ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198


    ตอนที่ ๑๙๘

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔


    ผู้ฟัง ธรรมดาจะเป็นอวิชชา ผมพอเข้าใจว่า mind, body, spirit, psychology ผมรู้ว่าอาจจะเป็นอกุศล หรือว่าไม่ถูกเลย จิตคือ mind

    ท่านอาจารย์ คงจะแคบไปถ้าเราพูดอย่างนั้น คือมีวิชาการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยา ปรัชญา หรืออะไรก็ตามแต่ เขาไม่ได้แสดงธรรมโดยละเอียด เพราะฉะนั้น คำที่ใช้ ใช้คลุมเครือ อย่างว่า mind and body แล้วอยู่ไหน mind บอกมาเลย อยู่ตรงไหน มีลักษณะอย่างไร ก็บอกไม่ได้ รู้แต่ว่ามี ก็เลยมี self มี soul มีอะไรอีกตั้งหลายอย่าง แต่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของการตรัสรู้ รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมด้วยปัญญา

    ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมไปเป็นอย่างอื่นได้ เพราะว่ามีผู้ที่รู้แจ้งแล้วว่า สภาพนั้นเป็นอย่างนั้น เขาอธิบาย mind ของเขาก็เป็นพวก spiritual นามธรรม พวกนั้น แต่ว่าบอกไม่ได้ อยู่ตรงไหนอย่างไรก็ไม่รู้ทั้งนั้น แล้วก็มีจัดระดับกันตามวิชาจิตวิทยา เพราะไม่รู้ความจริงว่า จิตเกิดดับเร็วมาก

    เราจะบอกว่าเหมือนกัน ก็ผิด มันไม่เหมือน จะเอามาใช้คำนี้ก็ไม่ได้ ดีที่สุดคือใช้ภาษาบาลี ไม่ว่าชาติไหนเป็นสากล พอใช้ “จิต” ทุกคนรู้ หมายความถึงสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏด้วย ในขณะนี้สีกำลังปรากฏ คือ จิตกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏว่า มีสีเป็นอารมณ์ มีสีต่างๆ ถ้ากำลังได้ยินก็คือจิตนั่นแหละกำลังมีเสียง กำลังรู้เสียง เสียงกำลังปรากฏ อะไรที่ปรากฏเพราะจิตรู้ แต่เราลืม ตลอดชีวิตมา เสียงเล็กเสียงน้อย อะไรต่ออะไร กลิ่นเล็กกลิ่นน้อย ทุกสิ่งทุกอย่าง จิตรู้ไปหมดทุกอย่าง ที่เราว่า เป็นเรารู้ ก๊อกแก็ก หรือตูมตามอะไรก็ตามแต่ จิตรู้ จิตเกิดขึ้นสิ่งนั้นจึงได้ปรากฏ เพราะจิตรู้สิ่งนั้นจึงปรากฏให้จิตรู้ได้

    ผู้ฟัง เมื่อไรจิตจะหมด สมมติว่าเราตายไป จิต still working…

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้เรายังไม่ตาย เอายังไม่ตายนี้ดีที่สุด เมื่อกี้นี้กับเดี๋ยวนี้ ขณะไหนไม่มีจิตบ้าง

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อจะมองแบบว่า ทุกอย่างเกิดแล้วสลายไป ก็ไม่มีจิตดับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ขาดสาย คือทันทีที่จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่ของเขา อย่างจิตเห็น เขาเห็นอย่างเดียว แสนโกฏิกัปป์มาแล้วก็เกิดขึ้นอย่างนี้ เปลี่ยนไม่ได้ แล้วดับ แต่ทันทีที่ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่มีอะไรที่จะคั่นเลย เพราะฉะนั้น อาการปรากฏของจิต คือ สืบต่อเหมือนไม่ดับ นี่คืออาการปรากฏของจิต เกิดแล้วก็ดับ แล้วที่ดับ ดับเลย อย่าไปคิดว่าจะกลับมาอีก ไม่มีทาง

    ผู้ฟัง แม้กระทั่งสิ้นชีวิตไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ก็เกิดดับเหมือนกัน เพราะเหตุว่าจิตเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างเขามีพลัง หรือมีความสามารถ มีหน้าที่ กับสัตติ ภาษาบาลี ... ที่จะทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นไป ถ้าเป็นจิต แล้วละก็ทุกดวงนอกจากจุติจิตของพระอรหันต์เป็น อนันตรปัจจัย หมายความว่าทันทีที่ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่มีระหว่างคั่น เมื่อกี้นี้กับเดี๋ยวนี้ จิตเกิดดับสืบต่อนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น เวลาที่จุติจิต จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับ มีปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตชาติต่อไปเกิดทันที ไม่มีระหว่างคั่น นี่คืออนันตรปัจจัย

    ผู้ฟัง สมมติว่าเราเสียชีวิตปุ๊บ จิตดับ เกิดขึ้นมาใหม่ก็เป็นคนใหม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น บางคนที่เขาร้องไห้เสียใจเหลือเกิน ให้รู้ว่าเขาเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วก็ถ้าเกิดคนทำไม่ดี กลับมาตกนรก ตกนรกไปแล้วจิตเกิดใหม่แล้วนี่

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตก็เกิดในนรก คือเราติดสถานที่ แต่หารู้ไม่ว่า จิตเพียงอาศัยรูปๆ หนึ่งเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปจะไม่เกิดนอกรูปเลย แล้วรูปที่เป็นที่เกิดของจิตก็ดับเร็วด้วย เป็นเพียงที่เกิดของจิตแล้วดับ เพราะฉะนั้น เราไม่ได้อยู่ในโลกกว้าง อเมริกาอยู่ตรงนี้ ประเทศไทยอยู่ตรงโน้น ดูมันไกลๆ แต่เขามีปัจจัยที่จะให้จิตเกิดตรงไหน จิตเกิดตรงนั้น แม้แต่ที่ตาซึ่งเป็นจักขุปสาทรูป เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ จิตเห็นเท่านั้น พอถึงหู โสตปสาทรูป เป็นรูปที่สามารถกระทบเสียง เป็นที่เกิดของจิตได้ยินตรงนั้น คิดดูสิ แล้วเวลานี้ถ้าเราจะกระทบตรงไหน ตรงที่รูปนั้นปรากฏ คือจิตเกิดตรงนั้น รู้สิ่งนั้นตรงนั้น เพราะว่ากำลังรู้ตรงนั้น เพราะฉะนั้น จิตก็ต้องอยู่ตรงนั้นแล้วก็ดับตรงนั้น มันก็ห่างกันอยู่แล้ว อเมริกาหรือไทย หรือนรก หรือสวรรค์ ไม่มีปัญหา

    ผู้ฟัง อยากจะทำความเข้าใจ มีความสงสัยแล้วก็คิดเอาเองว่า เป็นไปได้ไหมที่ว่า สภาพจิตหรือที่เรียกว่าจิต คือการทำหน้าที่ของสมอง และระบบประสาท

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้เลย นามธรรมกับรูปธรรมแยกกันโดยเด็ดขาด ไหนลองอธิบายสมองว่าคืออะไร

    ผู้ฟัง คือสมอง

    ท่านอาจารย์ มองเห็นไหม เห็นสมองไหม

    ผู้ฟัง ถ้านั่งอยู่นี้ไม่เห็น แต่เราผ่าแล้วเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง แต่ว่าในสมองมีหน้าที่หลายอย่าง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย นี้การศึกษาของเราเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ทรงจำไว้ แต่ว่าก่อนที่จะมีสมอง มีจิตไหม

    ผู้ฟัง หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทันทีที่เกิดมีสมองหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพราะว่าเวลาที่เด็กเกิดมา

    ท่านอาจารย์ เกิดมาขณะแรกในท้อง จิตแรกเลย ปฏิสนธิจิต จิตขณะแรกที่เกิดมีสมองหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อาจจะยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วจะว่าสมองเป็นจิตได้อย่างไร เพราะตอนนั้นจิตเกิดแล้ว จิตก็คือจิต สมองก็คือสมอง

    ผู้ฟัง แต่ตอนนั้นสภาพของร่างกายมันยังไม่ develop

    ท่านอาจารย์ มันก็ยังไม่มีสมอง แต่มีจิตแล้ว จิตเกิด เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ถ้าไม่แยกตอนนี้จะไม่มีทางเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะมันยังเกี่ยวพันกันไปเรื่อยๆ แต่ความจริงแล้วจิตเป็นธาตุรู้ ไม่ต้องมีรูป จิตก็เกิดได้ ในภูมิหนึ่งซึ่งเป็นอรูปพรหมภูมิ เพราะว่าผู้นั้นหน่ายในรูป เข้าใจว่าถ้าไม่มีรูปเลยก็ไม่เดือดร้อน ที่เราเดือดร้อนเพราะมีรูป เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญความสงบของจิตถึงระดับขั้นอรูปฌาน สูงกว่าขั้นรูปฌาน คือ กว่ารูปฌานจะเกิดขั้นที่ ๑ ก็แสนยาก อย่าไปคิดว่าง่ายๆ เดี๋ยวฌาน ๑ เดี๋ยวฌาน ๒ มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะว่าต้องประกอบด้วยปัญญาตั้งแต่ขณะแรกที่อบรม ถ้าไม่มีปัญญาแล้วอย่าไปอบรมอะไรเลย มันเป็นอกุศลไปหมดเลย เป็นความไม่รู้ไปหมดเลย เพราะว่าปัญญากับอวิชชา เขาจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ สภาพที่ต่างกันตรงกันข้ามกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราศึกษาศาสตร์ไหน ไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม ที่ผู้คนอาจจะเลื่องลือนับถือกัน แต่ว่าเขาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า คำสอนของเขาสอนเรื่องปรมัตถธรรมหรือเปล่า หรือสอนเรื่องบัญญัติ เพราะสมองเป็นบัญญัติ เหมือนกับนี่แข็งแต่เราเรียกว่าโต๊ะ จับสมอง สมองก็แข็ง แต่เราเรียกสมอง เพราะความทรงจำว่า นั่นเป็นส่วนที่เป็นสมอง เราก็ไปศึกษาเรื่องความเป็นไปของความสัมพันธ์ของธาตุต่างๆ ในตัว ซึ่งก็มีเพียงธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป ถ้ารูปหนึ่งรูปใดเสีย ทำให้เกิดอาการพิการต่างๆ หรือว่า ไม่เหมาะไม่ควรแก่การงาน ทำให้เกิดอะไร ทุกขเวทนาทางกายเท่านั้นเอง เราไปเรียกชื่อว่า “มะเร็ง” เราไปเรียกชื่อว่าอะไรก็ตามแต่ แต่ความรู้สึกเจ็บก็เจ็บ จะมะเร็ง หรือไม่มะเร็ง ก็เจ็บ มีดบาดก็เจ็บ จะเรียกว่ามะเร็ง ปวดกระดูก ปวดหรืออะไร ปวดคือปวด แต่เราไปสมมติเอาต่างหาก เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม เป็นการพูดถึงสภาพธรรม ที่ไม่ใช่เรื่องราวของบัญญัติ

    ผู้ฟัง เวลาเราคิด จิตเราคิดหรือสมองเราคิด

    ท่านอาจารย์ สมองเป็นรูป หรือเป็นนาม ต้องแยกอย่างนี้ก่อน ถึงจะรู้คำตอบได้ ถ้าเราไม่มีคำตอบ เราก็จะไปหลงเชื่อว่า ทั้งหมดคือสมอง ไม่เข้าใจเรื่องจิตเลย

    ผู้ฟัง สมองเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าเห็นสมอง สมองก็ต้องเป็นรูป เพราะว่านามธรรมเห็นไม่ได้

    ผู้ฟัง ชัดเจน

    ท่านอาจารย์ นามธรรมไม่มีรูปร่าง แล้วก็ไม่ว่าทฤษฏีไหนก็ตาม ยืนยันได้ว่า นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม เพราะว่าสมองจะสั่งการ จะทำอะไรก็แล้วแต่ สัมผัสสมองได้ไหม ถ้าได้ ต้องเป็นรูปธรรม มีข้อตัดสินเด็ดขาดว่า นามธรรมไม่มีรูปร่าง ไม่มีสี ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง อย่างกระแสไฟฟ้า สิ่งที่เรามองไม่เห็น ที่อยู่ในตัวร่างกายของเรา เราก็จับไม่ได้ แล้วจะเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ มีรูปตั้งมากมายที่สัมผัสไม่ได้ ลองสัมผัสกลิ่นสิ ได้กลิ่น สัมผัสอย่างไร กลิ่นแข็งหรือเปล่า แล้วเวลาที่เราพูดถึงสัมผัส เราไปพูดถึงการกระทบด้วยมือ

    ธาตุลม ใครไปมองเห็น ลมมีในตัวมากมาย ทั่ว แทรกแซงไปหมด เพราะว่าเป็นมหาภูตรูป ๑ ในมหาภูตรูป ๔ ซึ่งไหวหรือตึง ธาตุอื่นไม่เป็นอย่างนั้น ธาตุอื่นเพียงแข็งหรืออ่อน ธาตุไฟก็เย็นหรือร้อน แต่ธาตุลมที่มีการเคลื่อนไหว เป็นลักษณะของธาตุลม การดื่มน้ำ การเคี้ยวอาหาร การเคลื่อนไหวทั้งหมด เป็นอาการของธาตุลม แล้วใครไปเห็น ใครไปกระทบสัมผัส ที่บอกว่าเป็นไฟฟ้า เป็นอะไรๆ ต่างๆ เพียงแต่เขาศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ไม่รู้จักธรรม มีปรมัตถธรรมเกิดขึ้นแล้วดับอยู่ตลอดเวลา แต่เขาจำเรื่องราวของสภาพที่เกิดดับ โดยไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่เกิดดับ แต่จำเรื่องราวเหมือนกับเที่ยง เพราะถ้าถามเขา สมองก็เที่ยง

    ผู้ฟัง เราเห็นไม่ได้ แต่เรารู้สึก

    ท่านอาจารย์ ทางกาย เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป แต่รูปที่เป็นอารมณ์ที่จิตรู้ ปกติธรรมดา ๗ รูป คือ ๑ สี เราใช้คำนี้สำหรับสิ่งที่ปรากฏทางตา คำนี้ดีที่สุดคือสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ต้องไปกังวลว่าเป็นสีหรือเป็นอะไร เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ทางตา ๑ รูป รู้ได้ทางตา เสียง ๑ รูป รู้ได้ทางหู กลิ่น ๑ รูปรู้ได้ทางจมูก รส ๑ รูปรู้ได้ทางลิ้น ๓ รูปรู้ได้ทางกาย รวมเป็น ๗ ๓ รูปนี้คือธาตุดิน อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟ เย็นหรือร้อน ธาตุลม ตึงหรือไหว ธาตุน้ำ รู้ไม่ได้ทางกาย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นนามธรรมก็คือจิต

    ท่านอาจารย์ จิต และเจตสิก

    ผู้ฟัง จิต และเจตสิก ๒ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ๒ อย่าง ที่จริงแล้วนิพพานเป็นนามธรรม โดยอรรถที่ว่าไม่ใช่รูปธรรม แต่นิพพานต่างจากจิต เจตสิก เพราะว่านิพพานเป็นนามธาตุที่ไม่เกิด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ นามธรรมที่รู้อารมณ์ นามธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ กับ นามธรรมที่ไม่เกิดแล้วไม่รู้อารมณ์ คือ นิพพาน

    จิต หมายความว่าเขาเป็นธาตุรู้ เราเกิดขึ้นแล้วเขาไม่ทำอะไรเลย ทำอะไรไม่ได้นอกจากรู้ นั่นคือกิจหน้าที่ของเขา คือรู้ เจตสิก เขาเกิดกับจิตมี ๕๒ ชนิด แต่ละชนิดทำหน้าที่แต่ละอย่าง มีลักษณะแต่ละอย่าง อย่างโลภะเป็นเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เจตสิกก็จะแยกเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตได้ทุกชนิด แล้วถ้าจิตนั้นเป็นอะไร เขาก็เป็นอย่างนั้น ถ้าจิตเป็นวิบาก เจตสิกก็เป็นวิบาก จิตเป็นกุศล เพราะเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วยจึงเป็นกุศล อาศัยกัน และกันเกิดขึ้นปรุงแต่งให้เป็นประเภทต่างๆ เพราะเป็นแต่เพียงธาตุรู้อย่างเดียว ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดต้องมีกรรมเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด ใครจะรู้หรือไม่รู้ว่า นามธรรมซึ่งเป็นจิต แม้มองไม่เห็น ไม่มีรู้ร่าง ก็มีเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน เป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง แล้วเรามีวิธี control ว่า เจตสิกกำลังจะเกิด แต่ทางโลกนี้เราไม่ได้เกิด

    ท่านอาจารย์ เราไม่มี เพราะฉะนั้นลองคิดดูอะไรจะ control นอกจากความคิด เป็นจิตที่คิดเกิดแล้วก็ดับไป เท่านั้น แค่คิด

    ผู้ฟัง เจตสิก เจตสิกมันคล้ายๆ กับ reaction ของจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากจะใช้คำอื่น เพราะว่าถ้าเราสามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ ว่าเขาเป็นนามธรรม ซึ่งจะต้องเกิดในจิต หรือเกิดกับจิต เกิดนอกจิต หรือเกิดกับอย่างอื่นไม่ได้

    ผู้ฟัง จิตเกิดขึ้น จิตเป็นสภาพรู้ แล้วเจตสิกเป็นสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ รู้ที่เกิดร่วมกัน แต่ทำหน้าที่คนละอย่าง คือ เขาไม่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ คือ จิตสามารถที่จะรู้แจ่มแจ้งในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ หน้าที่ของเขาหน้าที่เดียว แต่ว่าเวลาที่เขาเกิดขึ้นเจตสิกที่รู้อารมณ์เดียวกับจิตเขาชอบหรือไม่ชอบในสิ่งนั้นเป็นหน้าที่ของเจตสิก เขารู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ เวลาที่กำลังรู้อารมณ์นั้น เป็นหน้าที่ของเจตสิก เพราะฉะนั้น จิตไม่ทำอะไรทั้งนั้นนอกจากเกิดขึ้นรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานเป็นอินทรีย์เรียกว่า มนินทรีย์ ในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่มีเขาเจตสิกก็เกิดไม่ได้ แต่ไม่มีเจตสิกเขาก็เกิดไม่ได้ แต่ระหว่าง ๒ คนใครเป็นใหญ่

    ผู้ฟัง จิต

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจิตเกิดตลอดเวลา และมีเจตสิกที่บางครั้งเกิดแก่จิตนี้ บางครั้งเกิดแก่จิตนั้น

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่าทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วหายไป

    ท่านอาจารย์ ดับ ดับ

    ผู้ฟัง ดับไป จิตเกิดขึ้นขณะเดียวกันเจตสิกเกิดด้วย

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดที่เดียวกัน แยกกันไม่ออกเลย เป็นสิ่งที่ผสมกลมกลืน เป็นนามธรรรมด้วยกัน ลองคิดดู เราเอารูปมารวมกันอย่างละเอียดมาก เรายังแยกไม่ออกเลย พริก หอม กระเทียม กะทิ ผสมกันไปหมด ไม่รู้จะแยกอย่างไร ดีใจหรือเสียใจก็เป็นเจตสิก ภวังคจิตเป็นกิจหน้าที่ของจิต จิตทั้งหมดจะมีหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดใน ๑๔ กิจ จิตเกิดขึ้นทำหน้าที่การงานเฉพาะอย่างๆ จิตนี้ทำหน้าที่อะไร

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิตทำหน้าที่อะไร

    ท่านอาจารย์ ทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังคจิตก็ทำหน้าที่ภวังค์ ดำรงภพชาติ จิตเห็นก็ทำหน้าที่เห็น นี่ก็นับได้ตั้งหลายจิตแล้ว ปฏิสนธิ ภวังค์ จุตินี้ก็ได้ตั้ง ๓ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส อีก ๕ ๘ แล้ว เหลืออีกนิดเดียว

    ผู้ฟัง คนขณะที่ฝัน คิดหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คิด

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จิตหรือ

    ท่านอาจารย์ อ้าวแล้วอะไร ๒ อย่างนามธรรมกับรูปธรรม

    ผู้ฟัง เพราะว่าตอนที่เราหลับนี้เราไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ที่ฝันนี้ไม่ใช่หลับ ถ้าหลับก็ไม่รู้อะไรเลย ไม่ฝันด้วย คือ หลับสนิท

    ผู้ฟัง ปกติคนเราส่วนมากหลับแล้วฝัน

    ท่านอาจารย์ ฝันก็จริง ฝันคือคิด เพราะขณะนั้นที่ฝันไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น จำ เรื่องราว เพราะฉะนั้นฝันเป็นบัญญัติ นึกถึงเรื่องราว

    ผู้ฟัง เป็นสัญญาเจตสิกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทีนี้ที่เราเรียกว่าฝัน คือคิดนึก เวลานี้เราก็คิด ทำไมไม่เรียกว่าฝัน

    ผู้ฟัง เพราะเราตื่น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วเราคิดตามสิ่งนั้น วันนี้เห็นคนนี้คนนั้นนั่งที่นั่น เพราะมีสิ่งที่ปรากฏให้คิด จึงไม่ใช่ฝัน แต่เวลาที่ฝัน ไม่เห็น แต่คิดเรื่องราว จำเรื่องราว เพราะฉะนั้น ถ้าตื่นมาทันที คนที่เจริญสติ หรือว่ามีปัญญาจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นจิตคิด เราจะคิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยไม่เรียกอะไรเลยก็ได้ ถ้าไม่คิดเราจะรู้หรือว่านี้เป็นถ้วย คิดทีนี้ไม่ได้หมายความว่าคิดเป็นคำ เพียงคิดถึงรูปร่างที่เห็น จดจำไว้ก็คิดแล้ว เสียงกระทบหู เสียงปรากฏแล้วดับ แต่ว่าความจำในความสูงต่ำ ในความหมาย ออกมาในภาษาต่างๆ หมดเลย เพราะจิตคิด เพียงได้ยินเฉยๆ ไม่คิด ไม่มีความหมายเลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติ เรื่องราวของปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ทั้งหมด

    ผู้ฟัง จิตที่บอกว่าเห็น ...

    ท่านอาจารย์ ถ้าเขาศึกษาเรื่องจิต เข้าใจเรื่องจิต เขาก็ตอบตัวเองได้ ทีนี้คำถามบางคำถามมุ่งจะให้คนตอบ ตอบ เขาอยากจะทราบว่า คนตอบจะตอบอย่างไร แต่เชื่อหรือเปล่า ต้องเป็นความเข้าใจของเขาเอง เขาถึงจะหมดความสงสัย เพราะฉะนั้น ถ้าเขารู้หลักของธรรม คือ ไม่มีอะไรนอกจากจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเป็นอะไร ก็ต้องเป็นจิต เป็นเจตสิก ที่กำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอารมณ์ แล้วก็คิด

    ผู้ฟัง คิดนึกเป็นจิต เจตสิก แล้วรูป รูปก็คือรูปร่างที่เห็น

    ท่านอาจารย์ รูปคือสิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ทุกอย่างไม่ว่าจะมองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นมีปรากฏ แต่ไม่รู้อะไร

    ผู้ฟัง รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรม รูปเป็นรูปธรรม แต่ถ้าศึกษาต่อไป คำว่า “รูป” จะกว้าง ใช้เฉพาะทางตาก็ได้

    ผู้ฟัง ความจำเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ เป็นสัญญาเจตสิก ๑ ใน ๕๒ ถ้าเราสะสมการจำ เราก็จะจำเก่ง อย่างดิฉันไม่จำเรื่องวันเดือนปีเลย มานี่ก็ยังไม่รู้วันนี้วันที่เท่าไร ก็ไม่ถามใครด้วย เป็นไปตาม ก็รู้ว่า อ้อจะไป Fresno วันไหน แต่จริงๆ วันนี้ วันที่เท่าไร

    ผู้ฟัง เด็กนักเรียนที่จะต้องสอบก็จะต้องท่องจำ การท่องจำทั้งหมดคือการสะสม

    ท่านอาจารย์ โลกนี้มีจริงเพราะเรากำลังอยู่ในโลกนี้ หมดความสงสัยเลย มนุษย์โลกเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง ตรงไหนมีอะไร ถ้าเราอยู่ในโลกหนึ่ง เราก็หมดความสงสัยในโลกนั้น ถ้าเราไม่อยู่เราไม่เห็น จะมีได้ไหมถ้ามีเหตุที่จะให้เกิดที่ไหนก็ได้ เพราะที่เกิดไม่ใช่มีโลกนี้โลกเดียว

    ผู้ฟัง ถึงแม้เราจะเห็นอย่างนี้ ...

    ท่านอาจารย์ ... จะต้องมีเหตุที่จะเกิดในที่ๆ สบาย เรียกว่าสวรรค์ รูปร่างกายก็สะอาดสะอ้าน ไม่ต้องอาบน้ำอาบท่า ไม่ต้องไปเข้าครัวตำน้ำพริก มีอาหารทิพย์ มีทุกสิ่งทุกอย่างสะดวก

    ถ้าเราเข้าใจเรื่องจิต สวรรค์หรือโลกมนุษย์คือสิ่งสมมติ เพราะว่าจริงๆ แล้วจิตต้องเกิดที่หนึ่งที่ใด มีภูมิที่เกิด อย่างโลกเราเป็นโลกมนุษย์ แล้วเป็นโลกของสัตว์ด้วยหรือเปล่า เขาก็อยู่กับเราด้วย เพราะฉะนั้น ก็ตามภูมิของจิต แม้ว่าจะอยู่ที่เดียวกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะคิดถึงธรรมจริงๆ ทีละขณะจิต จะแสดงให้เห็นเลยว่า เราสมมติ เราเข้าใจว่า เราอยู่ที่ไหน แต่ขณะใดที่มีเพียงจิตเห็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีโลกไหนเลย โลกไม่มี เพราะว่ามีจิตกำลังเห็นเกิดขึ้นเห็นเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น เราถึงจะเห็นว่า ความบอบบาง ความไม่มีสาระ ความเป็นอนัตตา กินความหมายหมด แม้แต่โลกใหญ่ๆ ที่เราว่า เป็นโลกมนุษย์ทั้งก้อนทั้งแท่ง ลึกลงไปมีอะไร สารพัดอย่าง ก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ละเอียดยิบ ในเหล็ก ในอะไร ก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ทั้งนั้น พร้อมที่จะสลาย เพราะฉะนั้น ก็บอบบางจริงๆ เราไปเห็นความหนาแน่น แท่งทึบ เราก็คิดว่าใหญ่โตมโหฬาร แต่ว่าถ้ามีการกระทบสัมผัสด้วยปัญญา จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของทุกสิ่ง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    2 ก.ค. 2567