด้วย ธาตุเลวก็เกิดขึ้นพอใจ ไม่เว้น มีใครเว้นบ้าง ไม่พอใจ ไม่ติดข้องในรูป ไม่มีใช่ไหมคะ ตลอดเวลาที่ปรากฏให้เห็น

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เห็นโทษของรูป ลองคิดดู ต้องการรูป ชอบรูป พอใจรูป รูปมีโทษแค่ไหนคะ มีโทษ หรือไม่มีโทษ เพราะรูปก็เป็นแต่เพียงธรรมซึงมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป เลือกให้ได้รูปที่น่าพอใจ เลือกไม่ได้ เปลี่ยนรูปที่ไม่น่าพอใจให้เป็นรูปที่น่าพอใจไม่ได้ เพราะว่าทั้งหมดเป็นธาตุ แต่ลองคิดดูว่า ถ้าไม่มีรูป ดีกว่า หรือเปล่า ติดในรูปมากๆ เลย ไม่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นเทพ เทวดา เกิดเป็นรูปพรหม ก็ยังมีรูป แต่เห็นโทษของรูปไหม ถ้าไม่มีรูปเลย สบายไหมคะวันนี้ ตื่นมาต้องอาบน้ำไหม ถ้าไม่มีรูปเลย สบายมากค่ะ มีแต่นามธรรม ไม่ต้องหิว ไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องรัก ไม่ต้องชัง ไม่ต้องอยากได้ ไม่ต้องทุจริต ไม่ต้องทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อต้องการได้ธาตุปานกลางเพียงปรากฏ แต่เพราะไม่รู้ความจริงก็ทำให้ติดข้องมาก ลองคิดถึงผู้ไม่มีรูป เป็นไปได้ไหม เป็นไปได้ แต่ง่ายไหม ไม่ง่ายเลย จากการเป็นธาตุเลวตลอด กี่ภพกี่ชาติก็ธาตุเลว ติดข้องในอะไร แค่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏชั่วคราวจริงๆ ผ่านไปแล้วก็ไม่มีอีกเลยปรากฎเพียงขณะที่เกิด แล้วก็มีสภาพรู้ซึ่งเป็นธาตุเลวที่ติดข้อง แล้วสามารถเห็นโทษว่า ถ้าไม่มีรูป จะมีอะไรของเราไหม ทั้งตัวก็ไม่มี รูปของเราก็ไม่มี เดือดร้อนไหมคะ ไม่เดือดร้อนเลย จะเบาสบายแค่ไหน เพียงแค่ไม่มีรูป แต่ยังไม่เห็นโทษของรูป ยังคงต้องการรูป

    เพราะฉะนั้นอวิชชา ไม่รู้ไปหมดทุกอย่าง แล้วก็นำมาซึ่งความติดข้องต้องการทุกอย่าง เว้นโลกุตตรธรรม ไม่สามารถเข้าไปใกล้เลย เพราะว่าต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรม จนรู้แจ้งสภาพธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ แต่ทั้งหมดไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครสักคน เป็นธาตุ แล้วลองพิจารณาให้เข้าใจถูกต้อง เห็นธาตุโดยความเป็นธาตุ ไม่ใช่เรา ไม่มีการเข้าข้างตัวเองเลย ธาตุอย่างนี้เป็นอย่างนี้ แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ แล้วไม่ถึงการไม่มีรูปได้ แต่ถ้าสามารถ เบาสบายกว่า

    ด้วยเหตุนี้ต้องเป็นปัญญาที่เห็นโทษของรูปตามลำดับขั้น ตั้งแต่เห็นภัยของการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะว่า ชั่วขณะเล็กน้อย แต่นำความทุกข์มาให้มาก ใครทุกข์เพราะรูปบ้าง หรือไม่มี มี คงกำลังเป็นทุกข์มาก และรู้ว่า ขณะนี้กำลังเป็นทุกข์เพราะรูป ไม่ใช่รูปของคนอื่น รูปที่เคยเป็นเรา เคยเป็นทุกข์เพราะรูปนั้นไหม ก็เป็นทุกข์ แล้วจะเอาอะไรกับรูป มีแต่ทุกข์ ก็ไม่เห็น เพราะอวิชชาไม่สามารถเห็น แม้ธรรมปานกลาง ยังไม่ถึงธรรมเลว เพราะฉะนั้นธรรมเลวยิ่งร้ายกว่าธรรมปานกลาง หรือไม่ นี่คือธาตุตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นถ้าสามารถไม่ติดข้องในรูป แล้วเห็นโทษ มีความสงบจากการติดข้องในรูป สามารถถึงความสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เป็นรูปฌาน ก็ยังมีรูปเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้นปัญญาของผู้เห็นโทษของรูป เมื่อถึงรูปฌาน จึงเห็นว่า ถ้าไม่มีรูปเป็นอารมณ์ แม้จิตจะสงบเป็นอัปปนาสมาธิ ถึงขั้นปัญจมฌาน ขั้นสูงสุดของรูปฌาน แต่ก็ยังมีรูปเป็นอารมณ์ ต้องเป็นปัญญาจึงสามารถเห็นโทษของรูป ซึ่งแม้เป็นอารมณ์ ก็ยังใกล้ชิดกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งถ้าจิตไม่ใช่ฌานจิต ไม่สงบมั่นคงเมื่อไร ก็ต้องกลับมาสู่ธาตุเลว คือ เป็นธาตุที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้นเอง

    เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาสามารถเห็นโทษของรูปถึงขั้นปัญจมฌานแล้ว ก็อบรมเจริญความสงบยิ่งขึ้นได้ โดยไม่มีรูปเป็นอารมณ์ สงบมากไหมคะ และถ้าเกิดในภพภูมิที่เป็นอรูปพรหม ไม่มีรูปเลย ไม่มีวงศาคณาญาติที่จะต้องเดือดร้อน เป็นทุกข์ ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ เป็นอย่างไรคะ ดีกว่าไหม ดีกว่าการติดในรูปทั้งหมดเลย แต่เป็นไปได้ หรือเปล่า แล้วใครเป็นได้ แล้วใครเป็นไปไม่ได้ แต่ธรรมเหล่านั้นก็มีจริง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ไม่ใช่ให้เรา ด้วยความเป็นตัวตน พยายามที่จะเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่เริ่มเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ว่าจะถึงความเป็น

    อรูปพรหมบุคคล ไม่มีรูปที่จะทำให้เดือดร้อนเลยทั้งสิ้นในอรูปพรหมภูมิ แต่ก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ สู่ภพภูมิที่มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ พ้นไม่ได้เลย จนกว่าปัญญาจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลที่จะดับความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้นธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันแต่ละชาติมากมายหลากหลาย ใครทรงแสดงตามความเป็นจริง คนอื่นสามารถจะรู้อย่างนี้ได้ไหมถึงความเป็นธาตุเลว ธาตุปานกลาง และธาตุประณีต แต่ทรงแสดงเพื่อเกื้อกูลว่า ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น แต่ธาตุนั้นๆ ก็เป็นธาตุนั้นๆ แล้วก็สามารถเจริญอบรมจากธาตุเลวสู่ธาตุปานกลาง ซึ่งเป็นกุศล จนกระทั่งถึงธาตุที่ประณีตได้ แต่ก็ไม่ใช่ใคร เป็นแต่เพียงธาตุนั่นเอง

    ผู้ฟัง ขั้นการฟังก็คิดว่า ตนเข้าใจธรรมขั้นฟังบ้างพอสมควร ก็ขอกราบขอคำชี้แนะว่า เวลาที่เฝ้าไข้ และคนไข้ก็เรียนธรรมด้วย ควรปฏิบัติตนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้สึกว่าทุกคนจะหากฎเกณฑ์ ลืมว่าทำอะไรไม่ได้เลย แล้วแต่ขณะนั้นที่คิดก็คิดแล้ว ลืมว่า ทั้งหมดเป็นธรรมที่เกิดแล้วทั้งนั้น หมดแล้วด้วย หากฎเกณฑ์ คิด แต่ถึงเวลาจริงๆ จะเป็นอย่างนั้น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง หมายความว่า ถ้าเราอยู่ ณ ตรงนั้นก็เหมือนเกื้อกูลไม่ได้ หรือคะ

    ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจธรรม เราเข้าใจธรรม คนป่วยเข้าใจธรรม คนรอบข้างเข้าใจธรรม หรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจแล้วเพียงเอ่ยคำว่า “ธรรม” แล้วธรรมคืออะไร ก็ไม่รู้อยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นเรียนธรรม ฟังธรรม เพื่อเข้าใจธรรม ไม่ใช่ไปหวังพึ่งว่า ธรรมจะให้ผลเวลาป่วยไข้ ก็จะได้ไม่เดือดร้อนเพราะฟังธรรม จริงๆ ไม่ใช่หวังอะไรจากธรรม แต่ฟังเพื่อละความเป็นเรา ขณะนั้นๆ ลืมว่าเป็นธรรม จึงเดือดร้อน

    ผู้ฟัง ก็เหมือนผู้ป่วยถามแล้วจะให้เราตอบ ก็ตอบไม่ถูก ปวดมาก ทรมานแสนสาหัส ถามว่า ไม่ทราบจะทำอย่างไรดี จะให้ช่วยเตือนสติเพื่อระลึกเรื่องธรรม ก็ทำอะไรไม่ถูก หนูก็ได้แต่ถามว่า เข้าใจว่าเป็นธรรมไหม แค่นี้ค่ะ เขาบอกว่าไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ทัน นั่นคือเขา ไม่ใช่ธรรม ทางที่ดีที่สุด คงไม่มีอะไรเท่ากับคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเขาได้ยินได้ฟังในขณะนั้น ก็ยังคิดตาม เพราะว่าเราจะสรรหาคำอะไรที่จะตรงใจ ที่เดี๋ยวนี้ใช้คำว่า “โดนใจ” ที่ทำให้เขาระลึกได้ แต่พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงทุกกาล ไม่ว่าขณะนั้นจะป่วย จะเห็น หรือจะคิด หรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าเขาสามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เป็นประโยชน์กว่าคำอื่น แต่เราก็ช่วยไม่ได้ว่า เขาจะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ แต่เดี๋ยวนี้ก็มีหลายคนที่เข้าโรงพยาบาลพร้อมด้วยธรรม คือมีอุปกรณ์ฟังธรรมติดตัว จนกระทั่งนางพยาบาลก็หาใหญ่ว่าเสียงนี้มาจากไหน

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็เข้าใจผิดตอนที่คิดว่า ให้แยกกาย แยกจิต ก็เลยหลับสบายไปเลย ก็คือความคิดแล้วใช่ไหมคะที่เขาได้ยินอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ จะไม่ได้ยินคำนั้นจะหลับไหมคะ

    ผู้ฟัง เขาเข้าใจว่า คำนั้นทำให้เขาหลับ

    ท่านอาจารย์ ผิด หรือถูก

    ผู้ฟัง ก็น่าจะผิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นความเห็นผิดจะมีมาก จนกว่าความเห็นถูกจะเห็นถูกยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง หนูก็ทราบว่า การอบรม และฟังธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะแม้ฟังมา ๕ – ๖ ปีแล้ว ในภาวะปกติคิดว่าเข้าใจ แต่พอเจ็บป่วย ก็เห็นสภาพความเข้าใจธรรมน้อยมาก

    ท่านอาจารย์ ถ้าใครเข้าใจว่า พอพูดว่า แยกกาย แยกใจ ก็หลับได้ ต่อไปนี้ก็จะไปพูดกันเรื่อยๆ ใครนอนไม่หลับ ก็แยกกาย แยกใจ ใช่ไหมคะ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ใช่เหตุผล อย่างนั้นยานอนหลับก็คงขายไม่ได้

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า อริยสัจมีถึง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แม้ขั้นทุกข์ เราก็รู้เพียงตัวหนังสือ ยังไม่รู้ลักษณะจริงๆ ว่าเป็นทุกข์อย่างไร และจำเป็นไหมว่า เราจะเข้าใจขั้นต่อไปได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้กำลังไม่เข้าใจ ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นฟังแล้วก็เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ว่ายังไม่เข้าถึงลักษณะของทุกข์ที่เป็นปรมัตถธรรมจริงๆ ทีนี้อริยสัจที่ว่า มีถึง ๓ รอบ ทั้ง ๔ อย่าง แม้ ๑ รอบ อย่างเดียวก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นจะไปถึงความเข้าใจทั้งหมดได้ไหม ในเมื่อแม้อย่างเดียวยังไม่เข้าใจ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคำต้องละเอียด เมื่อวานนี้เราก็พูดถึง “นี้ทุกข์” มีใครว่า เดี๋ยวนี้นี้ทุกข์บ้าง ขณะนี้นี้ทุกข์ อะไรเป็นทุกข์

    ทีนี้เราจะผ่านคำว่า “นี้ทุกข์” ไป โดยไม่ย้ำให้เข้าใจว่า “นี้” ไหน เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง นี้ คือสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ต้องชี้ชัด ใช่ไหมคะ นี้คือหนึ่ง หรือหลายอย่าง

    ผู้ฟัง หนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เอง ไม่ใช่เมื่อวาน ไม่ใช่เมื่อกี้นี้ และไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น “นี้ทุกข์”

    ผู้ฟัง ก็เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเห็น เป็นสิ่งที่ยังไม่รู้ว่า เป็นทุกข์ ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “นี้ทุกข์” เพราะฉะนั้นขณะที่เห็น เห็นนี้แหละทุกข์

    ผู้ฟัง คือเข้าใจขั้นการฟัง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ อย่าเพิ่งไปถึงขั้นอื่น

    ผู้ฟัง พอถึง สมุทัย เราจำเป็นต้องเข้าใจขั้นการฟังด้วย หรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ สมุทัย ถ้าโดยชื่อ ทุกคนก็รู้ว่า คือโลภะ บอกได้ กี่ประเภท เกิดกับจิตกี่ชนิด บอกได้ แต่ไม่รู้จักตัวโลภะ เพราะฉะนั้นโลภะนี้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง โลภะก็เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เป็นสมุทัย รู้ไหมคะว่า โลภะเป็นสมุทัย ในเมื่อยังไม่รู้จักตัวโลภะ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมก่อน แล้วถึงจะเข้าใจอริยสัจจะตามลำดับ ยังไม่รู้จักทุกข์ แล้วจะไปรู้เหตุของทุกข์ได้ไหม

    ผู้ฟัง อย่างโลภะ ในชีวิตประจำวันก็เหมือนรู้จัก

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้รู้จักตอนไหนคะ

    ผู้ฟัง รู้จักตอนที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ค่ะ รู้จักโลภะ หรือยัง

    ผู้ฟัง ก็รู้จักขั้นการฟัง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาเห็นแล้ว โลภะเกิดต่อ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิดต่อ

    ท่านอาจารย์ โลภะเป็น “นี้” ที่กำลังติดข้อง หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ “นี้”

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจนกว่า “นี้ทุกข์” ก่อน

    ผู้ฟัง “นี้” ก็คือโลภะทุกข์ด้วยใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับเป็นทุกข์ทั้งหมด

    ผู้ฟัง แล้วลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏล่ะคะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ม.ค. 2567