ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
ตอนที่ ๒๓๔
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เหมือนกับไม่มีอะไร แต่ความจริงมีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียด ใครรู้ ละเอียดยิ่งกว่าผง เหมือนกับตอนที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็มีรูปเกิดขึ้นด้วย แต่รูปนั้นเล็กมาก แล้วค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น แต่ถึงจะเจริญเติบโตอย่างไร ก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่อย่างละเอียด พร้อมที่จะแตกสลาย ในนี้ก็เหมือนกัน ฉีกได้ ใช่ไหม นี้ก็แตกได้ทำลายได้ โลกที่เราเห็นว่า หนาแน่น แข็งแกร่ง ก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่หมด ใครรู้ สิ่งที่แม้อากาศธาตุหรือแม้แต่กลาป หรือกลุ่มเล็กๆ ของรูป เกิดเพราะกรรมก็มี เกิดเพราะจิตก็มี เกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนก็มี เกิดเพราะอาหารก็มี ใครรู้ ไม่มีการรู้เลย เพราะฉะนั้น คุณประทีปยึดถือกองฝุ่นเล็กๆ ละเอียดว่าเป็นของคุณประทีปหรือ หรือว่าเป็นตัวคุณประทีปเลย ในเมื่อรูปนั้นเกิดแล้วก็ดับ รูปเกิดจากกรรม ใครสร้างไม่ได้เลย รูปเกิดจากจิตมีอายุ ๑๗ ขณะของจิตเกิดดับ แล้วก็ดับ ทุกรูปมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะแล้วดับ แล้วอันไหนเป็นของคุณประทีป ได้ยิน เกิดแล้วดับ เสียงเกิดแล้วดับ สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว เป็นของใคร
ผู้ฟัง คงไม่มี
ท่านอาจารย์ แล้วจะเป็นของคุณประทีปได้อย่างไร เป็นธรรมได้ แต่เป็นคุณประทีปไม่ได้
ผู้ฟัง ฟังดูแล้วมันเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ลึกลงไปกว่านั้นอีกที่เราคิดว่า ความเป็นตัวเป็นตนของเรา ผมก็มีบ้าน มีครอบครัว มีพี่น้อง
ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วกี่ชาติก็ตาม ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ความรู้อย่างนี้จะไม่มีเลย ไม่มีใครจะบอก ไม่มีใครจะแสดงโดยถี่ถ้วน ๔๕ พรรษาซึ่งประมวลเป็นไตรปิฎก ๓ ปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกาอีก ที่จะทำให้เข้าใจอย่างถูกต้อง
ผู้ฟัง ทางรับผลของกรรม เราก็ทราบแล้วทาง ๕ ทวาร ทางออกของกรรม นอกจากวจีกรรม กายกรรมแล้ว มโนกรรมนี่ จะสำเร็จได้ไหม
ท่านอาจารย์ ตาสำหรับเห็น เป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นเห็น รับผลของกรรม จะให้ทำอะไรกับตาต่อไป หูเป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษ สามารถกระทบเสียง รูปอื่นไม่สามารถกระทบเสียงเลย ทั้งตัวเรา ถ้าไม่มีจักขุปสาท โสต ฆาน ชิวหา กาย จะเหมือนท่อนไม้ไหม ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่กรรมทำให้เกิดปสาทรูป เป็นรูปพิเศษ แม้มหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ไม่ใช่ปสาทรูป ทั้งๆ ที่กล่าวว่ารูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ๔ รูป ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม รูปทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้มี ๒๘ ชนิด ๒๘ รูป แต่เฉพาะ ๔ รูป เป็นรูปใหญ่ เป็นรูปที่เป็นประธาน ถ้า ๔ รูปนี้ไม่มีอีก ๒๔ รูปมีไม่ได้ สีสันวัณณะต่างๆ ที่เราเห็น ที่โต๊ะ ที่เก้าอี้ หรือ ที่ไหนก็ตาม ถ้าไม่มีมหาภูตรูปก็ไม่มีรูปนี้ หรือแม้แต่กลิ่น ถ้าไม่มีมหาภูตรูป ๔ ไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม กลิ่นก็มีไม่ได้ รสก็มีไม่ได้ โอชาก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน มี ๔ แล้วรูปที่เหลือ ๒๔ รูป เป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูป มีรูป ๘ รูปที่แยกกันไม่ออกเลย อวินิพโภครูป ๘ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชา
ผู้ฟัง เวลาที่เรากระทำกรรม
ท่านอาจารย์ ตาเป็นทางสำหรับจิตเห็น จะให้ทำกรรมอะไร สำหรับจักขุปสาทเป็นเพียงทวารสำหรับจิตเห็น หูก็เป็นเพียงทวารสำหรับจิตได้ยิน พอได้ยินแล้วจะให้ทำกรรมอะไร เป็นทางรับผลของกรรม ทางออกของกรรมก็มีกายกรรม วจีกรรม
ผู้ฟัง อยากทราบว่าทางมโน สามารถจะทำกรรมได้ไหม สำเร็จ
ท่านอาจารย์ การฆ่า ฆ่าด้วยความพยาบาท ฆ่าโดยที่ว่าไม่ได้คิดมาก่อนเลย ถ้าไม่ได้คิดมาก่อนเลย เป็นกายกรรม แต่ทำด้วยความพยาบาทเป็นมโนกรรม
ผู้ฟัง ถือว่าเป็นมโนกรรม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ถือ
ผู้ฟัง เรียกว่า
ท่านอาจารย์ เป็น
ผู้ฟัง อันนั้นเป็น
ท่านอาจารย์ ถ้าถือ ต่างคนต่างถือ จะถืออย่างไรก็ได้ แต่ความจริงคือเป็นมโนกรรม เมื่อมีการฆ่าเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็จะพิจารณาได้ว่า ขณะนั้นเป็นกายกรรมหรือมโนกรรม
ผู้ฟัง แช่งให้เขาตาย ถ้าเขาตายจริงๆ ก็ไม่ใช่คนอื่นฆ่า ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ที่หมอแช่งให้ใครตาย เพราะฉะนั้น เป็นโทสะ เป็นพยาบาท เป็นกรรมของเราที่เกิดความคิดอย่างนั้น แต่ที่เขาตายไม่ได้ตายเพราะเราคิด
ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่เป็นกรรม
ท่านอาจารย์ แต่เป็นโทสะ กรรมมีหลายอย่าง กรรมที่ทำให้เกิด หรือกรรมที่อุปถัมภ์ หรือกรรมที่เบียดเบียน เพราะฉะนั้น เวลากล่าวว่าเป็นกรรม ต้องรู้ด้วยว่า เป็นกรรมประเภทไหน ไม่ใช่กรรมที่ทำให้เกิด แต่เป็นกรรมที่เบียดเบียน หรือกรรมที่อุปถัมภ์ได้
ผู้ฟัง คำถามคุณหมอตุ้ม ในขณะที่เป็นมโนกรรม หรือเป็นพยาบาท แล้วไปฆ่าเขาตาย ขณะนั้นก็ต้องมีทั้งมโนกรรมด้วย กายกรรมด้วย ๒ อย่างเลยหรือ
ท่านอาจารย์ อย่างเดียว
ผู้ฟัง อย่างเดียวหรือ กายกรรมที่ทำไม่คิด หรือ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่การกระทำโดยที่ไม่ได้พยาบาท
ผู้ฟัง ถ้าพยาบาท
ท่านอาจารย์ ก็เป็นมโนกรรม ถ้าไม่พยาบาทก็เป็นกายกรรม
ผู้ฟัง ถ้าพยาบาท แล้วฆ่าเขาตาย
ท่านอาจารย์ การฆ่านั้นสำเร็จเพราะมโนกรรม
ผู้ฟัง สำเร็จเพราะ มโนกรรม ก็มีเพียงมโนกรรม
ท่านอาจารย์ นาน กว่าเขาจะตายด้วยความพยายามของเราที่เป็นมโนกรรม พยาบาทอยู่ตั้งหลายวัน
ผู้ฟัง แล้วถ้าเป็นวจีกรรม คิดจะว่าหรือด่าหรือเสียดสี เป็นวจีกรรมหรือเป็นมโนกรรม
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ ขณะนั้นถ้ามีพยาบาทก็เป็นมโนกรรม ถ้าไม่ใช่พยาบาทก็ไม่เป็นมโนกรรม เป็นวจีกรรม คงไม่ต้องไปคิดมาก เพราะว่าชีวิตประจำวันของเรามีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นสภาพธรรม รู้อย่างนี้ก็จะดีกว่า แล้วเมื่อรู้อย่างนี้จริงๆ ความละเอียดจะตามมาเพราะเหตุว่าการที่จะเข้าใจธรรม ไม่ใช่เพียงเรียนเรื่องชื่อของธรรม แล้วก็คิดเรื่องราวของชื่อต่างๆ แต่ว่าตัวธรรมจริงๆ ขณะนี้ การศึกษาจริงๆ ในพระพุทธศาสนา ศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ แม้แต่พระธรรมที่ทรงแสดงก็แสดงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ อย่างพอพูดถึงเรื่องธรรม ก็ให้รู้เลยว่า เดี๋ยวนี้ขณะนี้ อะไรเป็นธรรม สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วก็ทรงแสดงว่าธรรมมี ๒ อย่าง คือ นามธรรม และรูปธรรม เราก็เข้าใจความต่างของ ๒ อย่าง ในขณะที่ ๒ อย่างนี้ อย่างหนึ่งอย่างใดกำลังปรากฏ ไม่ใช่อยู่ในตำราเลย แต่ว่ามีลักษณะจริงๆ
ผู้ฟัง อยากจะทราบลักษณะของฌานจิต กับ จิตธรรมดาว่าแตกต่างกันอย่างไร มีอะไรพิเศษ
ท่านอาจารย์ ทำไมถึงอยากรู้เรื่องฌานจิต
ผู้ฟัง จะได้รู้ลักษณะของจิตที่ขั้นฌาน
ท่านอาจารย์ ถ้าฌานจิตไม่เกิด ก็เป็นแต่เพียงชื่อ แต่ข้อสำคัญเวลานี้มีจิต น่าสนใจมากเลย ทำไมใช้คำหลายๆ คำ ที่จะพูดถึงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน แล้วก็ใช้หลายคำหลายชื่อด้วย เช่น มนะ มนัส มนินทรีย์ ปัณฑระ หทัย ทำไมใช้มาก เพราะว่าลักษณะของจิตเป็นอย่างนั้น แต่ละอย่างๆ เช่น ใช้คำว่า หทัย เป็นภายใน จริงไหม จิตอยู่ไหน
ผู้ฟัง จิตไม่มีตัวตน เป็นธาตุรู้
ท่านอาจารย์ อยู่ที่ไหนภายใน หรือภายนอก
ผู้ฟัง ตอบไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็น
ท่านอาจารย์ ในที่สุด ไม่มีอะไรจะในเกินไปกว่าจิต ไปหาอะไรว่ามีอะไรในยิ่งกว่าจิต แม้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น จิตในที่สุด เป็นหทัย แล้วเรารู้ เรื่องจิตพอที่จะเข้าใจไหมว่ามีธาตุชนิดหนึ่ง มีปัจจัยก็เกิด แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในภูมิที่มีรูปด้วย จิตต้องเกิดที่รูป จะเกิดนอกรูปนี้ไม่ได้เลย ต้องเกิดที่รูป แต่แม้กระนั้นก็เป็นนามธรรม แล้วก็แสดงการเปรียบเทียบให้เห็นว่า อะไรที่อยู่ข้างในที่สุดจริงๆ นั่นก็คือจิต ใช้คำว่า หทัย ใช้คำว่า มโน หรือ มนะ เพราะเป็นธาตุรู้หรือเป็นสภาพรู้ เพราะว่าผู้หญิงเรายังใช้คำตั้งหลายคำ สตรี นารี กุมารี ก็แล้วแต่จะมีคำอื่นอีกหรือเปล่า แต่ว่าแม้แต่จิต แสดงให้เรามีความเข้าใจจริงๆ ในสภาพที่อยู่ในที่สุด พอถึงคำว่า มนายตนะ ถึงคำว่า อายตนะ เป็นที่ประชุม หรือต่อ ที่จะให้เกิดสภาพรู้ขึ้น จิตก็เป็นมนายตนะ ส่วนเจตสิกแม้ว่าเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ อย่างเดียวกับจิตก็เป็นธรรมายตนะ ซึ่งเป็นภายนอก ไม่ใช่ใน
ถ้าพูดเรื่องจิตต้องพูดอีกคำ ๑ คู่กัน คือ “อารมณ์” อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ จะกล่าวว่า มีจิตรู้ โดยไม่มีสิ่งที่ถูกจิตรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้น ต้องรู้อารมณ์ ภาษาไทยเราเรียกสั้นๆ ว่า อารมณ์ แต่ภาษาบาลีเป็น อารัมมณะ หรือ อาลัมพนะ หมายความถึงสิ่งที่เป็นที่มายินดีของจิต เพราะว่าจิตจะเกิดโดยปราศจากอารมณ์ไม่ได้ บางคนเขาบอกว่า ถ้าเขาอารมณ์ไม่ดี จิตก็ไม่ชอบ แต่จริงๆ แล้วจิตเป็นสภาพที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นสภาพที่ต้องรู้ สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับจิต เป็นที่มายินดีของจิตที่จิตจะต้องมีก็คืออารมณ์ ส่วนอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เป็นเรื่องของเจตสิกที่จะไม่พอใจ แต่ว่าสภาพของจิตจะต้องรู้อารมณ์ เกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างในขณะที่เห็น เฉพาะส่วนของรูปที่ปรากฏ ที่จิตกำลังเห็น เป็นอารมณ์หรืออารัมณะของจักขุวิญญาณ เสียงในป่าก็มี ถ้าไม่มีใครได้ยินเลย ใครก็เปลี่ยนสภาพเสียงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เมื่อมีของที่แข็งกระทบกันแรง ก็เป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป
เสียงในป่า ไม่จำเป็นเลยที่จะกล่าวว่า มีหรือไม่มี เพราะว่าใครก็ได้ยินอย่างหนึ่ง แล้วถึงแม้เสียงเกิดแล้วก็ดับไปเลย สิ่งใดที่เกิดแล้วดับ แล้วใครจะไปตามได้ยินก็ไม่ได้ แต่ว่าเสียงใดก็ตามที่จิตรู้ เฉพาะเสียงนั้นเท่านั้นที่เป็นอารัมมณะ หรือเป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้น ในภาษาไทยเรา เราใช้คำปลายเหตุ วันนี้อารมณ์ดี ทำไมอารมณ์ดีล่ะ ก็เห็นดีๆ ได้ยินดีๆ ได้กลิ่นดีๆ ลิ้มรสดีๆ รู้สิ่งที่กระทบกายก็สบายดี เรื่องราวต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องร้าย ล้วนแต่อารมณ์ดีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์ที่กระทบหรือที่จิตรู้ดีทั้งหมด ในภาษาบาลีตามความเป็นจริง แต่คนไทยก็สรุปว่าวันนี้อารมณ์ดี โดยที่ไม่เข้าใจคำว่าอารมณ์เลยว่าเป็นปลายเหตุ แต่ต้นเหตุก็คือสิ่งที่จิตรู้นั่นเอง
ในภาษาไทยเราจะใช้คำคลาดเคลื่อน จากคำที่มีความหมายในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเราก็จะต้องเข้าใจให้ถูกด้วย เวลาที่พูดถึงจิต จิตจะไม่มีอารมณ์หรือไม่รู้อารมณ์ไม่ได้เลย จิตทุกขณะต้องรู้อารมณ์ หรือต้องมีอารมณ์
ผู้ฟัง สมมติยกตัวอย่าง ผมอ่านหนังสือท่านอาจารย์ เหมือนกับฟัง คือว่าอ่านเอง หรือฟังธรรมจากท่านอาจารย์ เสร็จแล้วใคร่ครวญพิจารณาตามไป ในขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่ไม่ได้ฟังท่านอาจารย์ ดำเนินชีวิตตอนเช้าตื่นมา อาบน้ำ ทานอาหาร
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นปกติ
ผู้ฟัง เป็นปกติ เพราะฉะนั้น ก็เป็นช่วงเดียวที่เราสามารถที่จะอบรมปัญญาให้ได้เกิดรู้แจ้งเห็นจริงก็คือตอนที่เราฟัง ต้องพิจารณาตามไปหรืออ่านหนังสือ
ท่านอาจารย์ นี่เป็นความเข้าใจขั้นปริยัติ พระพุทธศาสนามี ๓ ขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติ คือศึกษาเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม ส่วน ปฏิ-ปัตติ โดยศัพท์ ปฏิ แปลว่าเฉพาะ ปัตติ แปลว่าถึง ถึงเฉพาะ อะไรถึง ไม่ใช่เราถึง ต้องเป็นสภาพธรรม ได้แก่ สติเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกแล้วก็รู้ลักษณะ ไม่ใช่ระลึกเรื่องราว เพราะส่วนใหญ่พอเราใช้คำว่าระลึก เป็นเรื่องยาวเลย ระลึกว่า เมื่อวันก่อนนั้นทำอย่างไร เราได้ยินอะไร เป็นอย่างไร เราได้ยิน นามธรรมเป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร นั่นคือคิด แต่สติปัฏฐาน เป็นสติอีกระดับหนึ่ง ไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล จะเกิดได้ต่อเมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคง มีสัจจญาณ เพราะเหตุว่าอริยสัจ ๔ มี ๓ รอบ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ถ้าไม่มีสัจจญาณในอริยสัจ ๔ คือ ไม่มีความเข้าใจคือญาณอย่างมั่นคงในสัจจะ ในความจริงของสภาพธรรม สติปัฏฐานก็ไม่เกิด อย่างไรก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ทรงแสดงพระธรรมเพื่อที่จะไม่ให้คนในยุคหลังคือยุคนี้เข้าใจผิดกำกับไว้โดยตลอด ไม่ว่าในเรื่องของอริยสัจ ๔ ๓ รอบ ในเรื่องของวิปัสสนาญาณ ในเรื่องของปริญญา ในเรื่องของญาณต่างๆ เช่น สุตมยญาณ ศีลมยญาณ ภาวนามยญาณ ทั้งหมดจะต้องสอดคล้องกัน เพื่อที่จะไม่ให้ความเห็นที่ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีการฟังเลย ปัญญาจะมาจากไหน เราไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
แม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ เอตทัคคะ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะ เวลาที่ท่านอยู่ในป่าโคสิงคสาลวัน คำถามของท่านเหมือนธรรมดาที่สุด ท่านถามว่า ป่าโคสิงคสาลวันจะงามด้วยอะไร แต่ละท่านก็ตอบตามความเป็นเอตทัคคะของท่าน ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านตอบต่างกันตามการสะสม ทั้งหมดไปเฝ้ากราบทูลถามพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า คำตอบของท่านผู้ใดถูก ท่านไม่มีความคิดว่า ท่านจะเอาคำตอบของท่าน ความคิดของท่าน เพราะว่าท่านไม่เสมอพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเหล่านั้นเป็นใคร แล้วเราเป็นใคร ถ้าเราจะไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด โดยรอบคอบ ก็เอาความคิดเห็นของเราแทรกเข้าไป ไม่ใช่ตามที่ทรงแสดง เพราะฉะนั้น เราไม่มีทางที่จะรู้สัจธรรมได้ เพราะว่าทรงแสดงไว้เพื่อให้เราเป็นผู้ที่ละเอียด รอบคอบ ทั้งสัจจญาณ ทั้งกิจจญาณ ทั้งกตญาณ ทั้งอริยสัจ ๔ สุขุมลึกซึ้งทั้ง ๔ อริยสัจ ซึ่งอริยสัจสุดท้ายคือมรรค หนทางที่จะถึง การรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นหนทางที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้อะไรเลย แล้วเราก็มาคิดเอาเองว่า เรากำลังอบรมเจริญปัญญา แต่หนทางนี้เป็นหนทางที่รู้แล้วละ ลองคิดดูว่ายากทั้ง ๒ อย่างไหม ในการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วละ ไม่ใช่เพื่อที่จะได้อะไร ไม่ใช่เพื่อที่ให้เป็นเราที่มีปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ หรืออะไรต่ออะไร แต่ทั้งหมดเพื่อละความไม่รู้ ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ด้วยปัญญาที่เจริญขึ้น
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาที่อบรมโดยการฟัง ไม่ใช่ฟังเผิน แต่ปัญญาที่เกิดจากการฟัง หมายความว่าขณะที่ฟัง ต้องไตร่ตรอง ต้องพิจารณา จนกระทั่งเป็นปัญญาของเราเอง ขณะนั้นก็จะทำให้ปัญญาขั้นต่อๆ ไปเจริญขึ้นได้
ขณะนี้ก็เป็นเบื้องต้นของภาวนา เพราะเหตุว่ากำลังมีความเข้าใจที่เริ่มขึ้น แล้วถ้าความเข้าใจนี้เจริญขึ้น ปัญญาก็จะถึงระดับของสติปัฏฐาน หรือว่าจะถึงระดับของวิปัสสนาญาณขั้นต่อๆ ไปได้ แต่ถ้าไม่มีขั้นต้น ขั้นต่อไปก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้การฟังธรรม ก็สงเคราะห์ คือ รวมอยู่ในหมวดของภาวนาด้วย
ผู้ฟัง สมัยหนึ่งนานมาแล้ว ผมเคยชอบนั่งสมาธิ แล้วฟังท่านอาจารย์ผมเลิกนั่งตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ แสดงว่าผมประยุกต์ใช้หรือเปล่า หรือว่า ธรรมเขาทำหน้าที่ของธรรม
ท่านอาจารย์ ธรรมเขาทำหน้าที่ของธรรม ก็เราเรียนเรื่องขันธ์ เรียนทำไม ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ ส่วนนิพพานนั้นต่างจากจิต เจตสิก รูป เพราะว่าไม่เกิดไม่ดับ สำหรับขันธ์ก็คือปรมัตถธรรม ๓ รูปทุกรูปไม่ว่ารูปในอดีต เสียงในอดีต เสียงขณะนี้ หรือเสียงข้างหน้า ก็ยังคงเป็นเสียง เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น รูปทุกชนิดทั้งในอดีต ทั้งขณะนี้ และข้างหน้าเป็น รูปขันธ์ ขันธ์คือกองหรือส่วนของรูป ต้องเป็นรูป ขันธ์ ๕ มี รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์ จิตทุกประเภท ทุกขณะเป็นวิญญาณขันธ์ เหลืออีก ๓ ขันธ์เป็นอะไร ในเมื่อปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่เมื่อนิพพานไม่เกิดดับ ก็ไม่ใช่ขันธ์ เพราะฉะนั้น ก็จะมีเพียง จิต เจตสิก รูป เพียง ๓ อย่างที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น รูปเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ ที่เหลือคือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นอะไร
ผู้ฟัง เจตสิก
ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น เวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพรู้สึก เฉพาะลักษณะที่รู้สึกอย่างเดียว สุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ โทมนัส โสมนัส ที่เป็นความรู้สึก เป็นเวทนาขันธ์ เพราะฉะนั้น เจตสิก ๑ ดวงหรือ ๑ ประเภท เป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกอีก ๑ คือสภาพที่จำ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอีก ๕๐ ทั้งหมด เป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่ชื่อ จริงๆ เป็นจริงๆ เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่ง เวลาที่จะเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่เราประยุกต์ แต่ว่าเป็นสังขารขันธ์ที่เกิดขึ้นจากการฟังแล้วค่อยๆ ปรุง จากปัญญาขั้นฟัง ค่อยๆ เติบโต ค่อยๆ เจริญขึ้น ทั้งสติ ทั้งหิริ ทั้งโอตตัปปะ ทั้งศรัทธา เขาก็เจริญขึ้นทั้งฝ่ายกุศล และ อกุศล เขาทำหน้าที่นั้นตลอดเวลา ไม่ใช่เราทำ หรือไม่ใช่เราประยุกต์ มีใครรู้ไหมว่า จะคิดอะไร
ผู้ฟัง ไม่มีใครรู้ได้ ขณะต่อไป
ท่านอาจารย์ แต่สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้คิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราจะรู้จักตัวเราเพิ่มขึ้นมากเลย จะคิดอย่างไร ก็คือหน้าที่ของธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ ที่ปรุงแต่งให้เกิดคิดอย่างนั้นขึ้น ฝัน เลือกฝันได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ อะไรทำให้ฝัน
ผู้ฟัง สังขารขันธ์ ตอนนี้เริ่มเข้าใจแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะไปประยุกต์ จะไปทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น ถ้ารู้จริงก็คือรู้ว่าเป็นธรรม แล้วรู้จริงก็คือละเอียดขึ้นว่าอะไร ธรรมอะไรที่ปรุงแต่ง
ผู้ฟัง แต่เหตุการณ์ที่ให้ผมค่อยๆ ละคลายสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกไม่ต้อง รู้สึกช้ามาก พอเผลอปุ๊บก็กลับไปอย่างเก่าอีก
ท่านอาจารย์ อยากได้ที่ผิดธรรมดา หรือเป็นธรรมดา
ผู้ฟัง เป็นธรรมดา
ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาก็ธรรมดา ไม่เป็นเรื่องแปลก ธรรมดาก็คืออย่างนี้ สะสมอะไรมามากในแสนโกฏิกัปป์ กุศลหรืออกุศล อวิชชาหรือวิชชา
ผู้ฟัง ก็อวิชชา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้น แล้วจะมากล่าวว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นธรรมดา เรา ใช่ไหม รีบเมื่อไร เราเมื่อนั้น ทางลัดเมื่อไร คือทางไม่รู้
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวอย่างนี้เหมือนกับว่า ถ้าเป็นตัวเราเมื่อไร มาแล้ว เป็นกุศลอกุศล อย่างใดอย่างหนึ่ง โลภะ
ท่านอาจารย์ สะสมมาลึกมาก ความเป็นเรา ลึกมาก ต้องโสดาปัตติมรรคจิต ความเป็นพระอริยบุคคลเท่านั้นที่ดับได้ ลองคิดดู แต่ปัญญาเริ่มเห็นตามความเป็นจริง เพราะต้องเห็นโลภะ นี่เป็นโลภะหรือเปล่า เมื่อไรจะถึง โลภะหรือเปล่า แล้วละหรือยัง คำถามอันนี้ ถ้ายังไม่ละก็มีสมุทัย ก็โลภะนั่นแหละเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลา ทราบไหมว่า พอเราเกิดมาปุ๊บ เรามีเพื่อนสนิทอยู่ด้วยตลอดเวลา คือใคร อยู่กับใจตลอดเวลา พอเกิดปุ๊บก็มาเลย วาระแรกที่รู้สึกตัว ใครมาก่อน จิตต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ประเภทไหน โลภมูลจิต ทันทีที่รู้สึกตัว ติดข้องในภพ ในชาติ ในความเป็น เป็นอะไรก็แล้วแต่จะเกิดที่ไหนก็แล้วแต่ มีความเป็นบุคคลนั้น อยากจะละอะไร อกุศลอะไร
ผู้ฟัง ที่จะลดตัวโลภะ โทสะ โมหะ
ท่านอาจารย์ อยากจะละอกุศล คือ ความติดข้องในรูป ในเสียง ใช่ไหม ธรรมต้องตรง ผู้ที่ตรงเท่านั้นที่จะได้สาระจากพระธรรม แต่ถ้าไม่ตรงคือไม่ใช่พระธรรมแล้ว จะไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่เพียงว่าอยากจะละโลภะ โทสะ โมหะ พูดมาทีละอย่างว่าอยากจะละโลภะอะไร
ผู้ฟัง สมมติจิตเราโลภอยากได้ของอะไรต่างๆ เกิดจากไม่มีความสันโดษ อะไรอย่างนี้ ทะเยอทะยาน อยากได้
ท่านอาจารย์ มีข้อความแสดงว่า การที่จะละความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่สาธารณะกับปุถุชน หรือพระโสดาบัน เพราะว่าเป็นฐานะของพระสกทาคามีบุคคล ที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระอนาคามีเมื่อไร ก็ดับได้เมื่อนั้น
การศึกษาธรรมต้องรู้ฐานะของเราด้วย ผู้ที่ละได้คือพระอนาคามีบุคคล พระโสดาบันก็ยังละไม่ได้ พระสกทาคามีก็ยังละไม่ได้ แล้วเราเป็นใคร แล้วต้องละด้วยปัญญา แล้วเรามีปัญญาระดับนั้นหรือเปล่า
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240