ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
ตอนที่ ๑๙๕
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๑
ท่านอาจารย์ จิตไม่มีใครสามารถจะมองเห็นได้ รู้ว่ามี แต่มองไม่เห็น จิตก็ไม่มีเสียงที่จะบอกว่าฉันคือจิต หรืออะไรอย่างนั้น ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีความเย็นความร้อนใดๆ ถ้าเราตัดสีออกจากโลกนี้หมด เสียงออกจากโลกนี้หมด กลิ่นออกจากโลกนี้หมด ไม่มีรสใดๆ ไม่มีเย็นร้อนอ่อนแข็งใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าจิตเกิด จิตต้องเป็นธาตุรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะไม่ใช่สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง เพราะเหตุว่าถ้าเราพูดถึงคำว่า ธาตุหรือธรรม ก็แสดงอยู่ในตัวแล้วว่า ไม่ใช่คนหนึ่งคนใด ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงมีลักษณะแสดงให้เห็นว่า มีจริงๆ ไมใช่ว่า เราไปบอกว่าสิ่งนี้มี แต่ไม่มีลักษณะแสดงให้เรารู้ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงทั้งหมดแต่ละอย่าง มีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นๆ ที่จะปรากฏให้รู้ได้ แม้แต่จิตซึ่งเป็นนามธรรม ถ้าใช้คำว่า “นามธรรม” หมายความถึง เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อเกิดขึ้นต้องรู้ จึงเป็นนามธรรม แต่ถ้าเป็นรูปธรรมแล้ว เกิดขึ้นก็จริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทุกอย่างที่ไม่รู้อะไรเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นจิตเป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าทันทีที่จิตเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ดับ
ในขณะนี้มีจิตจริง ยากไหมที่จะเข้าใจ เพราะว่าลักษณะของจิตเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ หรืออาการรู้ที่กำลังเห็น ยากเหลือเกิน เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏแล้วก็ไม่มีการรู้ว่ามีสิ่งที่กำลังเห็น เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็น แล้วจะรู้ว่ามีสิ่งที่กำลังเห็นได้อย่างไร ถ้าไม่ฟังด้วยเหตุผล ด้วยการพิจารณาว่า ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏ เป็นสีสันวรรณะต่างๆ ต้องมีสภาพที่กำลังเห็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง แต่เป็นลักษณะคือเป็นธาตุรู้ ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ เสียงมีในป่าไม่มีใครได้ยิน เป็นเสียงหรือเปล่า เสียงมีในป่า เป็นเสียงไหมไม่มีใครได้ยิน เสียงเป็นเสียงไหม
ผู้ฟัง ก็เป็น
ท่านอาจารย์ เสียงก็เป็นเสียง คือจะเป็นอื่นไมได้ เสียงก็ต้องเป็นเสียง แม้ว่าใครจะได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ตาม เวลาที่เสียงปรากฏ คือขณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทุกคนรู้ว่ามีเสียงปรากฏ ต้องมีสภาพที่ได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏ กับชั่วขณะที่เสียงได้ยิน
นี่คือลักษณะของจิต เป็นธาตุหรือเป็นสภาพรู้ ซึ่งขณะที่นอนหลับสนิท แม้ว่ามีจิตแต่ไม่มีการรู้อะไรทั้งสิ้น อย่างหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือว่า เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แล้วสิ่งที่ถูกรู้ ต้องใช้คำให้ถูกต้องด้วยว่า ใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ เป็นที่ยินดีของจิต อาลัมพนะ ถ้าจิตจะไม่ไปไหน นอกจากไปสู่อารมณ์ ถ้าใช้คำนี้ แต่จริงๆ คือรู้อารมณ์นั่นเอง เพราะว่าไม่มีแขน ไม่มีขา ไปไหนไม่ได้ จิตไปไหนไม่ได้ ถ้าเข้าใจอย่างถูกต้องคือจิต เป็นธาตุรู้ที่เกิดแล้วก็ดับ เวลาจิตเกิดขึ้นเห็น เห็นแล้วดับ ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย เวลาที่จิตเกิดขึ้นได้ยิน ได้ยินแล้วดับ
นี่คือลักษณะของธาตุรู้แต่ละชนิด ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่เหมาะสม เพราะฉะนั้น พอพูดถึงจิต ทุกคนก็พอรู้ว่า ตอนนี้เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ไม่มีรูปร่าง และมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ แล้วสิ่งที่ปรากฏ ภาษาบาลีเรียกว่า อารัมมณนะ หรืออาลัมพนะ แต่ภาษาไทยเราตัดสั้นๆ ว่า อารมณ์ แล้วก็เข้าใจผิดไปเลย คือเข้าใจผิดว่า วันนี้อารมณ์ดี ความจริงอารมณ์ดีเพราะเห็นดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นดี ได้ลิ้มรสดี ได้กระทบสัมผัสดี ใจสบาย ก็บอกว่าวันนี้อารมณ์ดี ถ้าบอกใหม่ว่าวันนี้อารมณ์ไม่ดีเลย หมายความว่าเห็นอะไรก็ไม่น่าพอใจเลย เห็นฝุ่น เห็นขยะ เห็นอะไรก็แล้วแต่ เห็นของสกปรก ไม่สะอาด ไม่สวยงาม หรือว่าได้ยินเสียง อารมณ์ไม่ดี กลิ่นไม่ดี รสไม่ดี ทำให้สัมผัสอารมณ์ไม่ดี นั่นคือภาษาไทย แต่ภาษาบาลีคำจำกัดความต้องตายตัว แล้วใช้ได้ตลอด คือ จิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีอารมณ์ คือจิตสิ่งที่จิตกำลังรู้
เสียงในป่า เสียงทั้งหมด ภาษาบาลีใช้คำว่า สัททะ เสียงที่ไม่ปรากฏเพราะว่าจิตไม่ได้ยิน แต่เสียงที่ปรากฏเพราะจิตได้ยิน เพราะฉะนั้น เสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน ภาษาบาลีใช้คำว่า สัททารมณ์ หมายความว่าไม่ใช่เพียงสัททะเท่านั้น แต่เป็นอารมณ์ด้วย เพราะฉะนั้น เสียงเป็นสัททารมณ์ ถ้าได้ยินคำว่า สัททารมณ์ หมายความว่า จิตกำลังรู้ ถ้าจิตไม่รู้ ก็เป็นเพียงสัททะหรือเสียง พอที่จะเข้าใจเรื่องจิตแล้วใช่ไหม หรือว่ายังมีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับเรื่องจิตก่อนที่จะไปถึงเจตสิก
ผู้ฟัง สงสัยตอนที่เราหลับ จิตนี้เกิดดับ เกิดดับเร็วมาก ขณะที่เราหลับ ตาก็ปิด หูก็ไม่ได้ยิน ยังมีจิตเกิดดับๆ ๆ ต่อเนื่อง อันนี้ ภวังคจิตใช่ไหม แล้วเวลาหนูฝัน เป็นภวังคจิต หรือจิตอะไร
ท่านอาจารย์ ต้องทราบจิตแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าลืม จิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ทุกครั้ง แต่ว่ามีจิต ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งเป็นจิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่รู้อารมณ์หรือไม่มีอารมณ์ แต่เพียงไม่รู้อารมณ์ทางตาคือไม่เห็น ไม่รู้อารมณ์ทางจมูกคือไม่ได้กลิ่น ไม่รู้อารมณ์ทางหูคือไม่ได้ยิน ไม่รู้อารมณ์ทางลิ้น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้อารมณ์ทางกาย ไม่ได้กระทบสัมผัส แล้วก็ไม่ได้คิดนึกเรื่องใดๆ ทางใจด้วย
เพราะฉะนั้น มีจิตประเภทหนึ่งที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนจิตอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ถ้าเราพูดโดยไม่มีตัวอย่าง ฟังยาก แต่ตัวอย่างก็คือกำลังนอนหลับสนิท เห็นหรือเปล่า ได้ยินไหม ได้กลิ่นไหม ลิ้มรสไหม รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไหม คิดนึกไหม ไม่มีแม้ความคิด แต่ยังมีจิต เพราะว่าไม่ใช่คนตาย
เพราะฉะนั้น จิตประเภทนี้ทำภวังคกิจ ทำหน้าที่ดำรงภพชาติ เกิดดับดำรงภพชาติ เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต คือเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีจิต ก็จะไม่มีชีวิต..ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ไม่ว่าประเภทไหนทั้งสิ้น ก็คือตาย แต่ตราบใดที่ยังไม่ตายก็ต้องมีจิตประเภทใดประเภทหนึ่ง ที่แยกใหญ่ๆ เป็น ๒ ประเภท คือ เป็นจิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต อันนี้ชื่อปะปนกันหน่อยกับภาษาไทย เพราะว่าวิถี เราหมายความถึงทาง หรือทางเดินที่เป็นวิถีทางของชีวิต หรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าสำหรับวิถีจิต หมายความว่า จิตประเภทที่อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิกับไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์
เพราะว่าตอนเกิด ขณะเกิด โลกนี้ไม่ปรากฏแน่นอน ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ใช่จิตที่เห็น ไม่ใช่จิตที่ได้ยิน ไม่ใช่จิตที่ได้กลิ่น ไม่ใช่จิตที่ลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้ แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ไม่ใช่จิตที่คิดนึก แต่จิตนั้นเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย จึงเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ แล้วก็ทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ทำภวังคกิจ คือ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะตาย แต่ระหว่างเกิดกับตายจะต้องมีจิตประเภทต่างๆ เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตโลภ จิตโกรธ จิตดี จิตไม่ดี พวกนี้ไปเรื่อยๆ ขณะใดก็ตามที่จิตรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต และภวังคจิต เป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น เว้นปฏิสนธิจิต ภวังคจิตกับจุติจิตเท่านั้น ๓ ประเภทนี้ ๓ ขณะ แต่ว่าเป็นจิตชนิดเดียวกัน เพราะว่าเป็นผลของกรรมเดียวกัน นอกจากจิต ๓ ขณะนี้แล้วขณะอื่นเป็นวิถีจิตทั้งหมด
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ขณะที่ฝันก็เป็นวิถีจิต
ท่านอาจารย์ ใช่
ผู้ฟัง แล้วเป็นประเภทกุศลหรืออกุศล เพราะบางครั้งก็ฝันดีๆ
ท่านอาจารย์ อันนี้ก็ดี ได้ทราบชาติของจิตว่า เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เมื่อกี้เราพูดถึงวิบาก กุศลเป็นเหตุ อกุศลเป็นเหตุ วิบากเป็นผล เป็นจิตทั้งหมด ถ้าถามว่าผลของกรรมจะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ไม่ได้ แต่ต้องเป็นจิตประเภทที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้จิตประเภทวิบากเกิด เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นผลกรรมหนึ่ง เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตเกิดสืบต่อเป็นผลของกรรมเดียวกัน ยังไม่เปลี่ยน กรรมนั้นยังให้ผลอยู่ คือ ต้องหลับไปเถอะ หรือไม่รู้อารมณ์ไปเถอะ จนกว่ากรรมอื่นจะให้ผล หรือกรรมอันนั้นแหละ กรรมเดียวกับปฏิสนธิให้ผลด้วย หมายความว่า เขาไม่ได้ให้ผลเพียงแค่เกิดแล้วเป็นภวังค์ ถ้ากรรมให้ผลเพียงแค่เกิดแล้วเป็นภวังค์ คนเกิด สัตว์เกิด เทวดาเกิด พรหมเกิด ไม่ต่างกันเลย เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่รู้อะไรทั้งสิ้น โลกนี้ไม่ปรากฏ โลกไหนก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น อารมณ์ของปฏิสนธิจิตกับอารมณ์ของภวังคจิตกับจุติจิต ไม่ใช่อารมณ์ที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่าเป็นอารมณ์ที่สืบเนื่องมาจากจิตใกล้จุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อข้ามภพข้ามชาติแล้วไม่มีทางที่จะปรากฏเลยว่า ชาติก่อนเราเป็นใคร แล้วเราตายที่ไหน แล้วก่อนเราตายจิตเราเป็นอย่างไร ไม่มีทางจะรู้ได้เลย เหมือนประตูที่ปิดสนิท ไม่มีทางที่จะข้ามไปหรือย้อนไปรู้ว่ามาจากไหน แล้วก่อนจะตายจิตประเภทไหนเกิด แต่จิตที่เกิดก่อนจะตาย เป็นผลของกรรมหนึ่งในบรรดากรรมมากมาย เพราะว่าเราเพียงชาตินี้ชาติเดียว ไม่ได้ทำกรรมเดียวเลย มีกรรมตั้งหลายอย่าง แล้วกรรมที่จะทำให้เราเกิดต่อจากตายในชาตินี้ ไม่ใช่เป็นกรรมในชาตินี้เท่านั้น กรรมก่อนๆ ก็จะมีโอกาสที่จะทำให้ชาติหน้า เราเกิดเป็นอะไรต่างๆ กันด้วย
ผู้ฟัง เคยอ่านหนังสือ คนกำลังหลับ ... แล้วจิตออกร่างไปแล้วกลับมา จริงไหม
ท่านอาจารย์ ไม่จริง จิตไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย นามธาตุ นามธรรมเป็นนามธรรมล้วนๆ แยกขาดจากรูปโดยเด็ดขาด ไม่มีรูปสักรูปอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ เอาสีสันวรรณะออก เอาเสียงออก เอากลิ่นออก เอารสออก เอาเย็นร้อนอ่อนแข็ง เอารูปออกหมด จิตเกิดขึ้นต้องเป็นธาตุรู้ เพราะว่าสภาพนามธาตุเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อเราอยู่ในโลกซึ่งมีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ คือมีสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เราต้องติดในรูปมากๆ ลืมไปว่าขณะนี้จิตกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นจิต แต่คิดว่ามีเราที่กำลังเห็น แต่ความจริงไม่ใช่ ต้องมีสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งธาตุรู้หรือสภาพรู้มี ๒ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว ธาตุรู้หรือสภาพรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง จำ ไม่จำด้วย ไม่เสียใจ ไม่ดีใจ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ใช่ปัญญา หรืออะไรทั้งหมด เพียงแต่สามารถจะรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ชัดเจน หมายความว่ารู้แจ้งจริงๆ ในลักษณะหลากหลายของอารมณ์ที่ปรากฏ อย่างสีฟ้า มีตั้งแต่ฟ้าอ่อนที่สุดจนกระทั่งแก่ที่สุด ถ้าไม่มีตาเห็น จะรู้ไหม ไม่รู้ แต่ที่เห็นว่าต่างกัน เพราะจิตเห็น คือ เห็นความละเอียด ความหลากหลาย ความต่างของอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู เสียงต่างๆ ทางจมูกกลิ่นต่างๆ ทางลิ้น รสต่างๆ บางรสอธิบายไม่ถูก ทานเข้าไปแล้วคนอื่นถามว่าเป็นอย่างไร บอกไม่รู้ แต่จิตลิ้ม ไม่มีคำจะอธิบายจริง ต่อให้รสนั้นจะประหลาดแปลกสักเท่าไรก็ตาม ไม่เหลือวิสัยที่จิตจะลิ้มรสนั้น เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่ปรากฏกับจิต แม้ว่าไม่ต้องใช้คำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น
จิตเป็นใหญ่ เป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ในการเป็นธาตุรู้ เขารู้แจ้งอารมณ์ แต่เขาจะไม่จำอารมณ์ ไม่มีกิจหน้าที่อื่นเลย หน้าที่อื่นทั้งหมดเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต
นามธรรมทั้งหมด บางทีใช้คำว่า นามธรรม ๕๓ เพราะว่าเป็นเจตสิก ๕๒ ชนิด ซึ่งแต่ละเจตสิกก็จะมีลักษณะเฉพาะของเขา แล้วก็มีจิตหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ คือรู้อย่างเดียวไม่ทำอย่างอื่นเลย แต่เป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะเหตุว่าถ้าจิตไม่เกิด เจตสิกก็เกิดไม่ได้ และในขณะเดียวกัน ถ้าเจตสิกไม่เกิด จิตก็เกิดไม่ได้
นี่คือธรรมที่เกิดขึ้นโดยต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าคนไม่รู้ก็คิดว่าจิตเกิดขึ้นไม่มีอะไร มีแต่จิต เพราะฉะนั้นศาสตร์อื่นจะไม่กล่าวถึงเจตสิกเลย แต่จะมีระดับของจิตต่างๆ จิตใต้สำนึก จิตเหนือ อะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่พูดถึงเรื่องเจตสิก เพราะว่าไม่รู้ว่าเป็นเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต จิตเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เวลาที่ใช้คำว่า นาม คำเดียว ภาษาไทยเราคิดถึงชื่อ แต่ถ้าเป็นนามธรรม ไม่เกี่ยวกับชื่อเลย แต่หมายความถึงสภาพธรรมที่สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ นามธรรมที่เกิด ไม่รู้อารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ นอนหลับสนิทไม่รู้อารมณ์ได้ไหม คือธรรมนี้เปลี่ยนไม่ได้เลย อันนี้ต้องทราบ อย่างไรๆ ก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะไม่ใช่การคิดการเดาการคาดคะเน แต่เป็นการตรัสรู้ สภาพธรรมจริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นแล้วจากนั้นไม่ให้รู้อะไรได้ไหม ถ้าเป็นธาตุรู้ เพียงแต่ว่าอารมณ์นั้นจะปรากฏหรือไม่ปรากฏให้รู้ แต่ว่าจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ต้องรู้ รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด
เราจึงกล่าวได้ว่าอะไรเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิต ในเมื่อโลกนี้ไม่ปรากฏเลย ยังไม่มีตา ไม่มีหู แต่จิตเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขณะแรก เป็นผลของกรรม ซึ่งมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะตายของชาติก่อน ชาติก่อนเราไม่รู้ว่าเราตายอย่างไร แล้วก็ก่อนจะตาย เห็นอะไรก็ไม่รู้ ได้ยินเสียงอะไร แล้วคิดนึกอย่างไรก็ไม่รู้ ไม่มีทางรู้ทั้งสิ้น แต่ต้องมีจิตที่เกิดก่อนจุติ คือจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน จุติจิตหมายความถึงจิตนี้เกิดแล้วดับไปคือตาย เพราะว่าจิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับคือสิ้นชีวิต
ก่อนจะตาย เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าอะไรจะปรากฏ แต่ว่าถ้าเราเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้เองเราจะตายได้ไหม ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น อารมณ์ที่ปรากฏก่อนจะตาย เป็นสีสันวรรณะก็ได้ เป็นเสียงก็ได้ เป็นกลิ่นก็ได้ เป็นรสก็ได้ เป็นอ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏก็ได้ หรือเป็นเรื่องราวที่นึกคิดก็ได้ ถ้าจิตเศร้าหมอง เพราะคิดถึงเรื่องที่ไม่ดี ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น จิตก่อนจะตาย ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงจิตเห็นกับจิตได้ยินขณะนี้ ห่างกันไกลกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต แต่ว่าจิตใกล้จะตายมีจิตเกิดดับสืบต่อกันที่เป็นกุศล อกุศลเพียง ๕ ขณะ เพราะฉะนั้น เร็วมาก ไม่มีการจะไปเตรียมตัว ต้องแล้วแต่กรรม
กรรมที่ทำให้เกิดใช้คำว่า ชนกกรรม ชนก แปลว่าทำให้เกิด กรรมหนึ่งซึ่งจะเป็นชนกกรรมจะทำให้จิตเกิดขึ้นแล้วก็มีสิ่งที่เกิดเพราะกรรมนั้นเป็นอารมณ์ อาจจะเป็นการนึกคิดถึงกรรมที่ได้ทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ได้ เพราะว่าเราห้ามความคิดของเราไม่ได้เลย นั่งๆ ฟังอย่างนี้ เราคิดเรื่องอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดเรื่องอื่นแล้วตาย ก็คือ ตอนนั้นมีเรื่องนั้นเป็นอารมณ์ แล้วก็จิตนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ถ้าเราตายเดี๋ยวนี้กำลังฟังธรรมเข้าใจ จิตเป็นกุศล ปฏิสนธิของเราก็เป็นผลของกุศลกรรม ที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าเราเลือกไม่ได้เลยว่า จะให้กรรมไหนของเราให้ผล การศึกษาธรรมจะทำให้เราเข้าใจธรรมทุกอย่างว่า เป็นแต่เพียงธาตุ การที่ใครจะเกิดมาพิการตั้งแต่กำเนิด หรือว่ามั่งมีมหาศาล หรือว่ามีสติปัญญามาก หรือว่าสติปัญญาน้อย ไม่มีใครต้องการจะได้สิ่งที่ไม่ดี แต่ว่าต้องแล้วแต่กรรมไหน เพราะเรามีกรรมทุกประเภทที่เรากล่าวมา อกุศลกรรมก็มี ที่จะทำให้ไม่มีจักขุปสาท ตาบอด หรือหูหนวก หรือว่าร้ายแรงมากกว่านั้น คือว่าเกิดในนรกหรือเกิดเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย เดรัจฉาน มด ปลวก หนู ช้าง อะไรก็ได้ แล้วแต่กรรม เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าที่เราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม
ผู้ฟัง กรรมเป็นเจตสิก ใช่ไหม ที่เราพูดกรรม กรรม กรรม บางครั้งงง เป็นนาม คือเจตสิก
ผู้ฟัง กรรมนี้เป็นการกระทำไม่ใช่หรือ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต รูปทำอะไรไม่ได้เลย
ผู้ฟัง มีผลมาจากจิต
ท่านอาจารย์ รูปทำอะไร รูปก็ไม่รู้ รูปไปตีใคร รูปก็ไม่รู้รูปไปตีใคร
ผู้ฟัง ไม่มีใครสั่งได้
ท่านอาจารย์ อย่าใช้คำนี้ ชอบใช้กันจนติดแล้วก็ไม่แก้ แล้วก็ทำให้เข้าใจผิด ก็มันง่ายดี คือ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวบ้าง หรือว่าจิตสั่งรูปบ้าง แต่ความจริงจิตเกิดขึ้นแล้วรู้เท่านั้นเอง จิตทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากรู้ กำลังเห็นสั่งอะไร เอาจิตได้ยินสั่งอะไร จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ดับไปแล้วสั่งอะไร แต่ว่ารูปเกิดจากจิต ไม่ใช่มีรูปที่เกิดจากกรรมท่านั้น ไม่ใช่มีรูปที่เกิดจากอุตุ หรืออาหารเท่านั้น แต่มีรูปที่เกิดจากจิตด้วย กำลังพูด ทุกคนก็พูดไป มีรูปที่กระทบกับฐานของเสียงเพราะจิตคิด
ผู้ฟัง คนที่โกรธหน้าแดง ...
ท่านอาจารย์ คนที่โกรธหน้าแดง หน้าแดงนั้นเกิดจากโทสะ หรือว่าร้องไห้ น้ำตาไหล น้ำตามาจากจิตที่เสียใจ ก็ทำให้รูปนี้เกิดขึ้น แต่ว่านี่เป็นรูปหยาบๆ ที่เรามองเห็น แต่ความจริงพอปฏิสนธิจิตดับ จิตขณะต่อไปที่ทำภวังคกิจขณะแรกเรียกว่า ปฐมภวังค์ มีจิตตชรูป รูปที่เกิดเพราะจิตนั้นเป็นสมุฏฐานเกิดพร้อมกันในอุปาทขณะ เพราะว่าจิตขณะหนึ่งจะมีจิตขณะย่อย ๓ ขณะ คือ ขณะเกิด ชื่อว่า อุปาทขณะ ขณะดับ ชื่อว่า ภังคขณะ แล้วระหว่างที่ยังไม่ดับก็เป็น ฐีติขณะ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตตชรูปเกิด เกิดพร้อมอุปาทขณะของจิตเลย ทันทีเลยไม่มีโอกาสสั่ง ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะไม่ใช้คำว่าจิตสั่ง เพราะสั่งไม่ทัน เกิดพร้อมกัน ทันทีที่จิตเกิด รูปก็เกิด นั่นคือรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้ารูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ก็จะต่างจากรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน คือตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมก็ทำให้รูปเกิดทุกขณะย่อยของจิต นี้ต่างกัน แต่ว่าไม่ใช่มีเราดีใจ หรือว่าเสียใจ แล้วก็เห็นอาการของรูปว่า รูปนี้เกิดจากจิต จิตตชรูปเกิดได้ตั้งแต่ปฐมภวังค์
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240