ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
ตอนที่ ๒๐๓
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ แต่เห็นโทษต้องเป็นปัญญา อย่างคนที่ยังเป็นปุถุชน ไม่มีทางที่จะเห็นโทษระดับที่ว่าเหมือนคนที่ทำฌานในอดีต หรือว่าเหมือนคนที่ถึงขั้นพระอนาคามีแล้ว พระพุทธเจ้าสอน พระองค์ทรงแสดงธรรม ใช้คำว่าแสดงธรรม ความกระจ่างของสภาพธรรมอย่างละเอียด ไม่ให้เราติดข้อง ไม่ให้เราติดขัดด้วยพระปัญญา อย่างเรื่องธาตุ เรื่องธรรม เรื่องธรรมธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องอะไรทั้งหมด เพื่อให้เราไม่ติดข้อง ไม่ติดขัด เพื่อว่าปัญญาของเราจะได้กว้างแล้วก็ลึก เพื่อที่จะเห็นสภาพธรรม จนสามารถที่จะสละความเป็นเราได้ แต่โทษของธรรมมีอย่างไร ทรงแสดงอย่างนั้น โทษของภพ โทษของชาติทรงแสดงไว้ การเกิดเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะภพไหนทั้งสิ้น แม้อรูปพรหมก็เป็นโทษ แสดงโทษแล้วจะให้เราเห็นโทษอย่างไร ฟังแล้วก็รู้ว่า ผู้ที่เห็นโทษคือเห็น แต่ผู้ที่ยังไม่เห็นโทษต้องศึกษาแล้วต้องเป็นผู้ที่ตรง ข้อสำคัญที่สุดคือตรงว่า เรามีปัญญาระดับไหน ถ้าเรามีปัญญานิดๆ หน่อยๆ เราก็อบรมเจริญปัญญาของเราให้มากขึ้น และข้อสำคัญที่สุดคือ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วจะก้าวไปถึงความเป็นพระอนาคามี หรือว่าเห็นโทษระดับนั้น เป็นไปไม่ได้
การเห็นโทษของคนยุคนี้ สมัยนี้ เราอาจจะมองดูหรือว่าฟังคำพูดของบางคน เหมือนเขาเห็นโทษ เขาพูดได้หมดเลย แต่จริงๆ เขาเห็นหรือเปล่า เขาไม่ได้เห็นเลย บางคนเป็นอัธยาศัยเลย เขาไม่ได้ศึกษาธรรม แต่วาจาเขาดีมาก เขาไม่มีสัมผัปปลาปะ เขาไม่มีการที่จะใช้วาจาหยาบเลย คำรุนแรงที่จะให้ผู้อื่นเสียใจ เขาไม่มี แต่เขาไม่รู้แม้แต่ว่าเป็นธรรม หรือว่าไม่มีเขา หรือไม่มีอะไร หรือว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นการสะสม
ผู้ฟัง คำว่าเห็นโทษ อย่างเช่น สมัยก่อนเราไม่เคยรู้เรื่องศีลมาก่อน พอเราเริ่มมารู้จักเรื่องศีล เราก็ไม่ล่วงละเมิด เราใช้ว่าเป็นความละอาย
ท่านอาจารย์ โดยมากเรามักจะหาคนตัดสินจริงๆ แล้วหาคนตัดสินไม่ได้ หาการที่ว่า เราจะเข้าใจสภาพธรรมอย่างไรด้วยการไตร่ตรอง อย่างเวลาที่คนที่เขาไม่ได้เรียนธรรมเลย แต่เขาสอนลูก เห็นไหม ลักขโมยแล้วก็ถูกตำรวจจับ ติดคุก ติดตะราง เพื่อนฝูงก็ไม่ชอบ เป็นบาป เป็นกรรม อย่างนี้หมายความว่าเขาเห็นโทษหรือเปล่า เพียงเท่านี้ เขายังไม่ได้ศึกษาธรรมเลย
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ เห็นกันได้แล้ว สิ่งที่ไม่ดีใครก็ไม่ชอบ นอกจากจะไม่มีคนชอบ คือคนเราไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามจะสูง จะต่ำ จะมีความรู้ ไร้ความรู้ อย่างไรก็ตาม จะหลอกลวง หรือจริงใจอย่างไรก็ตาม ลึกลงไปคือเขาต้องนิยมคุณความดี เห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ใครจะชอบ สังเกตได้ นักการเมือง เราพูดในความดีความชั่ว เราไม่ได้ไปชอบเขาเพราะเขามีฐานะมั่นคง ร่ำรวย แต่เขาดีหรือไม่ดี หรือแม้แต่จะเลือก เพราะฉะนั้น ลึกลงไปคือทุกคนชอบสิ่งที่ดี เพราะมันไม่ได้ให้โทษกับใคร แต่ทำได้ไหมมันอยู่ตรงนี้ อย่างคนที่เขาไม่ใช่คำว่า ศีล ไม่ต้องใช้คำนี้ แต่สิ่งนั้นไม่ดีไม่ควรทำ ทั้งกายทั้งวาจา อย่าพูดโกหก แล้วเราจะไปบอกว่า เขาเห็นโทษ หรือว่าเขามีปัญญา หรือว่าต้องไปศึกษาเสียก่อนว่า มันเป็นศีล แล้วถึงจะเห็นโทษ ถ้าล่วงศีลแล้วถึงจะเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ไม่ใช้คำนี้
พระธรรมที่ทรงแสดงสภาพปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร ทรงแสดงให้เข้าใจชัดเจนในสภาพธรรมนั้นๆ แต่เราไปคิดว่าเหมือนกฎข้อบัญญัติ ถ้าสิ่งนี้ไม่ดีไม่ควรทำ เพราะว่าสอนว่าอย่างนี้ แสดงว่าสิ่งนี้ไม่ดี แต่ถึงจะแสดงหรือไม่แสดง สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น เพียงแต่เราไม่มีปัญญาที่จะรู้ความละเอียดว่า ขณะนั้นมันไม่ใช่เรา มันเป็นสภาพธรรม บังคับบัญชาไม่ได้ ลักษณะของสภาพธรรมก็มีหลากหลาย ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ไม่มีใครชี้แจงอย่างนี้ เพราะเขาไม่รู้ธรรม แต่ก็สามารถจะเข้าใจสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี
พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ทรงแสดงละเอียด แล้วก็ทรงบัญญัติ ถ้าเป็นทางกายทางวาจา กุศลเป็นไปในอะไรบ้าง ในทานในศีล บุญกิริยาวัตถุอะไร และทรงแสดงความละเอียด ซึ่งเราถึงแม้ว่าไม่ได้ฟัง แต่ว่าทุกคนก็รู้ว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ดี อะไรที่เป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เราไม่มีคำที่จะไปเรียกว่า เป็นศีลหรือ เป็นอะไรก็ได้ แทนที่จะเห็นเหมือนเดิม เห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ ก็จะเห็นโดยสติอีกระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ขณะที่กำลังฟัง ขณะที่กำลังฟังที่เข้าใจ มีสติด้วย ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ขณะนี้ใครจะรู้หรือไม่รู้ สติก็เกิดกับกุศลจิต แล้วไม่ใช่แต่สติอย่างเดียว โสภณเจตสิกอื่นๆ อีก ๑๙ ประเภท รวมทั้งสติก็จะต้องเกิดกับจิตที่เป็นกุศลทุกขณะ มีทั้งหิริ มีทั้งโอตตัปปะ ซึ่งไม่มีใครรู้เลย แต่มีผู้ที่จะรู้ธรรมว่าเป็นธรรม เมื่อฟังแล้วเข้าใจแล้วก็เป็นปัจจัยให้มีสติปัฏฐาน คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง ถึงเฉพาะลักษณะของธรรมทีละลักษณะ จนกระทั่งสามารถจะประจักษ์ทุกขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะที่เกิดดับได้
ทุกข์ของพระอริยบุคคลซึ่งเป็นการรู้ทุกขอริยสัจจะ ไม่ใช่รู้ทุกข์อย่างที่ชาวบ้านรู้ ว่าเป็นคนนั้นเป็นทุกข์ เรื่องนั้นเป็นทุกข์ วันนั้นเป็นทุกข์ แต่เป็นธรรมที่เกิดแล้วดับ จึงเป็นทุกข์
ผู้ฟัง ทุกขสมุทัย นี้มีปรมัตถธรรมอะไร คือ ทุกข์ สมุทัย
ท่านอาจารย์ ต้องทราบ เวลาที่เราเรียนธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ อย่าง ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน ถ้าจำได้ก็เรียงได้แล้ว จิต เจตสิก รูป นิพพาน ไม่ยาก แค่นั้นเอง แต่ว่าต้องรู้จริงๆ ว่าถ้าเราศึกษาพระไตรปิฎก ก็คือศึกษาสภาพธรรมที่มีจริงๆ คือขณะนี้มีจิตจริงๆ แล้วก็มีเจตสิกจริงๆ แล้วก็มีรูปจริงๆ ไม่มีอะไรจะพ้นจากปรมัตถธรรมเลย ถ้าเราจะพูดถึงหมวดหนึ่งหมวดใด อย่างทุกข์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร ต้องรู้ ไม่ใช่ทุกข์ลอยๆ แต่ทุกข์ คือ การเกิดขึ้น และดับไป
เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้น และดับไปของอะไร ที่ว่าเป็นทุกข์
ผู้ฟัง เป็นการดับไปของจิต เจตสิก และรูป
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น สติจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป แต่ว่าสำหรับปัญญาขั้นต้นที่เราเริ่มเรียนปรมัตถธรรม เรามีความเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วธรรมต่างกันเป็น ๒ ชนิด คือ ธรรมประเภทหนึ่งเป็นรูปธรรม ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ส่วนธรรมอีกประเภทหนึ่งเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ได้แก่ จิต ๑ เจตสิก ๑ นามธรรมมี ๒ อย่าง เวลาที่จิต เจตสิกเกิด แล้วจะไม่รู้อะไร เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นธาตุรู้ ก็ต้องเกิดขึ้น แล้วก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น เราก็รู้ได้ว่า สภาพธรรม มี ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม เวลาที่เราจะอบรมเจริญปัญญา เราไม่ได้ไปรู้ชื่อเลย แต่เรารู้ความต่างกันของสภาพธรรม ๒ อย่าง ไม่ต้องไปแยกว่าเป็นจิตหรือเจตสิก เพราะเราไม่เคยรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วจะไปรู้ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิกไม่ได้ แต่ต้องรู้สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ เป็นธรรมที่เป็นนามธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย ถ้าใช้คำว่านามธรรม ไม่มีรูปสักรูปเดียวที่จะเจือปนในนามธาตุนั้นได้ ไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่สามารถที่จะเห็น ไม่สามารถที่จะได้ยิน ไม่มีกลิ่นที่จะให้รู้ แต่เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้
ยากไหมที่จะแยกนามธาตุออกจากรูปธาตุ เพราะว่ามีพร้อมกันในขณะนี้ ทั้งนามธรรม และรูปธรรม แต่จากการฟังเข้าใจว่า นี่ก็เป็นธรรม นั่นก็เป็นธรรม แต่มีธรรมที่ต่างกัน ๒ อย่าง
สติก็เริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ เมื่อมีปัจจัยที่จะระลึก สติก็เกิดระลึก แล้วค่อยๆ ศึกษา เข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม เข้าใจลักษณะที่เป็นรูปธรรมว่าต่างกัน โดยไม่มีคำ ไม่มีชื่อว่า ต้องไปเรียกว่า นี่กำลังเป็นนามธรรม หรือนี่เป็นรูปธรรม อย่างนั้นเป็นขณะจิตซึ่งกำลังนึกถึงคำ ไม่ใช่เป็นการศึกษาลักษณะของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ด้วยว่า เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน คือ การที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมด้วยปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจก่อนว่าเป็นธรรมที่มีลักษณะใด ปัญญาต้องตามลำดับขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะมีปฏิบัติโดยไม่มีปริยัติ ได้ไหม ไม่มีการศึกษาเลย แล้วไปปฏิบัติ ได้ไหม ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย เพราะไม่เข้าใจความหมายของปฏิบัติ แล้วก็เข้าใจผิด คิดว่าปฏิบัตินี่คือทำ ก็เลยจะทำกัน แต่ไม่ใช่ เป็นการอบรมปัญญา ให้มีความเห็นถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม
เห็นโลภะไหม ทุกขสมุทัย แล้วเห็นโลภะอะไร ไม่เห็นโลภะอะไร
ผู้ฟัง บางครั้งก็เห็น บางครั้งก็ไม่เห็น เพราะว่าบางครั้งเวลาที่ว่า สติที่เกิดระลึกสภาพนี้อยู่ก็คิดว่า เพราะฉะนั้น เห็นดี แต่พอไม่มีสติ อย่างเช่นเวลากินข้าว บางครั้งก็รู้ เมื่อรู้ว่านี่กำลังพอใจในสิ่งที่ทาน ถ้าทานไปเรื่อยๆ สติเวลาไม่เกิดก็ไม่รู้ว่า สภาพที่อยู่นั้นเป็นโลภะ แต่คิดว่าน่าจะมี
ท่านอาจารย์ เห็นโลภะ ไม่เห็นว่าโลภะเป็นสมุทัย กว่าจะเห็นว่าโลภะเป็นสมุทัย ต่อเมื่อชินกับลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แล้วมีความติดข้องในนามธรรม และรูปธรรมนั้น จึงจะเห็นได้จริงๆ ว่า ความติดข้องนี่เองที่เป็นเหตุให้ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ จนกว่าจะค่อยๆ คลายโลภะ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงจนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจ์ที่ ๓ นิโรธสัจจะ คือ นิพพาน ต้องถึงด้วยการละโลภะ ด้วยการรู้ว่าโลภะเป็นอย่างไร เป็นเครื่องกั้นอย่างไร
ที่เรากำลังพูด เราพูดถึงปัญญาที่สามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเรากำลังเรียนเรื่องธรรมทั้งนั้นเลย เรียนเรื่องโลภะเป็นสมุทัย ไม่มีใครไม่รู้ บอกได้ เพราะว่าโลภะมี มีความติดข้อง เพราะฉะนั้น ก็ยังต้องวนเวียนอยู่ เมื่ออยากจะให้มีสิ่งใด สิ่งนั้นก็ต้องมีตามความประสงค์ ตามความอยาก ซึ่งเป็นความติดข้อง ไม่พ้นไปจากสิ่งนั้นได้ แต่นี่เป็นเรื่องของโลภะ
การที่จะรู้ลักษณะของธรรม รู้จริงๆ ก็ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด ซึ่งเป็นเบื้องต้นที่จะให้เกิดวิปัสสนาญาณ แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาที่จะรู้ความจริงแม้แต่ทุกขอริยสัจจะ ก็จะรู้ไม่ได้ ที่จะไปรู้สมุทัย ก็จะรู้ไม่ได้ ยังมีโลภะอยู่ ยังติดข้องอยู่ เพราะฉะนั้น ความติดข้องจะละเอียดขึ้น ที่จะรู้ว่า ขณะนั้นติดข้องไม่ติดข้อง อย่างธรรมดาเราบอกว่า เราติดข้องในรูปทั้งหมดมาเป็นเรา เรายึดถือรูปว่าเป็นเรา แต่เวลาสภาพธรรมปรากฏ มันไม่ใช่ตัวเราทั้งหมด แต่ว่าลักษณะของแข็งหรือร้อน แม้ว่าปรากฏโดยสภาวะสภาพที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ เฉพาะอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็ยังมีความติดข้องในสิ่งนั้น คนนั้นก็รู้เลยว่า ยังมีความติดข้อง แม้ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ยังติดข้อง เพราะฉะนั้น ความติดข้อง ปัญญาจะเห็นความละเอียดขึ้นๆ ๆ ถ้ายังติดข้องในสังขารธรรมทุกอย่าง ก็ไม่มีทางที่จะถึง หรือรู้แจ้งนิพพานได้
ส่วนใหญ่คนเข้าใจว่า พระธรรมที่ทรงแสดง หรือว่าเราไปฟังธรรม หรือธรรมเทศนา เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แต่ว่าธรรมมีความหมายหลายอย่าง เมื่อเราจะศึกษาพระไตรปิฎก แต่จะเห็นว่าพระไตรปิฎกมี ๓ ส่วน พระวินัยปิฎกส่วนหนึ่ง พระสุตตันตปิฎกส่วนหนึ่ง พระอภิธรรมปิฎกส่วนหนึ่ง
คำว่าธรรม ที่เรากำลังเรียน หมายความถึงธรรมที่มีจริงๆ แต่ว่าคำว่า “ปรมัตถธรรม” มาจากคำ ๓ คำ รวมกัน คือ ปรม ภาษาไทยเราใช้ บ. เป็นบรม เราไม่ใช้เป็น ป. และ อรรถ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นความหมาย เรื่องราว คำว่า “อรรถ” แล้วก็ธรรม คือ สภาพที่เป็นธาตุหรือเป็นสิ่งที่มีจริง เวลาที่เราพูดถึงธาตุ ทุกคนก็เข้าใจเราหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วแต่ว่าจะแยกไปเป็นธรรมอะไร หรือธาตุอะไร แต่สำหรับปรมัตถธรรม ให้ทราบว่าธรรมหมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง แต่ถ้ากล่าวอย่างนี้มันก็แคบไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ถ้าจะอธิบายเพิ่มเติมก็คือว่า อรรถ ลักษณะหรือความหมายของสิ่งนั้นต้องมี ที่เราสามารถที่จะบ่งหรือบอกว่าธรรมนั้นเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าเป็นธรรม แต่ไม่มีลักษณะที่จะให้รู้ได้ แต่ว่าธรรมแต่ละลักษณะที่เป็นสิ่งที่มีจริง มีอรรถ มีความหมายของสภาพธรรมนั้นๆ ตรงสภาพธรรมนั้นๆ ที่เราสามารถที่จะกล่าวถึงลักษณะนั้นได้ ให้รู้ได้ แล้วคำว่า ปรม คือ ใหญ่ ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพธรรมนั้นได้เลย อย่างเสียงเป็นธรรมชนิดหนึ่ง มีลักษณะที่เรารู้ว่าเป็นเสียง ไม่ใช่รส ไม่ใช่กลิ่น กลิ่นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง มีอรรถ มีความหมายว่า สภาพนี้ต้องกระทบจมูกจึงปรากฏ ลักษณะของกลิ่น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
ถ้ากล่าวถึงปรมัตถธรรมก็คือว่าเป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีสัตว์ บุคคล เรื่องราว เหมือนอย่างในพระสูตร ถ้าในพระสูตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะทำอะไร ท่านพระสารีบุตรทำอะไร ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเมื่อไหร่ นั่นคือเรื่องราว แต่ในพระสูตรก็มีธรรมทั้งหมด แต่ว่าโดยนัยที่กล่าวถึงบุคคล แต่ว่าสำหรับสำหรับพระอภิธรรมหรือ ปรมัตถธรรม มี ๗ คัมภีร์ คัมภีร์เดียวที่กล่าวถึงบุคคลต่างๆ แต่ว่าบุคคลต่างๆ ต้องมีปรมัตถธรรม จึงจะมีสิ่งที่เราสมมติเรียกว่าเป็นบุคคลได้ ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม เราจะสมมติเรียกได้ไหมว่าคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้ เราก็สมมติเรียกไม่ได้
ปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง จะใช้คำว่าอภิธรรมก็ได้ เพราะว่า อภิ ก็หมายความถึง ยิ่ง ใหญ่ เพราะแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพธรรมไม่ได้ แต่ว่าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น ที่เราเรียน กำลังศึกษา คือ ธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นอภิธรรม เราเรียนเรื่องคนหรือเปล่า เราเรียนเรื่องโต๊ะ เก้าอี้หรือเปล่า เราเรียนเรื่องธรรม สิ่งที่มีจริงๆ ไม่เรียกชื่อได้ไหม สิ่งที่มีจริง ถึงไม่เรียกสิ่งนั้นก็มี เมื่อความจริง คือ ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วแต่ใครจะสมมติเรียกอะไร ในภาษาอะไร เปลี่ยนชื่อได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม
ที่ตัว เคยเป็นเราทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่ถ้าศึกษาแล้วเป็นอะไร เป็นธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้น คนที่เขาบอกว่า เขารู้ธรรม แต่เขาไม่รู้ปรมัตถธรรมได้ไหม ไม่ได้เลย พูดได้อย่างไร ถ้ารู้จักธรรมก็ต้องรู้ธรรมนั้นเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็เป็นอภิธรรม
ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ สังเกตคำว่าหนึ่ง จิต ๑ ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เจตสิกก็ ๑ ไม่ใช่อย่างอื่น รูปก็ ๑ ปรมัตถธรรมก็ ๑ ปะปนกันไม่ได้ คำว่าหนึ่ง นี่แยกออก จิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูปไม่ใช่นิพพาน รูปก็เป็นรูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน นิพพานก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมแท้ๆ ไม่เกิน ๔ มีใครคิดว่ามี ๕ บ้างไหม ไม่มี แต่ความหลากหลายมากมายมหาศาล ซึ่งจะต้องเข้าใจความจริงของสิ่งซึ่งเราคิดว่าเรารู้ แต่ความจริงเราไม่รู้ เราเพียงแต่มีชื่อให้เราเรียก แต่เราไม่ได้เข้าใจจริงๆ
อย่างคำว่า จิต เราใช้บ่อยในภาษาไทย เราอาจจะใช้คำว่า ใจ ด้วย อาจจะใช้คำว่า มโน มนัส หทัย หลายคำ แต่ความหมายเหมือนกัน วิญญาณ คือ จิต ถ้าไม่ศึกษา เขาก็ไปสร้างหนังเรื่องวิญญาณล่องลอย แต่วิญญาณล่องลอยไม่ได้แน่นอน เพราะเหตุว่าในบรรดาปรมัตถธรรมทั้ง ๔ จิตเป็นนามธรรม เจตสิกเป็นนามธรรม นิพพานเป็นนามธรรม รูปเท่านั้นที่เป็นรูปธรรม เราต้องเข้าใจตั้งแต่พื้น ตั้งแต่ขั้นต้น ให้ทราบความหมายที่ต่างกัน เพราะว่าถ้าไปแยกธรรมออก อย่างใหญ่ๆ คือทุกอย่างเป็นธรรมจริง แต่หลากหลายมาก และมีต่างประเภทมาก เพราะฉะนั้น ถ้าแยกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ๒ ประเภท คือ นามธรรมกับรูปธรรม การแสดงธรรมแสดงได้หลายนัยมาก แต่อันนี้จะกล่าวตั้งแต่ต้นว่า ธรรมแยกประเภทใหญ่ๆ เป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม รวมกันก่อน รูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏให้รู้ลักษณะของรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เกิดขึ้นจริง มีจริง แต่รู้อะไรไม่ได้เลย อย่างแข็ง ถ้าไม่เกิด จะมีแข็งไหม กลิ่นถ้าไม่เกิด ก็ไม่มีอีก ทุกอย่างที่ว่ามี เพราะว่าเกิดขึ้น แต่การเกิดถ้าคนไม่รู้ก็คิดว่าธรรมดาๆ แต่ผู้รู้สามารถที่จะรู้ว่า อะไรเป็นปัจจัยทำให้สิ่งนั้นเกิด รูปแต่ละชนิด หรือว่านามธรรมก็ตาม
ก่อนอื่นให้แยกรูปซึ่งเราก็คงจะมีความเข้าใจง่ายกว่า เพราะว่าหมายความถึงสภาพธรรมที่มี แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่รูปต้องเป็นรูป ถ้าศึกษาธรรมแล้วหมายความว่า ศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ แสดงเรื่องของสภาพธรรมทุกอย่างที่มีจริงๆ โดยการตรัสรู้ ไม่ใช่โดยการไตร่ตรอง คิดเอา เทียบเคียง หรือประเมินเอา แต่ต้องเป็นเพราะตรัสรู้ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นๆ จึงทรงแสดงตามความจริงอย่างนั้น รูปมองไม่เห็นหรือต้องมองเห็นถึงจะเป็นรูป ถ้าไม่ศึกษาจะบอกว่าต้องเห็น แต่ถ้าเราศึกษาแล้ว รูปที่มองไม่เห็นก็มี คือ สภาพใดๆ ทั้งสิ้นจะมองเห็นหรือมองไม่เห็นก็ตาม เมื่อเกิดมี แต่ว่าไม่รู้อะไร อย่างกลิ่นเรามองไม่เห็นแน่นอน แต่มีกลิ่น กลิ่นเป็นอะไร เป็นรูป เพราะกลิ่นไม่เสียใจ กลิ่นไม่โกรธ ไม่ใช่นามธรรมเลยเป็นรูปธรรม รสมีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีทางที่จะให้จิตลิ้มรสเกิดขึ้น เราจะรู้ไหม ไม่รู้ เพราะฉะนั้น แม้ว่ารูปต่างๆ มี แต่ก็ต้องมีทางที่จะรู้รูปนั้นด้วย อย่างรส ในกล้วย ปลอกเปลือก พอถึงเวลารับประทาน จะซ่อนเร้นอยู่ตรงไหน ชิวหาปสาท สามารถเป็นทางที่จะทำให้จิตนั้นเกิดขึ้นลิ้มรสนั้นได้ อย่างทุเรียน ก็แปลก มีหนาม มีเปลือก อะไรมากมายก็อุตสาห์ไปปลอก ลิ้มรสข้างในได้
นี่แสดงให้เห็นว่า รส มีปรากฏ เมื่อกระทบกับลิ้น แต่ต้องเกิดขึ้นด้วย สิ่งที่เราลืม แล้วเราไม่เคยรู้เลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม คือ คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีแล้ว แล้วเราไปรู้สิ่งนั้น แต่ความจริงถ้าละเอียดกว่านั้นอีก ต้องไตร่ตรองด้วยความเข้าใจ แล้วก็เวลาเข้าใจ ต้องไม่ลืม เพราะเหตุว่าธรรมจะเกี่ยวโยงกันไปหมด ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นต้น จนถึงสุดท้าย ทุกพยัญชนะที่จะติดตามมา หมายความว่าต้องเกี่ยวเนื่องกับความเข้าใจขั้นต้น หรือขั้นแรก
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240