ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
ตอนที่ ๒๓๗
สนทนาธรรม ที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา
พ.ศ. ๒๕๔๕
ท่านอาจารย์ เมื่อกรรมได้กระทำแล้ว เหตุมีแล้วก็สะสมเป็นปัจจัย เป็นกัมมปัจจัย สืบต่อจากจิต ในขณะที่ได้กระทำกรรม เมื่อถึงกาลที่สมควรที่จะให้ผลของกรรมที่เราเรียกว่า “วิบากจิต” เกิดขึ้น จิตที่เป็นผลของกรรมก็เกิด เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้างทางกาย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผลที่ทำให้เกิดความทุกข์กาย ขณะนั้นต้องเป็นผลของอกุศลกรรมแน่นอน แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นผลของกรรมไหน
ผู้ฟัง ทำไปแล้ว ทีนี้ตัวเองรู้ว่าตัวเองทำไป การกระทำทราบว่าตัวเองทำไป จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนา ซึ่งขณะนั้นอาจจะคิดว่าเพื่อความสนุกสนาน หรือว่าพอไปเห็นค้างคาวแล้วฆ่ามันตาย ช่วงนั้นอาจจะไม่ได้มีการศึกษาเรื่องการฆ่าชีวิตสัตว์โดยที่ไม่ได้เจตนากับการเจตนา กรรมแตกต่างกัน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเจตนามีกำลังหรือไม่มีกำลัง ประกอบด้วยกิเลสที่มีกำลังหรือไม่มีกำลัง เป็นเรื่องของเจตนา และเป็นเรื่องของกรรมนั้น เวลาที่กรรมให้ผล เหลือเชื่อ คือไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ในรูปแบบไหน
ผู้ฟัง กรณีนี้ เป็นไปได้ใช่ไหม เขาคิดไปเองว่าเป็นกรรมที่เขาทำจากการทุบค้างคาว ในทางพุทธศาสนามีโอกาสที่เราจะผ่อนหนักให้เป็นเบา คือ มีโอกาส คิดว่าแบบเจ้ากรรมนายเวร หรือว่าจะเป็นบุคคลที่เราเคยล่วงเกินไป เรามีโอกาสที่จะขออโหสิ แม้ว่าโดยการที่จะทำสังฆทาน อุทิศให้กับเขาไป หรือว่าประกอบกุศลกรรมอย่างอื่น อันนี้มีโอกาสที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ไหม
ท่านอาจารย์ คุณนิรันดร์เคยฆ่าอะไรบ้างหรือเปล่า
ผู้ฟัง คงจะเคยมีบ้าง
ท่านอาจารย์ ลองยกตัวอย่างสิ ฆ่ายุง ฆ่ามด ใช่ไหม เคยไหม แล้วตอนนี้ ยุง มดไปเกิดที่ไหนรู้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ แล้วจะไปอุทิศส่วนกุศลให้อย่างไร เขาก็ไม่รู้
ผู้ฟัง แต่ระลึกถึงด้วยจิตเราระลึกถึงว่า ถ้าเป็นสิ่งที่เราเคยล่วงเกินด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็แล้วแต่
ท่านอาจารย์ แต่เขาอยู่ไหน ที่เขาจะมายกโทษ
ผู้ฟัง ไม่ทราบเลยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ นี่ก็กำลังจะให้เขายกโทษไม่ใช่หรือ ก็เขาไม่รู้แล้วเขาจะยกโทษให้อย่างไร
ผู้ฟัง กรณีแบบว่า สมมติ มันเป็นกรรมที่ต้องมาให้ผล มาติดตาม
ท่านอาจารย์ ขอโทษกรรมไม่ได้ ทำไปแล้วอย่างไรกรรมก็ต้องให้ผล ขอโทษกรรมไม่ได้
ผู้ฟัง ขอโทษกรรมไม่ได้ แต่หมายถึงว่า คือว่าเขาจุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิต
ท่านอาจารย์ จุติจิตของยุงดับ ไปเกิดเป็นมนุษย์
ผู้ฟัง เกิดเป็นมนุษย์ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แล้วเขาจะรู้หรือว่าคุณนิรันดร์ฆ่าเขา
ผู้ฟัง ช่วงหนึ่งจากสิ้นอายุมนุษย์ไป จะไปเกิดใหม่ เป็นภพอื่น
ท่านอาจารย์ แล้วเขาจะรู้หรือว่า คุณนิรันดร์ฆ่าเขา คุณนิรันดร์ก็ตายไปแล้ว เป็นใครอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เราต้องเอาความจริง จะใช้ความคิดของเรา แล้วก็ไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลไม่ได้ กรรมได้แก่เจตนา ความจงใจ ความตั้งใจ ส่วนใหญ่เราจะไม่ทราบว่า เจตนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท ไม่เว้นเลย แต่เราจะรู้ลักษณะของเจตนาเมื่อเป็นความจงใจที่จะทำกุศล หรือว่าความจงใจที่จะทำอกุศล เราสามารถจะรู้ได้เพียงแค่กุศลเจตนา และอกุศลเจตนา ส่วนเจตนาที่เกิดกับวิบากจิต กิริยาจิต ไม่มีทางจะรู้ได้เลย ส่วนใหญ่ที่เราพูดเรื่องกรรม เราจะมุ่งหมายถึงความจงใจ ความตั้งใจที่กระทำกุศล หรือความจงใจ ตั้งใจที่จะทำอกุศล ความจงใจ ตั้งใจ เกิดกับจิต แล้วจิตก็ดับ เพราะฉะนั้น จิต และเจตสิกเกิดแล้วดับอย่างเร็วมาก ผ่านไปนานมาก แต่กรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นกรรมปัจจัย มีผลที่จะเกิดขึ้น เพราะปัจจัยตัวเหตุยังไม่หมด ถ้าไม่ใช่เป็นพระอรหันต์จะดับปัจจัยพวกนี้ไม่ได้เลย นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มีการเกิด ปัจจัยทั้งหลายที่สะสมมาก็หมดไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดได้ แต่สำหรับผู้ที่ยังต้องเกิด ยังมีกรรมเป็นกรรมปัจจัยที่จะให้ผล แม้ว่าจิตเกิดแล้วดับ แต่สะสมทุกอย่างทั้งกรรมดีกรรมชั่ว สะสมสืบต่อ เมื่อถึงพร้อมด้วยกาลหรือปัจจัยที่จะให้กรรมชนิดใดให้ผล กรรมชนิดนั้นก็ให้ผล คือ ให้ผลเจ็บหน้าอก หรือจะให้ผลอะไรก็ตาม แต่ถ้าเราเคยชาตินี้ฆ่าค้างคาว แต่ชาติก่อนเคยฆ่าไก่ อาจจะไม่ถึง ๓๐ ตัว ก็ได้ ใช่ไหม ที่เจ็บหน้าอก ตรงนี้เป็นผลของกรรมของการฆ่าไก่ หรือ ผลของการฆ่าค้างคาว ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะว่ากรรมเป็นสภาพที่ปกปิด ในขณะที่ทำก็ไม่รู้ว่าจะให้ผลเมื่อไร เวลาผลของกรรมเกิดก็ไม่รู้ว่ามาจากกรรมไหน เพราะทุกคนมีกรรมนับไม่ถ้วนเลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีกรรมในอดีตที่ทำให้ทรงประชวร ไม่พ้นกรรม เมื่อถึงกาลที่กรรมนั้น นานแสนนานที่ทรงแสดงอดีตกรรมของพระองค์ นานมากก็ยังสามารถที่จะให้ผลในชาตินี้ได้ แต่พระองค์ทรงทราบว่าเป็นผลของกรรมอะไร แต่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนมาบอกเรา ทำอย่างนี้เป็นผลของกรรมนั้นๆ เราจะเชื่อไหม ต้องเป็นผู้ตรงต่อธรรม จะเชื่อไหม
ผู้ฟัง ไม่เชื่อ เพราะไม่สามารถจะพิสูจน์ได้
ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้น เราจะรู้ได้เลย คำนั้นไม่สมควรเชื่อ ไม่มีเหตุพอที่เขาสามารถจะบอกได้ว่า ผลนี้เกิดจากกรรมอะไร ต้องเป็นคนที่หนักแน่นในเหตุผล
ผู้ฟัง มีคนที่เขาไปล่วงเกินในอดีตชาติมาราวีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ให้ทำอุทิศให้ต่างๆ หรือว่าอุทิศส่วนกุศลให้ ถามว่าทำแล้วผ่อนคลายได้ เกิดขึ้นเป็นเรื่องแปลก อันนี้เกิดขึ้น เรียนถามว่า จริงๆ เราไม่ทราบว่าเป็นอกุศลกรรมของภพปัจจุบันหรืออดีตชาติไหนเราไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้เราสวดมนต์ไหว้พระมีเรื่อง เรามีกรรมเป็นของของตนด้วย ใช่หรือเปล่า มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นทายาท หมายความว่าอย่างไร พวกนี้หายไปไหนหมด มีกรรมเป็นของของตน หายไปแล้ว มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์หายไปแล้ว มีกรรมเป็นทายาทหายไปแล้ว ไม่ตรงกับที่เราได้ยินได้ฟัง
ผู้ฟัง เรารับผล ผมทราบว่าเรารับผล แต่จะผ่อนหนักเป็นเบา
ท่านอาจารย์ ทายาทคือผู้รับผล รับผลของกรรมของเรา กรรมของคนอื่นจะมาให้ผลกับเราไม่ได้ ของใครก็ของคนนั้น ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ทายาทกัน
ผู้ฟัง กรณีที่อย่างพระเจ้าพิมพิสารที่อุทิศส่วนกุศลให้กับเปรตที่เป็นพระญาติที่เคยมา
ท่านอาจารย์ ญาติ อาจจะไม่ได้เป็นเจ้ากรรมนายเวร กรรมได้แก่เจตนาซึ่งเกิดกับจิต ชี้ชัดลงไปเลย ไม่ใช่บุคคลอื่น ต้องเป็นเจตนาที่เกิดกับจิตที่กระทำกรรม เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมนั้นถึงกาลพร้อมด้วยปัจจัยที่จะทำให้ผลเกิดขึ้น เช่น ในขณะนี้ เห็น เป็นผลของกรรม เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร ชาติไหน แต่ให้รู้ว่า เกิด ขณะแรกของจิตในภพนี้ชาตินี้เป็นผลของกรรม ทำให้แต่ละคนต่างกันตามกรรมที่ได้กระทำ
ปฏิสนธิจิตเกิด แม้ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรม แต่ก็หลากหลาย เพราะว่ากรรมนั้นก็ทำให้เกิดรูปซึ่งเป็นผลของกรรม แต่ไม่ใช่วิบาก หลากหลายไปอีก ก็ให้ทราบว่ากรรมนั่นแหละเป็นเหตุ เราจะไปอุทิศส่วนกุศลให้กรรมนั้นก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นกรรมที่เราได้กระทำเอง ทำแล้วก็ดับไปแล้วด้วย
ผู้ฟัง อภิชฌา โทมนัส หรือว่าความรักความชัง จะมีความหมายอย่างนี้หรือเปล่า หมายความว่า ขณะที่สภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่งปรากฏกับสติ แล้วเราไม่ติดข้องในสภาพธรรมนั้นลักษณะนั้นๆ แล้วก็ไม่มีความไม่พอใจกับสภาพธรรมที่ปรากฏ หรือว่าอีกประการหนึ่ง ความรักความชังที่มีกับสิ่งที่เป็นตัวตน อย่างเช่นบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือว่าไม่พอใจสิ่งที่เป็นตัวตน บุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นเพราะ ๒ อย่างนี้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ อภิชฌาคือโลภะ โทมนัสคือโทสะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่มีโลภะโทสะ ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่ว่ากุศลก็มีหลายระดับขั้น ถ้าพูดถึงเรื่องหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องเป็นหนทางที่ละเอียด ไม่ใช่เพียงขั้นทาน หรือขั้นศีล หรือขั้นความสงบของจิต เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มีก่อนการตรัสรู้ แต่ว่าเมื่อมีหนทางนั้น เนื่องจากหนทางนี้เป็นหนทางที่ละเอียดลึกซึ้ง ผู้ที่ไม่เห็นความลึกซึ้งของมรรคก็จะทำให้เข้าใจผิด ประพฤติปฏิบัติผิด เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ต้องมีความรู้ขั้นต้น ซึ่งเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ
ขณะนี้ที่เรากำลังนั่งฟัง เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ผู้ที่ตรัสรู้ได้ทรงแสดงไว้ก็คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ต้องเกิดขึ้นจึงปรากฏ การฟังธรรมค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ไตร่ตรอง เป็นลำดับขั้น ถ้าเราจะข้ามไปถึง ปฏิจจสมุปบาท อายตนะ ขันธ์ ธาตุ อริยสัจจะ เราจะไม่มีพื้นฐานที่มั่นคง
เพราะฉะนั้น พื้นฐานที่มั่นคงในขณะนี้ ก็คือว่า มีสภาพธรรมแน่นอนที่กำลังปรากฏ เพราะเราทราบแล้วว่าทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม แต่ธรรมก็หลากหลายมากมาย เราก็คงจะต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนอย่างข้อความในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน เมื่อไรก็เป็นเรื่องของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะทางที่จะรู้อารมณ์ ใครคิดว่ามีทางอื่นนอกจากนี้ไหม ต้องช่วยกันตอบด้วย จะได้ทราบแน่นอน มีความมั่นคงจริงๆ อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าเป็นสัจจญาณ สัจ-จะ-ญา-ณะ ญาณที่รู้ความจริงว่า อริยสัจจริงๆ ก็คือ ในขณะนี้เอง ไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย ถ้ามีผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้ว สามารถที่จะรู้แจ้งทุกขลักษณะ ซึ่งเป็นทุกขอริยสัจจะ แต่ว่าถ้ายังไม่มีการอบรมพอ เราก็ต้องฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ให้คลาดเคลื่อนว่า ปัญญาที่จะอบรมเจริญจนกระทั่งรู้แจ้งสภาพธรรม คือในขณะนี้เอง ไม่ใช่ในหนังสือ ในหนังสือไม่มีตัวเห็น ได้ยินเลย คิดนึกก็ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ว่าในหนังสือกล่าวถึงธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งทุกคนต้องฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังอีก ไม่ให้คลาดเคลื่อนไป จากการที่จะค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า ไม่ใช่เรา ซึ่งก่อนฟังอย่างไรๆ ก็ต้องเป็นเรา เห็นที่ไรก็เป็นเราเห็น คิดก็เป็นเราคิด แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วเป็นธรรม ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับ แค่นี้ต้องไตร่ตรองอีกนานไหม ได้ฟังอีก ก็คิดอีก พิจารณาอีก พอห่างเหินไปไม่ฟัง ก็เป็นเรื่องอื่น แต่ถ้าฟังบ่อยๆ จะเกิดความรู้ที่มั่นคงว่า เราไม่เคยขาดธรรมเลย ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วธรรมก็เป็นสัจธรรม เป็นความจริงที่ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้
ถ้าเราจะพูดเรื่องอื่นที่ไกลตัว แล้วก็คิดว่าเรามีความรู้มาก แต่ว่าไม่รู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ไม่ใช่สัจธรรม เพราะเหตุว่าความจริง ขณะนี้ อะไรจริง จริงที่สุด จริงที่สุดในขณะนี้ เห็น ได้ยิน คิดนึกด้วย เราฟังกันอีก ต่อไปเราก็คงจะไปฟังที่แซนฟรานซิสโก ที่เบย์แอเรีย ก็เรื่องเห็น ได้ยินนี้แหละ ต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงว่าไม่ใช่เรา เมื่อไม่ใช่เราก็คือเป็นธรรม เป็นธรรม ๒ อย่าง คือ รูปธรรมไม่รู้อะไรเลย ขณะนี้ก็มี นามธรรมก็เป็นสภาพรู้ที่กำลังปรากฏ เท่านี้ กี่วันกี่เดือนกี่ปี ก็คือให้มีความมั่นคงที่จะรู้ว่ามีสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ปรากฏให้รู้ได้ทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อีกอย่างหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วนเวียนไป นี่คือสังสาระ บางทีเวลาที่เราคิดถึงสังสารวัฏฏ์ เราคิดยาวมากเป็นชาติ ย้อนถอยไปแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้าที่จะมาถึง แล้วขณะนี้อีก แต่ความจริงก็คือว่า มีจิตเกิดขึ้น แล้วก็วนเวียนอยู่ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก ทำไมต้องรู้อย่างนี้ด้วย ไม่รู้เสียไม่ดีกว่าหรือ ก็เป็นเราต่อไป สนุกสนานรื่นเริง แต่ว่าอย่างไรๆ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่เที่ยง แม้แต่ความสุข ความสนุก ความพอใจแต่ละครั้ง ไม่ยั่งยืนเลย เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป
สภาพธรรมทุกอย่าง ถ้าเราพิจารณาละเอียด ละเอียดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็รู้ว่าไม่มีอะไรที่ยั่งยืน แต่ว่าการคิดของเราไม่ใช่การประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้น และดับไป แต่ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล ท่านต้องรู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้น และดับไป ชาตินี้ดีไหม ความรู้จะต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้น ตามลำดับขั้นจากขั้นฟัง ซึ่งเป็นปริยัติ แล้วถึงขั้นปฏิปัตติ แล้วก็ถึงขั้นปฏิเวธ
ปฏิปัตติ ปฏิบัติ คือ การอบรมเจริญปัญญา เดี๋ยวนี้เอง เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพราะถ้าไม่มีการฟัง ปัญญาจะมาจากไหน แล้วฟังอะไร ก็ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ๔๕ พรรษา ในกาลครั้งนั้นก็มีผู้ที่สะสมบุญมาแล้วมากพร้อมที่จะได้เป็นพระอริยบุคคล แต่คนยุคนี้ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง รู้หรือไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็ฟังอีก ฟังอีก ฟังบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราทีละเล็กทีละน้อย ความเข้าใจขั้นฟังจะประจักษ์การเกิดดับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ชาตินี้เราจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมดีไหม จะหลงทาง หรือว่าจะตรงทาง ถ้าดีแล้วมีคนที่บอกว่า ให้ทำอย่างนี้ ให้ทำอย่างนี้ แล้วก็จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่การทำไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาของเราเอง ถ้าเป็นปัญญาของเราเอง ฟังแล้วคิด ไตร่ตรองพิจารณาเป็นความเข้าใจ แม้ว่าทีละเล็กทีละน้อยก็เป็นความเข้าใจของเรา ไม่ใช่ความเข้าใจของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดง ๔๕ พรรษา หรือไม่ใช่ความเข้าใจของพระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านทำสังคายนา หรือไม่ใช่ความเข้าใจของบุคคลอื่น พระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน แต่ต้องเป็นการเข้าใจของเรา อบรมจนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นถึง แต่ไม่ใช่วันนี้ ชาตินี้ แต่ว่าดีเริ่มที่จะอยากหรือต้องการ แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือว่า ดีสำหรับผู้ที่รู้ตัวว่า อบรมเจริญปัญญามา แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าชาตินี้หรือเปล่า เพราะว่าทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น เรารู้ล่วงหน้าไม่ได้เลยสักขณะจิตเดียว ใครสามารถรู้ได้ ถ้าหมอดูทายว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จะถูกสลากกินแบ่ง หรือรางวัล หรือไปเล่นพนันของที่นี่มา จะได้เท่านั้นเท่านี้ก็ตามแต่ เขาไม่ได้รู้สภาพธรรมที่เกิดต่อจากขณะนี้ เขาเพียงแต่ใช้หลักเกณฑ์ที่จะพยากรณ์หรือบอกส่วนหยาบ แต่ส่วนละเอียดจริงๆ คือแต่ละขณะที่ผ่านไป ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ข้างหน้า คือ หนึ่งขณะจิตที่จะเกิดต่อจากขณะนี้ว่า จะเป็นจิตเห็น หรือจะเป็นจิตได้ยิน หรือจะเป็นจิตได้กลิ่น จะเป็นจิตลิ้มรส จะเป็นจิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย จะเป็นจิตคิดนึก หรือจะเป็นจุติจิต คือจิตขณะสุดท้ายที่ทำให้เคลื่อนพ้นความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย
นี่คือความเข้าใจธรรมว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยสักคนเดียว ทุกอย่างที่จะเกิด เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยมีสมควรที่สิ่งนั้นจะเกิด สิ่งนั้นก็เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ย่อลงมาเป็นแต่ละขณะจิต คือมีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะเกิดเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ พรุ่งนี้อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าเมื่อกี้ไม่รู้ว่าจะไอ ก็ไอ ก็ได้ เป็นเรื่องที่แต่ละคนไม่สามารถจะรู้เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ต่อเมื่อใดสภาพนั้นเกิดขึ้น จึงจะเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “อนัตตา” เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถจะไปคิด ไปหวัง ไปทำอะไรขึ้นมาได้เลย
การศึกษาธรรม การฟังพระธรรม ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ที่จะต้องฟังจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ ถึงคำแรกที่ได้ยินโดยถ่องแท้ ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เมื่อไรเป็นอย่างนี้ หมายความว่า ได้อบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เพียงขั้นปริยัติ เพราะว่าพูดตามพูดได้ ทุกอย่างเป็นธรรม ใครก็พูดได้ แต่ความจริงกำลังเห็นจะเป็นธรรมได้อย่างไร ขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้ จะเป็นธรรมได้อย่างไร ต้องมีหนทางอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นระดับขั้นที่ ๒ ซึ่งเกิดจากการฟัง มีพื้นฐานที่มั่นคงเป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งให้สัมมาสติเกิด ที่ใช้คำว่า “มีสติ” ไม่ใช่หลงลืมสติ คือสัมมาสติเกิด แล้วรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏหรือเปล่า มี รู้หรือเปล่า คุณบุญช่วยรู้หรือเปล่า
ผู้ฟัง ยังไม่ทันรู้
ท่านอาจารย์ ฟังเข้าใจ รู้ตามความเป็นจริงคือฟังเข้าใจ แล้วความเข้าใจจะเข้าใจได้แค่ไหนก็แล้วแต่บุคคล แต่ขณะนี้กำลังฟังเข้าใจ ห่างไกลมากกับการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น คงไม่ใช่ในชาตินี้ แต่อบรมไปเรื่อยๆ ที่จะรู้ได้ว่าอบรม คือว่าปัญญา ความเข้าใจค่อยๆ มีขึ้น ไม่ใช่ความเข้าใจเพียงคำที่ได้ยิน แต่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าทุกคำที่ได้ยิน แสดงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ประโยชน์สูงสุดเราก็ทราบว่า ไม่ใช่เพียงขั้นจำชื่อจำเรื่อง ได้ยินมาก็รู้ว่าเป็นจิต เจตสิก จิตเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร นั่นเป็นเรื่องการจำเรื่อง แต่ไม่ได้เข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรมของสภาพที่รู้ขณะนี้ คือ เห็น หรือได้ยิน และขณะนั้นก็ไม่ได้ศึกษาพิจารณาลักษณะของรูปว่า เป็นรูปที่ตรงตามลักษณะ เช่น รูปที่ปรากฏทางตาขณะนี้ มี ถ้ามีความเข้าใจถูกต้องว่า ไม่มีใครเลย แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งปรากฏให้เห็น นั่นคือลักษณะของรูปชนิดนี้
นี่คือการฟัง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งรู้ตามความเป็นจริงว่า ปริยัติ คือการฟัง ปฏิปัตติ คือขณะที่สัมมาสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม อันนี้เป็นเรื่องอีกไกลเหมือนกัน แต่ให้ทราบว่าไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แล้วความรู้จากการที่สัมมาสติระลึก จะค่อยๆ รู้จริงในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า ไม่มีเรา ไม่มีอะไรเลย ขณะเห็นจะมีแข็งได้ไหม จะมีเสียงได้ไหม เพราะฉะนั้น แต่ละอย่างก็มีชั่ว ๑ ขณะ เห็น คือขณะนั้นมีธาตุรู้ซึ่งกำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้รู้ ก็รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป ถ้ามิฉะนั้นเราจะไม่รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เห็นแต่เพียงพระพุทธรูป ก็กราบไหว้ แต่พระปัญญาคุณอยู่ที่ไหน พระบริสุทธิคุณอยู่ที่ไหน พระมหากรุณาคุณอยู่ที่ไหน อยู่ที่พระธรรมที่ได้ทรงแสดง ให้ผู้ที่เริ่มเข้าใจถูกได้เห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นแล้วใครก็ไม่สามารถที่จะบอกเราได้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ สภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับแล้ว มิฉะนั้นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ต่างกับคนอื่นธรรมดาๆ เลย ใช่ไหม แต่นี่ต่าง ไม่มีบุคคลใดเปรียบปานได้ ไม่ใช่เฉพาะในโลกมนุษย์ ในเทวโลก พรหมโลก ทรงเป็นพระศาสดา
เมื่อได้ศึกษาแล้ว เริ่มระลึกถึงพระคุณแล้วเข้าใจในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจในพระธรรมที่ทรงแสดง แล้วก็พระสงฆ์สาวกซึ่งได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้ารู้เพียงพระองค์เดียว จะไม่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบารมีที่ทรงบำเพ็ญก็ต้องน้อยมาก เพียงเพื่อที่จะรู้เพียงพระองค์เดียว แต่ว่านี่ได้บำเพ็ญ พระบารมีมาก จนกระทั่งสามารถประกอบด้วยทศพลญาณ ทรงแสดงพระธรรมให้บุคคลอื่นสามารถรู้ตาม แล้วก็ดับทุกข์ตามได้ เป็นพระมหากรุณาสูงสุด เพราะทุกอย่างที่เราได้ยินได้ฟังวันนี้ แล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ นั่นคือพระมหากรุณาคุณที่ได้ทรงแสดงไว้
คุณทศพร ไม่ทราบเรื่องอภิชฌา โทมนัส คงเข้าใจแล้ว ขณะใดที่เป็นกุศล แต่ว่ากุศลก็มีหลายระดับ แล้วโดยเฉพาะเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องลึกซึ้ง ต้องไม่ลืมว่าอริยสัจ ๔ ลึกซึ้งทั้ง ๔ จะทิ้งอันหนึ่งอันใดไม่ได้เลย แม้แต่หนทางก็ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคง รู้จริงๆ ในทุกคำที่ได้ทรงแสดง เช่น คำว่า ธรรม ก็คือขณะนี้
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 181
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 182
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 183
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 184
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 185
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 186
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 187
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 188
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 189
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 190
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 191
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 192
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 193
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 194
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 195
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 196
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 197
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 198
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 199
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 200
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 201
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 202
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 203
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 204
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 205
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 206
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 207
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 208
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 209
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 210
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 211
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 212
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 213
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 214
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 215
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 216
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 217
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 218
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 219
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 220
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 221
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 222
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 223
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 224
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 225
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 226
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 227
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 228
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 229
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 230
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 231
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 232
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 233
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 234
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 235
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 236
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 237
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 238
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 239
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 240