ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225


    ตอนที่ ๒๒๕

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ อุเบกขาเป็นผู้ที่เป็นกลางไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์อย่างไร ทุกคนเกิดมาก็เป็นไปตามกรรม มีเรื่องที่จะทำให้เราหวั่นไหวมากมาย แต่ถ้าเราสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกว่า เป็นธรรม ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับใคร กับบุคคลใกล้ชิดหรือว่าคนห่างไกลก็ตามแต่ สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำมา ถ้าไม่ใช่กรรมที่ได้กระทำแล้ว ผลก็จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับใคร ทางฝ่ายที่เป็นทุกข์ เราก็รู้ว่าเป็นผลของกรรมที่ได้ทำมา เตือนให้ระลึกถึงกรรมทันที จะไม่หวั่นไหว แต่ถ้าไม่ระลึกถึงกรรม เราก็หวั่นไหว ถ้าได้ลาภ ได้ยศ ก็เตือนให้ระลึกถึงกรรมอีก ต้องเป็นผลของกุศลกรรมที่ได้ทำมา ไม่มีใครสามารถที่จะทำอะไรได้ นอกจากเป็นกรรมของแต่ละบุคคลที่ได้ทำแล้ว กรรมนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีจริงไหม เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า ถ้ามีจริง

    ผู้ฟัง เป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นปรมัตถธรรมอะไร ทั้งหมดที่มีจริงในชีวิตเป็นปรมัตถธรรม ถ้าจะศึกษาธรรมคือไตร่ตรอง คิด จนกระทั่งรู้ว่าเป็นธรรมอะไร มีแค่ ๔ ปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานไม่ใช่แน่ จะเหลือ ๓ รูปไม่ใช่ รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น กรรมต้องไม่ใช่สภาพรู้แน่นอน มี ๒ อย่าง จิต หรือ เจตสิก

    ผู้ฟัง สมมติว่าเราไปได้ยินว่า คนนั้นเขามีทุกข์หรือสิ้นชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่ ให้เรานึกได้ว่าเป็นกรรมของคนนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมนี้ไม่ใช่ให้นึกหรือบังคับ หรืออะไร แต่ว่าปัจจัยจากการฟังจนกระทั่งถึงขณะนั้นไม่เศร้าหมองได้

    ผู้ฟัง ตอนที่เรารู้สึกโทมนัส เศร้าหมอง ที่เขาทุกข์ มันก็เป็นผลของกรรมของเราที่เราทำไว้ เราถึงได้รู้สึกโทมนัส

    ท่านอาจารย์ ต่อไปเราจะเรียนละเอียดว่า วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมมีอะไรบ้าง แล้วเราจะไม่สับสน วิบากนี้คือขณะเห็น จักขุวิญญาณเป็นวิบาก โสตวิญญาณ จิตได้ยินเป็นวิบาก ฆานวิญญาณ จิตได้กลิ่นเป็นวิบาก ชิวหาวิญญาณจิตที่ลิ้มรส เป็นวิบาก กายวิญญาณจิตที่รู้ สิ่งที่กระทบกายเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เป็นวิบาก เป็นวิบากในชีวิตประจำวันที่เราสามารถรู้ได้ แต่ยังมีวิบากอื่นซึ่งไม่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ซึ่งเกิดหลังจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ พวกนี้ดับไป ก็คงจะทราบว่าเป็นสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ซึ่งเมื่อไม่ปรากฏ ในพระสูตรไม่ได้กล่าวถึง แต่ว่าจะกล่าวถึงในพระอภิธรรมซึ่งแสดงความละเอียด อภิ แปลว่า ละเอียดยิ่ง ให้เห็นว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละประเภท แต่ละขณะอย่างไร เพราะฉะนั้น เท่าที่เราสามารถจะรู้ได้ คือกำลังเห็นเป็นผลของกรรม เป็นจิตที่เป็นวิบาก วิบาก แปลว่า ผล ปากะ แปลว่าสุกงอม การกระทำของเราที่เป็นกรรมในอดีตมีมาก แต่แล้วแต่ว่ากรรมไหนสุกงอมพร้อมจะให้ผล เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น วันนี้วิบากจิตทั้งนั้นเลย ไม่มีใครพ้นจากวิบากจิตได้ แต่หลังจากที่วิบากดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อเป็นกุศลหรืออกุศลซึ่งไม่ใช่วิบาก ขณะที่โทมนัสจะบอกว่าวิบากไม่ได้ ขณะที่เสียใจ ดีใจ ได้ลาภ ได้ยศจะบอกว่าเป็นวิบากไม่ได้ แต่ขณะเห็นเป็นวิบาก ขณะได้ยินเป็นวิบาก ก็ง่ายมากเลย

    ผู้ฟัง ตอนที่เราทราบเรื่องทุกข์ของคนอื่นแล้ว เราจะกรุณาเขา ถ้าเราจะรู้สึกโทมนัสขึ้นมา ก็ไม่ใช่เป็นผลจากกรรมของเรา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ผลจากการสะสมกิเลส กิเลสยังมีอยู่ จึงได้เกิดโทมนัส เพราะพระอรหันต์ท่านเห็นท่านก็ไม่โทมนัส เพราะเหตุว่าท่านดับกิเลสหมด

    ผู้ฟัง คนเรามันไม่สามารถแยกกาย และจิตออกจากกันได้ ถ้าถึงคราวเจ็บป่วยขึ้นมา เจ็บแรงๆ ขึ้นมา มีอาการทุรนทุราย แล้วก็ร้องครวญคราง หมายความว่ายังยึด ยังถือ ยังปลง ยังวางไม่ได้ จะทำอย่างไรจะหาปมวางได้ ประพฤติปฏิบัติอย่างไร เอาข้อธรรมบทไหน หรือว่าจะทำวิธีใดจะปลงวางได้ ผมอยากถามท่านอาจารย์ ขออาจารย์จงอธิบายเพื่อผม และเพื่อเพื่อนๆ สหายธรรมทุกท่าน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครชอบความเจ็บปวด ใช่ไหม แต่ก็พ้นจากความเจ็บปวดไม่ได้ อันนี้เป็นของที่แน่นอน แล้วก็ใครล่ะ เวลาที่เจ็บปวดแล้วจะไม่ทุรนทุราย ความรู้สึกไม่สบายใจ จะแสดงออกหลายอย่าง บางคนก็อาจจะไม่แสดงเลยก็ได้ แต่ถ้าเจ็บปวดมาก คนที่อาจจะมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็มี เพราะว่าบางคนไปฉีดยา หรือไปทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเจ็บปวดมาก บางคนทนไม่ได้เลย ต้องร้องโอ๊ย แต่บางคนก็ไม่อะไรผิดปกติ หรือจะมี ก็เพียงเล็กน้อยก็ได้ หรือว่าถ้าความเจ็บปวดมันมีมากขึ้น ก็แล้วแต่การสะสมของอัธยาศัยของแต่ละบุคคลว่า จะมีปฏิกิริยาการแสดงออกอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้ว คนที่จะไม่เป็นทุกข์ต้องเป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบาง ถึงขั้นพระอนาคามี ผู้ที่เป็นพระโสดาบันก็ยังมีการร้องไห้ อย่างวิสาขานิคามารดา หลานตาย โศกเศร้า ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า มีผมเปียก คงร้องไห้มากมาย แล้วไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคที่พระวิหารเชตวัน ทรงแสดงว่า มาด้วยอาการที่ผิดปกติอย่างนี้เพราะมีอะไรเกิดขึ้น ก็พูดถึงเรื่องของหลานตาย ท่านเป็นพระโสดาบัน ความโศกเศร้าของท่านผิดปกติ แล้วก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ผิดปกติที่นี่ไม่ได้หมายความถึงผิดปกติอย่างมากมาย เพียงแต่ว่า ไม่เหมือนทุกวันที่ไม่มีความโศกเศร้าอย่างนี้

    ความโศกเศร้าเป็นเรื่องธรรมดา ต้องมี แต่ว่าถ้าเราจะไม่ต้องการมีความรู้สึกโศกเศร้าอย่างนี้ หรือว่าอาการเจ็บปวดทรมานที่ถึงกับร้องอย่างนี้ ก็ต้องรู้ว่า ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ก็ต่อเมื่อหมดกิเลสถึงระดับขั้นที่จะไม่มีโทสะ ไม่มีความรู้สึกโทมนัส ไม่มีความเสียใจ ไม่ต้องร้องไห้อีกต่อไป ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามความเป็นจริง เราต้องการผล แต่เหตุเรากระทำถึงอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าเราไม่ต้องการที่จะมีความเจ็บปวดทุรนทุรายถึงอย่างนั้นเพียงนั้น ที่จะต้องให้เกิดโทมนัส เราก็ต้องอบรมเจริญเหตุที่จะให้กิเลสหมดถึงระดับนั้น

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประชวรคือไม่สบายหรือเปล่า หรือตลอดพระชนชีพแข็งแรงดี ไม่มีการป่วยไข้เลย หรือว่าทรงมีโรคภัยด้วย มีการป่วยไข้ด้วย มี ทำไมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วยังมี ไม่มีข้อยกเว้นเลย เพราะฉะนั้น เราต้องมีแน่นอน ไม่ทราบกลัวตายหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่กลัว แต่ก็เป็นบางครั้ง ไม่ใช่ไปตลอด บางครั้งผมก็ยังกลัว บางครั้งผมก็ไม่กลัว

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กลัว ไม่ตาย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ตายเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กลัว ยังเป็นอยู่ บางครั้งก็กลัว บางครั้งก็ไม่กลัว บางครั้งที่กลัวก็ยังไม่ได้ตาย

    ผู้ฟัง ยังไม่ได้ตาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะตายตอนที่กำลังกลัว ได้ไหม หรือจะตายตอนที่ไม่กลัว ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่รู้จึงไม่กลัว เพราะเหตุว่าจะตายเมื่อไรก็ได้ เพราะว่ากำลังกลัว ตายก็ได้ กำลังเจ็บ ตายก็ได้ กำลังกลัวไม่ตายก็ได้ กำลังเจ็บไม่ตายก็ได้ ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่มีใครรู้เลย เพราะฉะนั้น กลัวทำไมในเมื่อไม่รู้ตัว เกิด ขณะเกิดก็ไม่รู้ตัว ขณะที่นอนหลับสนิท ก็ไม่รู้ตัว นอนหลับสนิทแล้วตายได้ไหม ได้ จะกลัวไหม ตอนนั้น เพราะว่าหลับสนิท ตอนเกิดไม่รู้ตัว ตอนหลับสนิทไม่รู้ตัว ขณะตายจริงๆ หนึ่งขณะ ไม่รู้ตัวด้วย เพราะว่าความปวดเจ็บก็เคยปวดเจ็บ แต่ไม่ตาย เพราะฉะนั้น ก่อนจะตาย ถ้าปวดเจ็บก็กำลังปวดเจ็บ แล้วก็มีจุติจิต คือ ขณะสุดท้ายเกิดแล้วก็ดับไป สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เพราะจิตนั้นทำกิจพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่า ตอนไหน กำลังเห็นขณะนี้ ตายก็ได้ กำลังได้ยินขณะนี้ ตายก็ได้ กำลังคิดเป็นสุข ตายก็ได้ กำลังตกใจตายก็ได้ ล้วนแต่ว่าทั้งหมด ขณะที่กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่ใช่ขณะตาย ขณะตายเป็นจิตหนึ่งขณะ เช่นเดียวกับขณะเกิดเป็นจิตหนึ่งขณะ ขณะเท่ากันมีอายุคือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จิตทุกขณะจะมีอายุเพียงเท่านั้น ขณะปฏิสนธิสั้นแสนสั้น นิดเดียว เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีรูปร่างสัณฐานลักษณะใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุรู้ สภาพรู้ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้จิตเกิดขึ้นทำกิจการงานตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่เคยหยุด แล้วแต่ว่าจิตนั้นทำกิจอะไร ถ้าเป็นจิตแรกที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนก็ ชื่อว่า ปฏิสันธิจิต ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า ปฏิสนธิ หมายความว่า สืบต่อจากชาติก่อน ขณะนั้นไม่รู้ตัว

    กำลังนอนหลับสนิท รู้ตัวไหม ไม่รู้ ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรมหนึ่ง เมื่อดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ทำให้จิตเกิดดับสืบต่อ ยังไม่ให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ในขณะที่เหมือนหลับสนิท เพราะว่าไม่รู้จักโลกนี้เลย ไม่รู้ว่าโลกที่ได้เกิดมามีลักษณะเป็นอย่างไร เพราะขณะนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น

    โลกนี้ไม่ปรากฏ การที่โลกนี้จะปรากฏได้ ต้องไม่ใช่ขณะที่เป็นภวังค์ ต้องเป็นในขณะที่กำลังเห็นซึ่งไม่ใช่ภวังค์ กำลังได้ยินไม่ใช่ภวังค์ ขณะนี้โลกปรากฏ แต่คืนนี้ หรือขณะนี้บางคนที่อิ่มมากอาจจะเป็นภวังค์ก็ได้ เป็นภวังค์ขณะใด รูปหรือสิ่งใดๆ ไม่ปรากฏขณะนั้นเลย ชื่ออะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เป็นใครก็ไม่รู้ทั้งหมด มีสมบัติเท่าไรก็ไม่รู้ มีเพื่อนสนิทอย่างไร บุตรภรรยาไม่รู้หมด ในขณะที่หลับสนิท ฉันใด ไม่รู้ ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้น แล้วก็เหมือนกับภวังค์ฉันนั้น แต่ว่าทำกิจต่างกัน คือ ภวังคจิต ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ให้สิ้นชีวิต จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย ไม่ได้ทำกิจภวังค์อีกต่อไป แต่เป็นจิตชนิดเดียวกัน เช่นเดียวกับปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตเป็นจิตประเภทไหน ภวังค์เป็นจิตประเภทนั้น จุติจิตก็เกิดขึ้นเป็นขณะสุดท้ายของชาตินั้น เป็นบุคคลนั้นชั่วขณะที่จุติจิตยังไม่ดับ พอจุติจิตดับก็สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง ขณะนั้นไม่รู้ ไม่ต้องกลัว เมื่อไรก็ได้ เพราะไม่รู้จริงๆ ตอนที่จุติ ไม่รู้จริงๆ ไม่ต้องกลัว ขณะเจ็บเป็นเจ็บ ยังไม่จุติ ก็ได้ แต่ตอนใกล้จะตาย เจ็บก็คือเจ็บ กำลังเจ็บ กำลังเป็นห่วง แต่ก็ไม่ใช่จุติ เพราะว่าจุติจะเกิดหลังจากนั้น ซึ่งขณะนั้นไม่รู้สึกตัว

    ก็เป็นปกติธรรมดา ก็ไม่ต้องกลัว เกิดมาแล้ว แล้วก็ตายไปแล้ว ก็เกิดมาใหม่ แล้วก็ตายไปอีก โดยที่ขณะเกิดไม่รู้ ขณะเป็นภวังค์ไม่รู้ ขณะเป็นจุติจิตไม่รู้

    ตอนนี้กลัวตายไหม ยังกลัวอยู่ กำลังกลัวไม่ตาย ต้องไม่รู้เมื่อไรตายเมื่อนั้น เกิดใหม่คือเป็นบุคคลใหม่แล้ว ลืมชาติก่อนโดยสิ้นเชิง เหมือนประตูที่ปิดสนิท ไม่สามารถมองผ่านประตูนั้นเข้าไปถึงอดีตที่ผ่านมาแล้วได้ว่า เคยเป็นใครอยู่ที่ไหน ทำอะไรมาบ้าง ขณะนี้ แน่นอนที่สุดคือต้องเป็นชาติก่อนของชาติหน้า จะไปถามใครว่า เอ๊ะ ชาติก่อนฉันทำอะไร ไม่ต้องถามเลย เพราะขณะนี้ เดี๋ยวนี้เอง เป็นชาติก่อนของชาติหน้า ชัดเจนว่ากำลังทำกรรมอะไร ที่ไหน แต่พอถึงชาติหน้าจริงๆ ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น รู้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่า ชาตินี้แหละเป็นชาติก่อนของชาติหน้า ทำกรรมอะไรไว้ เราก็รู้ ชาตินี้ มีกุศลกรรมอะไร มีอกุศลกรรมอะไร

    ผู้ฟัง วิบาก แปลว่าข้ามชาติ หมายถึงแสดงว่า วิบากที่ว่าเราจะได้รับระหว่างถิ่นที่เราเกิด ไม่เป็นผลดีกับตา ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เป็นวิบากที่ทำให้รับในชาติปัจจุบัน จากผลของกรรมที่กระทำ แล้วบุคคลที่เขาเกิดมา ที่ว่าสุขภาพไม่ดี เสียตา เสียแขน เสียขา แขนกุด เป็นวิบากกรรมแต่ชาติก่อนหรืออย่างไร กรุณาอธิบาย

    ท่านอาจารย์ วิบากเป็นรูปหรือเป็นนาม

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจของข้าน้อย มันก็เป็นคน มันก็เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ รูปทุกชนิดไม่ว่ารูปอะไรทั้งสิ้นไม่สามารถจะรู้อะไรเลย สิ่งที่มีจริงเกิดขึ้นปรากฏ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยเป็นรูป เพราะฉะนั้น วิบากไม่ใช่รูป เพราะรูปถูกตีก็ไม่เจ็บ เพราะรูปไม่รู้อะไร แต่เจ็บไม่ใช่รูป เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมเป็นนามธรรม แต่กรรมก็ทำให้รูปเกิดด้วย ไม่ได้ทำแต่ให้นามธรรมซึ่งเป็นวิบากเกิดเท่านั้น เพราะฉะนั้น เวลาที่กรรมให้ผล ก็จะทำให้วิบากจิตเกิด พร้อม กัมมชรูป คือ รูปซึ่งเกิดจากกรรม

    ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ละคนเกิดมาต่างกัน ถ้าดูเฉพาะในโลกนี้ มีมนุษย์กับสัตว์ ต่างกันแล้ว สัตว์นี่ต่างกันมาก วิจิตรมาก ผีเสื้อแต่ละตัวทำกรรมอะไรมาปีกจึงได้ไม่เหมือนกัน ก็เป็นผีเสื้อด้วยกันนั่นแหละ แต่ความวิจิตรของปีกผีเสื้อก็มากเหลือหลาย ช้างอีก นกอีก สารพัด ปลาในทะเล ปลาในแม่น้ำพวกนี้ จนกระทั่งถึงมนุษย์ กี่แสนพัน ล้านโกฏิคน เหมือนกันไหม หายากที่จะเหมือนกัน แต่ทั้งหมดก็ต้องเป็นสิ่งที่เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย แม้ว่าเป็นผลของกรรมก็จริง แต่ไม่ใช่วิบาก เพราะวิบากต้องเป็นประเภทเดียวกันกับจิต คือ เมื่อจิตเป็นกุศล และอกุศลเป็นเหตุ ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิต วิบากต้องเป็นจิตเท่านั้น ไม่ใช่รูป รูปเป็นผลของกรรมจริง แต่ไม่ใช่วิบาก วิบากคือขณะแรกที่เกิดในชาตินี้ เป็นวิบากขณะที่เป็นภวังคจิตเป็นวิบาก ให้เป็นคนนี้ต่อไปเรื่อยๆ ยังไม่ให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แล้วจุติจิตก็ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เมื่อสิ้นกรรม กรรมนั้นไม่ทำให้เป็นบุคคลนี้อีกต่อไป แต่ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ สิ่งที่เราจะต้องไม่สับสนคือว่า วิบากคือขณะที่เห็น เป็นผลของกรรม กรรมทำให้มีจักขุปสาท โสตปสาท ชิวหาปสาท พวกนี้ สำหรับเป็นทางรับผลของกรรม ถ้าเกิดมาแล้ว ไม่เห็นไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส เป็นอย่างไร สบายดีไหม เป็นแค่ภวังคจิต แต่เป็นไปไม่ได้ กรรมจะให้ผลเพียงแค่เกิดแล้วเป็นภวังค์อยู่เฉยๆ อย่างนั้นไม่ได้ ต้องมีทางที่จะรับผลที่ได้ทำมา ถ้าเป็นผลของกุศลก็เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี ถ้าเป็นผลของอกุศลเมื่อไรก็เห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี เป็นทุกข์ทางกาย เพราะฉะนั้น เวลาที่ทุกทางกายเกิดขึ้น ทราบได้เลยว่า เป็นผลของกรรมที่เป็นอกุศล ใครทำ คนอื่นไม่ได้ทำให้เลย ไม่มีใครสามารถทำได้นอกจากกรรม ซึ่งได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้มีการรู้อารมณ์ที่ไม่ดีทางกายซึ่งทำให้เกิดทุกข์ทางกาย เคยถูกไฟลวก น้ำร้อนลวก หรือจะหกล้ม หรืออะไรก็แล้วแต่ ใครทำให้ กรรม ถึงกาลที่กรรมจะให้ผลทางตา ก็เห็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ถึงกาลที่จะให้ผลทางกายก็เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เป็นทุกข์กาย แม้แต่คัน เกิดคันขึ้นมาจากที่ไม่เคยคัน ก็เพราะเหตุว่าถึงกาลที่กรรมจะให้ผล ทำให้กายต้องกระทบสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่สบาย ก็เป็นเรื่องที่เราเห็นชัดว่า เราหนีกรรมไม่พ้นเลย ทุกขณะที่เห็น ทุกขณะที่ได้ยิน เป็นผลของกรรม ส่วนรูปที่เกิดจากกรรม กรรมก็จำแนกรูปให้ต่างกันไป ถึงจะเป็นมนุษย์ก็รูปร่างหน้าตาต่างๆ กัน พิการบ้างก็มี แล้วแต่กรรมที่เราใช้ ภาษาไทยว่า “บุญทำ กรรมแต่ง“ บุญทำให้เกิดเป็นมนุษย์ ส่วนจะเป็นมนุษย์อย่างไรก็กรรมก็แต่งไปตามกรรมนั้นๆ

    กรรมมีจริง ใช่ไหม จริง เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า เป็นธรรม เป็นธรรมประเภทไหน

    ผู้ฟัง เจตสิกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ถ้าเป็นเจตสิกแล้วขอให้ชื่อ เจตนาเจตสิกเท่านั้นที่เป็นกรรม เจตสิกอื่นเช่นเวทนาก็ไม่ใช่กรรม ผัสสะก็ไม่ใช่กรรม วิริยะ ความเพียรก็ไม่ใช่กรรม แต่กรรมได้แก่เจตสิกชนิดหนึ่ง คือ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นผู้ที่จงใจตั้งใจที่จะให้การกระทำนั้นสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศลหรือทางฝ่ายอกุศล ได้แก่ เจตนาเจตสิก

    ผู้ฟัง พรหม บางชั้นไม่มีรูปมีนาม บางชั้นไม่มีรูปไม่มีนาม คือมีอยู่แต่ลมหายใจเป็นอย่างไร

    ตอบ ต้องทราบว่า ผลของกรรมอะไรที่ทำให้ผู้นั้นไปเกิดเป็นรูปพรหม อรูปพรหมก็เป็นภูมิของผู้ไปเกิดที่นั่น นอกนั้นการบำเพ็ญกุศลกรรมที่ทำให้ผู้นั้นไปเกิดเป็น อรูปพรหมไหน จะต้องเป็นกุศลขั้นสูง ขั้น ๑ เป็นอรูปฌาน เป็นกุศลจิตขั้นอกุศลฌานเป็นฌานจิตขั้นสูงมากเลย แล้วการที่ไปเกิดเป็นอรูปพรหมเป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรม ของฌานกุศลจิตขั้นอรูปพรหม แล้วก็ในภูมินั้นก็ไม่มีรูป ทีนี้ลมหายใจเป็นรูปหรือเป็นนาม คุณลุงสวน

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ผู้ฟัง ในอรูปพรหม หมายความว่า เป็นภูมิที่ไม่มีรูป เพราะฉะนั้น จะมีลมหายใจได้ไหม ไม่ได้ มีแต่จิตกับเจตสิกที่เป็นนามธรรมแค่นั้นเอง รูปไม่สามารถมีได้เลยในรูปนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีรูปนี้ ไม่สนุกหรือ แล้วก็มีทุกข์หรือเปล่า เพราะมีรูปจึงมีทุกข์หรือเปล่า ไม่ปวดเจ็บ ถ้าไม่มีตา จะเจ็บตาไหม ถ้าไม่มีหูจะเป็นโรคหูไหม เพราะฉะนั้น เป็นรังของโรคหรือเปล่า รูปนี่ แล้วจะสนุกอย่างไร ตอนมีโรค

    ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่สามารถจะเห็นได้ว่ากรรมใดๆ การกระทำใดๆ ของเรา เพราะเรามีรูปแล้วเราติดข้องในรูป รูปก็เป็นเหตุให้เรากระทำทุจริตกรรมได้ เนื่องจากรูปนี้เอง แล้วก็ถ้าไม่มีรูปเลย นามล้วนๆ นามอย่างเดียว จะกระทำกรรมอะไร ที่จะให้คนอื่นเดือดร้อนได้ไหม จะไปตีรันฟันแทงกับใครได้ไหม ถ้ามีแต่นามธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นโทษของรูป จึงอบรมเจริญกุศลประเภทที่เป็นฌานจิตที่สงบถึงขั้นรูปฌาน แล้วก็ยังต้องมีรูปอยู่ เพราะฉะนั้น จึงอบรมเจริญฌานกุศลซึ่งไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ซึ่งต้องได้รูปฌานก่อน ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้รูปฌานเลย แล้วก็ไปทำอรูปฌาน ต้องได้ถึงฌานขั้นสูงสุดของรูปฌาน คือ รูปฌานที่ ๕ แล้วถึงจะหน่ายในรูปด้วยเจตนาอันนั้น ทำให้เมื่อถึงกาลที่สามารถบรรลุถึงอรูปฌาน ต้องได้อรูปฌาน คือฌานนั้นไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ผลของอรูปฌาน คือเกิดในพรหมโลกซึ่งไม่มีรูปเลย พ้นทุกข์ ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ดีกว่าไหม แต่ยากใช่ไหม แต่ถึงกระนั้นก็ต้องกลับมาเป็นอย่างนี้อีก เพราะว่ายังไมได้ดับกิเลส การเกิดเป็นพรหมในพรหมภูมิ หรือว่าในอรูปพรหมภูมิ ถ้าไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เพราะยังมีเชื้อของความติดข้อง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในทุกอย่าง เพียงแต่ว่าระงับไว้ได้ชั่วคราว ด้วยปัญญาระดับนั้น แต่วันหนึ่งก็ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เพราะว่า อรูปพรหมก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ต้องดับ คือถึงจุติทั้งหมดทุกชาติ ไม่ว่าจะเป็นใคร ในภูมิไหนทั้งสิ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    7 ส.ค. 2567