ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
ตอนที่ ๑๘๕
สนทนาธรรม ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร
พ.ศ. ๒๕๓๙
ท่านอาจารย์ ถ้าจะพูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรม ซึ่งทุกคนก็สนใจที่จะปฏิบัติ ให้ทราบว่า ถ้าขณะใดยังไม่เข้าใจสภาพที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง จากการฟังแล้วก็พิจารณาไตร่ตรองจนกระทั่งค่อยๆ รู้ในขณะที่กำลังเห็น ถ้าไม่เป็นการอบรมเจริญปัญญาอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะรู้ว่า นี่คือธรรมที่เรากล่าวถึง ที่เราพูดถึงทุกวันว่า ทุกอย่างเป็นธรรม และกำลังเกิดดับ
เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงกำลังเกิดดับของกำลังเห็นในขณะนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงรู้เรื่องว่า จิตมีกี่ดวง มีเจตสิกประกอบเท่าไร แล้วก็จิตเห็นมีเจตสิกประกอบเพียง ๗ ดวงเท่านั้น นั่นเป็นเรื่องราวของจิตเห็น แต่ว่าปัญญาจริงๆ ต้องสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่เราเรียนมาเรื่องจิตเห็น ประกอบด้วยเจตสิก ๗ ดวง ก็เพื่อให้เราคลายการที่จะยึดถือว่า เห็นเป็นเรา เพราะว่าเห็นชั่วขณะเดียว ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัดบวร ไม่มีโลกใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
ก่อนที่เราจะเข้าใจเรื่องโลกเกิดดับ หรือทุกอย่างเกิดดับ เราก็ต้องแยกโลกใหญ่ๆ ที่รวมกันออกเป็นแต่ละทางจริงๆ แล้วก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วมีการละคลายความยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏ และสภาพที่กำลังเห็น จนกระทั่งมีความชำนาญที่จะรู้ และชินกับลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก็จะเห็นว่า แต่ละขณะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพธรรมที่ปรากฏนานอย่างที่เราคิด แต่ว่าเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งซึ่งปรากฏแล้วก็หมดไป นี่คือสัจจธรรม เพราะฉะนั้น โลกเกิดดับ ไม่ใช่โลกทั้งหมดก้อนใหญ่ๆ แต่จะต้องมาแยกเป็นขณะหนึ่งขณะใด
ผู้ฟัง หมายความว่าเป็นโลกที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก
ท่านอาจารย์ ที่ละทาง เพราะฉะนั้น ถ้าย้ายไปทางหู ก็เหมือนกัน
ผู้ฟัง เป็นโลก หูได้ยินโลก ตาเห็นโลก โลกของทางตา โลกของทางหู
ท่านอาจารย์ โลกสี โลกเสียง โลกกลิ่น โลกรส เพราะว่าโลกต้องประกอบด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า โลกกลม โลกแบน ลบออกไปได้เลย ถ้านั่งอยู่ในขณะนี้ คือ โลกทางตา โลกทางหู โลกทางจมูก โลกทางลิ้น โลกทางกาย และโลกทางใจ โลกเกิดดับ
อ. สมพร เราก็ต้องเข้าใจอย่างนี้ คำว่า โลกเกิดดับ โลกในวินัยของพระอริยะอย่างหนึ่ง โลกโดยนัยของปุถุชน คือ บัญญัติอีกอย่างหนึ่ง โลกอย่างนั้นเราไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ เรากล่าวถึงโลกในพระวินัยของพระอริยะ เพราะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน โลกอันนี้คืออะไร หมายความว่าสิ่งใดที่มีการแตกสลายไป สิ่งนั้นเรียกว่าโลก พระบาลีว่า รุชฺชตีติ โลโก ธรรมชาติใดย่อมแตกสลาย เพราะเหตุนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่า โล-กะ คือ โลก โลกนี้ ไม่ใช่โรค ไม่ใช่โรคภัยคนละอย่าง ถ้าโรคภัย หมายความว่า ธรรมชาติที่เบียดเบียน โลกในที่นี้ต้องแตกดับ เมื่อสีเป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณแล้ว ก็ตั้งอยู่ ขณะจักขุวิญญาณเห็น เห็นขณะเดียว แล้วก็สีตั้งแต่มาเป็นอารมณ์กระทบจักขุปสาท ทำให้จิตไหวไป คือ อดีตภวังค์ไหวเรื่อยไปจนถึงตทาลัมพนะ แล้วสีอันนั้นก็ดับไป ตั้งอยู่ทั้งหมด ๑๗ ขณะของจิต ท่านจึงกล่าวว่า โลกในวินัยของพระอริยะมีการแตกดับ เพราะว่าไม่ได้ตั้งอยู่นาน ๑๗ ขณะของจิตเดี๋ยวเดียว ทางตาสั้นมากที่สุด แต่ว่าเราศึกษา รู้สึกว่าเหมือนมันยาวนาน แต่ไม่ใช่ยาวนานอย่างที่เราคิด เราเห็น เราได้ยิน คล้ายๆ เหมือนพร้อมกัน จิตมันแล่นเร็วอย่างนี้ คือว่าเดี๋ยวเดียวเท่านั้น
ผู้ฟัง หมายความว่าโลกคือทุกสิ่งที่เกิดดับ เกิดดับก็หมายความว่าโลกที่เกิดทางตา จะดับไปเมื่อโลกที่เกิดทางหูเกิด เพราะเป็นโลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางตากับทางหูจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ ต้องดับเสียก่อน อีกทางถึงจะเกิด อันนี้คือโลกที่เกิดดับ ใช่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ต้องแยกเป็นโลก ๒ ประเภท คือ นามกับรูป เพราะเหตุว่าถ้าเป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมรู้ เป็นธาตุรู้ แต่ถ้าเป็นรูปธรรม ไม่ว่าเป็นรูปที่ตัว หรือรูปที่นอกตัวออกไป อย่างไรก็ตามที่เป็นรูป ไม่ใช่สภาพรู้เลย เพราะฉะนั้น มีลักษณะของสภาพธรรมต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม ถ้ามีแต่เฉพาะรูปอย่างเดียว ไม่มีนามธรรมเลย จะไม่เดือดร้อนเลย ไฟจะไหม้ น้ำจะท่วม ที่ไหน ก็ไม่มีสภาพรู้ ที่จะไปเห็น ไปได้ยิน หรือไปเป็นทุกข์เดือดร้อน แต่ที่ทุกคนเป็นสัตวโลก มีชีวิต เพราะเหตุว่า มีสภาพซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้
เพราะฉะนั้น ต้องแยกว่านามธรรมเกิดดับ รูปธรรมเกิดดับ แต่นามธรรมเกิดดับเร็วกว่ารูปธรรม ถ้าพูดถึงการเกิดดับก็ยังต้องแยกว่า อะไรเกิด อะไรดับ ถ้าเป็นนามธรรมก็เกิดดับเร็วกว่ารูปธรรม แต่รูปธรรมก็เกิดดับด้วย
ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าพูดถึงเรื่องรูปธรรมก่อน เป็นรูปารมณ์ เห็นรูป แต่ในขณะซึ่งเห็น นั่นก็คือเห็น คือโลกที่เกิดทางตา
ท่านอาจารย์ มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นขณะนี้แน่นอน
ผู้ฟัง เป็นรูปเท่านั้นเอง รูปก็เป็นองค์ประกอบอันหนึ่งของโลก เมื่อรูปนั้นดับไปแล้ว ได้ยินเสียงเกิดต่อ
ท่านอาจารย์ รูปเกิดดับ เพราะฉะนั้น รูปก็เป็นโลก
ผู้ฟัง พอเสียงเกิดต่อนั้น คือรูปดับไปแล้ว เสียงเกิด อันนั้นคือการเกิดดับ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วรูปเกิดตามสมุฏฐาน ไม่ต้องรอให้จิตไปรู้ ขณะนี้เสียงจะเกิดที่ไหนก็ได้ หรือว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้น จะต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา แล้วเวลาที่เสียงมี ขณะนั้นก็ต้องมี ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา
เพราะฉะนั้น ทุกๆ ขณะมีรูปเกิดตลอด ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม นอกจากโลกนี้ โลกอื่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ จักรวาลทั้งหมดก็เป็นรูป ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม รูปมีสมุฏฐาน ๔ อย่าง คือ รูปที่เกิดจากอุตุ เกิดตลอด ไม่มีใครบังคับ ไม่ว่าจะเป็นจักรวาลไหน ก็มีรูปซึ่งเกิดเพราะอุตุโดยตลอด นอกจากนั้นก็มีรูปที่เกิดจากรรม เกิดจากจิต เกิดจากอุตุ เกิดจากอาหาร นี่ต้องเป็นพวกสิ่งที่มีชีวิต ถ้าไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิตแล้ว จะไม่มีรูปซึ่งเกิดจากกรรม
ต้นไม้ภูเขาใดๆ ทั้งสิ้นเป็นรูปที่เกิดจากอุตุ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรม และไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอาหาร เพราะว่ารูปนั้นไม่ได้บริโภคอาหาร เพราะฉะนั้น ก็มีแต่สมุฏฐานเดียวคืออุตุ
เรื่องรูปก็เป็นเรื่องรูป เป็นรูปโดยเป็นโลกแบบภูมิศาสตร์ ที่เราใช้คำว่าโอกาสโลก คือเป็นจักรวาลต่างๆ แต่ว่านอกจากนั้นยังมีสัตวโลกด้วย ไม่ใช่มีแต่โอกาสโลก แต่สัตวโลก ถ้าไม่มีนามธรรม ก็จะมีสัตวโลกไม่ได้ ก็มีแต่เพียงรูป ซึ่งเป็นโลก ซึ่งเกิดดับอย่างเดียว
ผู้ฟัง การเกิดดับๆ ได้ทั้งรูป และนาม ในเมื่อตาที่เห็น เป็นโลกที่เกิดทางตา โลกที่เกิดทางหู เพราะฉะนั้น เราจะพูดได้ไหมว่า โลกนี้ประกอบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความคิดนึก
ท่านอาจารย์ จักขุปสาทรูปเกิดขึ้นดับเป็นโลก รูปารมณ์เกิดขึ้นดับเป็นโลก ใครจะเห็นหรือไม่เห็นไม่สำคัญ กำลังนอนหลับ กรรมทำให้จักขุปสาทรูปเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปเป็นโลก เพราะเหตุว่าเกิดดับ สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป สภาพธรรมนั้นเป็นโล-กะ เป็นโลกียะเนื่องกับโลก ไม่ใช่โลกุตตระ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ
ในขณะที่เราพูดถึงเรื่องโลกซึ่งเกิดดับ เราจะต้องแยกว่าไม่มีคนแล้ว แต่ว่ามีสภาพธรรม ซึ่งมี ๒ อย่างคือนามธรรมกับรูปธรรม ซึ่งเกิดดับทั้ง ๒ อย่าง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็มีทั้งรูปธรรมเกิดขึ้น และดับไปอยู่เรื่อยๆ นามธรรมจะรู้หรือไม่รู้ ไม่เป็นไร จิตจะเห็นสีหรือไม่เห็นสี เสียงที่กำลังเกิดขึ้น และดับไป ใครจะได้ยินหรือไม่ได้ยิน ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปว่า ต้องจิตเกิดขึ้นได้ยิน ถึงจะเป็นโลก แต่ว่าสภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดแล้วดับ สภาพธรรมนั้นเป็นโลกทั้งหมด
ผู้ฟัง เหตุที่โลกเกิดขึ้น ก็เพราะว่าเรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ มีเหตุปัจจัยที่ทำให้นามธรรมเกิด มีเหตุปัจจัยที่ทำให้รูปธรรมเกิด ทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย
ผู้ฟัง อันนี้ก็แปลว่า โลกเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้รูปธรรม และนามธรรมเกิด
ท่านอาจารย์ เกิดแล้วก็ดับ
ผู้ฟัง ทีนี้เมื่อไรโลกไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ถ้าสภาพของนามธรรมไม่เกิดขึ้นรู้ จะมีใครรู้จักโลกไหม ถ้าไม่มีนามธรรม
ผู้ฟัง หมายความว่า เมื่อปสาทรูป เอาง่ายๆ ไม่เกิด โลกก็ไม่ปรากฏ ถูกไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าปสาทรูปไม่เกิด โลกสีไม่ปรากฏ
ผู้ฟัง ทางที่เกิดของจิตทั้ง ๖ ไม่เกิด
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วที่คุณสุรีย์ถามหมายความถึงทางรู้อารมณ์ของจิต เพราะเหตุว่าจิตเป็นธาตุรู้ หรือว่าเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ จิตเกิดขึ้นขณะใดต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งเรียกว่าอารมณ์ แต่ที่คุณสุรีย์ถาม หมายความว่า ขณะใดบ้างที่อารมณ์ไม่ปรากฏ
ผู้ฟัง ที่โลกไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ มีจิตจริงแต่ว่าอารมณ์ไม่ปรากฏ เพราะธรรมดาของจิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นขณะใดต้องมีอารมณ์ อย่างทางตามีสีเป็นอารมณ์ ทางหูมีเสียงเป็นอารมณ์ ทางจมูกมีกลิ่นเป็นอารมณ์ ทางลิ้นมีรสเป็นอารมณ์ ทางกายมีสิ่งที่เย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นอารมณ์ ทางใจ มีเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังคิดนึกเป็นอารมณ์ นี่พูดอย่างกว้างๆ ทั่วๆ ไป
ผู้ฟัง สรุป คือถ้าโลกไม่ปรากฏ หมายความว่าทางทั้ง ๖ ทางนั้นไม่เกิด โลกจึงไม่ปรากฏ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ มีจิตจริง ขณะใดที่จิตเกิดต้องรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แต่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ปรากฏ หรือไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ผู้ฟัง ต้องมีทางด้วย ถ้าทางไม่เกิด แม้มีอารมณ์ ถ้าทางไม่เกิด มันก็ไม่ปรากฏเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ หมายความว่า จิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง หรือพ้นจาก ๖ ทางนี้ จิตก็ยังเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ เช่น ขณะที่กำลังหลับสนิท หรือขณะที่กำลังไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๖ ทางเป็นอารมณ์ มีจิตกับมีอารมณ์ คือ จิตทางตามีสีที่ปรากฏเป็นอารมณ์ นี่ต้องอาศัยตา สีสันวรรณะต่างๆ จึงจะปรากฏได้ เพราะฉะนั้น จิตเกิดขึ้นเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ นี่ตอนหนึ่ง
ผู้ฟัง อันนี้โลกปรากฏแล้ว
ท่านอาจารย์ ยัง หมายความว่า ต้องเข้าใจตามลำดับขั้น จิตเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และสิ่งที่จิตรู้นั้นเป็นอารมณ์ของจิต อันนี้เป็นที่แน่นอน เพราะฉะนั้น อารมณ์จะปรากฏหรือไม่ปรากฏ แล้วแต่ว่าจิตรู้อารมณ์ทางไหน ถ้ารู้ทางตาสีปรากฏ ถ้ารู้ทางหูเสียงปรากฏ ถ้ารู้ทางจมูกกลิ่นปรากฏ ถ้ารู้ทางลิ้น รสปรากฏ ถ้ารู้ทางกายสิ่งที่กำลังเย็น ร้อน อ่อน แข็งกำลังปรากฏ ถ้าเป็นทางใจก็กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ
ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏนั้นคือโลกปรากฏ ถูกไหม จะสรุปอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ สิ่งใดๆ ที่ตามซึ่งเกิดดับเป็นโลก นี่เราแยกคำจำกัดความออกไปเป็นตอนๆ ถ้าจะพูดถึงโลก ก็หมายความถึงเราไม่ได้พูดถึงทวาร เราไม่ได้พูดถึงอะไรเลย แต่พูดถึงว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิด สิ่งนั้นดับ สิ่งนั้นเป็นโลก
ผู้ฟัง มีอะไรอีกไหมที่โลกปรากฏ
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงธรรม ควรจะเป็นชีวิตประจำวันซึ่งเราสามารถที่จะรู้ได้ เช่นขณะนี้กำลังเห็น โลกสีสันวรรณะกำลังปรากฏ ขณะใดที่ได้ยินเสียงปรากฏ ก็เป็นแต่ละลักษณะแต่ละโลกไป แต่ว่าขณะใดที่ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีจิต แต่ขณะนั้นไม่ได้อาศัยตา จึงไม่เห็น ไม่ได้อาศัยหู จึงไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ขณะที่หลับสนิท หรือไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง แม้ว่าจิตจะเกิดดับ แล้วก็รู้อารมณ์แต่อารมณ์นั้นไม่ปรากฏ
ผู้ฟัง เช่น
ท่านอาจารย์ กำลังหลับสนิท จะใช้คำว่าภวังคจิตก็ได้ หรือว่าขณะใดก็ตาม ที่ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง
ผู้ฟัง โลก คือ ทุกสิ่งที่เกิดดับ โลกไม่ปรากฏในขณะใด
ท่านอาจารย์ โลกที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน แต่เวลาที่เราศึกษาธรรม เพื่อที่เราจะเข้าใจคำว่า “โลกในพระธรรมวินัย” ในคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้สอนถึงโลกแบบภูมิศาสตร์ มีต้นไม้ มีสี มีกลิ่น ดอกไม้ต่างๆ หรืออะไร แต่แยกโลกออกเป็น ๖ โลก เพราะเหตุว่าถ้าเป็นโลกใหญ่ๆ รวมกันอย่างนั้น ไม่มีทางดับ เหมือนอย่างตัวคุณเสกสรรทั้งตัว ก็ไม่มีทางจะดับ แต่ถ้าย่อยออกไปเป็นแต่ละขณะ แต่ละส่วน จะเห็นว่าแต่ละส่วนเกิดแล้วดับทั้งนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น เราพูดถึงโลกในพระธรรมวินัย คือ พูดถึงสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่โลกุตตระ แต่เป็นสภาวธรรม ซึ่งมีปกติ เป็นประจำเป็นของประจำโลก หรือว่าคือตัวโลกนั่นเอง คือ สภาพธรรมในชีวิตประจำวัน เกิดแล้วดับจริงๆ ทุกอย่าง นั่นเป็นโลกทั้งหมด
ผู้ฟัง นี่แหละ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า การที่จะเห็นโลกดับตามความเป็นจริงนั้น หมายความว่า ต้องเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว แต่ว่าผู้ที่ฟังยังไม่ได้เลย เมื่อยังไม่ได้ก็คิดเพ่งไปที่โลกว่า โลกเกิดดับ ก็เข้าใจว่า ตัวตนเกิดดับ แต่ความจริงสภาวธรรมเท่านั้นที่เกิดดับ
ท่านอาจารย์ คนฟังต้องเข้าใจแล้ว เวลาพูดถึงเรื่องโลก ขอให้เข้าใจความละเอียดในพระธรรม คือ ใครเขาจะพูดเรื่องโลกกี่โลกก็ตาม แต่ว่าพอเราศึกษาธรรมแล้ว เราเข้าใจโลกตามพระธรรมว่า ที่จะพูดถึงเรื่องโลกต่างๆ ต้องมีทางที่รู้โลกแต่ละโลก นั้นๆ เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นโลกนี้ หรือโลกไหนก็จะพ้นจาก ๖ โลกนี้ไม่ได้เลย
ควรจะแยกเป็นโลกๆ จริงๆ แล้วถึงจะรู้ว่าเกิดดับ เพราะว่าก่อนอื่นพูดเรื่องโลกให้เข้าใจ พอเข้าใจแล้ว ให้เข้าใจว่า แท้จริงโลกเกิดดับ กำลังเกิดดับในขณะนี้
ปัญญาของเรา คิดดูว่าถึงไหน ฟังธรรมที่จะให้เข้าใจธรรมที่กำลังเห็น และกว่าจะประจักษ์ว่า เป็นโลกซึ่งเกิดดับด้วย เพราะฉะนั้น แต่ละคนไม่ใช่รีบร้อนไปทำอย่างอื่น แต่ว่าจะต้องรู้ว่า กำลังเห็นขณะนี้ รู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ ในเรื่องธรรมที่เราศึกษามาว่า เป็นธรรม กำลังเห็นขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ให้เข้าใจก่อน แล้วเมื่ออบรมเจริญปัญญาขึ้น จะรู้ความจริงว่ากำลังเกิดดับด้วย มิฉะนั้นแล้วเราก็จะไปหลงทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่การอบรมความเข้าใจถูกต้อง
ผู้ฟัง สมมติว่า เราบอกว่า โลกปรากฏทางตาต้องดับไป หูจึงจะได้ยินเสียง อันนี้เป็นโลกเกิดดับหรือเปล่า เพื่อจะยันที่คุณเสกสรรพูด
ท่านอาจารย์ อยู่ที่ความเข้าใจ ขณะที่ฟังทุกคนกำลังคิดว่าโลกเกิดดับทางตา กำลังคิดแต่ไม่ใช่ประจักษ์
ผู้ฟัง โดยสภาวะแล้ว จักขุวิญญาณดับ รูปก็ยังไม่ดับ จะบอกว่าโลก รูปคือขันธ์ หรือว่ารูปอะไรก็แล้วแต่ดับตามตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ อันนี้อย่างที่กล่าวถึงในตอนต้นว่า พอพูดถึงโลก เราต้องแยกว่า โลกคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดดับ มี ๒ อย่างที่ต่างกัน คือ นามธรรมกับรูปธรรม ซึ่งนามธรรมดับเร็วกว่ารูป เพราะฉะนั้น รูปมีอายุเท่ากับจิต ๑๗ ขณะ นี่เราพูดตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่านามธรรมกับรูปธรรม ทั้ง ๒ อย่างเป็นโลกก็จริง แต่นามธรรมดับเร็วกว่ารูปธรรม
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีโลกก็คือไม่มีตา ไม่มีหู หรือมีเหตุปัจจัยไม่เกิด ใช่ไหม ถ้าโลกไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะสรุป ก็คือว่า ความหมายของโลก โลกคืออะไร โลกคือสิ่งที่เกิดดับ แล้วสิ่งที่เกิดดับคืออะไร เพื่อที่เราจะได้เข้าใจขึ้นมีสภาพธรรม ๒ อย่าง คือนามธรรมกับรูปธรรม ถ้าจำแนกโดยปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นโลกที่เกิดดับ นามธรรม คือ จิต เจตสิกก็เกิดดับ แต่รูปธรรมเกิดดับช้ากว่าจิตเจตสิก
ผู้ฟัง โลกอันนี้สรุปแล้วอยู่ที่นี่ เรียกว่าโลกที่แท้จริงของพระอริยะ ตาเห็นรูป รูปนั้นก็เป็นโลก ไม่ใช่โลกของพระอริยะแน่นอน ที่เราบอกว่า เราต้องเห็นโน่น เห็นนี่ รู้โน่นรู้นี่ นั่นไม่ใช่สิ่งที่พระอริยะต้องการรู้
ท่านอาจารย์ พระอริยะไม่ใช่ต่างจากคนธรรมดา แต่ว่าอบรมเจริญปัญญา จนรู้จักโลกตามความเป็นจริง ทางตาที่กำลังเห็น ก่อนเป็นพระอริยะ ก็เห็นอย่างนี้ แล้วผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ใช่รู้อื่นเลย แต่รู้สภาพธรรมซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้ และไม่เคยประจักษ์ความจริงว่า ไม่ใช่เรา แต่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมซึ่งเกิดดับ เพราะฉะนั้น โลกในวินัยของพระอริยะจะเกิน ๖ โลกนี้ไม่ได้
ผู้ฟัง คำว่าโลกไม่ปรากฏ กับโลกว่างเปล่า นี้เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ในชีวิตประจำวัน ขณะนอนหลับสนิท มีโลกปรากฏไหม ไม่มี แต่ยังคงมีตา มีหู และมีนามธรรม คือ จิตเกิดดับ แต่ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นภวังคจิต เหมือนกับขณะที่ปฏิสนธิกับจุติ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีโลกปรากฏเลย ไม่มีความคิดนึกเรื่องโลก ไม่เห็น ไม่ได้ยินทั้งสิ้น นั่นคือขณะที่ไม่ได้รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง อันนี้คงไม่มีปัญหาแล้ว ใช่ไหม
ทีนี้ถึงความหมายที่ว่า “โลกว่างเปล่า” ขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้น ทำกิจหนึ่งแล้วดับ ไม่มีอะไรเหลือเลย จิตขณะก่อนไม่เห็นจิตขณะนี้ ต่างคนต่างเกิด คือ จิตขณะเมื่อกี้เกิดแล้วก็ดับไปฉันใด จิตขณะนี้ก็เกิดแล้วดับไป แล้วสิ่งที่ปรากฏดับ ไม่ใช่ว่าอันเก่าเกิดซ้ำอยู่ตลอดเวลา หรือว่ามีอายุยาวนาน ถ้าจะยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ เสียง เมื่อกี้นี้หายไปไหน มีขณะที่กำลังปรากฏ แล้วว่างเปล่า คือ ไม่สามารถจะเอาเสียงนั้นกลับมาให้เป็น เสียงขณะที่จิตกำลังได้ยินเหมือนขณะก่อนได้ แม้ว่าเราจะเปิดวิทยุ เปิดเทป ฟังเพลงซ้ำไปซ้ำมา แต่ให้ทราบว่า แต่ละขณะที่เสียงปรากฏ ไม่ใช่เสียงเดิม เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามซึ่งเกิดแล้วดับหมดสิ้นไป หาไม่ได้อีกแล้ว นั่นคือความว่างเปล่า
ชีวิตทั้งหมดตั้งแต่ขณะปฏิสนธิ หาขณะปฏิสนธิไม่ได้แล้ว ขณะที่ปฏิสนธิจิตดับ และภวังคจิตเกิดต่อ ก็หาปฐมภวังค์ไม่ได้อีก หรือขณะเมื่อกี้นี้ซึ่งเหมือนกับเดี๋ยวนี้ที่เห็น แต่เป็นคนละขณะ คือ ขณะที่เห็นก่อนนี้ ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ และเห็นขณะก่อนที่ดับ ก็ว่างเปล่าจริงๆ คือไม่มีอีกแล้ว แม้แต่สิ่งที่ปรากฏกับจิตเห็นวาระก่อนก็ว่างเปล่า คือว่าไม่ใช่รูปเดิมที่จิตก่อนเห็นอีกแล้ว
จะเห็นได้ว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายว่างเปล่า เพราะเหตุว่าไม่มีสิ่งใดที่เหลือ ทุกอย่างเกิดแล้วดับหมด แต่ว่ามีสิ่งที่เกิดต่อ แล้วจิตก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์ ต่อไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์ ก็ดูประหนึ่งว่าไม่มีอะไรซึ่งว่างเปล่า แต่ความจริงแล้วชั่วขณะซึ่งเกิดปรากฏแล้วหมดสิ้นไป นั่นคือความหมายของว่างเปล่า
ผู้ฟัง มันเหมือนกันไหมกับโลกไม่ปรากฏ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240