ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230


    ตอนที่ ๒๓๐

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่เขาสะสมมาก็เหมือนกับผู้ที่บรรลุโดยที่ว่าไม่ต้องแสดงพระธรรมมาก อย่างท่านพระสารีบุตร เพราะว่าสภาพธรรมก็กำลังมี ท่านหยั่งรู้เลยว่าต้องเกิด แล้วขณะที่เกิด ท่านรู้ลักษณะที่เกิดด้วย แล้วก็ประจักษ์การดับด้วย เพราะว่าไม่มีเรามาทำขัดขวางอยู่ตลอด ก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ผู้ที่จะถึงระดับนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิดจะรู้เลยว่า เยื่อใยความเป็นเราหนักหนาสาหัสแค่ไหน กว่าสามารถที่จะละสมุทัยได้ เพราะว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจะทำให้เกิดอีกอย่างมากที่สุดเพียง ๗ ชาติ ที่แล้วมาแสนโกฏิกัปป์ นับไม่ถ้วนกับอีก ๗ ชาติที่จะเกิด ต้องเป็นปัญญาระดับไหน เป็นปัญญาจริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้ารู้แล้ว สามารถแจงออกมาเป็นหมวดหมู่ได้ จะไม่ดีกว่าการที่รู้แล้ว เฉยๆ หรือว่ารู้แล้วจะเป็นอะไรก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ ระหว่างที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ไม่มีคำเลย อย่างสภาพธรรมกำลังปรากฏลักษณะที่แข็ง และมีสภาพที่รู้แข็ง แล้วก็ยังมีความรู้ถูก เห็นถูก เข้าใจถูกในแข็ง ขณะนั้นต้องพูดอะไรหรือเปล่า สักคำหนึ่งต้องพูดไหม ไม่มีคำเลย ระหว่างที่ตรัสรู้ แต่พระบารมีที่สะสมมาทั้งหมด การตรัสรู้ของพระองค์พร้อมด้วยพระญาณซึ่งไม่เหมือนใครเลย ไม่มีใครสามารถที่จะเทียบเท่า เพราะฉะนั้น เมื่อทรงแสดงธรรม เมื่อนั้นจะมีคำที่เกิดจากการสะสมด้วยบารมีที่จะทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมที่เหมือนธรรมดาง่ายๆ อย่างนี้ ออกมาเป็นอายตนะ ออกมาเป็นขันธ์ ออกมาเป็นอินทรีย์ ออกมาเป็นอะไรทุกอย่างตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น นั่นคือผู้ที่รู้จนกระทั่งประจักษ์อย่างเหนือบุคคลใด และทรงแสดง ๔๕ พรรษา ซึ่งทุกคำตรงตามความเป็นจริง แต่ทีนี้ผู้ที่ฟังพระธรรม ผู้ที่เพิ่งเริ่มจะเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจถูกก็จะคิดว่า เขามีปัญญาเท่ากับพระพุทธเจ้า ถ้าแสดงเรื่องปัจจัยก็รู้เรื่องปัจจัย แสดงเรื่องนี้ก็ต้องรู้เรื่องนี้ แสดงเรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะก็ต้องรู้ไปหมด ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดง นั่นไม่ถูกต้อง เพราะว่ากำลังเริ่มที่จะเห็นพระปัญญา ถ้าเราเป็นผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฎก จะเห็นความห่างไกลกันมาก ระหว่างปัญญาของผู้ที่ตรัสรู้แล้วทรงแสดง กับปัญญาของคนที่นามธรรมรูปธรรมใหม่มากเลย เคยเป็นเรามาตลอด แล้วการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นอย่างไร ทรงแสดงไว้ไม่ให้ผิดเลย อย่างสติปัฏฐาน ถ้าคนที่ไม่รู้ก็จะทำ แต่ผู้ที่ศึกษาโดยละเอียด มีพระธรรมเป็นสรณะ ถ้าไม่มีสัจจญาณ กิจจญาณคือสติปัฏฐานเกิดไม่ได้ กตญาณคือการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทรงแสดงอาการ ๓ รอบของอริยสัจจ์ ๔ คือ ต้องมีสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ทั้ง ๔ รวมเป็น ๑๒

    ผู้ฟัง สัจจญาณ คือ

    ท่านอาจารย์ สัจจญาณคือปัญญาที่รู้ว่า อริยสัจจ์ ๔ คืออย่างนี้จริงๆ คือ ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดแน่นอน ไม่เกิดจะมาปรากฏได้อย่างไร ต้องมีความมั่นคงว่าเดี๋ยวนี้เอง เห็นเกิด ได้ยินเกิด คิดนึกเกิด แล้วดับด้วย เกิดดับ ขณะนี้เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ไปทำอะไรอื่นที่จะเป็นตัวเรา แต่ว่าอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะรู้สิ่งที่เกิดแล้วเพราะปัจจัยในขณะนี้ แล้วนี้เป็นอริยสัจจ์ที่ ๑ ทุกขอริยสัจจะ เพราะฉะนั้นไม่มีการเลือกเลย ใครจะรู้ว่าอะไรเกิดขึ้น

    สังขตธรรม หมายความถึงสภาพที่ปรุงแต่งแล้วเกิด เพราะว่าคำว่า “ธรรม” จะมีคำใช้อยู่ทั่วไป คือ สังขารธรรม สภาพใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง คนไม่รู้ก็คิดว่าเกิดขึ้นมาเอง หรืออาจจะไม่คิดอะไรเลย เหมือนอย่างตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าของเรา เพียงกระทบแข็ง ไม่เห็นเป็นไรเลย แต่ผู้มีปัญญารู้ว่า นี่ต้องเกิด แข็งนี่ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่ปรากฏเพราะเกิด ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ มีความละเอียดจริงๆ เป็นผู้ที่ละคลายจริงๆ สามารถประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของแข็งตามปกติธรรมดา และรู้ความต่างของแต่ละทวารทั้ง ๖ ทวารได้ว่า ทางทวารนี้ไม่ใช่ทวารนั้น แต่ไม่มีชื่อ ไม่ใช่ต้องใส่ชื่อเข้าไป แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามลักษณะของทวาร อย่างได้ยินขณะนี้ตามปกติ ก็จะต่างกับเห็น เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง และเสียงที่ปรากฏทางหูไม่ได้อาศัยตาที่จะเห็นได้เลย นี่ก็เป็นเรื่องที่สัจจญาณต้องมีความมั่นคง ถ้าเรายังไม่มั่นคงไม่ต้องไปคิดเรื่องสติปัฏฐานเลย ให้เรามีสัจจญาณที่มั่นคง แล้วก็เป็นหน้าที่ของปัญญาระดับนั้นที่จะทำให้มีการระลึก เพราะรู้จนกระทั่งมั่นคงแล้ว ก็มีปัจจัยที่จะเกิดสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบันที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ไม่อย่างนั้นไม่ทรงแสดงอาการ ๓ รอบของอริยสัจจ์ ๔ เพื่อที่จะไม่ให้คนคิดว่าไม่รู้อะไรก็ไปปฏิบัติแล้วปัญญาก็เกิดได้ ถ้าเราศึกษาแล้วเราก็รู้เลย ไม่เป็นเหตุเป็นผลเลย ปัญญาต้องมาจากการฟังเข้าใจก่อน จนกระทั่งมั่นคงเป็นสัจจญาณจริงๆ ถ้าเป็นสัจจญาณจริงๆ สติระลึก ไม่มีบรรพ ไม่ต้องห่วงเลย ไม่ต้องคิดเลย ภายหลังถึงสามารถที่จะรู้ในความเป็นขันธ์ จะรู้ในความเป็นขันธ์ก็ต่อเมื่อสภาพนั้นเกิดแล้วดับ เพราะว่าขันธ์หมายความถึงสิ่งที่มีในขณะนี้เกิดแล้วก็ดับด้วย เพราะฉะนั้น อดีตคือสิ่งที่ดับไปเมื่อกี้นี้ อนาคตก็ยังไม่มาถึง จึงเป็นอนาคตในขณะที่กำลังเป็นปัจจุบัน และปัจจุบันนั้นก็ดับ เพราะฉะนั้น ก็รู้กาลทั้ง ๓ ของสภาพธรรมว่ามีทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันไม่มี อดีตไม่มี อะไรจะดับ ถ้าปัจจุบันไม่มี อดีตไม่มี อนาคตก็ไม่มีด้วย แต่อนาคตที่ยังมาไม่ถึงยังไม่ใช่ปัจจุบัน แล้วปัจจุบันที่ดับเป็นอดีต แล้วที่เกิดต่อจากปัจจุบัน ก็คืออนาคตมาถึงแล้ว

    การฟังพระธรรมนั้นฟังเพื่อเข้าใจ แล้วไม่ต้องห่วง ไม่มีความเป็นตัวเรา คลายความเป็นเราที่จะทำ นั่นถึงจะถูกต้อง แต่ถ้าฟังแล้วจะทำ คือว่า ความเข้าใจขั้นฟังเป็นอย่างหนึ่ง แล้วการที่มีความเป็นเราจะทำก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่ตรง

    ผู้ฟัง แล้วเมื่อไรจะมั่นคงเสียที

    ท่านอาจารย์ นี่คือความหวังการคอย สิ่งที่ทำให้เราอยู่ในสังสารวัฏฏ์ที่ออกไม่ได้ คือตัวนี้ เขาฉลาดแนบเนียนมาก ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ทรงเปล่งพระวาจาอุทานว่า เรารู้จักนายช่างเรือนแล้ว สร้างภพสร้างชาติให้อยู่ จากโลกนี้ก็ไปโลกหน้า จากชาตินี้ก็ไปชาติหน้า ไม่มีวันออกไปเลย เราอยู่มาแล้วนานเท่าไร ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงว่า สัจจะทั้ง ๔ ลึกซึ้ง ไม่เว้นสักสัจจะเดียว ทุกขอริยสัจจะลึกซึ้ง กำลังเกิดดับก็ไม่ปรากฏ สมุทัยก็ลึกซึ้ง พาไปได้ตลอด เมื่อไรเราจะ ใช่ไหม นี่ก็คือเขาพาอีกแล้ว เขาจะมาได้ง่ายมาก เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะ แล้วถึงโลภะจะไม่มาตรงนั้น เพราะว่าปัญญารู้ว่าตรงนั้นเป็นโลภะ ศัตรูตรงกันข้าม หรือว่าสิ่งที่โลภะกลัว ถ้าจะใช้คำธรรมดา อย่างเดียว คือปัญญาที่รู้ลักษณะของโลภะ

    ผู้ฟัง ส่วนมากปัญญามันจะเกิดไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ นี่ไง เรา เราจะมีอยู่ตลอด จนกว่าเมื่อไรเรารู้ว่า นั่นก็คือเราๆ ความหวังใดๆ ก็เพราะมีเราอยู่ จะเมื่อไรก็เมื่อนั้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัจจัยของได้ยิน ได้ยินจะเกิดได้ไหม แล้วเราจะไปบอกว่า เมื่อไรจะได้ยิน มันไม่มีปัจจัยที่จะให้ได้ยินเกิด ได้ยินจะเกิดได้อย่างไร เมื่อไม่มีปัจจัย คือ เสียง แม้ว่ามีโสตปสาท แต่เสียงไม่เกิด ถ้าเสียงไม่เกิด แล้วก็จะเกิดได้ยินขึ้นอย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีปัจจัยของเสียง แล้วเราก็บอกว่า เมื่อไรจะได้ยินๆ ก็เหมือนกับไม่มีปัจจัยของสติปัฏฐาน แล้วเราก็จะคิดว่า เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด แต่สติปัฏฐานเป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยของสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็เกิดแน่นอน ช้าหรือเร็วนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ช้าเพราะรอ ช้าเพราะคอย ก็กั้นไปเรื่อยๆ ต้องอาจหาญร่าเริงจริงๆ โดยเฉพาะคนที่ไปสำนัก เคยทำ เคยหวัง แล้วก็รู้สึกเหมือนกับว่าได้ใช้ความพยายามเต็มที่ เหมือนกับว่าต้องมีวิริยะ อะไรอย่างนี้ แต่ว่าไม่รู้ว่าวิริยะมีทั้งสัมมา และมิจฉา มีทั้งกุศล และอกุศล กว่าจะตัดใจได้ มีความอาจหาญร่าเริงว่า ไม่ต้องทำ แล้วก็เป็นปกติ แล้วเขาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น เวลานี้ถูกเขาหุ้มห่อ

    ผู้ฟัง พอเป็นปกติมันก็มักจะลืมสติมาก

    ท่านอาจารย์ นั่นนะสิ

    ผู้ฟัง นั่นคือการเป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คนจะไม่กล้าที่จะอาจหาญ

    ผู้ฟัง แล้วก็เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ เพราะความเป็นเรา ความเป็นเราไม่อาจหาญร่าเริงที่จะเป็นปกติแล้ว เมื่อมีเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัย ถ้าปัญญามี ก็เกิดแน่นอน แต่ถ้าไม่เกิดก็หมายความว่ายังไม่พอ

    ผู้ฟัง แล้วเราจะสร้างเหตุปัจจัยขึ้นมาได้

    ท่านอาจารย์ นี่แหละ เราอีกแล้ว ก็ไม่พ้นเลย เขาผูกเอาไว้มากมายมหาศาลเลย เมื่อไรอาจหาญร่าเริง จริงๆ มีความรู้ว่า เราสะสมอกุศลมานานเท่าไร แค่นี้ แสนโกฏิกัปป์ ทั้งอวิชชากับโลภะ แล้วจะให้เรามีสติปัฏฐานมากๆ ให้รู้แจ้งสภาพธรรมเร็วๆ ก็เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย แล้วก็ห่างไกลไปเลย เพราะเหตุว่าเป็นไปด้วยความหวัง ยิ่งไปทำอย่างอื่นขึ้นมาก็ยิ่งไปเลย ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดแล้ว เพราะว่าจริงๆ หนทางนี้เป็นหนทางละ รู้แล้วละ แต่ถ้าหนทางอะไรที่ใครมาสนับสนุนให้เราเพียรมากๆ เพื่อจะได้ ถ้าเราพิจารณาจริงๆ แล้วเราไม่เอา หนทางนั้น เพียรเพื่อจะได้ กับรู้ความจริงแล้วละคลาย ถ้าไม่ละคลายก็จะไม่มีความรู้ขั้นต่อไปขึ้นไปอีก เพราะว่าถ้ายังคงติดข้องอยู่ก็ปิดกั้นการที่จะรู้ยิ่งขึ้นๆ ๆ เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องรู้โลภะอย่างละเอียดขึ้นๆ ตามลำดับ แม้แต่เยื่อใยเล็กน้อยสักเท่าไรก็รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นโลภะ

    ผู้ฟัง พอรู้แล้ว รู้ขั้นละเอียดขึ้นไปแล้ว มันเป็นไปได้ไหมที่จะหลงลืมอีกแล้วก็ไม่รู้อีก

    ท่านอาจารย์ มีอวิชชาอยู่หรือเปล่า หรือหมดไปเลย นี่ก็เป็นคำตอบ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็รู้ความต่างกันของความเป็นอนัตตาด้วย บังคับบัญชาไม่ได้ด้วย เมื่อเกิดขึ้น รู้แค่ไหนก็แค่นั้น แล้วเมื่อรู้ขึ้น ก็รู้ขึ้น คุณพิชัยคงทราบเรื่องการจับด้ามมีด พออยากจะได้เร็วๆ ก็จับด้ามมีดเลย

    ผู้ฟัง จับให้มันสึกบ่อยๆ แล้วมันก็ไม่สึกเสียที

    ท่านอาจารย์ ด้วยความหวัง ถ้าเป็นปัญญา ปัญญาเขาทำหน้าที่ของเขา เขาต้องอดทนมาก ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ให้รู้เลย ไม่มีอะไรที่จะอดทนเท่าการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าเป็นเรื่องละ ถ้าเป็นเรื่องสนับสนุนส่งเสริมให้พากเพียร รู้สึกทำกันได้ คืนหนึ่ง ไม่นอนก็ได้ ๒ คืน ๓ คืนก็ได้ เพื่อที่จะได้ เพื่อที่จะเอา แต่นั่นผิด

    ผู้ฟัง คุณพิชัยบอกว่า ปัญญาเกิดขึ้นไม่ทันโลภะ

    ผู้ฟัง เกิดไม่ทันนี้หมายถึงว่ามันจะลืมเสียส่วนใหญ่ คือมันเกิดไปแล้วดับไปแล้วนานแล้ว และไปนึกย้อนกลับมา อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ทันของคุณพิชัย หมายความว่า โลภะเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ปัญญาไม่ได้ตามรู้เลย แต่ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า กายานุปัสสนา อนุปัสสนา ตามเห็น ไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นไม่มี ยังไม่เกิด แล้วเราไปเห็น ไปรู้ ถูกต้องไหม แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว อย่างถ้าเราเรียนวิถีจิต ใช่ไหม เราก็ทราบว่าทางปัญจทวารวิถีจิตเกิด ดับไปเลย มีภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ รู้อารมณ์เดียวกันเลย แล้วหลังจากนั้นหลายๆ วาระก็จะคิดนึกเป็นเรื่องราว หรือว่าเป็นความรู้ในเรื่องรูปร่างสัณฐานต่างๆ อย่างที่เวลานี้กำลังเป็นอยู่ คือเห็นแล้วก็รู้ว่าเป็นอะไร แต่ความจริงขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่รู้ คนละขณะ เหมือนกับได้ยินเสียงกับเข้าใจความหมายก็คนละขณะ เพราะฉะนั้น แทนที่เมื่อทางปัญจทวารทวารหนึ่งทวารใดดับแล้ว แล้วก็จะคิดเรื่องของสิ่งนั้น เช่นในขณะนี้ สติสัมปชัญญะตามรู้ หมายความว่า รู้ลักษณะที่รู้ต่อจากปัญจทวารนั่นเอง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อันนั้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน หมายความว่าสิ่งที่เกิดแล้วเป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้งของสติที่ระลึก แต่สิ่งนั้นต้องมี ต้องเกิด แล้วทางมโนทวารรู้ต่อพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะที่ตามรู้ลักษณะนั้นว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ในข้อความทุกคำจะมีความหมายที่ถูกต้อง เช่น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ปัญญาที่ตามรู้ลักษณะของกายที่ปรากฏด้วย ไม่ใช่ที่ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง อย่างสมมติว่าเราระลึกถึงอารมณ์ หรือว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาภายในวันเดียวกัน แล้วเราระลึกว่าเป็นนามธรรมอะไรเกิดขึ้น มีกิเลสอะไรเกิดขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่ถูกหรือผิด

    ท่านอาจารย์ อันนั้นเป็นการคิดเรื่องนามธรรมกับรูปธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่เป็นการฝึกฝน ใช่ไหม อย่างนี้ถือว่า เป็นการฝึกฝน

    ท่านอาจารย์ จะฝึกหรือไม่ฝึกก็ไม่ใช่เรา ตรงนี้เป็นจุดที่ว่า จากการไม่ใช่เรา เริ่มต้นไปจนถึงไม่มีเราโดยตลอด

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราระลึกถึง เรื่องในอดีต

    ท่านอาจารย์ การระลึกเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เกิดขึ้นมันเป็นผลดีต่อการเจริญสติปัฏฐาน ไหม

    ท่านอาจารย์ คือไม่มีอะไรพ้นจาก จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น เราจะทำอะไรๆ อย่างไรก็ตามจะพ้นจากจิต เจตสิกได้ไหม เพราะฉะนั้น อย่างการระลึกเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า หรือว่าเป็นสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คำถามผม ถือว่าเป็นการฝึกฝนไหม

    ท่านอาจารย์ มาถือไม่เอา ต้องความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เราถือผิดได้ เราถือถูกได้ แต่เราต้องรู้ว่าความจริงคืออย่างไร แม้แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นการฝึกหรือเปล่า ใช่ไหม คำถามของคุณพิชัย เพราะว่ายังมีความเป็นเราจึงมีการฝึก แต่สติเป็นสภาพธรรม มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นระลึก เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นระลึกครั้งหนึ่ง มีการฟังเข้าใจเพิ่มขึ้น การระลึกภายหลังจะเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า วันนี้เราไม่ได้มีสติปัฏฐานเกิด แต่เรามีอย่างอื่นเกิด ทำไมอย่างอื่นเกิดมาได้ ถ้าไม่มีการสะสมมาแล้วมากในอดีต ทุกคนมีอุปนิสัยต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะมีศรัทธามาก ใครจะมีวิริยะมาก ก็แล้วแต่ สิ่งต่างๆ เหล่านั้นต้องเกิดมีมานานแล้ว สะสมจนกระทั่งเป็นอนันตรูปนิสสยปัจจัย ปกตูปนิสสยปัจจัย จนถึงกาลที่พร้อมจะเกิดก็มีปัจจัยที่จะเกิด เหมือนคนที่มีอะไรมากสิ่งนั้นก็เกิด สิ่งที่น้อยๆ ก็เกิดน้อย สิ่งที่มากๆ ก็เกิดมาก ฉันใด สติปัฏฐานก็เหมือนกัน ถ้าเกิดแล้วมีการฟังเข้าใจเพิ่มขึ้น สติปัฏฐานเขาก็ระลึกอีก อย่าให้มีความหวังมาเป็นผู้จัดการว่า อยากให้มีมากๆ เพราะว่ามีมากได้อย่าไรถ้าเหตุไม่มีพอ มันขึ้นอยู่กับเหตุ ส่วนความหวังก็เรื่องของความนึกคิดกับโลภะที่พร้อมที่ว่าถ้าเราพลาดเมื่อไร จูงไปเลย ให้ไปทำอะไรก็ได้ ถ้าเรายังไม่พลาด เรายังประคับประคองตัวเราด้วยความเข้าใจที่มั่นคงว่าเป็นเรื่องรู้แล้วละ เราไม่ได้ต้องการอะไร เมื่อไรก็เมื่อนั้น ตามเหตุตามปัจจัย รู้เมื่อไรก็คือรู้ขึ้น รู้ขึ้น ขณะที่รู้ขึ้นๆ ละความต้องการ และละความเป็นเรา จนกว่าจะไม่มีเราได้จริงๆ ต้องตรงตามความเป็นจริง ขั้นฟังเรารู้ว่า ไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้นความรู้ของเราต้องตรง ต้องคม ต้องเพิ่ม จนกระทั่งสามารถจะถึงที่สุด คือ ไม่มีตัวตนแน่นอน ไม่ใช่มีตัวตนตอนนี้ ฟังมาไม่มีตัวตนแล้วก็มีตัวตนที่อยากจะได้ หรืออยากจะทำ

    ทุกคนที่อ่านพระไตรปิฎก คงได้ยินคำว่า กถา แปลว่าคำพูด ที่เกี่ยวกับวิริยะ หรือว่า กถา คำพูดที่เกี่ยวกับการละ การคลาย ไม่ใช่การติดข้อง ขณะนี้เรากำลังพูดคำที่จะทำให้ละความติดข้อง หรือว่ากำลังพูดเพื่อที่จะให้เราติดมากๆ ให้ทำมากๆ ให้ได้มากๆ หรือกถาที่เกี่ยวกับวิริยะ ถ้าเข้าใจผิด เราไปทำใหญ่เลย ทำเพียร แต่กถาที่เกี่ยวกับวิริยะคือว่า ให้รู้ว่าวิริยะเป็นวิริยะ ขณะนี้มีแล้ว ไม่อย่างนั้นไม่ทรงแสดงอภิธรรม วิริยเจตสิกเกิดกับจิตเท่าไร เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท เว้นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๑๖ ดวง นอกจากนั้นเพียงแค่โมหะเกิด โมหะแท้ๆ ยังมีวิริยะเกิด ไม่ใช่เราเลย วิริยะก็ทำหน้าที่ของวิริยะ เพราะฉะนั้น กถาที่กี่ยวกับวิริยะก็คือว่า ไม่ใช่เป็นเราเพียร แต่ให้รู้ว่า ความเพียรจะเกิดขึ้นทำหน้าที่จนกว่าจะดับกิเลสได้ เพียรที่จะอบรมอย่างช้าๆ หยั่งรู้อย่างละเอียดจนกว่าจะดับกิเลสได้ ไม่ใช่ไปเพียรนั่ง ๓ วัน ๑๐ วัน ๗ วัน แล้วบอก นี่ไง พระพุทธเจ้าบอกให้เพียร อย่างนั้นไม่ได้

    ผู้ฟัง สรุปว่า ธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเอง แล้วทำหน้าที่ของธรรมเอง แล้วอาศัยกายเราเกิดเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เราก็ไม่มี ถ้าศึกษาโดยละเอียดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้ แต่รูปนี้ก็เกิดดับ มีอายุสั้นมากเพียง ๑๗ ขณะจิต รูปๆ หนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ไม่มีทางที่จะรู้อันนี้ เพราะว่าต้องเป็นปัญญาจากการตรัสรู้ ที่กล่าวอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่า จิตเห็นขณะนี้กับจิตได้ยิน เหมือนพร้อมกันเลย ทั้งๆ ที่ได้ยินก็ยังเห็นอยู่ พร้อมไหม เหมือนพร้อมกัน แต่ทรงแสดงว่า ระหว่างจิตเห็นกับจิตได้ยิน มีจิตเกิดดับเกินกว่า ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปๆ หนึ่ง ดับแล้ว รูปใดที่ไม่ปรากฏทั้งตัว รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้วหมด เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวเรา แต่มีรูปที่ประชุมรวมกัน แล้วก็สามารถจะปรากฏทางกาย แล้วก็สืบต่อทางมโนทวาร รูปไหนก็รูปนั้น ส่วนรูปอื่น จำไว้ว่ามี แต่ความจริงมีหรือเปล่า ถ้าไม่ปรากฏ มี เพราะมีปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไปเลย แล้วรูปที่เกิดแล้วดับจะไม่มีกลับมาอีกเลย ทั้งนามธรรม และรูปธรรม แต่ละขณะที่เกิดมา เกิดมาแล้วก็ไปๆ ๆ ไปตลอด ไม่มีอะไรเหลือเลย กลับมาไม่ได้เลย เฉพาะรูปที่อยู่เท่านั้นที่เกิดปรากฏ ที่เราคิดว่าอยู่ แต่ความจริง รูปนั้นเกิดแล้วก็ดับด้วย

    คำถามง่ายๆ ถามคุณพิชัยว่า กุศลเป็นเรื่องละหรือเรื่องติด กุศลทุกชนิดเลย

    ผู้ฟัง กุศลหรือ

    ท่านอาจารย์ กุศลเป็นเรื่องละหรือเรื่องติด เป็นความติดหรือเป็นการละ ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นไหนก็ตาม

    ผู้ฟัง ติด

    ท่านอาจารย์ กุศล ถ้าติดเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสภาพที่ดีงามเป็นกุศล จะไม่ใช่การติด

    ผู้ฟัง อย่างสมมติเราเลือกเฉพาะอารมณ์ที่เป็นกุศลอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ โลภะเขาติดได้ทุกอย่างเลย เว้นนิพพานกับโลกุตตรธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นนิพพาน ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศลไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ โลภะติดนิพพานไม่ได้ เพราะว่าโลภะไม่มีวันจะถึงนิพพานได้เลย โลภะติดโลกุตตระไม่ได้นอกจากนั้นแล้วโลภะติดได้หมดเลย ทุกอย่าง เว้นโลกุตตรธรรม

    ผู้ฟัง โลกุตตระยังเป็นกุศลอยู่ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โลกุตตรมรรคเป็นกุศล โลกุตตรผลเป็นวิบาก นิพพานไม่ใช่กุศล ไม่ใช่วิบาก แต่สิ่งที่เราจะน่าพิจารณา เพราะว่าการที่จะเข้าใจธรรมให้ถูกต้อง จะขาดการพิจารณาแง่นั้นมุมนี้โดยละเอียดไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าเราขาดตกบกพร่อง ความรู้ของเราก็ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น เพียงแค่คิดว่า กุศลเป็นเรื่องละหรือเป็นเรื่องติด กุศลทุกประเภทเลยเป็นเรื่องละหรือเป็นเรื่องติด เป็นการละหรือเป็นการติด ที่ใช้คำว่า กุศล เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม จิต เจตสิกที่ดีงาม ติดหรือละ

    ผู้ฟัง ละ

    ท่านอาจารย์ ละ เพราะฉะนั้น การที่จะไปนั่งสมาธิหรือทำสมาธิละอะไร

    ผู้ฟัง ละความวุ่นวาย

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ละอวิชชา

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่า

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องความต้องการไม่วุ่นวาย

    ผู้ฟัง มันมีแต่ความกระวนกระวาย มีแต่เรื่อง สติมันไม่เกิดแน่นอน มันมืดเลย

    ท่านอาจารย์ เราจะต้องไปอยากได้สติ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คือเราจะไม่ได้ระลึกเลยทั้งวัน

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอะไร

    ผู้ฟัง ระลึกจิตทุกดวง

    ท่านอาจารย์ นิวรณ์ คือ อกุศลจิต เป็นอารมณ์ของสติ และปัญญาได้ เพราะว่าถ้าขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่เกิด นิวรณ์นั้นเป็นเรา ความกลุ้มรุม ความวุ่นวาย ความอะไรสารพัดอย่างที่กังวลใจ เป็นเราหมดเลย แต่ความจริงเป็นธรรม นี่คือสิ่งที่เราลืมไม่ได้เลย แล้วเมื่อไรเราจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม ถ้าเรายังหลบเลี่ยงไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น จะไม่มีวันที่จะเป็นสติปัฏฐานที่เรารอคอยว่าเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด แล้วจะเกิดบ่อยๆ จะเกิดบ่อยๆ คือไม่ว่าสภาพธรรม นั้นเป็นอะไร ปัญญาสามารถรู้ ถ้าไม่รู้ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะถึงขั้นที่ไม่ใช่เราได้ เพราะว่าตรงนั้นยังเป็นเราอยู่ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีจริง อกุศลจิต กุศลจิต อะไรๆ ก็ตามทั้งหมด ทั้งรูปทั้งนามเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพื่อที่จะรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    18 ส.ค. 2567