พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 427


    ตอนที่ ๔๒๗

    ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงอริยสัจ ๔ โดยไม่เข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้เป็นประโยชน์ หรือว่าไม่เป็นประโยชน์ หรือสามารถเข้าใจได้ไหม เพราะฉะนั้นพื้นฐานก็คือว่า ความรู้เรื่องสิ่งที่มีจริงในขั้นต้น ยังไม่ต้องไปกล่าวถึงอิทธิบาท หรือโพธิปักขิยธรรม ปฏิจจสมุปปาท ในเมื่อสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ก็ยังไม่ได้เข้าใจเลย ได้ยินแต่ชื่อ ได้ยินแต่คำ จนกระทั่งส่วนใหญ่คิดว่า การฟังธรรมคือการฟังเรื่องต่างๆ โดยที่ไม่เข้าใจว่า เรื่องที่ได้ยินได้ฟังเป็นธรรมขณะนี้ หรือไม่ เช่น ความโกรธ ความขุ่นใจ สมัยไหน สมัยหน้า เดี๋ยวนี้ เป็นธรรม หรือไม่

    เพราะฉะนั้นการจะเข้าถึงความละเอียดของธรรมแต่ละคำ เช่น คำว่า “อายตนะ” ยังไม่รู้จักจิตขณะนี้เลย แต่จะไปเข้าใจความหมายของ “อายตนะ” ได้ไหม เป็นความเผินที่คิดว่าเข้าใจ เข้าใจชื่อ เข้าใจความหมาย แต่ตัวธรรมอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้เป็นอายตนะ หรือไม่ เดี๋ยวนี้เป็นปฏิจจสมุปปาท หรือไม่ เดี๋ยวนี้เป็นอริยสัจจะ หรือไม่ ก็ไม่สามารถรู้ว่า ฟังธรรมคือฟังอะไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ ฟังธรรมก็คือฟังให้เข้าใจสิ่งที่มีจริง เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ธรรมมีจริงเกิดแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นเลย

    ก่อนฟังธรรม มีใครรู้ความจริงของเห็น ของได้ยิน ของคิดนึก ของสุข ของทุกข์บ้างไหม ไม่มีเลย รู้แต่ว่า เป็นเราทั้งหมด เป็นเขาทั้งหมด เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งหมด แต่ไม่รู้ความจริงเลย ด้วยเหตุนี้ที่จะศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด คือความละเอียดของธรรมเพื่ออะไร จึงได้ทรงแสดงความละเอียดของธรรม เพราะว่ายึดถือสภาพธรรม ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้ นานแสนนานมาแล้วว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา ซึ่งไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ก็คือฟังธรรมโดยที่ผู้นั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เพื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ให้ถูกต้อง นี่คือประโยชน์ของการฟัง ไม่ใช่ไปจำชื่อ เรื่องราวต่างๆ มากมาย แล้วเข้าใจว่า ขณะนั้นกำลังศึกษาพระอภิธรรม โดยที่ไม่รู้จักว่า ธรรมคืออะไร

    เพราะฉะนั้นพื้นฐานของอภิธรรม ต้องมีตัวจริงๆ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน แล้วเริ่มเข้าใจว่า จริงๆ แล้วถ้าไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง ไม่มีทางเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่มีทางที่จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางเห็นพระคุณ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย และตลอดชีวิตที่เกิดมาแต่ละชาติได้อะไร หรือมีอะไรเหลือ จากชาติก่อนมีอะไรเหลือ ถ้าเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชาติก่อนก็ไม่เหลือ ชาตินี้ก็ไม่เหลือ ชาติหน้าก็ไม่เหลือ แต่จิตเป็นธาตุที่สะสมกุศล และอกุศล เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแต่ละภพแต่ละชาติเกิดจากอะไร สืบต่อมาได้อย่างไร จากจิต ๑ ขณะที่เกิดขึ้นเป็นไปแม้ดับแล้ว ก็สืบต่อสะสมไม่ได้ขาดสายเลยในแสนโกฏิกัปป์ เป็นเหตุให้แต่ละคนคิดต่างกัน พูดต่างกัน กระทำต่างกัน แม้แต่นั่ง นอน ยืน เดิน ก็ยังต่างกันด้วย นี่เป็นความละเอียดของธรรม

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จริงๆ ว่า จิตขณะนี้กำลังเกิดดับทำกิจต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ก็จะรู้ และสามารถเข้าใจถึงความหลากหลาย และความต่าง ความเป็นปัจจัย ความไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดของสภาพธรรม

    ด้วยเหตุนี้จึงข้ามไม่ได้ที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า การฟังธรรมเพื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการฟังธรรม จะรู้จักจิตไหม บอกแต่ว่ามีจิต เกิดมาแล้วเป็นสิ่งที่มีชีวิต ถ้าไม่มีจิต ก็มีชีวิตไม่ได้ มีแต่สิ่งที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย แต่ที่เป็นชีวิต มีการคิดนึก มีความสุข มีความทุกข์ได้ เพราะจิตเกิดขึ้น แต่ไม่รู้จิตเลย เหมือนกับความลึกลับที่สุด ทั้งๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจความจริงของสิ่งนั้น และถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพียงรู้คำ และเข้าใจว่า ตัวเองมีจิต ซึ่งไม่ใช่รูป แต่ก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่า จิตนั้นเป็นอะไร และไม่สามารถบอกได้ว่า อะไรคือจิตในขณะไหน เช่น เห็นในขณะนี้ ลองถามคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมว่า เป็นจิต หรือไม่ เขาจะบอกได้ไหม หรือว่าถามเขาว่า จิตอยู่ที่ไหน จิตกำลังทำอะไร เขารู้ว่า มีจิต แต่เขาตอบได้ไหมว่า จิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน และจิตกำลังทำอะไร เขาก็ตอบไม่ได้ ทั้งๆ ที่มี

    นี่คือความไม่รู้ ความไม่รู้เป็นสิ่งที่มีแน่นอน เมื่อมีจริงต้องตรงกันข้ามกับปัญญา ซึ่งเป็นสภาพที่สามารถเห็นถูก เข้าใจถูกในสิ่งซึ่งอวิชชา หรือความไม่รู้ ไม่สามารถเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้องได้ ด้วยเหตุนี้ประโยชน์ของการศึกษาธรรมคือรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วเริ่มเข้าใจตัวธรรม เพราะว่าฟังเพื่อเข้าใจธรรม ไม่ใช่ฟังเพื่อจำชื่อ

    อ.นิภัทร ความเข้าใจนี่สำคัญ ถ้าเราฟังแล้วไม่เข้าใจก็ไม่มีประโยชน์ แล้วความเข้าใจนี่ถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ ตามสภาพธรรมจริง เรื่องสติปัฏฐานจะไม่เกิดไม่ต้องห่วง ถ้าเข้าใจแล้วไม่มีทางที่จะไม่เกิด พื้นฐานไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย อยู่ที่ตัวเราแต่ละคนว่า เราจะเข้าใจธรรมที่มีอยู่มากน้อยแค่ไหนที่จะเป็นพื้นเป็นฐานให้สติปัฏฐานเกิดต่อไป

    อ.ธิดารัตน์ ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ มีปัญหากันมากเรื่องการเรียนเรื่องอายตนะ และการพิจารณาสภาพธรรม จะควบคู่กันไปได้อย่างไร ที่จะไม่ทำให้ติดในพยัญชนะ หรือไปจดจ้องเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขอสนทนากับคุณแอ๊วก่อนได้ไหม คุณแอ๊วพูดถึงเรื่องฟังกับได้ยิน ใช่ไหม อธิบายกันไปหมดแล้ว เข้าใจไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจ คุณแอ๊วทำเข้าใจ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ ใช่ไหม แต่คุณแอ๊วใช้คำว่า “ทำความเข้าใจ” และเวลาที่ไม่เข้าใจ คุณแอ๊วทำไม่เข้าใจ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ อาจจะใช้คำไม่ถูก แต่มีความเข้าใจในการฟังเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ฟังเข้าใจ เป็นคุณแอ๊วทำให้เข้าใจ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเข้าใจ

    ผู้ฟัง เพราะปัญญาทำหน้าที่ของเขา

    ท่านอาจารย์ เพราะสภาพธรรมเกิดทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ แม้ในขณะนี้เอง เห็น ก็ไม่มีใครทำ และหลังจากเห็นแล้ว คิดสารพัด ต่างคนต่างคิด ก็ไม่มีใครทำ ใช่ไหม ฟังธรรม จะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจ แต่เป็นสภาพของจิต และเจตสิก สิ่งที่จะต้องทำก็คือว่า ฟังเรื่องจิต ต้องเข้าใจเรื่องจิต ฟังเรื่องเจตสิก ก็ต้องเข้าใจเรื่องเจตสิก แม้ขณะที่ฟังเข้าใจก็ไม่ใช่เรา ก็ต้องเป็นโสภณธรรมขณะนั้นที่เข้าใจ ไม่รู้เลยว่า ไม่มีใครไปทำอะไรเลย สติเกิด หิริเกิด โอตตัปปะเกิด อโลภะเกิด อโทสะเกิด ตัตตรมัชฌัตตตา โสภณธรรมทั้งหลายเกิดในชั่ว ๑ ขณะนั้นเอง ทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ แต่เวลาที่ไม่เข้าใจ สติก็ไม่เกิด อโลภะ อโทสะ พวกนี้ก็ไม่เกิด อวิชชาเกิด ในขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน

    ด้วยเหตุนี้พื้นฐานคือเข้าใจจิตว่า ไม่ใช่เรา เข้าใจเจตสิกว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่พอฟังแล้วก็เป็นเราจะทำให้เข้าใจ แม้แต่เข้าใจ ก็ไม่มีใครไปทำ มนสิการเจตสิกเกิด โยนิโส หรืออโยนิโส พิจารณาโดยแยบคาย โดยถูกต้องตามความเป็นจริงที่ได้ยินได้ฟัง หรือว่าไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริงในขณะที่กำลังฟัง ด้วยเหตุนี้อย่างที่คำถามของคุณธิดารัตน์ที่ว่า การฟังมากๆ เป็นอย่างไร ทบทวนคำถามอีกที

    อ.ธิดารัตน์ การศึกษาชื่อ เรื่องราว เกื้อกูลการเข้าใจสภาพธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังเลย ไม่มีทางเข้าใจธรรมขณะนี้ได้ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้โดยคำ โดยคิด หรือโดยประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ โดยการประจักษ์ แต่เวลาที่จะให้คนอื่นรู้ถึงลักษณะหลากหลายที่ต่างกัน จำเป็นต้องใช้คำ และใช้คำที่คนอื่นก็ไม่สามารถบัญญัติได้ อย่างถูกต้องโดยประการทั้งปวง ที่จะเป็นความชัดเจน ซึ่งคนอื่นไม่สามารถทำได้ แม้ว่าจะรู้คำแปล แต่ก็ไม่สามารถใช้คำอธิบายกับผู้ที่เป็นพุทธเวไนย หรือว่าเป็นสาวกจะได้มีความเข้าใจในสิ่งนั้นๆ เมื่อได้ทรงเห็นความละเอียดของธรรมอย่างยิ่ง คำที่จะใช้ต้องมากไหม ต้องมาก ใช้คำเดียวพอไหม คือ "ธรรม" และก็จิต และเจตสิก และรูป เท่านั้นเอง ไม่มีใครสามารถเข้าใจได้ ด้วยพระมหากรุณาที่เห็นความลึกซึ้งของธรรม ก็จะต้องมีคำที่จะช่วยทำให้สามารถเข้าถึงลักษณะจริงๆ ให้เป็นความเข้าใจของผู้ฟังซึ่งเมื่อได้ยินแล้ว มีสภาพนั้นกำลังปรากฏ ให้สามารถเข้าใจความจริง หรือลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้

    นี่คือการฟังธรรม อย่างนี้จะขัดขวางต่อการรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมไหม ไม่เลย แต่ถ้าเพียงแต่ไปฟังชื่อ อยากจะจบคัมภีร์เล่มนั้นเล่มนี้ แต่ไม่รู้ว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของสภาพธรรม ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ตามความเป็นจริง อย่างนั้นจะไม่ทำให้มีความเข้าใจได้ว่าศึกษาอะไร

    เพราะฉะนั้นอันนั้นไม่ทำให้สามารถรู้ได้ แล้วก็หลงเข้าใจว่า ศึกษาธรรม แต่เมื่อไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วศึกษาอะไร ก็ศึกษาเรื่องราวเหมือนกับศึกษาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ประเทศต่างๆ ตั้งอยู่ที่ไหน มีจำนวนประชากรเท่าไร มีผู้คนทำอะไรบ้าง

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความเข้าใจถูกต้องในการศึกษาธรรม เกื้อกูลต่อการเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม เพราะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงชัดเจนว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่แม้ว่าจะพูดว่า ขณะนี้เป็นธรรม หรือว่าเห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม คิดนึกเป็นธรรม พูดไปฟังไป ๑๐ ปีก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของธรรม ก็ได้ ใช่ไหม ใครล่ะที่ไปทำให้รู้ มีใครทำได้ไหม หรือใครไปทำให้ยังไม่รู้ ก็ทำไม่ได้อีก แต่ทั้งหมดเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ฟัง อย่างท่านพระสารีบุตร ที่จะเป็นอัครสาวก ๑ อสงไขยแสนกัปป์ นานไหม แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่มีจริงขณะนี้ รู้ง่าย หรือรู้ยาก รู้ยากเพราะเขาบอก หรือเพราะฟังแล้วก็ยังไม่รู้ เพียงแต่เริ่มเข้าใจ นี่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะเกิดปัญญาของตนเองที่จะเป็นผู้ที่ตรง ธรรมเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่ใครจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้เลย ฟังเพื่อเข้าใจ แล้วจะกลายเป็นฟังเพราะอยากรู้คำมากๆ นั่นก็ผิดแล้ว

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ฟังเพื่อรู้ เพื่อละความไม่รู้ เพราะว่าก่อนฟังไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่ได้มุ่งจุดประสงค์ไปที่จะเข้าใจเยอะๆ หรือรู้แจ้งอริยสัจธรรม ในเมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้กำลังปรากฏแท้ๆ ก็ยังไม่เข้าใจถึงความเป็นธรรมว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ นี่เพียงนิดเดียว เล็กน้อย ที่ทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ก็มีจิตที่หลากหลายมาก

    ขณะนี้ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่า มีเห็น และจากการฟัง ก็เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ ถ้าใช้คำว่า “ธาตุ” หรือ “ธรรม” ก็ไม่เป็นของใครเลยสักคนเดียว ไฟที่ร้อนจะเป็นของใคร ดินที่แข็งจะเป็นของใคร ก็เป็นแต่ละธาตุฉันใด สภาพรู้ หรือธาตุรู้ มีปัจจัยก็เกิดขึ้นก็จะเป็นของใครไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น เห็น ๑ ขณะ ไม่ใช่เรา แต่เป็นอะไร เป็นธาตุรู้ ใช้คำในภาษาบาลี แต่ภาษาไทย ฟังแล้วคนไทยจะเข้าใจทันทีไหม ในความหมายของคำว่า “จิต” “วิญญาณ” สภาพรู้ หรือธาตุรู้ นอกจากอาศัยคำที่ซ้ำบ่อยๆ หลายๆ คำ และยังต้องค่อยๆ เข้าใจ ไม่มีใครไปทำ แต่จากการฟังเข้าใจ จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่สิ่งที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ขาดเลยทุกภพชาติ ก็เป็นสิ่งที่คัมภีร ลึกซึ้ง ที่จะเข้าใจได้ โดยอาศัยที่ว่าต้องใช้คำมาก แต่ในขณะที่รู้คำใด ต้องรู้จริง อย่างคำว่า “อายตนะ” ได้ยินแล้ว ต้องรู้ว่าอะไร ปฏิจจสมุปปาท ได้ยินแล้ว อย่าคิดว่า พูดตามก็ง่ายดี เรียงตามก็ง่ายดี อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ จำแค่นี้ก็ง่ายดี นี่คือไม่เข้าใจธรรม แล้วจะไม่เกื้อกูลด้วย

    เพราะฉะนั้นจะตั้งต้นที่ไหน จะตั้งต้นที่อริยสัจ ๔ ทุกขอริยสัจจะ อะไรเป็นทุกข์ ตอบได้ใช่ไหม สภาพธรรมที่เกิดดับเป็นทุกข์ อะไรเกิดดับ จิต เจตสิกเกิดดับ ก็ตอบได้ แต่จะเป็นการถึงอริยสัจจะ หรือการประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับนั้นในขณะนี้ หรือไม่

    เพราะฉะนั้นจากคำถามของคุณธิดารัตน์ ความรู้ในเรื่องของสภาพธรรม ถ้าเข้าใจในเรื่องนั้นถูกต้อง เพิ่มขึ้นมาก ก็จะเกื้อกูลทำให้ไม่เข้าใจผิดว่าเป็นตัวตน โดยการรู้ว่า ในขณะหนึ่งของจิตที่เกิดประกอบด้วยเจตสิก และเป็นปัจจัยต่อกัน และกันอย่างไร ชั่วขณะนิดเดียว ดับแล้ว ไม่กลับมาอีก ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะไม่ลืม และก็ค่อยๆ น้อมไปสู่การคลายความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะรู้ว่าเพียงชั่วคราว ชั่วขณะที่ปรากฏ แล้วไม่มีอีกเลย เพียงขณะที่ปรากฏเท่านั้น แล้วก็ดับหมดไป ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้ในขณะนี้เองสามารถที่จะค่อยๆ น้อมไปสู่ความจริงนี้ได้ นั่นก็เป็นการเกื้อกูล แต่ถ้าศึกษาโดยไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กี่ภพกี่ชาติ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง จากที่มาฟังพื้นฐานพระอภิธรรม สิ่งสำคัญคือจิต เจตสิก เพราะว่ารูปไม่รู้อะไร แต่ที่มีเรื่องราวบนโลกมากมายเพราะจิต เจตสิก ก็ยังคิดอยู่บ้างว่า จริงๆ แล้วเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขั้นคิด ซึ่งก่อนฟังก็จะเป็นเราเห็น เราได้ยิน เราโกรธ ท่านอาจารย์ก็จะย้ำว่า ธรรมจริงๆ เขาเป็นอย่างนั้น แต่อวิชชา โลภะยังมากกว่ากำลังของปัญญามาก ก็ต้องฟังต่อไป

    ท่านอาจารย์ รูปเป็นธรรม หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ไหม

    ผู้ฟัง หมายความว่าเราต้องรู้จักรูปว่าเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรม เราก็ไปคิดว่า รูปเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าความจริงแล้ว ไม่รู้จักรูปตามความเป็นจริงว่า เป็นรูป แต่เข้าใจว่ารูปนั้นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด กว่าจะรู้จริงๆ ว่า เป็นรูปจริงๆ มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ปรากฏแล้วหมดไป เห็นไหม ยังไม่ได้ประจักษ์ความจริงของรูป แม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีจริงๆ และเป็นสิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาท ได้ฟังความจริงจนกระทั่งถึงว่า รูปนี่มีอายุเพียงจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะนี่จะเร็วสักแค่ไหน แล้วจักขุปสาทก็เกิดดับเร็วด้วย เพียงแค่มีอายุเท่ากัน คือ ๑๗ ขณะ ประจวบกันในช่วงที่เกิดแล้วยังไม่ดับใน ๑๗ ขณะ ลองคิดดู แต่เราก็ติดในรูปซึ่งเสมือนว่า ไม่ดับ เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ความจริงของรูปด้วย รู้ความจริงของทุกอย่างว่า เป็นธรรม มิฉะนั้นก็จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีการคล้อยไปที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เพียงปรากฏ เท่านั้นเอง ปรากฏชั่วคราวเหมือนแขกมาเยี่ยมบ้าน จักขุปสาท แล้วก็ไป ไม่กลับมาอีก ชั่วขณะที่มาปรากฏให้เห็นแล้วก็หมดไปๆ ๆ รูปที่ดับไปแล้วไปไหน ไม่มีที่อยู่เลย เพียงเกิดปรากฏแล้วหมดไป แล้วก็เร็วมากด้วย เร็วจนกระทั่งว่า เมื่อกี้นี้เห็นอะไรมากเท่าไร แล้วจิตอะไรเกิดขึ้นแล้วดับไป มีความเข้าใจไม่เข้าใจ ความเป็นโลภะ หรือโทสะ แช่มชื่น หรือไม่แช่มชื่นของจิต นับไม่ถ้วน โดยไม่สามารถตามไปรู้ว่า เมื่อกี้นี้เป็นอย่างไร กี่ขณะ ต่อจากนั้นแล้วเป็นอะไร ต่อจากเห็นเมื่อกี้นี้ แล้วเป็นอะไรต่อๆ ไป เพราะทั้งหมดนั้นดับไปหมดเลย มีแต่เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเมื่อไรจะเข้าใจถึงความจริง จนกระทั่งคลายการยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    การที่จะคลายว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต่อเมื่อไม่ใส่ใจในสิ่งนั้น แต่จะเห็นการไม่ใส่ใจไหมเพราะกำลังเป็นคนนั้น คนนี้อยู่ นี่แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้หนาแน่นมากมายระดับไหน ที่ต้องอาศัยการฟัง และเกิดความเข้าใจถูก เพื่อละความไม่รู้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ไม่ต้องห่วง ท่านพระสารีบุตรบำเพ็ญบารมีมานานเท่าไร จึงเป็นพระโสดาบัน ไม่ต้องห่วงเลย แต่ให้มีความเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแล้วเฉยๆ ไป ฟังไปเรื่อยๆ แล้วก็เฉยๆ ไม่เข้าใจอะไร แต่ฟังเพราะเห็นประโยชน์จากการที่สามารถเข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามเรื่องกรรม และผลของกรรม

    ท่านอาจารย์ กรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรม หรือเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ได้แก่สภาพธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตนาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เกิดกับจิตทุกประเภท หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดกับจิตทุกประเภท

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นกรรมที่คุณสุกัญญาถาม ถามถึงกรรมที่เกิดกับจิตอะไร

    ผู้ฟัง ที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ เวลาที่จิตเกิดขึ้นพร้อมกับเจตนาที่กระทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ดับแล้ว ก็มีจิตอื่นเกิดสืบต่อ กรรมนั้นไม่สามารถให้ผลได้ทันที ทันทีที่กุศลจิตดับ แล้วจะให้ผลของกรรม คือ กุศลวิบากเกิดสืบต่อทันทีไม่ได้ เว้นโลกุตตรกุศล

    นี่คือความละเอียดของธรรม เพราะเหตุว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ซึ่งโลกุตตรกุศลไม่ได้ทำให้เกิดเลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่จิตที่จะทำกิจปฏิสนธิ แต่เป็นกิจที่หลังจากกุศลนั้นดับไปแล้ว ก็ให้ผลโดยจิตที่เกิดต่อรู้นิพพานอารมณ์เช่นเดียวกัน แต่โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว นี่เป็นความต่างกัน จิตที่ยังมีกิเลสอยู่กับจิตที่ดับกิเลสแล้วต่างกัน

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงกรรม หมายความถึงการกระทำ ถ้าโดยทั่วไป เจตนาเป็นเจตสิกที่มีลักษณะ และกิจที่ขวนขวายในการที่จะกระทำ กระตุ้นเตือนสหชาตธรรมที่เกิดร่วมด้วยให้ทำกิจของตนๆ นี่คือเหมือนกับเป็นคน แต่ความจริงก็เป็นลักษณะของธาตุ หรือธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นก็มีหน้าที่อย่างนี้แหละ ไม่ว่าเกิดเมื่อไร เพราะฉะนั้นถ้าเกิดกับกุศลจิต ขณะนั้นก็กระตุ้นขวนขวายให้เจตสิกทั้งหลายทำกิจเป็นไปในกุศล แม้แต่วิตก ตรึก ก็คิดเป็นไปในกุศล ทั้งหมดนั้นก็เป็นหน้าที่ของเจตนาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นกรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 169
    12 ก.ย. 2567