ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206


    ตอนที่ ๒๐๖

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ขณะแรกที่เป็นผลของกรรมคือเมื่อไหร่ ขณะเกิด เกิดมาเป็นจิ้งหรีด เห็นไหม เราเลือกเกิดไม่ได้เลย จิ้งหรีดจะเลือกเกิดเป็นจิ้งหรีดก็ไม่ได้ แล้วแต่กรรมจะทำให้เกิด เพราะฉะนั้น มนุษย์ก็ต่างกันไปตั้งแต่รูปร่างผิวพรรณหน้าตา เพื่อนฝูง วงศ์สกุล ยศถาบรรดาศักดิ์ แล้วกรรมก็จำแนกจำกัดด้วยว่า ในชาตินั้นจะมีอะไรที่จะเป็นผลของกรรมด้วย แต่ให้ทราบว่าผลของกรรมขณะแรก คือ ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วถ้ากรรมให้ผลเพียงแค่จิตขณะเดียว ไม่พอ ทำกรรมด้วยจิตตั้งมากมาย เสร็จแล้วให้ผลเป็นแค่ปฏิสนธิจิตไม่ได้

    ในชีวิตของเรา ถ้าจะแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม อีกส่วนหนึ่งคือกรรมที่จะให้เกิดผลข้างหน้า เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบให้ชัดเลยว่า กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดชั่วขณะเดียว ขณะแรกของชีวิต ชื่อว่า ปฏิสันธิ เพราะเหตุว่าสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    ผู้ฟัง ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมามากเลย ตอนเด็กๆ รุนลูกกุ้งเป็นกระบุงเลย มันเป็นชนกกรรมหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ใครจะบอกได้ ถามใคร

    ผู้ฟัง ถามอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ต้องไปถามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะรู้ แต่เรากำลังเรียนเรื่องเหตุกับผล แล้วเรารู้ว่า ชาตินี้เราฆ่ากุ้งตั้งมากมาย ชาติก่อนบวกไปอีก อะไร แล้วไม่ใช่แค่ชาติเดียว ไม่ใช่แค่กุ้ง วาจาเป็นอย่างไร ความประพฤติทางกายเป็นอย่างไร เคยทำอะไรอีก สิ่งที่ผ่านไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องคิดถึง เหตุมีจริง แต่ผลจะเกิดเมื่อไร ก็แล้วแต่ ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ แม้แต่ท่านพระมหาโมคคัลลานะท่านยังหลีกเลี่ยงผลของกรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจะไปคิดทำไมให้เสียเวลา เพราะเราไม่รู้ แต่สิ่งสำคัญคือเหตุที่เป็นกุศลจะทำให้เกิดผล คือ จิตที่เป็นวิบากที่ดีเกิด เพราะเหตุที่เป็นอกุศลยังคงมีต่อไป อกุศลที่เราทำก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากข้างหน้า แต่ว่าอย่างไรก็ตามการศึกษาธรรมจะทำให้เราเข้าใจถูก และจะทำให้เราไม่ห่วงใยกังวลสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เพราะว่าช่วยไม่ได้ หมดไปแล้ว คิดถึงทำไม ถ้าคิดถึงด้วยกุศลจิต เราก็จะเปลี่ยนจากการที่จะทำอีก เป็นไม่ทำ แต่ถ้าคิดด้วยอกุศลจิต เราก็จะเดือดร้อน

    ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ใครเกิดอกุศลเลย แม้แต่ถ้าจะมีคนที่เป็นญาติพี่น้องจากไป ถ้าร้องไห้ พระองค์ก็ทรงแสดงว่า เป็นอกุศลจิต เศร้าหมอง สิ่งที่ควรคือกระทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ซึ่งเขาก็มีโอกาสที่จะอนุโมทนา นั่นเป็นสิ่งที่ควร เพราะว่าเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า นอกจากปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ยังทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นดำรงภพชาติ ไม่ให้สิ้นความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะตาย เปลี่ยนเป็นคนอื่นไม่ได้ จะต้องเป็นคนนี้แหละตั้งแต่เกิดไปจนตาย แล้วถึงค่อยเปลี่ยน ถ้าอยากจะเปลี่ยน แต่ว่าระหว่างที่เป็นคนนี้ ทำบุญก็ยังเป็นเทวดาทันทีไม่ได้ ทำบาปก็ตกนรกทันทีไม่ได้ จนกว่าจะตายก่อน กรรมนั้นก็ให้ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม แค่นี้พอไหม ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิต

    ผู้ฟัง ฟังถึงตอนนี้ คนเราที่เกิดมานี้เป็นนามธรรมเกิด หรือว่านายประทีปเกิด หรือเป็นจิต เจตสิก หรือรูปเกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่มีชื่อ สภาพปรมัตถธรรมมีเพียงจิต เจตสิก รูป ไม่ว่าจะเป็นคุณประทีป หรือคุณอะไรๆ ๆ ก็คือจิต เจตสิก รูป ถ้าไม่มีจิต เจตสิก รูป ใครก็ไม่มีทั้งนั้น อันนี้ก็คงจะเป็นที่เข้าใจแล้วว่า มีสภาพธรรมจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม ๓ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ นิพพาน ไม่เกิด

    ขอย้อนไปที่เป็นปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรม เพราะว่าทุกคนอยากได้รับผลที่ดี ไม่มีใครอยากได้รับผลของอกุศลกรรมเลย แต่ลืมทำเหตุที่ดี ใจก็ปรารถนาแต่จะได้ผลที่ดี แต่อกุศลจิตก็เกิดไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เหตุกับผลไม่ตรงกัน เพราะว่าถึงแม้อยากจะได้ผลที่ดีสักเท่าไร แต่ผลที่ดีก็ไม่เกิด

    ทีนี้เวลาที่เราพูดถึงผลของกรรม เราทราบแล้วตอนนี้ ขณะเกิดปฏิสนธิจิตดับแล้วก็จริง แต่กรรมนั้นแหละ กรรมเดียวกันนั้นที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ทำให้ขณะจิตเกิดต่อไป ไม่ให้ดับ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หมด ต้องเป็นภวังค์ จิตนี้เป็นภวังค์ เวลาที่ใช้คำว่า ภวังค์ หมายความถึงจิต หรือหน้าที่ของจิต ซึ่งจิตทั้งหมดมี ๘๙ หรือ ๑๒๑ โดยพิเศษ แต่มีกิจของจิต ๑๔ กิจ แล้วเราจะค่อยๆ ทราบว่า ๑๔ กิจ ทำกิจไหน เมื่อไร ขณะแรกที่สุด คือ ปฏิสนธิจิต ขณะที่ ๒ คือ ภวังคจิต ขณะนี้เดี๋ยวนี้มีใครมีปฏิสนธิจิตบ้างไหม ไม่มี ภวังคจิตมีไหม มี ก็แสดงให้เห็นว่า ยังไม่ตาย ต้องมีจิตที่ดำรงภพชาติด้วยกรรมที่ทำไว้

    บางคนก็อายุสั้น บางคนก็อายุยืน ยังตายไม่ได้ กรรมยังไม่หมด ต้องอยู่ต่อไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สิ้นกรรม ที่คนไทยใช้ภาษาเก่งใช้คำว่า ถึงแก่กรรม หมายความถึงเวลาที่สิ้นสุดกรรมที่จะทำให้เป็นคนนี้อีกต่อไป แต่เราพูดสั้น ทีนี้ถ้ามีแต่ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิต ก็ไม่เดือดร้อนอีก ไม่เห็นรู้อะไรเลย ตอนเกิดไม่เห็นโลกนี้เลย โลกนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จะมีแสง สี เสียงอย่างไร ก็ไม่เห็น ไม่ได้ยินทั้งหมด เวลาที่เป็นภวังค์ อย่างเวลาที่นอนหลับสนิท ก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ก่อนหลับ รู้ เห็น แต่พอหลับสนิท หมดเลย ไม่มีเหลือเลย เพราะว่าเป็นจิตที่ดำรงภพชาติ เพื่อจะได้รับผลของกรรม เมื่อตื่นแล้วเห็น จะเห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ก็เป็นผลของกรรม

    เราย่อยจิตเป็นขณะหนึ่งๆ ๆ ที่จะพูดว่า จิต ๔ ชาตินี้ ก็ต้องจิตขณะนั้นเป็นชาติอะไร อย่างปฏิสนธิจิตเป็นชาติอะไร วิบาก ภวังคจิตเป็นชาติอะไร เป็นวิบาก เห็นไหม แล้วก็กรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีรูปด้วย ไม่ได้ทำให้แต่เฉพาะจิตกับเจตสิกเกิด ยังทำให้มีรูปซึ่งเกิดจากรรม เพื่อที่จะได้รับผลของกรรม รูปที่เกิดจากกรรม คือ จักขุปสาท รูปพิเศษที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กระทบตา โสตปสาท รูปพิเศษที่สามารถกระทบเสียงที่ทำให้มีการได้ยินเดี๋ยวนี้ มีใครมองเห็นจักขุปสาทไหม โสตปสาท สิ่งที่เห็นได้เป็นรูปชนิดหนึ่ง คือ วัณณะ หรือวัณโณ หมายความถึงสี หรือแสงสว่าง ที่ทำให้ปรากฏทางตาได้ กรรมทำให้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย

    ถ้าจะกล่าวเลยไปอีก คือ อายตนะ ต่อไปก็คงจะเจออีกหลายศัพท์ มาจากสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรียนพื้นฐานให้มั่นคง ให้เข้าใจจริงๆ แล้วพอถึงเวลาที่ไปพบคำไหนก็รู้ว่าคำนั้นได้แก่ปรมัตถ์อะไร

    กรรมก็ทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กายเกิด เป็นทางที่จะรับผลของกรรม ให้ทราบว่า กรรมทำทั้งหมดเลย ตั้งแต่เกิดมามีปฏิสนธิจิต มีภวังคจิต แล้วก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เรายังไม่ไปถึงละเอียดว่า ขณะแรกที่จิตเกิดประกอบด้วยรูปกี่รูป กี่กลุ่ม กี่กลาป แต่ให้ทราบว่า กรรมทำให้มีรูปเกิดด้วย แต่ว่ารูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อนก็มี รูปที่เกิดจากอาหารก็มี เพราะว่าถ้ามีแค่รูปที่เกิดจากกรรมอย่างเดียวเท่านั้นไม่พอ นิดเดียวเองที่จักขุปสาท นิดเดียวเองที่โสตปสาท แล้วก็กายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว แต่ต้องอาศัยรูปอื่นด้วย แต่ให้ทราบว่า ทางรับผลของกรรม มี ๕ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตาบอดดีไหม จะได้ไม่ต้องเห็น เห็นดีกว่าใช่ไหม เพราะว่าเห็นสิ่งที่ดีก็ได้ เห็นสิ่งที่ไม่ดีก็ได้ แล้วแต่กรรม แต่ข้อสำคัญกว่านั้นก็คือว่า หลังจากที่เห็นแล้ว เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะอะไร เพราะเราห้ามกรรมไม่ได้ว่า จะไม่ให้วิบากเกิดทางตา หรือทางหู แต่ว่าหลังจากนั้นแล้ว ถ้าคนที่มีปัญญาฟังธรรม แต่ก่อนนี้เคยโกรธ ถ้าสะสมกุศลมากๆ มากทีเดียว กุศลเกิดแทนอกุศลได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดมากที่ว่า ทันทีที่เห็นแล้วจะเป็นกุศลแทนอกุศล หรือว่าทันทีที่เห็นแล้วก็ไม่รู้อะไร ก็มีความชอบอย่างบางที่สุดโดยไม่รู้ตัวเลย ที่เป็นอาสวะ ที่ไม่ใช่เป็นอนุสัย แต่ว่าเป็นระดับของอาสวะ

    จะเห็นได้ว่า เราเริ่มไปถึงสังสารวัฏฏ์แล้วใช่ไหม กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกรรมวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ เพราะมีกรรมจึงมีวิบาก เมื่อมีวิบากแล้วไม่ได้หมดกิเลสเลย ทันทีที่เห็น กิเลสเกิดต่ออีก แล้วก็เป็นเหตุให้กระทำกรรมอีก แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดวิบากอีก ถ้าไม่รู้ก็ไม่มีทางที่จะพ้นไปได้เลย ก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ เป็นอย่างนี้มานานเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ แล้วก็จะต้องเป็นต่อไปอีกนานเท่าไรก็ไม่ทราบ ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง แต่ยังชอบอยู่ใช่ไหมจริงๆ เราต้องเป็นผู้ตรง ธรรมต้องเป็นผู้ตรงมาก แล้วมีเหตุผลทุกอย่าง ยังอยากเกิดอีกใช่ไหม ยังไม่อยากตายใช่ไหม ยังชอบที่จะเห็น จะได้ยินใช่ไหม เพราะอะไร เพราะปัญญาไม่ถึงระดับที่จะหน่าย หรือจะคลายความติดข้องในสิ่งที่เคยติดมานานแสนนาน ถ้ามีคนหนึ่งเขาบอกว่าเบื่อ โดยที่ไม่มีปัญญาเลย เพราะอะไร เบื่ออะไร เบื่อเห็นหรือเปล่า เบื่อเรื่องราวของสิ่งที่เห็นมากกว่า เบื่อเรื่องราวที่ได้ยิน แต่ไม่ใช่เบื่อสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดเห็นแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยสักอย่างเดียว ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เพราะไม่รู้ แท้ที่จริงก็คือนามธรรม และรูปธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ไม่ต้องกลัวเลย อย่างไรๆ ก็ไม่หมดกิเลส เพียงแค่ฟัง ทำอะไรกิเลสไม่ได้เลย ไม่มีใครฟังแล้วเป็นพระอรหันต์ ถ้าปัญญาอีกระดับหนึ่งไม่เกิด ไม่มีใครที่ฟังแล้วเป็นพระโสดาบัน ถ้าไม่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ง่าย

    คุณแจ๊คจะพูดถึงท่านหนึ่งซึ่งมาที่นี่ เพราะว่าโปรเฟสเซอร์ของเขา จะให้มาถ่ายรูปคนที่บรรลุอริยสัจจธรรม เมื่อเช้านี้เอง

    เขาถึงได้มาแสวงหา มาตามวัดไทย เพราะคิดว่าจะมีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่เขาไม่รู้เลยว่า อริยสัจจธรรมคืออะไร รู้แจ้งอริยสัจจธรรมคืออะไร แล้วเขาจะหาอะไร สิ่งที่เขาถ่ายไปก็คือรูป ไม่ใช่อริยสัจจธรรม ไม่ใช่คนที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น พอสนทนากันเสร็จแล้วเขาก็บอกว่า เขาไม่มีทางสำเร็จวิชานี้ เพราะว่าเขาไม่รู้ว่า ใครเป็นพระอริยบุคคล ต้องเขาเป็นเมื่อไหร่ เขาถึงจะรู้ได้ว่าใครเป็น

    ถ้าเขาบังเอิญไปเจอใครที่บอกว่าเป็น กับคนที่บอกหนทางที่จะทำให้ปัญญาเขาเกิด เขาลองคิดดูสิว่า อันไหนเป็นความจริง ใครก็พูดได้ว่าเป็น แต่รู้อะไร เขากลับไป เขาก็บอกว่าไม่เอาแล้ว คือ หาไม่เจอ ไม่มีทาง ถ้าถ่ายไปก็ให้ Professor หาเองว่า อยู่ตรงไหน ไม่มีทางที่จะไปถ่ายรูปคนที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลย แสดงถึงการศึกษา สิ่งที่ไม่รู้ แล้วไม่พยายามเข้าใจให้ถูกต้อง ก็คิดว่ารู้

    นี่เราจะมาถึงอัพยากตธรรม แสดงให้เห็นความหลากหลาย จิต เจตสิก รูป แค่นี้ แต่แสดงโดยนัยต่างๆ ๔๕ พรรษา ไม่พ้นจากเรื่องจิต เจตสิก รูปเลย เพื่ออะไร เพื่อให้เราเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพียงฟังแล้วสับสน แต่ต้องให้เข้าใจชัดแล้วก็ลึกถึงลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น แทนที่จะกล่าวเพียงจิต เจตสิก โดยนัยของชาติ ๔ แสดงธรรมอีกนัยหนึ่ง เพื่อให้เราเข้าใจขึ้นอีกว่า กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา กุสลา ธัมมา ก็คือธรรมที่เป็นกุศล อกุสลา ธัมมา ธรรมที่เป็นอกุศล อัพยากตา ธัมมา คือธรรมที่ไม่พยากรณ์ พยากรณ์ไม่ได้ เพราะว่าความจริงแล้วไม่ใช่กุศล และอกุศล เมื่อสภาพนั้นจริงๆ เป็นอย่างไร ก็แสดงตามความเป็นจริงอย่างนั้น

    เคยไปงานสวดศพไหม จำคำนี้ได้ไหม กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา ถ้าไม่ศึกษาธรรมก็ไม่รู้ ท่องได้ ฟังได้ แต่เดี๋ยวนี้รู้ว่า ได้แก่อะไรบ้าง ปรมัตถธรรมมี ๔ ที่เป็นกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ที่เป็นอกุศลธรรมอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่กุศลธรรม และอกุศลธรรมอีกประเภทหนึ่ง ที่จริงพระองค์ก็ตรัสชัดเจน แต่เราเองสับสน แต่ถ้าเราไม่สับสนก็คือว่า เมื่อตรัสสิ่งใด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ซึ่งเราจะต้องพิจารณาว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล จิต เจตสิกเป็นกุศลได้ จิต เจตสิกเป็นอกุศลได้ แต่รูปเป็นกุศล เป็นอกุศลไม่ได้ เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้

    เมื่อรูปไม่ใช่สภาพรู้ จึงไม่ใช่กุศล อกุศล รูปเป็นอัพยากตธรรม ก็ไม่เห็นยากเลย ถ้าเราเข้าใจปรมัตถธรรม เข้าใจนามธรรม รูปธรรม แล้วเข้าใจความหมายของอัพยากตะว่า ธรรมใดๆ ทั้งสิ้น สภาพปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ต้องเป็นอัพยากตะ

    เวลาไปงานสวดศพยิ่งช่วย ใช่ไหม กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา แต่ตอนนี้เรารู้ความหมายว่า อัพยากตธรรมหมายความถึงธรรมทุกอย่างที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล

    รูปเป็นอะไร อัพายกตธรรม ปรมัตถธรรม มี ๔ จิตที่เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่กุศล อกุศล คือ วิบากจิตกับกิริยาจิตเป็นอัพยากตะ ก็ไล่เรียงไปอย่างนี้ เจตสิกที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี เจตสิกที่เป็นวิบาก เจตสิกที่เป็นกิริยา ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เจตสิกที่เป็นวิบากกับกิริยาก็เป็นอัพยากตะ

    ผู้ฟัง ทำไมเวลางานศพจะต้องมีคำว่า กุสล ธัมมา อกุสลา ธัมมา และอัพยากตา ธัมมา

    ท่านอาจารย์ สวดพระอภิธรรม มีตลอดมาตั้งแต่เกิดเราก็ได้ยินคำว่า สวดพระอภิธรรม ธรรมสังคณีปกรณ์ คัมภีร์ต้น คัมภีร์แรกของพระอภิธรรมปิฎก กล่าวถึงกุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา และอัพยกตา ธัมมา คนสมัยโน้น ปัญญาต่างกับคนสมัยนี้

    นี่คืออรรถกถา แล้วตัวพระไตรปิฎกยิ่งยาก อภิธรรมปิฎกยากที่สุด ถ้าไม่เรียนให้เข้าใจก่อน จะอ่านพระไตรปิฎกไม่เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจแล้วอ่านพระไตรปิฎกได้ อ่านอรรถกถาก็ได้ นี่เป็นเหตุที่เราต้องเรียนก่อน เพื่อที่เราจะได้อ่านพระไตรปิฎกเข้าใจ

    ตอนนี้ไม่มีปัญหาเลย กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต อะไรเป็นกุศลธรรม อะไรเป็นอกุศลธรรม อะไรเป็นอัพยากตธรรม รูปทุกรูปทั้งหมดเป็นอะไร ถ้ากล่าวโดยธรรม ๓ อย่าง คือ กุศล อกุศล อัพยากตะ เป็นอัพยากตะ นิพพานเป็นอะไร อัพยากตะ แต่ด้วยความเข้าใจที่ไม่ลืม ความเข้าใจนี้ไม่ลืม แต่ถ้าจำหรือท่อง แล้วก็ไม่รู้เรื่องก็มี อย่างสวดโดยไม่รู้ว่าคืออะไร หรือคนฟังสวดก็ไม่รู้ว่าคืออะไรก็มี แต่ต่อไปนี้รู้ ว่าหมายถึงอะไร ที่ตัวคุณนัฏทวี มีธรรมอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มีจิต เจตสิก แล้วก็รูป

    ท่านอาจารย์ มีกุศลธรรม หรืออกุศลธรรม หรืออัพยากตธรรม

    ผู้ฟัง มีกุศลธรรม แล้วก็อกุศลธรรม แล้วก็อัพยากตธรรม

    ท่านอาจารย์ อะไรเป็นกุศลธรรม อะไรเป็นอกุศลธรรม

    ผู้ฟัง จิตแล้วก็เจตสิก

    ท่านอาจารย์ อะไรคืออัพยากตธรรม

    ผู้ฟัง รูป

    ท่านอาจารย์ เท่านั้น

    ผู้ฟัง แล้วก็จิต เจตสิกด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นวิบากกับที่เป็นกิริยา จำกัดความง่ายมากที่ไม่มีวันผิด แต่ว่าต้องไม่ลืม เท่านั้นเอง เพราะว่าจิต มีถึง ๔ ชาติ ถ้าจิตที่เป็นกุศล อกุศล กล่าวโดยนัยของกุศล อกุศล ชาติ ๔ ก็เป็นวิบาก กิริยา ถ้ากล่าวโดยนัยของธรรม ๓ หมวด คือ กุศล อกุศล อัพยากตะ วิบากจิต วิบากเจตสิก กิริยาจิต กิริยาเจตสิก เป็น อัพยากตธรรม มีกิริยาจิตไหม คุณนัฏทวี มีกิริยาจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เหมือนของพระอรหันต์ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น กี่ดวง ๒ ดวง ปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนจิต ไม่ยาก เรียนเรื่องไม่ยาก แต่จะรู้จริงๆ ยากกว่ามากมาย ยากกว่ามาก แล้วสามารถที่จะรู้จริงๆ ได้ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ขณะนี้เป็นอะไร เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม รูปธรรมต้องต่างจากนามธรรมแน่นอน แล้วรูปธรรมก็ไมใช่เรา นามธรรมก็ไม่ใช่เรา ถ้าเรียนแล้วก็ไม่มีเรา เพราะมีจิต เจตสิก รูป เกิดขึ้น จึงเข้าใจว่ามีเรา

    ผู้ฟัง ที่ว่ากุศลธรรมกับอกุศลธรรม แล้วก็อัพยากตธรรมเป็นเหตุที่จะพยากรณ์ ผล ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พูดถึงธรรม แล้วจะไม่เว้นอะไรเลย กว้างมาก อย่างเวลาที่พูดถึงปรมัตถธรรม ครอบงำหมดเลย ไม่ว่าในอดีต รูปก็เป็นรูป นามในอดีตก็เป็นนาม เปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงกุศลธรรมก็หมายความถึงธรรมที่เป็นกุศลทั้งหมด ไม่ว่าจะในโลกนี้ บนสวรรค์ หรือพรหมโลก กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม

    ผู้ฟัง รูป มีรูปที่ดี และรูปที่ไม่ดี คือ รูปที่เป็นผลของกุศล รูปที่เป็นผลของอกุศล แต่ว่ารูปไม่เป็นอัพยากตธรรม

    ท่านอาจารย์ รูปเป็นอัพยากตธรรม เพราะเหตุว่ารูปไม่รู้อะไรเลย รูปจะเป็นกุศลไม่ได้ จะช่วยเหลือใครไม่ได้ จะเมตตาใครไม่ได้ เพราะไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง แต่มันเป็นผล

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรมได้ แต่ไม่ใช่วิบาก

    ผู้ฟัง เพราะว่าไม่ได้เป็นนามธรรม ใช่ไหม

    ผู้ฟัง อาจารย์ว่าเป็นผลของกรรมได้ บางครั้งรูปไม่เป็นผลของกรรมก็ได้ รูปมันเกิดขึ้นเองก็มี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รูปเกิดขึ้นโดยสมุฏฐาน ต้องมีสมุฏฐานธรรมที่ก่อตั้งให้รูปเกิด ลักษณะของรูปมีลักษณะที่เกิดขึ้นปรากฏ ไม่เหมือนนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐานอะไรเลย ทั้งสิ้น รสไม่มี กลิ่นไม่มี ถ้าเป็นนามธรรมล้วนๆ นึกถึงขณะแรกที่จิตเกิด ไม่มีตา ไม่มีหูแต่ธาตุรู้เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น เวลานี้เรามีทั้งตาเห็น หูได้ยิน ก็รกไปหมด เต็มไปหมด ไม่รู้อะไรเป็นนาม อะไรเป็นรูป แต่ถ้าเอารูปออกหมด สี เสียง กลิ่น รส อ่อน แข็ง เย็น ร้อนไม่มี แต่ก็ยังมีธาตุรู้ หรือสภาพที่คิดนึก

    จึงเห็นลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรมว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ แต่รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มี รูปที่เกิดกับจิตเป็นสมุฏฐานต่างกับรูปที่เกิดกับกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดกับอุตุเป็นสมุฏฐานก็ต่างกับรูปที่เกิดกับกรรม และจิตเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานก็เป็นอีกสมุฏฐานหนึ่งที่ทำให้เกิดรูป ในร่างกายของเราที่เป็นสัตว์โลก มนุษย์พวกนี้ สัตว์เดรัจฉาน มีทั้งรูปที่เกิดจากกรรม มีทั้งรูปที่เกิดจากจิต มีทั้งรูปที่เกิดจากอุตุ มีทั้งรูปที่เกิดจากอาหาร แต่นอกจากสิ่งที่มีชีวิต จะมีแต่รูปที่เกิดจากอุตุ

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามรูปที่เกิดจากจิต ตัวอย่างด้วย

    ท่านอาจารย์ ยิ้มหน่อยสิ นั่นแหละ เก้าอี้ยิ้มไม่ได้ ต้องสิ่งที่มีจิต การเคลื่อนไหว การพูดทั้งหมดคร่าวๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    16 ก.ค. 2567