ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192


    ตอนที่ ๑๙๒

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔


    ท่านอาจารย์ กระทบสัมผัส ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า อะไรปรากฏ ลองจับดู เราหรือเปล่า ตัวเราหรือเปล่า หรืออะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ความแข็ง

    ท่านอาจารย์ แข็ง แล้วแข็งที่ตัวกับแข็งที่ไหนคือแข็ง เราจะเรียกแข็งว่าโต๊ะ เรียกแข็งว่าเสื่อ เรียกแข็งว่าอะไรก็ตาม แต่ลักษณะที่แท้จริง ยังไม่ต้องมีใครเรียกเลยทั้งสิ้นก็คือแข็ง จะรู้ได้เมื่อไร เมื่อกระทบสัมผัส ต่อให้นึกถึงแข็งสักเท่าไร ก็ไม่รู้สึกความแข็ง จนกว่าจะกระทบสัมผัส เช่นเดียวกับความเย็นหรือความร้อน เวลาที่ไม่กระทบสัมผัสเรารู้ว่าไฟร้อน แต่บอกได้ จำได้ว่าไฟร้อน แต่เดี๋ยวนี้ร้อนปรากฏหรือเปล่า ต่อให้รู้ว่าไฟร้อน ร้อนก็ไม่ได้ปรากฏ จนกว่ากระทบร้อนเมื่อไร ลักษณะร้อนนั้นจึงปรากฏ

    นี่เป็นธาตุซึ่งใครเปลี่ยนแปลงลักษณะไม่ได้ ธาตุร้อนก็ต้องร้อน ธาตุแข็งก็ต้องแข็ง เพราะฉะนั้น สิ่งซึ่งเป็นรูปธาตุจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากรูปธาตุ สิ่งที่เป็นนามธาตุต่างกับรูปธาตุ เพราะเหตุว่ารูปธาตุไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่นามธาตุสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่เกิดจนตายรู้อะไรบ้าง เห็นอะไรบ้าง จำอะไรบ้าง คิดอะไรบ้าง ทั้งหมดเป็นนามธาตุ เมื่อรู้จริงๆ ว่าเป็นนามธาตุ รู้จริงๆ ว่าเป็นรูปธาตุ แล้วเอาตรงไหนมาเป็นเรา เราจะไปแทรกอยู่ตรงไหนได้ ถ้ารู้จริงๆ แต่ถ้าไม่รู้ว่า เป็นนามธาตุ เป็นรูปธาตุ ก็ต้องเป็นเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ตั้งแต่เกิดจนตาย

    เพราะฉะนั้น อะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นความเข้าใจถูก อะไรเป็นความเข้าใจผิด อะไรเป็นความเห็นถูก อะไรเป็นความเห็นผิด ถ้าเป็นความเห็นถูกคือว่า ไม่ใช่ถูกเพราะคนนี้คิดเอา หรือว่าไม่ใช่ถูกเพราะคนนั้นบอก แต่ถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    คำว่า อรหันตสัมมาสัมพุทโธ หรือสัมพุทธเจ้า หมายความว่าตรัสรู้ธรรมโดยชอบ ชอบที่นี่อาจจะไปแปลว่าตามใจชอบ แต่ความจริงไม่ใช่ ชอบคือถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าใครรู้ความจริงของสภาพธรรมถูกโดยชอบ ไม่ใช่โดยผิด ก็คือว่ารู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น ยังมีเราอีกไหม หรือมีนามธาตุกับรูปธาตุเท่านั้น ไม่ว่ากี่ภพ กี่จักรวาล ที่ไหนก็ตาม ธรรมจะต้องมี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ เป็นนามธาตุกับรูปธาตุเท่านั้น เพราะฉะนั้น สัจจธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง และถ้าเป็นปัญญา ก็เป็นปัญญาที่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนั้น ไม่ใช่ไปรู้ในขณะอื่น ถ้าเราเพียงแต่คิดนึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว จะบอกว่าเรารู้ชัดแจ่มแจ้งได้ไหม ในเมื่อเพียงคิด หรือว่าสิ่งที่ยังไม่เกิด เราก็บอกว่าเรารู้แล้ว ต่อไปจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สิ่งนั้นก็ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้นก็ยังคงเป็นแต่เพียงความคิด แต่ปัญญาจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ปัญญาคือความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นจึงปรากฏ เมื่อเกิดแล้วก็ดับทันที

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้ง เพราะถ้าไม่ดับ เห็นนี้ก็เห็นตลอดไป ไม่มีได้ยิน ใช่ไหม แต่นี้จะมีใครบ้างว่าจะเห็นแล้วไม่มีได้ยิน ไม่มีคิดนึก แต่เพราะความรวดเร็วของการเกิดดับของจิต ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้จนกว่าจะมีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริง แล้วก็ทรงพระมหากรุณาที่จะแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้ให้มีผู้ที่ได้ยินได้ฟัง ได้เกิดความเข้าใจ เป็นปัญญาของตนเอง จนกระทั่งถึงเราขณะนี้ ที่สามารถจะมีโอกาสได้ยินได้ฟัง พระธรรมเทศนาซึ่งตรัสด้วยพระโอษฐ์ของพระองค์ ณ พระวิหารเชตวัน และสถานที่อื่น ซึ่งจารึกไว้แล้วเราก็สามารถจะฟัง และศึกษาได้

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นอย่าลืมว่าไม่มีอะไรนอกจากนามธรรม และรูปธรรม คือทั้งหมดทุกอย่างเป็นธาตุ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง แล้วถ้าเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง นามธรรมที่ไม่เกิดก็มีอย่างเดียว คือ นิพพาน ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นธาตุหรือธรรมที่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะว่าไม่มีลักษณะที่กิเลสจะเข้าไปติดข้องได้เลย

    ขณะนี้มีสภาพธรรม เป็นธาตุอย่างที่เรากล่าวถึง รูปธาตุ กับ นามธาตุ เพราะฉะนั้น ถึงเฉพาะมีความเข้าใจ ถึงลักษณะที่กำลังปรากฏ เฉพาะที่กำลังปรากฏจริงๆ เรากำลังฟังเรื่องเห็น หรือเราก็บอกว่า ในโลกนี้มีสภาพธรรม ๒ อย่าง คือนามธรรมอย่างหนึ่ง กับรูปธรรมอีกอย่างหนึ่ง ขณะนี้ต้องรู้ ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นต้น ไม่มีการถึงเฉพาะลักษณะของนามธรรม ซึ่งไม่ใช่รูปธรรมเลย ในขณะที่กำลังเห็น เป็นลักษณะ ๒ อย่างซึ่งต้องมีพร้อมกัน คือ เมื่อมีจิตเห็นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้

    การฟังพระธรรมต้องฟัง ต้องคิด ต้องไตร่ตรอง ต้องน้อมที่จะรู้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่า เป็นความจริงหรือว่าเป็นลักษณะอย่างไร อย่างรูปธรรมก็มีปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เกือบจะไม่สงสัยเลยในลักษณะของรูปธรรม แต่ที่สงสัยเพราะเหตุว่าเคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เสมอ เช่น เป็นกล้วย เป็นข้าว เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แต่พอพูดถึงรูปธรรม ชื่อต่างๆ เหล่านี้หายไปหมด แต่มีลักษณะของธาตุที่ปรากฏ ซึ่งเป็นธาตุแท้ๆ ที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด ไม่ปนกัน

    เพราะฉะนั้น ต้องมีปัญญาที่จะเข้าใจ ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก่อน ขณะนี้เองที่กำลังฟัง สติเกิดจึงฟังเข้าใจ แล้วปัญญาก็กำลังเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ที่ว่าไม่มีตัวตน ก็เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม เป็นจิตกับเจตสิกฝ่ายดี ที่เป็นไปในกุศล คือ จิตที่ดีงาม เพราะขณะที่ฟังเข้าใจ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีริษยา หรืออิจฉา ไม่มีมัจฉริยะความตระหนี่ ไม่มีสภาพธรรมใดๆ ที่เป็นอกุศล ในขณะที่กุศลจิตเกิด

    นี่คือระดับขั้นจากการฟังซึ่งเป็นขั้นปริยัติ และเป็นขั้นที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเฉพาะแต่ละอย่าง นี่คือปฏิบัติ ไม่ใช่เราไปปฏิบัติ หรือเราอยากจะปฏิบัติ แต่ว่าต้องเป็นสติปฏิบัติกิจของสติ เช่นเดียวกับโลภะ ธาตุชนิดนี้เวลาเกิดขึ้นจะไม่ทำอย่างอื่นเลย นอกจากติดข้อง ต้องการยึดมั่น ในสิ่งที่กำลังปรากฏ มีใครบ้างที่ไม่ชอบเห็น มาที่นี้ เดี๋ยวจะไปที่โน้นแล้ว จะไปดูอะไร พระอาทิตย์ตก พาร์ค หรืออะไรก็แล้วแต่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ว่ามีเห็นแล้วก็ยังติดข้องในสิ่งที่ถูกเห็น เพราะฉะนั้น ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นขณะใด ต้องทำกิจนั้นไม่ทำกิจอื่น แล้วก็ทำกิจนี้บ่อยที่สุดในวันหนึ่งๆ เพราะความไม่เข้าใจก็เป็นเรา หรือเป็นเขา พอใครมีลักษณะของโลภะมากๆ เราก็บอกว่า คนนี้โลภจัด ลืมตัวเอง แต่ว่าจริงๆ แล้วถ้าเราสามารถที่จะรู้สภาพธรรม ต้องเป็นผู้ตรง ไม่มีเขา ไม่มีเรา แต่เป็นธรรม เมื่อธรรมฝ่ายไม่ดีเกิด คือ ธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา ธรรมฝ่ายดีเกิด ก็เป็นธรรมเหมือนกัน ไม่ใช่เราเหมือนกัน แม้ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายดี

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ตรง แล้วเมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องราว แต่ว่าสามารถที่จะรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมจริงๆ เช่นนามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ขณะนี้มี ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ขาดนามธรรมเลย

    เวลาที่มีปัญญาที่จะเข้าใจเรื่องของนามธรรม และรู้ว่าขณะนี้อะไรเป็นนามธรรม ก็จะถึงระดับขั้นที่สติปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ จนกระทั่งสามารถที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม พร้อมด้วยปัญญาที่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นรูป ลักษณะนี้เป็นนาม ความเป็นเราจะค่อยๆ ลดลงไปทีละเล็กทีละน้อย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ก็จะต้องเกิดพร้อมกับละอวิชชา โทมนัส แต่ต้องมีอาตาปี สัมปชัญญะ สัมปชาโน สติมา คือ มีสติ มีสติพร้อมสัมปชัญญะ และวิริยะ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวถึงคือเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตเป็นนามธรรม เจตสิกเป็นนามธรรม ซึ่งต้องเกิดพร้อมกัน ส่วนใหญ่เราจะได้ยินแต่คำว่า จิต แต่ไม่ค่อยจะได้ยินคำว่า เจตสิก ถ้าไม่ศึกษาธรรมก็จะไม่ได้ยินคำนี้เลย

    ผู้ฟัง เมื่อเห็น รู้สึกโทมนัส หรือโสมนัส มันมาพร้อมกันเลย

    ท่านอาจารย์ นั่นคือขาดสติ ในภาษาบาลีจะใช้คำว่าหลงลืมสติ กับมีสติ จะใช้ ๒ คำ

    ผู้ฟัง ไม่มาพร้อมกัน

    ท่านอาจารย์ เราเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ขณะนั้นหลงลืมสติ เพราะว่าสติไม่ได้ระลึก ถ้าระลึกแล้ว ไม่พร้อม เพราะว่าระลึกได้ทีละอย่าง จะระลึกทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ก็เป็นสภาพธรรม หรือเป็นธาตุที่ต่างกัน ไม่เหมือนกัน เกิดเพราะเหตุต่างกันด้วย เรื่องธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องฟัง แล้วก็ศึกษาตลอดชีวิต นี่ไม่ทราบกี่นาที สักครึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้น ก็คงจะต้องอีกมากที่จะต้องเป็นพหูสูต คือผู้ที่ฟังมากจริงๆ

    ผู้ฟัง ผมตั้งแต่พบอาจารย์ ปี ๒๔๘๕ เท่าเดี๋ยวนี้ ฟังแล้วอ่านแล้วก็ เหมือนกันติดข้องในเรื่องแจ้ง ใน คือเรื่องแจ้งนี้แหละ ... แต่ว่าพยายามอยู่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คือความจริงเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น นี่แสดงให้เห็นว่าเราไม่ใช่เพิ่งเกิดมีอายุเท่านี้ๆ แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว สภาพของจิตเป็นธาตุที่วิจิตรจริงๆ อัศจรรย์จริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นนามธาตุซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วดับไป สภาพของจิตมี กำลังมีในขณะนี้ เป็นปัจจัยให้ทันทีที่จิตขณะนี้ดับ ทำให้จิตขณะต่อไปเกิด ยับยั้งไม่ได้เลย ความเป็นสติหรือพลังหรือความสามารถหรือความวิจิตรอันนี้ ชื่อว่า อนันตรปัจจัย หมายความว่า ทำให้สภาพธรรม คือ จิต และเจตสิกต่อไปเกิดโดยไม่มีระหว่างคั่นเลย สืบต่อติดกันทันที เพราะฉะนั้น จะหมดความสงสัยในเรื่องตายแล้วเกิด เพราะว่าขณะนี้จิตก็ตาย จิตขณะก่อนตาย แล้วจิตขณะนี้ก็เกิด แล้วจิตเดี๋ยวนี้ก็ตาย จิตขณะต่อไปเกิด ก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมา

    เพราะฉะนั้น เป็นแต่เพียงสมมติว่า ตายชั่วคราว แล้วก็เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ โดยกรรมก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดอีก แล้วจิตต่อๆ ไปก็เกิดสืบต่อจนกว่าจะจุติ แล้วก็ปฏิสนธิต่อไป ก็เป็นเรื่องของธาตุซึ่งธาตุนี้เป็นลักษณะอย่างนี้ เป็นอนันตรปัจจัยอย่างนี้ ใครจะเปลี่ยนแปลงธาตุนี้ไม่ได้ เหมือนอย่างกับธาตุไฟก็ร้อนหรือเย็น จะเปลี่ยนธาตุไฟให้เป็นแข็งก็ไม่ได้ เพราะว่าแข็งไม่ใช่ลักษณะของธาตุไฟ แต่เป็นลักษณะของธาตุอีกชนิดหนึ่ง คือธาตุดิน

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ผมพอมองเห็น จะรู้อยู่ในระหว่างกลางคืนว่า แสงสว่างยังไม่เกิด แต่ผมยังปรึกษาว่า มีเวลาหนึ่ง ตะวันขึ้นมาผมจะได้เห็น

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีแสงรำไร แต่ยังไม่สว่างชัด ที่ได้ฟัง น้อยคนที่จะได้ยินได้ฟัง เพราะว่าจริงๆ แล้วทุกคนก็มีหู บางทีก็ได้ยินเสียงรถไฟ บางทีก็ได้ยินเสียงดนตรี เสียงเพลง เสียงสารพัดอย่าง แต่เสียงที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่ว่าสำหรับทุกคน ต้องเป็นคนที่เคยสะสมบุญในอดีต จึงเป็นปัจจัยให้ได้ยินเสียงที่เป็นปัจจัยให้เข้าใจสภาพธรรมได้ แม้ว่าจะเป็นเสียงที่เป็นเรื่องธรรม แต่ถ้าไม่มีการสะสมศรัทธา ไม่มีการสนใจก็ผ่านไป ไม่ว่าจะได้ยินเรื่องของนามธรรมรูปธรรมก็ไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการสะสมศรัทธา และโสภณเจตสิกอื่นๆ ที่จะทำให้เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการฟังแล้วก็รู้ว่า เป็นสิ่งที่ล้ำค่า เพราะเหตุว่าทรัพย์สินเงินทองก็เอาติดตัวไปไม่ได้ แม้สักสตางค์เดียว ก็เอาไปไม่ได้ แต่ว่าสิ่งที่เกิดในขณะนี้ เป็นความเข้าใจจะสืบต่ออยู่ในจิตไปทุกขณะ เพียงแต่ว่าจะมีปัจจัยที่จะให้เจริญเติบโตขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่สูญหาย ทุกอย่างจะสะสมไว้ในจิตแต่ละขณะ ถ้าโกรธขณะหนึ่ง แม้จิตที่โกรธเกิดดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แม้ว่าจิตโกรธดับ ก็มีเชื้อผ่านไปถึงจิตขณะต่อไป ที่จะทำให้มีความโกรธเกิดขึ้นอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้าใครเกิดมีความชอบยินดี ติดข้องในสิ่งใด เห็นความจริงเลย เพราะยังไม่ได้ดับเชื้อ ยังไม่ได้ดับอกุศล ยังไม่ได้ดับโลภะ ไม่ว่าอกุศลใดๆ จะเกิด ก็เพราะเหตุว่ามีเชื้อนั้นอยู่ จึงทำให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเวลาที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ต่อไปก็อาจจะเข้าใจเร็วขึ้น เพราะว่าเคยเข้าใจมาแล้วก็รู้ได้ว่า ที่เข้าใจได้เร็วเพราะว่าเคยเข้าใจแล้ว เหมือนกับว่าเราเริ่มเรียนหนังสือ วันแรกที่เราไปโรงเรียน เราก็อ่านอะไรไม่ออกสักตัวหนึ่ง วันต่อๆ มาก็ค่อยๆ อ่านได้ทีละตัว ๒ ตัว เดี๋ยวนี้ไม่ต้องนั่งสะกด พอเห็นก็อ่านได้ การสะสมก็ทำให้เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง จิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ จนกว่าจะไปถึงจุติแล้วปฏิสนธิ อะไรไปจุติ และปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดต้องมีในชาตินี้ ไม่อย่างนั้นจะไม่เรียกว่าคนหรือสัตว์เกิด ก็ต้องเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เป็นเนื้องอก เป็นอะไรไป แต่ที่กล่าวว่า คนเกิด สัตว์เกิด ต้องมีนามธรรมเกิดขึ้น คือ จิต และเจตสิก จิต และเจตสิกขณะแรกของชาตินี้ ชื่อว่า ปฏิสนธิจิต เพราะว่าสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน หมายความว่า ทันทีที่ตายก็เกิด เพราะฉะนั้น เราก็มักจะโศกเศร้าเสียใจถึงคนที่ตาย แต่ว่าเขาเกิดแล้ว เขาจะเกิดเป็นอะไรเท่านั้นที่เราไม่ทราบ ถึงเราก็เหมือนกัน วันหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ แล้วก็ยังมีกรรมแน่นอน ที่จะทำให้เกิดเป็นบุคคลไหนก็ได้

    อย่างเราขณะนี้ อาจจะไม่ทราบว่าเราจากใครในโลกก่อนมา ซึ่งรักเราอย่างมากเป็นญาติสนิทมิตรสหาย ป่านนี้กำลังร้องไห้ถึงเราก็ได้ แต่เราไม่รู้ ไปเจอเขาเราก็ไม่รู้ว่าคนนี้เขากำลังคิดถึงเรา เพราะเราเกิดมาเป็นคนนี้ ก็อาจจะมีอายุ ๙๐ ปี เป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายอะไรก็แล้วแต่ แต่เราเห็นเราก็ไม่รู้ ไม่มีความผูกพัน

    เพราะฉะนั้น เราก็เป็นเรา คนนี้เพียงสั้นๆ คือชั่วอายุ แล้วแต่ว่าใครจะมีอายุสั้นหรือยาว แต่ความจริงก็เป็นเพียงสมมติ ของจิต เจตสิก และรูปซึ่งเกิดดับเท่านั้นเอง จิต เจตสิก รูป ที่เกิดแล้วดับไป ที่แน่นอนที่สุด ที่ควรจะทราบว่า ไม่มีจิตสักขณะซึ่งกลับมาอีก เจตสิก รูป ไม่มีกลับมาอีกเลย เห็นขณะเมื่อกี้กับเห็นขณะนี้ไม่ใช่ขณะเดียวกัน จักขุปสาทรูปซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดเห็น ก็ไม่ใช่จักขุปสาทรูปก่อน จักขุปสาทรูปนั้นดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น ชีวิตจริงๆ สั้นแสนสั้น และเท่ากันทุกคน คือมีขณะย่อยสั้นๆ ๓ ขณะคือ อุปาทขณะ ขณะเกิด แล้วก็ภังคขณะ ขณะดับ แต่ก่อนที่จะเป็นภังคขณะ ก็เป็นขณะที่ตั้งอยู่สั้นๆ เป็นฐีติขณะ จิตหนึ่งขณะซึ่งแสนสั้น ก็ยังมีขณะย่อย คือ ขณะที่จิตเกิด ไม่ใช่ขณะที่จิตดับ แล้วก็ขณะที่ตั้งอยู่ ก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด และไม่ใช่ขณะที่ดับ

    เพราะฉะนั้น ที่ต้องการความสุข ความสุขนั้นจะสั้นสักแค่ไหน แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ ว่างเปล่าจริงๆ เพราะอะไร เกิดแล้วหมด หมดจริงๆ ไม่เหลือ ถ้าใครจะมีความมานะ ความสำคัญตน ถือว่าเป็นเรามีความสำคัญมาก ก็เหมือนลูกโป่งลอยขึ้นไปแล้ว แล้วแต่ว่าจะลอยไกลสักแค่ไหน แล้วในลูกโป่งมีอะไรที่เป็นสาระ

    ผู้ฟัง ที่เป็น Mass เป็น Air

    ท่านอาจารย์ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ชีวิตก็คืออย่างนี้ ถ้าเราไม่มีปัญญาอย่างนี้ เราก็คงจะทำอกุศลมาก สะสมโลภtมากๆ โทสะมากๆ ไม่มีการให้อภัย ไม่มีการช่วยเหลือสงเคราะห์ใครทั้งสิ้น แต่เวลาที่เราเห็นธรรมเป็นธรรม เราจะเห็นความน่ารังเกียจของอกุศล แต่ต้องเป็นไปตามระดับขั้น ขั้นปุถุชน คนที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล เพียงฟังแล้วก็เข้าใจ แต่ยังไม่เห็นลักษณะซึ่งเป็นเพียงธาตุ เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นเพียงธาตุแต่ละชนิด ตรงตามลักษณะของธาตุนั้นๆ ก็ต้องอบรมจนกว่าจะมีความเห็นถูกในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม จนประจักษ์แจ้งการเกิดดับ จนหน่ายคลายความติดข้องในความเป็นว่าเป็นเรา จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน หมดความสงสัยในอริยสัจจ์ ๔ เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่หิริ หรือโอตตัปปะ ความละอาย ความรังเกียจ ความเห็นโทษของอกุศลของพระโสดาบัน ยังไม่เท่าของพระสกทาคามี

    เพราะฉะนั้น ปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญต่อไป คือ นามธรรม รูปธรรมนั่นแหละที่สติระลึก ที่เคยระลึกมาแล้ว แต่เริ่มเห็นโทษขึ้นอีกว่า ลักษณะนี้มีความที่เป็นโทษขั้นนั้นขั้นนี้ ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง การทำวิปัสสนา อารมณ์ทั้ง ๒ อย่าง อารมณ์อาณาปานสติ มันมีทั้ง ๒ อย่าง ทั้งสมถะ และวิปัสสนา ...

    ท่านอาจารย์ เป็นปัญญาต่างขั้น เพราะเหตุว่าแม้ว่าอารมณ์จะเป็นอารมณ์เดียวกัน แต่อารมณ์นั้น ขณะที่จิตระลึกแล้วสงบ เป็นสมถะ แต่ขณะที่ระลึกแล้วรู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรม ขณะนั้นเป็นปัญญาที่เป็นวิปัสสนา ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา จะไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง ความสงบ

    ท่านอาจารย์ เท่านั้น

    ผู้ฟัง เวลานั่งสมาธิ เอาอารมณ์ ๒ อย่าง ทีนี้อยากทำวิปัสสนา นี่ ...

    ท่านอาจารย์ ถ้าใครอยากทำวิปัสสนาก็ผิดเลย เพราะไม่ใช่เรื่องเราอยาก แต่เป็นเรื่องการอบรมปัญญา ความรู้ความเข้าใจก่อน

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องสมมติ มันเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีการฟัง มีการพิจารณาไตร่ตรองต้องมีปัญญาแน่นอน ค่อยๆ มี ช้าหรือเร็ว

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า คนเราจะมีปัญญา เกิดจากบุญที่ทำไว้ชาติก่อน

    ท่านอาจารย์ มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง อย่างผมถ้าเกิดไม่มีบุญในชาติก่อนนี้ ผมจะเริ่ม จุดจะเริ่มคือ ต้องเริ่มฟังก่อน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาต้องมาจากฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะว่าผมก็มีลูก แต่ไม่เคยได้พามา ตอนแรกก็คงอาจจะต้องให้มาฟังก่อน ตัวเขาไม่เข้าใจก็ต้อง Insist ให้เขา

    ท่านอาจารย์ ถาม ไม่เข้าใจก็ถามให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ยากที่สุดคือประจักษ์การประจักษ์แจ้งนิพพาน จิตเท่านั้นที่จะเป็นตัวประจักษ์แจ้ง

    ท่านอาจารย์ เจตสิกด้วย ปัญญาเจตสิก จิตเขาทำอะไรไม่ได้เลย เขาเป็นธาตุที่รู้แจ้ง อารมณ์ที่ปรากฏ เขาไม่จำ เขาไม่รู้สึก เขาไม่ริษยา เขาไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่รักไม่ชั่งทั้งหมด ธาตุรู้ล้วนๆ เป็นจิต แต่เจตสิกมีหลากหลาย

    ผู้ฟัง จิตที่จะรู้แจ้งนิพพาน จะมีทั้งหมด ๘ ดวง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทั้งหมด

    ผู้ฟัง การที่จะถึงขั้นโลกุตตระ ก็แย่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น คนธรรมดาคงจะไป Force ให้เขารู้แจ้งนิพพานไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทำอย่างนั้นได้เลย ค่อยๆ ให้เขาเข้าใจคำสอน

    ผู้ฟัง ไม่รู้แจ้งนิพพาน

    ท่านอาจารย์ ก็เรายังไม่ถึง ก็ยังไม่ถึงที่เราจะไปคิดถึงเรื่องนิพพาน สิ่งที่กำลังปรากฏ เรารู้แค่ไหน ตามความเป็นจริง ถ้าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะจริงๆ เพียงแต่ฟังเรื่องราว แต่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะตัวจริงของเขา เพราะว่าปัญญาขั้นฟังยังไม่พอ แล้วก็ไม่ใช่ระดับที่จะทำให้รู้แจ้งด้วย ระดับที่จะรู้แจ้งต้องเป็นปัญญาที่จะอบรมมากกว่านี้ ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก่อน นิพพานไม่ต้องพูดถึงเลย

    ผู้ฟัง มีคนเขากล่าวว่า นิพพาน สมมติว่ามันก็เหมือนเค็ม คนที่ไม่มีลิ้นรับรสเค็ม อธิบายให้เขาจนตาย เขาก็ไม่รู้เรื่อง ใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    29 มิ.ย. 2567