ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
ตอนที่ ๑๙๐
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๑
ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้ดับกิเลสเลย เวลาที่บรรลุธรรม จะใช้คำนี้ก็ได้ หรือว่าตรัสรู้อริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ อะไรที่ทำให้ตรัสรู้ อะไรที่ทำให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ใช่ปัญญา อวิชชาทุกคนมี ทุกคนไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีปัญญาเป็นไม่ได้ เป็นไม่ได้เลย ยังคงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ หรือแม้แต่ท่านพระอานนท์ ท่านพระเทวทัต ท่านใดๆ ก็ตามทั้งสิ้น ถ้ายังมีอวิชชาอยู่ก็ไม่ใช่พระอริยบุคคล ต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม จึงจะเป็นพระอริยบุคคลได้
ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนตัดสิน หรือพระพุทธเจ้าเป็นคนตัดสิน แต่เมื่อปัญญาของพระองค์เอง สามารถที่จะเกิดในขณะที่ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ แล้วรู้แจ้งอริยสัจจธรรมพร้อมด้วยพระญาณต่างๆ จึงทรงเป็นผู้ที่ทรงพระคุณนามเพียงพระองค์เดียว คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลอื่นชื่อนี้ไม่ได้เลย แม้ว่าจะรู้ตามก็ชื่อไม่ได้ เพราะไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาโดยตรง แล้วไม่ใช่ปัญญาเฉพาะพระองค์เอง ทรงแสดง ๔๕ พรรษา ถ้าศึกษาในพระไตรปิฎกวันละหลายครั้ง ยิ่งกว่าใคร วันนี้ตั้งแต่เช้ามา เรามานั่งที่นี่ ชั่วครู่ แต่พระองค์ ตั้งแต่ยังไม่เสด็จออกบิณฑบาต มีพระญาณที่จะดูว่า บุคคลไหนควรที่จะได้ไปสนทนาด้วย เพื่อที่ว่าเขาจะได้มีโอกาสฟังพระธรรม การตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่ออนุเคราะห์สัตวโลก เพื่อให้คนอื่นได้ฟังพระธรรมที่ตรัสรู้
พุทธกิจเป็นเรื่องของการทรงแสดงธรรมตลอด ตั้งแต่ก่อนบิณฑบาต หลังบิณฑบาต เวลาที่เสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ตอนบ่าย ตอนเย็น ตอนค่ำ ตอนดึก เป็นเรื่องของการทรงแสดงธรรมทั้งหมด
ธรรมเป็นสิ่งซึ่งหายากที่จะได้ฟัง แต่เมื่อฟังแล้ว ศึกษาแล้ว สามารถที่จะรู้ได้ นี่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าสอนเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ให้เกิดความเข้าใจขึ้น นั่นคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องไปที่ไหน กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ คนฟังเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นพระโสดาบันได้ ถ้าสามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง
ก่อนอื่นมีคนถามว่าอะไรที่ยากที่สุด สิ่งที่ยากที่สุดคือการฟังให้เข้าใจ นี้เป็นบันไดขั้นที่ ๑ แม้แต่คำๆ เดียวก็จะต้องฟัง ฟังให้เข้าใจจริงๆ ถ้าเข้าใจความหมายของธรรม หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เราก็รู้แล้ว อะไรเป็นธรรมบ้าง กลิ่น เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น และต้องแยกเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๒ อย่าง ซึ่งปนกันไม่ได้เลย ธรรมใดเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะเป็นสุขเป็นทุกข์ จำได้ คิดได้ เข้าใจได้ นี่คือนามธรรมทั้งหมด แต่ถ้ารูปธรรม ถึงแม้ว่าจะมีจริงๆ ก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ อย่างลักษณะที่แข็ง แข็งไม่รู้เลยว่า มีใครมากระทบ เกิดมาก็เป็นเพียงแข็ง ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องมีทั้งนามธรรม และรูปธรรม และทรงแสดงเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม โดยละเอียดจนหาความเป็นเราไม่ได้ ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลต้องสามารถที่จะเห็นความจริงของสภาพธรรม แต่ละอย่างที่กำลังปรากฏ จนประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ว่าต้องมาจากขั้นการฟังเสียก่อน
ผู้ฟัง ธรรม กับ อธรรม เหมือนกันหรือต่างกัน
ท่านอาจารย์ เหมือนกัน คือว่า พระธรรมคือคำสอนเรื่องธรรม
ผู้ฟัง ... ธรรมเป็นสภาวะ
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นจริงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น ซึ่งใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ อย่างแข็ง จะเปลี่ยนให้เป็นกลิ่น หรือเป็นเสียงไม่ได้ ทันทีที่แข็งปรากฏ ลักษณะของแข็งเป็นแข็ง เสียงก็ไม่ใช่แข็ง เพราะฉะนั้น เสียง ๑ แข็ง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ แสดงความเป็นธาตุหรือธรรมแต่ละอย่างอยู่แล้ว ต่างกันเป็นแต่ละอย่างจริงๆ เพราะฉะนั้น ที่ตัวเรา นามธรรมก็มาก รูปธรรมก็มาก แต่เพราะความไม่รู้เลยรวมเป็นเราหมด แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า ทุกอย่างที่เกิดปรากฏแสนสั้น เกิด และดับทันที ต่อเมื่อใดประจักษ์อย่างนี้ หรือว่ามีใครสอนให้เข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ได้ว่า การสอนอยางนี้ ต้องจากการประจักษ์แจ้ง เพราะว่าตามความจริง เห็นกับได้ยินจะเป็นขณะเดียวกันพร้อมกันไม่ได้ เป็นธาตุหรือเป็นธรรมอย่างเดียวกันไม่ได้ เพราะว่าขณะที่เห็นจะไม่มีการได้ยินเสียงใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีสภาพของนามธรรม หรือที่เราใช้คำว่า “จิต” กำลังเห็น กำลังรู้ว่ามีสิ่งใดที่กำลังปรากฏขณะนี้ทางตา เวลาที่เสียงปรากฏ เสียงก็เป็นรูปธรรม แต่ว่าปรากฏกับสภาพที่ได้ยินเสียง ซึ่งเป็นนามธรรม
ผู้ฟัง ความยินดีเกิดขึ้นกับทุกคน มีปัญหาที่ว่า คือทุกคนก็ได้ยินได้ฟัง แล้วก็มีความรู้สึกว่าเข้าใจ ถึงเวลาที่ปฏิบัติ เราก็ใช้ไม่ได้ อย่างเช่นคำว่า ได้ยิน ก็สักแต่ว่าได้ยิน จะทำอย่างไรที่จะให้เข้าใจว่า สักแต่ว่าได้ยิน ก็ต่อเมื่อใช้ปัญญา
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ไม่ควรจะใช้คำว่า “ใช้” ต้องอบรมให้เกิดขึ้นให้มีขึ้น
ผู้ฟัง แล้วจะทำอย่างไร บางครั้งเราก็รู้
ท่านอาจารย์ รู้แค่ไหน หรืออะไร พอหรือยัง
ผู้ฟัง รู้ว่าเวลาที่เราได้ยินได้ฟังมาแล้ว ทำให้เราโกรธ หรือว่าให้เราเกลียด อย่างนี้ใช่ไหม ถ้าหากว่าเราจะทำจิตให้สักแต่ว่าได้ยิน หรือฟังเฉยๆ นี้ปัญหาของคนเราที่ทำให้เกิดอาการ ทำให้เกิดทุกข์ จะมีวิธีสกัดได้ไหม
ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่เข้าใจคำว่าอนัตตา ต้องเข้าใจคำนี้จริงๆ โดยมากคำถามเป็นเรื่องทำทั้งหมดเลย ทำอย่างไร ทำอย่างไร ทำอย่างไร แต่จริงๆ แล้วต้องเข้าใจอย่างไรว่า เป็นอนัตตาจริงๆ มีวิธีไหนที่จะเข้าใจคำนี้โดยถ่องแท้ ไม่ใช่เพียงแต่เราคิดว่าเป็นอนัตตา เราเข้าใจแล้ว ยังไม่แล้วเลย เพราะว่าขณะที่เห็นเป็นอนัตตาหรือเปล่า ขณะที่ได้ยินเป็นอนัตตาหรือเปล่า กำลังโกรธเป็นอนัตตาหรือเปล่า กำลังไม่โกรธเป็นอนัตตาหรือเปล่า ถ้าเราไม่เข้าใจคำนี้จริงๆ จะมีตัวเราจะทำ
ผู้ฟัง อนัตตา คือ ไม่ใช่มีตัวตน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ตัวตน อัตตาแปลว่าตัวตน ปฏิเสธโดยใช้คำว่า อะ ถ้าเป็นคำนามก็ใช้คำว่า นะ
ผู้ฟัง อนัตตาเป็นสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน ในพระพุทธศาสนาที่ต่างกับศาสนาอื่น คือสอนให้รู้ความจริงว่า ทุกอย่างเป็นสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่ของใคร ไม่เป็นใคร เป็นธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นจริงๆ และเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยด้วย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยทั้งสิ้น ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ถ้าเราเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เราจะเกิดอะไร ติดข้อง ถ้าเราเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เราจะให้ติดข้องก็ไม่ได้ ไม่ชอบเลยสิ่งนี้ ไม่ต้องการเลย หนีไปไกลๆ ไม่ต้องการ เพราะฉะนั้น แม้แต่ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา
ส่วนใหญ่คิดเรื่องทำ แต่ไม่คิดเรื่องฟังธรรมให้เข้าใจ เพราะว่าเข้าใจเท่าไรยังไม่พอเลย บางคนบอกว่าใช้สติ บางคนก็บอกว่าใช้ปัญญา แต่ในพระพุทธศาสนาชี้ให้เห็นความจริงว่า ปัญญามีหรือเปล่าที่จะใช้ สติมีหรือเปล่าที่จะใช้ ก็เป็นเรื่องเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องทำ ฟังให้เข้าใจว่า เป็นอนัตตา แค่นี้ตลอดชีวิตไป
ปัญญา คือ ความเห็นถูก แน่นอน ถ้าเราไม่ฟังเลย เราจะเอาปัญญามาจากไหน เพราะฉะนั้น บางคนเขาบอกใช้ปัญญา เขาลืมคิดว่ายังไม่มีปัญญา ถ้าเราตอบคนที่บอกว่าเราให้ใช้ปัญญา เราบอกว่าเรายังไม่มี ถูกหรือผิด เขาต้องให้เรามีปัญญาก่อน โดยการให้ฟังให้เข้าใจ ความเข้าใจ ในภาษาไทย ใช้คำว่า เข้าใจ คำว่าเข้าใจไม่มีในภาษาบาลีเลย ภาษาบาลีไม่มีคำว่าเข้าใจ แต่ภาษาบาลีมีคำว่าปัญญา รู้ทั่ว รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง รู้แค่นิดเดียว ไม่พอ ต้องรู้จริง ทุกอย่างต้องประจักษ์แจ้ง
ปัญญาจะมีหลายระดับขั้น ถ้าเราเป็นคนที่รู้จักธรรม รู้จักตัวเอง แล้วก็มีคนเขาตื่นเต้น เขาก็บอกว่า ไปหาคนนั้นสิ เขาสามารถที่จะหยิบเงินหยิบทอง แก้วแหวนเงินทองนาฬิกา คว้ามาจากอากาศได้ให้เรา ซึ่งคนส่วนใหญ่จะตื่นเต้นว่า เขาทำไมทำได้ แต่ถ้าเราไปหาคนนั้นแล้วบอกว่า เราไม่สนใจเลยแก้วแหวนเงินทอง ติดมานานแล้ว ขอให้แสดงวิธีหรือสอนให้เราเลิกติด เลิกต้องการแก้วแหวนเงินทองได้ไหม เขาจะตอบเราว่าอย่างไร เขาจะสอนไหม เขามีวิธีอะไรที่จะบอกเรา เพราะวิธีของเขาเป็นแต่เรื่องติด แต่ไม่ใช่ให้เกิดปัญญาของเราเอง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด ให้คนฟังพิจารณาให้เข้าใจ เข้าใจเมื่อไร นั่นคือปัญญาเริ่มเกิด พอเข้าใจขึ้นเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ปัญญาก็เจริญขึ้น ตอนนี้จะใช้คำภาษาบาลีได้ถูกต้องว่า “ปัญญา” แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย แล้วยังไม่รู้ว่า ปัญญาคืออะไร ใช้คำว่าปัญญาโดยไม่รู้ว่าคำที่ใช้ เข้าใจหรือเปล่า แล้วเป็นปัญญาหรือเปล่า แต่ก็ใช้คำนั้นเสียแล้ว โดยไม่รู้
พระพุทธศาสนาสอนให้คนที่เหมือนคนตาบอด เป็นคนตาดี สามารถที่จะเห็นหรือเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงได้ ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้จิตเกิด เหมือนเมื่อวานนี้ จิตชนิดหนึ่งดับ เป็นปัจจัยให้จิตชนิดอื่นเกิด จิตชนิดที่เกิดใหม่ ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่ว่าจะเป็นจิตอะไรทั้งสิ้น เราจะใช้คำว่าดับ หรือ เราจะใช้คำว่าตาย เหมือนกันไหม
ไม่เหมือนอย่างไร หมายความว่าไม่มีอีกแล้ว สิ่งที่เกิดนั้นหมดแล้ว เห็นเกิดแล้วหมดแล้ว ใช้คำว่าดับ หรือ ใช้คำว่าตาย เพราะฉะนั้น คำในภาษาไทย เราใช้คำเดียว แต่ภาษาบาลีใช้คำว่ามรณะ ที่เราใช้คำว่าตาย ๓ อย่าง ขณิกมรณะ ขณิกะ เขียนด้วย ข.ไข่ ณ.เณร สระอิ ก.ไก่ มาจากคำว่า ขณะ ขณะหนึ่งๆ ๆ ๆ ที่เราบอกว่า เราเกิดมา เป็นตัวเรา กี่ขณะนับได้ไหม แสนสั้น เสี้ยววินาที เล็กกว่าขณะหนึ่งไหม หรือนาทีหนึ่ง เสี้ยววินาทีเล็กกว่า ๑ วินาที ไหม แต่ในเสี้ยววินาทีมีกี่ขณะ นับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะหนึ่งที่เกิดแล้วดับไป ชื่อว่า ขณิกมรณะ คือไม่เหลืออีก สูญ สิ่งนั้นที่เกิดแล้วดับแล้วจะไม่กลับมาอีกเลย คำว่า ตาย ในพระพุทธศาสนา หรือคำว่า ดับ อย่าเข้าใจว่าของเก่ากลับมา ไม่มีทางเลยที่จะเป็นของเก่า ไม่ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก หรือเป็นรูป
มีคำใหม่อีกคำ เจตสิก เข้าใจไว้ในตอนต้นแล้วกันว่า นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังมี ให้เห็น ให้ได้ยิน ส่วนเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต อย่างความรู้สึก บางครั้งเราดีใจ ความรู้สึกดีใจไม่ใช่จิต เกิดแล้วก็หมดไป ตามเหตุตามปัจจัย แต่จิตนี้เกิดดับสืบต่อตลอด เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอด เขาไม่ทำอะไรเลยนอกจากรู้ เห็นว่ามีสิ่งที่ปรากฏ ได้ยิน เสียงมีตั้งหลายเสียง จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในความต่างของเสียง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ แต่จะไม่รัก ไม่ชัง ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ พวกนั้นเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต เจตสิกนี่ก็มี ๕๒ ชนิด ทุกคนมีทุกข์ มากบ้างน้อยบ้าง ฝ่ายดี แล้วแต่ว่าใครจะมีมาก ฝ่ายไม่ดีก็ปรากฏออกมาให้รู้ได้ว่า นี่เจตสิกไม่ดีมากมาย ทางกายทางวาจา ถ้าเป็นฝ่ายดี คนนี้เจตสิกดีมีมากมาย ทางกาย ทางวาจา เป็นเรื่องของธรรมซึ่งละเอียด
เราใช้คำในภาษาไทย บางที่ทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมผิด เช่นใช้คำว่าตาย กับคำว่าดับ อย่างไฟดับ เวลาที่มีไฟเกิดขึ้นจากเชื้อไฟ พอดับแล้ว จะไม่มีไฟเกิดขึ้นตรงนั้นอีก แต่ไฟที่เกิด ที่เราเห็นสว่างอยู่ตลอด มาจากเชื้อไฟใหม่ แล้วก็ดับอีก แล้วไฟก็เกิดขึ้นกับเชื้อไฟใหม่ต่อไป เพราะฉะนั้น คำว่าตายหรือคำว่าดับ ใช้แทนกันได้ หมายความถึงว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิด แล้วหมดไปเลยไม่กลับมาอีก จิตขณะก่อนไม่ใช่ขณะนี้ เห็นขณะก่อนไม่ใช่ขณะนี้ ได้ยินขณะก่อนไม่ใช่ได้ยินขณะนี้ คิดขณะก่อนไม่ใช่ขณะนี้ หรือย้อนไปเมื่อวานนี้ก็ไม่ใช่วันนี้ หรือปีก่อนก็ไม่ใช่ปีนี้ ตั้งแต่เกิดก็ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ แล้วข้างหน้าที่จะเกิดก็ไม่ใช่ขณะนี้
สภาพธรรมเกิดดับเร็วมากอยู่ตลอดเวลา ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่า ใครไปบังคับได้ ไม่ให้ธรรมเกิดแล้วต้องไม่ดับ เป็นไปไม่ได้เลย หรือดับแล้วไม่ให้เกิดอีกก็บังคับไม่ได้
ผู้ฟัง เปรียบเทียบกับตัวอย่าง ในเวลาที่โลกเราหมุนไป ก็หมุนไปแล้วก็ไม่มีทางกลับมาได้อีก เกิดขึ้นดับลงแล้วเวลาก็ต่อๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนจิตของเราขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับลง
ท่านอาจารย์ เราจะใช้ตัวอย่าง หรือโลกจะพัฒนาไปอีกมากมายสักเท่าไร ยิ่งกว่านี้อีกกี่ร้อยเท่าก็ตาม ธรรมก็เป็นธรรมอย่างนี้แหละ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จนกว่าจะมีการประจักษ์แจ้งว่า ชั่วขณะที่สัมผัสกระทบสิ่งนี้เกิดดับ ฟังดูประหลาด ใช่ไหม มีอยู่แล้วเก้าอี้ก็ตั้งอยู่ตรงนี้ นาฬิกาก็ตั้งอยู่ตรงนั้น อะไรๆ ก็มีอยู่แล้วทั้งนั้น แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้งจริงๆ ถ้ากระทบแล้วสิ่งนี้ไม่เกิด จะมีอะไรปรากฏไหม เราไปจำไว้ต่างหากว่า มีอยู่แล้ว แต่นั่นคือความจำ ความจำส่วนความจำ ความจริงส่วนความจริง
เรามีอัตตสัญญา ทุกคนที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล คือจำว่าเป็นเราทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เห็นก็เป็นเราเห็น ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน คิดนึกก็เป็นเราคิดนึก กำลังเสียใจก็เป็นเราเสียใจ พอกำลังดีใจก็เป็นเราดีใจ แต่ทั้งหมดอยู่ที่ไหน ที่เคยดีใจอยู่ที่ไหน เสียใจที่เคยเสียใจอยู่ที่ไหน สุขกายที่เคยสบายอยู่ที่ไหน ทุกข์กายอาจจะเคยเจ็บป่วย เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน หามาให้ได้ ไม่มีใครกลับหามาได้อีกเลย สิ่งใดที่เกิดแล้วดับทันที ทันทีที่เร็วมาก เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นปัญญาก่อนจะถึงพระโสดาบัน ต้องประจักษ์การเกิดดับ แต่ก่อนนั้นจะต้องมีการฟัง การเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงเห็น ใครแล้ว เราก็คิดว่า คนนี้คงจะเป็นพระโสดาบัน คนนั้นคงจะเป็นพระอรหันต์ โดยที่ว่าเราไม่ได้ศึกษาธรรม แต่ธรรมเป็นศาสดา เป็นสรณะที่จะทำให้เราไม่เห็นผิด ไม่เข้าใจผิด ไม่ตื่นเต้นกับสิ่งซึ่งไม่สมควรกับเหตุ ถ้าปัญญาขั้นการฟังไม่มีเลย เพียงแต่ทำอย่างไร ทำอย่างไรๆ ทำไม่ใช่ปัญญา เป็นตัวตนที่อยากจะทำ และคิดว่าทำได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ แม้แต่ฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม ก็ต้องเข้าใจแล้วในขั้นนี้ มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมได้ สติสัมปชัญญะก็ไม่เกิด เกิดแต่เพียงสติขั้นฟัง ซึ่งสติมีหลายระดับมาก สติขั้นฟังเป็นขั้นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจะต้องเจริญขึ้นมากกว่านี้ เมื่อเจริญขึ้นแล้ว สติเขาจะทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของเขา ซึ่งถ้าเป็นภาษาบาลี ท่านที่รู้ภาษาบาลี ท่านแปลว่า ปฏิ หมายความถึงเฉพาะ ปัตติ หมายความว่าถึง
เวลานี้มีสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งปัญญา และสติจะต้องถึงเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ ทีนี้จะไม่รวมกันแล้ว จะไม่มีโลกทั้งโลก จะไม่มีคนทั้งคน จะไม่มีโต๊ะมีเก้าอี้ จะไม่มีห้องนี้ แต่จะไม่มีสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงอย่างเดียว ซึ่งสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับให้ประจักษ์จริงๆ ได้ แต่ไม่ใช่โดยวิธีทำ แต่โดยอบรมปัญญาให้เข้าใจถูกขึ้น จนกว่าจะคลายความไม่รู้ เพราะเหตุว่าสิ่งหนึ่งซึ่งคนลืมว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ตรัสรู้ และสอนสาวกคือผู้ฟัง ให้รู้ ไม่ใช่ให้ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เป็นศาสนาซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่า คำสอนทั้งหมดที่ได้ยิน ได้ฟัง ถ้าปัญญาอบรมขึ้น เข้าใจขึ้น ความจริงที่ได้ยินได้ฟังมา ต้องตรงกับสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางเลยที่ใครศึกษาธรรมแล้วจะไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไร แต่สิ่งที่ยากคือฟังให้เข้าใจ ถ้าฟังให้เข้าใจแล้ว ขณะนี้รู้เลยว่าจิตกำลังเกิดขึ้นทำหน้าที่ของจิตแต่ละชนิด เจตสิกกำลังทำหน้าที่ของเจตสิกแต่ละชนิด แล้วก็รูปก็เกิดขึ้น และมีหน้าที่เฉพาะอย่าง เฉพาะอย่างของรูป
ผู้ฟัง อย่างกรณีส่วนมากฟังธรรม จะทำอย่างไร ที่จะไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย ถึงจะใช้ปัญญาแล้วก็ยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ใช้ปัญญาที่ไหน ปัญญาอยู่ที่ไหน ขอใช้ด้วยคนถ้ามี
ผู้ฟัง คือส่วนตัวคิดว่าปัญญา ความคิด
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นั่นคือความคิด แต่ปัญญาต้องเป็นความรู้ความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจึงจะชื่อว่า ปัญญา ในภาษาบาลีจะมีหลายคำ มีคำว่า ญาณ มีคำว่า ปริญญา มีคำว่าปัญญาต่างระดับ แต่ทั้งหมดก็คือปัญญาเจตสิก
ผู้ฟัง ขอความเข้าใจในความหมายของนามธรรมกับรูปธรรมให้แจ่มแจ้งนิดหนึ่ง ใช้ตัวอย่าง ผมใช้ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมา อาจจะหยาบมาก อย่างสมมติว่า เรากำลังทานอาหาร เราเห็นอาหารที่ตั้งอยู่ คราวนี้นามธรรมคือจิต ข้างนอก เป็น mental heart ของเรา แล้วก็รูปตัวของเราเป็น object อาจารย์บอกว่า ธรรม ๒ อย่าง
ท่านอาจารย์ ธรรม ๒ อย่างไม่ใช่ของเรา
ผู้ฟัง ไม่ใช่ของเรา
ท่านอาจารย์ แต่มีจริงๆ
ผู้ฟัง แต่มีจริงๆ แล้วก็ทำงานร่วมกัน อย่างจิตของเรา
ท่านอาจารย์ อาศัยกัน
ผู้ฟัง อาศัยกัน ถ้าจิต ของเราพยายามจะทานอาหารที่ดูดี ที่อร่อย แต่จิตเราจริงๆ เป็นนามธรรม ซึ่งทานเองไม่ได้ เพราะว่าเป็นจิต ต้องอาศัยรูปธรรม คือ ปากของเรา มือของเราที่จะตักทาน แต่ถ้าจิตของเราซึ่งเป็นนามธรรมกับรูปธรรม ทำงานร่วมกันแล้วก็ทานอาหารได้ เพราะว่าถ้าเกิดเป็นรูปธรรมเฉยๆ โดยที่ไม่มีนามธรรมสั่งให้ทาน ก็ทานเองไม่ได้ หรือว่าถ้าเป็นตรงกันข้าม นามธรรม จิตเฉยๆ ก็ทานไม่ได้ ต้องอาศัยรูปธรรม คือตัวของเรา ก็อาศัยซึ่งกัน และกัน
ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่คนส่วนใหญ่ จะฟังตอนต้นๆ แต่ตอนปลายๆ จะต้องค่อยๆ ขยายความแล้วเข้าใจให้ละเอียดกว่านี้อีก
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240