ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
ตอนที่ ๒๐๑
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔ ๑
ท่านอาจารย์ โลกใบนี้ คิดตลอด มืดสนิท ขณะที่คิด แต่พอมีแสงสว่างปรากฏทางตานิดหนึ่งแล้วก็คิดเรื่องนั้น พอมีเสียงกระทบหูนิดหนึ่งคิดเรื่องเสียง พอมีกลิ่นกระทบนิดหนึ่งคิดเรื่องกลิ่น พอมีรสกระทบนิดหนึ่งคิดเรื่องรส พอมีกายกระทบเย็นร้อนอ่อนแข็งก็คิดเรื่องสิ่งที่กระทบสัมผัส รวมความว่า เรารวมโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถาวร ที่มั่นคง แต่ความจริงเป็นเพียงเพราะจิตคิด ถ้าจะคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม แต่ตายทันที จบเรื่องนั้น ค้าง คิดค้าง คิดไม่ตลอด
เรื่องที่ปรากฏว่าเป็นเรื่องยาวๆ เป็นความคิดของเรา แท้ที่จริงเป็นจิตเกิดขึ้นคิดทีละคำ ทีละขณะ ทีละเรื่องเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะคิดเรื่องสะกดจิต หรือเรื่องอะไรทั้งหมด เรื่องสาขาวิชาการใดๆ ก็ตาม เพราะมีจิตเกิดขึ้นขณะนั้นคิด
เวลาที่เรายังไม่รู้จักปรมัตถธรรม เรายังไม่รู้จักโลกมืดอันนี้ที่มีทางที่จะมากระทบ ๕ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนใจเขาคิดตลอด ถ้าไม่รู้จักอย่างนี้จริงๆ เหมือนเราอยู่ในโลกที่มีคนมากมาย แต่มากเพราะคิด โลกนี้คิดถึง เพราะฉะนั้นเรามีความไม่รู้ จึงยึดถือโลกนี้ว่า เป็นเรา ฉันใด ก็เห็นเป็นคนอื่นฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงมีรัก มีชัง เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏ แล้วดับ สั้นมาก ถ้าประจักษ์จริงๆ ความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก็ไม่มี แต่เพราะว่าไม่ประจักษ์ก็ยังมีอยู่นั่นแหละ ยังเป็นเราที่นั่งอยู่ที่นี่ ยังเป็นคนนั้นคนนี้ ถ้าจิตไม่คิดถึงคนนั้น จะมีคนนั้นหรือ ถ้าจิตไม่โกรธ จะมีคนนั้นที่เราโกรธหรือ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะความโกรธ หรือความรักความผูกพันก็เพราะคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่เพียงปรากฏแล้วก็ดับไป กว่าจะถึงวันนั้น แต่ก็เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งจริง เพราะเหตุว่านามธาตุไม่ใช่รูปธาตุ นามธาตุก็มี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก ต้องฟังอีกมากไหม พระไตรปิฎก สิ่งที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ถ้าไม่ศึกษา ชาวพุทธไม่มีทางเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในหนังสือปรมัตถธรรมหน้าแรกจะบอกได้ว่า พุทธบริษัทถวายสักการะ นอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคตามความรู้ความเข้าใจ ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรมเลย เราก็กราบไหว้แบบเชื่อ ผู้ใหญ่บอก ปู่ย่าตายายบอก พ่อแม่บอก ว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสเลย แล้วก็อาจจะบอกว่ามีพระปัญญามาก แต่ก็ไม่ได้บอกว่าอย่างไร แต่ว่าถ้าเราได้เข้าใจธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ ก็จะรู้จริงๆ ว่า ผู้นี้ตรัสรู้ธรรมด้วยปัญญา เพราะว่าสามารถจะรู้ถึงขณะจิตทีละหนึ่งขณะว่า ขณะจิตนั้นมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย และเป็นปัจจัยให้เกิดรูปอะไรบ้าง เริ่มที่จะเห็นพระปัญญาคุณว่า เป็นผู้ที่มีไม่มีผู้ใดเปรียบปาน เพราะว่าสามารถที่จะสอนให้เราเกิดปัญญาของเราเอง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งเราไม่ใช่ว่าจะตามใครไป ใครบอกเราก็เชื่อ ใครบอกเราก็เชื่อ อย่างนั้นไม่ใช่ปัญญาของเรา แต่เวลาที่มีใครไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามให้คนนั้นตอบ ซึ่งคนนั้นต้องคิด เป็นความคิดของเขาเอง เป็นความเข้าใจของเขาเอง ถ้าตอบถูก หมายความว่าเข้าใจถูก ถ้าตอบไม่ถูก หมายความว่า ความเข้าใจของเขายังไม่ถูก
ประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่ได้รับจากการตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรม คือเราสามารถที่จะศึกษาคำสอน แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจ จนกระทั่งค่อยๆ รู้ความจริงของสภาพธรรมได้ สิ่งที่ได้ยินได้ฟังตรัสไว้เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่เราก็เป็นผู้ที่มีบุญที่ได้สั่งสมมาในอดีต แม้ว่า ณ ที่นี้ไม่ใช่พระวิหารเชตวัน แต่ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังก็คือพระธรรมที่ตรัสที่พระวิหารเชตวัน ข้อความเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าเราสะสมปัญญามาพอ สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ได้
ง่วงนอน เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ขณะนี้มีสภาพธรรม ๒ อย่าง ทุกอย่างในชีวิตของเรา เราต้องมีปัญญาที่สามารถที่จะบอกได้ ถ้าเรามีความเข้าใจถูกว่า รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่นามธรรมเป็นสภาพที่รู้ สภาพที่จำ สภาพที่คิด ทุกอย่างที่ไม่ใช่รูปธรรม เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ง่วงนอนเป็นอะไร นามธรรม ถูกต้อง ถ้าลึกลงไปอีกก็จะถามว่าเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก แต่ตอนนี้ยังไม่ถาม เพราะว่าจิต เจตสิก ต้องเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น จิตต้องมีแน่นอน แต่ขณะนั้นง่วงเป็นเจตสิก เพราะว่าจิตไม่ง่วง จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเห็นเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิก ขณะที่กำลังได้ยินเห็นเป็นจิตเพราะอะไร เพราะกำลังได้ยินเสียงซึ่งต่างกัน แต่จิตก็สามารถจะรู้ความต่างของเสียง เสียงกลอง เสียงปี่ เสียงขลุ่ย เสียงพัดลม เสียงนก ต่างกันมาก แต่จิตเป็นสภาพที่สามารถรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ลักษณะที่ต่างๆ กัน แต่ไม่ใช่อย่างปัญญาที่เป็นความเห็นถูก เป็นความเข้าใจถูกในสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจลักษณะของจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เป็นมนินทรีย์ในการรู้แจ้งอารมณ์ แต่เจตสิกเกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แล้วก็มีลักษณะอาการหลากหลายไปตามประเภทต่างๆ ของเจตสิก ซึ่งทั้งหมดมีเจตสิก ๕๒ ชนิด ง่วงเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เพราะว่ารูป ไม่ง่วงแน่ อยู่อย่างนี้เท่าไหร่ ๒๐ ชั่วโมง ๘๐ ชั่วโมง หลายวันหลายเดือนหลายปีก็ไม่ง่วง เพราะว่าไม่ใช่นามธรรม
ผู้ฟัง ขอท่านอาจารย์ ขยายความคำว่า มนินทรีย์
ท่านอาจารย์ มนินทรีย์ เป็นภาษาไทย ซึ่งเราอาจจะได้ยินคำว่า อินทรีย์ แปลว่าเป็นใหญ่ อินทรีย์มาจากภาษาบาลี ภาษาบาลีไม่ออกเสียงว่า อิน ซี แต่ออกเสียงว่า อิน-ดะ-ริ-ยะ ท.ทหาร จะเป็น ด.เด็ก อย่าง บุดดา ก็เป็น พุทธ ในภาษาไทย แต่ถ้าสากลเขาจะไม่พูดพุทธ เขาจะพูด บุดดา เป็น ด.เด็ก เพราะฉะนั้น อินทริยะ หมายความว่าสภาพธรรม ที่เป็นใหญ่ ทั้งหมดมี ๒๒ แต่จะกล่าวบางอย่าง เช่น ตา จักขุปสาทรูปเป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าสามารถที่จะทำให้มีจิตเห็นเกิดขึ้น เป็นใหญ่ในการที่จะทำให้มีการเห็น ถ้าไม่มีตา เห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นจักขุปสาทเป็นจักขุนทรีย์ ทั้งๆ ที่รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน มี ๔ รูปชื่อว่ามหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่รูป ๔ รูปไม่ได้เกี่ยวข้อง เหมือนอย่างจักขุปสาท ขณะที่เห็น รูป ๔ รูปจะเกิดดับ จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ไม่ปรากฏ แต่ว่ามีรูปที่กำลังปรากฏทางตา เพราะอาศัยจักขุ เพราะฉะนั้น จักขุเป็นอินทรีย์ เป็นจักขุนทรีย์ หู โสตะเป็นโสตินทรีย์ จมูก ฆานะเป็นฆานินทรีย์ ลิ้น ชิวหาเป็นชิวหินทรีย์ กายปสาทเป็นกายินทรีย์ จิตก็ใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์
จิตมีชื่อหลายชื่อ ชื่อ มนะ มนัส หทัย มโน ก็ได้ เป็นอีกชื่อของจิต เพราะฉะนั้น มนินทรีย์ ก็หมายความถึงสภาพจิตซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ ซึ่งมีเจตสิกเจตสิกเกิดร่วมด้วยจริง เจตสิกแต่ละเจตสิกซึ่งทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด ทำหน้าที่ของเจตสิกแต่ละอย่าง ไม่ได้เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ เพียงแต่รู้อารมณ์ เกิดกับจิต แต่ว่าทำหน้าที่เฉพาะอย่างของเขา ไม่ใช่ทำหน้าที่รู้แจ้งอารมณ์อย่างจิต
จิตเป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์
อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ หรือจะกล่าวว่าอารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ก็ได้
ผู้ฟัง จักขุประสาทก็นามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรมที่เป็นใหญ่ รูปธรรมเขาก็เป็นใหญ่ได้ คือ รูปธรรม อย่างจักขุปสาทเขาต้องเกิดกับมหาภูตรูป แม้ว่ามหาภูตรูปจะเป็นรูปใหญ่ แต่ไม่เกี่ยวข้องไม่ได้เป็นใหญ่เลย ที่เป็นใหญ่จริงๆ คือ จักขุนทรีย์ หรือ จักขุปสาท เพราะว่าทำให้มีจิตเห็นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เราศึกษาไปจะทราบว่ารูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน เฉพาะเป็นใหญ่เป็นประธานให้รูปอื่นเกิดกับเขา ปราศจากเขาไม่ได้ แต่ว่ารูปที่เป็นใหญ่ในการเห็นต้องเป็นจักขุปสาท เพราะเป็นสิ่งที่สามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา
ผู้ฟัง นี่เป็นรูป ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ รูป แต่รูปนี้สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตปสาทก็เป็นรูปที่เป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าสามารถกระทบเสียง จึงทำให้จิตได้ยินเกิดได้ ถ้าไม่มีโสตปสาท จิตได้ยินเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น โสตปสาทเป็นใหญ่ เมื่อมีการได้ยินเกิดขึ้น เป็นรูปที่เป็นใหญ่
ผู้ฟัง รูปเขาไม่รู้
ท่านอาจารย์ โสตปสาทก็ไม่รู้ เป็นใหญ่ก็ไม่รู้ เป็นใหญ่ในหน้าที่ที่กระทบกับเสียง โสตปสาทกระทบเสียงโดยที่ไม่รู้ โสตปสาทก็ไม่รู้ว่ากระทบเสียง เสียงก็ไม่รู้ว่ากระทบโสตปสาท
ผู้ฟัง เกิดขึ้นเพราะอะไร
ท่านอาจารย์ จิตได้ยินเกิดขึ้นรู้เสียง ขณะที่กำลังได้ยินเป็นจิตที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง หรือจะใช้คำว่ารู้เสียงก็ได้ เพราะขณะนั้นไม่ใช่เห็น ขณะนั้นไม่ใช่คิด แต่กำลังได้ยินเสียง
ผู้ฟัง ความหมายโลภะ
ท่านอาจารย์ ได้ยินบ่อย แล้วก็ชอบว่าคนอื่นด้วย ไม่ว่าตัวเอง ดูเหมือนว่าคนโน้น โลภะมากมายเลย พันล้านหรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ก็ตาม แต่ว่าโลภะหมายความถึงสภาพธรรมที่ติดข้อง ไม่ว่าจะหนักเบาประการใด น้อยมากประการใด โลภะก็เป็นโลภะ คือเป็นความติดข้อง เหมือนไฟ จะน้อยหรือจะมากก็ร้อน ไฟกองใหญ่ก็ร้อนมาก กองเล็กก็ยังร้อน ไฟนิดเดียวก็ร้อน สิ่งที่เหม็น กลิ่นไม่สะอาด นิดเดียวก็ไม่สะอาด เหม็น จะมากก็คือเหม็นมาก เพราะฉะนั้น โลภะก็เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ติดข้องในอะไรนี่สิน่ารู้ ทางตาที่กำลังเห็น ติดข้องแล้วในสิ่งที่ปรากฏ ทางหูที่กำลังได้ยิน ติดข้องแล้วในเสียง ทางจมูกที่ได้กลิ่นติดข้องในกลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรสก็ติดข้องในรส ทางกายที่กระทบสัมผัสก็ติดข้องในกระทบสัมผัส ในสิ่งที่ปรากฏทางกาย เพราะฉะนั้น ติดข้องหมดทุกวัน วันไหนไม่ติดในสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้างมีไหม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ใช่ชาตินี้ ชาติเดียว ไม่ใช่วันนี้วันเดียว
ผู้ฟัง คนตาบอด ...
ท่านอาจารย์ เขาอยากเห็น เขาก็อยากได้ยิน พยายามทุกอย่าง จะผ่าตัดหรือจะทำอะไรก็ได้ ขอให้เขาเห็น ขอให้เขาได้ยิน เกิดที่ไหนก็ไม่พ้น ถ้ายังมีความติดข้องก็ติดข้องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีปัญญาถึงระดับขั้นที่จะดับความติดข้องได้ ซึ่งจะดับไปจริงๆ หมดเมื่อเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ต้องเป็นด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้
ผู้ฟัง ระหว่างโลภะ โทสะ โมหะ อันไหนน่ากลัวที่สุด
ท่านอาจารย์ โมหะ
ผู้ฟัง อันไหนที่เป็นปัญหามากที่สุด
ท่านอาจารย์ โมหะ
ผู้ฟัง เพราะอะไร
ท่านอาจารย์ ไม่รู้ จึงได้เกิดโลภะ จึงได้เกิดโทสะ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นอันตรายหรือโทษของโมหะ หรือ อวิชชา ความไม่รู้ เขาไม่ชอบโทสะอย่างเดียว ไม่ชอบเลย วันหนึ่งๆ ขออย่าให้ขุ่นใจ ขออย่าให้โกรธ ขอให้สบายๆ เห็นสิ่งสวยๆ ได้ยินเสียงเพราะๆ รับประทานอาหารอร่อย กระทบสัมผัสสิ่งที่ดีๆ ขออย่างเดียว ขอให้สบาย นี่เป็นความติดข้องซึ่งเขาไม่เห็นโทษ เพราะฉะนั้น จะให้เขาเห็นโทษถึงกับเห็นโทษของโมหะ เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเขาไม่ต้องการเพียงแค่โทสะ แต่โลภะเขาไม่สนใจ
ผู้ฟัง มีปัจจัยอะไรที่ทำให้อาจารย์สละเวลา สละทุกอย่างมาสอนพวกเรา
ท่านอาจารย์ เกิดมาที่จะเป็นอย่างนี้ แต่ละคนเกิดมาไม่เหมือนกัน ใช่ไหม คนหนึ่งก็เกิดมาที่จะเป็นนักฟุตบอล คนหนึ่งก็อาจจะเกิดมาเป็นคุณหมอใจดี ช่วยเหลือคนต่างๆ แต่สำหรับดิฉันก็เกิดมาที่จะเป็นอย่างนี้ ก็ไม่เตรียมตัว ไม่เคยคิด ตั้งตอนเป็นเด็กก็ไม่เคยคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ มีชีวิตธรรมดาสนุกสนานกับพี่น้องทั้งหลาย จนกระทั่งได้ศึกษาพระธรรม เมื่อได้ศึกษาพระธรรมก็มีความสนใจ แล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก แล้วคนที่เรียนด้วยกัน ล้วนแต่เป็นผู้ที่สูงอายุทั้งหมดซึ่งท่านก็จากโลกนี้ไปแล้ว เหลือดิฉันคนเดียว ต้องรับภาระหน้าที่ เพราะว่าไม่มีใครที่จะเผยแพร่พระธรรมคำสอน ถ้าไม่ได้ศึกษาจริงๆ
ผู้ฟัง สัมผัสนิพพานได้ไหม
ท่านอาจารย์ ปัญญา โลกุตตรปัญญา เป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง แต่ถ้าเราไม่รู้ ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ไม่สามารถที่จะมีโลกุตตรปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพของนิพพานได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องค่อยๆ เกิด เริ่มเกิด อบรมทีละเล็กทีละน้อย จากการฟัง แล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนกว่าปัญญานั้นจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดดับเสียก่อน ภายหลังถึงจะรู้แจ้งนิพพานได้ การศึกษาหรือการประจักษ์แจ้งธรรม ต้องเป็นไปตามขั้น เข้าใจความต่างของจิต เจตสิก รูป กับนิพพาน
ผู้ฟัง สภาพจิตที่เรียกว่า วิถีจิต เป็นสภาพจิตที่ใช้ปัญญาใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ คือ การศึกษาธรรมมีอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเราเรียนด้วยตัวเอง เราอาจจะเข้าใจเอง ซึ่งยังไม่ตรง เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงจิต หมายความถึงรวมเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทั้งจิต และเจตสิก สามารถที่จะแบ่งประเภทใหญ่ๆ ออกเป็น ๒ อย่าง คือ จิต ที่ไม่ใช่วิถีจิตกับจิตที่เป็นวิถีจิต ๒ อย่างแยกขาดจากกัน
ผู้ฟัง จิตที่ไม่เป็นวิถีจิต มีอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่าวิถีคืออะไร คือ ทุกคำที่จะผ่านหู เราต้องเข้าใจให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นเราก็คิดว่าเราเข้าใจแล้ว วิถี หมายความถึงการเกิดดับของจิตสืบต่อกันที่จะรู้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะในขณะนี้ที่เราคิดว่าเห็น ทางตา ความจริงมีจิตหลายขณะ หลายประเภทเกิด โดยอาศัยตา ที่เราคิดว่าเรากำลังได้ยินทางหู โดยนัยของพระสูตรจะสั้นมาก คือ จิตได้ยินเท่านั้น แต่ในพระอภิธรรมจะแสดงว่า มีจิตอะไรเกิดก่อนจิตได้ยิน และหลังจากจิตได้ยิน มีจิตอะไรที่ต้องอาศัยหู เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหู ทั้งหมดนั้นเป็นวิถีจิต โดยที่ว่า เป็นจิตที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทางรู้อารมณ์
จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตมี ๓ ขณะ คือ ปฏิสนธิ ขณะแรกที่เกิดขึ้น ไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าทุกคนจะมีจิตขณะเกิดหนึ่งขณะ ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่ทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ไม่ใช่จิตที่เป็นเหตุ แล้วไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตรู้สิ่งที่กระทบกาย ไม่ได้คิดนึกด้วย เพราะว่าการเกิดของจิตขณะแรกเป็นผลของกรรมหนึ่ง จึงเป็นวิบากจิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบากเจตสิก เพราะฉะนั้น จิตนี้รู้อารมณ์ โดยไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด แม้แต่ทางใจก็ไม่ใช่คิดนึก เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้คิด จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ขณะแรกคือปฏิสนธิจิต แต่เมื่อเป็นจิตต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์ จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ ไม่ว่าจิตจะเกิดที่ไหน ขณะใด จิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ แล้วสิ่งที่ถูกจิตรู้ ภาษาไทยเรียกว่า อารมณ์ แต่ในภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ หมายความว่าสิ่งซึ่งเป็นที่ยินดีของจิต เพราะว่าจิตจะต้องรู้อารมณ์ตลอด จิตที่ไม่รู้อารมณ์ไม่มีเลย เราอาจจะไม่รู้ว่า อะไรเป็นอารมณ์ของจิต แต่จิตเป็นธาตุที่เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเรียกว่าอารมณ์
ปฏิสนธิจิตรู้อารมณ์หรือเปล่า บอกแล้วว่าจิตเป็นธาตุรู้ คือธรรมเป็นเรื่องที่ตรง ชัด จากการตรัสรู้ไม่เปลี่ยน ขอสำคัญที่เป็นพระอภิธรรม หรือปรมัตถธรรม ก็เพราะเหตุว่าใครเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นจิตจะทำหน้าที่อะไรก็ตามแต่ จิตเกิดขึ้นที่ไหนก็ตามแต่ จิตเป็นธรรม เป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ปฏิสนธิจิตเกิดขณะแรก รู้อารมณ์อะไรหรือเปล่า ต้องรู้ แต่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต ไม่ปรากฏเลย เพราะไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ โลกนี้ยังไม่ปรากฏแก่ปฏิสนธิจิต ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่มีการรู้ว่า เราเป็นใคร อยูที่ไหน อยู่ในโลกมนุษย์หรือโลกอะไร ใช่ไหม เพราะว่าเป็นชั่วขณะหนึ่งซึ่งเป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ คือ ไม่เห็นโลกนี้ ไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ไดรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก ปฏิสนธิจิตดับไหม ดับ แต่กรรมไม่ได้เพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมทำให้จิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิ เพราะว่าจิตทุกขณะเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่าทันทีที่ดับจะทำให้จิตขณะต่อไปเกิด ยับยั้งไม่ได้เลย เราจะบอกให้จิตหยุด ไม่ต้องเกิดอีก ไม่มีทาง เพราะว่าจิตเป็นอนันตรปัจจัย ทันที่ทีจิตขณะหนึ่งดับ จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นจากจิตดวงก่อน เพราะจิตดวงก่อนเป็น อนันตรปัจจัย แล้วยังเกิดขึ้นโดยกรรมปัจจัยเดียวกับกัมมปัจจัยที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด การให้ผลของกรรม ไม่ใช่ให้เพียงปฏิสนธิจิตขณะเดียว ยังทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เป็นภวังคจิต เหมือนปฏิสนธิจิตทุกอย่าง แต่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต เพราะว่าปฏิสนธิจิตทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนครั้งเดียวในชีวิต คนหนึ่งๆ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ ขณะ ขณะต่อไปไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ แต่เป็นภวังคจิต แต่เป็นเพราะผลของกรรมเดียวกันที่ทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนี้ไปจนกว่าจะตาย ระหว่างตายนี้ แล้วแต่จะเป็นอะไร แต่ว่าไม่ให้ตาย ดำรงภพชาติ ไว้เป็นภวังคจิต ภวังคจิตมีอารมณ์หรือเปล่า ภวังคจิตไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ต้องมี นี่เป็นสิ่งซึ่งละเอียด
ผู้ฟัง เราไม่มีวิถีจิตที่ไปรู้ว่าอะไรเกิดหรือไม่เกิด ...
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ คือ การฟังธรรมต้องฟังตั้งแต่ขณะปฏิสนธิไปเลย มีจิตเกิด แล้วก็หลังจากปฏิสนธิจิตดับแล้ว มีภวังคจิตสืบต่อ ทีนี้เราไม่รู้ว่า ภวังคจิตตอนไหน แต่ว่าตอนที่จะรู้ได้ง่ายก็คือว่า ขณะที่หลับสนิท คนที่นอกหลับสนิทไม่ใช่ตนตาย มีจิต แต่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน
ผู้ฟัง หลับสนิทแต่ไม่ฝัน
ท่านอาจารย์ หลับสนิท คือไม่ฝัน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่ฝัน ขณะนั้นมีไหม หลับสนิท ขณะที่หลับสนิท เคยมีขณะที่หลับสนิทไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เป็นเราหลับสนิทหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เป็นอะไร
ปรมัตถธรรม มี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับ ส่วนนิพพานนั้นเป็นอีกปรมัตถหนึ่งซึ่งยังไม่มี ไม่ปรากฏ ก็ไม่ต้องพูดถึง พูดถึงปรมัตถธรรมในชีวิตประจำวันซึ่งมีจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าขณะที่นอนหลับสนิทมีไหม ถามอีกที เคยมีขณะที่หลับสนิทไหม มี ขณะที่หลับสนิท เป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นภวังคจิต
ท่านอาจารย์ เป็นภวังคจิต แล้วตอนนอนหลับสนิท คนตายกับคนเป็นไม่เหมือนกัน ต่างกันตรงไหน
ผู้ฟัง ต่างกันที่คนตายไม่มีจิต แต่คนนอนหลับ มีจิตเรียกภวังคจิต
ท่านอาจารย์ ใช่ ภวังคจิตมีอารมณ์ไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ แต่ภวังคจิตกับปฏิสนธิจิต ไม่ได้มีอารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ปรากฏ แต่ว่าพระธรรมทรงแสดงไว้ว่า ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติจิตของชาติก่อน
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240