ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218


    ตอนที่ ๒๑๘

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ลักษณะของความรู้สึกที่มีแต่ไม่ปรากฏ ไม่เหมือนโสมนัส โทมนัส สุข ทุกข์ ก็คืออุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น แม้แต่เวทนา ก็ไม่เคยรู้ เมื่อไม่เคยรู้ก็เป็นเรา หรือของเรา แล้วเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏเพื่อให้รู้ ทุกอย่าง เวลาที่สติปัฏฐานระลึก หมายความว่ามีสภาพธรรมนั้นปรากฏเพื่อให้เห็น เพื่อให้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง คือ เริ่มเข้าใจถูก แม้ว่ามันจะน้อยมาก แต่ตัวสภาพธรรมมีให้รู้ จนกว่าจะค่อยๆ ชิน ค่อยๆ รู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างไร แม้แต่ความรู้สึก สำหรับจิตก็เช่นเดียวกัน จิตนี้ก็ลึกลับ พวกนามธรรมทั้งหลาย มีแต่รูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทุกชาติ ๗ รูป รูปอื่นก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่สภาพธรรมปรากฏ สติปัฏฐานระลึกเพื่อรู้ เพราะถ้าไม่รู้ก็ดับเลย สั้นมาก เกิดแล้วดับแล้วทั้งนั้น ถ้าสติเพียงไม่ระลึกก็คือสิ่งนั้นไม่มีแล้ว มีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็ไม่มี จากไม่มีแล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ นี่ก็เป็นความจริงทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น แม้แต่จิตขณะนี้ก็ผ่านไปนับไม่ถ้วน ถ้าสติระลึกก็คือค่อยๆ เข้าใจว่าลักษณะนี้มี เป็นสภาพที่รู้ จึงสามารถขณะนี้ที่เห็น เราก็คงพูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ไปทุกชาติเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าสติจะระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจว่า ลักษณะนี้มีแล้วก็เป็นสภาพธรรมที่สามารถที่จะรู้ จะเห็น จะคิด จะนึก อะไรก็แล้วแต่ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ประมวลจิตทุกประเภท แล้วเราก็มาอ่านในจิตตานุปัสสนา เป็นโลภมูลจิต สราคจิต เดี๋ยวก็เป็นจิตที่ไม่ใช่สราคจิต วีตราคะ ได้แก่ กุศล วิบาก อะไรๆ พวกนี้ คือเป็นเรื่องของชื่อหรือการเรียน แต่ลักษณะจริงๆ คือทุกอย่างที่มีที่ตัวทั้งหมด และเมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่า เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องเข้าใจถูก เห็นถูกโดยสติเริ่มระลึกเมื่อไร ก็ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมนั้นว่าตรงตามที่ได้ศึกษา พอถึงบรรพสุดท้ายแล้วก็หมดทุกอย่าง แสดงโดยนัยต่างๆ แม้แต่ขันธ์ก็คือรูป กายก็เป็นรูป ใช่ไหม แต่ก็อยู่ในประเภทของขันธ์

    เป็นเรื่องที่ถ้าเรามีพื้นฐานที่มั่นคงที่เข้าใจ เวลาเราจะอ่านอะไรเราก็สามารถ เข้าใจได้ ไม่ไปคิดสงสัยว่า นี่เป็นอย่างไร บรรพนี้อันนี้ นี้นิวรณธรรม อะไรๆ ก็ทุกอย่างที่มี ถึงไม่เอ่ยออกมา แต่ถ้าจะประมวล ทรงประมวลโดยนัยนี้ อย่างนิวรณ์ ใครไม่มีบ้าง นิวรณ์มี ๕ อันที่ ๑ คือ กามฉันทนิวรณ์ ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แสนจะธรรมดา มีเป็นปกติ แต่ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น นี่อันดับหนึ่งของนิวรณ์ที่ทรงแสดงไว้ว่า สิ่งที่มีเป็นประจำวัน ถ้าสติเริ่มระลึก นั่นคือหนทางที่จะรู้สภาพธรรม ก็เป็นของธรรมดาๆ แต่ว่าถ้าจะอ่านให้เข้าใจคือต้องรู้พื้นฐาน ที่ประมวลมาเพราะเหตุว่าจะจำแนกให้เห็นว่าสิ่งที่มีทั้งหมด จำแนกออกมาเป็นส่วนๆ ได้แก่อะไร ประเภทไหนบ้าง กายได้แก่อะไรเท่าไร เวทนาเท่าไร จิตเท่าไร ธรรมรวมประเภทเป็นเท่าไร

    ผู้ฟัง เราก็เห็นความสำคัญของสติปัฏฐาน เพราะว่าเป็นหัวใจ เป็นแก่นสารของพระธรรม อันนี้เหตุปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด คือการเริ่มต้นที่เป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง เพราะหลายๆ ท่านก็เข้าใจว่า พระธรรมนี้มีประโยชน์ สติปัฏฐานคือจุดมุ่งหมาย แต่การศึกษาก็อยากจะศึกษาให้ถูกต้อง ศึกษาปริยัติให้ถูกต้อง หรือเข้าใจสัจจญาณที่ถูกต้อง ฟังท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์บอกว่าค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่เราได้เรียน ไม่ว่าจะอ่านก็อ่านด้วยความเข้าใจ ไม่ว่าจะฟังก็ฟังด้วยความเข้าใจ ท่านอาจารย์ขยายเพิ่มเติมมากกว่านี้อีก

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นความละเอียดของธรรม เพราะว่าบางคนเผิน อ่านแล้วเหมือนเข้าใจหมดเลย แล้วจริงๆ เข้าใจหรือเปล่า แม้แต่คำว่า ธรรม ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เป็นพระโสดาบัน เพราะว่าเวลาเรียนเราเข้าใจความหมายว่าเป็นธรรม แต่เดี๋ยวนี้เป็นหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ได้ยินตั้งแต่คำแรก ปัญญาต้องอบรมจนประจักษ์ด้วยตัวเอง แม้แต่ความหมายของคำว่าธรรม เราไม่เผินเลย ต้องตรงตั้งแต่เบื้องต้น คือทั้งสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ต้องตรง เป็นผู้ที่รอบคอบ ไม่ประมาท และเป็นคนที่ละเอียด และเป็นคนตรงต่อความจริงว่า พูดว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่เป็นหรือยัง ปัญญานั้นได้ถึงคำจริงที่ได้กล่าวออกไป ทุกอย่างเป็นธรรมหรือเปล่า หรือเป็นแต่เพียงฟังเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    ปัญญาก็มีหลายระดับ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น จะรู้จริงๆ ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด แล้วอบรมจนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะเข้าใจอรรถของพยัญชนะที่ทรงแสดง ในความหมายของธาตุ ในความหมายของอายตนะ เป็นต้น

    ผู้ฟัง สัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้ของสติปัฏฐาน สัญญานั้นก็ต้องเริ่มจากการที่เราค่อยๆ เข้าใจในสภาพธรรมเป็นต้นไป จนกว่าความเข้าใจนั้นจะเจริญขึ้น สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยสมบูรณ์พร้อมที่ให้สติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราพูดเรื่องสติปัฏฐาน เรารู้ว่าเป็นเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การเข้าใจขั้นการฟัง พอพูดถึงสัญญาที่มั่นคง ถึงเขาไม่บอกก็สามารถจะรู้ได้ สัญญาที่มั่นคงอันนี้ไม่ใช่สัญญาอื่น นี่คือผู้นั้นเข้าใจจากการฟัง แต่ถ้ามีคำถามว่า สัญญามั่นคงในอะไร แปลว่าคนนั้นฟังมาตั้งแต่ต้นแล้วไม่เข้าใจเลย แต่ถ้าเข้าใจสัญญามีมากมาย แต่สัญญาที่มั่นคงตรงนี้ในเรื่องสติปัฏฐาน ต้องเป็นสัญญาที่มั่นคงในการที่จะเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และจะต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ความจริง เพื่อรู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่มี จนกระทั่งเป็นความรู้ของตัวเองที่สามารถที่จะเห็นว่า เป็นธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้น สัญญาที่มั่นคงจะถามว่าสัญญาอะไรไม่ได้ ถ้าถามว่าสัญญาอะไรคือไม่เข้าใจ แต่ถ้ารู้ว่า มีสัญญาที่มั่นคงเป็นปัจจัย ก็รู้ว่าจะเป็นสัญญาอื่นได้อย่างไร นอกจากสัญญาที่เกิดจากการฟังธรรมแล้วก็เข้าใจธรรม ฟังเรื่องนามธรรมรูปธรรม เข้าใจเรื่องนามธรรมรูปธรรม ถึงจะเป็นสัญญาที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม นี่คือสัญญาที่มั่นคง ถ้ามีการรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม สติระลึก ไม่ใช่เพียงคิดว่า ขณะนี้เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ขณะที่ฟัง คิดว่าขณะนี้เป็นธรรม กับขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ แล้วสติระลึกลักษณะของธรรม ก็เป็นสัญญาที่มั่นคงที่ต่างระดับขั้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น สัญญามี ๒ ลักษณะ เป็นอัตตสัญญา กับอนัตตสัญญา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มากเลย อาทีนวสัญญาก็มี อะไรก็มี

    ผู้ฟัง เพราะว่ามันไม่ใช่สัญญาอย่างธรรมดาทั่วๆ ไป อย่างที่จำทุกอย่าง อะไรต่างๆ เพราะมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของคำว่าธรรมอะไรเลย นี่พอมาพูดถึงว่า เป็นเหตุใกล้ให้สติเกิด ต้องเป็นอนัตตสัญญา

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงอนัตตสัญญา จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น แต่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แค่นี้ มั่นคงไหม เพราะว่าเราเรียนว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ลืม สัญญาไม่ได้มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม ถ้าสัญญาที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม สติปัฏฐานก็ระลึก หรือขณะที่ระลึก นั่นคือแสดงว่าสัญญามั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม เพราะไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ขณะไหนอย่างไร หนีไม่พ้นธรรม

    ผู้ฟัง ๒ คำนี้ต่างกันไหม ที่ว่าสัญญาที่มั่นคงกับเวลาที่มั่นคงแล้ว เป็นสัญญา

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติปัฏฐานเกิด แสดงว่าสัญญานั้นมั่นคงพอที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด เพราะขณะนี้สภาพธรรมมี แล้วก็รู้ด้วย ฟังมาแล้วด้วยว่า สติปัฏฐานคืออย่างไร เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมอย่างไร ขณะที่กำลังมี เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ต้องมีสัญญาที่มั่นคงเป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะว่าขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด สติระลึกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น แสดงว่าความเข้าใจคำว่าสัญญาที่มั่นคง ก็ไม่ตรงกับความเป็นจริงในขณะที่เป็นสติปัฏฐานเสียแล้ว

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานเกิดเพราะอะไร เพราะสัญญาที่มั่นคง ไม่อย่างนั้นสติปัฏฐานจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่สติระลึก

    ศุกล เวลานี้เราไปพูดถึงเหมือนมีสัญญาที่มั่นคง เตรียมเป็นขั้นตอนที่ให้สติปัฏฐานเกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ สัญญาอะไร

    ผู้ฟัง สัญญาอะไร สัญญาที่จำลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ สติปัฏฐาน ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    ผู้ฟัง สติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สัญญาอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้สติปัฏฐานเกิด

    ผู้ฟัง สัญญาที่จำ เพราะโดยลักษณะของสัญญา คือมีหน้าที่อย่างเดียว แต่ว่าเป็นความมั่นคงเพราะสัญญานั้นมีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไรที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด

    ศุกล ไม่มีเรื่องราวบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไรสติปัฏฐานจึงจะเกิด

    ผู้ฟัง มีการระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ระลึกอะไร สัญญาที่มั่นคง คือสัญญาอะไร

    ผู้ฟัง สัญญาที่จำลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีลักษณะ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด

    ผู้ฟัง ก็รู้เรื่องก่อน

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ เพราะฉะนั้น สัญญาที่มั่นคงคืออะไร ถ้าสัญญา ความจำมั่นคงว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกสิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม เราจะไปทำอย่างอื่นไหม นี่แสดงแล้วว่าต้องมีปัจจัย สติปัฏฐาน คือการระลึกเกิดขึ้นเพราะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่อย่างนั้นจะไประลึกได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แต่เวลานี้เราไม่พูดถึงเรื่องการที่จะไปหาวิธีอื่นเลย

    ท่านอาจารย์ เราพูดถึงสติปัฏฐาน สัญญาที่มั่นคง ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรม เรากำลังพูดถึงเหตุใกล้ให้เกิดสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เวลาที่เราพูดถึงเหตุใกล้ให้เกิดสติปัฏฐาน ถ้าจำมั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม เราจะไปทำอย่างอื่นไหม เพราะว่าสัญญานี้มั่นคง จึงเป็นปัจจัยให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง เป็นเหตุโดยความเกิดพร้อมหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นเหตุใกล้ที่จะเป็นปัจจัย อย่างผัสสะนี้ เป็นเหตุใกล้ของเวทนา เวทนาเกิดเพราะอย่างอื่นด้วย เพราะสัญญา เพราะเจตสิกทั้งหลายซึ่งเกิดร่วมกัน แต่เหตุใกล้ของเวทนาคือผัสสะที่กระทบ แสดงเหตุที่ใกล้ที่จะเห็นได้ เข้าใจได้ เพราะฉะนั้น สำหรับสัญญาที่มั่นคงเป็นเหตุใกล้ของสติปัฏฐาน ถ้าเราไม่มีความเข้าใจตรงนี้ เราก็ไปทำอื่น ไปนั่ง ไปทำอะไรก็แล้วแต่ ไปท่องหรือไปทำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ฟังอย่างนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม มีความมั่นคง สติจึงเกิดระลึกลักษณะของรูปหรือนามที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สัญญาที่เป็นเหตุใกล้ตรงนี้ไม่ใช่หมายความถึงสัญญาที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐานเพียงเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะการที่สติปัฏฐานจะเกิด สติปัฏฐานต้องเกิดพร้อมกับสัญญา แต่ก่อนอะไรเป็นเหตุใกล้ให้สติปัฏฐานเกิด คือการศึกษาธรรมต้องละเอียด ต้องรอบคอบ ต้องเป็นเหตุเป็นผล จริงอยู่เวลาสติเกิด มีสัญญา แต่ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิดพร้อมสัญญา อะไรเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติปัฏฐาน เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้หมายความถึงสัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับสติปัฏฐาน เพราะว่าเวลาสติปัฏฐานเกิด สัญญานั้นจำลักษณะ แต่ก่อนสติปัฏฐานเกิด ไม่มีลักษณะ แต่ว่ามีความจำมั่นคงที่จะเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด

    ผู้ฟัง อย่างนั้นหมายถึงสัญญาที่เกิดพร้อมกับปัญญาขั้นอื่นๆ เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ขั้นฟัง ขั้นเข้าใจ ขั้นมั่นคงว่า ไม่มีอะไรนอกจากธรรม เพราะฉะนั้น บางคนก็ทำไมสติปัฏฐานไม่เกิด สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ฟังแล้วไงว่า นี่เป็นนามธรรมรูปธรรมทุกขณะไม่ขาดเลย แต่ความมั่นคงมีพอที่สติปัฏฐานจะเกิดหรือเปล่า แต่ถ้าสติปัฏฐาน เกิดเมื่อไรเราไม่ต้องไปหาชื่อ สัญญาที่มั่นคงเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด แสดงถึงว่าถ้าไม่มีสัญญาที่มั่นคงสติปัฏฐานก็ไม่เกิด

    เรื่องของสภาพธรรมไม่ใช่เรื่องชื่อ ไม่ใช่เรื่องเราไปตามหาชื่อกับเหตุผล แต่เป็นเรื่องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แล้วเวลาที่เกิด ใครมาบอกว่า สัญญาที่มั่นคง หมายความว่า ถ้าเราไม่มีความรู้จริงๆ ว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม สัญญานั้น สติปัฏฐานนั้นก็เกิดไม่ได้ แต่ไม่ต้องไปคิด ไปหามาเป็นคำพูดว่า เพราะสัญญาที่มั่นคง แต่ขณะนั้นเพราะสัญญาที่มั่นคงจึงเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด

    ผู้ฟัง ขณะที่เราศึกษาธรรม แล้วเราเข้าใจว่าเป็นธรรม คือเข้าใจธรรมตัวจริงว่าเป็นธรรม ขณะนั้นก็เป็นสัจจญาณ แล้วสัญญาที่เกิดร่วมด้วยในขณะที่เราเข้าใจก็เป็นสัญญาที่มั่นคง แล้วค่อยๆ มั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นกิจจญาณไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้

    ผู้ฟัง ทีนี้อยากถามว่า “สัปปายะ” มีความหมายอย่างไร แล้วมีส่วนอย่างไรเกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ สัปปายะหมายความถึงสะดวกสบาย เหมาะสม เพราะฉะนั้น ก็แยกกล่าวว่าจะหมายความถึงสัปปายะจริงๆ ใน สัปปายสูตร ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า การเกิดดับของสภาพธรรมเป็นสัปปายะ อุตุสัปปายะ อาหารสัปปายะ อะไรนั้นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า เราจะพูดถึงแง่ไหน มุมไหน ตอนไหน อย่างอุตุสัปปายะ อย่างนี้ สำหรับอะไร ร่างกายแข็งแรง ใช่ไหม ร่างกายแข็งแรงแล้วจิตใจเป็นอย่างไร อาหารสัปปายะเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงโดยสถานที่ จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของคำว่า เป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิด จะกล่าวได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ในครัวเป็นสัปปายะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง พูดถึงสถานที่

    ท่านอาจารย์ ในครัวเป็นสัปปายะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้ากล่าวอย่างนี้ก็ต้องมีตัวอย่างว่า แม้แต่การทำอาหาร วิปัสสนาญาณก็เกิดได้

    ท่านอาจารย์ อุบาสิกาท่านหนึ่งบรรลุเป็นอนาคามี ขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้หม้อแกงน้ำผักดอง นั่นสถานที่หรือเปล่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง เพื่อรู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ เพื่อละ แล้วขณะนั้นติดหรือเปล่า นี่คือความละเอียดของการจะเห็นโลภะ ทุกอย่างจะต้องมาถึงว่า ติดหรือเปล่า ติดหรือเปล่า แม้ว่าที่นั้นเป็นที่ทำให้เกิดปัญญา ติดหรือเปล่า อยู่ตรงนี้ หรือละ เป็นเรื่องที่ละเอียดไปตลอดทาง ถ้าไม่เห็นโลภะอย่างละเอียด ไม่ถึง อย่างไรก็ไม่ถึง เพราะไม่เห็นโลภะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุ ท่านบรรลุได้หมดในทุกสถานที่ นั่นแสดงว่า ท่านไม่ติด มีข้อความจริงในพระสูตรที่กล่าวว่า เวลาที่อยู่ที่ใดแล้วปัญญาเกิด ก็ควรจะอยู่ที่นั้น ถ้าที่ใดไม่เหมาะสม ไม่ว่าด้วยประการใดๆ ทั้งบุคคล ทั้งสถานที่ หรืออะไรก็ตามแต่ ก็จากไปเลย ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน แต่ต้องไม่ลืมว่าติดหรือเปล่า ตรงนี้สำคัญที่สุด ไม่อย่างนั้นไปไม่รอด อย่างไรก็ไปไม่รอด โลภะเขาจะมีอิทธิพล มีกำลังมหาศาล ที่ว่าแม้ว่านิดเดียวเขาก็เอาไปแล้ว แค่มีปัญญาเกิดเพราะตรงนี้ จะอยู่ตรงนี้เพื่อให้ปัญญาเกิด เขาก็เอาไปแล้ว

    ผู้ฟัง จะอยู่จะไป นี่ก็

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นเรื่องละ ยากแสนยากตรงที่ต้องเห็นโลภะ แล้วละโลภะ เพราะเราอยู่กับเขามานาน

    ผู้ฟัง ทำอะไรไม่ได้สักอย่างหรือ

    ท่านอาจารย์ อบรมเจริญปัญญาเห็นความจริงคืออริยสัจจ์ ถ้าโลภะเกิดแล้วไม่รู้ นั่นคือไม่ละสมุทัยแล้ว ไม่ใช่มีเพียงเท่านั้น แม้ไม่มีอะไรเลยในโลกเหลือแต่เพียงอย่างเดียวคือรูปใดก็ตาม ไม่ใช่ขา ไม่ใช่แขน เพียงแค่ร้อนหรือเย็นก็ติด ยังมีความเป็นเรา ถ้าปัญญาไม่ถึงระดับขั้นที่จะละ ก็ยังไม่ว้าเหว่ อย่างน้อยก็ยังมีเรา ส่วนของเราตรงนั้นอยู่ ไม่สามารถที่จะละได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องของการอบรมปัญญาที่คมพอที่สามารถที่จะละโลภะ โทสะได้ ถึงจะละอภิชฌา และโทมนัส มิฉะนั้นก็ตกใจ มิฉะนั้นก็กลัว มิฉะนั้นก็หวั่นไหว มิฉะนั้นก็อยาก เดี๋ยวมโนทวารก็จะปรากฏลักษณะของสภาพธรรม ก็แล้วแต่ เขาจะมาตลอดทาง เพื่อที่จะให้ละเครื่องกั้นเครื่องปิดบังจนกว่าจะไม่ติดในสังขารธรรม ไม่ได้ต้องการสังขารธรรมจริงๆ ด้วยปัญญาที่คมเมื่อไร ก็หันไปสู่นิพพานแน่นอน

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ที่บอกว่าถ้ามีสถานที่ ที่ท่านบอกว่าถ้ามีปัญญาเจริญขึ้นก็ควรจะอยู่ที่นั้น แต่ท่านอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าอยู่ที่นั่นแล้วติดก็ไม่ควรจะอยู่ที่นั่น หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ พระที่เป็นอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาค แล้วก็พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาต ท่านตามเสด็จ เพราะว่าอุปัฏฐากในปีแรกๆ ไม่มีประจำ ๒๐ พรรษาแรกไม่มีประจำ เห็นสถานที่ที่น่าปฏิบัติมาก ขอไปปฏิบัติตรงนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต ถึง ๓ ครั้ง ถึงกับวางบาตรของพระพุทธเจ้า ความที่โลภะเกิดขึ้น แล้วก็ไปที่นั่นจริงๆ กลับมาโดยที่ไม่ได้อะไรเลย พระองค์สามารถที่จะรู้อัธยาศัย แล้วคนก็ยังไม่เชื่อ ขนาดเป็นพระติดตามไปเบื้องหลังแล้วก็ถือบาตรด้วย แล้วเราเป็นใคร ได้ฟังพระธรรมหรือเปล่า ได้เฝ้า ได้ติดตามอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วโลภะของเราใครจะเอาออกได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจจริงๆ ว่า เรื่องละเรื่องเดียว ถ้ามีความต้องการสักนิดหนึ่งก็ไปแล้ว ไปแล้ว ไปแล้ว ไปทั้งนั้นแหละ ไปตามโลภะโดยไม่รู้ตัวเลย เพราะฉะนั้น เราจะมองเห็นการอบรมหรือการปฏิบัติของแต่ละคน เป็นไปด้วยโลภะ ก็รู้ว่าไม่ถึง อย่างไรก็ไม่ถึง เพราะว่าไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ที่บอกเรื่องสถานที่ว่า ถ้าอยู่แล้ว สติไม่เกิด อกุศลเกิด นี่ก็หมายความว่าให้พร้อมที่จะออกจากสถานที่นั้นไปทันที ก็หมายความว่าเขาก็ไม่ได้คิดจะต้องไปหาที่อื่นที่มันจะทำให้สติเกิดก็ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่เขาไปเพราะอะไร

    ผู้ฟัง ไปเพราะสถานที่อยู่นั้นๆ มันอาจจะทำให้เกิดความไม่สงบ

    ท่านอาจารย์ ต้องการความสงบหรือต้องการอะไร

    ผู้ฟัง นั่นสิ เพราะว่าเมื่อพูดถึงว่าเมื่ออยู่แล้วอกุศลเจริญ กุศลไม่เจริญ

    ท่านอาจารย์ อกุศลอะไรเจริญ

    ผู้ฟัง โทสะ

    ท่านอาจารย์ ลองคิดให้ดี อกุศลอะไร

    ผู้ฟัง โลภะ

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด อาจารย์มีมากมาย อยู่ตรงไหนที่ความเห็นถูกไม่มี ไม่เกิด มีแต่ความเห็นผิด จะอยู่ตรงนั้นไหม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็หมายถึงความเป็นผิดอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ทุกอย่าง เพราะว่าเป็นเรื่องที่ละเอียด ส่วนใหญ่จริงๆ โลภะมีตลอด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน โทสะก็มีตลอด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่เราลองพิจารณาว่าที่ไหนที่ไม่ควรอยู่

    ผู้ฟัง ที่ไหนที่มีผู้ที่มีคำแนะนำสั่งสอน แล้วเป็นกัลยาณมิตรที่ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ท่านหมายถึงอย่างนั้น

    ผู้ฟัง กัลยาณมิตรที่ไม่ดีก็ไม่ควรอยู่ที่นั่น

    ท่านอาจารย์ บางคนติดหมู่คณะ แล้วก็ติดบุคคลด้วย เขาไม่ยอมไปทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ถูก ไม่มีอะไรจะกันเราได้ นอกจากพระธรรมที่ทรงแสดงโดยละเอียดทุกประการ ให้รู้ว่าถูกคืออย่างไร ต้องหนีหรือหลีกพ้นจากความไม่ถูกอย่างไร อย่างคนพาลใน มงคลสูตร เริ่มต้นเลย อเสวนา จะ พาลานัง การไม่คบคนพาลเป็นมงคลสูงสุด คนพาลนำอะไรมาให้ที่เป็นประโยชน์บ้าง ถ้าเป็นคนที่เห็นผิดก็นำแต่ความผิดๆ ความเห็นผิดมาให้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์แสดงว่า การที่จะศึกษา สติปัฏฐานสูตร ก็ควรจะเป็นบุคคลที่มีความมั่นคงในเรื่องของสภาพธรรมทั้งหลาย เพื่อที่จะไม่ต้องสงสัยว่าบรรพต่างๆ ที่ท่านแสดงไว้มีความหมายว่าอย่างไร เพราะว่าตามความเป็นจริงก็เป็นเรื่องของธรรมที่มีจริงทั้งหมด ไม่ใช่เป็นเรื่องของบัญญัติ ทีนี้ผมก็มีความสงสัยว่า บุคคลที่ควรจะศึกษา สติปัฏฐานสูตร หมายความว่าต้องเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจธรรมอย่างมั่นคงที่สุดแล้วใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราศึกษาสติปัฏฐานสูตรเพื่ออะไร ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจแล้วว่าทุกอย่างที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ความจริง เพราะฉะนั้น จะแยกโดยนัยไหนๆ เราก็มีความเข้าใจแล้วก็เพื่อให้รู้สภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ต้องใส่ชื่อไหมว่า ขณะนี้เรากำลังเป็นหรือว่าระลึกเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ต่อให้จำแนกโดยนัยใดๆ ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า จุดประสงค์หรือความจริงขณะนั้น ที่ทรงแสดงอย่างนั้นเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ก็เหมือนกับว่า ถ้าเรามีความเข้าใจมั่นคงในเรื่องของสติปัฏฐานแล้ว ความจริงก็ไม่ต้องศึกษา มหาสติปัฏฐานสูตร เพราะว่าความเข้าใจก็มีอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีความเข้าใจ จะรู้ไหมว่า ข้อความของทุกบรรพหมายความว่าอะไร แล้วทรงจำแนกๆ เพื่ออะไร เพื่อไม่ให้หลงลืม สราคจิตก็ไม่ให้หลงลืม ไม่ใช่บอกชื่อว่า อยู่ในหมวดนี้ อะไรๆ อย่างนั้น แต่ให้รู้ว่าขณะนี้มีหรือเปล่า แล้วก็ควรระลึกหรือเปล่า หรือว่าควรไปทำอย่างอื่น เพราะว่าไม่ชอบสราคจิต เมินเฉย เมินจากสภาพธรรม ไปหาอะไรก็ไม่รู้ มีจริงแท้ๆ มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปก็ไม่ยอมจะรู้ จะไปทำอย่างอื่น แล้วเมื่อไรจะรู้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    29 ก.ค. 2567