ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
ตอนที่ ๒๒๐
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ แต่สภาพธรรมใดที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมนั้นดับทันทีที่เกิด แล้วทำหน้าที่ของธรรมนั้นสั้นๆ นิดเดียวแล้วก็ดับ อย่างเห็นกับได้ยินไม่ใช่ขณะเดียวกัน พร้อมกันไม่ได้ เห็นต้องอาศัยตา จักขุปสาทอยู่กลางตา ได้ยินไกลจากตา มาอยู่ที่หู เพราะฉะนั้น จะเป็นขณะเดียวกันไม่ได้ จิต ๑ ขณะที่เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งเดียว เช่น จิตเห็น ไม่ได้ยิน ไม่ใช่คิดนึก เป็นคนละจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน
ผู้ฟัง แต่อย่างเวลาเราดูทีวี ในภาพโชว์แบบนี้ปุ๊บ แล้วเสียงเราก็ได้ยินในช่วงเวลาเดียวกัน
ท่านอาจารย์ คนทั่วไปไม่รู้จักจิต และเจตสิกตามความเป็นจริง ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่เมื่อเกิดขึ้นก็คิดว่าเป็นเรา แต่ถ้ามีปัญญาจริงๆ ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ ตรงไหนเป็นเรา เพียงเกิดขึ้น มีลักษณะอย่างนั้นแล้วก็ดับไป ความโกรธเกิดขึ้นเปลี่ยนลักษณะไม่ได้ ต้องขุ่นเคือง ต้องหยาบกระด้าง ลักษณะของโทสะเป็นอย่างนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีจริงๆ เมื่อเกิดขึ้นแล้วปรากฏ ถ้าไม่เกิดขึ้น อยู่ที่ไหน ปรากฏหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ แล้วอย่างนั้นอยู่ที่ไหน ไม่เกิด ถ้าไม่เกิดก็คือไม่มี แต่เมื่อใดเกิดขึ้นเมื่อนั้นมีชั่วขณะที่เกิดแล้วปรากฏ นี่คือสัจจธรรม ทุกขลักษณะ ทุกขอริยสัจจะ ลักษณะไม่เที่ยงเป็นของธรรมดาของทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ไม่มีเราเลย ใช่ไหม จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก รูปเป็นรูป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
ผู้ฟัง แต่ที่ยกตัวอย่างว่าทีวี เหมือนกับว่า ท่านอาจารย์เพิ่งบอกว่า การได้เห็น กับได้ยินเกิดขึ้นพร้อมกันไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะเร็วมาก เพราะเร็วแสนเร็วจนเหมือนไม่ดับเลย เหมือนไฟ เหมือนสว่างตลอดเวลา หรือแสงเทียนขณะนี้ก็เหมือนสว่างตลอดเวลา แต่ต้องมีไส้เทียนแต่ละชิ้นส่วนย่อยๆ ที่จะทำให้แสงเทียนนี้เกิดขึ้น
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แต่ละอันไม่ใช่อันเดียวกัน
ผู้ฟัง เหมือนกับว่าเห็นกับได้ยิน
ท่านอาจารย์ ต้องคนละขณะ คนตาบอดไม่เห็น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เห็นกับได้ยินเสียงจะเป็นขณะพร้อมกันไม่ได้ เพราะว่าเห็นต้องอาศัยตาอยู่ตรงนี้ ได้ยินอาศัยหูเกิดขึ้นอยู่ตรงนี้ แล้วได้ยินก็ได้ยินเฉพาะเสียง จะเห็นด้วยไม่ได้ แล้วเห็นก็เห็นแต่สิ่งที่ปรากฏจะได้ยินด้วยไม่ได้ ถ้าพูดถึงรูป เวลานี้เหมือนเป็นแท่งทึบ รูปที่กายทั่วทั้งตัว เหมือนเป็นก้อนเป็นแท่งทึบ แต่ความจริงมีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ และเกิดดับทุกกลุ่มเล็กๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจมีมาก แต่เมื่อรวมกันแล้วทั้งรูปทั้งก้อนโดยไม่เห็นว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่น ก็คิดว่าเป็นเราทั้งตัว แต่ถ้ารู้ว่าเป็นอ่อนหรือแข็ง ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ เหมือนกองฝุ่น หรือกองผง มันจะเป็นอะไรได้ นอกจากเป็นจริงอย่างนั้น แข็งก็คือแข็ง อากาศธาตุซึ่งแทรกคั่นก็คืออากาศธาตุฉันใด จิตที่ได้ยินก็ต่างขณะกับจิตเห็นฉันนั้น จะพร้อมกันไม่ได้เลย เป็นความรวดเร็วอย่างยิ่งของจิตซึ่งเกิดแล้วดับ ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงแสดงหนทางไว้ ก็จะไม่มีใครสามารถที่จะรู้ความจริงว่า ขณะนี้ทุกอย่างที่มีเพราะเกิดแล้วก็ดับ ถ้าไม่เกิดสืบต่อ สิ่งนั้นก็จะไม่ปรากฏ แต่ถ้าปรากฏสืบต่อซ้ำๆ กัน ก็ปรากฏเหมือนเป็นสิ่งเดียว แต่ความจริงไม่ใช่สิ่งเดียวเลย เอามาย่อยออกทั้งนามธรรม และรูปธรรมละเอียดยิบเลย
ผู้ฟัง การได้ยินกับการเห็น เข้าใจว่ามันคนละสิ่ง
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นจิตคนละขณะ คนละประเภท อาศัยแต่ละทางด้วย ถ้าจิตเห็นเกิดที่ไหน เราก็ยังไม่รู้เลย เราว่ามีจิตเห็น ขณะนี้ที่เห็นเป็นจิต รูปเห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีจิตที่เห็น และจิตเห็นต้องเกิดจึงเห็น ถ้าจิตเห็นไม่เกิด จะเห็นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จิตเห็นเกิดที่ไหน
ผู้ฟัง จิตเห็นเกิดที่ตา
ท่านอาจารย์ ตรงไหน
ผู้ฟัง ตรงกลางตา
ท่านอาจารย์ แล้วจิตได้ยินเกิดที่ไหน
ผู้ฟัง หู
ท่านอาจารย์ เพราะว่าคนเราต้องมีจิต ๑ ขณะ ทีละ ๑ ขณะ จะมี ๒ ขณะซ้อนกันไม่ได้
ผู้ฟัง อาจารย์กำลังจะบอกว่า จิตจะเกิดขึ้นได้ครั้งหนึ่งแค่อย่างเดียว
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ใช่ไหม สิ่งที่ถูกรู้ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ แต่ภาษาไทยเราใช้คำว่า อารมณ์ เป็นการคลาดเคลื่อนไม่ตรงความหมาย เวลาพูดภาษาไทย เราบอกว่าวันนี้อารมณ์ดี จิตใจสบายใช่ไหม แต่ว่าภาษาบาลี อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้น คนไทยเอามาใช้ว่า อารมณ์ดี เมื่อจิตเห็นสิ่งที่ดีๆ ได้ยินเสียงดีๆ ได้กลิ่นดีๆ ลิ้มรสดีๆ สัมผัสดีๆ คิดนึกดีๆ ไม่มีเรื่องที่จะโกรธ ที่จะขุ่นเคืองใจ ก็บอกว่าขณะนั้นอารมณ์ดี แต่ความจริงอารมณ์ต้องหมายเฉพาะสิ่งที่ถูกจิตรู้ เสียงในป่าต้องเกิดแน่นอน ถ้ามีการกระทบกันของของแข็ง เช่น ต้นไม้ล้มกระทบแรงๆ มีเสียงเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตได้ยินเสียงหรือเปล่า เสียงในป่า
ผู้ฟัง ได้ยิน
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีเสียงในป่าได้ยินไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้ยิน
ท่านอาจารย์ แต่มีเสียงได้ ใช่ไหม
ผู้ฟัง มีได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เสียงที่ไม่ได้ยิน ไม่มีใครได้ยิน ไม่ใช่อารมณ์ของจิต แต่เมื่อจิตได้ยินเสียงใด เสียงนั้นเป็นอารมณ์ของจิต หมายความว่าเป็นสิ่งที่ถูกจิตกำลังรู้
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ตอนนี้เข้าใจคำว่าอารมณ์ด้วย เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้ ขณะนี้มีอารมณ์ไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ อะไรเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง ความรู้สึกของเราในตอนนี้
ท่านอาจารย์ รู้สึกอย่างไร
ผู้ฟัง รู้สึกยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ความไม่เข้าใจมีจริงไหม
ผู้ฟัง จริง
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม
ผู้ฟัง นามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นจิตหรือเจตสิก
ผู้ฟัง เจตสิก
ท่านอาจารย์ แปลว่าไม่มีเราแล้ว เดี๋ยวนี้ มีแต่ธรรม คือ จิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง ไม่มีเรา เวลาที่อาจารย์พูดว่าไม่มีเรา หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่มีเรา ก็บอกแล้วว่า เป็นจิต จิตจะเป็นเราได้อย่างไร จิตก็เป็นจิต เป็นธรรม เจตสิกก็เป็นเจตสิก
ผู้ฟัง แต่จิตแต่ละคนไม่ใช่จิตดวงเดียวกัน
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จิตเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนอย่างไรก็ตาม จิตคือเป็นจิต ไม่ใช่เจตสิกด้วย
ผู้ฟัง ใช่ แต่จิตแต่ละคนก็ต่างกัน
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่เป็นประเภทเดียวกันหรือเปล่า อย่างจิตเห็น
ผู้ฟัง ก็เป็นประเภทเดียวกัน แต่
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงจิตเห็น เราไม่มีชื่อพิเศษเลยว่า คุณอมรา หรือคุณอมเรศ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ไม่มี จิตเห็น เห็น นกเห็นไหม นก
ผู้ฟัง เห็น
ท่านอาจารย์ นกเห็นเป็นจิต เอารูปร่างนกออก เอารูปร่างคนออก เปลี่ยนเห็นให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม พูดถึงเห็น สภาพที่เห็นมี เห็นไม่ใช่รูปธรรม
ผู้ฟัง เห็นไม่ใช่รูปธรรม
ท่านอาจารย์ เห็นเป็นนามธรรมเกิดขึ้นเห็น เมื่อพูดถึงเห็น เราจะบอกว่า เป็นแมว เป็นนก เป็นอะไรได้ไหม เฉพาะเห็น ไม่เอารูปร่างเข้ามาเกี่ยว
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ ไม่เอารูปร่างเข้ามาเลย เฉพาะเห็นอย่างเดียว ไม่มีรูปร่างคน ไม่มีรูปร่างแมว ไม่มีรูปร่างนกเลย พูดถึงเฉพาะเห็น ตัวเห็นแท้ๆ เป็นสิ่งที่มีจริง เห็นเป็นคน หรือเป็นสัตว์ หรือว่าเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม คือ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เห็น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เราหมดเลย เวลานี้เป็นธรรมหมดแล้ว เป็นจิตหรือว่าเจตสิกหรือรูป เท่านั้นเอง
ผู้ฟัง ใครที่เห็น
ท่านอาจารย์ เราใส่ชื่อ เพราะเราติดยึดถือว่าเราเห็น แต่ลักษณะเห็น ถ้าเพียงตาบอดก็ไม่เห็นแล้ว เกิดไม่ได้แล้ว จิตชนิดนี้ไม่มีแล้วสำหรับคนนั้น
ผู้ฟัง ถ้าบอกว่าไม่มีเราแล้ว
ท่านอาจารย์ ก็มีจิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง แล้วจิตแต่ละดวงแยกกันอย่างไรว่า อันไหนเป็นจิตของใคร
ท่านอาจารย์ เราพูดถึงจิตเท่านั้น ไม่มีเจ้าของ เพราะว่าเกิดแล้วดับ สิ่งที่เกิดแล้วดับเป็นของใคร แต่เราพูดว่ามีจริง แล้วไม่มีเจ้าของด้วย เพราะมีปัจจัยจึงเกิด เมื่อเกิดแล้วดับ
คำว่าธรรมตรงกับคำว่า ธาตุ หรือ ธา-ตุ เวลาพูดถึงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ลักษณะที่แข็ง หรือลักษณะที่ร้อน เราไม่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา เพราะเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งแต่ละชนิด ถูกต้องไหม แต่เวลาที่ตัวตรงนี้ที่เรายึดถือ แข็ง ทำไมเราไม่ว่าเป็นธาตุ แข็งก็คือแข็ง อยู่ตรงไหนก็คือแข็ง อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงโน้น อยู่ตรงไหน ลักษณะที่แข็งเปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นธรรม ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร ไม่มีเรา
ผู้ฟัง ไม่มีเรา ใช่ แต่มีจิต
ท่านอาจารย์ มีเจตสิก มีรูป แล้วก็จิตหลากหลาย จิตเห็นเกิดขึ้นที่ไหน บนสวรรค์มีไหม จิตเห็น ในน้ำมีไหม จิตเห็น ปลาเห็นหรือเปล่า นกเห็นหรือเปล่าในอากาศ เพราะฉะนั้น เห็นคือเห็นเท่านั้น นี่คือธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริง ซึ่งคนอื่นไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าเป็นธรรม เพราะว่าเห็นก็เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไปตลอด ไม่เคยรู้ความจริงของแต่ละขณะในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ว่าสิ่งที่มีจริงๆ มี จริง แต่ไม่ใช่ของใคร เกิดขึ้นแล้วก็ดับ เป็นธรรมทั้งหมด เราเริ่มเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ
เพราะฉะนั้น ไม่มีเรา มีแต่ธรรม จิตเป็นธรรม เจตสิกเป็นธรรม เมื่อกี้บอกแล้วว่าไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ใคร เมื่อมีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ไม่เป็นของใครเลย บังคับบัญชาไม่ได้ มีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วไม่ดับมีไหม ไม่มี เกิดแล้วต้องดับ แต่ดับเร็วมาก เร็วเกินกว่าที่จะคิด การอบรมเจริญปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งความจริง เมื่อสิ่งนี้เป็นความจริงต้องสามารถรู้ได้ เพราะว่าไม่ใช่รู้ได้เฉพาะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมด้วยพระมหากรุณา เพื่อที่จะให้คนอื่นศึกษา พิจารณาจนเป็นความเข้าใจของตัวเอง จนกระทั่งสามารถอบรมปัญญาถึงระดับขั้นที่ประจักษ์การเกิดดับ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ใช้คำว่า อริยสัจจธรรม ความจริง เมื่อใครรู้แล้วผู้นั้นก็เป็นพระอริยบุคคล คนที่ไม่รู้ก็เป็นปุถุชน
ผู้ฟัง คนที่รู้
ท่านอาจารย์ เป็นพระอริยบุคคลเมื่อสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ที่เราเรียนในหนังสือที่โรงเรียน ทุกขอริยสัจจะ ทุกขสมุทัยอริยสัจจะ ทุกขนิโรธอริยสัจจะ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจะ เราก็เรียนเรื่องชื่อ แต่ตัวจริงมี เป็นธรรม ทรงพระมหากรุณาแสดงโดยละเอียดยิบ จนกว่าเราจะมีความเห็นที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นว่า เป็นธรรมแต่ละอย่าง
ผู้ฟัง จริงๆ คือยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ อันนี้ดีมากเลย เพราะเราเริ่มรู้เมื่อไรว่า เราไม่เข้าใจ คือเราเริ่มจะศึกษาให้เข้าใจถูกขึ้น เพราะเราคงไม่ยินดีกับการที่เราไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่เห็น ก็ไม่เข้าใจ ได้ยินก็ไม่เข้าใจ คิดว่าศึกษาธรรม แต่ว่าถ้าไม่รู้ธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เราก็ศึกษาเพียงเรื่องราว
ผู้ฟัง เท่าที่ท่านอาจารย์พูดมา เข้าใจเกือบทั้งหมด ยกเว้นเวลาท่านใช้ศัพท์
ท่านอาจารย์ แต่เวลานี้ก็เริ่มเข้าใจความหมายของจิต อันนั้นเจตสิก อันนั้น
ผู้ฟัง อันนั้นเข้าใจ ก็ยังไม่เข้าใจถึงต้นกำเนิดของคำถามว่า สมาธิ
ท่านอาจารย์ สมาธิ เป็นเจตสิก เป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เกิดกับจิตทุกขณะ ใครบอกเรา
ผู้ฟัง ไม่มีใครบอก
ท่านอาจารย์ มี
ผู้ฟัง ใครบอกเรา
ท่านอาจารย์ ผู้ตรัสรู้ สามารถที่จะทรงแสดงว่า จิตหนึ่งขณะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร อะไรบ้างด้วย
ผู้ฟัง ก็ยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ ตรงไหน
ผู้ฟัง ตรงสมาธิ คือสมาธิเป็น
ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าแสดงว่า เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ เอกัคคตาเจตสิกเป็นสภาพเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่ง เกิดกับจิตทุกขณะเลย เพราะว่าจิตทุกขณะที่เกิด จิตหนึ่งก็มีอารมณ์หนึ่ง จะมี ๒ อารมณ์ไม่ได้ แล้วถ้าลักษณะของความตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียวนานๆ ก็จะปรากฏความตั้งมั่น ที่เราใช้คำว่า สมาธิ เพราะฉะนั้น สมาธิคือเจตสิก ไม่ใช่เรา ทุกอย่างไม่ใช่เรา สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกชนิด ไม่เว้นเลย สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิกเป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี ถ้าเกิดกับอกุศลจิต ก็ต้องเป็นอกุศลจิต ถ้าเกิดกับจิตที่ดี ถึงจะเป็นกุศลจิต
ผู้ฟัง การนั่งสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือว่าเขานำสิ่งที่ดี แต่ไปเผยแพร่ในแง่ที่ไม่ดี ในแนวที่ไม่ดี ทำให้คนลุ่มหลง อะไร
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาที่จะเข้าใจ ในเมื่อปัญญาเข้าใจถูกต้องว่าลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกเป็นสมาธิก็ได้ เกิดกับจิตที่ดีก็มี เกิดกับจิตที่ไม่ดีก็มี จึงมีสมาธิ ๒ อย่าง คือ มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ ถูกต้องไหม และเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นมิจฉาสมาธิ ขณะไหนเป็นสัมมาสมาธิ คือ ต้องเป็นเรื่องการไตร่ตรองของเรา ตั้งแต่เรื่องธรรม นามธรรม รูปธรรม เรื่องจิต เจตสิก รูป เรื่องอนัตตา ไม่มีเจ้าของ ไม่เป็นของใคร บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ต้องมีสมาธิ ๒ อย่าง คือ สมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง กับสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง แล้วจะรู้ได้อย่างไร ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นมิจฉาสมาธิ ขณะไหนเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญารู้ไม่ได้เลย
ผู้ฟัง การนั่งสมาธิเพื่ออะไร
ท่านอาจารย์ นั่นสิ ใครนั่งต้องถามคนนั่ง ถามคนอื่นไม่ได้ ใครนั่งต้องถามคนนั่ง ว่านั่งเพื่ออะไร
ผู้ฟัง อย่างที่เคยเรียนมา นั่งเพื่อให้เรามีจิตมุ่งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน คือ เวลาทำอะไรจะได้มี Focus
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ ธรรมต้องตรง
ผู้ฟัง ทำไมสิ่งนั้นจะต้องเป็นมิจฉา หรือว่าสัมมา
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าสมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท เกิดกับกุศลก็ได้ เกิดกับอกุศลก็ได้ ถ้าเกิดกับกุศลเป็นสัมมา ถ้าเกิดกับอกุศลเป็นมิจฉา
ผู้ฟัง มีไหมว่า ในบางทีที่เราทำอะไร ไม่จำเป็นจะต้องแยกว่า ดีหรือไม่ดี
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเพราะเราไม่รู้ต่างหาก แต่สภาพธรรมที่ดี ใครจะเปลี่ยนให้เป็นไม่ดีไม่ได้ แล้วสภาพธรรมที่ไม่ดี ใครจะเปลี่ยนให้เป็นสภาพธรรมดีก็ไม่ได้ แต่เพราะเราไม่รู้ เราจึงคิดว่าสิ่งที่ไม่ดีนี่ ดี แต่ถ้ารู้ก็ตรง สิ่งที่ไม่ดีคือไม่ดี สิ่งที่ดีคือดี นั่นคือมีความรู้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ การศึกษาทั้งหมด วิชาทางโลกก็ต้องการให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งที่เรียน ไม่ใช่เข้าใจผิดๆ ทำผิดๆ
ทางธรรม การศึกษาธรรม คือให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง นี่คือประโยชน์สูงสุด ถ้าไม่สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จะศึกษาทำไม เพื่ออะไร ไม่มีประโยชน์ ศึกษาแล้วก็ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ศึกษาไม่ว่าอะไรทั้งหมดเพื่อให้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง แม้แต่ศึกษาธรรมก็ต้องตรงต่อธรรม เมื่อธรรมเป็นอย่างนี้ ศึกษาให้เข้าใจความจริงอย่างนี้ว่า เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เรายึดถือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยความไม่รู้ว่า เป็นของเรา หรือเป็นเรา แต่ความจริงรูป คือรูป ไม่ใช่ของใคร จิตก็เป็นจิต ไม่ใช่ของใคร เจตสิกก็เป็นเจตสิก ไม่ใช่ของใคร
ผู้ฟัง แล้วอย่างนี้คนเราในโลกนี้แบ่งกันด้วยอะไร ว่าใครเป็นใคร
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป จะมีคนไหม
ผู้ฟัง ไม่มีจิต ไม่มีคน แต่ถ้าเจตสิก
ท่านอาจารย์ เจตสิกต้องเกิดกับจิต ที่ไหนมีจิต ที่นั่นต้องมีเจตสิก จิตจะเกิดเดี่ยวๆ ตามลำพังไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดไม่ได้เลย คนที่ไม่รู้ก็คิดว่า เกิดขึ้นมาเอง แต่จากการตรัสรู้ รู้ว่าทุกสิ่งที่เกิด ถึงแม้นามธรรมเป็นสภาพที่ไม่ใช่รูปธรรมเลยด้วยประการทั้งปวง ไม่มีรูปร่าง แต่ก็ทรงตรัสรู้ในสภาพ ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย เป็นเพียงธาตุรู้ ว่ามีอะไรเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตก็เกิดไม่ได้
ผู้ฟัง อะไรที่ทำให้เกิดเจตสิก
ท่านอาจารย์ จิต เจตสิกเกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕
ผู้ฟัง จิตทำให้เกิดเจตสิก
ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยให้เกิด เรียกว่า สหชาตปัจจัย หมายความว่าปราศจากกันไม่ได้ ต้องเกิดพร้อมกัน
ผู้ฟัง แล้ว ๒ สิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะอะไร
ท่านอาจารย์ เป็นสหชาตปัจจัย คือ เกิดพร้อมกัน ชาต แปลว่า เกิด เพราะสิ่งนั้นมีสิ่งนี้จึงมี ถ้าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี โดยอัตถิปัจจัย เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง สภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะหลายปัจจัย
ผู้ฟัง ยกตัวอย่างเจตสิก อีกทีได้ไหม
ท่านอาจารย์ ความขุ่นใจ เอกัคคตา ความตั้งมั่น
ผู้ฟัง แล้วอะไรที่ทำให้เกิดความขุ่นใจ
ท่านอาจารย์ เมื่อไม่ได้สิ่งที่พอใจ ถ้าไม่มีความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็จะไม่มีโทสะ
ผู้ฟัง ถ้าเกิดไม่มีเหตุ ก็จะไม่มีผล แต่ถ้าเราไม่สนใจกับเหตุนั้น ผลก็จะไม่เกิดกับจิตเรา
ท่านอาจารย์ เราพูดถึงเราไม่สนใจ แต่ไม่มีเรา มีจิต มีเจตสิก มีรูป
ผู้ฟัง ถ้าจิตไม่สนใจกับเหตุการณ์ หรืออะไรที่เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ มีใครจะยับยั้งจิตไม่ให้เกิดได้บ้าง เพราะฉะนั้น ต้องมีจิตเสมอ จะไม่ให้จิต เจตสิกเกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิต เจตสิกต้องเกิด เราจะไม่ จะอย่างนั้น จะอย่างนี้ เราจะไม่ อะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ทำอะไรจิตเจตสิกไมได้ ต้องเกิด ตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง ทางที่ดีหรือทางที่ไม่ดี
ท่านอาจารย์ แล้วแต่การสะสม แม้แต่ความคิด ทุกคนในที่นี้ ขณะนี้ คิดไม่เหมือนกันเลย ตามการสะสม จะไปบังคับให้คนอื่นเปลี่ยนแปลง จะบอกให้คิดอย่างเดียวกันก็ไม่ได้ เพราะว่าเราไม่เคยรู้ล่วงหน้าเลยว่า อะไรจะเกิดต่อจากขณะนี้ ขณะนี้เห็น แต่ต่อไปจะได้ยินหรือจะคิดนึก เราก็รู้ไม่ได้ แล้วแม้แต่ความคิดนึก จะคิดนึกเรื่องอะไรก็ยังรู้ไม่ได้อีก อยู่ดีๆ ก็เกิดคิดขึ้นมา เราอาจจะคิดว่า ทำไมเราคิดอย่างนี้ แต่ความจริงทุกขณะที่คิด เราไม่สามารถจะรู้ล่วงหน้าก่อนว่าเราจะคิดอย่างนี้ แต่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้คิดอย่างไรเกิดขึ้นก็คิดอย่างนั้น จนกว่าจะหายสงสัย เพราะธรรมเป็นเรื่องจริง ความจริงต้องสามารถพิสูจน์ได้ พิจารณาไตร่ตรองได้จนถึงที่สุด ความจริงจะไม่เปลี่ยนเลย
ผู้ฟัง อย่างที่บอกว่านั่งสมาธิ ไม่ได้นั่งเพื่อที่จะหวังบรรลุมิติ หรือว่าได้เห็นพลังอะไรแปลกใหม่ คือไม่ได้หวังตรงนั้น
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่อยากนั่งจะนั่งไหม ถ้าไม่อยากแล้วจะนั่งทำไม ถ้าเป็นความจริง เป็นธรรมต้องตอบได้ ทุกอย่างที่เป็นจริงจะมีคำตอบเสมอ มีใครบังคับให้นั่งสมาธิหรือเปล่า มีพ่อแม่บังคับให้นั่งหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี เราทำเอง
ผู้ฟัง ถ้านั่งแล้วทำ เราต้องการที่จะทำ แล้วคือเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือ
ท่านอาจารย์ เรารู้หรือเปล่าว่า ขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่รู้แล้วเราทำ
ผู้ฟัง ถ้ารู้ว่าเรากำลังนั่งสมาธิ แล้วเราทำ แล้วเรานั่งอยู่
ท่านอาจารย์ ด้วยความต้องการ ใช่ไหม ด้วยความพอใจที่จะทำ จึงทำ ก็เป็นปัญญาหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นปัญญาหรือเปล่า พอใจที่จะทำ
ท่านอาจารย์ พอใจที่จะทำ เป็นปัญญาหรือเปล่า ต้องตรง ผู้ที่จะได้สาระจากพระธรรม คือต้องเป็นผู้ที่ตรง ตั้งแต่ต้นจนตลอด เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาแล้วต้องตอบ ตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง กำลังนึกอยู่ว่าเป็นปัญญาหรือเปล่า ปัญญาของอาจารย์ ในความหมายปัญญาของอาจารย์ คือการทำสิ่งที่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่
ผู้ฟัง คือได้คิดก่อนที่จะทำ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่
ผู้ฟัง แล้วปัญญาของอาจารย์หมายความว่าอย่างไร
ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่มีจริงไหม ไม่ใช่ของใครอีกเหมือนกัน ทุกอย่างที่เป็นธรรมไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น แต่หลงยึดถือว่าเป็นของเรา โลภะเกิดก็เป็นเรา ติดข้องต้องการ โทสะเกิดก็เป็นเรา แต่ความจริงเป็นสภาพธรรม ที่ต้องเกิด บังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240