ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
ตอนที่ ๒๒๘
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ มีรูปฌานถึง ๕ ขั้น จากฌานขั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ แล้วสงบกว่านั้นอีก โดยที่ว่าถ้ายังมีรูปเป็นอารมณ์อยู่ ก็ใกล้ชิดต่อการที่จะเป็นอกุศล เมื่อเห็นโทษของรูปซึ่งเป็นอารมณ์ ท่านก็อบรมเจริญฌานที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เป็นอรูปฌานกุศล แล้วเวลาที่ตาย ถ้าฌานนั้นไม่เสื่อมก็เกิดเป็นรูปพรหมกับอรูปพรหมตามกำลังของฌาน เพราะฉะนั้น ถ้าใครบอกว่าคนนี้ตายแล้วไปเกิดเป็นพรหม ถ้าเขาไม่ได้ฌาน เขาจะไปเกิดเป็นพรหมได้ไหม ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ให้เข้าใจว่ากัมมัฏฐานมี ๒ อย่าง ที่ตั้งของการกระทำ ความสงบให้เกิดขึ้นมั่นคง เป็นสมถกัมมัฏฐาน ส่วนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็เป็นอารมณ์ที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏทุกขณะ สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์นั้น ตามความเป็นจริงเมื่อไร อันนั้นก็จะนำไปสู่การประจักษ์แจ้ง ขณะนี้ทุกอย่างที่มีจริง เมื่อไรที่สติสัมปชัญญะเกิด สิ่งนั้นเป็นกัมมัฏฐาน แต่ว่าเป็นกัมมัฏฐานของสติ ก็ใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” เป็นที่ตั้งของสติที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ รู้ความจริงนั้นจนกว่าจะถึงความเป็นพระอริยบุคคล
ถ้าได้ยินคำว่ากัมมัฏฐานต้อง ๒ อย่างเกี่ยวข้องไม่ใช่เรื่องทานเรื่องศีลธรรมดา คือเรื่อง สมถกัมมัฏฐานอย่างหนึ่ง แล้วก็วิปัสสนากัมมัฏฐานอีกอย่างหนึ่ง
ภาวนา หมายความว่าอบรมเจริญให้สิ่งที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น ให้สิ่งที่มีแล้วมีมากขึ้นเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ความหมายเดียวกัน เพราะเหตุว่าตอนแรกๆ ขณะแรกๆ ที่ยังไม่เคยเกิดเลย อย่างสติปัฏฐาน เมื่อเกิดก็เริ่มเกิด แล้วอบรมให้มากขึ้น หรืออย่าง สมถภาวนาก็เหมือนกัน ตอนแรกจิตยังไม่สงบ ก็ค่อยๆ อบรมให้สงบมั่นคงขึ้น
ผู้ฟัง ถ้ามีใครชวนไปนั่งกัมมัฏฐาน ก็คงจะถามเขาว่า เป็นกัมมัฏฐานแบบไหน เป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ใช่ไหม ถ้าเกิดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่จำเป็นจะต้องไปปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานก่อน เพราะว่าไม่จำเป็นต้องเป็นฌาน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทีนี้ถ้ามีใครชวนเราไปทำกัมมัฏฐาน ไปปฏิบัติกัมมัฏฐาน ไปเข้ากัมมัฏฐานก็ตามแต่ ถามเขาว่ากัมมัฏฐานคืออะไร ถ้าตอบให้เราไม่ได้ เราก็บอกว่า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ไม่ทำอะไรทั้งนั้นแหละ เพราะว่าถ้าไม่มีความเข้าใจ ทำไปก็ต้องผิด ต่อเมื่อไรอธิบายให้เราเข้าใจได้แจ่มแจ้ง เรามีความเข้าใจแล้ว เราก็จะพิจารณาว่าเราจะทำหรือไม่ทำ อย่างสมถภาวนาหรือ สมถกัมมัฏฐาน ทำไปเพื่ออะไร ถ้าจิตสงบแล้วไม่ได้ดับกิเลส ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม เราจะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะสอนเราได้ไหม หรือว่าจะให้เราทำอย่างไร เพราะเหตุว่าโดยมากคนที่ไม่ได้ศึกษาจริงๆ จับต้นชนปลายมานิดๆ หน่อยๆ จะปน เขาไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากสมาธิ เขาก็บอกว่าเขาทำสมถะ หรือมิฉะนั้นเขาก็บอกว่า เขาทำวิปัสสนา แต่เขาไม่สามารถที่จะให้ความเข้าใจคนอื่นได้ว่าคืออะไร เพราะฉะนั้น ถ้าเขาเองยังไม่รู้ แล้วชวนเราไปทำสิ่งที่ไม่รู้ด้วยกัน ใครล่ะจะรู้ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ผมฟังเหมือนกับผมรู้เรื่องสมถกัมมัฏฐาน ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้แล้วผมไปทำ จะทำอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ถูกต้องได้ไหม
ท่านอาจารย์ ที่จริงอันนี้เป็นแต่เพียงคำอธิบายความหมายของกัมมัฏฐาน ยังไม่ได้พูดถึงอารมณ์ของกัมมัฏฐานแต่ละอย่าง อารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานได้แก่อะไรบ้าง อารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐานได้แก่อะไร เพราะถ้าไม่รู้ตรงนี้ เขาบอกเรา เราก็เชื่ออีก ทั้งๆ ที่เป็นอารมณ์ของสมถะ เขาก็บอกว่าเป็นวิปัสสนา เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่าอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานมีอะไรบ้าง แล้วอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐานคือ สติปัฏฐาน มีอะไรบ้าง ต้องเพิ่มเติมอีก แค่นี้นิดหน่อยไม่พอ คือความรู้ถ้าเป็นความรู้จริงต้องถึงที่สุดได้ คือสามารถที่จะให้ความแจ่มแจ้งแทงตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด แต่ถ้าไปหยุดอยู่ที่หนึ่งที่ใดไม่ตลอด หรือให้ความรู้เราไม่ได้ตลอด อันนั้นก็ยังสับสน ต้องซักถามจนกระทั่งตลอดเลย อันนี้เพียงแต่ให้เข้าใจเรื่องของคำว่ากัมมัฏฐานก่อน
ผู้ฟัง ผมฟังท่านอาจารย์อธิบายไว้ว่า ในสมัยนั้น พระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น คำสั่งสอนในเรื่องสภาพธรรม วิปัสสนาภาวนาไม่มี ในสมัยนั้นกุศลที่สูงที่สุดคือสมถกัมมัฏฐาน ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้น นำพระธรรมคำสั่งสอนซึ่งเป็นสภาพธรรมล้วนๆ ไม่มีชื่อ มีแต่เพียงลักษณะที่เกิดขึ้น คำสอนนี้จึงเป็นคำสอนที่น่าสนใจ และสูงสุดที่สุด ผมเข้าใจอย่างนี้ ถูกไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่เข้าใจเขาก็บอกว่า วิปัสสนากัมมัฏฐาน เราก็ตื่นเต้น เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่าปัญญาของใคร ถ้าเราได้ฟังอะไร แล้วปัญญาของเราไม่เกิด ไม่มีประโยชน์ ใช่ไหม จะว่าเป็นปัญญาของคนอื่น อย่างบางคนก็บอกว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่เราก็ไม่ได้รู้อย่างพระองค์ แสดงให้เราเข้าใจ เพื่อให้เป็นปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้น ทุกอย่างประโยชน์จริงๆ คือปัญญา ทีนี้ถ้าพูดถึงความสงบ ก่อนอื่นก็ควรจะรู้ว่า ต้องเป็นกุศลจิต กุศลจิตทุกชนิดสงบ เพียงแต่สงบมากสงบน้อยต่างกัน อย่างเวลาที่เราจะให้ทาน เราคิดถึงใคร
ผู้ฟัง คิดถึงผู้มีพระคุณ
ท่านอาจารย์ คำตอบอื่นมีไหม เวลาให้ทานเราคิดถึงใคร
ผู้ฟัง จริงๆ คือคิดถึงตัวเอง แต่ไม่รู้ เพราะว่าอยากทำดีเพื่อที่จะได้ดี
ท่านอาจารย์ ที่จริงเป็นของธรรมดาๆ คุณอ้อยตอบใช่ไหม
ผู้ฟัง ยังคิดว่าตัวเองให้ทาน ก็ยังเป็นตัวเราเองให้ทาน
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราลืม เส้นผมที่บังภูเขา เวลาที่เราให้ทาน เราก็ต้องคิดถึงคนให้ คิดถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับจากเรา ไม่ใช่คิดถึงประโยชน์ของเรานี่ เพราะฉะนั้น แม้แต่กุศลก็ต้องเข้าใจจริงๆ กุศลไม่ใช่อกุศล ถ้าคิดถึงเรา ตัวเอง จะเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ถ้าเราคิดถึงคนอื่น คิดถึงประโยชน์สุขที่เขาจะได้รับจากเรา มีการให้เกิดขึ้น ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เขา ขณะนั้นก็เป็นทาน ทานก็เป็นกุศล เพราะขณะนั้นเราไม่ได้คิดถึงตัวเรา แต่คิดถึงคนอื่นที่เขาจะมีความสุข กุศลทุกชนิดสงบ ขณะนั้นสงบจากโลภะ ความติดข้อง ถ้าของไหนที่เราชอบมากๆ เราให้ได้ไหม นี่มันก็เป็นเรื่องจริงในชีวิตเลย คือให้มีหลายอย่าง ให้แล้วเสียดายก็ยังมี กำลังให้ไม่อยากจะให้ก็มี มันเป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้น เราจะรู้สภาพจิตของเราที่ละเอียดขึ้นว่า ขณะไหนเป็นกุศลจริงๆ มากน้อยแค่ไหน คนอื่นบอกไมได้เลย แต่ให้ทราบว่า กุศลทุกชนิดสงบจากอกุศล สงบจากโลภะ สงบจากโทสะ ถ้าเราโกรธคนที่เราจะให้ จะให้ไหม ตั้งใจว่าจะให้ ก็ไม่ให้อีกแล้ว อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ขณะใดให้ได้เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น จะมากจะน้อย จะอย่างไรก็ตามแต่ ขณะนั้นก็เป็นความสงบของจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอกุศลใดๆ ในขณะที่กำลังให้
เราจะรู้ว่าสงบคือกุศล เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จิตของเราจะเป็นกุศลอย่างไรบ้าง ทานนี้เราคงไม่ได้ให้ตั้งแต่เช้าถึงเย็นแน่เลย ใช่ไหม แล้วศีล กายวาจา ความหมายของศีล คือ ปกติ ถ้าเป็นข้อความทั่วๆ ไป หมายความว่า ปกติของกายวาจา ถ้าเป็นจิตขณะใดที่เป็นอกุศล กายวาจาเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลศีล แต่เวลาที่พูดถึงการขัดเกลา การอบรมเจริญ เราจะไม่เอาอันนี้เข้ามาเกี่ยวข้องเลย อกุศลศีลไม่ต้องพูดถึงเลย ก็จะพูดถึงแต่เฉพาะกุศลศีล อย่างในหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า วิสุทธิมรรค ซึ่งท่านพระพุทธโฆษาจารย์รจนา มรรค คือ หนทางวิสุทธิ อันนี้เป็นหนทางที่วิสุทธิจากอกุศล เพราะฉะนั้น จะไม่พูดถึงอกุศลศีล เพราะฉะนั้นก็ไม่ค่อยเจอในที่ต่างๆ แต่จะมีในพระไตรปิฎก คือ อกุศลศีล และกุศลศีล
ส่วนใหญ่เวลาที่เราพูดถึงศีล เราก็จะหมายความถึงกุศลศีล สำหรับศีลก็เป็นเรื่องของกายวาจา แต่ว่ากายวาจาที่มีต่อคนอื่นในทางที่ไม่เป็นทุจริต ไม่ทำให้เขาเดือดร้อน นั่นคือความหมายของศีลทั่วๆ ไป แต่ว่าก็ต้องไม่มีคนอื่นที่มาทำให้เราต้องมีกายทุจริต วจีทุจริต วันหนึ่งๆ ก็เป็นโอกาสของกุศลอีกขั้นหนึ่ง คือ ความสงบซึ่งเป็นความสงบในชีวิตประจำวัน เป็นการอบรมเจริญกุศลที่เป็นไปในความสงบที่ไม่ใช่ทาน และศีล จะมีอะไรบ้างที่เราจะสงบได้ โดยที่ไม่ใช่ทาน และศีลในวันหนึ่งๆ นี่คือสมถภาวนาหรือสมถกัมมัฏฐาน ต้องมีอารมณ์ซึ่งจิตสงบเพราะมีปัญญารู้ว่าขณะนั้นอารมณ์อย่างนั้น แล้วก็ปัญญาที่รู้ความจริงอย่างนั้นแม้ในขั้นของสมถะความสงบก็มีได้ มีไหม ลองคิดดู เวลาที่ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล กุศลจิตของเรามีหรือเปล่า ลักษณะนั้นเป็นไปอย่างไรถึงจะเรียกว่าเป็นกุศลจิต คงจะไม่มีแต่อกุศลจิตตลอด เวลาที่ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล พอจะมีไหม คือเวลาที่เราเรียน เรามักจะไปเอาชื่อในตำรามา ไปพยายามหาว่ามันคืออะไร ตรงไหน แต่ถ้าไม่เอาชื่อในตำรา แต่ชีวิตจริงของเรา ทานเราก็มี ศีลเราก็มี ถึงแม้ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล จิตของเราสงบเป็นกุศล มีขณะไหนบ้าง ลองคิด ถ้าคิดออกมันก็คือสมถกัมมัฏฐานนั่นเอง คืออารมณ์ของสมถะ
ผู้ฟัง ที่มาอเมริกาในครั้งนี้อิ่มตลอดเวลาเลย ทั้งคุณแจ๊ค คุณอ้อย แล้วก็ชาวลาวที่สามัคคีกันพร้อมเพรียงทำอาหารมาต้อนรับพวกเราชาวคณะมาจากกรุงเทพ เป็นการเจาะจงหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ที่จริงเป็นเรื่องของจิต และจิตนี้ละเอียดมาก อย่างที่กล่าวว่าเจาะจงให้คุณแจ๊ค จิตของเราขณะนี้เป็นโลภะ ความติดในคุณแจ๊ค หรือว่าเห็นประโยชน์ที่คุณแจ๊คได้ทำ แล้วก็ควรที่จะได้ให้กำลัง ให้ร่างกายแข็งแรง ทำทุกอย่างสำหรับผู้ที่มีประโยชน์ ไม่ใช่ว่าคุณแจ๊คไม่ได้ทำอะไร ก็เหมือนลูกหลาน เราก็เอานี่ให้ลูกด้วยความรัก ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องรู้จิตในขณะนั้นด้วยว่า การให้ที่มองดูเหมือนกับว่าเราเจาะจง แต่ขณะนั้นเรามีกุศลจิตหรือเปล่า ที่ให้เพราะอะไรเป็นเหตุเป็นผล อย่างให้ผู้ที่มีคุณอย่างมารดาบิดา กับให้คนอื่นๆ ให้คนอื่นๆ เป็นการอนุเคราะห์ ถูกต้องไหม แต่ให้บิดามารดาเป็นการบูชาคุณ มารดาบิดาเป็นอาหุเนยโย เป็นคุณธรรมของพระอริยบุคคลประการหนึ่ง แต่ว่าท่านไม่ได้เป็นพระอริยะจริง แต่คุณของท่านเสมอกับพระอริยะซึ่งมีต่อลูก ทำทุกอย่างให้ลูกได้หมด แต่ว่าท่านจะมีความรัก ความผูกพัน นั่นก็เรื่องของท่าน แต่ว่าถ้าเราเป็นผู้ที่เป็นกลาง มีเหตุผล ไม่มี ฉันทาคติ ไม่มีความลำเอียงเพราะรักใคร่ ไม่มีผูกพัน ไม่มีความลำเอียงเพราะโทสะ เพราะไม่ชอบ ไม่มีความลำเอียงเพราะโมหะ เพราะไม่รู้ ไม่มีความลำเอียงเพราะกลัว เพราะฉะนั้นการกระทำของเรา เป็นการกระทำที่ตรง อาจหาญ มีเหตุมีผล เราก็รู้ว่าขณะนั้นสภาพจิตของเราเป็นอย่างไร เพราะการให้มี ๒ อย่าง ให้เพื่ออนุเคราะห์อย่างหนึ่ง ให้เพื่อบูชาคุณอีกอย่างหนึ่ง เวลาที่เราระลึกถึงพระรัตนตรัย แล้วเอาอาหารไปถวายพระ เราถวายเจาะจงพระรูปนี้ว่าคุ้นเคยกันหรือว่า ท่านเป็นพระภิกษุ ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร
คำว่า “สังฆทาน” ทานที่ให้แก่พระสงฆ์ ไม่ได้หมายความว่าเอากระบุง ตะกร้า หรือว่ากระป๋อง แล้วก็มีของอะไรต่ออะไรไป แล้วก็ไปกล่าวคำถวาย แต่สงฆ์ที่นี้หมายความถึงพระอริยสงฆ์ เพราะฉะนั้น ลองคิดถึงใจของเราที่นอบน้อมต่อผู้มีคุณระดับพระอริยเจ้า จิตของเราจะนอบน้อมขนาดไหน ท่านเป็นใครเราไม่สนใจเลยทั้งสิ้น พระบวชใหม่ บวชเก่าหรือแม้แต่เณร ถ้าขณะนั้นจิตของเราน้อมถวายแก่พระอริยบุคคล ขณะนั้นจึงจะเป็นสังฆทาน
สังฆทานไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำที่เราไปกล่าวมอบ หรืออะไรเลยทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตของเราในขณะนั้น ซึ่งถ้าเราเป็นผู้ที่ไม่เห็นคุณของพระรัตนตรัย หรือของพระสงฆ์ เราก็ถือว่าพระภิกษุบุคคลเป็นพระภิกษุสงฆ์ นี่ผิด เพราะว่าพระภิกษุมี ๒ ความหมาย พระภิกษุที่เป็นปุถุชน ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของสงฆ์ เป็นพระภิกษุบุคคล แต่ถ้าได้รับการมอบหมายจากสงฆ์ให้ทำกิจของพระศาสนา เช่น ในขณะที่ท่านจะต้องรวมกันประชุมเพื่อบวชให้ใครก็ตาม หรือการทอดกฐินหรืออะไรก็ตามซึ่งเป็นกิจของสงฆ์ ต้องมีการอุปโลกน์ว่ามีใครที่เป็นสงฆ์ในการที่กระทำกิจนั้น ท่านที่ได้รับการอุปโลกน์ให้กระทำในขณะนั้นเป็นสงฆ์ ซึ่งแปลว่าหมู่คณะ ตามพระวินัยจะมีจำนวนเท่าไร พระสูตรจะมีจำนวนเท่าไร เขาจะแสดงไว้ว่า หมู่คณะเท่าไร ในแต่ละพิธีกรรมก็มีจำนวนที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ขณะที่ท่านกำลังทำกิจของสงฆ์ ถึงแม้ท่านเป็นพระอลัชชี แต่ใจของเรานอบน้อมต่อสงฆ์ เพราะสงฆ์อุปโลกน์ให้ท่านเป็นในขณะที่กำลังทำพิธีกรรม ใจของเราจะสะอาด ไม่หวั่นไหว และไม่เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นคนที่มีความนอบน้อมต่อสงฆ์จริงๆ เป็นนิจศีล เป็นปกติ เพียงแค่ภิกษุรูปไหน เราก็ไหว้ได้ เคารพได้ คิดถึงพระอริยสงฆ์ได้ นอกจากพระที่ขณะนั้นกำลังทำสิ่งที่ผิดพระวินัย อันนั้นไม่ใช่แน่ จะเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไร พระอริยเจ้าจะไม่ทำอย่างนั้น คฤหัสถ์มีสิทธิที่จะไม่แสดงความเคารพเพื่อพระธรรมวินัย ให้ท่านรู้สึกตัวว่าท่านทำผิด
นี่ก็เป็นเรื่องของจิตใจ เวลาที่เราทำอะไรให้บุคคลไหนก็ตาม ในลักษณะให้โดยฐานะของอนุเคราะห์ หรือว่าในลักษณะให้ของการบูชา ได้ทั้ง ๒ อย่าง ถ้าในลักษณะของอนุเคราะห์ คือให้คนที่ต่ำกว่า ถ้าในลักษณะของสงเคราะห์ คือให้คนที่เสมอกัน เราช่วยเหลือกันได้ นี่เป็นการสงเคราะห์ แต่ถ้าให้ผู้ที่มีคุณ ก็เป็นการบูชา
เพราะฉะนั้น ไม่ได้เป็นการเจาะจงหรือเจาะจงก็ต้องแล้วแต่สภาพจิตในขณะนั้น คนอื่นบอกไม่ได้เลย
ทุกอย่างที่ได้ยินได้ฟัง ควรที่จะได้พิจารณาไตร่ตรอง ค้นหาความจริง อย่างคำว่า “ขอ” กับคำว่า “ตั้งใจมั่น” เหมือนกันหรือเปล่า พอได้ยินก็ขอถึงนิพพาน กับความตั้งใจมั่นคง ต่างกันแล้วใช่ไหม ถ้าเรามีความตั้งใจที่มั่นคง ความหมายของอธิษฐานหรือธิษฐานบารมี คือความตั้งใจมั่น ถ้ามีความตั้งใจมั่นในการที่จะศึกษาธรรมให้เกิด ความเข้าใจ เราจะขอหรือเปล่า ขอให้ถึงนิพพาน ต้องไปพูดไหมว่า ขอให้ถึงนิพพาน เพราะฉะนั้น บางคนที่บอกว่า เขาก็ต้องขอสิ เขาต้องหวังสิ เขาก็ต้องอธิษฐานสิ แต่ เพียงคำพูดนิดเดียว แล้วการกระทำจริงๆ เป็นอย่างที่หวังหรืออย่างที่ขอหรือเปล่า แต่คนที่ไม่ได้ต้องพูดออกมาเลย แต่ไม่ขาดการฟังธรรม เห็นประโยชน์ จะอยู่คนเดียว ที่ไหน อย่างไรก็ตามแต่ จะลำบาก จะเดือดร้อน จะทุกข์ยากอย่างไรก็ตามแต่ เขามีความมั่นคงในการที่เขาจะไม่ขาดธรรม จะมีการฟัง จะมีการพิจารณา จะมีการศึกษาให้เข้าใจขึ้น โดยเขาไม่ต้องพูดออกมาเลยว่า ขอให้ถึงนิพพานๆ ๆ ๆ เช้ากราบที ขอให้ถึงนิพพาน ค่ำกราบทีขอให้ถึงนิพพาน แต่ว่าความมั่นคงของเขามีหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น อธิษฐานไม่ใช่เป็นคำพูดที่ขอ แต่เป็นความมั่นคงด้วยการกระทำ ถึงจะไม่พูด การกระทำนั้นก็แสดงอยู่แล้ว ยิ่งกว่าคำพูดว่าขอ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า อธิษฐานไม่ใช่ขอหรือหวัง แต่ว่าเป็นความมั่นคง
ผู้ฟัง วันนี้กระจ่างมากเกี่ยวกับเรื่องการอธิษฐาน เพราะถ้าเราไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว เราจะรู้ว่าการที่เราคิดว่าเราจะทำอะไร ส่วนใหญ่เพื่อตัวเอง แทนที่จะเพื่อคนอื่น วันนี้ก็ได้รับความกระจ่างมากเลย เพราะว่ามานึกย้อนถึงตัวเองว่า ถ้าต้องทำจะได้อะไร ส่วนใหญ่เพื่อจะให้ตัวเอง มันเหมือนกับลูก เราก็เข้าข้างตัวเองมาก เราคิดว่าเราเป็นแม่ที่ดี เราก็อยากส่งเสริมให้ลูกเรียนหนังสือเก่งๆ ทำมาหากินได้ดี แล้วก็สบาย แต่ความจริงแล้ว เราไม่ใช่ว่าอยากให้ลูกสบาย เราอยากสบายด้วย อาจจะเป็นความหวังลึกๆ ว่า แก่มาแล้วลูกอาจจะช่วยดูแล หรือไม่ก็ลูกทำการงานดีๆ ไม่เดือดร้อนเขาจะได้ไม่มารบกวนเราเรื่องเงินเรื่องทอง
ท่านอาจารย์ ความที่เป็นลูกของเรา ความผูกพันในความเป็นเรา สิ่งใดที่เป็นเรา เราก็หวังจะให้สิ่งนั้นเป็นสุข เขาสุข ใครสุขด้วย เราสุขด้วย เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่าตัวเราเป็นแกนสำคัญ ถึงจะว่ารักลูก ก็เพื่อความสุขของเรานั่นเอง ถึงเราจะไม่อยากได้อะไรเป็นการตอบแทนเลยทั้งสิ้น ส่งเสริมทุกอย่างให้เขาดีไปตลอด แต่ก็ยังหวังให้ดีไปตลอดเพราะความรักที่เขาเป็นของเรา เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องเราต้องพิจารณาไตร่ตรอง ไม่อย่างนั้นพอคนอื่นบอกว่าต้องขอสิ เราก็พลอยเห็นตามไปด้วย เพราะถ้าไม่ขอแล้วจะถึงได้อย่างไร ถ้าไม่หวังจะถึงได้อย่างไร แต่ต้องพิจารณาว่าขอ ขอแค่ปาก หวัง แต่ไม่ใช่ว่าด้วยความมั่นคงที่มีความเข้าใจถูกต้องว่าสิ่งที่ต้องการนั้นคืออะไร แล้วก็ไม่ละความพากเพียรที่จะอบรมความมั่นคงให้มั่นคงยิ่งขึ้น อธิษฐานเป็นความมั่นคง
ผู้ฟัง สำหรับนิโรธ สภาพดับ
ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมี ๔ เท่าที่ปรากฏในชีวิตประจำวันก็ ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ไม่มีทางที่จิตที่เป็นโลกียะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลระดับใดก็ตามที่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ เพราะเหตุว่าต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น เป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามลำดับ จนกระทั่งถึงความหน่ายในสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดดับ ถึงจะสามารถน้อมไปสู่การที่จะไม่มีสภาพธรรมเหล่านี้อีกเลยเป็นอารมณ์ เมื่อมีปัญญาถึงระดับนั้น ก็จะน้อมไปสู่สภาพธรรมที่ตรงกันข้าม เพราะเหตุว่าไม่ได้มีความยินดีในสภาพธรรมที่เกิดดับแล้ว ก็ย่อมจะหันไปสู่สภาพธรรมที่ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ โลกุตตรจิตจึงจะเกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้ และขณะนั้นก็เป็นการดับอนุสัยกิเลส ซึ่งไม่มีทางอื่นเลยที่จะดับ นอกจากโลกุตตรมรรคเท่านั้นที่จะดับได้
ผู้ฟัง พูดถึงความอยาก เห็นดอกไม้ก็สวย ตื่นมาตอนเช้า ต้องใส่เสื้อตัวนี้ถึงจะสวย อาหารชอบมาก อยากไปกินข้าวขาหมู อยากจะกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ความอยากอยู่รอบตัว ทุกๆ นาที ต้องอยากอะไรสักอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ อยากของคุณอ้อยก็ยังเป็นอยากในสิ่งที่มีที่ปรากฏ แต่ลองคิดถึงอยากนิพพานหรืออยากได้นิพพาน ไม่ปรากฏเลยก็ยังอยาก แล้วลองคิดดู ทำไมเราถึงได้อยากนิพพาน หรืออยากได้นิพพาน หรืออยากรู้นิพพาน หรืออยากประจักษ์นิพพาน อยากนิโรธไหม ไม่อยาก ใช่ไหม อยากวิราคะไหม
ผู้ฟัง เราไม่รู้มั้งถึงไม่อยาก ถ้ารู้จักคงจะอยาก
ท่านอาจารย์ อีกชื่อหนึ่งของนิพพาน เห็นไหม เพราะฉะนั้น เราอยากอะไรในสิ่งที่เราไม่รู้ พอเปลี่ยนชื่อนิดเดียว ทำไมไม่อยาก จริงๆ แล้วเราถูกสอนมา ถ้าเราไม่เคยได้ยินคำว่านิพพานเลย จากปู่ย่าตายาย หรือจากใครก็ตามจากกลุ่มที่เราคิดว่า นิพพานนี้สูงสุด ประเสริฐสุด ถ้าไม่เคยได้ยินคำนี้เลย ถามเด็กๆ อยากนิพพานไหม แต่พอบอกเข้านิดหน่อย อยากแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าเราอยากในสิ่งซึ่งเราหวัง หรือเราคิดว่าจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นไม่ได้อยู่ตรงนั้นเลย ไม่ได้อยู่ใกล้เลย แล้วเราก็ไม่รู้ความจริงว่าสิ่งนั้น กว่าจะถึงได้เป็นอย่างไร ไม่มีปัญญา อย่าหวังเลย ไม่มีทางเลยก็ยังอยาก ทั้งๆ ที่ปัญญาไม่มี ก็ยังอยากอีก ใช่ไหม เปลี่ยนชื่อนิดเดียวไม่รู้แล้ว ไม่อยากแล้ว แต่ก็อันเดียวกัน
ผู้ฟัง การเจริญสติปัฏฐาน ผมไม่ทราบว่าจะเริ่มอย่างไรสำหรับคนที่ยังไม่เคยเริ่ม
ท่านอาจารย์ คนที่ยังไม่เคยเริ่ม ก็คงเริ่มไม่ได้ ต้องมีความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมอย่างมั่นคง เพราะว่าถ้าเราเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ทุกอย่างเป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นธรรม สิ่งที่มีจริงต้องเป็นธรรม เพราะมีลักษณะเฉพาะที่ปรากฏให้รู้ได้ ถึงจะกล่าวว่าเป็นสิ่งที่มีจริง อย่างในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงก็จะปรากฏทางตา มีจริงแน่นอน ปรากฏทางหูก็มีจริง ถ้าเป็นกลิ่นทางจมูก เป็นรสทางลิ้น เป็นการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีจริง แล้วก็มีลักษณะเฉพาะอย่างด้วย ถ้าเรามีความเข้าใจว่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะเหตุว่าถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240