ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
ตอนที่ ๑๙๖
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๑
ท่านอาจารย์ จิตตชรูปเกิดได้ตั้งแต่ปฐมภวังค์ มีจิต ๑๐ ดวงหรือ ๑๐ ชนิดซึ่งไม่สามารถ ไม่เป็นปัจจัยพอที่จะให้จิตตชรูปเกิด คือที่เราเรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ วิญญาณ แปลว่ารู้ ปัญจ แปลว่า ๕ จิต ๕ ดวง ทวิแปลว่า ๒ อย่างละ ๒ คือ จิตเห็น ๒ ดวง จิตได้ยิน ๒ ดวง จิตได้กลิ่น ๒ ดวง จิตลิ้มรส ๒ ดวง จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๒ ดวง ๑๐ แล้ว ใช้ไหม จิต ๑๐ ดวงนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง ไม่พอที่เป็นสมุฏฐานที่ทำให้รูปเกิด นอกจากจิต ๑๐ ดวงนี้แล้ว ทุกขณะที่จิตเกิด จิตตชรูปเกิดร่วมด้วย แม้แต่ขณะที่นอนหลับสนิท
ผู้ฟัง เรามีความจำเป็นที่เราจะต้องวิปัสสนา ไม่เคยวิปัสสนาเลย แต่ว่าเคยถามว่า คนเรานี้ถ้าวิปัสสนาช่วยให้สงบ ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ก่อนที่ทำอะไรทั้งหมด ควรเข้าใจหรือไม่เข้าใจ แล้วทำ
ผู้ฟัง ควรจะเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ควรจะเข้าใจ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะทำวิปัสสนา ต้องทราบว่าวิปัสสนาคืออะไร แล้วทำได้หรือเปล่า
ผู้ฟัง ยังไม่เคยทำ
ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้ว่า วิปัสสนาคืออะไร ก็ไม่ต้องทำ ต้องเข้าใจ ต้องรู้ก่อน ต้องเข้าใจถูก ไม่อย่างนั้นไม่ใช่วิปัสสนา ก็คิดว่าเป็นวิปัสสนา เพราะเขาบอกว่าวิปัสสนา โดยเราไม่รู้ว่าเป็นวิปัสสนา
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ เคยฟังไหม แล้วจิตสงบหรือเปล่า เพราะเป็นใจของเราเอง เวลาที่เราฟังพระเทศน์ จิตเราสงบหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าตอนจะตายนิมนต์พระมา แล้วจิตเราจะสงบหรือเปล่า
ผู้ฟัง แล้วแต่คน
ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุปัจจัย
ผู้ฟัง แล้วจะไปสวรรค์ได้หรือ คนตาย
ท่านอาจารย์ ถ้าจิตเศร้าหมองใจเป็นอกุศล ไม่ไปสวรรค์แน่นอน
ผู้ฟัง อย่างนั้นก็เป็นความเชื่อที่ผิด
ท่านอาจารย์ ไม่ เป็นคำสอนที่ต้องการคำอธิบายให้ชัดเจน เพราะว่าเท่าที่เราได้ฟังธรรมมา เราฟังเผินๆ ทั้งหมด เราจะได้ไตร่ตรองให้ละเอียดจริงๆ ว่า ได้แก่อะไร คืออะไร เป็นอย่างไร แม้แต่คำว่า “วิปัสสนา” เราก็ยังไม่ทันรู้อะไรแล้วเราก็จะไปทำ
ผู้ฟัง แล้วทำไมเรานิมนต์พระมาเทศน์ ...
ท่านอาจารย์ ท่านเทศน์ว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ... ทำจิตใจให้สงบ บอกทาง
ท่านอาจารย์ บอกได้ แต่ใจจะสงบหรือเปล่า ไม่สามารถจะรู้ได้ เหมือนกับเวลานี้ ถ้าเราเห็นพระพุทธรูป ใจของเราเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็เหมือนเวลามีพระไป แล้วแต่ใจ แล้วอีกอย่าง คือ แน่นอนที่สุด ขึ้นอยู่กับกรรมใดจะเป็นชนกกรรม กรรมมีมากมาย กรรมบางกรรมไม่เป็นชนกกรรม คือไม่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ตามอุปถัมภ์เมื่อเกิดแล้วได้ อย่างสุนัขน่ารัก สบายกว่าคนหลายคน มีอาหารทุกมื้อ อุปถัมภกกรรม ไม่ใช่ชนกกรรม ชนกกรรมเป็นอกุศลทำให้เกิดเป็นสัตว์ แต่ว่าเป็นสัตว์ที่สบาย เวลาที่คนเกิด การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม แต่บางครั้งเราก็ลำบาก บางครั้งก็เจ็บปวด เป็นโรคภัยต่างๆ ถ้าไม่มีกรรมที่จะทำให้จิตประเภทนั้นเกิดขึ้น มีความรู้สึกเป็นทุกข์ที่กาย ทุกข์ที่กายก็เกิดไม่ได้ เพราะว่ากรรมไม่ได้เพียงแต่ทำให้จิต เจตสิกเกิด กรรมยังทำให้เกิดรูป ซึ่งเป็นทางรับผลของกรรมด้วย อย่างกรรมทำให้จักขุปสาทเกิดสำหรับเห็น นี่คือผลของกรรม ขณะใดที่เป็นผลของกรรม คือไม่ใช่เกิดมาเปล่าๆ เกิดมาต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตามกรรม ดิฉันมีแผลเล็กๆ ไม่รู้มาได้อย่างไร ไม่ได้ทันสังเกตด้วยซ้ำไป เห็นไหม เราไม่ได้ทำเลย นึกไม่ออกว่า ไปทำอะไรตรงไหน แต่ก็มีรอยข่วน หรืออะไรอย่างนี้ ถ้าไม่มีเหตุ ผลอย่างนี้ก็ไม่มี โดยที่เราไม่ได้ไปจงใจหรือไปทำเลย
ต้องทราบเวลาพูดถึงกรรมกับผลของกรรมต้องให้ชัดเจนว่าเป็นจิต เจตสิก เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก คือ ๔ ชาติ อันนี้ควรจะทราบด้วย ชา-ติ คือการเกิดขึ้น เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ อย่าง คือ เป็นกุศล ๑ หรือเป็นอกุศล ๑ เป็นเหตุที่ ๒ หรือเป็นวิบาก คือเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ๑ แล้วก็ไม่ใช่ทั้งเหตุ และผล คือไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล และวิบาก แต่เป็นกิริยาจิต
ผู้ฟัง ผมเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า สมัยก่อนเข้าใจว่าวิบาก เป็นผลของกรรม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่ากรรมมี ๒ กรรมมีกุศลกรรม เพราะฉะนั้น กุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากจิต ถ้าเป็นอกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดอกุศลวิบากจิต คือ วิบากจิตที่เป็นผลของอกุศล
ผู้ฟัง ... สิ่งที่ทำให้เกิดความพอใจ ...
ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้ว ทราบไหมว่า มนต์หรือคาถาที่เป็นภาษาบาลีที่เราไม่รู้คำแปล จริงๆ แล้วเป็นอะไร อย่าง อิติปิโสภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ พวกนี้ เป็นคำสรรเสริญพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สำหรับผู้ที่รู้พระคุณ แม้เพราะเหตุนี้ อิติปิโส ภควา ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เพราะเหตุที่ทรงประจักษ์แจ้งลักษณะสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป และทรงแสดงโดยละเอียดให้คนอื่นสามารถรู้ได้ แม้เพราะเหตุนี้พระองค์ ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นผู้รู้ ผู้ที่เข้าใจ มิฉะนั้นเราก็เหมือนกับนก ก็มีจิตศรัทธา แต่ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา ต้องเป็นปัญญาที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นการอบรมเจริญวิปัสสนา วิปัสสนาหมายความว่า รู้แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เป็นปัญญาซึ่งต้องอาศัยการฟังตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป เพราะถ้าไม่มีวันนี้ ปัญญาวันหลังๆ ก็มีไม่ได้ ไปตั้งต้นวันไหน ก็คือวันนั้นแหละ นี้เป็นจิรกาลภาวนา ข้อความมีในพระไตรปิฎก ภาวนา หมายความถึงการอบรมเจริญในสิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ในสิ่งที่มีให้เจริญขึ้น เพราะว่าการที่เราจะเปลี่ยน เรา ซึ่งมีอกุศลมากมายให้เป็นคนที่หมดจดจากกิเลส ใช้เวลานานหรือเปล่า หรือว่านั่งแป๊บเดียว แล้วก็ ๒ วัน ๓ วัน ก็เป็นวิปัสสนา
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องเป็นปัญญาจริงๆ แล้วก็ต้องรู้ความจริง กว่าจะเป็นเราคนนี้ มีอัธยาศัยอย่างนี้ ทั้งดี ทั้งชั่ว มากบ้างน้อยบ้างต่างกัน ในแสนโกฏิกัปป์ที่ผ่านมา ก็มีการเห็น การเห็นเหมือนอย่างนี้แหละ เห็นที่ไหน เห็นเมื่อไร บนสวรรค์ ในพรหมโลก หรือว่าสัตว์ หรือว่าภพไหนชาติไหน เห็นก็คือเห็น เห็นอย่างเดียว เห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ได้ยินก็ได้ยินอย่างนี้ เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ต่างจิตต่างใจ ตามการสะสม บางคนเห็นแล้ว ไม่น่าจะโกรธก็โกรธ ไม่น่าจะเกลียดก็เกลียด ควรจะมีเมตตาก็เมตตาไม่ได้ หรืออะไรอย่างนั้น
นี่แสดงให้เห็นถึงการสะสม สภาพของธรรม ที่มีอยู่ในจิตแต่ละขณะ ว่าทันทีที่จิตขณะหนึ่งดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้น ก็สะสมสืบทอดทุกอย่างไป จากจิตขณะก่อนไปสู่จิตขณะต่อไป เพราะฉะนั้นแต่ละคนมีจิตคนละหนึ่งขณะ ตามการสะสม ดีชั่วแล้วแต่ ต่างคนก็ต่างรู้ว่ามีความไม่รู้แค่ไหน มีสติปัญญาแค่ไหน มีริษยาแค่ไหน มีความตระหนี่แค่ไหน ซึ่งเป็นการสะสมไปเรื่อยๆ หรือว่าแม้แต่ทางโลก มีความสามารถในการเล่นตนตรี การคำนวณ ในภาษาต่างๆ หรือว่าในศาสตร์ต่างๆ ก็ตามการสะสม ซึ่งทุกอย่างไม่สูญหาย แต่ต้องแยกประเภทว่า จิตที่เป็นวิบาก ไม่ใช่จิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่จะสะสม เพียงแต่เป็นจิตที่ต้องเกิดเพราะกรรมที่ทำแล้ว อย่างเวลาที่นอนหลับสนิทเป็นวิบาก ให้หลับ ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน จะยาว จะสั้น เพราะว่าเราบังคับให้ตื่นก็ไม่ได้ บังคับให้หลับก็ไม่ได้ แต่ทุกคนต้องตื่น เพราะว่ามีกรรมที่จะทำให้เห็น มีกรรมที่จะทำให้ได้ยิน แล้วก็ระหว่างที่วาระหนึ่งที่เห็นดับ ภวังคจิตเกิดคั่นนี่เร็วมาก ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ ก็ไม่ทราบ เพราะคิดว่าเห็นตลอดเวลา
เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด เจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่ว่าทำหน้าที่ต่างกันเป็นแต่ละเหตุ
ผู้ฟัง อาจารย์พูดถึงเรื่องจิตตชรูป จิตตชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิตทุกครั้ง เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง อันนี้ยังงงอยู่ ยังเข้าใจจิตตชรูปไม่ชัดเจน
ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดที่ได้ฟัง ไม่ใช่ทุกคนจะรู้อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะมีความรู้ความเข้าใจตามความสามารถของแต่ละบุคคล อย่างวันนี้เราฟังเรื่องจิต เรื่องเจตสิก รู้ความต่างของจิตกับเจตสิกขั้นฟัง ทั้งๆ ที่จิตก็ไม่ใช่เจตสิก ฟังเข้าใจ แต่ไม่สามารถจะแยกลักษณะที่ต่างกันของจิต เจตสิกได้
เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงด้วยพระปัญญา ทำให้เราสามารถที่จะรู้ได้ว่า สภาพความจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า อย่างภวังคจิตมีไหม ปฏิสนธิจิตเดี๋ยวนี้มีไหม
ผู้ฟัง หมดไปแล้ว
ท่านอาจารย์ อันนี้ก็ต้องระวัง เพราะบางทีอาจจะถามแทรกนิดๆ หน่อยๆ จุติจิต มีหรือยัง
ผู้ฟัง ยังไม่ถึง
ท่านอาจารย์ ยัง นี่เป็นของที่แน่นอนว่า เราเข้าใจแล้วในเรื่องของจิต ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมเดียว ส่วนจิตเห็น จิตได้ยินก็เป็นวิบาก แต่อาจจะเป็นผลของกรรมเดียวกันนั้น หรืออาจจะเป็นผลของกรรมอื่นก็ได้ เพราะว่ากรรมอื่นที่ไม่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดก็ยังเป็นกรรมที่อุปถัมภ์ หรือว่าเบียดเบียน หรือตัดรอนได้ หลายจิต ทำหน้าที่เกิด อุปถัมภ์ก็ได้ เบียดเบียนก็ได้ ตัดรอนก็ได้ สำหรับจิตตชรูป เราสามารถจะรู้ได้เวลาที่พูด ถ้าไม่มีจิตที่จะพูด ก็คงไม่มีรูปที่กระทบฐานของเสียง แต่พอเกิดมาเราก็พูด เราไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นมีรูปซึ่งเกิดเพราะความคิดนึก เพราะฉะนั้น วาจาหรือวจีสังขาร บางครั้งทรงแสดงไว้ว่า ได้แก่ วิตก วิจารเจตสิก เป็นสภาพที่คิด เพราะจิตเห็นไม่ได้คิด ทำให้วจีวิญญัติรูปเกิดไม่ได้ ไม่ทำให้รูปกระทบฐานเสียง ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน แต่ขณะที่คิดนึก ลองคิดดู บางทีเราคิดในใจ มีเสียงไหม ไม่มี แต่เวลาที่เราไม่ได้คิดนึกในใจก็มี เพราะฉะนั้น เวลาใดที่ต้องการที่จะเปล่งวาจาให้คนอื่นรู้หรือเข้าใจ ก็มีวจีวิญญัติรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะจิต พร้อมจิต แล้วกระทบฐานของเสียงทำให้เสียงเกิดขึ้น แต่บางครั้งไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เกิดเสียง แต่พอนึก พูดแล้ว มีไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สภาพความรวดเร็วของจิต แม้ว่าเราไม่ได้อยากจะพูดเลย เพียงคิดก็มีคำออกมาเสียแล้ว แต่ว่าบางครั้งคิด ยังไม่พูดก็มี นี่ก็แสดงให้เห็นความหลากหลายว่า สภาพธรรม แล้วแต่เหตุปัจจัยจริงๆ ว่าจะเกิดเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง จุติจิตที่จะเกิด ที่จะไปเกิดเป็นปฏิสนธิในชาติต่อไปจะเกิดเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ว่ากุศลหรืออกุศล ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นขณะ ๑ ขณะเดียวแล้วดับ หน้าที่ไหนก็หน้าที่นั้นแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น จุติจิตเป็นจิตขณะสุดท้ายที่เกิดขึ้นทำกิจอะไร จุติจิต ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพจากความเป็นบุคคลนี้ ภวังคกิจ ไม่ได้ทำกิจให้เราพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้เลย แต่รักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้ จึงเป็นภวังคกิจ ภว กับ อังค องค์ของภพ ดำรงภพชาติอยู่ แต่ว่าพอพูดถึงจุติจิต ไม่ใช่ภวังคกิจ เพราะว่าเราหมายความถึงจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จิตทุกขณะเกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย เกิดเพราะเหตุปัจจัยไหนแล้วก็ดับ ถ้าจะเกิดอีกก็เพราะปัจจัยอื่น อย่างโสตปสาท รูปหู ที่สามารถไปกระทบเสียง เกิดขึ้นเพราะกรรม มีอายุ ๑๗ ขณะจิต เพราะฉะนั้น เวลาที่เสียงงกระทบแล้วทำให้มีการได้ยิน ต้องขณะที่โสตปสาทรูปยังไม่ดับ และเสียงยังไม่ดับด้วย จึงเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น ถ้าโสตปสาทรูป ดับแล้วเสียงดับแล้ว ก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้จิตเกิดได้ยิน
นามธรรมใด รูปธรรมใดก็ตามที่เกิดแล้วดับ ไม่ใช่นามธรรมนั้นกลับมาอีก หรือกลับมาเกิดใหม่ หรือว่าทำหน้าที่ใหม่ ดับแล้วดับเลย เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตไม่ใช่จุติจิต
เรื่องกุศล ยังไม่จบว่า คืออะไร อยู่ที่ไหน คือจิตที่ดีงาม ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในเรื่อง ทาน การให้ เพราะฉะนั้น เราไม่ควรจะมุ่งเฉพาะว่าการให้เป็นกุศล แต่อย่างอื่นก็เป็นกุศลด้วย เรื่องของการให้ นอกจากว่าเราจะไม่ให้เอง เพียงแต่เห็นคนอื่นให้แล้วจิตของเราเป็นกุศล ยินดีด้วยที่เขาทำกุศลนั้นๆ ขณะนั้นก็เป็นกุศล นางวิสาขามิคารมาตา มีเพื่อน ด้วยกุศลที่อนุโมทนา ตอนนี้เพื่อนของนางวิสาขาผลของกรรมนั้นก็อยู่บนสวรรค์ แล้วกุศลใดๆ ที่ทำไปแล้ว ยังสามารถที่จะอุทิศให้ผู้ที่สามารถจะรู้ และอนุโมทนา ถ้าเขาสิ้นชีวิตแล้ว เขาซึ่งเป็นญาติในอดีต เห็นเรา ยังมีการระลึกถึงความเป็นมิตร ความเป็นผู้มีอุปการะคุณ เขาก็จะต้องมีจิตปลาบปลื้มแน่นอน ที่นอกจากเราจะทำดีแล้ว เรายังคิดถึงเขา ยังอุทิศส่วนกุศลนั้นให้เขาได้อนุโมทนาด้วย ถ้าเขาอนุโมทนา จิตเป็นกุศล ถ้าเขาไม่อนุโมทนาช่วยไม่ได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าอย่างญาติตาย เราทำบุญแล้วก็อุทิศส่วนกุศล แล้วเขาจะได้รับสิ่งที่เราให้ ไม่ใช่อย่างนั้น อยู่ในภพไหน สิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็เหมาะควรแก่ภพนั้น ไม่ใช่ว่าเรารับประทานสังขยา แล้วเขาก็ได้สังขยา ถ้าเขาไปเกิด เขาไม่ต้องการสังขยาบนสวรรค์ เพียงแต่เขาอนุโมทนา จิตเขาเป็นกุศล ก็เป็นเหตุคือเป็นกรรมซึ่งสืบต่อในจิตแต่ละขณะ เมื่อพร้อมที่จะให้เกิดผลเมื่อไร วิบากจิตก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น นี่คือกรรมปัจจัย
ผู้ฟัง เรารู้ว่าศึกษาธรรมเป็นของดี แล้วเราก็อยากจะให้เพื่อนเรามาฟัง แต่ด้วยความอยาก ความอยากคืออกุศล แล้วความอยากที่จะให้เพื่อนมาฟังมาศึกษา แต่เพื่อนไม่มาเราก็เป็นห่วงเขา อย่างโน้นอย่างนี้ แล้วจิตใจเราไม่สบาย ..ทั้งที่รู้ว่าเป็นของดีแต่เพื่อนไม่รับ อันนี้ ...
ท่านอาจารย์ วิธีที่จะรู้ว่า จิตของเราเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล กุศลไม่นำมาซึ่งความทุกข์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่อกุศล แม้ว่าเรามองดูในรูปลักษณ์ที่เหมือนกุศล แต่ถ้านำความทุกข์มาให้ ขณะที่เป็นอกุศลต้องเป็นไป ต้องแยกขาดออกจากกัน ขณะที่เรามีความหวังดีอยากจะให้คนอื่นได้ศึกษาได้เข้าใจธรรม ขณะนั้นไม่ใช่โลภะ เป็นความหวังดี แต่ตอนที่อยากให้เขาเป็นอย่างเราต้องการ ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะว่าพอเขาไม่เป็น เราผิดหวัง
ผู้ฟัง คนละขณะกัน
ท่านอาจารย์ ต่างกันเลย เพราะฉะนั้น โลภะกับกุศลหรือศรัทธา บางครั้งก็มีลักษณะที่คล้ายกันมาก ถ้าเราไม่ศึกษาหรือว่าสังเกตดีๆ จะไม่รู้ได้เลยว่า จริงๆ แล้วเป็นโลภะหรือเปล่า เรามีลูกหลาน ญาติ มิตรสหาย เรารัก ขณะที่รัก อดรักไม่ได้ แมว หมาน่ารักหมด นก หนู ปู ปลา ถ้าเกิดความติดข้อง ชอบ พอใจ คือความรัก เพราะฉะนั้น ขณะนั้นลูกจะรักพ่อแม่ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล พ่อแม่รักลูกเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นอกุศล อกุศลต้องเป็นอกุศล ไม่มีคำว่าพ่อแม่ลูก สภาพจิตเกิดขึ้นติดข้อง เป็นลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล แต่ถ้าคิดถึงคุณของพ่อแม่ บูชาในคุณความดีของพ่อแม่ เคารพในคุณความดีของพ่อแม่ เชื่อฟังพ่อแม่ในทางที่ถูกต้อง ปฏิบัติตามคำสอน หรือช่วยเหลือ ทั้งหมดเป็นกุศล แต่ว่าถ้าเป็นความรักความผูกพันขนาดไหนเป็นอกุศลทันที เปลี่ยนไม่ได้ เราก็รู้ต้องมี คนที่ไม่มีคือพระอรหันต์ นอกจากจะเป็นพระอรหันต์ที่ไม่มีโลภะเลย พระอนาคามี ท่านไม่มีโลภะที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
ธรรมเป็นเรื่องตรง พระโสดาบันแม้ว่าจะประจักษ์อริยสัจจธรรม ดับความเห็นผิดที่ไม่เคยรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่ยังไม่ได้ดับโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น พระโสดาบันท่านไม่เข้าใจผิดว่าท่าน เป็นพระสกทาคามี หรือเป็นพระอนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์ ธรรมเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องที่อาจหาญ ร่าเริง คือเป็นผู้ที่รับความจริง ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น และพร้อมกันนั้นก็มีปัญญาที่จะรู้ด้วยว่า ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง พระอนาคามี ยังมีการติดใน ... ธัมมารมณ์
ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทันทีที่เห็น มาแล้ว เร็วมาก ที่จะไม่ให้เห็นแล้วเกิดอกุศล เป็นไปไม่ได้ นอกจากคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีปัญญามาก เพราะฉะนั้น จากชีวิตประจำวันที่เราตื่นขึ้น หลังจากที่นอนหลับสบาย เหมือนไม่มีกิเลส พอตื่นขึ้นมากิเลสก็ตื่นด้วย พอเห็น อดไม่ได้ ถ้ารู้วิถีจิตว่า ทันทีที่จิตเห็นดับ จิตอะไรจะเกิดต่อ แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็นอกุศลชนิดหนึ่งชนิดใด คือ โลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต ชื่อ ๓ ชื่อนี้คุ้นหู โลภะเป็นเจตสิก โทสะเป็นเจตสิก โมหะเป็นเจตสิก แต่เป็นรากเหง้า เป็นมูล เป็นเหตุ ที่จะทำให้จิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือว่าบางทีไม่เป็นกุศลไม่เป็นอกุศล เหตุพวกนี้ก็เกิดได้ ต่อไปจะเรียนละเอียดกันเรื่องชาติของจิต เพราะฉะนั้น ขั้นแรกที่สุด ชาติของจิตสำคัญที่สุดที่จะแสดงว่า ชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะไหนเป็นจิตชาติไหน เพราะว่าเหตุกับผลไม่ปนกัน แล้วจิตที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลก็มี เป็นกิริยาจิต
ทีนี้คิดถึงชีวิตของผู้ที่ท่านสะสมที่จะเป็นพระอริยบุคคล จากเห็นธรรมดา แล้วก็เกิดอกุศล ท่านเริ่มฟังธรรม ชาติไหนก็แล้วแต่ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ อบรมปัญญา ซึ่งเป็นจิรกาลภาวนา เพราะว่าการอบรม หมายความว่า เปลี่ยนทันทีไม่ได้ ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย อย่างเราได้ยินว่า โลภะไม่ดี โทสะไม่ดี โมหะไม่ดี ได้ยินไปอีก ๑๐ ปี โลภะ โมหะ โทสะ ก็ยังมี เพราะว่าต้องอบรม ต้องค่อยๆ เห็นโทษทีละเล็กทีละน้อย แล้วปัญญาต้องค่อยๆ เกิดจริงๆ เจริญจริงๆ ตามระดับขั้น
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240