ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
ตอนที่ ๒๒๔
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าสติเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดกับขณะที่เป็นอกุศลเลย ถ้าใครบอกว่า ถือดีๆ อย่าให้หก นั่นคือสติถูกไหม ไม่ เพราะขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต แต่ขณะใดที่เป็นไปในทาน ขณะใดที่เป็นไปในศีล ขณะใดที่เกิดความสงบของจิต หรือว่าการฟังในขณะนี้ ก็ต้องมีสติเกิดขึ้น แต่เราไม่รู้เลย กุศลจิตเกิดขณะนี้มีทั้งหิริ มีทั้งโอตตัปปะ มีทั้งศรัทธา มีทั้งอโลภะ มีทั้งอโทสะ มีกุศลหลายอย่าง ที่ต้องเกิดร่วมกับจิต ทำให้จิตในขณะนี้ ยังมีความสนใจที่จะเข้าใจธรรมต่อไป
จะเห็นได้ว่า ความรู้ขั้นปริยัติทำให้เรารู้ว่า มีขณะที่ต่างกัน คือขณะที่หลงลืมสติที่เป็นสติปัฏฐานกับเวลาที่สติเกิด คือ ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน ถ้ารู้ ๒ อย่างนี้เมื่อไร ก็อบรมเจริญปัญญาขั้นต่อไปได้ แต่ถ้ายังไม่รู้ความต่างกันของ ๒ ขณะนี้ ก็ยังคงเป็นความรู้ขั้นฟังหรือขั้นปริยัติไปก่อน จนกว่าสังขารขันธ์ เมื่อกี้นี้เรามีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ คือ ขณะใดที่ไม่ใช่ความรู้สึกกับความจำ สภาพธรรมที่เป็นเจตสิกอื่นๆ เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด ปัญญาเป็นเราหรือเปล่า ไม่เป็น เป็นรูปขันธ์หรือเปล่า ไม่ใช่ เป็นเวทนาขันธ์หรือเปล่า เป็นสัญญาขันธ์หรือเปล่า เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า ใช่ เป็นวิญญาณขันธ์หรือเปล่า ไม่ใช่ เราตอบได้ ตามความเข้าใจ แต่ว่าตัวจริงๆ คือต้องรู้ว่า ปัญญาก็เป็นสังขารขันธ์ หลงลืมสติ สติไม่เกิด เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า เป็นรูปขันธ์หรือเปล่า ขณะที่หลงลืมสติเป็นรูปขันธ์หรือเปล่า เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ต้องเป็นนามขันธ์หนึ่งนามขันธ์ใดใน ๔ นามขันธ์ เพราะว่านามขันธ์ ๔ เป็นจิต ๑ คือ วิญญาณขันธ์ แล้วก็เป็นเจตสิก ๓ คือ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์
ขณะที่หลงลืมสติ เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า ต้องเป็น เห็นไหม แม้แต่ในการฟังเรายังต้องคิด เรายังต้องพิจารณาว่า นามธรรม คือ จิต เจตสิก มีเจตสิก ๕๒ ขณะที่หลงลืมสติ ก็ต้องเป็นเจตสิกใน ๕๒ ด้วย เพราะว่าเราไม่ได้พูดถึงเวทนา เราไม่ได้พูดถึงสัญญา แต่เราพูดถึงขณะที่หลงลืมสติ ถามว่าเป็นสังขารขันธ์ไหม
ขณะที่หลงลืมสติ เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า เป็น
เวลาที่สติเกิด เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า เป็น
แล้วสติเป็นเวทนาขันธ์หรือเปล่า
สติเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ ต่างกัน คือ เวทนาเจตสิกเป็นกุศลก็ได้เป็นอกุศลก็ได้ แม้แต่โสมนัส เกิดโลภะ ความยินดี ด้วยโสมนัสก็ได้ หรือขณะที่ฟังธรรม แล้วเกิดปีติยินดี ก็เป็นโสมนัสที่เป็นกุศล
ความรู้สึก เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ จึงเป็นเวทนาขันธ์ เวทนา ความรู้สึก เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า
ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ รูปจะเป็นนามธรรมไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ตัดรูปออกไป และจิตทุกประเภท ทุกขณะเป็นวิญญาณขันธ์ ๒ ขันธ์หมดไปแล้วก็เหลือ ๓ ขันธ์ คือเวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ ทั้ง ๓ ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต ต้องเป็นเจตสิก
เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท เวทนาเจตสิกเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นสภาพความรู้สึก ซึ่งมีความสำคัญมาก ทุกคนต้องการสุขเวทนา ปรารถนาสุขเวทนา แสวงหาทุกอย่างเพื่อสุขเวทนาเท่านั้นเอง เพื่อสภาพธรรมชนิดนี้จะได้รู้สึกมีความโสมนัส มีความยินดีที่ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้ทุกอย่างที่ต้องการเพื่อเวทนาเจตสิก เท่านั้นเอง เริ่มเห็นไหมว่า เวทนามีความสำคัญมาก เพราะทุกคนอยู่ในโลกไม่ต้องการความรู้สึกที่เป็นทุกข์หรือโทมนัสเลย ไม่ชอบเวทนานี้ แต่ชอบโสมนัสเวทนา หรือสุขเวทนา เพราะฉะนั้น เวทนาที่มีความสำคัญยิ่งจึงเป็นขันธ์ ๑ แยกจากเจตสิก ๕๒ มาเป็น ๑ ขันธ์ คือเวทนาขันธ์ เพราะความสำคัญ ความสุขของเราอาศัยอะไรเกิดขึ้น เรามีความสุขในอะไร ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ความต้องการของเราทุกวันไม่พ้นจากรูป ตื่นขึ้นมารูปทางตาต้องดี จะหวีผม ทาแป้ง จะทำอะไรก็แล้วแต่ ติดข้องในรูป ทำให้เกิดเวทนาที่พอใจ เป็นสุข
เราออกจากโลกของความติดข้องในรูปไม่ได้ แม้ว่าเราจะทำกุศลอย่างไรๆ ก็ตาม ผลกุศลที่เกิดก็จะต้องทำให้เกิดในสวรรค์ หรือในสุคติภูมิที่ประกอบไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ออกจากความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้ ให้รู้ตามความเป็นจริงก่อน ไม่ใช่ให้เราไปดับอะไรเลย เพราะเหตุว่าต้องมีความรู้ที่ถูกต้องก่อน แล้วความรู้นั่นเองจะทำหน้าที่ของความรู้ คือ ค่อยๆ คลาย แต่ไม่ใช่ดับหมด เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงปัญญาที่สามารถที่จะดับกิเลส เพราะเหตุว่าปัญญาที่จะดับกิเลสให้ไม่เกิดอีกได้เลย ต้องเป็นระดับของโลกุตตรปัญญา แต่ว่ามีการสะสมจากโลกียปัญญาจนกว่าจะถึงโลกุตตรปัญญา ก็เป็นเรื่องที่มาจากความเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมโดยนัยต่างๆ
เวทนาขันธ์ หรือเวทนาเจตสิก หรือความรู้สึก เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า มีเจตสิก ๕๒ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ ที่เหลือเจตสิกอีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น เวทนาเป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า ไม่เป็น
สัญญา เจตสิกที่จำ จำทุกอย่าง ในขณะนี้เห็นอะไรก็รู้ว่าเป็นอะไร นั่นคือสัญญาเจตสิก สัญญาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์หรือเปล่า ไม่เป็น เป็นรูปขันธ์หรือเปล่า ไม่เป็น เป็นวิญญาณขันธ์หรือเปล่า ไม่เป็น เป็นสังขารขันธ์หรือเปล่า ไม่เป็น
นี่เป็นความรู้ความเข้าใจที่อยู่ที่ตัวทั้งหมด เจตสิกที่เหลือทั้งหมด ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นปัญญามีจริงๆ ปัญญาเป็นเวทนาขันธ์หรือเปล่า ไม่เป็น ปัญญาเป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ ก็ไม่ยากเลย ในขั้นของปริยัติที่ทรงแสดง ทรงแสดงขันธ์ ๕ ตามการยึดถือว่า เรายึดถือรูปมากมายมหาศาล ไม่สามารถที่จะออกไปจากรูปได้เลย ผู้ที่เห็นโทษของรูป จะอบรมเจริญความสงบจนกว่าจะถึงการที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ แต่ก็ยากมาก เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษจริงๆ เป็นเรื่องของจิตที่สงบ ที่เป็นกุศล ที่ไม่มีความติดข้อง แต่ว่าถ้าเราไม่เข้าใจจริงๆ เราก็เพียงไปทำสมาธิชั่วคราว แล้วคิดว่า ขณะที่ทำสมาธิ จิตสงบ แต่ไม่ใช่หนทางที่จะละความติดข้อง เพราะเหตุว่าไม่มีความรู้ในเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
มีอะไรอีกที่เป็นสังขารขันธ์ ลองยกตัวอย่าง เจตสิก ๕๐ จำกัดตายตัว ต้องเป็นปรมัตถธรรม เวลาที่เราเข้าใจธรรมขึ้น คำพูดของเราจะเปลี่ยนไป ตรงต่อความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้น ตอนนี้ไม่ต้องไปใส่เลย แต่ว่าเวทนา ความรู้สึก เป็นเวทนาขันธ์
ผู้ฟัง เป็น ๑ เป็นเวทนาขันธ์ เวทนาขันธ์แปลว่ามี ๑ เจตสิก อยู่นั่น
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ทีนี้ก่อนอื่นต้องเข้าใจความหมายของขันธ์ด้วย ขันธ์ก็คือสภาพธรรมที่เกิดดับ รูปเกิดดับ เจตสิกเกิดดับ จิตเกิดดับ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดพวกนี้ ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕
ผู้ฟัง เวทนาขันธ์ มี โทสะ โมหะ และมีความโลภ ความหลง อยู่รวมกันใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย
ผู้ฟัง ไม่รวมหรือ
ท่านอาจารย์ เฉพาะเวทนาอย่างเดียวเป็นเวทนาขันธ์ เวทนาเป็นความรู้สึก มี ๕ อย่าง ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ทางกาย แล้วก็อุเบกขา หรืออทุกขมสุข เวทนาที่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้ก็คืออุเบกขาเวทนา เวลาสุขเกิดขึ้น รู้ไหม รู้ เวลาทุกข์เกิดขึ้นรู้ไหม เวลาโสมนัสเกิดขึ้นก็รู้ โทมนัสเกิดขึ้นก็รู้ แต่ถ้าไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่โสมนัส ไม่ใช่โทมนัส ขณะที่เห็นเป็นเวทนาอะไร อุเบกขา ก็ไม่รู้ หาไม่เจอ อยู่ที่ไหน แต่มี ลักษณะที่ไม่ปรากฏว่า สุขหรือทุกข์ เป็นสภาพของความรู้สึกชนิดหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ขอตัวอย่างสังขารขันธ์ เมื่อกี้นี้พูดแล้วว่ามีอะไรบ้างที่เป็นสังขารขันธ์
ผู้ฟัง สังขารขันธ์ คือ ความสุข ความทุกข์ ความปรุงแต่ง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สุขทุกข์เอาออกไป เพราะว่าความรู้สึก ถ้าเป็นความรู้สึกต้องเป็นเวทนาขันธ์ นอกจากเวทนากับสัญญาเจตสิก ที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด
วิริยะมีจริงไหม ความพากเพียร ความขยัน เป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นเจตสิก และเป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ เราก็สามารถที่จะเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อยว่า ไม่ใช่เรา ทั้งหมดที่พูดเรื่องปรมัตถธรรม คือว่าไม่ใช่เรา พูดเรื่องขันธ์ก็คือไม่ใช่เรา ทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา เป็นขันธ์ต่างๆ
ทีนี้พอมีอะไรเกิดขึ้น ระลึกได้ไหม ถึงแม้ว่าจะไม่อยู่ในห้องนี้ พอนึกถึงขันธ์ที่เราเรียนมา ๕ ขันธ์ พอจะนึกได้ไหมว่านี่เป็นขันธ์อะไร แม้โดยชื่อก่อน แล้วต่อไปถึงจะค่อยๆ สามารถรู้ลักษณะนั้นได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงโดยชื่อ
เวลาโกรธ เป็นขันธ์หรือเปล่า มีจริง เป็นปรมัตถธรรมอะไร เจตสิก เป็นขันธ์อะไร สังขารขันธ์ เท่านี้ ปรมัตถธรรม ๔ กับขันธ์ ๕ จะได้มีความมั่นคงขึ้นว่า ไม่ใช่เรา ขันธ์เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น นิพพานเป็นขันธ์หรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่ อาจารย์กรุณาอธิบายเกี่ยวกับพรหมวิหาร ๔ ฟังดูเหมือนจะเหมือนๆ กันอยู่นะ
ท่านอาจารย์ เมตตา มีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ถ้ามีจริงแล้ว ต้องเป็นธรรม
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เมตตาเป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง เมตตาเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ เวลาที่เราจะพูดเรื่องอะไร ย้อนกลับมาเพื่อเราจะได้ไม่ลืม ไม่อย่างนั้นพอเราไปพูดเรื่องเมตตา เราก็ลืมเรื่องของปรมัตถธรรม เรื่องของขันธ์ แต่เราจะต้องตั้งต้นด้วยการรู้ว่า เป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะได้ยินธรรมอะไร ปรมัตถธรรมอะไร อันนี้สำคัญมาก แล้วก็ให้รู้ว่าขันธ์อะไรก็เป็นการเพิ่มเติมให้เราเข้าใจความต่างของปรมัตถธรรม ๓ ว่าจำแนกเป็นขันธ์ ๔ ขันธ์ สำหรับเจตสิกกับจิต เป็นนามขันธ์ ๔ รูปขันธ์แยกไปต่างหาก เป็นการทบทวนของเราเอง เพราะฉะนั้น ในที่นี้ขอทบทวนว่าเมื่อเมตตา มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นเจตสิก
ท่านอาจารย์ เป็นขันธ์อะไรอีก
ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่สัญญา แล้วต้องเป็นสังขารขันธ์ทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น เมตตาเป็นเจตสิกแล้วก็เป็นสังขารขันธ์ กรุณา
ผู้ฟัง กรุณา เป็นสังขารขันธ์เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ เมตตา กรุณา มุทิตา
ผู้ฟัง มุทิตา เป็นสังขารขันธ์เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ อุเบกขา ชื่ออุเบกขาเหมือนกับอุเบกขาเวทนา
ผู้ฟัง เหมือนกันใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เลยไม่แน่ว่า อุเบกขาจะเป็นขันธ์อะไร แต่อุเบกขามีถึง ๑๐ อย่าง การศึกษาธรรมไม่ใช่เราไปรู้ชื่อทั้ง ๑๐ แล้วก็พยายามจำ แต่อะไรที่เราเข้าใจได้ วันนี้เข้าใจอะไรได้ เอาที่เข้าใจ ไม่ต้องครบ ๑๐ ก็ได้ แล้วต่อไปพอรู้อีก ก็เพิ่มขึ้นมาอีก เป็น ๑ เป็น ๒ เป็น ๓ จนกว่าจะครบ ๑๐ สะสมไป เพราะฉะนั้น “อุเบกขา” เป็นคำที่ใช้หมายความถึงเวทนาเจตสิกก็ได้ ความรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าจะให้ตรงให้ชัด จะใช้คำว่า “อทุกขมสุขเวทนา” หมายความว่าไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นอุเบกขาเวทนา ถ้าใช้คำว่าอุเบกขา ต้องใช้เวทนาด้วย จะได้หมายความว่า เป็นความรู้สึก เพราะว่าถ้าใช้คำว่าอุเบกขาคำเดียว หมายความถึงธรรมอื่นด้วย ถ้าพูดถึงอุเบกขาเวทนา เป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นเวทนาขันธ์
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพูดถึงอุเบกขาในพรหมวิหาร หรือว่าอุเบกขาที่เป็นพรหมวิหาร ไม่ใช่อุเบกขาเวทนา แต่เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ตัตรมัชฌัตตตา สภาพธรรมที่เป็นกลาง เป็นสภาพธรรมที่ทำให้จิตตกไปในทางฝ่ายอกุศล ด้วยโลภะ หรือด้วยโทสะ เพราะฉะนั้น เป็นสภาพเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตทั้งหมด ตัตรมัชฌัตตตา เป็นขันธ์อะไร ไม่ใช่อุเบกขาเวทนา แต่อุเบกขาในพรหมวิหาร ไม่ได้หมายความถึงเวทนา ความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหว
ผู้ฟัง อกุศลนี้แปลว่าตัตรมัชฌัตตตาไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ไม่เกิด ไม่เกิดแน่ เวลาที่เราพูดถึงอะไร เราต้องรู้จักคำนั้นโดยความหมาย และโดยสภาพธรรมด้วย จะได้ไม่ปะปนกัน ไม่อย่างนั้นเราก็จะปะปน เมตตากับอุเบกขา แต่เมื่อพรหมวิหารมี ๔ ก็ต้อง ๔ คือ เมตตาไม่ใช่กรุณา ไม่ใช่มุทิตา ไม่ใช่อุเบกขา มุทิตาก็ไม่ใช่เมตตา ไม่ใช่กรุณา ไม่ใช่อุเบกขา อุเบกขาก็ต้องไม่ใช่เมตตา กรุณา มุทิตาด้วย เพราะฉะนั้น ต้องทราบเป็นปรมัตถอะไรก่อน ก็เป็นเจตสิก เป็นขันธ์อะไร ก็รู้ว่า ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ใครจะบอกว่า ตัตรมัชฌัตตตาเป็นเวทนาขันธ์ไม่ได้ ต้องเป็นสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าตัตรมัชฌัตตตาไม่ใช่เวทนาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เป็นกลาง ไม่เป็นไปด้วยฉันทาคติ โมหาคติ ไม่เป็นไปในโลภะ ในโทสะซึ่งเป็นอกุศล เป็นกลาง เพราะฉะนั้น เวลาที่เมตตาเกิดขึ้น จะต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ทั้ง ๑๙ ต่อไปจะทราบว่ามีอะไรบ้าง อโลภะก็ต้องมี อโทสะก็ต้องมี ศรัทธาก็ต้องมี สติก็ต้องมี หิริก็ต้องมี โอตตัปปะก็ต้องมี ขณะที่กำลังฟังธรรม มีหิริไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ไปจนกว่าจะถึงเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
หิริ สภาพของหิริ จริงๆ แล้วละอายสิ่งที่ไม่ดี หมายความว่า รังเกียจ ละอายในที่นี้ จะใช้คำอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่เข้าใกล้ เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้น ไกลจากอกุศล เพราะหิริ รังเกียจ ละอายที่จะเป็นอกุศล ขณะที่กำลังฟังธรรม มีหิริ แต่ไม่ใช่เรา ถ้าเป็นเราละอาย เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าถ้าสภาพธรรมที่เป็นหิริ เขาต้องเกิดทุกครั้งที่โสภณจิตหรือจิตฝ่ายดีเกิด โดยที่ว่าศรัทธาก็ต้องมี หิริก็ต้องมี โอตตัปปะก็ต้องมี นี่ชื่อทั้งหมด แต่ใครสามารถจะรู้ลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใช่ไหม ก็ต้องเป็นไม่ใช่ระดับขั้นของการฟัง เพราะว่าระดับขั้นของการฟัง แม้แต่จักขุวิญญาณ จิตเห็นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ชนิด แล้วเราจะไปรู้ชนิดไหน แม้แต่ขณะที่กำลังเห็น ลักษณะของเห็นเป็นนามธรรมก็ยังไม่รู้ ทั้งๆ เห็นมีให้รู้ เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เกิดกับจิตเห็น จะไปรู้ได้ไหม ถึงผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก อะไรก็ตามที่เกิดกับจิตเห็น สำหรับทางฝ่ายจิตที่ดี เป็นโสภณ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ และต้องมีตัตรมัชฌัตตตาเกิดร่วมด้วยทุกขณะ
เพราะฉะนั้น ในขณะที่เมตตาเกิดก็จะต้องมีตัตรมัชฌัตตตาด้วย ไม่หวั่นไหว เป็นกลางไม่ลำเอียงด้วยโลภะ โทสะ ถ้าเราให้ของที่ดีกับลูกหลานหรือคนที่เรารัก เป็นเมตตาหรือเปล่า ต้องทราบความต่างของเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาก่อน
เมตตา คือ ความเป็นมิตร พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกับสัตว์บุคคลเสมอกัน ถ้าไม่เสมอ เป็นเมตตาหรือเปล่า หรือว่าเป็นโลภะ
ผู้ฟัง โลภะ
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ละเอียด ถ้ามีผู้ที่ถวายสิ่งที่ดีประณีตกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นโลภะหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่เป็นโลภะ
ท่านอาจารย์ เป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นเมตตานี้แหละ
ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณา ไม่ใช่กรุณาแต่เฉพาะคนที่ลำบาก ตกทุกข์ได้ยาก แต่ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตามที่ไม่มีปัญญาความเห็นถูก ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ต้องเกิดแล้วเกิดอีก เกิดแล้วเกิดอีก เราเกิดมานานเท่าไร แล้วถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ต้องเกิดต่อไปอีกเท่านั้น ฟังดูเหมือนเราอยู่มาได้อย่างไร แสนโกฏิกัปป์ ทีละหนึ่งขณะ ทีละหนึ่งขณะ ทีละหนึ่งขณะ ชาติหนึ่งหมดไป พอจุติจิต สิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น ก็เกิดต่ออีก
เห็นชาติก่อนกับเห็นชาตินี้ก็ใกล้กันมาก สำหรับภพภูมิที่สามารถที่จะเห็นได้ทันทีเกิด หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วก็ภวังคจิต เป็นไปในบางภูมิไม่ต้องอยู่ในครรภ์ ก็สามารถที่จะมีจิตเห็นเกิดได้ตามสมควร ก็นับว่าไม่ห่างกันไกลกับชาติก่อน ชาติก่อนก็อย่างนี้ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ได้อาหารอร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง มีเพื่อนดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เหมือนอย่างนี้ทุกอย่าง เราก็ผ่านมาแต่ละภพแต่ละชาติ แล้วก็ถ้าไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อยู่ต่อไปอีก ใครนับชาติได้ว่า จะอยู่อีกนานหรือไม่นาน แต่อย่างไรก็ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีทางออกจากสังสารวัฏฏ์ แล้วเราอยู่แบบทีละหนึ่งขณะ ไม่รู้ตัวเลยอยู่ไปเรื่อยๆ ทีละหนึ่งขณะ หนึ่งขณะ เหมือนแสนโกฏิกัปป์ ฟังดูนานมาก แต่ก็มาสู่ขณะนี้ ทีละหนึ่งขณะ ทีละหนึ่งขณะ เกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ แล้วการสะสมก็ทำให้มีอุปนิสัยต่างกัน
ถ้าพูดถึงเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ต้องเป็นวิหารของพรหม เครื่องอยู่ของพรหม พรหมคือใคร คือผู้ประเสริฐ เวลามีเมตตาเกิดขึ้น ต้องรู้ว่า ขณะนั้นมีความเป็นมิตรอย่างจริงใจ เพราะเหตุว่ามิตรจะไม่แม้แต่แข่งดีกับผู้ที่เราเป็นมิตรด้วย ถ้ามีการแข่งดีเกิดขึ้น เป็นมิตรหรือเปล่า ไม่เป็น
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เมตตาคือความเป็นมิตร พร้อมที่จะเกื้อกูลด้วยความจริงใจ กรุณาก็คือการที่เห็นบุคคลอื่นอยู่ในสภาพที่ควรจะสงเคราะห์ ช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความทุกข์ ก็มีความเห็นใจ มีความเข้าใจ แล้วก็ช่วย โดยที่ไม่เกิดทุกข์หรือโทมนัส เพราะว่าโดยมากพอเราเห็นคนตกอยู่ในสภาพที่น่าสงสาร เขาปวดเจ็บมาก บางคนก็จิตใจไม่แช่มชื่น เศร้าหมอง แต่ขณะที่จิตใจไม่แช่มชื่น เศร้าหมอง ขณะนั้นไม่ใช่กรุณา แต่เป็นโทมนัส เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เราที่เข้าใจธรรมพ้นจากอกุศลได้โดยการสะสม และรู้ว่าจริงๆ แล้ว ใจของเราที่จะเป็นกรุณา ขณะนั้นต้องไม่เศร้าหมอง แต่เวลาที่เศร้าหมองเกิดขึ้นก็รู้ว่า ศัตรูใกล้ของกรุณา คือโทมนัส แทนที่จะเป็นกุศลก็เป็นอกุศล แต่ไม่ห่างกันเลย ใกล้ชิดกันมาก นี่คือกรุณา มุทิตาคือยินดีเมื่อบุคคลอื่นมีความสุข อุเบกขาเป็นผู้ที่เป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์อย่างไร ทุกคนเกิดมาก็เป็นไปตามกรรม
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240