ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
ตอนที่ ๒๐๔
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ ต้องทราบจริงๆ ว่า รูปถึงแม้มองไม่เห็นก็เป็นรูป ต้องเกิดขึ้นด้วยจึงปรากฏ ไม่ใช่ว่ามีอยู่อย่างที่เราคิด เที่ยง ตั้งอยู่ ไปดูเมื่อไรก็ได้ ไปจับไปกระทบเมื่อไรก็ได้ แต่ตามความเป็นจริง อย่างแข็ง ทันทีที่แข็งปรากฏ แข็งนั้นต้องเกิด ถ้าไม่เกิด ไม่มี ปรากฏไม่ได้ แล้วสิ่งหนึ่งซึ่งไม่รู้ ถ้าไม่ได้ศึกษา คือ ทันทีที่เกิดแล้วก็ดับ จะใช้คำว่า ทันที ก็คงจะได้ แต่ความจริงรูปๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะว่ารูปดับช้ากว่าจิต เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความรวดเร็วของจิตเป็นเครื่องแสดงว่ารูปนั้นมีอายุเท่าไร คือต้องใช้การเกิดดับของจิตเป็นเครื่องวัดให้ทราบว่า จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ นี่ก็เป็นสิ่งคร่าวๆ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ แต่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นนามธรรมอีกอย่างหนึ่ง สำหรับนามธรรมต่างจากรูปธรรมโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่เย็น ไม่ร้อน แต่ทุกครั้งที่สภาพที่เป็นนามธรรมเกิดขึ้น นามธรรมหรือนามธาตุต่างจากรูป เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้หรือเป็นสภาพรู้ คำว่า รู้ ที่นี่ไม่ได้หมายความว่า รู้อย่างปัญญา แต่หมายความว่ารู้ว่า สิ่งใดกำลังปรากฏทางไหน เช่น ทางตาในขณะนี้ คนตายไม่สามารถจะเห็นได้ ไม่มีจิต เราอาจจะเผินๆ คิดว่า เขามีตา เขามีหู แต่ความจริงไม่ใช่จักขุปสาท ไม่ใช่โสตปสาท ไมใช่รูปที่สามารถกระทบกับสี เสียง กลิ่น รส รูปร่างภายนอกที่เราจำไว้ เหมือนมีตา แต่ว่าจักขุปสาทจริงๆ ที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ เรามองไม่เห็น
การศึกษาธรรมต้องละเอียดขึ้นๆ แล้วก็พิจารณาว่าเป็นความจริงอย่างนั้นหรือเปล่า จึงจะเป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ ถอนความเป็นเรา ความเป็นตัวตนออกจากสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเข้าใจสภาพธรรมยิ่งขึ้น
นี่ก็พอจะเห็นความต่างของนามธรรมกับรูปธรรม แต่ทั้งนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสังขารธรรม ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารธรรม นิพพานไม่เกิด ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นวิสังขารธรรม ปราศจากปัจจัยที่จะปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น ไม่มีปัจจัยที่จะปรุงแต่งก็เกิดไม่ได้ นิพพานก็เป็นปรมัตถธรรมหนึ่ง ซึ่งต่างจากจิต ต่างจากเจตสิก ต่างจากรูป มีปัญหาหรือมีอะไรสงสัยไหม
ผู้ฟัง ทำไมเราถึงต้องเรียนธรรม แล้วธรรมจะช่วยในชีวิตประจำวันเราได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ คนเราเกิดมาแล้วตายไหม ตาย แต่ก่อนตายมีอะไรที่ยั่งยืนบ้าง รสอาหารที่ทุกคนรับประทานเมื่อกี้นี้ อยู่ที่ไหน สี เสียง กลิ่น รส จิตเกิดดับทุกขณะโดยไม่รู้ เพราะฉะนั้น คนรู้กับคนไม่รู้ต่างกัน ถ้าคนที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีตัวตน กุศลจิตหรือจิตที่ดีงามของเขาจะเกิดขึ้นมากกว่าคนที่ไม่รู้ไหม นี่คือจุดที่ว่าเป็นประโยชน์ในชีวิต แล้วก็สามารถที่จะถึงที่สุดของปัญญา คือ โลกุตตรปัญญาได้
ผู้ฟัง กุศลจิตเกิดบ่อยขึ้นแล้วจะช่วยเราในชีวิตประจำวันเราได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่เราเดือดร้อนทุกคน เพราะกุศลจิตหรือเพราะอกุศลจิต
ผู้ฟัง ทีนี้เรารู้จักตัวอกุศลจิตไหม หรือว่าตัวกิเลส เรารู้จักมันไหม ว่ามันมีสภาพอย่างไร ลักษณะอย่างไร ทำไมมันถึงเกิด ทำไมเราถึงมีทุกข์ เรารู้จักมันไหม
ผู้ฟัง เพราะผมไม่ได้ศึกษาพระธรรม ผมไม่ทราบปรมัตถธรรมว่า ปรมัตถธรรมมีอะไรบ้าง แล้วลักษณะปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร ผมก็ไม่ทราบว่าอกุศลธรรม อกุศลจิตเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งจะทำให้เราเป็นทุกข์บ่อยๆ ขึ้น มากๆ ขึ้น ไม่ทราบถูกต้องหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถึงเราจะได้ยินคำว่า จิต รู้ว่ามีจิต ก็ยังไม่ได้รู้จักจิต รู้จักชื่อรู้จักเรื่อง แต่ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับ กำลังทำหน้าที่ของจิตแต่ละชนิดแต่ละประเภทอยู่
เพราะฉะนั้น กว่าเราจะรู้จักตัวจิตจริงๆ เราฟังเรื่องของจิตเหมือนเราจะรู้จักใครสักคน แต่เราได้ยินเรื่องของเขามากเลย แต่ไม่เคยพบตัว ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า จริงๆ เขาเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือจะเป็นอย่างไร เพียงแต่อาจจะนึกภาพ
เรารู้ว่ามีจิตกำลังเกิดดับ คนที่ยังไม่ตาย มีจิตเกิดดับ แต่จิตเราพูดเฉยๆ เลยว่า เรามี แต่เราควรจะรู้มากกว่านั้นไหม ใช่ไหม ถ้ามีคนถาม ก็ควรจะรู้ว่าจิตมีลักษณะอย่างไร แล้วขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ถ้าว่ามี
ถ้าเราจะพูดถึงสภาพของจิตเป็นปรมัตถธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย จิตเป็นจิต เป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ ซึ่งจะเกิดเมื่อมีปัจจัยเฉพาะจิตแต่ละประเภท สับสนกันไม่ได้ด้วย แม้ว่าจิตจะเป็นธาตุซึ่งเราใช้คำว่า วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ก็ต่างกันไป แล้วตอนหลังพระองค์ก็ทรงแสดงโดยนัยของธาตุ สรุปแล้ววิญญาณธาตุมีเท่าไหร่ อะไรอย่างนี้ แต่การศึกษาขั้นต้นก็คือว่า ให้ทราบว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม นามธรรมหมายความว่าไม่ใช่รูปธรรมโดยสิ้นเชิง ไม่มีรูปใดๆ เจือปนในธาตุรู้หรือสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธาตุเลย แล้วนามธาตุที่เกิด คือจิต เมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ด้วย
ในทางธรรม คำที่คู่กัน คือ จิตกับอารมณ์ จิตเป็นสภาพรู้ อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ ต้องใช้คำว่ากำลังรู้ด้วย อย่างเสียง เวลาที่มีของแข็งกระทบกัน เสียงเกิด ตรงไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ในห้องนี้ก็ได้ ที่อื่นก็ได้ แต่เสียงใดก็ตามที่จิตไม่ได้ยิน เสียงนั้นไม่ใช่อารมณ์ เป็นเพียงสัททะ แต่ถ้าเป็นอารมณ์ เราใช้คำว่า สัททารมณ์ คือ สัททะ คำหนึ่งรวมกับคำว่าอารมณ์อีกคำหนึ่ง หมายความถึงเฉพาะเสียงที่จิตได้ยิน
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ละเอียด จะพูดสัททะเฉยๆ หรือสัททารมณ์ ความหมายก็ต่างกัน พอพูดสัททะ คือ สภาพของเสียง แต่ถ้าพูดถึงสัททารมณ์ต้องเฉพาะขณะที่จิตกำลังได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงจะเป็นสัททารมณ์ ถ้าจะรู้ลักษณะของธาตุรู้หรือสภาพรู้ซึ่งแยกขาดจากรูปธรรม ตอนเกิดมาใหม่ๆ ถ้าจิตไม่เกิด จะบอกว่าสัตว์ คน เกิดได้ไหม มีแต่รูปเกิด จะบอกว่าคนเกิดได้ไหม สัตว์เกิดได้ไหม ไม่ได้ ใช่ไหม ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกของชาตินี้ ต้องมี ทุกคนที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ถอยกลับไปถึงปฏิสนธิจิต ถ้าไม่มีการเกิดของจิตขณะแรก ขณะนี้ก็ไม่มี
การเกิดขึ้นของสัตว์ก็คือว่ามีจิต เจตสิกเกิดพร้อมกับรูป ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน นี่เราก็ไปลึกไปเรื่อยๆ ไม่จำกัด แต่หมายความว่า เพื่อที่จะให้เข้าใจ ลักษณะของจิตโดยถ่องแท้ เราก็อาจจะต้องพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้างก็ค่อยๆ พิจารณาตามไป เวลาพูดถึงเรื่องนามธรรม จะไม่พูดถึงรูปธรรม พยายามที่จะให้เข้าถึงลักษณะจริงๆ ของนามธรรมซึ่งมี แล้วขณะนั้นก็แยกขาดจากรูปตลอด คือว่านามธรรมโดยประการใดๆ ก็ไม่ใช่รูปธรรมทั้งสิ้น แต่เรามีชีวิตอยู่กับรูปธรรมจนชิน แยกไม่ออก อย่างเห็นเราก็ไปนึกถึงสีสันต่างๆ ได้ยินเสียงทั้งๆ ที่มีธาตุรู้ คือ สภาพที่ได้ยินเสียงเราก็ไปนึกเสียงต่างๆ เราละเลยหรือลืมสภาพของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ยิน โดยที่ไม่มีรูปร่างเลย เราก็จำเป็นที่จะต้องพูดถึงเพื่อให้เห็นว่า ธาตุรู้ล้วนๆ ไม่ใช่รูปจะมีลักษณะอย่างไร พอที่จะคิดออกไหม เช่น ขณะแรกที่ปฏิสนธิจิตเกิด ขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึก เพราะเหตุว่าเป็นเพียงขณะแรกซึ่งเกิด แล้วจิตเห็นก็เป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้น เราเริ่มจะรู้ว่า จิตมีหลายชนิด หลายประเภท เพราะว่าจิตต่างกันมากมาย แม้ว่าจะทรงแสดงไว้ว่ามีประเภท ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง แต่ความต่างโดยละเอียด ต่างกันมากมายกว่านั้น แต่ทรงประมวลไว้โดยประเภทที่แสดงว่า เป็นประเภทใหญ่ๆ อะไรบ้าง อย่างวิบากจิตทั้งหมดก็ต้องเป็นผลของกรรม ถ้าใช้คำว่า วิบาก
เมื่อเป็นผลของกรรม กรรมมี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรมกับอกุศลกรรม วิบากก็ต้องมี ๒ คือ ถ้าเป็นผลของกุศล เราต้องใช้คำเต็มว่า กุศลวิบาก จะพูดสั้นๆ ว่ากุศลไม่ได้ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม เราก็ต้องใช้คำว่า อกุศลวิบาก จะพูดสั้นๆ ว่า อกุศล ไม่ได้ เพราะถ้าพูดสั้น หมายความถึงเหตุ คือ อกุศลกรรมหรืออกุศลจิต แต่ไม่ได้พูดถึงวิบาก ถ้าพูดถึงวิบาก ต้องใช้คำเต็มว่า อกุศลวิบาก หรือว่ากุศลวิบาก
ผู้ฟัง ผมยังไม่ค่อยเข้าใจหน้าที่ของเจตสิก
ท่านอาจารย์ ก็ดี เพราะว่าเราพูดถึงจิตมาบ้างแล้ว ตอนนี้เราจะได้พูดถึงนามธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ เจตสิก คือธรรม ทั้งหมดเป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม เจตสิกก็เป็นธรรม รูปก็เป็นธรรม หมายความว่าเป็นธาตุแต่ละอย่าง เกิดขึ้นจริงๆ ตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเจ้าของ หรือว่าไม่มีใครที่จะไปยึดถือว่า เป็นของเราหรือว่าเป็นตัวตนของเรา ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง
สำหรับจิต นามธรรม มี ๒ อย่างที่เกิดขึ้นคือ จิต ๑ แล้วก็เจตสิกอีกประเภทหนึ่ง จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อย่างเสียง มีเสียงไหม มี จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการได้ยินลักษณะของเสียงที่ปรากฏว่า เสียงนั้นมีลักษณะอย่างนั้น เสียงนี้มีลักษณะอย่างนี้ เสียงไมโครโฟนเมื่อเช้าที่ดังๆ ก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง
ใครสามารถที่จะรู้ความต่าง หรือลักษณะของเสียง จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง รู้แจ้งที่นี้หมายความถึงรู้ชัดในลักษณะที่ต่างๆ กันของอารมณ์ เขามีหน้าที่อย่างเดียว จิต ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น ขณะที่กำลังเห็น ที่เห็นนี่คือจิต ขณะที่กำลังได้ยิน ที่ได้ยินนี่คือจิต แต่เจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิต เกิดในจิตหรืออาศัยจิต คือ จะไม่เกิดที่อื่นเลย นอกจากเกิดกับจิต ที่ใดที่มีจิต ที่นั่นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าขณะใดที่เจตสิกหนึ่งเจตสิกใดปรากฏให้รู้ ขณะนั้นต้องมีจิตด้วย จะแยกกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ในสภาพปรมัตถธรรม ๔ รูปเป็นรูป แต่จิต เจตสิก นิพพานเป็นนาม แต่ว่านิพพานไม่ได้เกิด ไม่มีใครขณะนี้ที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ตัดออกไป เพราะว่ายังไม่ถึงระดับปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งนิพพานได้ แต่ถึงไม่มีปัญญาก็สามารถที่จะรู้รูปได้ เพราะฉะนั้น ก็ตัดนิพพานออกไปก่อน ก็พูดถึงปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เพราะว่าเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง แต่อย่าคิดว่า รออยู่ หรืออะไรอย่างนั้น พร้อม แต่ว่าหมายความว่า เมื่อมีปัจจัยเมื่อไร สำหรับจิตประเภทไหน จิตประเภทนั้นจึงเกิด ถ้ามีปัจจัยที่จะให้จิตได้กลิ่นเกิด เพราะมีกลิ่นกระทบกับฆานปสาทรูป ขณะนั้นจิตได้กลิ่นก็เกิด จิตอื่นก็เกิดไม่ได้
จิตแต่ละประเภทจะเกิดต่อเมื่อมีปัจจัยเฉพาะของจิตนั้นที่จะเกิด จิตนั้นก็เกิด แต่เมื่อเกิดแล้วต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์เหมือนจิต แต่ว่าต่างกับจิต คือ ไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่รู้อารมณ์ตามหน้าที่ของเจตสิกแต่ละชนิด เช่น ผัสสเจตสิกเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ เจตสิกนี้มีละเอียดมาก ถึง ๕๒ ประเภท ถ้าจะรวมจิตเป็น ๑ บางครั้งเราก็ใช้คำว่านามธรรม ๕๓ ก็ได้ เพราะเหตุว่าหมายความถึงเจตสิกแต่ละชนิด มีหน้าที่เฉพาะลักษณะเฉพาะแต่ละเจตสิก ส่วนจิตนั้นอย่างไรๆ จิตชนิดไหนก็เป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะในการรู้ แต่เจตสิกแต่ละเจตสิกที่เกิดกับจิตแต่ละชนิดก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ๕๒ ชนิด
ผัสสเจตสิกเป็นเจตสิก เป็นนามธรรมที่กระทบ ถ้าเก้าอี้กระทบเก้าอี้ ไม่ใช่ผัสสเจตสิก แต่ขณะใดที่เห็น จะมีเจตสิกชนิดหนึ่งคือผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ ไม่ทำอื่นเลย นอกจากกระทบ เกิดพร้อมจิตที่รู้อารมณ์ พร้อมๆ กันกับที่ผัสสะกระทบ จิตก็เกิดขึ้นรู้แล้ว แต่ว่าผัสสเจตสิกจะกระทบอะไร ขณะนี้กระทบไม่เหมือนกันก็ได้ บางคนก็คิดนึก บางคนก็ได้ยิน บางคนก็กระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ผัสสเจตสิกกระทบอะไร จิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ ที่ผัสสะกระทบพร้อมกัน จิตขณะหนึ่งที่เกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง หรือ ๗ ประเภท
เวทนาเจตสิก ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ ทุกคนมีแน่ แต่ไม่ได้สังเกต โดยเฉพาะความรู้สึกที่เป็นอทุกขมสุข ความรู้สึกเฉยๆ แต่จะรู้ความรู้สึกเมื่อเป็นโสมนัส ดีใจ ปีติ ดีใจปลาบปลื้มเพราะมีเจตสิกที่เป็นปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ความรู้สึกที่สบายทางใจ หรือความรู้สึกที่ไม่สบายทางใจ ความขุ่นใจสักนิดหนึ่ง ความน้อยใจ ความเสียใจ ความกังวลใจ หรืออะไรก็ได้ ที่เป็นความไม่สบายใจทั้งหมด ความตกใจ ขณะนั้นเจตสิกก็ไม่สบายแล้ว ขณะที่กำลังตกใจ เพราะฉะนั้น เวทนาเจตสิก ภาษาไทยเราใช้คำว่า เวด-ทะ-นา แปลว่าน่าสงสารมากๆ ภาษาไทยใช้ภาษาบาลีผิดหมดเลย ใช้ตามใจชอบแล้วก็เป็นภาษาไทยไป แต่พอศึกษาธรรมต้องเปลี่ยนหมด แทนที่จะพูดว่า เวด-ทะ-นา ก็ต้อง เว-ทะ-นา ออกเสียงทุกตัว เวทนาก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ เฉยๆ ถ้าไม่แยกกายกับใจ แต่ถ้าแยก ทุกข์กาย เวลาปวด เมื่อย คัน อะไรก็แล้วแต่ เจ็บ แต่ใจไม่เป็นทุกข์อย่างนั้นก็ได้ อย่างพระอรหันต์กายของท่าน มีทุกขเวทนาเกิดจริง แต่ใจไม่เดือดร้อน แต่ของคนธรรมดา ถ้ากายเป็นทุกข์ เป็นอย่างไร ใจอาจจะเป็นทุกข์มากกว่ากายอีก เพราะว่าความไม่รู้ แสดงให้เห็นว่า ถ้าแยกแล้วเป็นเวทนา ๕ ถ้าสุข ทุกข์ เฉพาะกาย สำหรับใจที่เป็นสุข ใช้คำว่าโสมนัส ใจที่เป็นทุกข์ก็ใช้คำว่าโทมนัส ทุกข์กับโทมนัสไม่เหมือนกัน เวทนา ๕ เป็นธรรม หรือเป็นเรา เป็นธรรม เมื่อฟังเมื่อเรียน แต่เวลาเกิดขึ้นเป็นอะไร เป็นธรรมหรือเป็นเรา เป็นเรา
กว่าจะไถ่ถอนความเป็นเราด้วยปัญญา ปัญญาเท่านั้นที่จะไถ่ถอนความเป็นเราออกได้ เพราะว่าเรายึดถือสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเดี๋ยวนี้ เมื่อวานนี้ ตลอดชาตินี้ และชาติก่อนๆ เนิ่นนานมาแล้วสักเท่าไรคำนวณไม่ได้ แสนโกฏิกัปป์ ตกใจไหม นานมาก แล้วกว่าจะถอนออกไปว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดเมื่อมีปัจจัยแล้วดับ เวทนาก็ไม่เที่ยง ทุกอย่างไม่เที่ยง เจตสิกเกิดดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ถ้าเป็นภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่เดียวกับจิต เมื่อจิตเกิดที่ไหน เจตสิกก็ต้องเกิดที่นั่นด้วย
ความต่างกันของจิตกับเจตสิก คือ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ คือ อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ทำหน้าที่อื่นเลย แต่เจตสิกแต่ละชนิดก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ก้าวก่ายกันไม่ได้ อย่างโลภเจตสิกจะไปทำหน้าที่ของโทสเจตสิกก็ไม่ได้ หรือว่าปัญญาเจตสิกจะไปทำหน้าที่ของสติเจตสิกก็ไม่ได้ หิริเจตสิกจะไปทำหน้าที่ของศรัทธาเจตสิกก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น รวมทั้งหมดก็มีเจตสิก ๕๒ ชนิด และจิตเมื่อมีเจตสิกประกอบต่างๆ กันก็เป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท เรามีไม่ครบเพราะว่ารวมจิตของพระอรหันต์ด้วย ภพภูมิต่างๆ ด้วย
ผู้ฟัง หทัยรูปเป็นที่เกิดของจิต เกิดดับอยู่บ่อยๆ แล้วไม่ทราบว่า รูปแต่ละรูปเกิดขึ้น อุปาทขณะของจิตนั้นหมายความว่า ในขณะนี้จะมีหทัยรูปเกิดขึ้นซ้อนๆ กัน อย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เกิดแล้วก็ดับไปเลย เพราะว่า ๑๗ ขณะ ลองคิดดู ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยินเกิน ๑๗ ขณะแล้วรูปอะไรจะเหลือ รูปอะไรก็ตามที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไปเลย จนกว่าขณะใดที่มีการระลึกรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใด ก็จะรู้จริงๆ ว่า รูปอื่นไม่มี ในเมื่อรูปนั้นปรากฏกับจิต ขณะนั้นจิตกำลังรู้เฉพาะรูปนั้น รูปอื่นจะไม่มีเลย ไม่เหลืออะไร ที่ว่าเป็นเราตลอดชีวิตมา กำลังนั่งอยู่ที่นี่ เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ คือ ชั่วขณะหนึ่งที่จิตเกิดแล้วรู้ อย่างอื่นไม่ปรากฏร่วมด้วยเลยที่นั้น ความเป็นอัตตา หรือเป็นเรา จึงค่อยๆ หมดสิ้นไปได้ เพราะเหตุว่ามันไม่มีอะไร เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น แต่ปัญญาของเราจะตามพิจารณาได้ ในเมื่อขณะนี้ที่เห็น ปอดใครปรากฏบ้าง เท้าใครปรากฏบ้าง หัวใจใครปรากฏบ้าง ก็มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตากับเห็น ความจริงอย่างนี้ การประจักษ์แจ้งอย่างนี้ แล้วไม่มีสัญญา ความจำ เหลืออยู่ว่าเป็นเรา ด้วยวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น จึงสามารถที่จะสละคืนความเป็นเราจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกับขันธ์ทั้งหมด
ผู้ฟัง ขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น จักขุปสาทรูปเกิด มีอยู่ แต่ว่าไม่มีโสตปสาทรูป แต่ว่าโสตปสาทรูปก็เกิดอยู่เหมือนกัน แต่ว่าไม่ทำหน้าที่
ท่านอาจารย์ รูปใดที่เกิดจากกรรม กรรมก็ทำให้รูปนั้นเกิด แต่ข้อสำคัญคือไม่ได้ตั้งยั่งยืนให้เราไปคอยรู้ว่า นี่เป็นปสาทรูป อย่างที่ว่า เกิดแล้วดับเร็วแค่ไหน ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยินเกิน ๑๗ ขณะ แต่ปรากฏกับเราเหมือนพร้อมกัน ชั่วขณะที่ว่าเราพร้อมกัน คือรูปดับไปแล้ว รูปใดที่เกิด รูปนั้นก็ดับไปแล้ว ไม่มีอะไรเหลือที่จะให้ไปรู้ จนกว่าสติระลึกที่ลักษณะของรูปใดที่ปรากฏ ขณะนั้นจะมีแต่เฉพาะรูปนั้นที่ปรากฏจริงๆ แต่ความจำของเราที่เป็นอัตตสัญญามากมายเหลือเกิน แม้ไม่มีขณะนี้ ไม่มีก็ยังจำว่ามี
ผู้ฟัง รูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐานเกิดทุกอนุขณะจิต เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตมากระทบเกิดขึ้นกระทบอารมณ์ใดหรือไม่ก็ตาม
ท่านอาจารย์ เกิดจริง ดับแล้ว หมดเลย ไม่ใช่เกิดแล้วไม่ดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เมื่อไม่ปรากฏ สิ่งนั้นก็ไม่มี เพราะว่าไม่ปรากฏโดยดับแล้ว ขณะใดก็ตาม ขณะนี้ ขณะที่กำลังเห็น โสตปสาทก็เกิด แต่ดับ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่ามี ยังอยู่ แต่เกิดแล้วดับ แล้วก็เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ
ทีนี้ที่เราบอกว่ากัมมชรูปเกิดทุกอนุขณะของจิต คือ ในอุปาทขณะของจิต กัมมชรูปก็เกิด ฐีติขณะ กัมมชรูปก็เกิด ภังคขณะ กัมมชรูปก็เกิด แล้วเวลาที่ไม่มีจิต กัมมชรูปเกิดไหม
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีจิต ก็เพราะว่ารูปนั้นมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ก็น่าจะยังเกิดอยู่
ท่านอาจารย์ แล้วก็ทุกขณะของจิตหรือเปล่า
ผู้ฟัง ทุกอนุขณะของจิต
ท่านอาจารย์ กัมมชรูปยังเกิดทุกอนุขณะของจิตหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ เรื่องของการที่เราจะใช้แสดงว่า จิตเกิดเมื่อไรก็ตาม หรือจิตมีอายุเท่าไรก็ตาม ก็คืออาศัยจิต แต่ถึงแม้ไม่อาศัยจิต กัมมชรูปต้องเกิดอย่างนั้นๆ เพียงแต่เมื่อมีจิตมาเทียบเราก็บอกว่า ทุกอนุขณะของจิต แต่ถึงแม้ไม่มีจิต กัมมชรูปก็ต้องเกิด อย่างนั้นๆ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240