ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
ตอนที่ ๒๓๖
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ เรื่องของสภาพธรรมที่มีแต่ละอย่าง จะเห็นว่าละเอียดมาก ทรงแสดงโดยนัยของความเป็นธาตุ คือ เป็นธรรม นัยของอายตนะ เพราะต้องประชุมรวมกัน จึงจะทำให้มีสภาพรู้ในขณะนี้เกิดขึ้น เช่น ถ้าเสียงไม่กระทบโสตปสาท จิตได้ยินจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ต้องมีเสียง แล้วก็ต้องมีโสตปสาทรูปประชุมหรือว่าติดต่อกันในขณะนั้นถึงจะต่อกัน จึงทำให้มีจิตที่ได้ยินเกิดขึ้น นี่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ทรงแสดงโดยความละเอียดยิ่ง จึงเป็นอภิธรรม
เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินการสวดพระอภิธรรม งานศพทุกงานก็จะมีการสวดพระอภิธรรม ก็จะเข้าใจได้เลยว่า ไม่ได้สวดพระวินัย ไม่ได้สวดพระสูตร แต่สวดพระอภิธรรม คำว่า “สวด” คือคำประกาศคำสอน ไม่ว่าจะเป็นสวดอะไรทั้งหมด มงคลสูตร ก็ประกาศธรรมที่เป็นมงคลสูงสุด หรือ รัตนสูตร ก็ประกาศความเป็นรัตนะของพระรัตนตรัย
ที่ภาษาไทยเราใช้คำว่าสวด คือ ประกาศคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง เพราะเราจะไม่เอาอย่างอื่นมาสวดเลย แต่จะสวด มงคลสูตร บ้าง รัตนสูตร บ้าง หรือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร บ้าง นี่ก็แสดงว่า สวดก็คือการประกาศคำสอนให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจ ๓ ปิฎกแล้ว
ผู้ฟัง ในการที่เราจะศึกษาธรรม ในสภาพที่รู้สภาพธรรมที่อาจารย์เรียน ผมอยากถามว่า เบื้องต้นเราจะต้องมีการที่จะมีอะไรเป็นฐาน ไม่รู้จะหยิบตรงจุดไหนประเด็นไหนก่อนที่จะเริ่มต้น ที่จะนำมาศึกษา
ท่านอาจารย์ สำหรับดิฉันเองไม่มีใครพาไปวัด แต่อาจจะมีความสนใจในเรื่องของพระธรรมบ้างตอนเป็นเด็ก แต่ก็ไม่ได้คิดว่า ตัวเองจะมาศึกษาพระธรรม แล้วก็ตลอดชีวิตนี้ก็ไม่เคยทอดทิ้งการศึกษา แล้วการที่จะช่วยให้ผู้อื่นได้มีความรู้ ความเข้าใจ ตามเท่าที่ได้ศึกษาแล้ว ก็เป็นเรื่องของการที่ได้ทำ โดยก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นบุคคลที่ทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราจะไม่รู้เลยว่า วันนี้เราเป็นอย่างนี้ วันหน้าเราจะเป็นอย่างไร นี่แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ
เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะเริ่มสนใจพระธรรมเมื่อไร ก็แล้วแต่แต่ละบุคคล แต่ว่าเวลาที่ดิฉันเริ่มเรียนศึกษาพระอภิธรรม หรือว่าอภิธัมมัตถสังคหะก่อน แต่ส่วนเรื่องของพระวินัย พระสูตร ก็รู้บ้างพอสมควร แต่ไม่ใช่เป็นการศึกษาอย่างจริงจัง แต่ที่เริ่มศึกษาจริงจัง คือ เริ่มจากพระอภิธรรม ทำให้เข้าใจความหมาย ทำให้เข้าใจว่า พระธรรมที่ทรงตรัสรู้คืออะไร เพราะว่าถ้าเราเพียงอ่านพระสูตร เข้าใจผิดได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่เรา เวลาที่อ่านพระสูตรก็เหมือนกับว่า ทรงแสดงให้เราทำอย่างนั้นเราทำอย่างนี้ เช่น ละชั่ว ทำความดี ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เราก็คิดว่าเป็นเราที่ทำ ละชั่วก็เป็นเรา ทำความดีก็เป็นเรา และชำระจิตให้บริสุทธิ์ ตอนนั้นก็ถ้ายังไม่เรียนก็จะไม่รู้เลยว่า หนทางที่จะชำระจิตให้บริสุทธิ์คืออย่างไร เพราะเราเพียงรู้จักเล็กๆ น้อยๆ เช่น ชั่ว ดี ก็เพราะจะทราบว่า ละชั่วคือละอะไร กาย วาจาที่ไม่ดี ทำความดีก็พอจะรู้ว่า ขั้นทาน ขั้นศีล
ขั้นทาน ขั้นศีล ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่เกือบจะเป็นอุปนิสัยของชาวพุทธ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือว่าชาวต่างประเทศที่นับถือพุทธศาสนา มีหลักของศาสนา ทำให้เราประพฤติปฏิบัติในทางทาน และศีล แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเราไม่มีการศึกษาพระอภิธรรม เราจะไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เราจะเห็นแต่พระพุทธรูป แล้วเราก็กราบไหว้สรรเสริญบูชา แต่ว่าบูชาในอะไร ถ้าเราไม่ศึกษาพระธรรม เราจะเห็นพระปัญญาคุณได้ไหม ไม่รู้เลยว่า ทรงตรัสรู้อะไร จะเห็นในพระบริสุทธิคุณว่า ก่อนที่จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมี ยิ่งกว่าที่จะเป็นเพียงพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ซึ่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ว่าไม่ทรงถึงพร้อมด้วยทศพลญาณ หรือพระญาณอื่นๆ ที่จะทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้โดยละเอียด โดยนัยประการทั้งปวง เพื่ออนุเคราะห์ให้ผู้ที่ได้ศึกษามีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นๆ
ต้องเริ่มจากพระอภิธรรม แต่ถ้าจะไปจับพระอภิธรรมปิฎก ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลย เทียบปัญญาของคนสมัยก่อนกับปัญญาของเรา สมัยนี้ยุคนี้ เวลาที่จะอ่านหรือศึกษาพระไตรปิฎก รู้เลยว่า พระไตรปิฎกทั้งหมดเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระอรหันต์ทั้งหลายก็ได้ทรงจำ ท่องด้วยปาก สืบทอดกันมาจนกระทั่งจารึกเป็นพระไตรปิฎก จนกระทั่งถึงสมัยของเรา ห่างไกล ๒,๕๐๐ กว่าปี ซึ่งใน ๒,๕๐๐ กว่าปีสำหรับผู้ที่ได้อบรมปัญญามาแล้ว จะไม่นานเท่าไร เกิดกี่ครั้ง กี่ชาติ ก็คงจะ ๒,๕๐๐ กว่าปี แล้วปัญญาที่ได้สะสมมาแล้ว ที่ได้เคยฟังมาแล้ว ก็อบรมต่อไปได้ แต่ว่าสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ค่อยๆ อบรมได้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ โดยที่ว่าเมื่อได้เริ่มศึกษา จะเห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณจริงๆ ที่ ๔๕ พรรษาทรงแสดงพระธรรมมากกว่าบุคคลอื่นๆ ทั้งหมด เวลาที่บรรทมหรือนอนก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง นอกจากนั้นก็ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลก เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด เป็นลาภานุตตริยะ เป็นลาภที่ยอดเยี่ยมกว่าลาภอื่น เพราะว่าลาภอื่นเราก็ได้มาในชาตินี้ แต่ก็เอาไปชาติหน้าไม่ได้ แต่ลาภคือศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยที่จะทำให้เรามีโอกาสได้ฟังอีก ได้เข้าใจอีก เพราะเหตุว่าธรรมลึกซึ้งมาก เราก็คงจะต้องมีโอกาสได้ฟังต่อไป ได้อบรมความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น เพียงว่าอย่าท้อถอย เพราะเหตุว่าเราเริ่มจะรู้ว่า ทั้งหมดที่เราจะศึกษาเป็นปัญญาของผู้ที่รู้แล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มศึกษา เราจะสามารถรู้ปัญญาของเราเองได้ว่า ปัญญาของเราระดับไหน ด้วยความไม่ประมาทเลย ด้วยความเคารพ ด้วยการศึกษาในเหตุในผลอย่างละเอียด ก็จะทำให้เราสามารถที่จะทำให้เรามีความเห็นถูกต้อง ไม่เห็นผิดได้
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีตัวเรา ใช่ไหมอะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้อาจารย์ ในบรรดาพี่น้องทั้งหมดมีแต่อาจารย์คนเดียว ที่แม้ไม่มีใครชักนำไปวัด แต่มีความสนใจ แล้วศึกษา ปฏิบัติเอง
ท่านอาจารย์ ไม่มีดิฉันแน่นอน แต่มีธรรม ลืมหรือยังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เราเพียงแต่ใส่ชื่อ
ผู้ฟัง เป็นสมมติบัญญัติ อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ตอนนี้เราจะข้ามไปหน่อยหนึ่ง เพราะว่าจากธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม แล้วเป็นอภิธรรม เมื่อรู้ว่าธรรมคืออย่างนี้ ควรจะทราบต่อไปว่า แล้วมีธรรมกี่อย่าง และธรรมอะไรบ้าง เพราะเหตุว่าหลากหลายเหลือเกิน ชีวิตเกิดมาหลากหลายมาก เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวก็โกรธ เดี่ยวก็ขยัน เดี๋ยวก็ขี้เกียจ อะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างล้วนเป็นธรรม ทรงแสดงไว้ว่า ไม่ว่าธรรมจะหลากหลายมากมายอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แต่เฉพาะตรงนี้ หรือว่าตรงที่ทรงแสดงธรรม แต่ไม่ว่าที่ไหนใดๆ ทั้งสิ้น ก็จะมีธรรมที่มีลักษณะต่างกันเป็น ๒ อย่าง
อันนี้เริ่มต้นแล้วว่า ธรรมมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งมีจริงเพราะเกิดขึ้น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่หวาน เปรี้ยว หรือเสียง หรือกลิ่น พวกนี้มีจริงๆ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมองเห็นก็ได้ อย่างเสียง เรามองไม่เห็นเลย แต่มี เพราะฉะนั้น เสียงเป็นธรรม มีเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้น จึงปรากฏ เมื่อหมดแล้วจะกล่าวว่ายังมีอยู่ก็ไม่ได้
ธรรมที่เกิดขึ้นแต่ไม่ใช่สภาพรู้ คือไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม รู-ปะ–ธัม-มะ เป็นธรรมส่วนที่เป็นรูป เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่โลกนี้หรือโลกอื่น หรือโลกไหนๆ ก็ตาม อย่างโลกนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปธรรมหรือรูปธาตุ แต่มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากรูปโดยสิ้นเชิง ธาตุชนิดนี้ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสีสัน ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ถ้าเราจะรู้ว่า ไม่ได้มีแต่รูปธาตุอย่างเดียว ถ้ามีแต่เฉพาะรูปธาตุโดยไม่มีนามธาตุซึ่งเป็นสภาพรู้ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่ารูปเองทุกรูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ คิดนึกไม่ได้ หิวไม่ได้ โกรธไม่ได้ นั่นเป็นรูปธาตุ แต่นามธาตุเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วใครก็ไม่สามารถที่จะทำลายการเกิดดับสืบต่อกันของนามธาตุด้วย
นามธาตุที่มีจริงซึ่งมีลักษณะที่เกิดขึ้น คือ จิต ที่เราทุกคนกล่าวว่าเรามีจิต แต่เราไม่เคยสนใจว่า จิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร อยู่ที่ไหน ทำหน้าที่อะไร เรารู้เพียงเงาๆ คร่าวๆ แล้วตอบได้ทันทีว่ามีจิต แต่ว่านี่ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นนามธรรม แต่นามธรรมที่เกิดจะมี ๒ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว นอกจากจิตซึ่งเป็นสภาพซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เช่น เห็นในขณะนี้ จิตสามารถที่จะเห็นได้ทุกอย่าง แล้วแต่ความสามารถ เหยี่ยวเห็นได้ไกลแค่ไหน นั่นก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่จิตเองจะเกิดขึ้นมาโดยไม่อาศัยธรรมอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิดจะต้องมีสภาพธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น สำหรับจิตซึ่งเป็นนามธาตุซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้ ซึ่งทุกคนขณะนี้มี ถ้าไม่มีจิตเดี๋ยวนี้ ต้องเป็นอย่างไร ตาย ใช่ไหม ตายแน่นอน ที่ยังเป็นอยู่เพราะยังมีจิต แล้วเวลาที่จิตเกิดต้องมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นนามธรรม เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้สิ่งเดียวกัน
ทุกครั้งที่มีจิต ต้องมีเจตสิก เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท เกิดร่วมกับจิต ถ้าเป็นเจตสิกฝ่ายดี กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าเป็นเจตสิกฝ่ายไม่ดี โลภะ โทสะ พวกนี้ เมื่อเกิดกับจิตใด จิตนั้นก็เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่า การที่จิตจะมีลักษณะดีบ้าง ชั่วบ้าง คือ ต้องตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
ปรมัตถธรรมทั้งหมด สภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อสักชื่อเดียว แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะของปรมัตถธรรมได้เลย ปรมัตถธรรมมี ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ถ้าเห็นอะไรก็ตามต่อไปนี้ พิจารณาให้เข้าใจว่า สิ่งนั้น เป็นปรมัตถธรรมอะไร วิริยะ ความพากเพียร ความขยัน มีจริงไหม มีหรือไม่มี เดี๋ยวก็เลยไม่เป็นชีวิตประจำวัน แต่ความจริงทั้งหมดที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ถ้ามีลักษณะจริงๆ แล้วต้องเป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม แล้วภาษาไทยอาจจะเรียกอย่างหนึ่ง ภาษาบาลีอาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง แต่ภาษาไทยเราใช้คำภาษาบาลีมาก เรียกคำคล้ายคลึงด้วย แต่ตัดสั้นๆ บ้าง อย่าง สุ-ขะ เราก็เรียก สุข ทุก-ขะ เราก็เรียกทุกข์ แต่ความจริง คือความหมายเดียวกัน แต่ว่าเราติดสั้น วิริยะเป็นสิ่งที่มีจริง ความเพียรในภาษาไทย มีจริง เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก ต้องเป็นปรมัตถธรรม ๑ ใน ๓ คือ เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป เพราะเหตุว่านิพพานเราคงไม่ต้องกล่าวถึงเลย ถ้าไม่รู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ก่อนอย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกล่าวถึงนิพพานเลย เพราะเหตุว่านิพพานตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิด และปรากฏในขณะนี้ ทุกอย่าง วิริยะ ความเพียร มีจริง เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นก็เป็น ปรมัตถธรรม ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ สภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วต้องทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้น เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่แล้วก็ดับไปทุกขณะ
เพราะฉะนั้น วิริยะ ความเพียร เป็นปรมัตถธรรมอะไร เจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้เท่านั้น นอกนั้นเป็นเจตสิกทั้งหมด ๕๒
ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกเป็นเจตสิก เป็นเจตสิก คือความเพียร เราก็จะจัดเป็นประเภทว่า เป็นกุศลหรือว่าอกุศล ในเมื่อความเพียร สามารถเพียรในสิ่งที่เกิดอกุศลกรรมขึ้นมาได้ หรือเกิดกุศลกรรมขึ้นมาได้
ท่านอาจารย์ เจตสิกทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท อัญญสมานาเจตสิก หมายความถึงเจตสิกที่เกิดเสมอกับจิต และเจตสิกอื่น แต่อันนี้ยังแยกออกเป็น ๒ คือ สัพพจิตสาธารณเจตสิก หมายความว่าเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวงทุกประเภทมี ๗ ดวง ที่เหลืออีก ๖ ก็มี วิริยเจตสิกนั่นเอง รวมอยู่ด้วยใน ๖ คือ สามารถที่จะเกิดกับจิตเกือบทุกดวง ไม่เหมือนกับ ๗ ดวงนั้น เจตสิก ๗ ดวงต้องเกิดกับจิตทุกดวง แต่เจตสิกอีก ๖ ดวงเกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นบางดวง เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกดวง แต่ไม่ใช่ประเภทของเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าเป็นวิริยเจตสิก เกิดกับกุศลธรรมก็ได้ เกิดกับอกุศลธรรมก็ได้
ผู้ฟัง ถ้าไปร่วมกับกุศลกรรมก็เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นกุศลวิริยะ เกิดกับอกุศล
ผู้ฟัง เป็นอกุศลวิริยะ
ท่านอาจารย์ นี่กำลังเริ่มเข้าใจว่าเป็นธรรม ทุกอย่างที่เคยเป็นเรา แตกย่อยออกไปเป็นที่ละอย่าง คือ ธรรมแต่ละอย่างๆ นั่นเอง มีจริงๆ แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ก่อนเราเคยคิดว่าเกิดแล้วก็ดับตอนตาย แต่ไมใช่เลย ลักษณะของจิตเกิดดับเร็วกว่านั้นมาก แล้วก็มีหลายประเภท ลักษณะของจิตอย่างหนึ่ง คือ เมื่อจิตเกิดแล้วดับ สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้น แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว ถอยไป จิตก็เกิดขึ้นสืบต่อจนกระทั่งถึงขณะนี้ ซึ่งก็เกิดดับสืบต่อ ต่อไปถึงข้างหน้าอีก ไม่รู้ว่าจะนานอีกเท่าไร ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ ที่ทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม แต่เราก็บอกไม่ได้ว่า เป็นผลของทาน หรือผลของศีล หรือผลของการเคยฟังธรรม เคยเข้าใจธรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะฟัง ก็แสดงว่าต้องเคยได้ฟังมาก่อน แล้วก็มีศรัทธา มีความสนใจที่จะฟังต่อไป เพราะว่าบางคนจะไม่มีศรัทธาเลยในการฟัง
ผู้ฟัง มีองค์ประกอบอื่น ปัจจัยอื่นด้วยใช่ไหม เพราะนอกจากว่าเท่าที่เคยอ่านมา พวกเดียรถีย์ในสมัยพระพุทธองค์ เคยไปกล่าวว่าพระพุทธองค์ด้วยซ้ำไป แต่ด้วยฤทธานุภาพที่พระองค์เข้ามาในเครือข่ายของพระองค์ พระองค์ก็สามารถที่จะกลับใจให้มานับถือพระพุทธศาสนา บางองค์ถึงขนาดมาขอบวช ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะรู้ได้ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรู้ทุกอย่างว่าคนนั้นสะสมมามากน้อยเท่าไรที่จะได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ แม้อย่างท่านพระองคุลิมาล ใครจะคิดว่าจะเป็นถึงพระอรหันต์ เรื่องของการสะสมใครสามารถที่จะรู้การสะสมมานานแสนนาน ล้ำลึกลงไปว่า สะสมอะไรมาอย่างไร แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่เมื่อได้ปัจจัยพร้อมเมื่อไรก็เกิดขึ้น
ความคิดของแต่ละคนที่ต่างกันก็เพราะสะสมมาต่างกัน ศึกษาอะไรก็ตาม ให้เข้าถึงความเป็นธรรมที่เป็นอนัตตาว่า ไม่มีเรา แต่มีจิต และเจตสิกจะคิด ถ้าไม่มีจิตคิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีเจตสิกที่ปรุงแต่งความคิด ความคิดนั้นๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าจิตเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ อารัมมณะ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ จิตเป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น ในภาษาบาลีจะมีคำคู่กัน คือ จิตกับอารมณ์ หรืออารัมมณะ ถ้าอารัมมณะก็คือสิ่งที่จิตรู้ จะเป็นอะไรก็ได้ที่จิตกำลังรู้ ส่วนจิตก็เป็นสภาพรู้ ทุกขณะไม่ใช่เรา ต้องให้เข้าใจถ่องแท้ถึงความเป็นธรรม
มีเรื่องที่จะศึกษาอีกมากมาย พระไตรปิฎก เอาเฉพาะพระอภิธรรมปิฎกอย่างเดียวก็มาก แต่ก็ต้องสอดคล้องกับส่วนอื่นของพระไตรปิฎกด้วย ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงธรรม เช้า สาย บ่าย ค่ำ ใน วันหนึ่งๆ แล้วเราเพิ่งเรียน หรือเพิ่งฟังแค่ไหน ถึงชั่วโมงหรือยัง เทียบกันการที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา
ผู้ฟัง มีการที่จะเริ่มศึกษาพระอภิธรรม เพื่อที่จะรับทราบว่า จิตมีกี่ดวง เจตสิกต่างๆ เราก็ต้องเรียนโดยสัญญา คือการเรียนท่องจำก่อน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องท่องเลย ถ้าเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม สิ่งที่มีจริง มีจริงขณะที่เกิดปรากฏ ต้องท่องไหม
ผู้ฟัง ทีนี้ที่มาใช้ว่าเป็นเจตสิก หรือว่าเป็นฝ่ายอะไรต่างๆ จะมีกี่ดวง ๖ ดวงหรือประกอบกับกุศลกรรม อกุศลกรรม เราไม่สามารถที่จะนำมาพิจารณาได้ เมื่อเราไม่มีความรู้
ท่านอาจารย์ เรียนเพื่อเข้าใจว่า เวลาที่จิตเห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยกว่าขณะที่เป็นจิตอื่น เช่น โลภมูลจิต หรือ โทสมูลจิต หรือกุศลจิต ให้รู้ความต่างกันของประเภทของจิตว่า จิตแต่ละอย่างเกิดขึ้นทำกิจการงานจะต้องมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ อกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็รู้ว่าในขณะที่เป็นอกุศล ต้องมีเจตสิกฝ่ายอกุศลเกิดขึ้นเท่าไร ถ้าเป็นความเห็นผิด ความเห็นผิดก็มีจริง ก็เป็นทิฏฐิเจตสิก ก็ต้องเพิ่มทิฏฐิเจตสิก ตามความเข้าใจ ไม่ต้องไปท่องจำอะไรเลย พระสาวกมีปัญญาเท่ากันไหม อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ และท่านพระอานนท์ ท่านพระอนุรุทธะ ก็ตามการสะสม เป็นเรื่องที่จะต้องฟังไปตลอดชีวิต แล้วก็ไม่ใช่ชาติเดียว ถ้าอ่านประวัติของพระสาวก ไม่ใช่ฟังครั้งเดียวชาติเดียวเลย ท่านจะแสดงอดีตชาติของท่านว่า ท่านพระสารีบุตรได้อบรมปัญญามาเท่าไร ท่านพระอานนท์เท่าไร ก็เป็นเรื่องที่จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างไม่ใช่เพียงแต่ขั้นฟังแล้วคิด แต่ต้องสามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ ได้ ทุกอย่างที่กล่าวพิสูจน์ได้ เป็นจริงได้ในวันหนึ่ง แต่ต้องเป็นปัญญาจึงจะรู้ได้ เพราะเหตุว่าอวิชชาไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แม้สิ่งนั้นกำลังเผชิญหน้า ก็ไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้น นั่นคือลักษณะของอวิชชา ตรงกันข้ามกับวิชชา
ผู้ฟัง เรื่องของกรรม กรรมที่เราทำในปัจจุบัน ที่เรารู้ว่าเราทำไปโดยการไปฆ่าสัตว์หลายๆ ตัว กรรมในที่นี้ เราทำไปแล้ว บางคนบอกว่าแก้กรรมได้ แต่ในความรู้สึก คิดว่าแก้ไม่ได้ แต่ถ้าทำไปแล้วจะมีวิธีการใดว่าอยากจะให้สัตว์เหล่านั้น ได้มีโอกาสให้อโหสิกรรม เพราะว่านี่คือปัญหาของสามี สมัยเด็กๆ เขาเอาไม้ไปกระทุ้งค้างคาวตายไปประมาณ ๓๐ - ๔๐ สิบตัว แล้วปัจจุบันนี้เจ็บหน้าอก ก็เจ็บตลอดเลย หนูก็บอกเขาว่า สงสัยไปทำกรรมสัตว์ที่ไปกระทุ้งค้างคาวนี้ ไปหาหมอตรวจก็ไม่ทราบว่าโรคที่เกิดขึ้นคือโรคอะไร กรรมที่เขาทำส่งผลในปัจจุบัน ใช่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ กรรมเป็นสภาพที่ปกปิด ขณะที่กำลังทำกรรมนั้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า กรรมนั้นจะให้ผลเมื่อไร ในลักษณะใด แล้วเวลาที่ผลของกรรมเกิด อย่างเวลาที่เจ็บหน้าอก ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เป็นผลของกรรมนี้ หรือกรรมโน้น หรือกรรมไหน แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบโดยตลอด ไม่ว่าเป็นใครทั้งนั้น ทรงทราบถึงอดีตชาติด้วย ปัจจุบันชาติด้วย และกรรมที่ให้ผลสามารถที่จะให้ผลในชาตินี้ก็ได้ หรือในชาติหน้าก็ได้ หรือในชาติต่อๆ ไปก็ได้ เพราะเมื่อกรรมได้กระทำแล้ว เหตุมีแล้ว ก็สะสมเป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัยสืบต่อจากจิตในขณะที่ได้กระทำกรรม เมื่อถึงกาลที่สมควรที่จะให้ผลของกรรมที่เราเรียกว่าวิบากจิตเกิดขึ้น จิตที่เป็นผลของกรรมก็เกิด
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240