ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231


    ตอนที่ ๒๓๑

    สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีจริง อกุศลจิต กุศลจิตอะไรๆ ก็ตามทั้งหมด ทั้งรูปทั้งนามเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้รู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น ทุกอย่างต้องสอดคล้อง แล้วก็จะทำให้เรามีความอดทน แล้วรู้เลยว่าอดทนอะไรก็ไม่อดทนเท่ากว่าสติปัฏฐานจะเกิด เพราะว่าไม่ได้อย่างใจเลย อยากจะได้ก็ไม่ได้ อยากจะให้เกิดก็ไม่เกิด อยากจะให้เกิดมากๆ ยิ่งคิดยิ่งไม่เกิด แต่เวลาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นละความไม่รู้ออกไป แม้แต่ในขั้นการฟัง ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อละความไม่รู้จากการฟัง ก็ทำให้สติปัญญาสามารถที่จะมีความมั่นคงเป็นสัจจญาณ ถึงแม้ว่าสติปัฏฐานจะไม่เกิดในชาตินี้ แต่มีสัจจญาณ สัจจญาณนั่นแหละจะเป็นปัจจัยให้เกิดกิจจญาณซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ไปหวังจะได้ แต่เรารู้ว่าเป็นเรื่องละ ต้องด้วยความรู้ความเห็นถูกเท่านั้นถึงจะละได้ มิฉะนั้นเราจะถูกโลภะพาไปในสังสารวัฏฏ์ ไปทางโน้นบ้าง ไปทางนี้บ้างตลอดเวลา

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีสมาธิ อย่างวันหนึ่งที่วุ่นวายอยู่ในการทำงาน มันจะไม่มีแม้แต่เสี้ยววินาทีที่มีสติเกิดเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วถ้าปัญญาไม่รู้เมื่อไรจะไม่ใช่เรา ความวุ่นวายนั้นเมื่อไรจะไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง อันนี้ผมยังอยู่ในประเด็นของสมาธิอยู่

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าสมาธิไม่ได้ละ ต้องเป็นปัญญา

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราไม่ได้หยุดมันเสีย

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ ก็มีความเป็นเรา ตรงกันข้ามที่เราฟัง

    ผู้ฟัง เราไม่หยุดอกุศลเสียก่อนจะนอน

    ท่านอาจารย์ เราฟังว่า เป็นอนัตตา แต่เป็นเราที่จะหยุดอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่หยุดเลย เราก็ไม่มีโอกาส

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะไม่มีการถึงความเข้าใจว่า เป็นอนัตตา เพราะเรามีอัตตาเข้ามาทำแทรกคั่นอยู่ตลอด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น มันก็เกิดทุกข์อยู่ตลอด ถ้าไม่หยุด

    ท่านอาจารย์ ทุกข์เป็นสัจธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อไรเราจะรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็เกิดดับ

    ผู้ฟัง มันร้อน ถ้าไม่หนีทุกข์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เขาจึงได้มีมิจฉาสมาธิด้วยโลภะ ด้วยความต้องการ

    ผู้ฟัง อย่างวันที่สับสนวุ่นวายอย่างนี้ มันจะต้องนั่งสมาธิสักชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง เพื่อจะผ่อนคลาย เพื่อจะระลึกถึงสิ่งที่อาจารย์พูด หรือว่าระลึกถึงธรรม เพื่อจะได้เริ่มต้นใหม่

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นคำสอนของบุคคลอื่น แต่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนอื่นสอนให้ระงับ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้ดับเป็นสมุจเฉท ถ้าเราจะตามลัทธิอื่น คำสอนของศาสดาอื่น ก็มีสมาธิทุกศาสนา แต่ว่าคำสอนที่จะทำให้เราจะเกิดปัญญา ความเห็นถูกต้อง เพราะใครบ้างเล่าที่ไม่มีความวุ่นวาย เกิดมาแล้วก็วุ่นวายกันทั้งนั้นแหละ แต่ใครที่รู้ว่าวุ่นวายนั้นเป็นธรรม แล้วเราจะเป็นบุคคลไหนใน ๒ บุคคลนี้ คือ บุคคลที่โลภะพาเราไปไม่ให้วุ่นวาย แต่ไม่สามารถจะรู้ความจริงในขณะนั้นก็ดับกิเลสไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ความเป็นจริงก็ดับไม่ได้ กับการที่เราพยายามหรือมีความอดทนที่จะไม่ไปตามโลภะ ที่จะให้สงบ ที่จะไม่ให้เกิด แต่ว่าชั่วคราว เพราะว่าเหตุที่จะให้เกิดยังมีอยู่แน่นอน เพราะฉะนั้น การที่เราค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ ขณะใดที่ปัญญาเกิดแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นไม่วุ่นวาย แต่ว่ามีกำลังอ่อนกว่าความวุ่นวาย เพราะว่าปัญญาไม่ถึงระดับขั้นที่สามารถที่จะรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า วุ่นวายหรือไม่วุ่นวายก็เป็นธรรมทั้งนั้น ต้องตรงกับที่เราได้ฟัง ตรงกับที่เราได้เรียน มีความมั่นคงจริงๆ ถึงจะเป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ผู้ฟัง ชั่วคราวก็ยังดีกว่ารุ่มร้อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะมีแต่ชั่วคราว จะไม่มีการดับได้เลย

    ผู้ฟัง จะมีแต่ชั่วคราว แล้วสมาธิเป็น ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องเกิดกับสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสติ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานเท่านั้น ถึงจะเป็น ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ ได้ สมาธิอื่นไมใช่ในมรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง ถ้าสัมมาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ต้องในมรรคมีองค์ ๘ เกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

    ผู้ฟัง ถ้าไปนั่ง ไปนั่งทำ ไปประดิษฐ์ขึ้นมา ไปตั้งใจขึ้นมา ไม่ใช่สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ ทำไมถึงไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะสัมมาทิฏฐิเขาเห็นถูกตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม แล้วขณะนั้นสมาธิไม่ได้รู้พร้อมสัมมาทิฏฐิ กลับไปทำอย่างอื่น แล้วจะเป็นมรรคมีองค์ ๘ ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิกเป็นสมาธิจริง เกิดกับอกุศลก็เป็นอกุศลสมาธิ เกิดกับกุศลขั้นอื่นก็เป็นกุศล แต่ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์ ๘ ถ้าในมรรคมีองค์ ๘ ต้องเกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกในอริยสัจจ์ มรรคนี้ลึกซึ้ง หนทางนี้ลึกซึ้ง ถ้าเราไม่รู้อะไรอย่างถูกต้อง จะลึกซึ้งได้อย่างไร

    ผู้ฟัง สัมมาสมาธิที่เกิดในมรรค แตกต่างจากสัมมาสมาธิ ที่เราไปทำกำหนดขึ้นมาเองอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา เพราะมีเราทำ

    ผู้ฟัง แตกต่างกันที่มีตัวตนกับไม่มีตัวตน เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น แต่ละชาติฟังธรรมเพื่อให้มีสัญญาความจำที่มั่นคงว่า เป็นอนัตตา มีความเข้าใจที่มั่นคงเป็นสัจจญาณในอริยสัจจ์ ๔ แล้วเราจะไม่เขวแล้วเราจะไม่ผิด นี่เป็นเครื่องที่จะประคับประคองเราต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าทางผิด ง่ายมาก โลภะเก่งมาก ไม่ยอมให้เราไป ดึงไว้ ต้องให้ทำสมาธิ นี่คือโลภะ เรื่องได้เป็นเรื่องโลภะหมด เพราะโลภะต้องการ แต่เรื่องละเป็นเรื่องของปัญญา ๒ ทางถ้าเราเปรียบเทียบ เราก็พอจะรู้ได้ว่าทางไหนตรง แล้วทางไหนไม่ใช่ทาง ต้องมีธรรมเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งคือปัญญาของเราเอง ที่ฟังแล้วก็ไตร่ตรอง และอาจหาญร่าเริงที่จะรู้ว่า ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นจึงสามารถจะรู้ความจริง แม้แต่ความวุ่นวายอะไรต่างๆ ใครจะอยากมี แต่ถ้าสามารถจะระลึกได้ แม้ไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็ยังมีความเข้าใจที่ถูกต้องที่ระลึกได้ เพียงแค่ว่าก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง แต่ความอยากของเรามันก็ยังไม่ทิ้งทันที อย่างคนบางคนที่นอนไม่หลับ เริ่มกระสับกระส่าย ทั้งๆ ที่ขณะนั้นก็เป็นธรรม แต่ไม่อยากที่จะรู้ความจริงของธรรม อยากจะหลับ เห็นไหม เขามีอิทธิพลขนาดไหน ทุกชาติเขานำไปตลอด จนกว่าชาติไหนที่ความมั่นคงในเรื่องความไม่ใช่เรา แล้วก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ถ้าสติปัฏฐานจะเกิดบ้าง ก็รู้ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยเท่านั้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ไปคอยอีก ไปหวังอีก ไปพยายามอีก นั่นคือผิดหมด อีกแล้ว ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องอดทนถึงกัปป์ๆ ผู้ที่รู้แล้วท่านเจริญมาก่อนเป็นกัปป์ๆ ทั้งนั้นเลย ไม่มีใครบอกว่าชาติ ๒ ชาติ ท่านก็ได้เป็นพระอริยบุคคล

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เราเข้าใจว่า เมื่อเวลาความวุ่นวายเกิดขึ้นแล้วพิจารณาว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ความวุ่นวายก็เป็นธรรม แล้วเข้าใจลักษณะของธรรมก็เป็นสัมมาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรม คุณพิชัยคงจำเรื่องที่เราพูดถึงเมื่อกี้นี้ เรื่องนางรัชชุมาลาที่กำลังจะฆ่าตัวตาย เขาไม่ใช่เพียงเมื่อกี้ที่ว่าวิตกกังวล หรืออะไรเพียงนิดๆ หน่อยๆ ไม่ใช่วุ่นวายเพียงนิดหน่อย แต่ปัญญาที่ได้สะสมมาแล้ว ลองคิดดู สามารถที่เมื่อฟังธรรมแล้วรู้เลยว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เขา เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงระดับนั้น ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายมากหรือน้อยอย่างไรก็ตาม แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม ท่านที่จะรู้แจ้ง ท่านต้องเข้าใจตรงนี้ว่าทุกอย่างไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็เป็นธรรมทั้งนั้น

    การอบรมของสติปัฏฐานที่ถูกต้องจึงเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะเกิดเมื่อไร กำลังยกหูโทรศัพท์ กำลังเห็นหนังสือพิมพ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าสติปัฏฐานจะเกิดก็คือเกิด ถ้าหมดแล้วก็คือหมด เป็นการสอบความเข้าใจของเราว่า ความเข้าใจของเรามั่นคงที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าเป็นการที่เมื่อเกิดแล้วอยากเกิดอีก เราก็จะเริ่มเห็นโลภะ แล้วเราก็จะรู้ว่า ต้องละอันนี้ เพราะอยากมาเมื่อไร นั่นคือไม่ใช่หนทาง ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อยด้วยความมั่นคงจริงๆ จึงจะเป็นสัจจญาณ ถ้าไม่มีสัจจญาณ กิจจญาณคือสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

    ถ้าเราลองคิดถึงตลอดชีวิตของเราที่ผ่านมา นานแสนนาน เราอยู่ที่ไหน เราคงอยู่ในป่าเต็มไปด้วยต้นไม้มากมายในป่านั้น หลงเป็นชาวป่าอยู่นานแสนนานเลย จนกระทั่งมีคนพาเราออกจากป่า มาถึงที่ที่มีแม่น้ำกว้างใหญ่ แล้วอีกฝั่งไม่มีเรื่องที่จะต้องลำบากเลย เป็นสิ่งที่พ้นจากป่าที่ยุ่ง สารพัดยุ่ง แล้วเรากำลังอยู่ที่ริมตลิ่ง แม่น้ำนั้นก็กว้างใหญ่สุดสายตา แต่อีกฝั่งเรามองเห็นว่า มันเป็นฝั่งที่ตรงกันข้ามกับฝั่งนี้โดยสิ้นเชิง เราจะไม่เอาล่ะ ไม่ไปฝั่งโน้น กลับไปอยู่ป่าดีกว่า หรือว่าต่อให้ถึงจะกว้างใหญ่สักเท่าไรก็ตาม เรากำลังมีคนสอนเราให้ทำเรือสิ ทำอย่างนี้ๆ ๆ สำหรับเพื่อที่จะข้ามไปถึงฝั่งโน้นได้ เราจะกลับไปสู่ป่า หรือว่าจะฟัง แล้วก็ค่อยๆ สร้างเรือที่จะใช้สำหรับนำไปสู่อีกฟากหนึ่ง แล้วระหว่างนั้นจะต้องมีทั้งมหาสมุทร มีทั้งอะไรสารพัดอย่าง แต่ถ้าเรือของเรามั่นคง แล้วเราก็เห็นประโยชน์จริงๆ ของการที่เราจะไม่อยู่ในฝั่งนี้อีกต่อไป เราก็ค่อยๆ พากเพียรไปทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางแม่น้ำ ก็ไม่ละทิ้ง แต่ว่าเพียรต่อไปๆ เหมือนพระมหาชนก แล้ววันหนึ่งเราก็ถึงฝั่งนั้นได้ แต่ว่าความกว้างใหญ่ของโอฆะ หรือแม่น้ำนี้ กว้างสุดสายตา เราหวั่นไหวไหม เราท้อถอยไหม เรายังจะจมอยู่ต่อไป หรือว่าจะกลับเข้าไปอยู่ในป่าเหมือนเดิม ไม่มีทางจะเห็นว่า ที่จะพ้นออกมาจากความวุ่นวายทั้งหลายได้

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าถ้าใครก็ตามที่ไม่พบหนทางนี้ ไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้เคยอยู่มาก่อนนานเท่าไรในฝั่งนี้ แล้วการบำเพ็ญพระบารมี ที่จะถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งกว่าใคร ๔ อสงไขยแสนกัปป์ เมื่อเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยศรัทธา ๘ อสงไขยแสนกัปป์ ถ้าเป็นผู้ที่ยิ่งด้วยวิริยะ ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์ เพราะรู้ว่าหนทางมี แต่หนทางนั้นมีหลายอย่าง คือหนทางที่รู้ด้วยตัวเอง แต่ว่าไม่ได้สอนบุคคลอื่น ที่จะให้พ้นทุกข์ออกจากฝั่งนี้ไปด้วยกัน ให้ไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง กับผู้ที่มีความกรุณามาก เห็นว่าคนเดียว แล้วทำไมคนอื่นเขายังมีความทุกข์ เหมือนคนตาบอด คนตาบอดเป็นล้านเป็นพันกี่แสนโกฏิก็อยู่ในป่าด้วยกัน ป่าที่วุ่นวายแล้วตาบอดด้วย ถ้ามีทางช่วยเขาเหล่านั้น จะช่วยไหม เพราะฉะนั้น จึงตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพบหนทางแล้ว ยังแล้วแต่ว่าใครมีบุญที่ได้สะสมมาในปางก่อน มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม แต่ไม่ใช่เพียงฟัง ต้องมีศรัทธา มีปัญญาที่สะสมมาที่จะพิจารณาอย่างละเอียด เพราะพระธรรมที่ทรงแสดงไม่ง่าย เป็นเรื่องที่ยาก แต่ไม่ใช่สุดวิสัย เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏมีจริง พร้อมที่จะให้พิสูจน์ทุกขณะ แล้วก็แต่ละขณะก็เป็นการที่จะข้ามฝั่งไปอีกฝั่งหนึ่ง ที่ไกลก็ค่อยๆ ใกล้ขึ้นทีละนิดทีละหน่อย จนวันหนึ่งก็ถึงได้ แล้วผู้ที่ไปถึงแล้วมีมากมายเลย แล้วก็อาจจะกวักมือเรียกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าท่านเหล่านั้นท่านก็ปรินิพพานไปแล้ว แต่ธรรมที่แสดงเหมือนเชิญชวนให้ไปดูความจริง ให้ไปรู้ความจริงว่า หนทางนี้มี นิพพานมี เป็นอะไรๆ ก็แล้วแต่ ที่จะเป็นการสรรเสริญพระคุณของพระรัตนตรัย แล้วเราอยู่ฝั่งนี้ ก็เลือกเอาก็แล้วกันว่า เราจะหันหลังกลับไปตาบอดอยู่ในป่า หรือว่าจะค่อยๆ ไปด้วยความอดทน ถ้าเรามีความมั่นใจ มีความมั่นคงจริงๆ มีสัจจญาณจริงๆ ต้องถึง เพราะปัญญาจะพาไปไหน พาไปสู่ความเห็นถูกต้องยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นความเห็นผิดแม้สักนิดเดียว พาไปไหน ก็พาไปทางอื่นที่ไม่ใช่หนทางที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อุปมาได้ดีมากเรื่องเกี่ยวกับสร้างเรือที่จะข้ามฝั่ง การที่เราจะสร้างเรือข้ามฝั่งคนเดียว มันก็เป็นของอาจจะได้เรือเล็กๆ แล้วอาจจะไม่แข็งแรงพออาจจะโดนลม โดนคลื่นกระทบไปกระทบมา ก็อาจจะถึงลำบาก แต่การที่เรามีกัลยาณมิตรหลายๆ คน ช่วยกันสร้างเรือ ช่วยกันพากันไป ให้กำลังใจกันไปแล้วช่วยกันสร้างข้ามฝั่ง อาจจะเป็นประโยชน์มากขึ้น เพราะว่าหนทางข้ามฝังมีอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกัน และกันที่พากันข้ามฝั่ง อันนั้นก็ขอให้พิจาณาดูก็แล้วกัน

    ท่านอาจารย์ กิเลสก็มากมายมหาศาล ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับ ก็คงจะคิดย้อนไปก็แล้วกัน ชาตินี้แค่ไหน ชาติก่อนๆ แค่ไหน แม้แต่พระธรรมที่ทรงแสดงกับท่านพระราหุล เพราะเหตุว่าท่านพระราหุลตอนที่บวช ท่านก็ยังอายุไม่มาก จิตของท่านก็อาจจะยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ เพราะฉะนั้น ก็ทรงแสดงพระธรรม อุปมาท่านพระราหุลว่าเหมือนกับเรือซึ่งเต็มไปด้วยรัตนะ เพราะว่าท่านสะสมมาถึงกาลที่จะเป็นถึงพระอรหันต์ แต่เรือนั้นก็อาจจะรั่วได้ ถ้ามีรอยรั่วถึงแม้ว่าจะบรรทุกรัตนะมาเต็มก็จม เพราะฉะนั้น ประมาทไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง เวลาฟังธรรม ถ้ากุศลจิตเกิดจะทำให้เข้าใจธรรมได้ดีกว่าอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจเป็นกุศล ขณะที่ไม่เข้าใจเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง มันก็เกิดสลับ

    ท่านอาจารย์ ได้

    ผู้ฟัง แล้วเวลาที่กล่าวธรรม จิตจะต้องเป็นกุศลด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดคำพูดอย่างไหน และอกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดคำพูดอย่างไหน

    ผู้ฟัง ถ้าพูดในเรื่องธรรม ก็ควรจะเป็นกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าวาจานั้นถูก ต้องเกิดจากจิตที่เป็นกุศล ประกอบด้วยความเห็นถูก

    ผู้ฟัง บางคนพูดธรรมก็ยังมีโมหะอยู่ คือฟังดูรู้

    ท่านอาจารย์ สลับได้

    ผู้ฟัง เพราะว่าถ้าถามคำถามอะไรที่ไม่ถูกใจก็อาจจะโมหะ หรือว่าโทสะเกิดขึ้นได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างจริง

    ผู้ฟัง เรื่องเมตตา ปัจจัยที่ทำให้เกิดเมตตา แล้วก็เมตตาเป็นกุศลจิต เป็นการเจริญสติปัฏฐานด้วยหรือเปล่าเวลามีเมตตา

    ท่านอาจารย์ เมตตาเป็นคำภาษาบาลี มาจากคำว่า มิตตะ ซึ่งภาษาไทยเราก็ใช้ง่ายๆ ว่าความเป็นเพื่อน ความเป็นเพื่อนก็คือความหวังดีพร้อมที่จะช่วยเหลือ เป็นผู้ที่ไม่เป็นภัยต่อใครเลย เพราะฉะนั้น ก็ง่ายเมตตา มีความเป็นเพื่อนพร้อมที่จะช่วยเหลือ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน อย่างไรก็ตาม แต่ว่าถ้าเราไม่ได้สะสมมา แทนที่เรามีความเป็นเพื่อน เราอาจจะรู้สึกว่าไม่ชอบหรือมีความรังเกียจ หรือมีช่องว่างระหว่างเขากับเรา ก็กลายเป็นว่าไม่ใช่ผู้ที่เป็นมิตรหรือเป็นเพื่อนจริงๆ แต่ถ้าเป็นเพื่อนจริงๆ คือว่าพร้อมที่จะช่วยเหลือ นั่นคือลักษณะของเมตตา ความเป็นมิตร อย่างคนไทยเรา ตั้งแต่ไหนแต่ไรมารู้สึกว่า เราจะเป็นคนที่รู้สึกว่าใครๆ ก็บอกว่า ยิ้มง่าย แสดงถึงความมีมิตรไมตรี พร้อมที่จะช่วยเหลือ ถ้ามีใครไม่รู้จักหนทาง บางคนก็เพียงแต่บอกให้ บางคนก็ถึงกับพาไปจนกระทั่งถึงที่นั่นก็ได้ นี่ก็แสดงว่ามีความเป็นเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน แต่ที่เจริญให้มากขึ้นก็คือว่า ถ้าขณะใดที่เรามีความรู้สึกว่า มีความต่าง เช่น เรามีความสำคัญตน ขณะนั้นไม่มีเมตตาแน่ หรือขณะที่เรามีความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ขณะนั้นไม่ใช่ลักษณะของเมตตา เพราะว่าลักษณะของเมตตา ต้องเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะโกรธได้ เพราะว่ามีเมตตา แต่ว่าขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นก็คือขาดเมตตา การที่เราจะรู้ว่าเรามีเมตตามากน้อยเท่าไร ต่อใคร ก็จะสามารถรู้ได้ว่า เราหวังดีต่อคนนั้นหรือเปล่า แม้ว่าเป็นคนที่อาจจะเป็นเพื่อนกันมานาน แต่พอขณะนั้นไม่หวังดี ขณะนั้นก็คือไม่ใช่มิตร หรือว่าไม่มีความเมตตาในบุคคลนั้น ต้องมีสัตว์ มีบุคคลที่กำลังเผชิญหน้าด้วย ถ้าเราคิดว่าเรามีเมตตา ตอนที่เราเข้าห้อง ท่องใหญ่ สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลาย แต่พอเห็นหน้าจริงๆ ทำไมหายไปหมด ที่เราท่องเมื่อกี้ไม่ใช่สัตว์ทั้งหลายแล้ว ไม่สามารถที่เป็นมิตรทุกคนได้ แต่ถ้าเราเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน แล้วก็มีความหวังดีต่อทุกคนขณะนั้น คือเมตตาของเราก็มีมาก แต่ว่าเราเองเป็นผู้ที่จะรู้ว่า เรามีเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้าเรามีการฟังพระธรรม เราก็รู้ว่าเมตตามีประโยชน์มาก เพราะว่าขณะนั้นไม่มีโทสะ ทำให้เป็นผู้ที่สามารถจะเป็นมิตรพร้อมที่จะช่วยใครได้ ขณะนั้นเป็นเมตตา แต่ไม่ใช่ท่อง

    ก่อนศึกษาธรรม ทุกคนก็คงจะมีแต่โลภะ แล้วก็แยกไม่ออกว่าโลภะกับเมตตาต่างกันอย่างไร แต่เวลาที่ศึกษาธรรมแล้ว เราสามารถจะเข้าใจขณะที่เป็นโลภะกับขณะที่เป็นเมตตา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นโลภะจะนำมาซึ่งความทุกข์ เวลาที่เราหวังต้องการที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอย่างนั้น แต่ไม่เป็นอย่างที่เราหวัง ขณะนั้นเป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นเมตตาซึ่งเป็นกุศล ไม่มีทางที่จะทำให้เป็นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น เราอาจจะคิดว่า นี่เรามีเมตตา หรือว่านี่เรามีโลภะ แต่ถ้าทุกข์เกิดเมื่อไร แสดงว่าทุกข์นั้นต้องเกิดจากโลภะ แต่ไม่ใช่เกิดจากเมตตา โดยเราอาจจะหลงเข้าใจผิดคิดว่า เป็นเมตตาก็ได้

    ก่อนที่จะศึกษาธรรม ทุกคนมีผู้ใกล้ชิด มีพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง มิตรสหาย ภรรยาสามี บุตรธิดา เรารักผูกพันใกล้ชิด แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะเราก็ทำดีกับบุคคลที่เรารักเสมอ ทำทุกอย่างให้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ อาจจะเป็นครูบาอาจารย์ อาจจะเป็นเพื่อน สามีภรรยา บุตรธิดาก็ได้ เราคิดว่าพี่เราทำดี ทำทุกอย่างให้คงจะเป็นกุศล แต่ว่าเมื่อศึกษาแล้ว สามารถที่จะแยกออก เคยเป็นอกุศล เคยผูกพัน แต่ว่าถ้ามีปัญญา เราเริ่มเห็นตามความเป็นจริง เพราะทุกๆ คนมีอัธยาศัยต่างกัน ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน เมื่อมีความเข้าใจธรรมมากขึ้น เราเริ่มจะมีเมตตาซึ่งต่างกับลักษณะของโลภะ แทนที่จะมีแต่โลภะต่อกัน เสมอๆ แต่เวลาที่อีกคนหนึ่ง โกรธ แล้วเราก็เป็นผู้ที่ศึกษาเข้าใจธรรมว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ตรงกันข้ามกับเมตตา ถ้าเป็นเมตตาจะไม่โกรธ เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นระลึกได้ แม้คนอื่นจะโกรธ เราก็จะไม่โกรธ ถ้าสติเกิดแล้วระลึกได้ แต่ถ้าสติไม่เกิดก็โกรธกันได้ เพราะว่าเป็นโลภะ

    คนที่เราพอใจ รักใคร่ สนิทสนม คุ้นเคย ถ้าทำสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา เราก็เกิดโทสะ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องเป็นโลภะแน่นอน แต่ถ้าปัญญาเกิด เราเห็นความต่างกัน บางคนเขาจะคิดว่า ถ้าเราเป็นคนที่รู้ธรรม เข้าใจถูก แล้วเราจะไปโกรธคนที่ไม่รู้ สมควรไหม ถ้าเขาไม่รู้ธรรม เขาโกรธ ก็เป็นเรื่องที่เขาไม่รู้ เขาถึงได้โกรธ แต่คนที่ศึกษาธรรมเข้าใจว่า โทสะเป็นอกุศล แล้วก็เมตตาคืออย่างไร ขณะนั้นเขาก็อาจจะเกิดเมตตาขึ้น คือ ไม่โกรธคนนั้น แล้วก็มีความเห็นใจ แล้วก็มีความเข้าใจได้ แล้วก็เป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นว่า ขณะใดเป็นกุศลก็เป็นกุศล ขณะใดเป็นโลภะ ก็เป็นโลภะ แล้วก็สามารถที่จะเจริญกุศลขึ้นได้เมื่อปัญญาเพิ่มขึ้น เพราะว่าแทนที่จะเป็นโลภะตลอดล้วนๆ ก็จะเป็นเมตตา เมื่อถึงกาลที่ควรจะเมตตาก็เมตตา ซึ่งก่อนนั้นไม่รู้เลย เป็นโลภะตลอด ไม่พอใจตลอด ถ้าได้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ แต่พอเข้าใจแล้ว แทนที่จะเป็นโลภะอย่างเดียว ก็มีเมตตาต่อกันได้มากขึ้น แล้วเมตตาจะไม่ทำให้เป็นโทษหรือว่าจะไม่ทำให้โทสะเลย ไม่ทำให้เป็นทุกข์

    ผู้ฟัง สมัยนี้คนที่มีครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีความเข้าใจถูก แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้ในพรหมวิหาร ๔ ครอบครัวส่วนใหญ่ก็จะอยู่ด้วยกันอย่างไม่มีความสุข ผู้ที่มีครอบครัวทั้งหลายที่จะนำพรหมวิหาร ๔ มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร ถึงจะได้มีความสุขมากๆ

    ท่านอาจารย์ คงไม่จำกัดเฉพาะภายในครอบครัว ต้องกว้างออกไป โลกที่จะสงบสุขได้เพราะความเป็นมิตรต่อกัน ถ้ามีความเป็นมิตรก็คือว่าเข้าใจบุคคลนั้นด้วย เวลาจะโกรธใคร เพราะเราไม่เข้าใจเขา อย่างบางคนเวลามีใครขับรถแซงปาดหน้า รีบร้อนผิดกฎจราจร ก็จะเกิดขุ่นใจว่า ทำไมเขาทำอย่างนี้ แต่ถ้าเรามีความคิดว่าเขาคงจะมีธุระด่วน อาจจะมีญาติอยู่โรงพยาบาล หรืออาจจะจำเป็นต้องทำอย่างนั้น เราก็จะไม่เกิดโทสะ คือแทนที่จะคิดในทางที่จะทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง เรามีความเข้าใจ และเห็นใจในการกระทำของคนนั้น ซึ่งเขาจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็นอย่างนั้น จะจริงหรือไม่จริง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสอบสวนว่า จริงหรือเปล่า คุณมีอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า แต่ข้อสำคัญที่สุดคือใจของเราเท่านั้นที่รู้ว่า ทุกคนที่บางครั้งเราก็ทำ ไม่ใช่หรือ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 17
    19 ส.ค. 2567