ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
ตอนที่ ๒๓๒
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ แทนที่จะคิดในทางที่จะทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง เรามีความเข้าใจ และเห็นใจในการกระทำของคนนั้นซึ่งเขาจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่เป็นอย่างนั้น จะจริงหรือไม่จริง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปสอบสวนว่าจริงหรือเปล่า คุณมีอย่างนี้จริงๆ หรือเปล่า แต่ว่าข้อสำคัญที่สุดคือใจของเราเท่านั้น ที่รู้ว่าทุกคนก็บางครั้งเราก็ทำ ไม่ใช่หรือ แต่เวลาที่คนอื่นทำรู้สึกว่าเราโกรธ แต่พอตัวเราทำไม่เห็นเราโกรธเลย ข้ออ้างของเราอยู่ที่ไหนเวลาที่เราทำ
นี่ก็เป็นเรื่องของความละเอียด เป็นเรื่องที่ทุกคนจะรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้น ดิฉันก็มีเรื่องหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ฟัง มีคนหนึ่งที่เขาให้อาหารคนรับใช้ในบ้าน ส้ม เขาก็หยิบลูกที่ไม่ค่อยดีให้ไป ไม่ทราบว่าเป็นอย่างนี้กันหรือเปล่า เพราะว่าตัวเองหรือวงศาคณาญาติก็จะมีการให้สิ่งที่ดี ลูกดีๆ อะไรอย่างนี้ แต่พอถึงจะให้คนอื่น ก็เลือกลูกที่เขียวๆ อะไรๆ ก็แล้วแต่ที่ไม่ดีให้ไป ก็เกิดนึกขึ้นมาได้ว่า ทำไมเราทำอย่างนี้ ก็ตั้งใจใหม่ ทีนี้ลูกไหนก็หยิบไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองที่จะเก็บไว้ หรือของคนที่รับใช้
แต่ละคนจะมีประสบการณ์ในชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าเรารู้จักใจของเราเพิ่มขึ้น แล้วพร้อมกันนั้นก็รู้ว่าเรามีอกุศลขณะไหน ตรงไหน การให้ของเราเป็นการให้จริง แต่การให้ แล้วก็ยังเป็นการให้ที่มีการไม่เสมอกัน ก็ยังมีอยู่ อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น กุศลจิตจึงได้มีหลายระดับ อย่างประณีตแล้วก็อย่างที่ไม่ประณีตก็ได้ ก็มีหลายตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความเป็นผู้ตรงต่อธรรม แต่ต้องเฉพาะกาลๆ เพราะว่ากุศลเขาไม่ได้มีโอกาสที่จะเกิดมาก เพราะว่าอกุศลเขาเกิดมากกว่า แล้วอีกคนเขาก็เอาเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยงกับลูกชายของเขา ขนมที่จะให้เด็กคนที่เอามาเลี้ยงไม่ดีเท่ากับของสิ่งที่จะให้กับลูกของตัวเอง ปรากฏว่าลูกของตัวเองก็ถามพ่อแม่เขา บอกว่า ทีลูกของตัวเองให้สิ่งที่ดี แล้วทำไมไม่ให้สิ่งที่ดีกับเด็กที่เอามาเลี้ยง นี่คือความตรงของเด็กซึ่งสามารถที่จะเห็นการกระทำของพ่อแม่ แล้วก็รู้ว่าพ่อแม่ทำอย่างนี้ แล้วทำไมให้แต่ลูกของตัวในสิ่งที่ดี แล้วลูกคนอื่น คนที่เอามาเลี้ยงไม่ได้อย่างนั้น
นี่ก็เป็นการสะสม ซึ่งแต่ละคนก็จะเห็นการสะสมที่ต่างกันของทางฝ่ายกุศล และอกุศล แต่มั่นใจอะไรไม่ได้เลย เพราะจิตใจรวนเร และกลับกลอก วันนี้เป็นอย่างนี้วันหน้าเป็นอย่างอื่น เหมือนตอนที่เราเป็นเด็ก ครูบาอาจารย์หนังสือศีลธรรมก็สอนเสียอย่างดีเลย ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต ให้อะไรต่ออะไรสารพัด แต่ทำไมโตขึ้นมีคอรัปชั่น มีอะไรๆ ต่างๆ ตามเหตุการณ์ เพราะฉะนั้น การที่เราจะเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม แล้วก็เข้าใจความละเอียดของธรรม ก็จะช่วยทำให้เราไม่เป็นไปอย่างที่ผู้ที่ไม่มีความเข้าใจธรรมจริงๆ เวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ไม่รู้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นเพราะอะไร แล้วก็ควรหรือไม่ควรมากน้อยแค่ไหน
สำหรับเรื่องของกุศลมีหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของทานการให้วัตถุสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่คนอื่น อย่าลืมให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ไม่ใช่ให้เพื่อตัวเราจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือว่าจะเป็นที่รักที่ชอบใจของคนที่เราให้ หรืออะไรก็แล้วแต่หลายประการ ซึ่งไม่ใช่การให้เพื่อประโยชน์ของคนนั้น ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการให้อย่างจริงใจ เพราะว่าการให้จริงๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น นี่เรื่องของทาน เรื่องของศีล เราก็คงไม่อยากจะให้ใครมาเบียดเบียนทำร้ายเราทั้งกาย ทั้งวาจา เพราะว่าบางคนไม่ทำร้ายคนอื่นด้วยกายก็จริง แต่ทำร้ายด้วยวาจา แล้วลองกลับกันว่า ถ้าเราเป็นคนที่แทนที่จะเป็นคนพูด แต่เป็นคนฟัง เราจะรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรม การที่มีกุศลจิตเกิด มีจิตใจที่อ่อนโยน กาย วาจาก็จะอ่อนโยนตามไปด้วย แต่นอกจากขั้นทานขั้นศีลซึ่งเรารู้จักกันแล้ว ก็มีขั้นความสงบของจิตซึ่งเป็นกุศล เวลาที่ไม่ใช่โอกาสของทาน ไม่ใช่โอกาสของศีลที่จะวิรัติทุจริตเป็นวาริตศีล หรือขณะที่ควรจะมีกายวาจาที่งามเป็นที่เหมาะสม เช่น มีการเคารพผู้ที่ควรเคารพ มีการช่วยเหลือผู้ที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือ พวกนี้เป็นเรื่องของกายวาจาที่ควรกระทำทั้งนั้น นอกจากทาน ศีล แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือความสงบของจิต ซึ่งวันหนึ่งๆ ทุกคนจะเห็นความไม่สงบเพียงโทสะ พอโทสะเกิด รู้เลยไม่สงบ อยากสงบ แต่ว่าไม่เคยรังเกียจโลภะกับโมหะเลย ไม่ชอบโทสะอย่างเดียว แต่ชอบโลภะ แล้วก็โมหะ ก็ไม่สนใจ เราจะรู้ไม่รู้อะไรก็ไม่สำคัญ ขอเพียงให้ใจของเราสบายเท่านั้นก็แล้วกัน อย่างนี้ไม่ชื่อว่าสงบ เพราะฉะนั้น สงบจริงๆ คือสงบจากอกุศล ขณะนั้นไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ซึ่งในหนึ่งๆ ในชีวิตประจำวัน ทุกคนมีตามการสะสม เช่น บางคนสะสมความเมตตา คือ เป็นมิตรกับคนหวังดีต่อคน ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย เขาก็สามารถที่จะช่วยเหลือบุคคลนั้นได้ นี่ก็เรื่องของเมตตา
สำหรับความสงบที่เป็นไปในระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อีกประการที่เป็นพรหมวิหาร คือกรุณา เวลาที่มีใครลำบากกำลังต้องการความช่วยเหลือ เราจะเห็นเลยว่าใครสะสมมามากน้อยอย่างไร คนที่สะสมมาเพียงเห็นใจ แต่อีกคนไม่ใช่แค่เห็นใจ ทำด้วย มีอะไรที่จะทำให้กับบุคคลนั้นได้ แม้แต่สัตว์อย่างสุนัข กำลังถูกรถทับกลางถนน คนนั้นถึงกับพาสุนัขนั้นไปส่งโรงพยาบาล ความกรุณาที่เขาสะสมมามีมากจนกระทั่งทำให้เขาทำอย่างนั้นได้ ในขณะที่บางคนก็สงสาร แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่กระทำ อันนี้ก็เป็นกรุณา ส่วนมุทิตา คือการที่มีจิตพลอยยินดีในสิ่งที่คนอื่นได้สุข จะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ตามแต่ ไม่มีความริษยา เพราะขณะนั้นจริงๆ แล้วรู้ว่า สิ่งใดที่ใครจะได้ก็เพราะกรรมของเขา ไม่จำเป็นที่จะต้องไปอิจฉาริษยาใครเลย ส่วนพรหมวิหารที่ ๔ คืออุเบกขาพรหมวิหาร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นใจของเราอดหวั่นไหวไม่ได้ ถ้าเพื่อนของเราได้ดีมีสุข ความยินดีของเรามากจนเป็นโลภะได้ไหม รื่นเริงไปเลย แต่ว่าเวลาที่ยินดีด้วยอย่างมากมาย ขณะนั้นก็เลยเขตของกุศลไปสู่อกุศล
ธรรมก็มีสิ่งที่ใกล้เคียง เป็นศัตรูใกล้ ซึ่งเรามองไม่ถึงว่าขณะนั้นจะเป็นอกุศลด้วย สำหรับอุเบกขาก็เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวเลย ไม่ว่าจะประสบวาจาหรือการกระทำ หรือแม้เห็นสิ่งซึ่งอาจจะเป็นภาพที่อ่านในหน้าหนังสือพิมพ์ ได้เห็นด้วยตาของตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย อย่างสมมติว่ามีขโมย มีโจร มีการกระทำอะไรที่เบียดเบียนคนอื่น ใจของเราหวั่นไหวไหม ถ้าเราไม่มีพรหมวิหาร คือ อุเบกขา เราก็อดที่จะไม่สบายใจ พลอยเป็นทุกข์เดือดร้อนกับเขาไม่ได้ แต่ถ้าเรามีปัญญาจริงๆ เราช่วยเขาได้ แต่ใจเราไม่หวั่นไหว คือไม่เดือดร้อน อย่างไหนจะดีกว่ากัน คนที่ป่วยไข้ได้เจ็บ เราเข้าไปในโรงพยาบาลสักแห่งหนึ่งเราต้องเห็น ความทุกข์ของแต่ละคนมากมาย เดินไม่ได้บ้าง หรืออะไรบ้างก็แล้วแต่ หรือนอนนิ่งไปไม่รู้สึกตัวเลย เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ใจของเราจะหวั่นไหว แต่ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องว่า ทุกอย่างที่เกิดเป็นผลของกรรม ถ้าคนนั้นไม่ได้ทำมา ผลอย่างนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงต่อกรรม กุศลจิตก็เกิดได้ เพราะรู้ว่าสัตว์โลกเป็นที่ดูผลของบุญ และบาป และเป็นที่ดูบุญ และบาปด้วย ผลของบุญ และบาปคือเราเกิดมาต่างกัน ไม่มีใครทำให้เลย นอกจากกรรมที่ทำให้ต่างกันไป นอกจากนั้นเมื่อเกิดมาต่างกันแล้ว จิตของแต่ละคนก็ยังต่างกันด้วย เพราะฉะนั้น สัตว์โลกก็เป็นที่ดูจริงๆ จะไปตามถนนหนทาง จะเห็นใครที่ไหนอย่างไรก็ส่องไปถึงกรรมที่ได้ทำแล้วทั้งหมดว่า เป็นผลของกรรมที่ทำไว้แน่นอน แล้วถ้ามีการกระทำใดๆ เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่า เป็นที่ดูบุญ และบาป ซึ่งจะเป็นเหตุให้ผลของบุญ และบาปในกาลข้างหน้าด้วย
ถ้าเรารู้อย่างนี้จริงๆ ใจเราจะหวั่นไหวไหม เราก็ไม่เดือดร้อนเพราะมีความเป็นอุเบกขา แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะไม่ช่วยเหลือ แต่ถ้าช่วยแล้วไม่สำเร็จหรือเป็นไปไม่ได้ก็คือแล้วแต่กรรม
ภาษาไทยเราใช้คำมากมาย ที่มาจากความหมายที่ตรงในทางพระพุทธศาสนา แต่เราอาจจะเข้าใจ ไปไม่ถึง เช่นคำว่า “ถึงแก่กรรม” ที่เราใช้หมายความถึงตาย หมายความว่าสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น ไม่สามารถจะเป็นบุคคลนั้นอีกต่อไปได้ เพราะกรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนั้นสิ้นสุด ถึงแก่ที่สุดของกรรม อันนั้นที่จะให้ผลเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป ก็เป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้ และไปตามยถากรรมก็แล้วแต่ว่ากรรมใครทำอย่างไร คนนั้นก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้น
ผู้ฟัง ขอความหมายของกรรมด้วย
อรรณพ กรรมก็คือการกระทำ ซึ่งโดยสภาพธรรมขณะที่มีการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะต้องมีลักษณะของความจงใจ คือ เจตนาเป็นกรรม เช่น กรรมที่จะทำให้ได้ผลคือวิบากต่อไป คือเจตนาที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีเจตนา ก็ไม่สำเร็จเป็นอกุศลกรรมหรือกุศลกรรม
ท่านอาจารย์ พูดถึงชาติของจิต ก็น่าสนใจ เพราะว่าชาติ หมายความถึงการเกิดขึ้น ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังมีจิต หมายความว่าเพราะจิตเกิดขึ้น จึงได้ปรากฏ เป็นสภาพรู้ เป็นสภาพคิด ก็แล้วแต่ว่าจะเห็นหรือจะได้ยิน เพราะฉะนั้น ชาติของจิต เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องมีเป็นจิตประเภทหนึ่งประเภทใดใน ๔ ชาติ เพราะว่าจิตมี ๔ เป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ดีงาม ชาติหนึ่งเกิดเป็นกุศล ขณะใดที่กุศลจิตเกิดจะเปลี่ยนกุศลจิตนั้น ให้เป็นอื่นไม่ได้เพราะว่าจิตเกิดแล้วก็ดับทันที เราคงจะไม่รู้เลย ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ไม่ทรงแสดงว่า ความรวดเร็วของการเกิดดับของจิต ไม่มีใครสามารถที่จะประมาณได้ เราก็อาจเข้าใจเพียงว่าเมื่อเกิด คือยังไม่ตาย แล้วดับ คือตอนที่ตาย แต่นั้นไม่ถูกต้องเลย เพราะว่าตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ จิตเกิดดับนับไม่ถ้วนเป็น ประเภทต่างๆ เช่น จิตที่ดี จะเป็นอย่างเดียว ขณะเดียวกับจิตที่ไม่ดีไม่ได้ เพราะฉะนั้น แสดงว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าจิตที่เกิดดับสามารถที่จะต่างกันเป็น ๔ ชาติ คือ เกิดเป็นอกุศลชาติหนึ่งเกิดเป็นกุศลก็อีกชาติหนึ่ง ทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งกุศล และอกุศลเป็นจิตที่เป็นเหตุ ที่จะให้เกิดจิตที่เป็นผล เมื่อเหตุคือจิต ผลก็คือจิตนั่นเอง จิตที่ทำกรรมใดไว้ ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตที่เป็นผลของการกระทำนั้นเกิดขึ้น ซึ่งภาษาไทยเรามักจะพูดว่า รับผลของกรรม เราพูดบ่อยๆ ว่า รับผลของกรรม แต่จิตที่เป็นกรรมจะมารับผลของกรรมไม่ได้ จิตที่เป็นกรรมดับไปแล้ว ทำกรรมนั้นหมดไปแล้ว แต่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลของกรรม ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า วิปากจิต ซึ่งภาษาไทยเราใช้คำว่า วิบาก แต่ว่า วิบากในภาษาไทยที่เราใช้ความหมายไม่ตรงกับภาษาบาลีในพระพุทธศาสนา เพราะว่าเราคิดว่า วิบาก คือ ลำบาก แต่ว่าในทางพระพุทธศาสนา วิบากต้องเป็นจิต และเจตสิก เจตสิกคือสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ไม่เกิดกับรูปเลย เช่น ความขยัน ความโกรธ ความเมตตาทุกอย่างเหมือนกับเป็นเราในชีวิตประจำวัน แท้ที่จริง คือจิตเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน
เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตที่ดีเกิดขึ้น เพราะเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย เพราะว่าจิตจริงๆ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะดีหรือชั่วแล้วแต่เจตสิก คือ สภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต เมื่อจิตที่เป็นกุศลดับ เป็นเหตุ จะเป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นผลของกุศล ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า กุศลวิบากจิตเป็นจิตที่เป็นผลเกิดขึ้น
ในพระพุทธศาสนา จะมีคำที่แสดงสภาพธรรมอย่างละเอียด เมื่อพูดถึงเรื่องกรรม ได้แก่เจตนาเจตสิก เป็นปัจจัยให้เกิดผลซึ่งมีการรับผลของกรรม หรือว่าจิตที่เกิดที่เป็นวิบากเป็นผลของกรรมมีอยู่ทั้งวัน แต่เราไม่เคยรู้เลยว่า ขณะไหนเป็นกรรม ขณะไหนเป็นผลของกรรม
เวลาที่ผลของกรรมที่เราจะเห็นได้ ขณะจิตแรกที่เกิดในชาตินี้ การที่จะเป็นแต่ละบุคคลที่มานั่งอยู่ที่นี่ได้ ต้องมีจิต และเจตสิก และรูป ๓ อย่าง ไม่ใช่มีแต่จิต เจตสิก แต่มีรูปด้วย รูปหมายความถึงสิ่งที่มีจริงเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้เลย ไม่สามารถที่จะเห็น ไม่สามารถที่จะได้ยิน ไม่สามารถที่จะหิว ลักษณะแข็งมีจริง แต่คิดอะไรไม่ได้ เจ็บไม่ได้ ลักษณะแข็งเป็นรูปธรรม กลิ่น เสียง พวกนี้
รูปในพระพุทธศาสนา ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะสิ่งที่เราเห็นเป็นรูปภาพต่างๆ แต่สิ่งใดก็ตามแม้มองไม่เห็น แต่สิ่งนั้นมีจริง และสิ่งนั้นไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย สิ่งนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่เป็นธรรมฝ่ายที่เป็นรูปธรรม แต่ว่าโลกนี้ก็ไม่ได้มีแต่รูปธรรม มีธาตุอีกชนิดหนึ่ง หรือจะกล่าวว่ามีธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งธรรมกับธาตุ ความหมายเดียวกัน หมายความว่าเป็นสิ่งที่มีจริงแน่นอน แต่ไม่ใช่ใครสักคนหนึ่ง แต่เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะอย่างๆ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีแต่รูปธาตุ แต่มีนามธาตุคือธาตุอีกชนิดหนึ่ง ถ้าเราศึกษาวิชาการทางโลก เราจะเรียนเรื่องรูปธาตุต่างๆ โดยวิชาเคมี หรือฟิสิกส์ หรืออะไรก็แล้วแต่ วิชาทั้งหมดจะเป็นไปในเรื่องของรูปธาตุ แต่เขาไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ถึงธาตุรู้ ซึ่งเป็นนามธาตุ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีลักษณะ ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีเสียง แต่ทันทีที่จิตเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นในขณะนี้ที่กล่าวว่าทุกคนมีจิต จิตเกิดขึ้นทำกิจการงาน โดยที่เราไม่เห็นตัวของจิต แต่เห็นการงานหน้าที่ของจิต เช่นในขณะนี้ เห็น ตาไม่เห็นเลย จักขุปสาทเป็นรูป รูปเป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่จักขุปสาท และไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นด้วย แต่เป็นนามธาตุที่ไม่มีใครมองเห็นเลย แต่เกิดขึ้นทำหน้าที่เห็น นี่เป็นผลของกรรม เพราะว่าบางครั้งเราเห็นสิ่งที่น่าพอใจ สวยงามประณีต บางครั้งเราก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าดูเลย
ขณะใดที่เป็นผลของกุศลกรรม จิตเห็นก็จะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ดี น่าพอใจ ขณะใดที่เป็นผลของอกุศลกรรม จิตเห็นก็จะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ไม่น่าดูเลย แล้วเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู เสียงที่น่าตกใจ มีเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงฟ้าร้อง ฟ้าลั่น เสียงรถชนกัน หรือเสียงอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเสียงที่ทำให้ขณะนั้นไม่น่าพอใจ จะพอใจเสียงอย่างนั้นได้อย่างไร แต่ว่าเสียงนั้นก็เกิดปรากฏกับจิต เพราะว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นรู้โดยได้ยิน รู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏที่เราใช้คำว่า “ได้ยิน” ต้องเป็นสภาพของจิตที่ทำหน้าที่ได้ยินเสียง เพราะว่าจิตเกิดขึ้นต้องทำกิจหน้าที่ ไม่มีจิตใดเลยซึ่งเกิดขึ้นแล้วไม่ได้ทำอะไรเลยสักอย่างเดียว แต่ขณะนี้ตั้งแต่เกิดจนตาย จิตเกิดขึ้นทำหน้าที่ไม่หยุด ขณะนอนหลับ เราคิดว่าเราพักผ่อน แต่จิตไม่ได้พักผ่อนเลย ขณะนั้นจิตก็ทำกิจการงาน
เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นสภาพของธรรมชาติที่มีอยู่ที่ตัวทุกคน แต่ว่าเมื่อไม่ได้ศึกษาไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริง ก็เหมือนกับเราไม่รู้อะไรเลยในสิ่งที่มีอยู่ที่ตัว แล้วก็เข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรา ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โดยที่นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมเลย แล้วเวลาที่พูดถึงเรื่องกรรม และผลของกรรม เราอาจจะคิดว่าผลของกรรม ก็คงจะเป็นอย่างอื่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขต่างๆ แต่ต้องทราบว่าเพราะมีจิต ได้ลาภ มีลาภ คือว่าจิตต้องเห็นสิ่งนั้น ต้องได้ยินเสียง อาจจะเป็นคำสรรเสริญยกย่องก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิตที่จะรู้ จะมีลาภได้ไหม ไม่ได้
การรับผลของกรรมก็คือมี ๕ ทางที่จิตเกิดขึ้นรับผลของกรรม คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ธรรมเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์มาก มีอยู่ เกิดอยู่ ปรากฏอยู่ แต่ว่าถ้าไม่ศึกษาธรรมจะไม่รู้เลย อย่างการรับผลของกรรม เมื่อไร ขณะไหน เราพูดแต่เพียงง่ายๆ เผินๆ เมื่อทำกรรมก็ต้องรับผลของกรรม แล้วเราบอกคนที่เราพูดได้ไหมว่า กรรมอะไร แล้วก็ผลของกรรมอะไร แต่ทรงแสดงไว้ว่า การรับผลของกรรมเริ่มขณะแรกคือขณะเกิด ทุกคนเกิดมาต่างกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะมนุษย์ ยังมีสัตว์ประเภทต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่มีจิต มีเจตสิก มีรูปทั้งนั้น เป็นผลของกรรมที่ต่างกัน ถ้าเกิดเป็นผลของอกุศลกรรม จะไม่ใช่มนุษย์ แต่จะเกิดในนรก หรือว่าเกิดเป็นเปรต หรือว่าเกิดเป็นอสุรกาย ภูมิหนึ่งซึ่งเป็นภูมิที่ไม่มีอะไรที่สนุกสนานรื่นเริงบันเทิงเลย และอีกกลุ่มหนึ่งก็คือเป็นสัตว์เดรัจฉานที่เรามองเห็นในโลกนี้ เห็นช้าง เห็นแมว เห็นนก จะสวยงามสักเท่าไรก็รู้ว่าเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งอกุศลกรรมที่ทำก็ต่างกันมาก เราลองดูผีเสื้อ มีปีกไม่เหมือนกันเลย แสดงส่องไปถึงความวิจิตรของจิตขณะที่ทำกรรมที่จะทำให้เกิดเป็นผีเสื้อ ทำให้เกิดเป็นมด ทำให้เกิดเป็นช้าง ทำให้เกิดเป็นปลา ทำให้เกิดเป็นนก นั่นคือสัตว์ แต่มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เราจะดูกรรม และผลของกรรมได้จากสิ่งที่มีชีวิต อย่างมนุษย์หรือสัตว์ เกิดมาต่างกัน เพราะว่าผลของกรรมต่างกัน บางคนเกิดมาก็หูหนวกตาบอด บ้า ใบ้ บางคนเกิดมาสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง แต่ว่าไม่มีสติปัญญา มีทุกอย่างเพียบพร้อมหมด แต่ไม่มีปัญญาก็ได้
เรื่องของกรรม และการให้ผลของกรรมอย่างละเอียด ขณะแรกที่กรรมให้ผลคือทำให้เกิด แล้วก็ทำให้ขณะต่อไปก็คือ เมื่อเกิดแล้ว ยังไม่ตาย จะต้องดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ต่อไป จนกว่ากรรมนั้นจะถึงกาลที่สิ้นสุด ไม่ให้ผลที่เป็นบุคคลนี้อีกต่อไป ก็จะทำให้จิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น เมื่อจิตนี้เกิดขึ้น และดับไป เป็นจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพจากการเป็นบุคคลนี้ จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย นี่ก็เป็นผลของกรรม แต่ว่าระหว่างเกิดแล้วยังไม่ตาย กรรมก็มีทางที่จะให้ผลของกรรมด้วย คือกรรมทำให้มีจักขุปสาท ทำให้เกิดตา ใครก็ทำไม่ได้ แล้วแต่กรรม ถ้ากรรมนั้นไม่ทำให้เกิดจักขุปสาท คนนั้นก็ตาบอด ถ้าคนนั้นตาบอดแล้ว จะเอากรรมที่ไหนไปทำให้จักขุปสาทเกิดก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น กรรมทำให้ที่ตัวของเราทั้งตัว มีสิ่งที่เกิดจากรรม คือจักขุปสาทเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แม้แต่จักขุก็ยังต่างกันอีก คนที่ตาดีกับคนที่ตาไม่ค่อยดี หรือคนที่ตาเห็นอย่างเหยี่ยวก็มีลักษณะที่ต่างๆ กัน ไปตามกรรมนอกจากกรรมทำให้เกิดตา ก็ยังทำให้เกิดหู โสตปสาท เพื่อรับผลของกรรมคือต้องได้ยินเสียง คนที่มีโสตปสาทที่จะไม่ได้ยินไม่มี จะตั้งใจได้ยินได้ไหม ถ้าไม่มีเสียงก็ได้ยินไม่ได้ ถ้าเสียงมีกระทบกับโสตปสาท ถึงกาลที่กรรมจะให้ผลให้ได้ยิน จะไม่ได้ยินก็ไม่ได้ อย่างคนที่นอนหลับสนิท เกิดฟ้าร้องน่ากลัว บางคนก็ไม่ตื่น ไม่ใช่ถึงกาลที่กรรรมของคนนั้นจะให้ผลทางหู คือทำให้เกิดได้ยินเสียงนั้น
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240