ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202


    ตอนที่ ๒๐๒

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔


    ท่านอาจารย์ แต่ภวังคจิตกับปฏิสนธิจิตไม่ได้มีอารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้นไม่ปรากฏ แต่ว่าพระธรรมทรงแสดงไว้ว่า ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติจิตของชาติก่อน ก่อนจะจุติมีอารมณ์อะไร ปฏิสนธิจิตรับสืบต่อจากจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน ถ้าเราไม่เรียนให้รู้ความละเอียด เราจะสับสน แล้วเราก็อาจจะคิดว่า วิถีจิตเป็นสติ หรืออะไรๆ ต่างๆ เหล่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่ วิถีจิตก็หมายความถึงจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิ ไม่ใช่ภวังค์ ไม่ใช่จุติ นอกจากนั้นต้องเป็นวิถีจิต อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    ขณะเห็น จิตเห็น เป็นวิถีจิต หรือไม่ใช่วิถีจิต กำลังเห็น เป็นวิถีจิตหรือไม่ใช่วิถีจิต

    ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ใช่วิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อย่างนั้นๆ กำลังเห็น ไม่ใช่เราเห็น ใช่ไหม เป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้น แต่ก่อนเป็นเราเห็น แต่เดี๋ยวนี้เข้าใจแล้วเป็นวิถีจิต อาศัยตาจึงเป็นจักขุทวารวิถีจิต เป็นจิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็น กำลังได้ยิน เป็นปรมัตถธรรมอะไร ได้ยิน

    ผู้ฟัง เป็นวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ขณะไหนไม่ใช่วิถีจิต ขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้น เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องสติหรืออะไรเลย เพียงแต่ให้ทราบลักษณะของจิต แล้วต่อไปเราถึงให้ทราบว่ามีจิตกี่ชนิด

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติเราได้ยิน ที่อาจารย์ว่า จิตได้ยินเกิดขึ้น เรียกว่าวิถีจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิต เพราะต้องอาศัยโสตปสาท ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง จึงเป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง จิตที่เกิดขึ้นว่าเราเห็น อันนี้ปัญญา

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เป็นปัญญา ปัญญาหมายความว่ารู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งต้องอาศัยการฟัง ไม่ใช่อาศัยเราทำ เพราะไม่มีเราทำ เป็นจิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของจิตเจตสิกนั้นๆ ก่อนได้ฟังพระธรรมก็มีจิต เจตสิก แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อได้ฟังพระธรรมเข้าใจขณะไหน ก็เป็นจิตเจตสิกซึ่งเป็นปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องมีความเข้าใจเป็นลำดับ ต้องกลับมาตั้งต้นด้วยการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น จนกว่าสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่เราเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นนามธรรมกับรูปธรรม ต้องมีความเข้าใจละเอียดขึ้นละเอียดขึ้น ไม่ใช่ว่าเรามีสติ หรือเราทำสติ แต่ขณะนี้สติเกิด ขณะฟังแล้วปัญญาเกิดร่วมด้วยขณะเข้าใจ แล้วเราเรียนเรื่องสังขารขันธ์ เราก็รู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ค่อยๆ ปรุงแต่งเพิ่มขึ้นจนกว่าจะถึงขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น จะขาดสัมมาทิฏฐิไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครซึ่งเป็นเราที่จะไปทำ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง นิพพานนี้ก็น่างง ยิ่งคิด ยิ่งงง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องคิด นิพพานเป็นเรื่องรู้โดยการประจักษ์แจ้ง ด้วยโลกุตตรปัญญา ถ้าปัญญายังไม่ถึงขั้นนั้น ไม่มีทาง คิดเท่าไหร่ก็งงอยู่อย่างนั้น

    ผู้ฟัง โลกุตตรปัญญา ...

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องมีโลกียปัญญาก่อนโลกุตตรปัญญา

    คุณสตายุ มีโลกียปัญญาหรือยัง โลกียปัญญาตั้งแต่ฟังเข้าใจ จนกระทั่งประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม ยังเป็นโลกียปัญญา ขณะใดที่มีนิพพานเป็นอารมณ์เท่านั้น จึงจะเป็นโลกุตตรปัญญา แต่ถ้าเป็นคนที่ศึกษาวิชาการต่างๆ จบปริญญาเอกสาขาต่างๆ แต่ไม่รู้สภาพธรรมในขณะนี้ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ภาษาไทยใช้คำว่า ปัญญา เขามีสติปัญญามาก แต่ความจริงไม่ใช่สติเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาเจตสิกที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่เราเอาคำมาใช้ แต่ไม่ใช่ตัวจริงของธรรม

    เราทราบว่าปรมัตถธรรม มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีการพูดเรื่องขันธ์ในพระสูตรบ้าง ที่อื่นบ้าง ถ้าไม่ได้ศึกษาเรื่องปรมัตถธรรม เราจะงง ไม่ทราบว่าขันธ์คืออะไร มาจากไหน เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า แต่ถ้าเรารู้ว่าทุกอย่าง ต้องมีเพียงปรมัตถธรรม ๓ ที่เกิดดับ คือ จิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานก็เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่เกิดดับ

    เวลาพูดถึงขันธ์ หมายความถึงสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดซึ่งเกิดดับ ในอดีตเห็นก็เห็นอย่างนี้ จะเห็นเสียงไม่ได้ เห็นกลิ่นไม่ได้ เห็นก็ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อวานนี้เห็นก็คือเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ต่อๆ ไปในอนาคต เห็นก็คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่เกิดดับ มีทั้งในอดีตนานแสนนาน มีทั้งขณะที่กำลังเป็นปัจจุบัน แล้วต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้อีก เป็นกองหนึ่งประเภทหนึ่ง คือ ประเภทรูป ไม่ว่าอดีตก็เป็นรูป ปัจจุบันก็เป็นรูป อนาคตก็เป็นรูป เป็นรูปขันธ์ แยกปรมัตถธรรมเป็นส่วนๆ ตามการยึดถือ เพราะว่าเราอาจจะไม่ทราบว่า เราติดรูปมาก ลืมตาขึ้นมาเราก็เห็นรูป แล้วก็ติดในรูป ต้องการรูป ได้ยินเสียงก็ต้องการเสียง ได้กลิ่นก็ต้องการกลิ่น ลิ้มรสก็ต้องการส กระทบสัมผัสก็ต้องการสิ่งที่เรากระทบสัมผัส

    ตลอดชีวิตของเราแสวงหารูป ต้องการรูป ทั้งหมดคือรูปที่ต้องการ เดี๋ยวรับประทานอาหารอร่อย เดี๋ยวก็เห็นดอกไม้สวยๆ เดี๋ยวก็กระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย อ่อนนุ่ม นี่ก็คือชีวิตของเราติดรูปอย่างมาก เพราะฉะนั้น เป็นรูปูปาทานขันธ์ เอาคำว่าอุปาทานเพิ่มเข้าไปอีกคำหนึ่ง หมายความว่ารูปซึ่งเป็นที่ยึดถือ รูปทุกชนิด ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต แต่ก่อนนี้เราก็เห็นรูปเหมือนเดี๋ยวนี้ แล้วเราก็ติดในรูปมาแล้ว ขณะนี้เราก็กำลังติดในรูปอีก ต่อไปเราก็ติดในรูปอีก ถ้าแสดงธรรมโดยนัยของอุปาทาน ความยึดมั่น ก็แยกรูปทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่ง คือต้องเป็นรูปนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปต่างกันโดยประการต่างๆ เป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส ใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด อดีต อนาคต ปัจจุบัน ก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น ก็เป็นส่วนหรือกองของรูปขันธ์ อันนี้เข้าใจไหม คำว่า ขันธ์ ไม่ได้หมายความถึงรูปเดียว รูปทุกชนิด นานมาแล้วถึงเดี๋ยวนี้ หรือปัจจุบัน ก็ยังต้องเป็นรูป เป็นรูปขันธ์

    ขันธ์ต่อไปคือ เวทนาขันธ์ เป็นความรู้สึก ทุกคนอยากจะมีแต่ความรู้สึกสบาย สนุก เพลิน โสมนัส ยินดี ไม่ยากจะมีทุกข์ โทมนัสเลย แสดงให้เห็นว่าเราต้องการรูปมาเพื่อที่จะมีสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนาในรูปนั้น เพราะฉะนั้น เวทนาความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตของเรา เป็นใหญ่ เป็นอินทรีย์ ทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นสุขก็เป็นสุขินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ก็gxHoทุกขินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นโสมนัสก็เป็นโสมนสินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นโทมนัสก็เป็นโทมนสินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นอุเบกขาก็เป็นอุเบกขินทรีย์ ที่ว่าเป็นใหญ่เพราะเหตุว่า ไม่ว่าเวทนาใดจะเกิดกับจิต สภาพธรรมอื่นพลอยเป็นไปกับเวทนานั้น พอเวทนาเป็นสุข เขาสุขหมดเลย ทั้งจิต ทั้งเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย เป็นใหญ่ที่สามารถจะทำให้สภาพธรรมอื่นเป็นอย่างเขา พอเวลาทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์หมดทั้งจิตเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ไม่เบิกบานเลย เจตสิกอื่นๆ ก็เศร้าหมองไปด้วย

    เพราะฉะนั้น เห็นได้จริงๆ ว่า ชีวิตของเรามีความสำคัญอยู่ที่ความรู้สึก ถ้าไม่มีความรู้สึกเราคงไม่ต้องแสวงหาอะไรมามากๆ ไม่ต้องเดือดร้อน แต่เพราะว่าเราต้องการสุขเวทนา เราก็ยึดมั่น ติดในสุขเวทนา เป็นเวทนูปาทานขันโธ มีคำว่าอุปาทานเพิ่มขึ้น ยึดมั่น ในอดีตเราก็เป็นอย่างนั้น ต้องการสุข เดี๋ยวนี้เราก็เป็นอย่างนี้ ต่อไปเราก็เป็นอย่างนี้ รูปขันธ์เป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เป็นรูป เวทนาขันธ์ เป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นนาม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามประเภทไหน

    ผู้ฟัง เวทนาเป็นนาม เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เวทนาเป็นเจตสิก นี้ก็แสดงให้เห็นว่า จิต เจตสิก รูป นั่นเองที่เป็นขันธ์ ๕

    นอกจากนี้ขันธ์ที่ ๓ คือ สัญญาขันธ์ สัญญาที่นี่หมายความถึงความจำ ขณะนี้มีไหม มี สัญญาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจิตจะรู้อารมณ์อะไร สัญญาจำอารมณ์นั้น จิตที่ไม่มีสัญญาเจตสิกมีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี จิตที่ไม่มีเวทนาเจตสิก มีไหม ไม่มี

    มีเจตสิก ๗ ดวงซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ใน ๗ ดวง ๒ ดวงนี้ต้องเกิดร่วมด้วย คือ เวทนากับสัญญาต้องเกิดร่วมด้วยทุกขณะ สัญญาเป็นสภาพจำ ถ้าเราจำอะไรไม่ได้เลย เราคงไม่มาแสวงหาอะไรๆ อีกเหมือนกัน แต่สุขเราก็จำได้ สตอร์เบอรรี่นี้อร่อยดี อยากรับประทานอีก หรืออะไรอย่างนี้ หมายความว่าจำทุกอย่าง ดอกไม้นี้สวยดี เดี๋ยวไปดูใหม่ หรืออะไรอย่างนี้ หมายความว่าเพราะสภาพจำนี้มี จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการปรุงแต่ง โดยเจตสิกอื่นๆ อีก ๕๐ ชนิด เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ จิตทุกขณะเป็นวิญญาณขันธ์ ถ้าเราเข้าใจปรมัตถธรรม เราก็เข้าใจไม่ว่าข้อความนั้นจะเป็นเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ เรื่องอะไรก็ตาม จะต้องรู้ว่าได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

    สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือเท่าไร มีเวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เหลืออีกเท่าไร เจตสิก ๕๐ ทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ แล้วจิตทุกชนิด ไม่เว้นเลย เป็นวิญญาณขันธ์

    ผู้ฟัง วิบากจิต ...

    ท่านอาจารย์ เจตสิก ต้องเกิดด้วยกัน ทั้งจิต และเจตสิกเป็นวิบาก ถ้าจิตเป็นวิบาก เจตสิกก็เป็นวิบาก วิบากเจตสิกเขาจะไม่เกิดกับกุศลจิต ต้องตายตัวหมด ตั้งแต่ต้น เปลี่ยนไม่ได้เลยสักอย่าง ถ้ากุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก อกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก ทีนี้จุดของคุณแจ๊ค ที่จะถามว่า วิบากได้แก่ปรมัตถ์อะไร ต้องได้แก่ จิต และเจตสิก ทีนี้รูปเป็นวิบากหรือเปล่า ที่คุณแจ๊คกำลังจะถามต่อไป รูปเป็นวิบากหรือปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น รูปเป็นผลของกรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ รูปเป็นผลของกรรม แต่รูปไม่ใช่วิบาก นี่แสดงให้รู้ว่า วิบากเป็นผลของกรรม จิต เจตสิก รูป เป็นผลของกรรม แต่จิต เจตสิกเป็นวิบาก แต่รูปไม่ใช่วิบาก รูปเป็นผลของกรรมได้ แต่เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปรู้อะไรไม่ได้เลย ถึงอะไรจะมากระทบรูป รูปก็ไม่มีความรู้สึก เพราะฉะนั้น รูปไม่ใชวิบาก แต่เป็นผลของกรรมได้ ผลของกรรมมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป แต่ที่เป็นวิบากคือจิต เจตสิก นี่คือความต่างกันของจิตเจตสิก กับ รูป

    จริงๆ แล้วถ้าเราเข้าใจธรรมตั้งแต่ต้นแล้วไม่ลืม ทุกอย่างที่เป็นธรรม เป็นธาตุ เพราะว่าธรรมหรือธาตุ ความหมายเดียวกัน มีอะไรบ้างที่ไม่ใช่ธรรม ถ้าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้น แล้วสิ่งนั้นๆ มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุ เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่าธรรมหรือธาตุเหมือนกัน ถ้าเราใช้คำว่าธาตุ คือ รวมหมดเลย ทุกอย่างเป็นธาตุ แต่ทีนี้ทำไมเรามาแยก เพราะว่าก่อนอื่นเราแยกชนิดที่ว่า นามธาตุกับรูปธาตุก่อน แล้วอีกนัยหนึ่ง ทำไมเรามาแยกนามธาตุหรือจิตโดยเฉพาะ เป็นวิญญาณธาตุต่างหาก แล้วก็มีอะไรบ้าง นี่คือแสดงความละเอียดออกไปว่า ถ้าจะพูดเฉพาะจิต อย่างวิญญาณธาตุ ๗ ไม่ใช่ไม่อยู่ในธาตุทั้งหมด ทั้งหมดเป็นธาตุทั้งนั้น ทุกอย่างเป็นธาตุ แต่ที่เราแยกออกมา เป็นวิญญาณธาตุ ๗ หมายความว่า เราจะกล่าวถึงเฉพาะจิต หรือวิญญาณเท่านั้น จักขุวิญญาณเป็นธาตุหรือเปล่า เป็น เพราะทุกอย่างเป็นธาตุ แต่ทีนี้เวลาที่เราพูดถึงปสาทรูป เป็นจักขุธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา พอพูดถึงรูปธาตุก็เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจะกระทบได้เฉพาะจักขุปสาท ส่วนจักขุวิญญาณธาตุเป็นวิญญาณชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถจะเห็นอย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย

    นี่คือแสดงระดับของจิตซึ่งเป็นวิญญาณธาตุว่ามีกำลังหรือมีลักษณะที่สามารถจะรู้อะไรได้บ้าง อย่างจักขุวิญญาณธาตุ เป็นวิญญาณ เป็นจิต แต่รู้ได้อย่างเดียว โดยที่ว่าเมื่อมีจักขุปสาทกับรูปารมณ์กระทบกัน ก็เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณจิต ธาตุรู้ ไม่ใช่ธาตุไม่รู้ เป็นธาตุรู้ แต่เกิดขึ้นเพียงเห็น ทำอะไรไม่ได้เลยในสังสารวัฏฏ์ จักขุวิญญาณธาตุเกิดเมื่อไรก็คือเห็นเท่านั้นเอง จะได้ยิน จะได้กลิ่นอะไรไม่ได้เลย นี่ก็เป็นทางหนึ่ง จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุโดยนัยเดียวกัน ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ โดยนัยเดียวกัน ที่เราแยกออกมาเพื่อแสดงความหลากหลาย และระดับของจิตว่า ๕ อย่างเขาทำอะไรไม่ได้เลย เกินกว่านี้ นอกจากจิตเห็น จักขุวิญญาณเห็นเท่านั้น โสตวิญญาณได้ยินอย่างเดียว ฆานวิญญาณก็เพียงได้กลิ่นนิดเดียว ชิวหาวิญญาณก็แค่ลิ้มรส กายวิญญาณก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ลองคิดถึงความจริงในชีวิตประจำวัน เวลาที่สภาพของนามธาตุนี้เกิด เพียงเท่านี้เอง ที่กำลังเห็น เพียงเท่านี้ กำลังได้ยินก็ธาตุอีกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็เพียงเท่านั้น แต่ว่านี่ ๕ ธาตุแล้ว รู้ได้เฉพาะอารมณ์ของตนของตน ส่วนจิตอีกประเภทหนึ่งสามารถที่จะรู้ได้ถึง ๕ อย่าง นี่ต่างกันแล้วใช่ไหม ระหว่างจักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ซึ่งรู้ได้เฉพาะอย่างๆ แต่มีจิตอีก ๓ ชนิดหรือ ๓ ประเภท ๓ ดวงที่รู้ได้ถึง ๕ อย่าง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต กับสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นอเหตุกกิริยา สัมปฏิจฉันนะ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์ ต่อจากวิญญาณธาตุ ๕ นี้ก็แสดงถึงระดับของจิตอีกขั้นหนึ่ง แล้วจิตนี้ก็ไม่เกินกว่านี้ คือสามารถเพียงที่จะเกิดต่อจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อเป็นสัมปฏิจฉันนะ แต่เกิดก่อนจิตเหล่านี้เมื่อเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้น ๓ ดวงนี้เป็นมโนธาตุ หมายความถึง เป็นธาตุซึ่งต้องเกิดที่รูป ไม่เกิดที่รูปไม่ได้เลย แต่ว่าสามารถจะรู้อารมณ์ได้ ๕ อย่าง ในรูปพรหมมี มโนธาตุไหม

    ผู้ฟัง ต้องมี

    ท่านอาจารย์ ต้องมี เพราะว่าจิต ๓ ดวงนี้ต้องเกิดที่หทัยวัตถุ แล้วก็รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ แต่ว่าสำหรับพรหม จะรู้ได้เพียง ๒ อารมณ์ คือ รูปารมณ์กับสัททารมณ์ ไม่มีการรู้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่อยู่ที่นั่น ต้องเป็นจักขุทวาราวัชชนะ กับโสตทวาราวัชชนะ เปลี่ยนชื่อ แต่สัมปฏิจฉันนะก็เป็นสัมปฏิจฉันนะ ในมโนธาตุ ๓ มโนธาตุ ๑ เกิดก่อนวิญญาณธาตุ ๕ ส่วนมโนธาตุอีก ๒ เกิดต่อจากวิญญาณธาตุ ๕ ก็จบไป

    จิตที่เหลือทั้งหมดเป็นมโนวิญญาณธาตุ ถ้าเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่หทัยวัตถุ ถ้าเกิดในภูมิที่ไม่มีขันธ์ ๕ มีแต่นามขันธ์อย่างเดียว ไม่ต้องอาศัยรูปเลย อย่างโลภะ ในภูมิของเรา ติดในรูปทุกอย่างมากมาย เมื่อกี้นี้เท่าไร กี่ชนิด เดินผ่านมา สีเขียว สีแดง รูปร่างเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ติดแล้วในสิ่งที่ปรากฏทางตา มีกลิ่นไหม ก็ติดแล้วในกลิ่น ในรสในทุกอย่าง นี่คือการติดข้องในกามภูมิ เพราะฉะนั้น โลภะนี้เขาก็จะติดในรูป ส่วนใหญ่แล้วก็ในนามคือความสุข ความพอใจที่เกิดจากการได้รับในสิ่งนั้นๆ เราติดในสุขเวทนา ในรูป ที่เกิดจากรูป เราหวังรูป ต้องการรูปตลอดเวลา แต่โลภะในอรูปพรหมภูมิมี แต่ไม่ใช่โลภะอย่างนี้ ในอรูปพรหมภูมิไม่มีรูปเป็นที่เกิดเลย เพราะฉะนั้น ในอรูปพรหมภูมิ โลภะเกิดโดยไม่ต้องเกิดที่หทัยรูป โลภะจะเกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ได้ ในกามภูมิก็ได้ ในอรูปพรหมภูมิก็ได้ แต่มโนธาตุต้องเกิดในภูมิที่มีรูป

    ผู้ฟัง จิต และเจตสิก ก็ไม่เกิด ในอรูปพรหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเกิดที่วัตถุรูป ไม่มีรูปเป็นที่เกิด แต่เกิดได้ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตรู้เลย ของมนุษย์ติดในอะไร เกิดที่ไหน เทวดาที่ไหน อย่างไร เกิดที่ไหน พอถึงรูปพรหมก็ยังมีหทัยวัตถุ โลภะก็ยังต้องเกิดขึ้นที่หทัยวัตถุ แต่อรูปพรหมไม่ต้องอาศัยรูปใดๆ เลย โทสะเกิดในอรูปพรหมภูมิได้ไหม

    ผู้ฟัง เกิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ โทสมูลจิตไม่เกิดในรูปพรหม และอรูปพรหม ต้องทราบด้วยว่าอกุศลจิตทั้งหมด เขาเกิดที่ไหน ตามภูมิ

    ผู้ฟัง พอไม่มีรูป

    ท่านอาจารย์ มีโลภะเกิดได้ มีโมหะเกิดได้ แต่โทสะไม่เกิดในรูปพรหมภูมิหรืออรูปพรหมภูมิ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีความติดข้องในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แล้วภูมิของเขาก็แสนที่จะประณีต ประณีตเสียจนกระทั่งโทสะไม่เกิด จะไปโกรธใครที่ไหน อะไรๆ ก็สวย มันก็ดีไปหมด เพราะฉะนั้น โลภะที่อาศัยหทัยวัตถุ ที่ไหน ในกามภูมิกับรูปพรหม ไม่อาศัยวัตถุที่ไหนในอรูปพรหมภูมิ แต่เกิดได้ แต่โทสะไม่ได้ โทสะไม่เกิดในรูปพรหม อรูปพรหม เพราะฉะนั้น โทสมูลจิต เกิดเมื่อไร ต้องเกิดที่หทัยวัตถุ

    ผู้ฟัง โลภะเกิดที่ไหน ...

    ท่านอาจารย์ โลภะเกิดในภูมิ ที่มีรูปก็ได้ ในภูมิที่ไม่มีรูปก็ได้

    ผู้ฟัง ก่อนจะมี ต้องมีรูปหรือนามเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าคนที่ติดในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เราเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งที่เราต้องการ แล้วจิตของเขาอบรมเจริญด้วยสติสัมปชัญญะ มีปัญญาระดับที่สามารถที่จะระงับความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น อย่างในอดีต ผู้ที่มีปัญญาท่านเห็นโทษ แต่เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ไม่รู้หนทางเลยว่าทำอย่างไรถึงจะดับได้จริงๆ ท่านก็เพียงแต่ระงับ ท่านเห็นโทษว่า พอเห็นต้องเป็นอกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด ของเราเป็นก็ไม่รู้ ปัญญาต่างระดับขั้นกันมาก ปัญญาของคนที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา ก็ต่างกับปัญญาของผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง เห็นโทษเป็นขั้นของผู้ที่มีปัญญามาก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา เราจะไปเห็นโทษได้อย่างไร อาหารก็อร่อย อะไรทุกอย่างก็ดี ไม่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เราไม่เป็นเน้นที่เห็นโทษ เพราะมันเห็นยาก แต่เราเน้นที่ปัญญา เมื่อมีปัญญาแล้ว เป็นหน้าที่ของปัญญาที่จะเห็น แต่ถ้าไม่มีปัญญา แล้วเราก็ตามๆ ไป คิดๆ ตามๆ ไป ท่านเหล่านั้นท่านหน่าย ท่านเหล่านั้นท่านเบื่อ ท่านเหล่านั้นท่านอะไร ใช่ไหม มันมีโทษอย่างนี้ มันมีโทษอย่างนั้น ก็รำพันโทษ โดยไม่รู้โทษจริงๆ เพราะมันไม่ได้เกิดกับเรา เวลาที่ใครสักคนในที่นี้จะเกิดเห็นโทษขึ้นมา ถามจริงๆ ว่า เขากำลังคิดถึงเรื่องที่เขาไม่พอใจหรือเปล่า ที่เขาเห็นโทษ แต่เวลาที่เราผ่านมาเมื่อกี้ มันแสนที่จะสวยงามอย่างนั้น มีใครสักคนที่เห็นโทษบ้างหรือเปล่า ทั้งๆ ที่พรรณนาว่า มันเป็นสิ่งที่ชั่วคราว เล็กน้อยแค่เห็น เราก็ชั่วคราวเล็กน้อยแค่เห็น แต่สวย น่ารัก ดอกตรงนี้สีชมพู ตรงนั้นสีอะไรๆ ก็แล้วแต่

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว เราไม่ควรจะไปเพ่งเล็งที่เห็นโทษ เพราะมันไม่ใช่จริง แต่เป็นเรื่องที่ควรจะอบรมปัญญาจนกว่าปัญญาเห็น แล้วปัญญาเห็นปัญญาระดับไหน ถ้าเราจะเกิดทำฌาน เราต้องมีปัญญาระดับที่เรารู้เลยว่าวันหนึ่งอกุศลเท่าไร แต่เรารุ่นนี้ ชุดนี้ไม่ทำหรอก เพราะเราไม่เห็น เราก็เพียงแต่นึกถึงเท่านั้นเอง แต่ไม่สามารถที่จะมีจิตระดับนั้นได้ ที่จะเป็นสัมปชัญญะประกอบด้วยปัญญา ที่จะให้จิตสงบโดยการเห็นโทษจริงๆ

    ผู้ฟัง ปัญญาระดับไหน

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเห็น ไม่ใช่ว่าตามๆ หรือว่า คิดเอานิดๆ หน่อยๆ แล้วก็จริงๆ แล้ว มันเต็มไปด้วยอกุศล ซึ่งเราเพียงแต่เหมือนกับพูดตามมากกว่า หรือว่าคิดตาม หรือว่าตามๆ กันไป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    15 ก.ค. 2567