ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184


    ตอนที่ ๑๘๔

    สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ผู้ฟัง อ่านหนังสือของท่านอาจารย์สุจินต์ท่านใช้คำว่า ฌาน หมายถึงจิตที่พ้นกามอารมณ์ อยากจะให้อาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ คำว่า ฌาน หรือใช้คำว่า ฌาน ทั่วๆ ไป คนทั่วไปใช้คำว่าฌานในความหมายไหน คุณสุรีย์พอจะบอกได้ไหม

    ผู้ฟัง ในความหมายที่เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ คือคนไม่ใช่คนวัด ยังไม่เคยเข้าวัดเลย แล้วได้ยินคำว่าฌาน แล้วเขาจะคิดว่าอย่างไร หลับตาแล้วหลับเลย หรือว่าอย่างไรที่ว่าฌาน โดยคนทั่วๆ ไปที่เข้าใจ เพราะฉะนั้น ก็คิดเอาโดยอาการว่า ถ้าเป็นในลักษณะที่นั่งนิ่งๆ เฉยๆ หมายความว่าคนนั้นไม่รับรู้อะไรหมด เขากำลังเข้าฌาน แต่ก็มี ๒ อย่าง คือ ถ้าคนหลับ บางคนก็บอกว่าคนนี้กำลังเข้าฌาน แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นคำล้อเลียน สำหรับคนที่นั่งเฉยๆ แต่ทีนี้ตามหลักวิชาการจริงๆ ถ้าจะพูดถึงฌานโดยศัพท์

    อ. สมพร ฌาน ศัพท์ แปลว่า เพ่งหรือเผา

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นให้ทราบว่าที่จะว่าเป็นฌาน ได้แก่เจตสิกอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจจริงๆ บนกระดานนี้ก็มี วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก สุขนี่คือโสมนัสเวทนา และเอกัคคตาเจตสิก แต่นี้เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศลก็มี

    อ. สมพร อกุศลฌาน มีในพระสูตร คือ พระอานนท์กล่าวกับพราหมณ์ พราหมณ์บอกว่า พระอานนท์คงจะเพ่งฌานอยู่เป็นนิจ พระอานนท์ก็ตอบว่า ฌานที่เป็นอกุศลก็มี พระอริยะทั้งหลายไม่เพ่งฌานที่เป็นอกุศล ฌานที่เป็นอกุศล คือ นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ เพ่งพิจารณาดูนิวรณ์ เหมือนอย่างว่า อวิชชา หรือคำว่าโลภะ หรือกามฉันทะ เพ่งเหมือนงูที่จะกินเขียด เพ่งจ้อง หรือเราจ้องต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คือการเพ่งเหมือนกัน เพ่งคืออะไร เพ่งด้วยวิตก ตรึกเพ่งจ้องวิตก วิจารณ์ มีองค์ แต่เป็นอกุศล เรียกว่าอกุศลฌาน ในพระสูตรมีเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นให้เข้าใจคำว่าฌาน เพราะว่าถ้าเข้าใจว่าฌานเป็นฝ่ายดีอย่างเดียว พอไปเจออกุศลฌานทีหลังจะเกิดงงว่า เป็นไปได้อย่างไรที่มีอกุศลฌาน ความจริงฌานได้แก่เจตสิกที่กล่าวแล้ว วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก และเวทนาอีก ๓ อย่าง คือ อุเบกขา โสมนัส โทมนัสเวทนา ล้วนเป็นองค์ของฌาน หรือว่าเป็นฌานปัจจัย เพราะฉะนั้น ฌานถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ถ้ามีกำลัง หรือเผา หรือเพ่งธรรม เมื่อมีองค์ของฌานก็เป็นฌานได้ แต่ว่าเป็นอกุศลฌาน ถ้าพูดถึงฌานแล้วก็บอกว่ามีแต่ฝ่ายกุศล คนที่ได้ศึกษาแล้วก็จะกล่าวว่าไม่ใช่มีแต่ฝ่ายกุศลเท่านั้น อกุศลฌานก็มี เพราะฉะนั้น กล่าวถึงองค์ของฌานที่เป็นอกุศลได้ แต่สำหรับที่จะกล่าวถึงวันนี้ คุณสุรีย์หมายความถึงเฉพาะฌานที่เป็นกุศล ซึ่งได้แก่สภาพของจิตที่ตั้ง มั่นคง ประกอบด้วยองค์ของฌาน จนกระทั่งจิตสงบ เป็นขั้นๆ จนถึงขั้นที่กล่าวว่า เป็นอัปปนาสมาธิ จึงจะเป็นฌานจิต ถ้ายังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ก็ยังไม่ใช่ฌานจิต แสดงว่าสมาธิมีหลายขั้น

    ผู้ฟัง ที่เรียกว่าพ้นจากกามอารมณ์ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ในกามาวจรภูมิ คือระดับจิตของกามาวจร นี้เป็นฌานไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นอกุศลได้ไหม อกุศลฌานได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้เรากำลังกล่าวถึงกุศลฌาน เพราะฉะนั้น ถ้าฝ่ายอกุศลฌานก็มี อย่างที่กล่าวแล้ว ไม่ใช่มีแต่กุศลฌาน เพราะฉะนั้น ก็ตัดฝ่ายอกุศลฌานไป จะกล่าวถึงแต่เฉพาะกุศลฌาน ซึ่งหมายถึงกุศลจิตที่อาศัยกามาวจรกุศล แต่ว่ามีการที่จะระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบเป็นกุศลมั่นคงขึ้น จนกระทั่งความสงบนั้นประณีต และปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงขั้นที่ว่าเรียกว่า อัปปนาสมาธิเท่านั้นที่จะเรียกว่าฌานจิต แต่ก่อนที่จะเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นจิตระดับขั้นกามาวจรจิต แม้ว่าจิตจะสงบขึ้นๆ แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ก็ยังไม่ใช่ที่เรียกว่า ฌานจิต

    ผู้ฟัง สำหรับกุศลวจรกุศลจิตมี ๘ ดวง ดวงไหนที่จะต้องเป็นบาทของฌาน หรือว่าจะต้องอบรมให้ถึงตรงนั้น แล้วจะขึ้นฌานได้

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นคงจะต้องพูดถึงระดับขั้นของกุศลที่เป็นกามาวจรจิต ยังไม่ต้องคิดถึงดวงก็ได้ ให้ทราบว่า ผู้ที่อบรมเจริญกุศลอีกระดับหนึ่ง ที่จะให้ถึงขั้นรูปาวจรอัปปนาสมาธิซึ่งเราใช้คำว่า ฌานจิต ไม่ใช่กุศลระดับขั้นทาน ขั้นศีล ที่เรากระทำอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา เห็นโทษว่าในวันหนึ่งๆ แม้ว่าเราจะมีโอกาสทำกุศลบ้าง แต่ก็น้อยมาก เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ มีแต่อกุศลทั้งนั้นเลย เป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่เห็นโทษอย่างนี้ แล้วมีปัญญาที่สามารถที่จะประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ที่รู้ความต่างกันของจิตซึ่งเป็นกุศล และอกุศล จึงสามารถที่จะเจริญภาวนาที่เป็นสมถภาวนา หรือแม้วิปัสสนาภาวนาได้ ถ้าไม่มีปัญญา เป็นเพียงกุศลที่เป็นขั้นระดับของทาน ศีลในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป ก็ไม่ถึงฌานจิต ไม่ถึงโลกุตตรจิตแน่ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีกุศลประกอบด้วยปัญญา พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นนิวรณ์ประเภทหนึ่งประเภทใด ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะก็ละนิวรณ์ในขณะนั้นไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นนิวรณ์ หรือว่าเป็นธรรมที่กั้นไม่ให้กุศลมั่นคงขึ้น

    คำถามข้อต้นที่ว่า ความต่างกันของจิตระดับกามาวจรจิตกับรูปาวจรจิต คือเวลาที่เป็นอัปปนาสมาธิ ที่เป็นกุศลฌาน ขณะนั้นที่ว่าพ้นจากกาม เพราะเหตุว่าไม่รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะว่าตามธรรมดาของเราที่มีตาจะไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ ที่มีหูก็ต้องได้ยิน ที่มีจมูกก็ต้องได้กลิ่น แต่ว่าถ้าในขณะนั้นจิตเป็นความสงบระดับขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต จะไม่มีการรู้อารมณ์ที่เป็นกาม คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น จะมีแต่เฉพาะอารมณ์ของฌานจิต ที่ทำให้จิตมั่นคงสงบแน่วแน่ ไม่รับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ผู้ฟัง อยากจะขอให้สรุปความแตกต่างระหว่างกุศลฌานกับอกุศลฌานว่า อยู่ที่สติกับญาณหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าประกอบด้วยอกุศลเจตสิก ก็เป็นอกุศลฌาน

    ผู้ฟัง แต่ไม่ได้เกี่ยวกับสติหรือญาณ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกี่ยวกับการที่เราจะรู้ว่า ฌานหมายถึงอะไร และไม่ใช่แต่เฉพาะกุศลอย่างเดียว อกุศลก็มีด้วย

    ผู้ฟัง คิดว่าบุคคลที่ได้ฌานนั้น มักจะไม่รู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาค

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าไม่ถูก เพราะเหตุว่าต้องเป็นญาณสัมปยุตต์ ที่จะไม่รู้ เป็นไปไม่ได้เลย แล้วที่จะรู้ผิด ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ใครก็ตามเข้าใจว่า ตัวเองได้ฌาน หรือทำฌาน แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ใช่ปัญญา แต่หลงไปว่าตัวเองได้ เพราะขณะนั้นไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นอัปปนาสมาธิหรือว่าฌานจิตได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้ ต้องประกอบด้วยปัญญาพร้อมสติสัมปชัญญะ นี่เป็นกรณีพิเศษ คือว่ากุศลอื่นทำได้ ไม่ว่าจะเป็นทาน หรือศีล ไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์ คือ ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ว่าสำหรับภาวนากุศลจริงๆ ถ้าไม่ใช่ประกอบด้วยปัญญาแล้วเป็นอกุศล ไม่ว่าจะทำสมาธิระดับไหนก็ตาม เพราะเหตุว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา และอีกประการหนึ่ง คือ แม้ก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะประสูติ ตรัสรู้ ทรงแสดงธรรม ผู้ที่บรรลุฌานจิตจริงๆ ที่เป็นกุศลจริงๆ ก็มี ไม่ใช่ว่าต้องไปได้ฟังพระธรรมเสียก่อน นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องของการรู้ถูกต้องตามระดับขั้นของปัญญานั้นๆ

    อ. สมพร ผมขอพูดย้อนต้นนิดหนึ่ง ฌาน ๕ มีองค์ ๕ โลภะก็มีองค์ ๕ เหมือนกัน โลภะเกิดมีวิตก วิจารณ์ เมื่อโสมนัสมี ปีติก็มีพร้อม วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกัคคตา คือเอกัคคตาที่เป็นเจตสิก เป็นอกุศลฌาน ก็มีองค์ ๕ เหมือนกัน

    ผู้ฟัง ผมรู้สึกว่า เป็นการยากพอสมควรที่จะแยกระหว่างอกุศลฌาน กุศลฌาน เพราะว่าการที่อาจารย์สมพรได้พูด เป็นข้อที่น่าคิดจริงๆ แล้วก็ผมคิดว่า เพราะเหตุใดจึงต้องเจริญอริยมรรค ผมคิดว่า การเจริญอริยมรรคทำให้ปัญญาเกิดขึ้น และรู้สภาวะที่เป็น คือรู้ลักษณะของนิพพานนั่นเองว่าเป็นอย่างไร ร่วมกับองค์ฌานที่เกิดขึ้น ปัญญาก็สามารถที่จะเปลี่ยนสภาวะจากอกุศลให้กลับคืนสู่ กุศลได้

    ท่านอาจารย์ ที่ต่างกัน คือ อกุศลฌานประกอบด้วยอกุศลเจตสิก แล้วทางฝ่ายที่เป็นกุศลต้องประกอบด้วยโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น ขณะที่ใครก็ตาม พยายามที่จะจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด ขณะนั้นมีเอกัคคตาเจตสิกเป็นสมาธิ แต่ไม่มีสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะเป็นกุศลฌานเลย แต่ตัวเองอาจจะเข้าใจว่า ขณะนั้นกำลังทำฌาน หรือว่าเป็นฌาน หรือว่าถึงฌาน แต่ความจริงแล้วไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก

    ผู้ฟัง สมาธิที่เป็นกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญามี ไหม

    ท่านอาจารย์ เรื่องอกุศลสมาธิ หรืออกุศลฌานไม่มีปัญหา ว่าเป็นโลภมูลจิตแน่นอน เป็นอกุศลแน่นอน ผู้ถามสงสัยว่า ถ้าเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์ แล้วเขาทำสมาธิ จะได้ไหม

    อ. สมพร ทำสมาธิได้ แต่ไม่ถึงอัปปนา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา แล้วจะไม่ถึงเลย

    ท่านอาจารย์ ทำอย่างไร มหากุศลญาณวิปปยุต์ ทำสมาธิ

    ผู้ฟัง ก็คิดอย่างนี้ เขาทำด้วยความไม่เข้าใจ อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจ ก็เป็นกุศลไม่ได้อยู่แล้ว

    ผู้ฟัง โลภะไปแน่นอน คือ

    ท่านอาจารย์ สมาธิมีแน่นอนกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศลใดๆ ก็ตาม ทีนี้ถ้าสมาธินั้นเกิดกับอกุศลจิต ร่วมกับอกุศลเจตสิกก็เป็นอกุศลสมาธิ ถ้าเกิดกับกุศลไม่ว่าจะมีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็เป็นกุศลสมาธิอยู่แล้ว แต่ว่าเขาจะไปเจริญสมถภาวนาไม่ได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ว่าเวลาที่กุศลจิตเกิด เอกัคคตาเกิดร่วมกับโสภณเจตสิก ก็เป็นฝ่ายกุศลอยู่แล้ว กุศลสมาธิ แต่จะไปทำฌานไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่ากามาวจรจิต จะมารับอารมณ์ของรูปาวจรจิตจะได้ไหม เพราะว่าในการทำฌาน จะต้องมีอะไรเพ่งกสิณ อย่างเช่น ปฐวีกสิณ ปฐวี ดินเป็นกามอารมณ์ ดิฉันยังสับสน อยากจะขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายอารมณ์ของ กามาวจรจิต

    อ. สมพร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกจิตออกเป็น ๔ ประเภท จิตชั้นต่ำ เรียกว่า หีนจิต คือ ภูมิกามาวจรจิต จิตที่สูงขึ้น จิตของพวกได้ฌาน คือ รูปฌาน เรียกว่ารูปาวจรจิต ในฌานที่ประณีตขึ้น อรูปาวจรจิต จิตของพระอริยะที่บรรลุโลกุตตระแล้ว เรียกว่า โลกุตตรจิต จิตทั้งหมดนี้เป็นพวกๆ ไม่ปะปนกัน จิตที่เป็นกามาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม คำว่ากามาวจร ตัดบทเป็น กาม + อวจร + จิต = จิตท่องเที่ยวไปในกาม

    อีกนัยหนึ่ง คำว่า กามาวจรจิต จิตนี้เป็นที่ท่องเที่ยวของกามตัณหา กามตัณหา เช่น เราปรารถนาอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง อยากได้รูปที่สวย เสียงที่เพราะ กลิ่นที่หอม เป็นต้น นี่คือตัณหา ตัณหาเป็นที่ท่องเที่ยวไปในจิตนี้ อย่างนี้ท่านเรียกว่า กามาวจรจิต จิตนั้นต้องเป็นพวกๆ แน่ ไม่คละกัน ไม่ปะปนกัน จิตทั้งหมดมี ๔ ชาติเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ที่ว่า กามาวจรจิต คือ จิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม คำว่าท่องเที่ยวนี้หมายความว่า ไปรับอารมณ์ หรือไปล่องลอยเที่ยวอยู่ในอะไร

    อ. สมพร ท่องเที่ยวนี้เป็นปัญหา คำว่าท่องเที่ยว คือ เป็นอารมณ์ จิตที่มีกามเป็นอารมณ์ กาม มีความหมาย ๒ อย่าง กาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เรียกว่าวัตถุกาม กามอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กามตัณหา คือ กิเลสกาม

    ผู้ฟัง ท่องเที่ยวไปในกามอารมณ์ ถ้าจะข้ามขั้นไปท่องเที่ยวในรูปาวจรภูมิจะได้ไหม พวกกามาวจรจิต มีบ้างไหม

    อ. สมพร จิตที่เป็นกามาวจรจิต ท่านเรียกว่า ปริตจิตนั้น จะเป็นอัปปนาจิตไม่ได้ แต่ว่าเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง คือจะไปเกิดในรูปภูมิบ้างได้ไหม กามาวจรจิต

    อ. สมพร ไม่ใช่ที่เกิดของกามาวจรจิต แต่ว่ากามาวจรจิต เช่น โลภะเป็นต้น สามารถจะเกิดในภูมิอื่นได้ นอกจากภูมิของตน

    ผู้ฟัง ในรูปาวจรภูมิ โลภมูลจิตก็เกิดได้

    อ. สมพร เกิดได้ในรูปาวจรภูมิ

    ผู้ฟัง โลภมูลจิตที่เป็นกามาวจรจิตแสดงว่า กามาวจรจิตข้ามระดับขั้น ไปเที่ยวอยู่ในรูปาวจรภูมิได้

    อ. สมพร ไปท่องเที่ยวอยู่ในภูมิ ในพรหมโลก

    ผู้ฟัง แสดงว่าในพรหมโลก ไม่ได้มีแต่เฉพาะพวกฌานจิตเหล่านี้ มีกามวจรจิต เช่น โลภมูลจิตก็เกิดได้

    อ. สมพร พวกที่ได้ฌานแล้วไปเกิดในพรหมโลก ขณะนั้นไม่ได้เข้าฌานก็ไม่ได้ฌานเลย ไม่มีฌาน นอกจากว่าไปเกิดในพรหมโลกแล้วก็เข้าฌาน จึงเรียกว่ารูปาวจรจิต

    ผู้ฟัง รูปาวจรพรหมบุคคล รูปพรหมบุคคล เวลาอยู่ในรูปภูมิ ไม่ได้หมายความว่าทำฌานตลอดเวลาหรือ

    อ. สมพร ไม่ได้ทำฌานตลอดเวลา ทำฌานเฉพาะคนที่เขาสนใจ บางคนไม่สนใจ หมดจากวิบากกรรมนั้นแล้ว ก็กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่

    ผู้ฟัง แล้วขณะที่เกิดอยู่ในรูปพรหมภูมิ เขาไม่ได้ทำฌานตลอดเวลา แล้วจิตเขาจะรับอารมณ์อะไร

    อ. สมพร ก็มีโลภะ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น กามอารมณ์ก็เกิดได้ในรูปาวจรภูมิ ใช่ไหม

    อ. สมพร เรียกว่าท่องเที่ยวไปในพรหมโลก ในรูปภพได้ แต่ว่าไม่ใช่ที่เกิดโดยตรงของเขา เป็นอาศัยเหมือนท่องเที่ยว ที่ท่องเที่ยวไป

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่าในรูปาวจรภูมิ มีอารมณ์ให้โลภมูลจิตเกิดได้

    อ. สมพร มีอารมณ์ให้จิตชั้นต่ำคือ โลภมูลจิตเกิดได้

    ผู้ฟัง เขาจะเกิดโลภมูลจิตเกี่ยวกับเรื่องอะไร อยู่ในรูปพรหมภูมิ น่าจะ สงบๆ มาเกิดโลภะในเรื่องอะไร ยกตัวอย่างได้ไหม

    อ. สมพร โลภะเกิดได้ทุกหนทุกแห่ง แม้พระอริยบุคคลยังเกิดได้ เช่นพระอนาคามี

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่า รูปพรหมบุคคลเกิดโกรธขึ้นมา จะเสื่อมทันที หรืออย่างไร หรือว่าไม่เกิด

    อ. สมพร ไม่มี ไม่มีโทสะ ไม่มีความโกรธ

    ผู้ฟัง จะจุติมาเกิดในมนุษย์ภูมิ โดยเหตุอะไรถ้าเขาไม่เกิดโทสะ

    อ. สมพร หมดวิบากกรรมอันนั้นแล้ว หมดอายุขัยแล้ว ไม่ได้ทำฌานต่อ เมื่อทำฌานต่อก็ไปเกิดในพรหมโลกที่สูงขึ้น แต่เมื่อไม่ทำฌานต่อ หมดผลของกรรมนั้นแล้วก็กลับมาเกิดในมนุษย์ใหม่ เพราะว่าพวกพรหมไม่มีโทสะ ความสุขของเขาจึงประณีตกว่าพวกกามสุข

    ผู้ฟัง แล้วอรูปพรหม

    อ. สมพร อรูปพรหมก็ไม่มีโทสะ

    ผู้ฟัง ไม่มีโทสะ มีโลภะ โมหะเหมือนกัน

    อ. สมพร มี เพราะเมื่อมีโลภะ โมหะก็ต้องมี

    ผู้ฟัง คำว่า เกิดดับ หมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมมีเหตุปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ทำไมจึงว่า โลกนี้เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ รู้สึกคนฟังใหม่ๆ อาจจะลำบาก เพราะคิดว่าโลกนี้กลมใหญ่กว้างมาก แต่ความจริงแล้ว โลกในพระวินัยของพระอริยะ เป็นเพียงหนึ่งขณะจิตซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจิตก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นนามธรรม และรูปธรรม เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามซึ่งเกิดดับ สิ่งนั้นเป็นโลก

    ผู้ฟัง ทีนี้คำว่าเกิดดับ ถ้าหากว่าเราไม่เข้าใจปรมัตถธรรม เหมือนว่าเกิดขึ้นแล้วก็หายตัวไป เหมือนกับว่าเราเปิดไฟ ปิดไฟ เกิดดับ เหมือนไหม โลกนี้เกิดดับ เหมือนเราเปิดไฟปิดไฟ เหมือนไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน

    ผู้ฟัง เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อย่างแข็งจะเหมือนไฟ ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ แข็งมี ทุกคนกำลังปรากฏ ถ้าเป็นปัญญาที่สมบูรณ์จริงๆ สามารถที่จะประจักษ์ว่า แข็ง ซึ่งดูเหมือนว่าไม่ดับเลยนั้น แท้จริงกำลังเกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายอีกครั้งหนึ่ง เกิดดับ สมมติว่าเราโดยนัยของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่ปรากฏทางตา เหตุใดจึงว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ เวลาพูดถึงโลก ถ้าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการสัมผัส ไม่มีการคิดนึก จะมีโลกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพียงแค่เห็น เอาเดี๋ยวนี้ก็ได้ เฉพาะกำลังเห็น ซึ่งทุกคนกำลังเห็น และอีกอย่างคือว่า เราได้พูดถึงธรรมมานานแสนนานโดยนัยต่างๆ ทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจธรรม ไม่ใช่ให้จำว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าขณะนี้กำลังเห็น ถ้าเราได้ศึกษามามากพอ เราก็จะต้องสามารถมีความเข้าใจในลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ ในลักษณะที่เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่เรากำลังเห็น มีได้ยินไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ขณะที่กำลังได้ยิน มีเห็นไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี นี่ก็แสดงให้เห็น ขณะนี้เราจะลืมทุกอย่างที่เราเคยจำไว้ แล้วก็มาพิจารณาให้เข้าใจธรรม การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม หมายความว่า เราเริ่มที่จะเข้าใจตัวธรรมจริงๆ ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเราจะยกเรื่องของทางตาก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังเห็น ที่จะเข้าใจว่า เป็นธรรม แล้วก็ที่กำลังเกิดดับ ถ้าไม่พูดถึงขณะปัจจุบัน จะเหมือนอยู่ในตำรา หรือว่าอยู่ในหนังสือ ไม่มีทางที่จะเข้าใจกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ได้ นอกจากเวลานี้ เรากำลังจะเข้าใจธรรม ทั้งหมดที่เรียนมาเพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังเห็น

    ในขณะนี้ทุกคนพิจารณาตามเพื่อที่จะได้เห็นธรรม หรือว่าเข้าใจธรรมตามความเป็นจริงว่า ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่มีได้ยิน มีวัดบวรนิเวศไหม ขณะที่กำลังเห็น มีไหม ไม่มี มีตึกสภาการศึกษามหามกุฏไหม ไม่มี มีห้องนี้ไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าปัญญาสามารถที่จะเริ่มเข้าใจลักษณะจริงๆ ของธรรมที่กำลังปรากฏ โดยรู้ว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ยังไม่มีความคิดนึกเรื่องวัดบวร ยังไม่มีความคิดนึกเรื่องตึกสภาการศึกษามหามกุฏ ยังไม่มีการคิดนึกเรื่องคน เรื่องสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วก็มีสภาพที่กำลังเห็น เป็นสภาพรู้ ที่เรากล่าวถึงเรื่องจิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ไม่พ้นจากขณะนี้เองที่กำลังเห็น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    24 มิ.ย. 2567