ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207


    ตอนที่ ๒๐๗

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ พอถึงเรียนละเอียดจะรู้ว่า เป็นกลาปเล็กๆ กลุ่มที่เล็กมาก ในกลุ่มนั้นมีรูปอีกกี่รูปที่มากกว่า ๘ รูป เพราะว่าในกลุ่มที่เล็กที่สุด จะมีรูป ๘ รูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป เป็นรูปใหญ่ แล้วก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา เกิดร่วมด้วยในกลุ่มที่เล็กที่สุด

    ผู้ฟัง ความหมายก็เหมือนกับลักษณะของจิตที่อุปถัมภ์รูป ก็คือเหมือนกับลักษณะของความหวังที่อุปถัมภ์คนป่วย

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่นั้นเอง คือ ระหว่างนั้นไม่มีใครเอาอะไรไปให้ อาหารหรืออะไร ไม่ได้กิน แต่ก็ยังไม่ตาย ฉันใด เพราะฉะนั้น การที่จิตเกิดอยู่ระหว่างที่รูปนั้นยังตั้งอยู่ ก็เท่ากับจิตนั้นอุปถัมภ์รูปในลักษณะนั้น คือแสดงความเป็นปัจจัย ไม่เว้น แม้แต่จิตซึ่งเกิดภายหลังก็ยังอุปถัมภ์ด้วย

    ผู้ฟัง ขันธ์ ๕ ความหมายของขันธ์ ได้ยินได้ฟังมาว่า ที่เรียกว่าขันธ์ เพราะว่าขันธ์เป็นสภาพธรรมที่จำแนกได้ว่าเป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายนอก ภายใน หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ใกล้หรือไกล เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่เป็นขันธ์ คือ นิพพานที่เป็นขันธวิมุตติ สามารถจะพูดได้ในนัยตรงกันข้ามว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจำแนกว่าเป็นอดีต เป็นอนาคต ไม่สามารถจำแนกว่าเป็นปัจจุบัน หรือว่าภายนอกหรือว่าภายใน หยาบหรือละเอียด ทรามหรือประณีต ใกล้หรือไกล ถ้าจะบอกว่า นิพพานเป็นสภาพที่ประณีต ก็บอกอย่างนั้นไม่ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีคนถามบ่อยเรื่องนี้ หมายความว่าตั้งแต่แรกทีเดียว พอได้ยินอะไรๆ ก็อยากจะรู้ไปหมดเลย ไม่ว่าจะใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ภายนอก ภายใน โดยมากดิฉันจะทิ้งๆ อะไรไว้นิดๆ หน่อยๆ เสมอในหนังสือ บางคำถามก็ไม่มีคำตอบ ให้คิดเอง เพราะฉะนั้น ที่เก็บมาส่วนน้อย แล้วก็อยากให้ทุกคนที่เริ่มสนใจ ศึกษาด้วยตัวเองในพระไตรปิฎก แล้ววันหนึ่งๆ เขาก็จะไปถึงข้อความที่อธิบายตั้งแต่รูปหยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เวทนาหยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ พวกนี้ สัญญาหยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เขาจะบอกไว้หมดเลย

    เราคิดเอง เราอาจจะคิดนิดๆ หน่อยๆ แต่พอเราไปเจอข้อความนั้นจะมาก แล้วก็ทำให้เราเข้าใจได้ทั่วถึงด้วย แต่ตัวอย่างที่มีไม่หมด ท่านก็ทิ้งๆ ไว้ เหมือนกัน ให้เราคิดเอาเองด้วย อยากคิดเอง เพราะว่าอยากอ่านเอง ค้นคว้าเอง ศึกษาเอง เพราะว่าสิ่งใดที่มีในหนังสือไม่ยาก แต่ส่วนที่เราจะเข้าใจธรรมนี้ยากกว่า ส่วนที่มีในหนังสืออ่านได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดว่า เรารู้เพียงแต่เรื่องของลักษณะของโลภะ หรือโทสะ ถ้าเผื่อว่าเราระลึกว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมี อย่างโทสะ ความหยาบกระด้างของจิตมี เวลาเกิดเรารู้ว่า นั่นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้รู้ธรรมที่เป็นโทสะ หรือว่าไม่รู้ลักษณะจิตซึ่งเป็นโทสะ เพียงแต่รู้อาการของโทสะ หรือว่าอาการของโลภะ เราก็รู้ว่าลักษณะนั้นมี แต่จริงๆ ไม่ได้รู้ลักษณะของโลภมูลจิต โทสมูลจิต หรือโลภเจตสิก หรือโทสเจตสิก เพราะขณะนั้นเราไม่รู้ลักษณะนั้นด้วยสติปัฏฐานที่รู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม แต่อาการของเขามีที่จะให้รู้ แล้วเราก็คิดว่า เรารู้ ขณะนั้นก็เหมือนรู้ แต่ความจริงไม่ได้รู้ตัวจิต หรือเจตสิก หรือลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมว่า เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ลักษณะรู้อาการอย่างนี้ ก็เป็นสติขั้นต้นๆ หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ กำลังโกรธ รู้ว่าโกรธ เป็นสติหรือเปล่า คนที่โกรธ แล้วรู้ว่าโกรธ ทุกคนรู้ว่าโกรธ แต่ไม่ใช่สติได้ไหม

    ผู้ฟัง คนที่เขากำลังโกรธ แล้วก็ไม่โกรธมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะว่าไม่มีปัจจัยที่จะโกรธมากขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ก็ยังไม่ใช่สติ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบเลยว่า คนที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะรู้ลักษณะขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ นี่เป็นขั้นแรก ไม่อย่างนั้นไม่ชื่อว่ารู้ลักษณะของสติ ได้ยินแต่ชื่อสติ เช่นขณะที่ให้ทานก็ต้องมีสติ ถ้าสติไม่เกิด แต่ให้ทานก็มีไม่ได้ ขณะที่วิรัติทุจริตก็ต้องเป็นสติที่เกิดระลึกเป็นไปในศีล มิฉะนั้นการรักษาศีลก็มีไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารู้ลักษณะของสติ แต่ใช้คำนี้ เข้าใจอย่างนี้ว่า ขณะที่ให้ทานต้องมีสติ ขณะที่รักษาศีลต้องมีสติ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสติ จนกว่าเมื่อไรเป็นสติปัฏฐาน เมื่อนั้นก็จะรู้ว่าหลงลืมสติหรือสติเกิด จะมีลักษณะของสติปรากฏที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม้

    ถ้าจะรู้ตามความเป็นจริง จริงๆ แล้ว คือ สติระลึก ถ้าสติยังไม่ระลึกลักษณะนั้น เราบอกว่า เรามีโลภะที่กำลังติดข้อง กำลังติดข้องตรงนี้ ตรงนั้นตรงนี้ แต่เราไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะจริงๆ เพียงแต่รู้ว่าติดข้อง แต่ตัวสภาพที่ติดข้อง เรายังไม่รู้ รู้ว่ามีขณะนั้น แต่ไม่ใช่รู้ลักษณะของเขา อย่างสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตา เห็น ทุกคนเห็น แต่เห็นเป็นคุณแจ๊ค เห็นเป็นเก้าอี้ เห็นเป็นคนนั้น คนนี้ ก็เป็นเห็น สิ่งนี้ไม่เปลี่ยน แต่จากที่ว่า เรารู้รูปารมณ์ รู้ลักษณะของรูปารมณ์ หรือว่าขณะนี้เราก็มีรูปารมณ์ปรากฏ แต่เราเห็นเป็นคนอื่น เห็นเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่รูปารมณ์ก็มี ไม่ใช่ไม่มี เห็นด้วยความไม่รู้ กับเห็นด้วยที่ค่อยๆ ศึกษาว่า ลักษณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    โดยมากคนจะสงสัยว่า รูปารมณ์เป็นอย่างไร พอได้ยินชื่อรูปารมณ์ หรือสีสันวัณณะเป็นอย่างไร เขาจะเกิดความสงสัย ทั้งๆ ที่เราบอกว่า เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วรู้จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าปรากฏก็ไม่รู้ ทุกคนรู้แข็งมาตั้งแต่เช้าเลย กระทบสัมผัสตลอด แต่ว่าพอรู้แข็งนิดเดียวโดยกายวิญญาณ แล้วก็มีเรื่องราวติดตามมาตลอด เป็นเรื่องทั้งหมดเลย ไม่ว่าเราจะจับขนม หรือว่าแตงกวา หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ มีกายกระทบสัมผัส แต่แตงกวามาแล้ว ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพที่แข็งจริงๆ ในขณะนั้นด้วยปัญญา เหมือนกับเวลาที่เราให้ทานก็มีสติ ทำไมเป็นสติปัฏฐานไม่ได้ สติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมแล้วศึกษา ทีนี่ไม่ได้หมายความว่า เรารู้มาแล้วว่าเป็นรูป เป็นนาม แต่ศึกษาลักษณะซึ่งเรายังไม่เคยรู้ เพียงแต่ฟังมาว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง เพื่อนเขาได้รับเลื่อนขั้น เรายินดีด้วย ขณะนั้นเป็นมุทิตาจิตหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรารู้ว่าเป็นผลของกรรม ทุกอย่างที่ทุกคนได้รับในชีวิต เป็นผลของกรรม ขณะนั้นถ้าเรารู้อย่างนั้นก็เป็นกุศล แต่ถ้าใครก็ตามที่กำลังมีความสุข แล้วเราก็ดีใจด้วย ลองคิดถึงสภาพของจิตที่ดีใจในความสุขนั้นๆ ซึ่งไม่มีใครจะบอกเราได้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะ หรือว่าเป็นกุศล หรือว่าถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่า เป็นผลของกุศลของเขา ที่ทำให้เขาได้รับสิ่งที่ดี เราเกิดกุศลโสมนัส ขณะนั้นก็เป็นการอนุโมทนา แต่ถ้ามากเกินกว่านั้น ก็ลองพิจารณาต่อไปว่า เป็นกุศลหรืออกุศล

    นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องพิจารณาว่า เวลาที่ใครทำอะไรก็ตามแล้วเรายินดีด้วยเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าเราไม่รู้เลยว่า เขาไปฟังธรรม แล้วธรรมนั้นเราก็ไม่รู้เลยว่า ดีหรือไม่ดี แต่ถ้าได้ยินคำว่า ธรรม แล้วเราคิดว่า เป็นสิ่งที่ดี เขาคงจะได้ฟังสิ่งที่ดี แล้วจิตเราเกิดกุศล ขณะนั้นก็เป็นได้ แต่ถ้าเรารู้ว่า ธรรมคืออะไร แล้วสิ่งที่เขาไปได้ยินได้ฟังมาเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล อันนั้นเราจะรู้ว่าเราจะยินดีหรือไม่ยินดี นี่คือความละเอียดของธรรมจริงๆ

    เราจะตอบอย่างเดียวตลอดไปไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องสภาพของจิต อนุโมทนาในความดีที่คนอื่นทำ ในทาน ในศีล ในภาวนา ไม่ใช่ในอย่างอื่น ถ้ายินดีในอย่างอื่นก็ไม่ใช่อนุโมทนา

    ผู้ฟัง มีพิธีกรบอกว่า ขออนุโมทนาได้ในสิ่งที่เป็นกุศลเท่านั้น ไม่สามารถขออนุโมทนาในสิ่งที่เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องพูดก็ได้

    ผู้ฟัง ไม่ต้องพูดก็ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูด วันนี้คงมากมายเลย อนุโมทนาแล้วอนุโมทนาอีก ใครล้างถ้วยก็อนุโมทนา ใครยกช้อนชามมาก็อนุโมทนา ก็คงมากมายเลย แต่ใจเป็นอย่างนั้นได้ แต่ไม่จำเป็นที่เราจะต้องพูด

    ผู้ฟัง เดี๋ยววิบากไม่ได้ หมายถึงว่า เขาได้วิบากดี เราอนุโมทนาเขาด้วยไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวทีนี่ก็อนุโมทนากันย่ำแย่เลย กุศลวิบากทั้งนั้น ทีนี้เราก็พูดถึงอกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุ ๑๒ ดวง ถ้าไม่ถึงกับจะเป็นกรรมบถที่จะให้ผล ก็เป็นการสะสม อย่างกาแฟอร่อย ดอกกุหลาบสวย โลภมูลจิตที่เกิดอย่างนั้น ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดวิบากจิต แต่เป็นการสะสมของความยินดี หรืออกุศลทั้งหลายที่สะสม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สืบต่อทางจิตดวงต่อๆ ไป ทีนี้เวลาที่เป็นอกุศลกรรมที่ทำแล้ว ย่อมต้องให้ผลเช่นเดียวกับกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ทำแล้วต้องให้ผลแน่นอน ไม่จำเป็นต้องมีเจตสิกที่เป็นเหตุที่ดี คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วย สำหรับโทสะ โมหะ โลภะ เกิดไม่ได้แน่นอน เพราะเหตุว่าเป็นชาติอกุศลอย่างเดียว

    กรรมที่ได้ทำแล้วทั้งกุศลกรรม อกุศลกรรม ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรม ๗ ดวง แล้วก็เป็นผลของกุศลกรรม ๘ ดวง เราพูดตรงนี้ก่อน แล้วอย่างไรต้องให้ผลทั้ง ๒ ฝ่าย เป็นอเหตุกจิต คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ อเหตุกจิตนี้ทุกคนทราบแล้วแน่นอน คุณแจ๊ค เรียนเลยไปแล้ว ใช่ไหม ทีนี้ปัญหามีอยู่ที่ว่า ทำไมกุศลกรรมให้ผลมากกว่า เพิ่มเติมจากอเหตุกกุศลวิบาก ๘ เป็นมหาวิบากอีก ๘ นี่เป็นส่วนที่เราจะต้องพูดถึง เพราะว่าอย่างไรๆ กรรมต้องให้ผลทั้ง ๒ ฝ่าย แต่ว่าทางฝ่ายของอกุศลวิบากมีเพียง ๗ ทางฝ่ายของกุศลมี ๘ คือ เพิ่มโสมนัสสันตีรณะ สำหรับอารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ดีมาก

    การจะได้รับผลของกรรมก็ต้องมีปฏิสนธิจิตแน่นอน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมก็เป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เพราะเหตุว่าอกุศลวิบากมี ๗ ดวงเท่านั้น ใน ๗ ดวงนี้ จิตอื่น เช่น จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก โสตวิญญาณอกุศลวิบาก พวกนี้ ๕ ดวง ทำกิจเดียว คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อดับไปแล้วสัมปฏิจฉันนะก็เกิดขึ้น แล้วต่อจากนั้นสันตีรณะก็เกิดสืบต่อ ซึ่งไม่มีจิตอื่นที่จะทำหน้าที่ปฏิสนธิได้ นอกจากอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทางฝ่ายกุศลกรรมที่ให้ผลเป็นอเหตุกวิบาก ถ้าเป็นกุศลกรรมที่ไม่มีกำลัง ที่อ่อนมาก ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก แต่ว่าเป็นผู้ที่บ้าใบ้บอดหนวกตั้งแต่กำเนิด นี่ก็เป็นผลของกุศลที่อ่อนมาก แต่ถ้าเป็นกุศลที่มากกว่านี้ ไม่ใช่อ่อนอย่างนี้ ก็ทำให้เกิดมหาวิบากได้อีก ๘ ดวง แต่ไม่ใช่หมายความว่าครบ ๘ มากน้อยต่างกัน ตามกำลังของเหตุ คือ กุศล อันนี้ก็พอจะเห็นเหตุผลได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง สันตีรณกุศลวิบากก็ทำกิจอยู่ทั้งหมด ๕ กิจ ทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ ทำกิจจุติ แล้วก็ทำกิจสันตีรณะทางปัญจทวาร แล้วก็ทำตทาลัมพนะกิจด้วย สันตีรณกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ ทำให้บ้าใบ้บอดหนวก ตั้งแต่กำเนิด มีอะไรเป็นเหตุ อาจารย์ยกตัวอย่างด้วย

    ท่านอาจารย์ เคยให้อะไรแล้วเสียดายไหม ขณะที่เสียดายเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แต่ผลของกุศลก็ต้องได้รับ ใช่ไหม จากการให้ เพราะฉะนั้น คนที่ให้ทานแล้วเกิดเสียดายภายหลัง เป็นคนที่ได้รับผลของกุศลกรรม มีกุศลวิบาก แต่ไม่ค่อยอยากจะใช้ เหมือนอย่างเศรษฐี ท่านให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วภายหลังท่านก็เกิดเสียดายว่า ท่านเอาสิ่งที่ท่านถวายมาเลี้ยงทาสกรรมกรก็จะดี ท่านก็เกิดเป็นเศรษฐีมั่งมีมาก แต่ไปไหนท่านก็ใช้ร่มเก่าๆ เสื้อผ้าท่านก็เก่าๆ ทุกอย่างก็เก่าๆ เพราะว่าความเสียดายที่ติดมา แม้แต่ในขณะที่ทำกุศลแล้วยังเกิดเสียดาย ความเสียดายก็ไม่หายไปไหน เวลาที่ได้รับวิบาก คือ ผลของกรรม ท่านก็ยังคงสะสมความเสียดายนั้นอยู่ที่จะบริโภคใช้สอยสิ่งที่ดีต่างๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของสภาพของจิตตามเหตุตามผล เพราะฉะนั้น เราก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นฝ่ายกุศลกรรมอย่างอ่อน จะมีอกุศลกรรมเบียดเบียนได้ ทำให้การให้ผลนั้นไม่เต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่บ้าใบ้พิการบอดหนวก แล้วแต่ประเภทของปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง มโนทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นมโนทวารได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นมโนทวารได้ไหม ทวารคือทางที่ทำให้จิตเกิด

    ท่านอาจารย์ เกิดอย่างไร จิตก็เกิดอยู่แล้ว ถึงไม่มีทวารจิตเกิดไหม

    ผู้ฟัง จิตเกิด

    ท่านอาจารย์ เกิดเป็นอะไรถ้าไม่มีทวาร จิตเกิดเป็นอะไร ทำกิจอะไร ถ้าไม่อาศัยทวาร จิตก็เกิดได้ แต่จิตที่เกิดโดยไม่อาศัยทวารนั้นทำกิจอะไร

    ผู้ฟัง ทำกิจปฏิสนธิ ภวังคกิจ จุติกิจ

    ท่านอาจารย์ ก็เก่ง ทีนี้คำถามมาถึงว่า มโนทวาราวัชชนจิตเป็นมโนทวารหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มโนทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาร เพราะว่าเขาทำหน้าที่รำพึงถึงอารมณ์ ทำหน้าที่อาวัชชนกิจ

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องแยกจิตอีกประเภทหนึ่ง เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ จิตที่เป็นวิถีจิตกับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เราจะไม่งงเลย กี่ภพกี่ชาติก็ตาม อยู่ที่ไหนก็ตาม จิตจะแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้อีก ๒ อย่าง คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับ จิตที่ไม่เป็นวิถีจิต ถ้าจิตที่ไม่เป็นวิถีจิต ก็ไม่ต้องอาศัยทวารเลย เกิดได้ ไม่ใช่เกิดไม่ได้ รู้อารมณ์ได้ ไม่ใช่รู้ไม่ได้ แต่รู้โดยไม่อาศัยทวาร เกิดโดยไม่อาศัยทวาร เช่น ปฏิสนธิจิต อย่างที่คุณอ้อยบอก แล้วก็ภวังคจิต จุติจิต เพราะฉะนั้น ต้องทราบความหมายของวิถีจิต คืออะไร

    ผู้ฟัง วิถีจิตเป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร เป็นจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต แล้วก็ไม่ใช่จุติจิต

    ท่านอาจารย์ แล้วเกิดขณะเดียวด้วย วิถีเหมือนทางเดินของจิตหลายๆ ขณะที่เกิดสืบต่อกันรู้อารมณ์หนึ่งทางทวารหนึ่ง หลายขณะวิถีจิตนี่ เริ่มตั้งแต่ถ้าเป็นทางปัญจทวาร วิถีจิตแรกที่ลืมไม่ได้เลย คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เพราะฉะนั้น จำวิถีจิตแรกไว้ จะได้รู้ว่าหลังๆ ก็เป็นวิถีจิตเหมือนกัน แต่ต้องเริ่มจากปัญจทวารวัชชนจิต ถ้าเป็นทางปัญจทวาร หมายความว่าจิตดวงนี้ อาจจะใช้คำว่า จากภวังค์มาสู่การรู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ทำกิจอย่างอื่น เพียงเริ่มที่จะรู้สึกว่ามีอารมณ์กระทบ เพราะฉะนั้น เขาไม่มีอารมณ์ของภวังค์ เพราะเขารู้ว่ามีอารมณ์กระทบทางหนึ่งทางใด ถ้าเป็นทางตาก็เป็นจักขุทวารวัชชนจิต ทางหูก็โสตทวารวัชชนจิต ถ้าไม่แยกก็เรียกรวมไปว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต วิถีจิตแรก

    แสดงให้เห็นว่า พอเป็นวิถีจิตแรก จะเป็นจักขุวิญญาณทันทีไม่ได้ นี่คือโดยอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย ที่เราพูดถึงเมื่อเช้านี้ ถ้าเรารู้อย่างนี้โดยละเอียดตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีตัวตนที่จะไปแทรก ที่จะไปสร้าง ที่จะไปทำ ที่จะไปยับยั้ง ที่จะไปเปลี่ยนแปลงภาวะของจิตซึ่งเป็นอย่างนี้ การเกิดดับสืบต่อกัน ไม่มีใครทำได้ แต่สามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันว่า แต่ละขณะเกิดดับสืบต่อกันเร็วแค่ไหน เกินความคาดหมายที่เราจะรู้ได้ ถ้าเราไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่จะรู้ว่า ขณะนี้เกิดดับ อย่างที่กล่าวถึงเสมอว่า รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะนี้ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน เหมือนพร้อมกัน แต่ระหว่างนั้นจิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ

    รูปดับเร็วแค่ไหน แล้วถ้าคิดถึงจิตจะยิ่งเกิดดับเร็วกว่านั้นสักแค่ไหน แต่ก็ต้องทราบว่า จิตที่เป็นวิถีจิตนี้ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ นี่คือเรื่องอารมณ์ เรื่องทวาร ทราบแล้ว เรื่องวัตถุที่เกิด ทราบแล้วเหมือนกัน

    การต่างกันของทวารกับวัตถุคือ ทวารเป็นทางที่เกิดมี ๖ ทาง เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑ แล้วต้องรู้ด้วยว่านามนั้น ได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ ส่วนวัตถุ ๖ เป็นรูปทั้งหมด เพราะว่าคำว่า วัตถุ ที่นี่หมายความถึงที่เกิดของจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดที่อื่นนอกจากที่รูปไม่ได้เลย ต้องเกิดที่รูป กลางอากาศนี่ไม่ได้ ที่นี่ก็ไม่ได้ ต้องเป็นรูปที่เกิดจากรรมด้วย เพราะว่าปสาทรูปก็เกิดจากกรรม หทัยรูปก็เกิดจากกรรม

    ผู้ฟัง ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดในปัญจทวารด้วย แต่ไม่ได้เป็น มโนทวาร

    ท่านอาจารย์ เกิดก่อน แต่ตัวภวังคุปัจเฉทจริงๆ ไม่ใช่เป็นทวาร เพราะเหตุว่าต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร แต่สำหรับทางใจ เพราะไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ไม่มีรูปอื่นอีกที่จะเป็นทวาร ทางใจก็มีภวังคุปัจเฉทะเป็นทวาร แต่สำหรับทางปัญจทวาร ถ้ามีแต่ภวังคุปัจเฉทะ แต่ไม่มีปสาทรูปก็ไม่สามารถที่จะเกิดได้ที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบ

    ผู้ฟัง ในภูมิที่ไม่มีรูป จิต เจตสิกเขาเกิดตรงไหน

    ท่านอาจารย์ บอกแล้วว่าในภูมิที่ไม่มีรูป ใช่ไหม เพราะฉะนั้น มีกรรมที่ทำให้จิตเกิดโดยไม่ต้องเกิดที่รูป เพราะไม่มีรูป

    เรื่องของการเกิดของจิต เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ เฉพาะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้นที่จิตเจตสิกต้องเกิดที่รูป แต่ถ้าไม่ใช่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเจตสิกต้องเกิดโดยที่ไม่ต้องมีรูปเลย เพราะว่าจิต เจตสิกไม่ใช่รูป

    ผู้ฟัง เกิดที่ภพภูมิของเขา

    ท่านอาจารย์ เกิดในภูมิที่เป็นอรูปพรหมภูมิ แถวนี้ไม่มี ที่นี่เป็นที่ของภูมิที่มีขันธ์ ๕

    ผู้ฟัง อย่างนี้เรารู้ได้ อย่างอื่นเรารู้ยาก

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วที่เราจำเวลานี้ เราเกือบไม่รู้เลยว่า มีสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือสัญญา จำ แต่เป็น เราจำ ทุกครั้งที่เราเห็น ทุกครั้งที่เราได้ยิน เพราะฉะนั้น สัญญาเจตสิกแม้ว่าจะเกิดทำหน้าที่ แต่ไม่มีใครที่จะระลึกรู้ว่า นั่นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่จำ สำหรับเวทนา เรารู้สึก เป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิต ไม่มีใครชอบความรู้สึกโทมนัส ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หรือความรู้สึกที่อุเบกขา แต่อุเบกขาก็ยังดีกว่าทุกข์กับโทมนัส เพราะฉะนั้น ที่ต้องการกันมาก คือ สุขเวทนากับโสมนัสเวทนา เวทนาเกิดในชีวิตประจำวัน แต่ขึ้นอยู่กับว่า เวทนานั้นเกิดกับจิตชาติไหน ถ้าเกิดกับวิบากจิตก็รู้ยาก อย่างจักขุวิญญาณมีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย อุเบกขาเวทนาก็เป็นเวทนาที่เกิดเป็นประจำ นานๆ ก็จะมีเวทนาอื่น เช่น โสมนัส หรือโทมนัสเกิด หรือสุข หรือทุกข์เกิด แต่ว่าตามปกติแล้วก็เป็นอุเบกขาเวทนา ขณะที่ได้ยินเสียง เสียงอาจจะดังมาก แต่ชั่วขณะที่ได้ยิน จิตได้ยินเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

    ความรู้สึกในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดสลับกันอย่างเร็ว เวลาที่ได้ยินเสียงดัง ทุกคนตกใจ แต่ขณะที่ได้ยินเสียง แม้เสียงจะดังหรือเสียงจะเบา เวทนาที่เกิดในขณะที่ได้ยินต้องเป็นอุเบกขา แต่เกิดตามมาด้วยมโนทวารวิถีจิต หรือว่าในชวนวิถีจิตนั้นเอง ที่กำลังได้ยินเสียง โทมนัสเวทนาเกิดขึ้นไม่ชอบในเสียงนั้นเกิดขึ้นเร็ว ยับยั้งไม่ได้ เป็นขณะที่เกิดสืบต่อกัน แต่เฉพาะจิตได้ยินต้องเป็นอุเบกขาเวทนา จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรสก็เหมือนกัน เว้นทางกาย จะเป็นเวทนาอื่นไม่ได้เลย นอกจากสุขหรือทุกข์ เพราะเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่กายก็เป็นสุขเวทนา ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่กายก็เป็นทุกขเวทนา

    มีใครไม่มีทุกขเวทนาบ้าง ไม่มี มีใครไม่มีสุขเวทนาบ้าง ไม่มี แต่ต้องทราบตามความจริงว่า ทางกายจะไม่มีอุเบกขาเวทนา แน่ใจไหม แน่ใจจริงๆ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยทั้งสิ้นว่า ทางกายต้องเป็นอุเบกขาเวทนาไม่ได้ ต้องเป็นสุขหรือทุกข์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    23 ก.ค. 2567